กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

อารัมภบท[แก้ไข]

ภาคีแห่งกติกาฉบับนี้

พิจารณาว่า ตามหลักการซึ่งได้ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติการรับรองศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดและสิทธิเท่าเทียมกันและไม่อาจเพิกถอนได้ของมวลมนุษยชาตินั้นเป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพในโลก

รับรองว่า สิทธิเหล่านี้มาจากศักดิ์ศรีแต่กำเนิดของมนุษย์

รับรองว่า ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ที่ว่าเสรีชนจะต้องปลอดจากความกลัวและความขาดแคลนนั้น จะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างสภาวะซึ่งทุกคนจะได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของตนเท่านั้น

พิจารณาถึงพันธกรณีแห่งรัฐภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติในการส่งเสริมการเคารพและการยอมรับโดยสากลในสิทธิและเสรีภาพมนุษยชน

ตระหนักว่า ปัจเจกบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต่อปัจเจกบุคคลอื่น และต่อประชาคมของตนมีความรับผิดชอบที่จะต้องพยายามส่งเสริมและยอมรับสิทธิที่รับรองไว้ในกติกานี้

ตกลงกันในข้อต่อไปนี้

ภาค 1[แก้ไข]

ข้อ 1[แก้ไข]

  1. ประชาชาติทั้งปวงมีสิทธิกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยสิทธินั้น ประชาชาติเหล่านั้นจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนโดยเสรี และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนอย่างเสรี
  2. เพื่อจุดมุ่งหมายของตน ประชาชาติทั้งปวงอาจจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรี โดยไม่กระทบต่อพันธกรณีใด ๆ อันเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งผลประโยชน์ร่วมกันและกฎหมายระหว่างประเทศ ประชาชาติจะไม่ถูกลิดรอนวิถีทางยังชีพของตนไม่ว่าในกรณีใด
  3. รัฐภาคีแห่งกติกานี้ รวมทั้งรัฐที่รับผิดชอบในการบริหารดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองและดินแดนในภาวะทรัสตี จะต้องส่งเสริมให้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองมีผลจริงจัง และจะต้องเคารพสิทธินั้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

ภาค 2[แก้ไข]

ข้อ 2[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะดำเนินการ โดยเอกเทศและโดยความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจและวิชาการ โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการทำให้สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้กลายเป็นความจริงอย่างบริบูรณ์โดยลำดับด้วยวิธีทั้งปวงที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมทั้งการกำหนดมาตรการทางกฎหมายด้วย
  2. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันว่าสิทธิทั้งหลายที่ระบุไว้ในกติกานี้จะใช้ได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด ชาติหรือสังคมดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น
  3. ประเทศกำลังพัฒนา โดยคำนึงถึงตามควรต่อสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจแห่งชาติตน อาจกำหนดขอบเขตในการประกันสิทธิทางเศรษฐกิจของตนตามที่รับรองในกติกานี้แก่ผู้ที่ไม่ใช่คนชาติของตน

ข้อ 3[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในการที่จะอุปโภคสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมทั้งปวง ดังที่ได้ระบุไว้ในกติกานี้

ข้อ 4[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองว่า ในการอุปโภคสิทธิเหล่านั้นซึ่งรัฐให้ตามกติกานี้ รัฐอาจจำกัดสิทธิเช่นว่าได้เฉพาะโดยข้อจำกัดเช่นที่กำหนดโดยกฎหมายเท่าที่อาจสอดคล้องกับลักษณะของสิทธิเหล่านี้ และเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการส่งเสริมสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย

ข้อ 5[แก้ไข]

  1. ไม่มีข้อความใดในกติกานี้ที่อาจตีความไปในทางที่จะให้รัฐใด กลุ่มชนหรือบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือกระทำการใดอันมีจุดมุ่งหมายในการทำลายสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รับรองไว้ในกติกานี้ หรือเป็นการจำกัดสิทธินั้นยิ่งไปกว่าที่ได้บัญญัติไว้ในกติกานี้
  2. ห้ามการจำกัดหรือลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองหรือที่มีอยู่ในประเทศใด โดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย อนุสัญญา ข้อบังคับ หรือจารีตประเพณี โดยอ้างว่ากติกานี้ไม่รับรองสิทธิเช่นว่านั้น หรือรับรองสิทธินั้นในขอบเขตที่ด้อยกว่า

