ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๓/ฉบับไม่เป็นทางการ

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

สารบัญ

[แก้ไข]




คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ)

เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นวินิจฉัย

ประเด็นที่ ๑ กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

ประเด็นที่ ๒ การกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้องอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐

ประเด็นที่ ๓ ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือไม่

ประเด็นที่ ๔ ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่

ประเด็นที่ ๕ กรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ หรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ เรื่องการแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือไม่ อย่างไร

เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับที่เหมาะสม จึงเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นที่ ๒ ก่อน

ประเด็นที่ ๒ การกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้องอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐

ผู้ร้องกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ ในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ในช่วงบังคับแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่ในขณะยื่นคำร้องได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ แทนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ในส่วนสารบัญญัติเกี่ยวกับเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองในคดีนี้จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๗/๒๕๕๐

การนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาวินิจฉัย นั้น หมายถึงการพิจารณาวินิจฉัยในส่วนที่เป็นกฎหมายสารบัญญัติเท่านั้น กล่าวคือ หมายถึงบทบัญญัติที่กำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิด หรือกำหนดข้อห้ามหรือข้อบังคับในการปฏิบัติ แต่ในส่วนที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ประเด็นที่ ๑ กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มี ๒ กรณีแยกต่างหากจากกัน กล่าวคือ

(๑) กรณีพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๙๔ นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจแจ้งต่ออัยการสูงสุด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตามมาตรา ๙๕ วรรคสอง

(๒) กรณีพรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๘๒ ประกอบมาตรา ๔๒ นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง

คดีนี้ ผู้ร้องได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคประชาธิปัตย์ผู้ถูกร้องในกรณีที่สองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้อง กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๘๒ ที่บัญญัติให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายนั้นให้ถูกต้อง ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่กรณีร้องของอัยการสูงสุดที่ยื่นตามมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง

การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา ๙๓ กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในวรรคสองว่า "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน"

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เมื่อนายทะเบียนทราบว่า มีพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นต้องถูกยุบตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียน ไม่ว่านายทะเบียนจะทราบเองหรือบุคคลใดแจ้งให้ทราบ นายทะเบียนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่า การกระทำตามที่ทราบมานั้น เป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบหรือไม่

อำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ หรือไม่ นั้น เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียน หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ ย่อมเป็นกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้นต่อไป การที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนก็เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องสำคัญเช่นนี้ เป็นไปโดยความรอบคอบ

การที่กฎหมายให้พิจารณาเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ หรือไม่ เป็นอำนาจนายทะเบียน นั้น เนื่องจากมาตรา ๘๒ เป็นเรื่องการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้ถูกต้อง รวมทั้งการปฏิบัติงานทางเอกสาร การจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง การทำรายงานให้ถูกต้อง อันเป็นงานประจำตามปกติ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายทะเบียนที่จะต้องดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อันเป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะเป็นผู้ตรวจสอบประจำอยู่แล้ว มาตรา ๙๓ จึงบัญญัติให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ซึ่งต่างจากการกระทำตามมาตรา ๙๔ ที่เป็นการกระทำที่ร้ายแรงกว่า มาตรา ๙๕ จึงบัญญัติให้นายทะเบียนต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อัยการสูงสุดซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการ

ในการพิจารณาของนายทะเบียน กฎหมายมิได้บังคับว่า จะต้องพิจารณาด้วยตนเอง นายทะเบียนจึงมีอำนาจที่จะแต่งตั้งหรือขอความเห็นจากผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ รวมถึงการขอความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก็สามารถทำได้ แต่การตัดสินใจขั้นนี้ ยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะต้องพิจารณาและมีความเห็นก่อนว่า มีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้จะเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่านายทะเบียน ก็ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า มีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๒ หรือไม่ คงมีอำนาจเพียงให้ความเห็นชอบตามที่นายทะเบียนเสนอเท่านั้น

จากคำร้องของผู้ร้อง คำชี้แจงและคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของผู้ถูกร้อง ประกอบกับคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ได้แจ้งนายทะเบียนขอให้ตรวจสอบว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ รวม ๒ กรณี คือ (๑) การที่บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินค่าจ้างทำสื่อโฆษณาให้กับบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เป็นการอำพรางการบริจาคเงินของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้กับผู้ถูกร้อง และ (๒) การใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องไม่เป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง

หลังจากได้รับแจ้งแล้ว นายอภิชาต ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวเพื่อรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ โดยมีนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธาน

คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ทำการสอบสวนและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นว่าผู้ถูกร้องมิได้กระทำผิดทั้งสองประเด็น โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในประเด็นที่สองซึ่งเป็นมูลกรณีของคดีนี้ และได้รายงานผลการสืบสวนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวน แล้วมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ไม่เกี่ยวกับมูลคดีนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๙๓

