ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๓

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชกฤษฎีกา


จัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์


พ.ศ. ๒๕๔๓




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๓"


มาตรา ๒

พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ในพระราชกฤษฎีกานี้

"โรงเรียน" หมายความว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

"เจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


มาตรา ๔

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้



หมวด ๑


การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่





มาตรา ๕

ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า "โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" และให้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Mahidol Wittayanusorn School"


มาตรา ๖

ให้โรงเรียนมีที่ทำการอยู่ในจังหวัดนครปฐม


มาตรา ๗

ให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการและดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


มาตรา ๘

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่หลักดังนี้

(๑) ดำเนินการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความเข้มข้นของการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(๒) จัดทำหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับใช้ในโรงเรียน

(๓) ดำเนินการและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน

(๔) ให้บริการพิเศษทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


มาตรา ๙

นอกจากอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ ให้โรงเรียนมีอำนาจทำกิจการดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ

(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน

(๓) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกิจการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียน

(๔) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนและการดำเนินงานของโรงเรียน

(๕) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโรงเรียน

(๖) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียน

(๗) ให้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนของโรงเรียนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์

(๘) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการ

(๙) ให้ประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และเครื่องหมายวิทยฐานะในกิจกรรมที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของโรงเรียน

(๑๐) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียน

การเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นตาม (๕) และการกู้ยืมเงินตาม (๖) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด



หมวด ๒


ทุน รายได้ และทรัพย์สิน





มาตรา ๑๐

ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของโรงเรียน ประกอบด้วย

(๑) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๖ วรรคหก

(๒) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม

(๓) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี

(๔) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๕) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ

(๖) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของโรงเรียน


มาตรา ๑๑

บรรดารายได้ของโรงเรียนไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ


มาตรา ๑๒

ให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโรงเรียนได้มาจากการให้หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของโรงเรียนเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียน

ให้โรงเรียนมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ จำหน่าย และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของโรงเรียน


มาตรา ๑๓

การใช้จ่ายเงินของโรงเรียน ให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการของโรงเรียนโดยเฉพาะ

การเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินของโรงเรียน ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด



หมวด ๓


การบริหารและการดำเนินกิจการ





มาตรา ๑๔

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" ประกอบด้วย

(๑) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยี

(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความจัดเจนเป็นที่ประจักษ์ในทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของโรงเรียน จำนวนไม่เกินสี่คน ซึ่งจะต้องเป็นสาขาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่าสองคน และบุคคลหนึ่งต้องเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวข้างต้นต้องแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อที่เจ้าหน้าที่โรงเรียนเสนอหนึ่งคน และจากบัญชีรายชื่อที่ผู้ปกครองนักเรียนเสนอหนึ่งคน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๙

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการ


มาตรา ๑๕

ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

(๖) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของโรงเรียน หรือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีสัญญาจ้างกับโรงเรียน

ความใน (๑) มิให้ใช้บังคับแก่กรรมการชาวต่างประเทศซึ่งโรงเรียนจำเป็นต้องแต่งตั้งตามข้อผูกพัน หรือมีคุณสมบัติดีเด่นอันเหมาะสมกับโรงเรียน


มาตรา ๑๖

ประธานกรรมการและกรรมการของโรงเรียนจะต้องไม่ประกอบกิจการซึ่งมีสภาพเป็นการแข่งขันกับกิจการของโรงเรียน หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับโรงเรียน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานหรือกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่โรงเรียนเป็นผู้ถือหุ้น


มาตรา ๑๗

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี

ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้


มาตรา ๑๘

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ หรือกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖


มาตรา ๑๙

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโรงเรียนให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของโรงเรียน

(๒) อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินของโรงเรียน

(๓) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับโรงเรียนในเรื่องดังต่อไปนี้

(๓) (ก) การบริหารงานทั่วไปในโรงเรียน การจัดแบ่งส่วนงานของโรงเรียน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว

(๓) (ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง

(๓) (ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การประเมินผลงาน การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้าง

(๓) (ง) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของโรงเรียน รวมทั้งการบัญชี และการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ

(๓) (จ) การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง

(๓) (ฉ) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน

(๓) (ช) วิธีการและหลักเกณฑ์ในการจัดทำบัญชีรายชื่อของเจ้าหน้าที่โรงเรียนและบัญชีรายชื่อของผู้ปกครองนักเรียน เพื่อเสนอคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๔ (๓) ซึ่งในกรณีของเจ้าหน้าที่โรงเรียนนั้น คณะกรรมการอาจพิจารณากำหนดระดับของเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนที่จะมีสิทธิเสนอด้วยก็ได้

(๔) การกระทำอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงเรียน

ระเบียบเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตาม (๓) (ง) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด


มาตรา ๒๐

การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และให้ที่ประชุมพิจารณาว่า กรรมการผู้นั้นสมควรจะอยู่ในที่ประชุมและหรือมีมติในการประชุมเรื่องนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


มาตรา ๒๑

คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๒

ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด


มาตรา ๒๓

ให้โรงเรียนมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง

คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ


มาตรา ๒๔

ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่โรงเรียนได้เต็มเวลา และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการแต่งตั้ง

(๓) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของโรงเรียนตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙

(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖)

(๕) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับโรงเรียน


มาตรา ๒๕

ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน


มาตรา ๒๖

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ

(๔) คณะกรรมการให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๕) มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๔

มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการออกจากตำแหน่งตาม (๔) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่ โดยไม่นับรวมตำแหน่งผู้อำนวยการ


มาตรา ๒๗

ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของโรงเรียน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอเป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่อคณะกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์

(๒) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของโรงเรียน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไป ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

(๓) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ

ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของโรงเรียน


มาตรา ๒๘

ผู้อำนวยการมีอำนาจ

(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียน โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ หรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๙

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของโรงเรียน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๓๐

ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด



หมวด ๔


ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน





มาตรา ๓๑

ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนมีสามประเภท คือ

(๑) เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ได้แก่ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยรับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของโรงเรียน

(๒) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผู้ซึ่งโรงเรียนจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง

(๓) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาช่วยปฏิบัติงานของโรงเรียนเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒


มาตรา ๓๒

เจ้าหน้าที่ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์

(๓) สามารถทำงานให้แก่โรงเรียนได้เต็มเวลา

(๔) มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของโรงเรียน

(๕) ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือพนักงานหรือลูกจ้างของราชการส่วนท้องถิ่น

(๖) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) หรือ (๕)

(๗) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับโรงเรียน

ความใน (๑) มิให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ชาวต่างประเทศซึ่งโรงเรียนจำเป็นต้องจ้างหรือแต่งตั้งตามข้อผูกพันหรือตามลักษณะกิจการของโรงเรียน


มาตรา ๓๓

เจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๒

(๔) ถูกให้ออก เพราะไม่ผ่านการประเมินผลงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในข้อบังคับ

(๕) ถูกไล่ออก หรือปลดออก เพราะผิดวินัย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในข้อบังคับ


มาตรา ๓๔

ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ที่รัฐมนตรีขอให้มาเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง โดยได้รับอนุมัติจากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น และมีข้อตกลงที่ทำไว้ ให้ผู้นั้นได้รับสิทธิตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒



หมวด ๕


การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงานของโรงเรียน





มาตรา ๓๕

การบัญชีของโรงเรียน ให้จัดทำตามหลักสากล ตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของโรงเรียน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๓๖

ให้โรงเรียนจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี

ในทุกรอบปี ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของโรงเรียน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

เพื่อการนี้ ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของโรงเรียน สอบถามผู้อำนวยการ ผู้ตรวจสอบภายใน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง และเรียกให้ส่งสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของโรงเรียนเป็นการเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น


มาตรา ๓๗

ให้โรงเรียนทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของโรงเรียนในปีที่ล่วงมาแล้ว บัญชีทำการ พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า


มาตรา ๓๘

เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพ และการตรวจสอบการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โครงการ และแผนงานที่ได้จัดทำไว้ ให้โรงเรียนจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน ตามระยะเวลาที่คณะ กรรมการกำหนด แต่ต้องไม่นานกว่าสามปี

การประเมินผลตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลาง และมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลกิจการโรงเรียน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

การประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน จะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ในด้านประสิทธิผล คือ ระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คุณภาพของหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียน ในด้านประสิทธิภาพ คือ ความพร้อมในการดำเนินงานของโรงเรียน การบริหารการเงิน บุคลากร และทรัพย์สิน และในด้านการพัฒนาองค์กร คือ คุณภาพของแผนงาน การดำเนินงานตามแผนงาน และคุณภาพของการบริการ และในรายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น

ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นเป็นการเฉพาะกาล จะจัดให้มีการประเมินเป็นครั้งคราวตามมาตรานี้ด้วยก็ได้



หมวด ๖


การกำกับดูแล





มาตรา ๓๙

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียน นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อการนี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้โรงเรียนชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของโรงเรียนที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียน นโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับโรงเรียน ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการได้



หมวด ๗


ประกาศนียบัตรและเครื่องหมายวิทยฐานะ





มาตรา ๔๐

โรงเรียนอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนียบัตรและหนังสือรับรองการศึกษาหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียน


มาตรา ๔๑

โรงเรียนอาจกำหนดให้มีเครื่องหมายวิทยฐานะ

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของเครื่องหมายวิทยฐานะ ให้ทำเป็นประกาศของโรงเรียนโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เครื่องหมายวิทยฐานะจะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโรงเรียน


มาตรา ๔๒

โรงเรียนอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของโรงเรียนหรือส่วนงานในโรงเรียนได้ โดยทำเป็นข้อกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา



บทเฉพาะกาล





มาตรา ๔๓

ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่ออนุมัติให้มีการโอนทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เว้นแต่เงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำซึ่งมีผู้ครองอยู่ ไปเป็นของโรงเรียนตามพระราชกฤษฎีกานี้


มาตรา ๔๔

ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประกอบด้วย อธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นประธาน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนสำนักงานงบประมาณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนหนึ่งซึ่งประธานกรรมการของคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในขณะนั้น เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


มาตรา ๔๕

ภายใต้บังคับมาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ ให้ข้าราชการและลูกจ้างของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นข้าราชการและลูกจ้างของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้ถือว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ


มาตรา ๔๖

ข้าราชการและลูกจ้างซึ่งสมัครใจเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของโรงเรียน ให้ใช้สิทธิแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กำหนด ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

การบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโรงเรียนให้ดำรงตำแหน่งใด ให้เป็นไปตามอัตรากำลัง คุณสมบัติ และอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง หรือค่าจ้าง ตามที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กำหนด ทั้งนี้ โดยต้องผ่านการคัดเลือกและประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒

ในการคัดเลือกและประเมินผลตามวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง คือ ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนกรมสามัญศึกษา ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน โดยมีประธานกรรมการและเลขานุการตามที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แต่งตั้ง

ให้คณะกรรมการตามวรรคสามดำเนินการคัดเลือกและประเมินข้าราชการและลูกจ้างที่ขอเปลี่ยนฐานะไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของโรงเรียน และเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ

เมื่อคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการตามวรรคสี่แล้ว ให้ประกาศผลการบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโรงเรียน ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ แต่ก่อนการประกาศผลดังกล่าว ให้คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แจ้งให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งทราบก่อนอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันประกาศ และถ้าเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องไม่ประสงค์จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามที่ได้รับการคัดเลือกและประเมินผล เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างอาจขอสละสิทธิ์การเปลี่ยนฐานะของตน โดยทำเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กำหนดไว้ ก่อนวันกำหนดที่จะประกาศไม่น้อยกว่าสามวัน

ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่ออนุมัติให้โอนเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำของข้าราชการและลูกจ้างของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามประกาศของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปเป็นของโรงเรียนตามพระราชกฤษฎีกานี้ นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ประกาศผลการคัดเลือก


มาตรา ๔๗

ให้ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่และลูกจ้างตามมาตรา ๔๖ ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและค่าจ้าง ตามที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์กำหนด รวมทั้งได้รับสวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการ และประโยชน์อย่างอื่น ที่ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้นเคยได้รับจากส่วนราชการ

การเปลี่ยนจากข้าราชการไปเป็นเจ้าหน้าที่ ให้ถือว่า เป็นการให้ออกจากราชการ เพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

การเปลี่ยนจากลูกจ้างของส่วนราชการไปเป็นลูกจ้างของโรงเรียน ให้ถือว่า เป็นการออกจากงาน เพราะทางราชการยุบตำแหน่ง หรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง


มาตรา ๔๘

ให้ส่วนราชการในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นส่วนงานของโรงเรียน จนกว่าจะได้ออกระเบียบของโรงเรียนจัดตั้งส่วนงานใหม่


มาตรา ๔๙

ในการดำเนินงานของโรงเรียน ให้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับสำหรับการเรียนการสอนต่อไปได้ จนกว่านักเรียนที่เรียนโดยหลักสูตรดังกล่าวจะสำเร็จการศึกษา

ให้หลักสูตรซึ่งจะกำหนดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นต้นไป

ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้นำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลม



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยพัฒนาและนักประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ตลอดจนมีการจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยไม่มีการเปิดสอนสายศิลป์และสายอื่น จำนวน ๑๓ แห่ง ขึ้น เพื่อจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน แต่หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป ขณะนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการและหลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษอันแตกต่างไปจากการเรียนการสอนในโรงเรียนปกติ ดังนั้น สมควรให้มีการจัดให้มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นให้แก่นักเรียนที่มีความสามารถเป็นพิเศษในทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีคุณภาพสูงเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในการที่จะสร้างนักวิชาการอันยอดเยี่ยมของประเทศ และเพื่อที่จะให้โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นมีการบริหารและการจัดการเรียนการสอนที่มีความเป็นอิสระ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน จึงได้นำโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มาจัดตั้งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนในลักษณะดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้



เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๗๙ ก/หน้า ๑/๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๓




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"