ภาค 3[แก้ไข]

ข้อ 6[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิในการทำงาน ซึ่งรวมทั้งสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี และจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้
  2. ขั้นตอนซึ่งรัฐภาคีแห่งกติกานี้จะต้องดำเนินเพื่อให้บรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างบริบูรณ์ จะต้องรวมถึงการให้คำแนะนำทางเทคนิคและวิชาชีพและโครงการฝึกอบรม นโยบายและเทคนิคที่จะทำให้บรรลุผลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ และการจ้างงานอย่างบริบูรณ์และเป็นประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขทั้งหลายที่เป็นการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล

ข้อ 7[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ ซึ่งประกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง

(ก) ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ให้แก่ผู้ทำงานทั้งปวง ประกอบด้วย
(1) ค่าจ้างที่เป็นธรรมและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน โดยปราศจากความแตกต่างในเรื่องใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีจะได้รับการประกันสภาพการทำงานที่ไม่ด้อยกว่าบุรุษ โดยได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน
(2) ความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสำหรับตนและครอบครัวตามบทบัญญัติแห่งกติกานี้
(ข) สภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
(ค) โอกาสเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่จะได้รับการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการทำงานของตนในระดับที่สูงขึ้นตามที่เหมาะสม โดยไม่ขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาใด นอกจากอาวุโสและความสามารถ
(ง) การพักผ่อน เวลาว่างและข้อจำกัดที่สมเหตุสมผลในเรื่องเวลาทำงานและวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าตอบแทน ตลอดจนค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดทางการด้วย

ข้อ 8[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกัน
    (ก) สิทธิของทุกคนที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงานตามที่ตนเลือก เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของตน ทั้งนี้ โดยขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ขององค์การที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ห้ามจำกัดการใช้สิทธินี้ นอกจากที่ได้กำหนดโดยกฎหมายและที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
    (ข) สิทธิของสหภาพแรงงานที่จะจัดตั้งสหพันธ์หรือสมาพันธ์แห่งชาติ และสิทธิของสมาพันธ์แห่งชาติที่จะก่อตั้งหรือเข้าร่วมกับองค์การสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ
    (ค) สิทธิของสหภาพแรงงานที่จะดำเนินงานอย่างเสรีโดยไม่ขึ้นอยู่กับการจำกัดใด นอกจากที่ได้กำหนดโดยกฎหมายและซึ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติหรือความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
    (ง) สิทธิที่จะนัดหยุดงาน หากใช้สิทธิโดยสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศนั้น
  2. ความในข้อนี้ไม่ห้ามการกำหนดข้อจำกัดอันชอบด้วยกฎหมายในการใช้สิทธิเหล่านี้โดยทหารหรือตำรวจ หรือฝ่ายบริหารของรัฐ
  3. ไม่มีข้อความใดในข้อนี้ที่ให้อำนาจรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ค.ศ. 1948 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติหรือใช้กฎหมายในลักษณะซึ่งจะทำให้เสื่อมเสียต่อหลักประกันที่ให้ไว้ในอนุสัญญานั้น

ข้อ 9[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้รับรองสิทธิของทุกคนในอันที่จะมีสวัสดิการสังคม รวมทั้งการประกันสังคม

