ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ข้อกำหนด

ลง



ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ


ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย


พ.ศ. ๒๕๕๐





โดยที่ข้อ ๓๐๐ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นศาลรัฐธรรมนูญ จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓๐๐ วรรคห้า กำหนดวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยไว้ ดังต่อไปนี้



ข้อ ๑

ข้อกำหนดนี้เรียกว่า "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐"


ข้อ ๒

ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


ข้อ ๓

ให้ยกเลิกข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๙


ข้อ ๔

ในข้อกำหนดนี้

"ศาล" หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

"ตุลาการ" หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

"ตุลาการประจำคดี" หมายความว่า ตุลาการซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าของสำนวนเป็นรายคดี

"คดี" หมายความว่า เรื่องที่เสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

"คำร้อง" หมายความว่า คำร้องที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัย

"คู่กรณี" หมายความว่า ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง

"ผู้ร้อง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

"ผู้ถูกร้อง" หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องของผู้ร้อง

"ผู้เกี่ยวข้อง" หมายความว่า หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคดี

"กระบวนพิจารณา" หมายความว่า การพิจารณาคดีหรือการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคดี ซึ่งกระทำโดยคู่กรณี หรือโดยศาล หรือตามคำสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกระทำต่อศาลหรือต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทำต่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย รวมถึงการส่งคำร้อง การไต่สวน การพิจารณาคดี และการลงมติ ตลอดจนการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

"การพิจารณาคดี" หมายความว่า การไต่สวน หรือการประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย

"การไต่สวน" หมายความว่า การตรวจพยานหลักฐาน การนั่งพิจารณา หรือการสืบพยาน


ข้อ ๕

ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญรักษาการตามข้อกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศโดยความเห็นชอบของศาลเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้



หมวด ๑


บททั่วไป





ข้อ ๖

วิธีพิจารณาตามที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ให้ใช้ระบบไต่สวน

วิธีพิจารณาใดซึ่งข้อกำหนดนี้มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อข้อกำหนดนี้


ข้อ ๗

ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ


ข้อ ๘

ศาลมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย

(๑)   ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่บุคคลใดที่ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ ให้ความเห็น หรือเบิกความ

(๒)   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเอกสารหรือการดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาล


ข้อ ๙

แบบพิมพ์ที่ใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล กำหนดให้ใช้เพื่อการใด มีรูปแบบ ขนาด และข้อความอย่างใด ให้เป็นไปตามท้ายข้อกำหนดนี้


ข้อ ๑๐

ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑)   มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคำร้องที่ขอให้วินิจฉัย

(๒)   เป็นหรือเคยเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น

(๓)   เคยถูกอ้างเป็นพยานโดยที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ เว้นแต่เคยมีส่วนร่วมในวิธีพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ หรือเคยแสดงความเห็นในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคำร้องนั้น

(๔)   เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน

(๕)   เป็นกรรมการกฤษฎีกาหรืออนุญาโตตุลาการซึ่งพิจารณาคำร้องในเรื่องเดียวกันนั้นมาก่อน

(๖)   มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา ที่ตุลาการนั้นเอง สามีภริยา หรือญาติ สืบสาโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของตุลาการนั้น ฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่กรณี สามีภริยา หรือญาติสืบสาโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง


ข้อ ๑๑

เมื่อมีเหตุที่จะคัดค้านอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๑๐ เกิดขึ้นแก่ตุลาการคนใด ตุลาการนั้นเองจะแถลงต่อศาลแสดงเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้าน แล้วขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีนั้นก็ได้


ข้อ ๑๒

เมื่อมีเหตุที่ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ ๑๐ คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาด

เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ตุลาการซึ่งถูกคัดค้านงดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ จนกว่าศาลจะได้มีการชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้น

การกระทำใด ๆ ของตุลาการซึ่งถูกคัดค้านที่ได้ดำเนินไปก่อนมีเหตุที่อาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไปเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งยอมรับคำร้องคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะกำหนดเป็นอย่างอื่น


ข้อ ๑๓

เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการคนใด และตุลาการซึ่งถูกคัดค้านไม่ขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีนั้น ให้ศาลพิจารณาคำร้องคัดค้านและบันทึกคำชี้แจงของตุลาการซึ่งถูกคัดค้าน โดยอาจฟังคำแถลงของคู่กรณีและตุลาการซึ่งถูกคัดค้าน รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นตามที่เห็นสมควร แล้วออกคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำร้องคัดค้านนั้น คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด

