คำแปลธรรมเทศนาของพระโลกนาถ/คำนำ ป. สาครบุตร์

จาก วิกิซอร์ซ


คำนำ ป. สาครบุตร์




เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 พระโลกนาถ ภิกษุชาวอิตาเลียนรูปหนึ่ง ได้จาริกไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้แสดงธรรมเทศนา ให้อุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมากฟัง ณ วิหารวัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่และวิหารหลวง ลำพูน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแปลธรรมเทศนาที่ท่านแสดงโดยภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยสู่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายฟัง ธรรมเทศนาที่พระโลกนาถแสดงนั้น ถ้าจะสรุปความ ก็มีอยู่ย่อๆ ดังต่อไปนี้ :-


1. ท่านว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเป็นพระมหาราชาธิราชที่อัศจรรย์ในโลก โดยสมภพในราชตระกูลที่สูงสุด อุดมพร้อมและแวดล้อมไปด้วยความสุขต่างๆ ดังปรากฏอยู่ในพุทธประวัติของเราแล้วนั้น พระองค์ยังไม่ไยดีในความสุขนั้น กลับทรงเห็นว่าเป็นทุกข์ร้อยแปดประการ และทรงเห็นว่าธรรมดาสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีของเป็นคู่กัน เช่น มีร้อนแล้วก็มีหนาว มีมืดแล้วก็มีสว่าง มีทุกข์แล้วก็ต้องมีสุขดังนี้ จึงได้เสด็จออกทรงผนวชเมื่อพระชันษา 29 กำลังวัยคะนอง ทรงแสวงหาสันติสุขซึ่งแน่พระทัยว่ามีอยู่ในโลก ทรงบำเพ็ญตบะ แสวงหาของจริงอยู่ 6 พรรษา จึงได้สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา โดยทรงเห็นว่าโลกนี้มีของจริงอยู่ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นหมู่สัตว์ตกอยู่ในสังสารวัฏที่มืดมนอันธการ หนาแน่นไปด้วยอวิชชาและรุมล้อมไปด้วยตัณหา ด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ จึงได้ตั้งพระทัยประกาศพระศาสนา วางหลักแห่งการปฏิบัติ แต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด คือ เบื้องต้นแต่การบำเพ็ญทาน รักษาศีลเจริญภาวนา ไปจนถึงวิมุตติ อันเป็นขั้นที่สุดแห่งการปฏิบัติ ดังเราท่านได้ทราบกันอยู่แล้วนั้น


2. ในการที่จะปลดเปลื้องตัณหาต่างๆ ท่านว่าต้องเริ่มด้วยการรักษาศีลห้า เพราะศีลห้าเป็นบรรทัดบังคับให้ดำเนินไปตามทางและเป็นบันไดตอนแรก การขึ้นบันไดจำเป็นจะต้องเหยียบแต่ขั้นต้นขึ้นไปก่อน จะก้าวขึ้นขั้นสุดทีเดียวไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเริ่มด้วยการละเว้นเสพเนื้อสัตว์ทั้งหลายก่อน ตอนนี้ท่านได้บรรยายยืดยาวสมเหตุสมผล ดังท่านทั้งหลายจะได้อ่านคำแปลด้วยตนเอง ในหน้ากระดาษต่อไปในสมุดเล็กๆ เล่มนี้


3. ท่านได้แสดงประวัติพุทธศาสนาและประวัติคริสตศาสนาให้ศรัทธาชนทั้งหลายฟัง และพิสูจน์ว่าคริสตศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาเท่านั้น จึงยังไม่ครบบริบูรณ์ พระเยซูได้เป็นสาวกของพระพุทธองค์ คือได้มาร่ำเรียนพระพุทธศาสนายังประเทศอินเดีย ภายหลังที่พระพุทธองค์เข้านิพพานแล้ว 500 ปีเศษ พระเยซูได้มาร่ำเรียนอยู่ถึง 18 ปี แต่เวลาไปเผยแผ่ศาสนานั้น ได้มีเวลาทำอยู่เพียง 3 ปี พร้อมด้วยมีหมู่มีคณะคอยกีดกันอยู่รอบข้าง และมีศัตรูคอยปองร้ายมากมาย ถึงกับภายหลังได้ลงทัณฑ์ต่อพระเยซูอย่างทราบกันทั่วๆ ไปแล้ว ฉะนั้นรสพระธรรมที่มีอยู่พร้อมมูลในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา จึงไม่ประจักษ์มากเท่าใดนัก ในคำสั่งสอนของพระเยซู หากว่า พระเยซูได้มีพระชนม์สั่งสอนอยู่อีกนานปี คล้ายคลึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คำสั่งสอนในคริสตศาสนาคงจะใกล้ชิดคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเข้ามาอีกเป็นอันมาก ฉะนั้น สำหรับผู้ที่ถือคริสตศาสนาอยู่แล้ว เพื่อจะให้การปฏิบัติเต็มเปี่ยมอย่างองค์พระเยซูมุ่งไว้แล้ว ก็ยังจะเสริมได้โดยเรียนพระธรรมในพระพุทธศาสนาต่อเติม และถือปฏิบัติให้ครบถ้วน ทั้งนี้จะขึ้นชื่อว่าได้เป็นสาวกของพระเยซู หรือขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองโดยแท้จริง


