ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๗/๒๕๕๕

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


(๒๒)
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำสั่งที่ ๕๗/๒๕๕๕ เรื่องพิจารณาที่ ๔๙/๒๕๕๕

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญ
 
เรื่อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจฟ้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลปกครองหรือไม่


ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบสรุปได้ว่า นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๐๖/๒๕๕๓ ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีมีคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการออกคำสั่งหลังจากวันที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การพิจารณาและออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และถือเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งตามนัยแห่งมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นได้ออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ คือ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ออกคำสั่งดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ ดังกล่าว เนื่องจากมิได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหรือการปฏิบัติราชการของรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๗ (๑) และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๑๑/๑ ดังนั้น คำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๒ จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๕ (๒) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ ที่ อ. ๑๐๗๙/๒๕๕๓ คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๗๒/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) เนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ อันเป็นการออกมาภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นข้าราชการซึ่งเป็นบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๔ (๑) (ก) จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการนำคดีฟ้องศาลปกครองนั้น ผู้ร้อง ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะฟ้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลปกครองในฐานะข้าราชการได้ เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ บัญญัติว่า "ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้อง (๑) ไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ" ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย" เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๒ ถึง มาตรา ๒๕๔ และบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๓๐๑ มาตรา ๓๐๒ และมาตรา ๓๐๙ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๒ ถึง มาตรา ๒๔๕ และบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๒๙๙ และมาตรา ๓๐๒ ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" เมื่อผู้ร้องดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๙ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๓ วรรคสอง บัญญัติให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน ต่อมา ผู้ร้องมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) และโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕๑/๒๕๕๔ ว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การใดที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดไว้ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๓ แล้วผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง เมื่อการบังคับใช้ต่างกัน ผลของการใช้บังคับจึงไม่ขัดหรือแย้งกัน

ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ร้องมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) เมื่อผู้ร้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยผลของกฎหมายแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคสอง ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ กรณีไม่เข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้ร้องจะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย



วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ


จรัญ ภักดีธนากุล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


จรูญ อินทจาร
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


เฉลิมพล เอกอุรุ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


ชัช ชลวร
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


นุรักษ์ มาประณีต
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


บุญส่ง กุลบุปผา
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


สุพจน์ ไข่มุกด์
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"