เมื่อศาลต้องพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ตุลาการซึ่งถูกคัดค้านจะร่วมพิจารณาหรือออกเสียงลงคะแนนชี้ขาดคำร้องคัดค้านมิได้

การชี้ขาดคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ถือตามคำร้องคัดค้าน


ข้อ ๑๔

ตุลาการจะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีหรือการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งคดีใดมิได้ เว้นแต่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้านตามข้อ ๑๐ เหตุสุดวิสัย เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร


ข้อ ๑๕

ในการพิจารณาคดี ให้ศาลมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี การให้บุคคลใดซึ่งฝ่าฝืนออกไปนอกสถานที่พิจารณา และให้กระทำการใด ๆ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว รวมทั้งออกระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ


ข้อ ๑๖

การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล ตลอดจนมารยาทของบุคคลเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของศาล



หมวด ๒


อำนาจศาล





ข้อ ๑๗

ศาลมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีดังต่อไปนี้

(๑)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

(๒)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ

(๓)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตามมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๔)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น มีลักษณะเป็นการขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๑๐๖ (๗) ของรัฐธรรมนูญ

(๕)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมาตรา ๑๔๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๖)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใด ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ตามมาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๔๙ ของรัฐธรรมนูญ

(๗)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๕๐ ของรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา ๑๕๑ ของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๕๔ ของรัฐธรรมนูญ

(๘)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๕๕ ของรัฐธรรมนูญ

(๙)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา ๑๖๘ วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญ

(๑๐)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา ๑๘๒ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๑)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนด ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๘๕ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๒)   คดีที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๓)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร จะใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๔)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามคำร้องของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๕)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กรณีมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ตามมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๖)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา ๒๓๓ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๗)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองที่ถือว่ากระทำการเพื่อให้ ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๘)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา ๒๔๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญ

(๑๙)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ

(๒๐)   คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล



หมวด ๓


การยื่น การถอน และการจำหน่ายคำร้อง





ข้อ ๑๘

คำร้องตามข้อ ๑๗ ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑)   ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง

(๒)   ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง

(๓)   ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง

(๔)   คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง

(๕)   ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย

คำร้องที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามความในวรรคหนึ่ง ศาลหรือตุลาการประจำคดีอาจมีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้ปฏิบัติ ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น การจัดทำ การยื่น และรายละเอียดของคำร้อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด


ข้อ ๑๙

ให้นำความในข้อ ๑๘ มาใช้บังคับแก่คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยอนุโลม


ข้อ ๒๐

การยื่นคำร้องต่อศาลตามข้อ ๑๗ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดนี้ และกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล

การยื่นคำร้องตามข้อ ๑๗ (๕) ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบตามที่ศาลกำหนด

การยื่นคำร้องตามข้อ ๑๗ (๑๓) ให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหารที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดี ส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย


ข้อ ๒๑

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๔๕ (๑) และมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ


ข้อ ๒๒

การยื่นคำร้องของบุคคลตามข้อ ๒๑ นอกจากต้องดำเนินการตามข้อ ๑๘ แล้ว ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วด้วย


ข้อ ๒๓

คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาล ก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคำร้อง หรือศาลเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้

กรณีที่ผู้ร้องไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำสั่งศาลหรือตุลาการประจำคดีภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่า เป็นการทิ้งคำร้อง และศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้



หมวด ๔


องค์คณะและวิธีพิจารณา





ข้อ ๒๔

องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าห้าคน

ตุลาการซึ่งไม่ได้ร่วมในการพิจารณาคดีใด ย่อมไม่มีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยคดีนั้น

คำวินิจฉัยของศาลให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ


ข้อ ๒๕

กรณีมีคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่าสามคนเป็นตุลาการประจำคดี เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑๗ (๕) และ (๙) หรือกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้

ในกรณีที่ไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ศาลมอบหมายตุลาการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีแทน

ให้ตุลาการประจำคดีตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวน มีอำนาจพิจารณารับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๒๗ และออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดคดี คำสั่งของตุลาการประจำคดีให้ถือเสียงข้างมาก


