ข้ามไปเนื้อหา

ราชาธิราช/เล่ม ๑๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๑๗




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๗๗๙–๘๒๖ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๑๗




ตั้งแต่พระเจ้าราชาธิราชให้สมิงอินทชีพคุมพระสนมกำนัลล่วงหน้าไปก่อน

แล้วพระเจ้าราชาธิราชยกทัพไปรับทัพพระเจ้ามนเทียรทอง พระเจ้ามนเทียรทองแตกทัพหนีไป

จนถึงพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องให้สังขยาเป็นแม่ทัพยกมาถึงปลายแดนเมืองหงสาวดี





สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า ทัพพม่ายกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ใหญ่หลวงนัก แต่ทัพพม่านั้นรบถนัดแต่ที่แจ้ง ซึ่งเราจะรับทัพพม่าครั้งนี้ ถ้ารับในป่าเห็นจะได้ชัยชนะ พม่าจะเสียทีแก่เราเป็นมั่นคง สมิงพ่อเพชรจึงทูลว่า กองทัพพม่ายกมาครั้งนี้ สมิงนครอินท์ทูลว่า เหลือประมาณนัก อันทัพพม่าอุปมาดังผึ้งหลวง ซึ่งพระองค์จะให้ไปรับในป่านั้นก็เห็นจะได้ชัยชนะอยู่ แต่รี้พลจะลำบากล้มตายเป็นอันมาก เปรียบประดุจช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็จะแหลกละเอียดไป ข้าพเจ้าคิดจะให้ทัพพม่าอยู่ป่า ฝ่ายเราอยู่บ้าน ให้ทัพพม่าลำบากข้างเดียว เราตั้งมั่นอยู่แต่ในแดนเมืองแล้ว ถ้าได้ท่วงทีก็จะออกรบ ถ้าไม่ได้ทีก็จะตั้งมั่นสงบอยู่ ข้าพเจ้าคิดจะให้ถอยกองทัพไปตั้งมั่น ณ ตำบลแม่น้ำปันเกลาะ เพราะที่แม่น้ำปันเกลาะนั้นเป็นที่สำคัญอยู่ จะคิดอุบายถ่ายเทประการใดพม่าหารู้ไม่ ถ้าเป็นทีแล้วมิต้องรบฆ่าด้วยศัสตราวุธ พม่าก็จะตายไปเอง ทำไมกับรี้พลมาก ถึงจะมากก็เหมือนน้อย เห็นจะได้ชัยชนะโดยง่าย

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็เห็นชอบด้วย จึงให้อำมาตย์มะสะมันคุมพระสนมกำนัลแลเสบียงอาหารยกล่วงไปก่อน อำมาตย์มะสะมันจึงทูลว่า ถ้าหาการสงครามไม่ พระองค์ก็โปรดให้ข้าพเจ้าชักพาสตรีไป ข้าพเจ้ามิได้ขัดรับสั่ง ครั้งนี้ มีการสงครามจวนจะได้รบพุ่งอยู่แล้ว ข้าพเจ้าจะขออยู่ด้วยพระองค์ ถ้าข้าศึกยกมา ข้าพเจ้าจะขออาสาออกชนช้างด้วยข้าศึกตัวต่อตัว เอาชีวิตเป็นฉลองพระบาททองสนองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงพระเมตตาปลูกเลี้ยงข้าพเจ้ามา สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังอำมาตย์มะสะมันทูลก็ชอบพระอัชฌาสัยยิ่งนัก จึงตรัสว่า ท่านไม่ชอบใจไป อยากจะอยู่ด้วยเรา ก็ตามเถิด จึงสั่งสมิงอินทชีพคุมพระสนมนางกำนัลแลเสบียงอาหารต่าง ๆ ไปก่อน แล้วจึงมีพระราชกำหนดให้สมิงพ่อเพชร สมิงอังวะมังศรี สมิงนครอินท์ สมิงอุบากอง สมิงพระราม ห้าทัพนี้รั้งหลังลงมา แต่บรรดาช้างซึ่งตกมันอยู่นั้นให้เดินเป็นระยะไกลกันสุดเสียงแตร สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตรัสบัญชาเสร็จแล้วก็ยกกองทัพล่วงลงมาถึงเมืองเสี่ยง เมืองเตียง จึงตรัสสั่งสมิงชีพราย เจ้าเมืองเสี่ยง แลพระยาเตียง ให้รื้อค่ายคูประตูหอรบเสียทั้งสองเมือง อย่าให้พม่าอาศัยได้ แลกวาดเอาช้างม้าผู้คนเสบียงอาหารทั้งสองเมืองมาในกองทัพด้วย จึงแต่งให้กองสมิงพระตะเบิดไปเที่ยวกวาดครอบครัว ช้าง ม้า เสบียงอาหาร บรรดาหัวเมืองขึ้น แลบ้านใหญ่บ้านน้อยทั้งปวงซึ่งอยู่ ณ ต้นทางที่พม่าจะมานั้นให้สิ้นเชิง แล้วพระองค์ก็ยกลงมาถึงแม่น้ำปันเกลาะ จึงสั่งให้เสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวงไปตั้งค่าย ณ ฟากตะวันตก แต่แม่น้ำปันเกลาะไปถึงแม่น้ำเตระแต่วัดปฏิมังกรรายไปถึงแม่น้ำประทะลาด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชให้ตั้งค่าย ณ แม่น้ำปันเกลาะ แล้วให้ชักค่ายปีกกาถึงกัน