ในการลงมติดังกล่าว นายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย มีความเห็นและลงมติ ทั้ง ๒ กรณีว่า

(๑) ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริจาคเงินให้ผู้ถูกร้อง และ

(๒) กรณีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องคดีนี้ นายอภิชาตมีความเห็นว่า "จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ตามข้อมูลที่ผู้ตรวจสอบบัญชี บริษัท สำนักสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ จำกัด แล้ว ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด จึงเชื่อตามเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบตามระบบแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์จริงประกอบกับจากพยานหลักฐานการสอบสวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร คำให้การนายปกครอง สุนทรสุทธิ์ ที่ให้การแทนพลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบกับพยานเอกสาร รับฟังได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีการขอปรับโครงการ และได้รับอนุมัติแล้ว จึงเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้กล่าวหา จึงให้ยกคำร้องคัดค้านตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน"

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าวแล้ว นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมาก โดยมีหม่อมหลวงประทีป จรูญโรจน์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย นั้น นายทะเบียนย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินการได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง

ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ประธานกรรมการตรวจสอบฯ ได้สรุปข้อเท็จจริงพร้อมความเห็น เสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ในวันเดียวกันนั้น นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้บันทึกความเห็นในท้ายบันทึกคณะกรรมการตรวจสอบฯ ว่า "ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่คณะทำงานของนายทะเบียน ฯ ได้รวบรวมเพิ่มเติมจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมไว้ในเบื้องต้น อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อันควรสู่การพิจารณามีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงให้เสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาด่วน โดยฝ่ายประธานกรรมการการเลือกตั้ง" และปรากฎตามเอกสารหมาย ร ๑๔ ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเพียงว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณามีมติ

นายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้เรียกประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ โดยได้นำผลตรวจสอบของคณะกรรมการดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติสำหรับกรณีตามคำร้องในคดีนี้ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง และมีมติเสียงข้างมากให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา ๙๕ นายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า "ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง"

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประชุมกันอีกครั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มิได้เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ โดยถือว่า ความเห็นส่วนตนของนายอภิชาต ที่ได้ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียน

จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งที่ลงมติไว้เป็นคำวินิจฉัยส่วนตน ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือไม่

เห็นว่า ถึงแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ต่างหากจากกัน และบางกรณีจะบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกัน กรณีที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่น ตามมาตรา ๗๔ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน และพัฒนาพรรคการเมือง กรณีตามมาตรา ๘๑ คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดให้พรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนกรณีที่บัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้เดียว เช่น ตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือมาตรา ๔๑ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมือง เป็นต้น สำหรับกรณีที่บัญญัติให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนมีอำนาจลักษณะร่วมกันหรือถ่วงดุลกัน เช่น ตามมาตรา ๙๒ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีพรรคการเมืองมีเหตุต้องเลิก ถ้าเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองจริง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สั่งเลิกพรรคการเมืองนั้น หรือตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง กรณีดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามมาตรา ๔๒ วรรคสองหรือมาตรา ๘๒ เป็นต้น

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ต่างหากจากประธานกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่งที่ต่างกัน จึงมีภาระหน้าที่แตกต่างกันด้วย ปัจจัยที่จะนำมาใช้หลักเกณฑ์วินิจฉัยปัญหาใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่า มีภาระหน้าที่อย่างไร การที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๘๒ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือไม่ ก็เนื่องมาจากนายทะเบียนพรรคพรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด และเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติของพรรคการเมืองเป็นอย่างดี ส่วนประธานกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มิได้มีหน้าที่ควบคุมดูแลกสนปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมือง คงมีอำนาจเพียงตรวจสอบว่าความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองมีเหตุผลสมควรหรือไม่ ประเด็นวินิจฉัยจึงต่างกันในสาระสำคัญ

ถึงแม้ว่าในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาต ได้ทำความเห็นไว้ ๒ ความเห็น คือ ความเห็นตามที่เกษียณสั่งให้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามเอกสารหมาย ร ๑๓ และ ร ๑๔ ส่วนความเห็นในการลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง นั้น เป็นการออกความเห็นในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการเกษียณสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ได้มีความเห็นเช่นนั้นก่อนแล้ว จึงเสนอความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบ ความเห็นของนายอภิชาต ในการลงมติ ในฐานะประธานกรรมการการลืเอกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงมิอาจถือได้ว่า เป็นความเห็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะหากจะถือเช่นนั้นก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่านายอภิชาตได้เคยลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้วในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ว่า ผู้ถูกร้องได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยมีการขอปรับโครงการและได้รับอนุมัติแล้ว ซึ่งได้ถือว่าความเห็นของประธานกรรมการการลืเอกตั้งดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่ประการใดไม่

อนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายความว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ฉันใด การทำความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น

