พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชบัญญัติ
ลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๒๑[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
เป็นปีที่ ๓๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงาน โดยความคิดริเริ่มของตนเอง

"งาน" หมายความว่า งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใด อันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลป์

"ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง และ หรือภาพอื่น ๆ

"นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่าหรือการแสดงที่ประกอบ ขึ้นเป็นเรื่องราว และหมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

(๑) งานจิตรกรรมได้แก่งานรสร้างสรรค์รูปทรงที่ ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

(๒) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

(๓) งานภาพพิมพ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึง แม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

(๔) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายใน หรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง

(๕) งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่าน เลนส์ไปยังที่ฟิล์มหรือกระจำ และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพ ขึ้นหรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น

(๖) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยว กับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

(๗) งานศิลป์ประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางาน ตาม (๑) ถึง (๖) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย อย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอยนำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ และให้รวมทั้งภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีคำร้อง และหรือทำนอง และหมายความรวมถึงหนังสือเพลง โน้ตเพลง หรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและ เรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า สิ่งบันทึกเสียง แผ่นเสียงแถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือ สิ่งอื่นใดซึ่งบันทึกเสียง และหรือภาพไว้ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก ทั้งนี้ ไม่ว่าจะต้องใช้เครื่องมืออื่นช่วยด้วยหรือไม่

"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพไม่ว่าจะมีเสียงประกอบด้วย หรือไม่ โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด เพื่อให้สามารถใช้วัสดุนั้น

(๑) นำออกฉายได้อย่างภาพยนตร์ หรือ

(๒) สำหรับบันทึกลงบนวัสดุอื่นเพื่อนำออกฉายได้อย่างภาพยนตร์

"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

"ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึก เสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็น สาระสำคัญ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๑) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรม หรือ รวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่

(๒) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช่นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่าในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน

(๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็น รูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ

(๔) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียบเสียงประสานหรือเปลี่ยน คำร้องหรือทำนองใหม่

"โฆษณา" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่ายหรือโดยวิธีอื่นใดซึ่ง งานที่ได้จัดทำขึ้น

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักร ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น

(๒) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักร หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (๑) ในขณะที่โฆษณางานครั้งแรก

ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็น นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

การโฆษณาตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) หมายความว่าการนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าใน รูปหรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้น โดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนาจำลองนั้นมี ปรากฏ ต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่หมายความรวม ถึงการแสดงหรือทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรมหรือภาพยนตร์ การบรรยายหรือการแสดง ปาฐกถาซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพเกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดง และ การก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม

มาตรา ๗ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออก โฆษณาได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

มาตรา ๘ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๙ งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มาดัดแปลงโดยได้รับ อนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือน สิทธิของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

มาตรา ๑๐ งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มารวบรวมหรือ ประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์ เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

มาตรา ๑๑ ให้นำ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และ มาตรา ๘ มาใช้บังคับแก่การมีลิขสิทธิ์ตาม มาตรา ๙ หรือ มาตรา ๑๐ โดยอนุโลม

มาตรา ๑๒ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงาน ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็น อย่างอื่น

มาตรา ๑๓ ภายใต้บังคับ มาตรา ๗ มาตรา ๘ และ มาตรา ๑๒ เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมี สิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้

(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(๒) นำออกโฆษณา

(๓) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(๔) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (๑) หรือ (๒) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย หรือไม่ก็ได้

มาตรา ๑๔ ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้ผู้ใดใช้สิทธิตาม มาตรา ๑๓ (๔) ถ้ามิได้ตกลงเป็นหนังสือกำหนดเงื่อนไขอย่างใดโดยเฉพาะ ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ นั้นโดยไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธินั้นอีก

มาตรา ๑๕ ลิขสิทธิ์นั้นย่อมโอนให้แก่กันได้

การโอนลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น เจ้าของลิขสิทธิ์จะโอนให้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนและจะโอนให้โดย มีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็ได้

การโอนลิขสิทธิ์โดยทางอื่นนอกจากทางมรดก ต้องทำเป็นหนังสือ

ในกรณีที่ได้มีการโอนลิขสิทธิ์ไปแล้วตามวรรคสอง ผู้สร้างสรรค์ยังมีสิทธิ์โดยเฉพาะตัวที่จะห้ามมิให้ ผู้รับโอนบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประกอบอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์

มาตรา ๑๖ ภายใต้บังคับ มาตรา ๑๘ และ มาตรา ๑๙ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุ ของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่มีผู้สร้างร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วมและมีอยู่ต่อไป อีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย

ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคน ถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้นให้ลิขสิทธิ์ ดังกล่าวมีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณา

ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบ ปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๑๗ งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง หรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มี การโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณา เป็นครั้งแรก

ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำ มาตรา ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๘ ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอยู่ เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลา ดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๑๙ ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอยู่เป็นเวลายี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลายี่สิบห้าปีนับแต่ได้มี การโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๒๐ ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมตาม มาตรา ๑๒ ให้มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นใน ระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๒๑ การโฆษณางานตาม มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ หรือ มาตรา ๒๐ อันเป็นการเริ่มนับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกโฆษณาโดยความยินยอม ของเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรา ๒๒ เมื่ออายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ครบกำหนดในปีใดถ้าวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน หรือในกรณีที่ไม่อาจทราบวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ที่แน่นอนให้ลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นปีปฏิทินของปีนั้น