ฝ่ายพระเจ้ามนเทียรทองให้ตั้งค่ายมั่น ณ แม่น้ำเงียดได้ห้าวัน ทหารกองสอดแนมเข้ามากราบทูลว่า บัดนี้ กองทัพพระเจ้าราชาธิราชซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลเตรียบนั้นเลิกถอยไปตั้งอยู่ตำบลแม่น้ำปันเกลาะแล้ว สมเด็จพระเจ้ามนเทียรทองได้แจ้งดังนั้นจึงตรัสปรึกษาเสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวงว่า เราจะรีบยกตามไปตั้งประชิด สงครามครั้งนี้จะได้ทำยุทธนาการกันโดยเร็ว เสนาบดีนายทัพนายกองก็เห็นด้วย พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงให้ยกกองทัพลงมาตั้งตำบลวัดปฏิมังกรแนวแม่น้ำปันเกลาะทิศตะวันออกตรงกันคนละฟากแม่น้ำ แล้วให้นายทัพนายกองทั้งปวงตั้งค่ายรายไป แต่กองทัพมังรีนายตั้งตรงค่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สั่งให้ไทยตาเหล ไทยเมหยัง ไทยใหญ่ ซึ่งเป็นกองหน้านั้นตั้งอยู่ ณ แนวฝั่งแม้น้ำปันเกลาะ แม่น้ำปันเกลาะนั้นแห่งอยู่ กำหนดได้หกวันเจ็ดวันน้ำทะเลขึ้นวันหนึ่ง พายุแลคลื่นพัดมา น้ำก็ขึ้นเต็มฝั่ง แต่คลื่นลมร้ายนักด้วยเป็นลำแม่น้ำใหญ่ ถ้าลูกคลื่นซัดมาถูกเรือแพช้างม้าผู้คนก็ล่มจมน้ำตาย ขณะเมื่อกองทัพไทยใหญ่มาตั้งอยู่นั้น พวกไทยใหญ่หารู้ว่าน้ำทะเลจะขึ้นถึงไม่

