ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
พ.ศ. ๒๕๓๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

พระราชบัญญัตินี้จะให้ใช้บังคับในท้องที่ใดเกี่ยวกับสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตราให้ยกเลิก

(๑)พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒

(๒)พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

“สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่มิใช่สัตว์ป่า และหมายความเฉพาะโค กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“เนื้อสัตว์” หมายความว่า เนื้อหรือส่วนอื่นของสัตว์ที่ตายแล้ว ซึ่งมิได้ปรุงแต่งให้เป็นอาหารหรือมิได้ปรุงแต่งเพื่อให้คงอยู่ไม่เปื่อยเน่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในร่างแห่งสัตว์นั้นหรือชำแหละแล้ว

“โรงพักสัตว์” หมายความว่า สถานที่พักสัตว์หรือกักสัตว์ก่อนทำการฆ่า

“โรงฆ่าสัตว์” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการฆ่าสัตว์ตามพระราชบัญญัตินี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์

“พนักงานตรวจโรคสัตว์” หมายความว่า สัตวแพทย์หรือบุคคลอื่น ผู้ซึ่งอธิบดีหรือราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจโรคซึ่งมีในสัตว์หรือเนื้อสัตว์

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรี อธิบดี หรือราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการปกครอง

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตราให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์

(๒)ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศหรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้

(๓)พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตราให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา ๗ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตราในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา๑๐เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

(๑)กำหนดที่ตั้ง เนื้อที่ แผนผัง และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างและสุขลักษณะของโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์

(๒)กำหนดวัน เวลาเปิดและปิดโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์

(๓)กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยภายในโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและอนามัย การจัดให้มีที่รวบรวมหรือกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำทิ้ง การระบายอากาศ การจัดให้มีการป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญและป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ

มาตรา๑๑ผู้ใดมีความประสงค์จะตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ให้ขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง คำขอรับใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์*ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑)วัน เดือน ปี ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต

(๒)ชื่อและที่อยู่ของผู้ขอรับใบอนุญาต ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลต้องยื่นเอกสารหลักฐานหรือสำเนาแสดงการเป็นนิติบุคคลพร้อมกับคำขอด้วย

(๓)สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์

เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตรวจพิจารณาว่าผู้ขอรับใบอนุญาตได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ แล้วออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

มาตรา๑๒ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา๑๓ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ณ ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายในโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ของตน

มาตรา๑๔ในกรณีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ สูญหาย บุบสลาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหาย บุบสลาย หรือถูกทำลาย

มาตรา๑๕ผู้ใดมีความประสงค์จะฆ่าสัตว์ให้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า วันและเวลาที่จะดำเนินการฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเสียอากรการฆ่าสัตว์ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีเป็นโรงฆ่าสัตว์ของราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยราชการอื่นใดที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ให้เสียค่าธรรมเนียมโรงฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมโรงพักสัตว์ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหลักฐานการรับแจ้งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์ โดยกำหนดวันและเวลาในการฆ่าสัตว์ดังกล่าวตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๖เมื่อปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ได้ไม่เกินครั้งละหนึ่งเดือน

มาตรา๑๗เมื่อปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตแล้วมากระทำความผิดในเหตุอย่างเดียวกันอีกภายในหนึ่งปี ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา๑๘ก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด

การส่งหนังสือเตือนตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งแก่ผู้รับใบอนุญาต ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตให้ปิดหนังสือเตือนไว้ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่า ผู้รับใบอนุญาตได้ทราบคำเตือนนั้นแล้วตั้งแต่วันปิดหนังสือเตือน

มาตรา๑๙ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๒๐ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒ ให้ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์นำสัตว์ไปยังโรงพักสัตว์และจะต้องฆ่าสัตว์นั้นในโรงฆ่าสัตว์ตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม

มาตรา๒๑ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์ออกจากโรงพักสัตว์หรือโรงฆ่าสัตว์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา๒๒ในกรณีต่อไปนี้ จะฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง

(๑)การฆ่าสัตว์ซึ่งต้องฆ่า ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ ตามพิธีกรรมในทางศาสนา

(๒)การฆ่าสัตว์ในท้องที่ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่นั้นประกาศเป็นครั้งคราวว่าเป็นท้องที่กันดาร และจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ในท้องที่นั้น

(๓)การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีเหตุสมควรเป็นพิเศษ

มาตรา๒๓ในกรณีที่พนักงานตรวจโรคสัตว์มีเหตุควรสงสัยว่า สัตว์ที่จะฆ่านั้นเป็นโรคระบาด หรือเป็นโรค หรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งงดการฆ่าสัตว์ และแยกสัตว์นั้นไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ได้ ภายหลังที่ได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่อาจมีคำสั่งให้ดำเนินการฆ่าสัตว์นั้นได้ ในกรณีที่ปรากฏว่า สัตว์ที่จะฆ่านั้นเป็นโรคระบาด หรือเป็นโรค หรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืนเงินอากรและค่าธรรมเนียมสำหรับโรงฆ่าสัตว์ให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์นั้น