ข้อ ๒๖

กรณีมีคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๑๗ (๕) หรือ (๙) หรือกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามที่ศาลเห็นสมควร และศาลไม่ได้แต่งตั้งตุลาการประจำคดีไว้ ให้ศาลตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง


ข้อ ๒๗

ให้ตุลาการประจำคดีตามข้อ ๒๕ มีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

กรณีตุลาการประจำคดีมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้เสนอศาลพิจารณาภายในเจ็ดวันนับแต่วันมีความเห็น หากศาลเห็นพ้องด้วย ให้จัดทำเป็นคำสั่งของศาล

หากศาลไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของตุลาการประจำคดีตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตามความเห็นของศาล


ข้อ ๒๘

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควร


ข้อ ๒๙

เมื่อศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป


ข้อ ๓๐

ผู้ร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หรือผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล และต้องเป็นสาระสำคัญอันควรแก่การแก้ไขเพิ่มเติมและเกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม โดยให้ทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาล


ข้อ ๓๑

การส่งคำร้อง ประกาศ หรือเอกสารอื่นใด ให้ส่งแก่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้

ในกรณีไม่อาจดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้นำเอกสารดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ทำการศาลหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่ง หรือให้ประกาศโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลหรือตุลาการประจำคดีเห็นสมควร และการปิดหรือการประกาศดังกล่าว ให้ถือว่า ได้มีการส่งเอกสารโดยชอบแล้วนับแต่วันปิดหรือประกาศ


ข้อ ๓๒

ในการพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่า คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้

การไต่สวนของศาล ให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้

เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศแก่คู่กรณี ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด ประกาศตามวรรคสาม ให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาล


ข้อ ๓๓

คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคลและหลักฐานอื่นเป็นพยานได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และมีสิทธิขอตรวจพยานหลักฐานและคัดสำเนาพยานหลักฐานของตนเองหรือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ณ ที่ทำการศาลในเวลาทำการได้ตามที่ศาลกำหนด

การอ้างพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นในการอ้างพยานหลักฐานและวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว

คู่กรณีอาจยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

พยานหลักฐานใดที่คู่กรณีไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ คู่กรณีไม่อาจนำเข้าสู่การพิจารณาคดีได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


ข้อ ๓๔

เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ และให้แจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานตามข้อ ๓๓ วรรคสอง ต่อศาล พร้อมสำเนาจำนวนเพียงพอตามที่ศาลกำหนด และหากคู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต้องกระทำก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น

การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล โดยผู้ขอต้องแสดงเหตุอันสมควรว่า ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


ข้อ ๓๕

ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นต่อศาลเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าว หากฝ่ายใดไม่อาจยื่นพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐานได้ อันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาล หรือตุลาการประจำคดี หรือตุลาการคนใดคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย สอบถามคู่กรณีถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิง ตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วจดบันทึกรายงานการพิจารณาคดีไว้ เมื่อเสร็จแล้ว ให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยาน และแจ้งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน


ข้อ ๓๖

การไต่สวนของศาล ให้คู่กรณีซักถามเฉพาะประเด็นที่ศาลกำหนด และให้มีการสืบพยานหลักฐานที่คู่กรณีไม่รับกัน

ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันไต่สวน ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป


ข้อ ๓๗

ในการไต่สวนของศาล หากศาลเห็นว่า คดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะงดการไต่สวนก็ได้


ข้อ ๓๘

การไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ศาลกำหนดและกระทำเท่าที่จำเป็น

การไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญเอง ก่อนทำการไต่สวน ให้ศาลแจ้งให้พยานทราบถึงประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามของศาล

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็นและข้อเท็จจริงที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน


ข้อ ๓๙

ศาลอาจอนุญาตให้สืบพยานที่อยู่นอกที่ทำการศาลตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอโดยระบบการประชุมทางวีดิทัศน์ได้ โดยให้ฝ่ายที่ร้องขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีระบบดังกล่าว และเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ทั้งหมด

การสืบพยานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่า กระทำในห้องพิจารณาของศาล


ข้อ ๔๐

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลที่ต้องมาเบิกความ เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล ตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือที่คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนดและศาลอนุญาต โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลและสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นทราบก่อนวันนัดสืบพยานบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