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรจึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชว่า ทัพพม่ายกมาครั้งนี้สมคะเนแล้ว ข้าพเจ้าจะคิดกลอุบายลวงพม่าให้น้ำท่วมตาย ให้กองทัพยับเยินจงได้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสถามว่า ท่านจะคิดประการใด สมิงพ่อเพชรก็ทูลตามความคิดทุกประการ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นชอบด้วย จึงให้สมิงชีพรายกับเจ้าเมืองเตียงสองนายเป็นแม่กองกำกับการเกณฑ์ทหารขุดตลิ่งทำทางหนีน้ำทะเลที่จะรบด้วยข้าศึกไว้เป็นที่แอบที่บังมั่นคงแล้ว ให้รายทหารลงไปใต้ค่ายตามลำแม่น้ำจะขึ้นมานั้น กำหนดชั่วเสียงกลองเป็นระยะ มาจนถึงค่าย เสร็จแล้วตรัสสั่งว่า ถ้าเห็นน้ำทะเลขึ้น ให้ทหารตีกลองเป็นสำคัญต่อกันขึ้นมา แล้วมีพระราชกำหนดแก่นายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงว่า เราจะให้ยกลงไปรบเยาะพม่าในคลองน้ำ ถ้าได้ยินเสียงฆ้องกลองตีขึ้นอื้ออึงพร้อมกันเมื่อใด ก็ให้ถอยขึ้นมาบนตลิ่งโดยเร็ว ครั้นถึงวันกำหนดน้ำทะเลขึ้นมา นายทัพนายกองผู้รับสั่งก็จัดทหารออกไปวางที่ทำไว้ทุกช่องทุกทาง แล้วกำชับทหารทั้งปวงว่า ถ้าพม่าตามขึ้นมา จงรบต้านทานไว้อย่าให้ขึ้นได้ นายทัพนายกองทหารทั้งปวงก็ยกไปคอยกระทำการตามรับสั่ง พวกกองล่อก็ยกไปล่ออยู่ในแม่น้ำ นายทัพมอญกองล่อก็ให้ทหารร้องด่าท้าทายพวกกองทัพไทยใหญ่หวังจะยั่วให้โกรธ ทหารมอญร้องด่าว่า อ้ายไทยใหญ่ อ้ายขี้ข้าพม่า มึงยกมาตีมอญแล้ว ทำไมจึงมุดหัวอยู่ในค่ายเล่า ให้พวกมึงเร่งออกมารบกับกู กูจะตัดศีรษะเสียให้สิ้นบัดเดี๋ยวนี้ กองทัพไทยใหญ่ได้ยินทหารมอญร้องด่าดังนั้นก็โกรธเป็นกำลัง ไทยกาเหล ไทยเมหยัง แม่ทัพไทยใหญ่ทั้งสองนั้นก็เร่งจัดทแกล้วทหารรี้พลช้างม้าจะยกมาตีกองทัพมอญ แต่กำลังแค้น ให้ทหารหน้าค่ายร้องด่าตอบไปพลาง ทหารไทยใหญ่ร้องด่าว่า อ้ายมอญ แต่ก่อนพวกมึงก็เป็นขี้ข้าพม่า แล้วไปเป็นขี้ข้าไทยน้อย อ้ายหน้าซื่อใจคดทรยศต่อเจ้า เจ้ากูรู้อยู่ว่า ในท้องพวกมึงมีเคียวเจ็ดเล่มมีเข็มเจ็ดอัน กูจะรบฟาดฟันผ่าอกเอาเคียวในท้องออกตัดคอพวกมึงเสียให้สิ้น กองทัพมอญได้ยินดังนั้นก็โกรธ จึงให้ทหารด่าตอบรุกเร้าไปว่า อ้ายไทยใหญ่ อ้ายเดนตายพม่า พม่าให้พวกมึงเป็นกองหน้าเป็นทัพผี พวกมึงจะตานก่อนไม่ทันได้ฆ่ามอญ มอญจะแหวกท้องออกเอาเคียวเกี่ยวตัดศีรษะพวกมึง ข้ามน้ำมาให้สิ้นประเดี๋ยวนี้ กองทัพไทยใหญ่ได้ฟังก็โกรธยิ่งนัก พอจัดรี้พลเสร็จก็ยกลงมาจะรบกับทัพมอญที่แม่น้ำนั้น ให้ทหารร้องท้าทายตอบมาว่า อ้ายมอญ อ้ายเสือผอมปากกล้า พวกกูไม่สู้ฝีปากพวกมึงแล้ ถึงมึงจะประดิษฐ์ด่าก็ไม่เจ็บเหมือนไม้ขว้าง กูจะเอาอาวุธออกขว้างพวกมึงให้เห็นฝีมือบัดนี้ กองทัพไทยใหญ่ก็เร่งพลทหารรุกเข้ามา ฝ่ายมอญทำเป็นแตกล่อให้ไล่ ไทยใหญ่เห็นได้ทีก็เร่งพลทหารยกช้างม้าลงไล่มอญ มอญก็กลับรับรบยั่วเย้าไว้ พอได้ยินเสียงกลองสัญญา สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้ทหารที่รักษาค่ายอยู่นั้นตีฆ้องกลองโห่ร้องอื้ออึงขึ้นทุกค่ายมิให้กองทัพไทยใหญ่ได้ยินเสียงน้ำเสียงคลื่น ครั้นน้ำขึ้น มอญก็ถอยขึ้นมาบนตลิ่ง ไทยใหญ่มิได้รู้เล่ห์กล สำคัญว่า ทัพมอญแตก ก็ไล่ติดตามทางขึ้นมา ทหารซึ่งวางอยู่นั้นก็รับรบประจัญไว้ ไทยใหญ่จะขึ้นตลิ่งก็มิได้ จะหนีไปก็มิพ้น ครั้นจะกลับข้ามไปก็ไม่ทัน ช้างม้ารี้พลจมน้ำตายเป็นอันมาก กองทัพไทยใหญ่โกรธยิ่งนัก เอาดาบหอกฟันแทงน้ำแลฟันแทงกันเองอื้ออึงอยู่ แลที่ไทยใหญ่รบกันนั้น น้ำทะเลถอยลงจะใกล้แห้ง