มาตรา ๒๓ การนำงานใด ๆ อันมีลิขสิทธิ์ออกโฆษณาภายหลังจากที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ สิ้นสุดลง ไม่ก่อให้เกิดลิขสิทธิ์ในงานนั้น ๆ ขึ้นใหม่

มาตรา ๒๔ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(๑) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

(๒) นำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาต ตาม มาตรา ๑๓

มาตรา ๒๕ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แก่โสตทัศนวัสดุ หรือภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและ หรือภาพให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(๑) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

(๒) นำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาติ ตาม มาตรา ๑๓

มาตรา ๒๖ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพ อันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(๑) การจัดทำภาพยนตร์ โสตทัศนวัสดุ หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๒) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๓) จัดให้ประชาชนฟังและ หรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่าง อื่นในทางการค้า

มาตรา ๒๗ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด แก่งานนั้นดังต่อไปนี้

(๑) ขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอขาย เสนอให้เช่า หรือเสนอให้เช่าซื้อ

(๒) นำออกโฆษณา

(๓) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่เจ้าของลิขสิทธิ์

(๔) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการใด ๆ นอกจากเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว ให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย

มาตรา ๒๘ ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีเป็นงานอันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์

งานใดมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อของบุคคลใด ที่อ้างว่าคนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์

งานใดไม่มีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อแสดงไว้ หรือมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อแสดงไว้ แต่มิได้อ้างว่าเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ และมีชื่อหรือสิ่งใดที่ใช้แทนชื่อของบุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือผู้พิมพ์ และ

ผู้โฆษณาแสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหรือผู้พิมพ์และผู้โฆษณานั้นเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึง การละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา ๓๐ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หาก มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) วิจัยหรือศึกษา

(๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลในครอบครัวหรือญาติมิตร

(๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๕) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน

(๗) คัดลอก ทำสำเนา ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบัน ศึกษา ตามความเหมาะสมและตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียบในชั้นเรียนหรือ ในสถาบันศึกษา แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการจัดทำขึ้นหรือดำเนินการเพื่อหากำไร และไม่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เกินความสมควรโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่สังคม ในการให้ประโยชน์ แก่เจ้าของลิขสิทธิ์กับความจำเป็นทางการศึกษาของประชาชนด้วย

(๘) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถาม และตอบในการสอบ

มาตรา ๓๑ การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์

มาตรา ๓๒ สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

(๑) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานใน แผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลป์

(๒) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

(๓) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

(๔) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

(๕) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (๑) ถึง (๔) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

มาตรา ๓๓ การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุด หรือให้แก่ห้องสมุดอื่น

(๒) การทำซ้ำงานบางตอน ตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

จำนวนที่ทำซ้ำตาม (๑) และ (๒) ต้องไม่เกินจำนวนที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

มาตรา ๓๔ การนำโสตทัศนวัสดุ หรือภาพยนตร์ ออกโฆษณา ตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการโฆษณานั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ใน กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การนำออกให้ฟังหรือชมเพื่อความบันเทิง สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการในสถานที่จำหน่าย อาหารและเครื่องดื่ม สถานที่พักแรมสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานีขนส่งหรือยานพาหนะ

(๒) การนำออกให้ฟังหรือชมเพื่อความบันเทิง โดยสมาคมมูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษาการศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์

มาตรา ๓๕ การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใด ๆ ทำนอง เดียวกันนี้ ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น

มาตรา ๓๖ การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใดมิให้ถือว่าเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น

มาตรา ๓๗ การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใด ๆ อันมีศิลปกรรมใดรวม อยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา ๓๘ ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย ในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือ ลอกแบบในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา ๓๙ อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะ อาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา ๔๐ ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำ ภาพยนตร์นั้นออกโฆษณาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุหรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น

มาตรา ๔๑ การทำซ้ำให้แก่บุคคลใด ๆ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา ๔๒ งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่ งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ภายใต้ เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๓ ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ หรือ มาตรา ๒๖ ต้องระวาง โทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้าผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๔๔ ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม มาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึง ห้าหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้าผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๔๕ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบ กำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ให้วางโทษทวีคูณ

มาตรา ๔๖ ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการ ทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำชองนิติบุคคล นั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

มาตรา ๔๗ บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตาม มาตรา ๔๓ หรือ มาตรา ๔๔ ให้ตก เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น

มาตรา ๔๘ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา ๔๙ ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษา ให้จ่ายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่ เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับแล้วนั้น

มาตรา ๕๐ งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พระราชบัญญัติ คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติ คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔ แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ พระราชบัญญัติ คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ นอกจากนั้น อัตราโทษที่กำหนดไว้เดิมก็ต่ำมากทำให้มีการละเมิดกฎหมายอยู่เสมอ สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๑๔๓ /หน้า ๒๒ - ๔๑/๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๑.



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"