คู่กรณีที่ติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าสามวัน มิฉะนั้น ให้ถือว่า ไม่ติดใจคัดค้าน

ในวันนัดสืบพยาน ให้พยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า แล้วตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาลและคู่กรณีฝ่ายอื่นตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามความในวรรคสองและศาลอนุญาต หากพยานไม่มาศาล หรือมาศาล แต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ และศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นนั้นก็ได้

พยานบุคคลใดยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต่อศาลแล้ว จะขอถอนบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นมิได้ และเมื่อพยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าแล้ว ให้ถือว่า บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยาน


ข้อ ๔๑

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลใดเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนด แทนการมาเบิกความ โดยพยานไม่ต้องมาศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลก็ได้

ให้ศาลส่งสำเนาบันทึกคำพยานตามวรรคหนึ่งให้คู่กรณีทราบ หรือมีคำสั่งแจ้งให้คู่กรณีมารับสำเนาบันทึกคำพยานภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และหากคู่กรณีติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันได้รับสำเนาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นนั้น มิฉะนั้น ให้ถือว่า ไม่ติดใจคัดค้าน

ศาลอาจนัดให้พยานมาศาลเพื่อตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาล หรือของคู่กรณีตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามความในวรรคสองและศาลอนุญาต ในกรณีเช่นนี้ ถ้าพยานบุคคลนั้นไม่มาศาล หรือมาศาล แต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นนั้นก็ได้


ข้อ ๔๒

ระหว่างการไต่สวนของศาล ให้ศาลบันทึกรายงานการพิจารณาคดีรวมไว้ในสำนวน และจัดให้คู่กรณีลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

การบันทึกคำเบิกความของพยานในการไต่สวน ให้บันทึกการพิจารณาโดยใช้เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องบันทึกภาพและเสียง หรือวิธีการอื่นตามที่ศาลกำหนด


ข้อ ๔๓

กรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี ก็ให้กระทำได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณี ต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจา ให้ผู้ร้องเป็นผู้แถลงก่อนและให้ผู้ถูกร้องแถลงในลำดับถัดไป

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจาของแต่ละฝ่าย ศาลจะซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้แถลงในระหว่างการแถลงหรือภายหลังการแถลงก็ได้

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจาตามวรรคสามและวรรคสี่ ให้นำความในข้อ ๔๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ข้อ ๔๔

ในการประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย คู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องจะให้ข้อเท็จจริงหรือความเห็นแล้วแต่กรณีเป็นหนังสือก็ได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากศาล


ข้อ ๔๕

ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้ตุลาการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา


ข้อ ๔๖

ศาลอาจสั่งงดการสืบพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร


ข้อ ๔๗

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือโดยคู่กรณีร้องขอ ศาลอาจสั่งให้มีการนำสืบพยานหลักฐาน ตรวจสอบบันทึก เอกสาร วัตถุ หรือสถานที่ ไม่ว่าจะกระทำในเวลาใด ภายในหรือภายนอกที่ทำการศาลก็ได้


ข้อ ๔๘

ศาลมีอำนาจในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานใด ๆ ที่ได้มา หรือมีอยู่ หรือที่คู่กรณีนำมาสืบนั้น เกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้ฟังเป็นยุติได้หรือไม่


ข้อ ๔๙

การพิจารณาคดีของศาล ให้กระทำด้วยความรวดเร็ว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก็ได้


ข้อ ๕๐

การพิจารณาวินิจฉัยของศาล ให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้


ข้อ ๕๑

ให้ศาลเป็นผู้บันทึกรายงานการพิจารณาคดี


ข้อ ๕๒

ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำสั่ง ประกาศ หรือหนังสืออื่นใดของศาล



หมวด ๕


การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง





ข้อ ๕๓

คำวินิจฉัยของศาลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมา หรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง

คำวินิจฉัยของศาลต้องลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัย ถ้าตุลาการคนใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้องค์คณะนั้นมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งที่เป็นองค์คณะจดแจ้งเหตุดังกล่าวแล้วกลัดรวมไว้กับคำวินิจฉัย


ข้อ ๕๔

ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ เมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ให้ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะจัดทำคำวินิจฉัยของศาล การทำคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคหนึ่ง องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ข้อ ๕๕