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งสมิงจักกายให้คุมทหารไปฟันแทงผีไทยใหญ่ที่ตายให้เป็นแผลอาวุธ แล้วลากขึ้นไว้บนตลิ่ง ให้พม่าสงสัยว่า มอญมีความรู้ แล้วตรัสกระซิบสมิงจักกายว่า ถ้าผู้ใดพูดว่า มอญมิได้ฆ่าพม่าแลไทยใหญ่ พม่าแลไทยใหญ่จมน้ำตายเอง ก็ให้ฆ่าผู้นั้นเสีย อย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงพูดต่อไปอีกได้ สมิงจักกายก็คุมทหารไปเที่ยวฟันศพพม่าไทยใหญ่ แล้วให้ลากขึ้นไว้ริมตลิ่งตามรับสั่ง ขณะนั้น ชาวเมืองเตียงเมืองเสี่ยงทั้งปวงซึ่งกวาดมานั้นรู้วา พม่าเสียทีแก่มอญ มอญฆ่าพม่าไทยใหญ่เป็นอันมาก

ฝ่ายมอญทั้งปวงชวนกันไปดูผีไทยใหญ่ซึ่งทหารกองทัพลากขึ้นทิ้งไว้นั้น มอญคนหนึ่งจึงว่า มอญมิได้ฆ่าไทยใหญ่ ไทยใหญ่จมน้ำตายเอง ทำไมจึงมาฟันแทงผีดังนี้ หาต้องการไม่ สมิงจักกายได้ฟังมอญว่าดังนั้นก็โกรธ จึงให้ทหารฟันมอญผู้นั้นเสีย ตัดเอาศีรษะเสียบไว้ แล้วให้ลากเอาตัวผีมอญที่ตายไปทิ้งไว้กับผีไทยใหญ่ด้วยกัน จึงประกาศแก่มอญชาวเมืองแลทหารทั้งปวงว่า ถ้าผู้ใดพูดกันดังนี้ เราจะให้ตัดศีรษะเสียบประจานไว้

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้นายทัพนายกองปลูกศาลบวงสรวงเทพารักษ์ตามตลิ่งทุกหน้าค่าย ให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์เต้นรำทำเพลงถวายเทพยดา แลให้มีธงใหญ่ปักไว้หน้าค่ายทุกค่าย ถ้าน้ำขึ้นให้โบกธงขึ้นมา ถ้าน้ำลง ให้โบกธงลงไป ให้พม่าทั้งปวงเห็นว่า มอญมีวิชาอาคมทำให้น้ำขึ้นน้ำลงได้ นายทัพนายกองทั้งปวงก็ให้ปลูกศาลเทพารักษ์ แล้วทำพลีกรรมบวงสรวงตามรับสั่งทุกค่าย ครั้นถึงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ก็ให้ทหารโบกธงไปตามน้ำ ฝ่ายกองทัพพม่าแลไทยใหญ่ไม่รู้อุบาย สำคัญว่า มอญรู้มนต์คาถาเรียกน้ำขึ้นได้ลงได้ ทัพพม่าไทยใหญ่ก็สะดุ้งตกใจกลัว มิอาจจะยกมารบมอญ ตั้งมั่นอยู่ในค่าย