ข้อ 10[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองว่า

  1. ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยรวมของสังคมที่เป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติควรได้รับการคุ้มครอง และช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในการจัดตั้งและในขณะที่ต้องรับผิดชอบต่อการดูแลและการศึกษาของเด็กที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ การสมรสต้องกระทำโดยความยินยอมอย่างเสรีของผู้ที่เจตนาจะสมรส
  2. มารดาควรได้รับการคุ้มครองพิเศษระหว่างช่วงระยะเวลาตามควรก่อนหรือหลังการให้กำเนิดบุตร ในระหว่างช่วงระยะเวลาเช่นว่า มารดาซึ่งทำงานควรได้รับอนุญาตให้ลาโดยได้รับค่าจ้าง หรือลาโดยมีสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมอย่างเพียงพอ
  3. ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือพิเศษแก่เด็กและผู้เยาว์ทั้งปวง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเนื่องจากชาติกำเนิดหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เด็กและผู้เยาว์ควรได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม การว่าจ้างเด็กให้ทำงานซึ่งเป็นภัยต่อจิตใจหรือสุขภาพหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตหรืออาจจะขัดขวางพัฒนาการตามปกติของเด็กควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย รัฐควรกำหนดอายุขั้นต่ำซึ่งห้ามไม่ให้มีการจ้างแรงงานเด็กและกำหนดให้มีโทษตามกฎหมายด้วย

ข้อ 11[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐภาคีจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อประกันการทำให้สิทธินี้เป็นจริง โดยรับรองความสำคัญอย่างแท้จริงของความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความยินยอมโดยเสรี
  2. รัฐภาคีแห่งกติกานี้ รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะปลอดจากความหิวโหย โดยจะต้องดำเนินมาตรการโดยเอกเทศและโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงการเฉพาะซึ่งจำเป็น
(ก) ในการปรับปรุงวิธีการผลิต เก็บรักษาและการแบ่งสรรอาหาร โดยใช้ความรู้อย่างเต็มที่ทางเทคนิคและทางวิทยาศาสตร์ โดยการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักโภชนาการ และโดยการพัฒนาหรือการปฏิรูประบบเกษตรกรรมในทางที่จะทำให้สามารถบรรลุผลการพัฒนา และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
(ข) ในการประกันการแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมของอุปทานอาหารโลกตามสัดส่วนความต้องการ โดยคำนึงถึงทั้งปัญหาของประเทศที่นำเข้าอาหารและประเทศส่งออกอาหาร

ข้อ 12[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้
  2. ขั้นตอนในการดำเนินการโดยรัฐภาคีแห่งกติกานี้ เพื่อบรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อ
(ก) การหาหนทางลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิดและการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก
(ข) การปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม
(ค) การป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพและโรคอื่น ๆ
(ง) การสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางแพทย์ และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย

ข้อ 13[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา รัฐภาคีเห็นพ้องกันว่าการศึกษาจะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเพิ่มพูนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รัฐภาคีเห็นพ้องกันอีกว่า การศึกษาจะต้องทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ความอดกลั้นและมิตรภาพระหว่างชาติ และกลุ่มเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มศาสนาทั้งปวง และสานต่อไปถึงกิจกรรมของสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
  2. รัฐภาคีแห่งกตินี้รับรองว่า เพื่อที่จะทำให้สิทธินี้เป็นจริงโดยบริบูรณ์
    (ก) การศึกษาขั้นประถมจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ทุกคนแบบให้เปล่า
    (ข) จะต้องจัดการศึกษาขั้นมัธยมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษามัธยมทางเทคนิคศึกษาและอาชีวศึกษา ให้มีขึ้นโดยทั่วไป และให้ทุกคนมีสิทธิได้รับโดยวิธีการที่เหมาะสมทุกทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
    (ค) ทุกคนจะต้องสามารถได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความสามารถ โดยวิธีการที่เหมาะสมทุกทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
    (ง) การศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับหรือเรียนไม่ครบตามช่วงระยะเวลาทั้งหมดของการศึกษาขั้นประถม
    (จ) จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบโรงเรียนทุกระดับอย่างแข็งขัน ให้มีระบบทุนการศึกษาที่เพียงพอ และปรับปรุงสภาพของวัสดุประกอบการสอนของครูอย่างต่อเนื่อง
  3. รัฐภาคีทั้งหลายแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพของบิดามารดาและผู้ปกครองตามกฎหมายในกรณีที่มี ในการเลือกโรงเรียนสำหรับเด็กของตน นอกจากที่จัดตั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นที่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้หรือให้ความเห็นชอบเพื่อประกันให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมของเด็กเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเชื่อถือของตน
  4. ไม่มีส่วนใดของข้อนี้จะแปลไปในทางก้าวก่ายเสรีภาพของปัจเจกชน และองค์กรในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามหลักการที่ระบุไว้ในวรรค 1 ของข้อนี้ และข้อกำหนดที่ว่า การศึกษาในสถาบันเช่นว่าจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามที่รัฐได้กำหนดไว้

