ข้ามไปเนื้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๘-๑๒๙/๒๕๔๑

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๑๒๘-๑๒๙/๒๕๔๑
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
นางอรปวีณา บุตรขุนทอง ที่ ๑ โจทก์
นางประถม บุตรขุนทอง ที่ ๒
นายนัทที บุตรขุนทอง ที่ ๓
นางสาวปนัดดา อินทปัจ ที่ ๔
ระหว่าง

นายนิกร ยศคำจู จำเลย


เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม


นายดาบตำรวจแก้ว พึ่งพา ที่ ๑ โจทก์
นางนงนารถ หรือนงนาฏ พึ่งพา ที่ ๒
นายวิรัตน์ บุตรขุนทอง ที่ ๓
นายนริศ บุตรขุนทอง ที่ ๔
ระหว่าง

นายนิกร ยศคำจู จำเลย


เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม



จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๓ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ ศาลฎีการับวันที่ ๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๐

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ สำนวนแรก ว่า โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ และเรียกโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ สำนวนหลัง ว่า โจทก์ที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง มีใจความว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๓ เวลากลางวัน จำเลย ซึ่งขณะนั้นครองสมณเพศเป็นพระครูนิกร ธรรมวาที ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจโทพิทักษ์ สุวรรณ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา ขณะที่จำเลยจะเดินทางไปต่างประเทศ โจทก์ทั้งแปดยึดเอาหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน กระเป๋าเดินทาง และข่มขู่ให้ไปด้วย มิฉะนั้นจะทำร้าย แล้วพาจำเลยไปกักขังไว้ที่บ้านเลขที่ ๑๖๖๙/๖๖๕ หมู่บ้านปิ่นเจริญ ๒ โจทก์ทั้งแปดข่มขู่บังคับจะเอาเงินห้าล้านบาท ใช้อาวุธปืนบังคับให้จำเลยถอดจีวรออก แต่งกายแบบฆราวาส กระทำพิธีผูกข้อมือแต่งงานกับโจทก์ที่ ๑ ถ่ายภาพ และขู่ว่า หากไม่จ่ายเงิน จะนำภาพไปเปิดเผยทางสื่อมวลชน จำเลยกลัว จึงสั่งจ่ายเช็คธนาคากรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ จำนวนเงินห้าล้านบาท โจทก์ทั้งแปดได้กักขังจำเลยไว้ถึงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ เวลา ๑๔ นาฬิกา จึงนำจำเลยไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเบิกเงินธนาคาร ถึงจังหวัดเชียงใหม่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๓ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา เพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งแปดต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น ในข้อซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป การแจ้งความดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งแปดถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัว ได้รับความเสียหาย ความจริงเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๓ ไม่ได้มีการกระทำความผิดในข้อหากรรโชกและทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเกิดขึ้นตามที่จำเลยกล่าวหา ต่อมา วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ เวลากลางวัน จำเลยนำเอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จดังกล่าวมาฟ้องโจทก์ทั้งแปดว่าร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๖๖๐๙/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น ความจริงโจทก์ทั้งแปดไม่ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย และวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๔ เวลากลางวัน จำเลยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวว่า ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ จำเลยกับคณะเดินทางไปสนามบินดอนเมือง เวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา จำเลยจะเข้าไปทำการตรวจเอกสาร โจทก์ที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้อำนวยความสะดวกไม่ต้องเข้าคิว โดยขอหนังสือเดินทางไปประทับตรา และเชิญจำเลยเข้าไปนั่งรอในห้องรับรอง จนกระทั่งเวลาเครื่องบินใกล้จะออก โจทก์ที่ ๕ ได้เชิญจำเลยเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจช่วยยกสัมภาระของจำเลยไปที่รถยนต์ โจทก์ที่ ๕ อ้างว่าผู้โดยสารจะต้องขึ้นรถยนต์ไปขึ้นเครื่องบิน จำเลยจึงขึ้นไปนั่งอยู่ข้างหลัง โดยโจทก์ที่ ๕ นั่งอยู่ข้างหน้า และมีชายอีกสองคนนั่งไปด้วย จำเลยเข้าใจว่า โจทก์ที่ ๕ จะพาจำเลยไปขึ้นเครื่องบิน แต่ปรากฏว่า รถยนต์คันดังกล่าวแล่นออกจากสนามบินดอนเมือง เข้าถนนวิภาวดีรังสิต และมีรถยนต์อีกคันหนึ่งแล่นตามไปในลักษณะคุ้มกัน ชายสองคนดังกล่าวได้จับแขนจำเลยทั้งสองข้าง โจทก์ที่ ๕ ได้ชักอาวุธปืนจี้จำเลยให้อยู่นิ่ง มิเช่นนั้นจะยิงให้ตาย ชายสองคนดังกล่าว คือ โจทก์ที่ ๓ และที่ ๘ หลังจากนั้น โจทก์ที่ ๓, ที่ ๕ และที่ ๘ ได้คุมตัวจำเลยไปที่บ้านเลขที่ ๑๖๖๙/๖๖๕ หมู่บ้านปิ่นเจริญ ๒ จำเลยเห็นโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๔ และที่ ๖ ลงจากรถยนต์ที่แล่นตามไป จำเลยไม่เต็มใจเดินทางไปบ้านดังกล่าว แต่ถูกบังคับให้ขึ้นไปบนห้องชั้นสอง หลังจากนั้น โจทก์ที่ ๕, ที่ ๗ และที่ ๘ ช่วยกันจับมือจำเลยไว้ แล้วเปลื้องผ้าสบงจีวรออก โจทก์ที่ ๕ ใช้อาวุธปืนจี้บังคับจำเลยตลอดเวลา โจทก์ที่ ๖ นำชุดนอนสีขาวมาใส่ให้จำเลย และบังคับให้ขึ้นไปนั่งอยู่บนที่นอน แล้วนำโจทก์ที่ ๑ มานั่งเคียงคู่กัน โจทก์ที่ ๒ นำด้ายมาผูกข้อมือจำเลยติดกับข้อมือโจทก์ที่ ๑ ทำลักษณะคล้ายพิธีแต่งงาน ซึ่งจำเลยไม่เต็มใจที่จะกระทำการดังกล่าว ขณะนั้น เวลา ๒ นาฬิกาของวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๓ โจทก์ที่ ๔ และที่ ๗ ช่วยกันถ่ายภาพจำเลยกับโจทก์ที่ ๑ หลังจากนั้น โจทก์ทั้งแปดช่วยกันบังคับขู่เข็ญให้จำเลยเขียนโปสการ์ดติดต่อกับโจกท์ที่ ๑ และให้บันทึกเสียงเกี้ยวพาราสีทำนองชู้สาวกับโจทก์ที่ ๑ หลักฐานที่โจทก์ทั้งแปดบังคับให้จำเลยเขียนและบันทึกเสียงไว้นั้น ถ้าบุคคลอื่นเห็น จะเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความจริง ซึ่งทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อีกทั้งจะทำให้พระพุทธศาสนามัวหมอง หลังจากโจทก์ทั้งแปดทำหลักฐานดังกล่าวเสร็จ ก็เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินจำนวนห้าล้านบาท โจทก์ทั้งแปดบังคับขู่เข็ญว่า หากจำเลยไม่จ่ายเงินให้ตามที่เรียกร้อง จะนำหลักฐานดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณชน นำไปฟ้องต่อมหาเถรสมาคมและกรรมการศาสนา กับขู่เข็ญว่าจะทำร้ายและฆ่าจำเลย และจำเลยยังเบิกความต่อไปว่า ขณะที่โจทก์ที่ ๕ นำสัมภาระของจำเลยออกมาตรวจค้น ได้พบสมุดเช็คของวัดสันปง จึงบังคับให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวนดังกล่าว แล้วโจทก์ที่ ๑ รับเช็คไป จำเลยถูกกักขังอยู่ที่บ้านดังกล่าวสามวัน จนถึงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ ระหว่างนั้น โจทก์ทั้งแปดได้ร่วมกันยึดบัญชีรายชื่อลูกศิษ์และซองฎีกาที่มีผู้บริจาคไป ความจริงเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๓ ต่อเนื่องกัน ไม่ได้มีการกระทำความผิดตามที่จำเลยเบิกความ และโจทก์ทั้งแปดมิได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว ข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นความเท็จ และเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวางตลาดบางเขน เขตบางเขน และแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๔ วรรคท้าย, ๑๗๕, ๑๗๗, ๑๘๑ (๑), ๙๐ และมาตรา ๙๑

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๔ วรรคสอง, ๑๗๕, ๑๗๗ วรรคสอง, ๑๘๑ (๑) ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานแจ้งความเท็จ จำคุกหนึ่งปี ฐานฟ้องเท็จ จำคุกสองปี ฐานเบิกความเท็จ จำคุกสองปี รวมจำคุกห้าปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ จำคุกหกเดือน ฐานฟ้องเท็จ จำคุกแปดเดือน และฐานเบิกความเท็จ จำคุกแปดเดือน รวมจำคุกยี่สิบสองเดือน นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีการตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นพระภิกษุ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป และเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดเสียเองเช่นนี้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลย โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน



สมคิด ไตรโสรัส


เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ


อัธยา ดิษยบุตร




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"