คำวินิจฉัยของศาลให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลอื่น และองค์กรอื่นของรัฐ

คำวินิจฉัยของศาล ให้มีผลในวันอ่าน

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่มีคู่กรณี ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย แล้วแต่กรณี ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ให้ศาลบันทึกไว้ และให้ถือว่า คำวินิจฉัยนั้นได้อ่านโดยชอบแล้ว

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้อง และให้ถือว่า วันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องตามข้อ ๑๗ (๑๑) ว่า ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ หรือข้อ ๑๗ (๑๓) (๑๔) (๑๘) หรือ (๑๙) ว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดทำประกาศผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว

การแจ้งให้มาฟังและการอ่านคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคสาม และการแจ้งตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด


ข้อ ๕๖

คำสั่งจำหน่ายคำร้องตามข้อ ๒๓ และคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๒๗ วรรคสอง ต้องประกอบด้วยความเป็นมาโดยย่อของคำร้อง ความเห็นประกอบ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง

ให้นำความในข้อ ๕๔ วรรคสอง มาใช้บังคับในการทำคำสั่งโดยอนุโลม เมื่อจัดทำคำสั่งเสร็จแล้ว ให้แจ้งคู่กรณีทราบ พร้อมปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาลไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน


ข้อ ๕๗

ในกรณีที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง เมื่อศาลเห็นเอง หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอและศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกต้องก็ได้

การทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ผลในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเดิม เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องหรือคู่กรณี แล้วแต่กรณีได้รับทราบ และให้นำความข้อ ๕๔ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการทำคำสั่งตามข้อนี้ ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด



บทเฉพาะกาล





ข้อ ๕๘

บรรดาคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๕ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ศาลดำเนินการต่อไป

ข้อกำหนดนี้ไม่ใช้บังคับแก่คดีที่ได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ และให้ใช้ข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องนั้นบังคับต่อไป เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดเป็นอย่างอื่น




ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


วิรัช ลิ้มวิชัย
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ




เอกสารแนบท้าย

ขึ้น ลง



แบบพิมพ์ของศาล





ข้อ ๑

แบบพิมพ์ของศาลมีดังนี้

(๑)   คำร้องให้พิจารณาวินิจฉัย

(๒)   คำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๒๒

(๓)   คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

(๔)   คำร้องทั่วไป

(๕)   คำชี้แจง

(๖)   บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น

(๗)   คำคัดค้าน

(๘)   คำแถลงการณ์เปิดคดี

(๙)   คำแถลงการณ์ปิดคดี

(๑๐)   ใบมอบฉันทะ

(๑๑)   บัญชีระบุพยานบุคคล

(๑๒)   บัญชีระบุพยานเอกสาร

(๑๓)   บัญชีระบุพยานวัตถุ

(๑๔)   หนังสือให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

(๑๕)   หนังสือแจ้งผู้ถูกร้องให้มารับสำเนาคำร้อง

(๑๖)   หนังสือแจ้งคู่กรณี

(๑๗)   หนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล

(๑๘)   ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ

(๑๙)   บันทึกคำเบิกความพยาน

(๒๐)   บันทึกคำแถลงการณ์เปิด/ปิดคดีด้วยวาจา

(๒๑)   รายงานการพิจารณาคดี

(๒๒)   คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

(๒๓)   คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

(๒๔)   บันทึกการอ่านคำวินิจฉัย

แบบพิมพ์ตามท้ายข้อกำหนดนี้ ให้ใช้กระดาษพิมพ์ขนาดเอ ๔


ข้อ ๒

ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้เกี่ยวข้อง หรือบุคคลอื่นที่ประสงค์จะยื่นเอกสารต่อศาล ให้จัดทำตามแบบพิมพ์ตามข้อ ๑ (๑) ถึงข้อ ๑ (๑๓) แล้วแต่กรณี ผู้ยื่นสามารถจัดทำแบบพิมพ์ขึ้นเองได้ โดยจัดทำต้นฉบับพร้อมสำเนารวมจำนวนเก้าชุด


ข้อ ๓

แบบพิมพ์ตามข้อ ๑ (๑๔) ถึงข้อ ๑ (๒๔) เป็นแบบพิมพ์สำหรับศาลใช้






เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๙๖ ก/หน้า ๑๔/๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"