ข้อ 14[แก้ไข]

รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้ ซึ่งในเวลาเข้าเป็นภาคียังไม่สามารถจัดให้มีการประถมศึกษาภาคบังคับแบบให้เปล่าในเขตเมืองและเขตอื่น ๆ ภายใต้เขตอำนาจของตนรับที่จะหาทางและจัดทำแผนปฏิบัติการโดยละเอียดเพื่อทำให้เกิดความคืบหน้าในการปฏิบัติตามกติกาฉบับนี้ภายในเวลา 2 ปี และกำหนดไว้ในแผนภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล ซึ่งหลักการในการจัดการศึกษาภาคบังคับแบบให้เปล่าสำหรับทุกคน

ข้อ 15[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคน
    (ก) ที่จะมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม
    (ข) ที่จะอุปโภคสิทธิประโยชน์แห่งความก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์
    (ค) ที่จะได้สิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองผลประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุในประโยชน์อันเกิดจากการผลิตทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม หรือศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้างสรรค์
  2. ขั้นตอนซึ่งรัฐภาคีแห่งกติกานี้จะดำเนินเพื่อทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างบริบูรณ์ ให้รวมถึงสิ่งทั้งหลายที่จำเป็นเพื่อการอนุรักษ์ การพัฒนา และการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และทางวัฒนธรรม
  3. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพที่จำเป็นสำหรับการวิจัยวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสร้างสรรค์
  4. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิประโยชน์ที่ได้มาจากการสนับสนุนและการพัฒนาการติดต่อระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

ภาค 4[แก้ไข]

ข้อ 16[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะเสนอรายงานโดยสอดคล้องกับภาคนี้แห่งกติกาในเรื่องมาตรการต่าง ๆ ซึ่งรัฐนั้น ๆ ได้นำมาใช้ และในเรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินการเพื่อให้มีการยอมรับสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ ณ ที่นี้
  2. (ก) ให้เสนอรายงานทั้งปวงต่อเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะส่งสำเนาต่อไปให้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพิจารณาตามบทบัญญัติของกติกานี้
(ข) เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องส่งสำเนารายงานหรือส่วนใดที่เกี่ยวข้องของรายงานซึ่งได้รับจากรัฐภาคีแห่งกติกานี้ซึ่งเป็นสมาชิกแห่งทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ ไปยังทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เท่าที่รายงาน หรือส่วนใดของรายงานเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของทบวงการดังกล่าวตามตราสารก่อตั้งของตน

ข้อ 17[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้จะส่งรายงานเป็นช่วงระยะตามแผนงาน ซึ่งจะกำหนดโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมภายในเวลาหนึ่งปีนับจากวันที่กติกานี้มีผลบังคับใช้ ภายหลังจากการปรึกษาหารือกับรัฐภาคีและทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง
  2. รายงานอาจแสดงปัจจัยและอุปสรรคซึ่งกระทบระดับของการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกานี้
  3. ในกรณีที่รัฐภาคีใดแห่งกติกานี้ได้ส่งข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องไปยังสหประชาชาติหรือทบวงการชำนัญพิเศษใดแล้ว รัฐภาคีไม่จำเป็นต้องให้ข้อสนเทศนั้นอีก เพียงแต่อ้างให้ถูกต้องถึงข้อสนเทศที่ส่งไปแล้วก็พอ

