พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๐๐

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



พระราชกฤษฎีกา[1]


ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500


_______________


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500


เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน




                           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 

                           โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 และมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ 

                           มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500”

                           มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

                           มาตรา 3  ให้ยกเลิก 

                           (1) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 

                           (2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2497 

                           (3) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2498 

                    “มาตรา 4  ให้ยกเว้นบรรดารัษฎากรประเภทต่าง ๆ ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร แก่ 

                           (1) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การ หรือทบวงการดังกล่าวซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง

                           (2) สถานเอกอัคราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน” 

                           “ทั้งนี้ เว้นแต่ภาษีการค้าจากรายรับสำหรับสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี (10) ซึ่งภายหลังต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 79 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร”                    

                    “มาตรา 5  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวด 4 และภาษีธุรกิจเฉพาะในหมวด 5 ของลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี”                    

                    “มาตรา 5 ทวิ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้แก่

                           (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 

                           (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย

                           มาตรา 5 ตรี  (ภาษีการค้ายกเลิก 1 มกราคม 2535 แล้วมาตรานี้จึงยกเลิกโดยปริยาย)

                           “มาตรา 5 จัตวา  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่ประเทศนั้นได้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกรณีดังกล่าว ให้แก่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยที่ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ไว้ก่อน พ.ศ. 2527 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน” 

                           “มาตรา 5 เบญจ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร 

                           (1) สำหรับเงินได้ของบริษัทเงินทุนในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรนั้นใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการรับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง สำหรับเงินได้ของบริษัทเงินทุนที่ได้รับจากลูกหนี้เกี่ยวกับการรับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินตาม (1) เฉพาะที่จ่ายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย 

                           ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนจะนำหนี้สูญที่เกิดขึ้นเนื่องในการดำเนินการตาม (1) มาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิมิได้” 

                           “มาตรา 5 ฉ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะกรณีที่ผู้โอนได้รับค่าตอบแทนเป็นสิทธิในการใช้ทรัพย์สินที่โอนนั้นเพื่อกิจการผลิตสินค้าของตนเอง” 

                           “มาตรา 5 สัตต  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศให้แก่ 

                           (1) สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น และรัฐบาลต่างประเทศเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด 

                           (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจาก 

                           (ก) ธนาคารแห่งประเทศไทย 

                           (ข) รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการกู้เงินนั้น            

                           “มาตรา 5 อัฏฐ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ 

                           (1)  ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ขององค์การของรัฐบาล 

                           (2) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม 

                           (3) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม”   

                           “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ที่จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องถือกรรมสิทธิ์หรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ก่อนวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องออกจำหน่ายก่อนวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ ในกรณีที่การโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้มิได้มีการแจ้งต่อนายทะเบียน ต้องมีหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์เป็นหนังสือซึ่งระบุวันที่โอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นไว้โดยชัดแจ้ง”   

                           “มาตรา 5 นว  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่มูลนิธิหรือสมาคม เฉพาะเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน” 

                     “มาตรา 5 ทศ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการเรียกเก็บค่าบริการการสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศสถานีพื้นดิน หรือระหว่างอากาศกับพื้นดิน การสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับงานอุตุนิยม และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้มอบหมายจากรัฐบาลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เรียกเก็บจากบริษัทการบินต่าง ๆ” 

                     “มาตรา 5 เอกาทศ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยกู้ยืมที่ได้จากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปให้แก่   (1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่สัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในต่างประเทศ  (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย”  

                           “มาตรา 5 ทวาทศ  ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ประกาศกระทรวง การคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะส่วนรายรับ ตามมาตรา 91/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร” 

                           “มาตรา 5 เตรส  ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกิจการดังต่อไปนี้ 

                           (1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบกิจการให้แก่องค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือบริษัทจำกัดที่สถาบันการเงินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย 

                           (2) การขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือของบริษัทจำกัดที่สถาบันการเงินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย” 

                           “มาตรา 5 จตุทศ   ให้ยกเว้นรัษฎากรดังต่อไปนี้แก่การออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

                           (1) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินรางวัลสลากซึ่งยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 

                           (2) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก

                           (3) ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสลาก 

                           ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้หรือการขายนั้นจะได้รับหรือได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ” 

                           “มาตรา 5 ปัณรส  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนที่ดินส่วนที่ทำให้วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด มีที่ดินไม่เกินห้าสิบไร่” 

                           มาตรา 5 โสฬส  ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” 

                           “มาตรา ๕ สัตตรส  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”

                           “มาตรา 5 อัฏฐารส ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 

                           (1) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกำหนดกิจการจัดการเงินร่วมลงทุนให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท โดยต้องมีการชำระค่าหุ้นครั้งแรกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนและชำระค่าหุ้นที่เหลือทั้งหมด ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันจดทะเบียนการลดทุนจดทะเบียนให้กระทำได้ เมื่อได้ถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปีติดต่อกัน 

                           “(๒) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔” 

                           (3) ต้องถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่น้อยกว่าจำนวนร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท ดังนี้ 

                           (ก) ร้อยละ 20 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่หนึ่ง เว้นแต่มีเหตุอัน สมควรและได้รับอนุญาตจากอธิบดี จะมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ได้  (ยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๔๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๒) 

                           (ข) ร้อยละ 40 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สอง 

                           (ค) ร้อยละ 60 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สาม 

                           (ง) ร้อยละ 80 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สี่ เป็นต้นไป วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังกล่าวต้องเป็นกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้วเป็นเวลาสามปี 

                           “(4) ต้องถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ จะมีระยะเวลาการถือหุ้นน้อยกว่าห้าปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกันก็ได้ 

                           (ก) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน หรือ 

                           (ข) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดระยะเวลาที่วิสาหกิจนั้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน”

