พระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ. 115

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้าย
ตามจารีตนครบาล

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า วิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลซึ่งมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายตั้งมาแต่ปางก่อน คือ ในลักษณโจร เปนต้น แม้ผู้ต้องหาว่าเปนโจรผู้ร้ายมีข้อพิรุทธ์ฤๅมีผู้ร้ายให้การทอดซัดหลายปาก ถ้าแลผู้ต้องหาไม่รับ ผู้พิพากษาอาจจะใช้อาญาด้วยเครื่องเฆี่ยนเปนต้นกระทำแก่ผู้ต้องหาแลต้นซัดตามกฎหมายในกระบวนพิจารณากว่าจะได้ความเปนสัจฤๅมิเปนสัจประการใดดังนี้

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การที่ชำระฟอกซักผู้ต้องหาว่าเปนโจรผู้ร้ายด้วยใช้อาญาตามจารีตนครบาลนั้น แม้ในพระราชกำหนดกฎหมายมีข้อความจำกัดไว้เปนหลายประการเพื่อจะให้กระทำแต่เมื่อมีหลักฐานเปนสำคัญแล้วก็ดี ยังเปนเหตุให้เกิดการเสื่อมเสียในกระบวนพิจารณาได้มาก เพราะเหตุที่ผู้พิพากษาอาจจะพลาดพลั้งหลงลงอาญาแก่ผู้ไม่มีผิดให้เกิดบาปกรรมเปนต้น แลที่สุดแม้ถ้อยคำซึ่งผู้ต้องอาญาจะให้การประการใดที่จะฟังเอาเปนหลักฐานถ่องแท้ในทางยุติธรรมก็ฟังไม่ได้ ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นอาจจะเปนคำสัจจริงฤๅคำเท็จซึ่งจำต้องกล่าวเพื่อจะให้พ้นทุกขเวทนาก็เปนได้ทั้งสองสถาน

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า หลักฐานในทางพิจารณาอรรถคดีโดยยุติธรรมก็ย่อมอาศรัยสักขีพยานเปนใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น แลการพิจารณาความโจรผู้ร้ายแลคดีมีโทษหลวงทั้งปวงทุกวันนี้ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขลักษณกระบวนพิจารณาแลลักษณพยานให้ดีขึ้น อาจจะชำระถ้อยความเอาความเท็จจริงได้รวดเร็วสดวกแก่แต่ก่อน ไม่จำเปนจะต้องใช้พิจารณาโดยจารีตนครบาลอันมีทางเสื่อมเสียยุติธรรมดังได้กล่าวมาแล้วนั้นอีกต่อไป

เพราะฉนั้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเปนพระราชบัญญัติสืบไปว่า

มาตรา  ให้ยกเลิกข้อความในกฎหมายซึ่งมีรายบทไว้ในตรางนี้ คือ

ลักษณ บท ว่าด้วย
โจร มาตรา ๒๗ เฆี่ยนถามโจร
" " ๒๘ " "
" " ๒๙ " "
" " ๓๑ " "
" " ๓๔ " "
" " ๓๕ " "
" " ๓๖ " "
" " ๔๑ จำ ๕ แล ๓ ประการโจรณคุก
ตระลาการ " มัดโยงคู่ความไม่ให้สมุด
" " ๑๗ ตบปากคู่ความ
" " ๒๐ ทวนคนกลาง
" " ๒๑ จำคาผู้ลเมิดกลางคัน
" " ๓๑ จำขื่อคาผู้ขาดผัด
" " ๓๗ จำขื่อผู้ไม่ลงเล็บสำนวน
" " ๓๙ จำขื่อผู้ขัดไม่ไปสืบ
" " ๔๑ จำขื่อผู้ขัดหมาย
" " ๔๘ มัดแช่น้ำตากแดดเร่งสินไหม
" " ๕๒ ตบปากผู้อุทธรณ์เกินกำหนด
" " ๕๔ มัดแช่น้ำตากแดดผู้ไม่ยอมทำผัด
" " ๖๗ จำขื่อผู้ฃาดนัด
" " ๘๙ จำขื่อแลทวนลูกความไม่ยอมแก้ความ
" " ๑๐๙ สับเสี่ยงผู้ฟ้องให้ส่งลูกสาว
อุทธรณ์ " ๑๑ สับเสี่ยงผู้ฟ้อง
กฎ ๓๖ ข้อ กฎ ตบปากลูกความผู้เถียง
" " ๓๖ จำขื่อผู้ร้ายที่ยังไม่รับ
พระราช
กำหนดเก่า
" เฆี่ยน ๓ ยก
" " จำตัวจำนำไว้ณคุก
" " ๕๒ จำตากแดดผู้ฃาดผัด

มาตรา  ห้ามมิให้ข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดลงอาญาด้วยเครื่องเฆี่ยน เครื่องจำ ฤๅเครื่องทรมานอย่างอื่น แก่ร่างกายผู้ต้องหาว่าเปนโจรผู้ร้าย เพื่อจะฟอกซักเอาคำให้การด้วยประการหนึ่งประการใด แม้ขืนทำผิดพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่า ผู้นั้นทำนอกทำเหนือพระราชโองการ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดกฎหมาย ให้ลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ

มาตรา  ในการที่จะพิพากษาคดีมีโทษนั้น ให้ผู้พิพากษาพิเคราะห์เอาตามหลักฐานแลสักขีพยานบรรดามีในคดีนั้น ๆ ถ้าเห็นมีหลักฐานมั่นคงว่า ผู้ต้องหาเปนโจรผู้ร้าย ถึงจะรับเปนสัจฤๅมิรับประการใด ก็ให้พิพากษาโทษไปตามพระราชบัญญัติลักษณพยาน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓ นั้นทุกประการ

ประกาศมาณวันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕ เปนวันที่ ๑๐๓๓๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"