นอกจากนี้การเกษียณสั่งของนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตามที่ปรากฎในบันทึกข้อความเอกสาร หมาย ร ๑๓ นั้น ก็มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคหรือไม่ แต่เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเกลือตั้งพิจารณาว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่ก็ได้เท่านั้น ทั้งการกระทำตามมาตรา ๙๔ ก็มิได้เกี่ยวกับการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองผิดกฎหมาย หรือการรายงานไม่ตรงตามความเป็นจริงอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ ที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา ๙๓ แต่อย่างใดเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะมีผลให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้

อนึ่ง มีเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งว่า เนื่องจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มุ่งประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรด้วยกันเอง อันเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติของกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองไว้แล้ว ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และมีวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดจากการกระทำ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓๖ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดเป็นกระบวนการไว้ ในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง และมาตรา ๙๕

กรณีข้อกล่าวหาตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๓ วรรคสอง มิได้บัญญัติให้นายทะเบียนต้องเสนอความเห็นด้วยว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ต่างกับกรณีข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ ที่มาตรา ๙๕ บัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนและนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว กล่าวคือนายทะเบียนต้องตรวจสอบกรณีนั้นด้วยอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนก่อน แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมความเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นความเห็นให้เสนอยุบพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ อันเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์กฎหมาย เพื่อให้การใช้ดุลพินิจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้รับการตรวจสอบกลั่นกรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ทั้งในกรณีเสนอให้ยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองนั้น

ฉะนั้นกรณีตามคำร้องคดีนี้นายทะเบียนจะเสนอความเห็นด้วยว่า พรรคผู้ถูกร้องมีเหตุตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการการเกลือตั้งหรือไม่ก็ได้ เมื่อผู้ร้องได้รับหนังสือขอให้ตรวจสอบพรรคผู้ถูกร้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และของนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ แล้ว ต่อมาวันที่ ๓๐ เมษายน๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๔๘/๒๕๕๒ ด้วยเหตุผลว่า เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณียังมิใช่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยมีเหตุอันสมควรว่าการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวทั้งสองข้อกล่าวหา จึงมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดที่มีนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสืบสอนสอบสวนเรื่องดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔๔/๒๕๕๒ ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทั้งสองข้อกล่าวหาแล้ว มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหา โดยผู้ร้อง ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้ลงความเห็นเสียงข้างน้อย ให้ยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องทั้งสองข้อกล่าวหา เพราะไม่พบการกระทำผิดนั้น ความเห็นของผู้ร้องไม่ผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะผู้ร้องต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติเสียงข้างมาก แต่โดยที่มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมาก เป็นการพิจารณารวมกันไปสองข้อกล่าว ซึ่งเป็นกรณีต้องแยกพิจารณาแต่ละข้อกล่าวหาให้ชัดเจน เฉพาะมติกรณีข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ ถือได้ว่าเป็นมติเสียงข้างมากสั่งการให้ผู้ร้องมีความเห็นก่อน แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป เป็นข้อกล่าวหาที่นายทะเบียนชอบที่จะตั้งกรรมการช่วยตรวจสอบก่อนเสนอความเห็นได้ ส่วนกรณีข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งการรวมกันไปว่า ให้ผู้ร้องพิจารณามีความเห็นก่อนแล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น ต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๔๑/๒๕๕๓ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ความเห็นของเสียงข้างมากให้เหตุผลว่าข้อเท็จจริงทั้งสองข้อกล่าวหาเกี่ยวพันกัน จึงยังคงมีมติให้แจ้งผู้ร้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ เช่นเดิม โดยผู้ร้องและนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้งมีความเห็น ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง และต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๔๓/๒๕๕๓ วันทื่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมติเอกฉันท์ที่ชัดเจน ยืนยันเห็นชอบให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสองแสดงให้เห็นว่ามติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เห็นชอบให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว โดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องเสนอความเห็นก่อนอย่างใด กรณีถือได้ว่าคดีนี้ความได้ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคผู้ถูกร้องมีกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง แล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันจึงต้องเริ่มนั้บตั้งแต่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว

การที่ผู้ร้องมีคำสั่งที่ ๙/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานอีก แล้วผู้ร้องเสนอโดยมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องหรือไม่ประการใดเช่นเดิม และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการประชุมครั้งที่ ๔๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เห็นชอบให้ผู้ร้องแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ (๓) (๔)และมาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีมติเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ ๔๓/๒๕๕๓ เห็นชอบให้ผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ นั้น กระบวนการดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรและเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎหมายให้ชัดเจนภายในองค์กรที่ยังคงต้องอยู่ในบังคับตามระยะเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง กำหนด เป็นกรณีต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสืบสวนชุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฎต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป

ให้ยกคำร้อง



งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"