4. ท่านได้แสดงธรรมเรื่องเผยแพร่พระพุทธศาสนา ว่าครั้งที่ 1 องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเผยแพร่เองเมื่อยังดำรงพระชนมายุอยู่ ครั้งที่ 2 สมเด็จพระมหาธรรมิกราชาธิราช พระเจ้าอโศกราชได้จัดให้มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 218 และแต่นั้นมาเป็นเวลาล่วงเลย 2,000 ปีแล้วก็ยังหามีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาขนาดเขื่องอีกไม่ การเผยแพร่ในยุค 1 และ 2 นั้นก็อยู่เพียงในประเทศอินเดีย และทวีปเอเชีย คราวนี้ปี พ.ศ. 2476 ซึ่งใกล้กับปี พ.ศ. 2500 ที่ท่านกำลังจัดให้มีการเผยแพร่ครั้งที่ 3 โดยพระภิกษุสามเณร สยาม พม่า ลังกา และอินเดียหลายๆ นิกาย เอาไปร่วมกันเป็นนิกายเดียวคงจะไม่ขัดข้อง เพราะพุทธศาสนาถือการปฏิบัติเป็นใหญ่ และวิธีอุปสมบทก็อย่างเดียวกัน กล่าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยวาทะว่า พุทธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เช่นเดียวกัน จะต่างกันบ้างก็แต่วิธีการเล็กน้อย และการที่แยกนิกายไม่ใช่เป็นของดี โดยเป็นเหตุให้แตกสามัคคี หากจะแบ่งควรแบ่งเป็นชั้นๆ ตามหลักแห่งการปฏิบัติและภูมิที่บรรลุ อย่างที่ท่านจำแนกไว้เป็น 4 ชั้น 8 จำพวก คือ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ เมื่อรวมกันเป็นหมู่ได้แล้วจำนงไว้ว่า จะแพร่ให้ทั่วโลก คือจากสยามไป พม่า อินเดีย พักอบรมบรรดาสมาชิกทั้งหลายให้คล่องแคล่วสามารถพอสมควร อันจะเป็นเวลาประมาณ 3 ปี แล้วจะได้ออกทำการต่อไป มุ่งตรงไปทวีปยุโรป ผ่านประเทศอัฟกานิสถาน เปอร์เซีย ตุรกี เลยเข้ายุโรปไปยังกรุงโรมในประเทศอิตาลี แล้วเลยผ่านประเทศต่างๆ ทางตะวันตกของทวีปยุโรป ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทวีปอเมริกา ผ่านทวีปอเมริกา จากทางตะวันออกไปตะวันตก (กว้างใหญ่มาก) แล้วข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาประเทศญี่ปุ่น ขึ้นประเทศจีน และผ่านจีน ญวน มาบรรจบที่ประเทศสยามอีก ประมาณเวลาทั้งพักที่อินเดียด้วยราว 15 ปี