ข้อ 18[แก้ไข]

ตามความรับผิดชอบภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน คณะมนตรีเศรษฐกิจแบะสังคมอาจจัดทำข้อตกลงกับทบวงการชำนัญพิเศษในการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกติกานี้ ซึ่งอยู่ภายในขอบเขตแห่งกิจกรรมของตน รายงานเหล่านี้อาจรวมรายละเอียดของคำวินิจฉัย และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกติกาเช่นว่าซึ่งรับรองโดยองค์กรซึ่งมีอำนาจของตน

ข้อ 19[แก้ไข]

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจส่งรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐเสนอตามข้อ 16 และ 17 และรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เสนอโดยทบวงการชำนัญพิเศษตามข้อ 18 ไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเพื่อศึกษาและให้ข้อเสนอแนะทั่วไป หรือเพื่อทราบตามความเหมาะสม

ข้อ 20[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้และทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้องอาจเสนอความคิดเห็นไปยังคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับข้อเสนอแนะทั่วไปภายใต้ข้อ 19 หรือการอ้างถึงข้อเสนอแนะทั่วไปเช่นว่าในรายงานใดของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน หรือเอกสารใดที่อ้างถึงในรายงานนั้น

ข้อ 21[แก้ไข]

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจเสนอรายงานเป็นครั้งคราวไปยังสมัชชาใหญ่ พร้อมกับข้อเสนอแนะในลักษณะทั่วไปรวมทั้งสรุปข้อสนเทศซึ่งได้รับจากรัฐภาคีแห่งกติกานี้และทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวกับมาตรการซึ่งได้ใช้ และความคืบหน้าซึ่งได้กระทำไปเพื่อบรรลุผลในการยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งสิทธิที่รับรองในกติกานี้

ข้อ 22[แก้ไข]

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจแจ้งองค์กรอื่นของสหประชาชาติ องค์กรย่อยและทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการทราบถึงเรื่องใดที่เกิดขึ้นจากรายงานที่อ้างถึงในภาคนี้ของกติกา ซึ่งอาจช่วยเหลือหน่วยงานเช่นว่าในการวินิจฉัย ภายในขอบเขตอำนาจของตนเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาตรการระหว่างประเทศซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้การอนุวัติการตามกติกานี้มีความคืบหน้าและมีประสิทธิผล

ข้อ 23[แก้ไข]

รัฐภาคีแห่งกติกานี้เห็นพ้องกันว่าการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุผลซึ่งสิทธิที่รับรองไว้ในกติกานี้ รวมถึงวิธีการ เช่น การทำอนุสัญญา การรับรองข้อเสนอแนะ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการจัดประชุมภูมิภาค และการประชุมทางวิชาการเพื่อความมุ่งประสงค์ในการปรึกษาหารือและการศึกษา ซึ่งจัดโดยร่วมกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 24[แก้ไข]

ไม่มีบทบัญญัติใดในกติกานี้ที่ตีความไปในทางเสื่อมเสียต่อบทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และธรรมนูญของทบวงการชำนัญพิเศษซึ่งกำหนดความรับผิดชอบขององค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติและของทบวงการชำนัญพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับกติกานี้

ข้อ 25[แก้ไข]

ไม่มีบทบัญญัติใดในกติกานี้ที่จะตีความไปในทางเสื่อมเสียต่อสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของประชาชาติทั้งปวงในอันที่จะอุปโภคและใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนอย่างเต็มที่และโดยเสรี

ภาค 5[แก้ไข]

ข้อ 26[แก้ไข]

