รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ. ๒๔๙๐
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในวาระเริ่มแรกได้เป็นไปด้วยความเหมาะสม

พระมหากษัตริย์ โดยความเห็นชอบของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตรารัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑. รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๐"

มาตรา ๒. รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓. ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๙๗ ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน โดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎรตามผลสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้ายสองแสนคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึงสองแสนคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรเกินกว่าสองแสนคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกสองแสนคน เศษของสองแสน ถ้าถึงหนึ่งแสนหรือกว่านั้น ให้นับเป็นสองแสน และวิธีการเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีรวมเขตต์จังหวัด

ในการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ และที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ เว้นแต่อายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามความในมาตรา ๑๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ นั้น ให้กำหนดเป็นไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีบริบูรณ์ และยกเว้นการห้ามตามความในมาตรา ๑๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัตินั้น

เมื่อได้มีการเลือกตั้งในวาระเริ่มแรกแล้ว ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทน ก็ให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับ"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"