ธรรมเทศนาที่พระโลกนาถแสดงนั้น เป็นที่ต้องใจหมู่ศรัทธาทั้งหลายโดยซาบซึ้ง เกิดความปีติยินดีมาก จนถึงกับมีผู้สมัครจะไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยในเชียงใหม่ 13 ท่านและมีผู้รับศีลห้าพร้อมทั้งจะไม่เสพเนื้อสัตว์เป็นอาหารอีกต่อไปจนสิ้นชีวิต 104 คน และยังมีผู้พยายามจะปฏิบัติตามอีกก็มาก นับว่าธรรมเทศนาของท่านได้ประโยชน์เห็นทันตา คือปลุกให้ผู้ที่มีอุปนิสัยอยู่แล้วตื่นขึ้นรับถือปฏิบัติทันที อันจะป้องกันชีวิตสัตว์ ที่จะต้องตกมาถูกฆ่าตายเป็นอาหารได้เป็นจำนวนมากมาย " พระโลกนาถ " ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็คือพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา-รักใคร่สัตว์ทั่วไป กรุณา-สงสารสัตว์ทั่วไป มุทิตา-ยินดีที่สัตว์ทั้งหลายได้รับความสุข อุเบกขา-เมื่อไม่มีทางที่จะแสดงใน 3 ประการต้น ก็ให้วางใจเฉย ก็เมื่อเรายังเอาเนื้อของสัตว์เหล่านั้นมารับประทาน จะว่าเราพร้อมที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารอย่างไรได้ ข้อนี้สำคัญมาก เมื่อเรายอมที่จะเป็นพุทธมามกะอันจริงแท้แล้ว ควรที่จะบำเพ็ญตนตามหลักดังกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ถ้าไม่เช่นนั้นยังมองไม่เห็นผลแห่งการปฏิบัติ ว่าจะได้ประสบสุขด้วยอาการเช่นไร เพราะความสุขเกิดจากความสงบ การสังหารผลาญชีวิตและกินเลือดกินเนื้อกัน ไม่ใช่วิถีทางแห่งธรรมวิเศษเลย

มีผู้ที่ฟังธรรมเทศนาของพระโลกนาถแล้ว ได้มาหารือข้าพเจ้าเป็นจำนวนมากว่า เมื่อท่านจาริกเลยไปเสียแล้ว รสธรรมเหล่านี้ตามธรรมดาย่อมจะจางไป ถ้ามิได้มีการรวบรวมพิมพ์ขึ้นไว้ เพื่ออ่านสดับตรับฟังกันอีกต่อไป ขอให้ข้าพเจ้าเป็นธุระในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเองโดยที่เป็นผู้แปลก็ยังจำข้อความได้อยู่บ้าง แต่ไม่หมดจดละเอียดลออดี เมื่อมีผู้มาถามข้อสงสัยบางแห่งบางตอนก็อธิบายไปเท่าที่จำไว้ได้ จึงได้หารือท่าน ท่านจึงให้ข้าพเจ้าดูโน้ตหัวข้อที่ท่านเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องปราบตัณหาด้วยการเสพแต่ผักเป็นอาหาร ข้าพเจ้าขอคัดเอาไว้ และคุณหลวงประสาทศุภนิติ กับบรรดาผู้มีศรัทธาอื่นๆ ได้กรุณาช่วยกันแปลและตรวจทาน มีท่านผู้เฒ่าที่มีจิตเปี่ยมไปด้วยกุศล 2 ท่าน คือ 1 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ 2 คุณหลวงอนุสารสุนทร กับผู้อื่นอีกเป็นอันมากพร้อมกับบริจาคทุน ขอให้ข้าพเจ้าพิมพ์ธรรมเทศนาของพระโลกนาถออกแจกจ่ายกันเพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อๆ ไป ในชั้นต้นก็คิดกันว่าจะพิมพ์แจกเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน แต่โดยรู้สึกว่าการนี้เป็นการกุศลอันใหญ่หลวง ควรจะได้แพร่ไปทั่วๆ ในประเทศสยาม จึงพร้อมใจเห็นว่าควรพิมพ์ให้เป็นจำนวนมากและจ่ายไปทั่วประเทศ

ฉะนั้น เมื่อท่านผู้ใดได้อ่านธรรมเทศนาของพระโลกนาถในที่นี้แล้ว และได้รับประโยชน์จากรสธรรมเทศนานั้น ข้าพเจ้าขอเสนอผู้ว่าที่ขยายให้แสงสว่างส่องมาถึงเท่านั้น นอกจากองค์พระโลกนาถเองแล้ว คือท่านผู้มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาหลายๆ ท่านดังข้าพเจ้าได้ออกนามมาแล้วนั้น ได้ช่วยเหลือกันออกทรัพย์ออกแรงส่งเสริมการกุศลอันนี้ด้วย

ขอความสุข ความเจริญ จงมีแด่ท่านผู้ได้อ่าน ฟัง และปฏิบัติ เทอญ



ป. สาครบุตร์
                                  นครเชียงใหม่
                                   
                              วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2476