                           (5) ต้องมีการมอบหมายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้จัดการเงินร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

                           มาตรา 5 เอกูนวีสติ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้ 

                           (1) เงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่ง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส 

                           (2) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส” 

                           “มาตรา 5 วีสติ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 

                           (1) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และ 

                           (2) เงินปันผลต้องมาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล โดยอัตราภาษีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลจะมีกฎหมายลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม 

                           มาตรา 5 เอกวีสติ  ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อย้ายสถานประกอบการเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนไม่เกินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งใหม่และย้ายโรงงานเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการแห่งใหม่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือหลังวันที่ทำสัญญาขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งเดิม โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553 

                           มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน 

                           “มาตรา ๕ ทวาวีสติ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการโอนหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                           (๑) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา ๕ อัฏฐารส (๑)(๒)(๓) วรรคหนึ่ง (๔) และ (๕) 

                           (๒) เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเป็นกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกินสองร้อยล้านบาท หรือมีการจ้างแรงงานเกินสองร้อยคน 

                           (๓) หุ้นที่โอนต้องเป็นหุ้นที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ถือไว้ก่อนที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลอดระยะเวลาที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน” 

                           “มาตรา ๕ เตวีสติ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่ได้รับ เว้นแต่

                           (๑) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับ

                           (๒) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับบริษัทผู้รับเงินปันผลตามวรรคหนึ่ง ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นับระยะเวลาถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย”

                           “มาตรา ๕ เตวีสติ  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่ได้รับ เว้นแต่

                           (๑) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับ

                           (๒) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับบริษัทผู้รับเงินปันผลตามวรรคหนึ่ง ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นับระยะเวลาถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย”มาตรา 6  ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ ตามหมวด 6 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่ 

(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย 

(2) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 

(3) ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ 

(4) ผู้ประกอบการขนส่ง เฉพาะการรับเงินที่เป็นค่ารับขนส่งคนโดยสาร 

(5) ผู้ประกอบการมหรสพ เฉพาะการรับเงินที่เป็นค่าดู 

“(6) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศ” 

“(7) ผู้ค้ำประกัน เฉพาะการค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้กู้ยืมหรือให้ยืม 

(8) ผู้ออกใบรับ เฉพาะการรับเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม” 

“(9) การเคหะแห่งชาติ” 

“(10) ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์รับอนุญาตที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียน สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น” 

“(11) ผู้ที่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ไม่ถึงหนึ่งบาทหรือตราสารที่คำนวณค่าอากรแสตมป์แล้วต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไปเฉพาะส่วนที่เป็นเศษของบาท” 

“(12) ผู้โอนเฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนสำหรับการโอนพันธบัตรนั้น” 

“(13) ผู้รับจ้างเฉพาะการรับจ้างสำรวจแร่ที่ผู้รับจ้างได้ทำสัญญากับทางราชการและเฉพาะกรณีที่ทางราชการมิได้จ่ายค่าตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิทำเหมืองในพื้นที่ที่รับจ้างสำรวจนั้น” 

“(14) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” 

“(15) โอน เฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย” 

“(16) ผู้โอนเฉพาะการโอนตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” 

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 210) พ.ศ. 2533 ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไป)

“(17) ผู้โอนเฉพาะการโอนพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ”

“(18) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

(19) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม”

“(20) ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้ที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์” 

“(21) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” 

“(22) ผู้มอบอำนาจ เฉพาะการมอบอำนาจให้บุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทหนึ่งประเภทใดตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตัวแทนดังกล่าวต้องนำแผ่นบันทึก แถบบันทึก หรือสื่อบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้มามอบให้กรมสรรพากร หรือส่งข้อมูลที่ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้โดยระบบคอมพิวเตอร์ให้กรมสรรพากร เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” 

“(23) ผู้โอน เฉพาะการโอนหุ้นกู้” 

“(24) ผู้โอน เฉพาะการโอนหุ้นในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” 

“(25) องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” 

“(26) บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน” 

“(27) ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะกรณีที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ทำขึ้นระหว่างนิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” 

“(28) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” 

“(29) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” 

“(30) ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น” 

“(31) ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” 

“(32) รัฐวิสาหกิจ เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ” 

“(33) อนุญาโตตุลาการ เฉพาะตราสารคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ” 

“(33) สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) ” 

“(34) ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน เฉพาะในส่วนของหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” 

“(35) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะการกระทำตราสารในการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป

“(36) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” 

“(37) ผู้ขาย เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์”ดังต่อไปนี้ 

(ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 

(ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน 

(ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 

ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้โอนได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 

การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ 

“(38) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย”  

“(39) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545” เป็นต้นไป

“(๔๐) สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป” 

“(๔๑) กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการบริหาหนี้สาธารณะ”

มาตรา 7  ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 13                     

มาตรา 8  ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 13                     

มาตรา 9  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ 

ผู้รับพระบรมราชโองการ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
_______________

หมายเหตุ :- เเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อผูกพันตามสัญญา ที่จะยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทและพนักงานต่างประเทศ ที่เข้ามาปฏิบัติงานก่อสร้าง และงานอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ตามโครงการช่วยเหลือ ICA และ JUSMAC เงินที่รัฐบาลอเมริกันจ่ายในการช่วยเหลือนั้น เป็นเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บจากราษฎรอเมริกัน ฉะนั้น เพื่อใช้เงินดังกล่าวให้ได้ผลในการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเต็มเม็ดเต็มหน่วยสมควรตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น เพื่อกำหนดมิให้ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือนั้นชำระเป็นค่าภาษีอากร

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ร.จ.เล่มที่ 73 ตอนที่ 84 วันที่ 16 ตุลาคม 2495




งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"