  1. กติกาฉบับนี้เปิดให้มีการลงนามโดยรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ หรือสมาชิกทบวงการชำนัญพิเศษใดของสหประชาชาติ รัฐภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและรัฐอื่นใด ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติได้เชิญให้เข้าเป็นภาคีแห่งกติกาฉบับนี้
  2. กติกานี้ต้องได้รับการสัตยาบัน ให้มอบสัตยาบันสารแก่เลขาธิการสหประชาชาติ
  3. กติกาฉบับนี้จะต้องเปิดให้ภาคยานุวัติโดยรัฐใดซึ่งกล่าวถึงในวรรค 1 ของข้อนี้
  4. การภาคยานุวัติจะมีผลเมื่อมีการมอบภาคยานุวัติสารแก่เลขาธิการสหประชาชาติ
  5. เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องแจ้งให้รัฐทั้งปวงซึ่งได้ลงนามหรือภาคยานุวัติกติกานี้แล้วทราบถึงการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารแต่ละฉบับ

ข้อ 27[แก้ไข]

  1. กติกานี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อครบกำหนดสามเดือนหลังจากวันที่ได้มีการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่สามสิบห้าแก่เลขาธิการสหประชาชาติ
  2. สำหรับแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติกติกานี้ภายหลังจากที่มีการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่สามสิบห้าแล้ว กติกานี้จะมีผลบังคับใช้กับรัฐนั้นเมื่อครบกำหนดสามเดือนหลังจากวันที่รัฐนั้นได้มอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของตน

ข้อ 28[แก้ไข]

บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกส่วนของรัฐที่เป็นสหรัฐ โดยปราศจากข้อจำกัดหรือข้อยกเว้น

ข้อ 29[แก้ไข]

  1. รัฐภาคีใดแห่งกติกานี้อาจเสนอข้อแก้ไขและยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติ จากนั้นเลขาธิการสหประชาชาติจะต้องส่งข้อแก้ไขที่เสนอมานั้นแก่รัฐภาคีแห่งกติกานี้พร้อมกับคำร้องขอให้รัฐภาคีแจ้งให้ตนทราบว่ารัฐภาคีเหล่านั้นเห็นควรให้มีการประชุมของรัฐภาคีทั้งหลายเพื่อมุ่งประสงค์ในการพิจารณาและลงคะแนนเสียงข้อเสนอนั้นหรือไม่ ในกรณีที่มีรัฐภาคีจำนวนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามเห็นด้วยกับการจัดประชุมดังกล่าว เลขาธิการฯ จะต้องจัดประชุมภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ข้อแก้ไขใดที่ได้รับการรับรองโดยรัฐภาคีส่วนใหญ่ซึ่งเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงในการประชุม ให้นำเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ
  2. ข้อแก้ไขจะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสมัชชาสหประชาชาติ และได้รับการยอมรับโดยเสียงส่วนใหญ่สองในสามของรัฐภาคีแห่งกติกานี้ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ
  3. เมื่อข้อแก้ไขมีผลบังคับใช้ ย่อมมีผลผูกพันรัฐภาคีซึ่งได้ยอมรับข้อแก้ไขแล้ว ส่วนรัฐภาคีอื่นยังคงผูกพันตามบทบัญญัติในกติกาฉบับนี้ และข้อแก้ไขก่อน ๆ ซึ่งตนได้ยอมรับ

ข้อ 30[แก้ไข]

นอกเหนือจากการแจ้งตามข้อ 26 วรรค 5 แล้ว เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องแจ้งไปยังบรรดารัฐทั้งปวงที่กล่าวถึงในวรรค 1 ของข้อเดียวกันในเรื่องต่อไปนี้

(ก) การลงนาม การให้สัตยาบันและการภาคยานุวัติตามข้อ 26
(ข) วันที่กติกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ตามข้อ 27 และวันที่ข้อแก้ไขมีผลบังคับใช้ตามข้อ 29

ข้อ 31[แก้ไข]

  1. กติกาฉบับนี้ซึ่งทำเป็นภาษาจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน ให้เก็บรักษาไว้ ณ หอเอกสารของสหประชาชาติ
  2. เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องส่งสำเนาของกติกาฉบับนี้ ซึ่งได้รับการรับรองแล้วไปให้รัฐทั้งปวงตามที่กล่าวถึงในข้อ 26