ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๓/๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[1]
ฉบับที่ ๖๓/๒๕๕๗
เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ




โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ของรัฐต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมายทั้งปวง ตามแต่กรณี แต่การดำเนินคดีต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่า มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฏหมาย รวดเร็ว เป็นธรรมแก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนและนานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมายทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอิสระอื่น ๆ อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วความเที่ยงธรรม และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใด ๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฏหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง/หน้า ๓/๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗.



๖๒/๒๕๕๗ ขึ้น ๖๔/๒๕๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"