มาตรา๒๔เมื่อได้ฆ่าสัตว์แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดนำเนื้อสัตว์ออกจากโรงฆ่าสัตว์ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับตรารับรองให้จำหน่ายที่เนื้อสัตว์นั้นแล้ว

ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานตรวจโรคสัตว์ว่า เนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ได้ฆ่าเป็นโรค และหรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งตัวหรือบางส่วน หรือจัดทำให้เป็นเนื้อสัตว์ที่ควรใช้เป็นอาหารเสียก่อนได้

มาตรา๒๕ผู้ใดประสงค์จะจำหน่ายเนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ตายเองหรือที่มิได้ถูกฆ่าตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเนื้อสัตว์ของสัตว์นั้นซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังมิได้ชำแหละไปให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ตรวจ หรือในกรณีมีเหตุสมควร จะขอให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ไปตรวจเนื้อสัตว์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ โดยเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อพนักงานตรวจโรคสัตว์ได้ตรวจแล้วเห็นว่า เป็นเนื้อสัตว์ที่ควรใช้เป็นอาหารได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับตรารับรองให้จำหน่ายที่เนื้อสัตว์นั้นแล้วจึงให้จำหน่ายได้

ในกรณีที่พนักงานตรวจโรคสัตว์เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร ให้นำมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๒๖ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยมิได้มีการแจ้งตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง

มาตรา๒๗ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๒๘ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา๒๙ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษดังนี้

(๑)ถ้าเป็นโคหรือกระบือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตัวละไม่เกินห้าพันบาทเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่า หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒)ถ้าเป็นสัตว์นอกจากโคหรือกระบือ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตัวละไม่เกินสองพันห้าร้อยบาทเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่า หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๓๐ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ผู้ใดฆ่าสัตว์เกินจำนวนสัตว์ที่ผู้ประสงค์จะฆ่าได้แจ้งไว้ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่าเกินจำนวนตัวละไม่เกินห้าพันบาทหรือสองพันห้าร้อยบาทตามมาตรา ๒๙ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี

มาตรา๓๑ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๓๒ในกรณีที่โรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ได้เปิดดำเนินการตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ อยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า ได้มีการขอรับใบอนุญาตและได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว และให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนต่อสัญญาที่ส่วนราชการได้ทำไว้กับบุคคลใด ๆ เกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ และให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคลซึ่งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ตามสัญญานั้นตั้งอยู่ในเขตเป็นคู่สัญญาตามสัญญานั้นแทนส่วนราชการซึ่งเป็นคู่สัญญา

มาตรา๓๓ในกรณีที่มีการฆ่าสัตว์โดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าการมอบหมายนั้นจะสิ้นสุดลง และในกรณีดังกล่าวให้ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์ที่โรงฆ่าสัตว์ดังกล่าวเสียค่าธรรมเนียมสำหรับโรงฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมสำหรับโรงพักสัตว์ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย

มาตรา๓๔บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๓๕ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นอากรหรือค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • อานันท์ ปันยารชุน
  • นายกรัฐมนตรี

อัตราอากรและค่าธรรมเนียม

๑. อากรการฆ่าสัตว์
โค ตัวละ ๑๒ บาท
กระบือ ตัวละ ๑๕ บาท
สุกร ตัวละ ๑๐ บาท
สุกรที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒๒.๕ กิโลกรัม ตัวละ บาท
แพะ หรือ แกะ ตัวละ บาท
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตัวละ บาท
๒. ค่าธรรมเนียมโรงฆ่าสัตว์
โค ตัวละ ๑๒ บาท
กระบือ ตัวละ ๑๕ บาท
สุกร ตัวละ ๑๕ บาท
แพะ หรือ แกะ ตัวละ บาท
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตัวละ บาท
๓. ค่าธรรมเนียมโรงพักสัตว์ ตัวละ บาท
๔. ค่าธรรมเนียมการประทับตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ตายเองหรือที่มิได้ถูกฆ่าตามพระราชบัญญัตินี้
(ก) ค่าพาหนะของพนักงานตรวจโรคสัตว์ตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของทางราชการ
(ข) ค่าเบี้ยเลี้ยงของพนักงานตรวจโรคสัตว์ตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของทางราชการ
(ค) ค่าธรรมเนียมการประทับตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์
โค ตัวละ ๑๒ บาท
กระบือ ตัวละ ๑๕ บาท
สุกร ตัวละ ๑๐ บาท
สุกรที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒๒.๕ กิโลกรัม ตัวละ บาท
แพะ หรือ แกะ ตัวละ บาท
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตัวละ บาท
๕. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์
โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ฉบับละ ๒๐๐ บาท
๖. ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐ บาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์สำหรับบริโภคในหลายพื้นที่ของประเทศทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ในระยะยาวเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงจะต้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นการค้าแบบเสรีไม่ให้มีการผูกขาด สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"