ครั้นอยู่มา อำมาตย์ทินมณีกรอดซึ่งกินเมืองพะสิมนั้นยกกองทัพขึ้นมาตาม ครั้นถึงจึงเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นอำมาตย์ทินมณีกรอดมา ก็ดีพระทัยนัก ตรัสถามถึงราชการบ้านเมือง อำมาตย์ทินมณีกรอดก็ทูลแจ้งทุกประการ อำมาตย์ทินมณีกรอดออกจากเฝ้าแล้วก็เที่ยวพิจารณาดูค่ายทุกกองทัพ เห็นค่ายหลวงที่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชให้ตั้งรับพม่านั้นใกล้ตลิ่งนัก จึงกราบทูลว่า ซึ่งสมิงพ่อเพชรดำริการสงครามให้ตั้งประชิดข้าศึกดังนี้ก็ดีอยู่แต่เป็นประมาณ ถ้าขยับขยายค่ายเสียใหม่ ตั้งให้ไกลตลิ่งขึ้นไปอีกเส้นหนึ่งหรือสามสิบวามแล้ว จึงต้องตำราดียิ่งนัก เพราะทหารทั้งปวงจะได้หักช้างม้าเต้นรำทำเพลงอาวุธเล่นตามสบายให้เอิกเกริกรื่นเริงหน้าทัพ ฝ่ายพม่าเห็นจะได้เป็นที่กลัวเกรงทหารของพระองค์มีกำลังรื่นเริงพร้อมกันอยู่ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็เห็นชอบด้วย จึงตรัสสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้ขยับขยายถอยค่ายตั้งใหม่ตามคำอำมาตย์ทินมณีกรอดกราบทูลนั้น แล้วให้ปราบที่หน้าค่ายเรียบราบเสมอจงทุกค่ายสำหรับฝึกหัดซ้อมทหารแลช้างม้า

ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงก็เร่งให้จัดทำค่ายคูประตูหอรบใหม่ แล้วสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงทรงพระดำริว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดมีปัญญาหลักแหลมนัก ครั้งนี้ เราจะให้ประมาณพลในกองทัพดู จะประมารผิดหรือถูก จึงตรัสสั่งอำมาตย์ทินมณีกรอดให้ไปเลียบค่ายดูพลทหารทั้งสิ้นว่าจะมากน้อยเท่าใด อำมาตย์ทินมณีกรอดก็กราบถวายบังคมลาออกไปเลียบค่ายประมาณพลตามรับสั่ง ครั้นพิจารณาดูทั่วแล้วก็กลับเข้ามากราบทูลว่า พลของพระองค์ยกมาครั้งนี้ทั้งนายทัพนายกองทแกล้วทหารหมดด้วยกัน ข้าพเจ้าประมาณดูสิบแสนเศษ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังยังแคลงพระทัยอยู่ พระองค์จะใคร่ชันสูตรดูให้รู้แน่ จึงสั่งให้เร่งไปเอาบัญชีพลทุกกองทัพให้สิ้นทุกค่าย จเรรับสั่งแล้วก็ไปทำบัญชีตรวจพลมาได้เป็นพลสิบแสนกับสองพัน จึงเอาบัญชีเจ้ามากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งแล้วก็ดีพระทัย จึงตรัสสรรเสริญว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดนี้เลิศมนุษย์ มีปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง เปรียบประดุจเทพยดามีจักษุเป็นทิพย์ ประมาณพลโยธาถูกมิได้ผิด ครั้งนี้ เรามีความยินดียิ่งนัก อุปมาดังได้พระนครประเทศหนึ่ง ซึ่งการสงครามขุ่นหมองขัดข้องอยู่นั้น บัดนี้ ใจเราใสสว่างเปรียบประดุจได้ชัยชนะแล้ว จึงโปรดพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่อำมาตย์ทินมณีกรอดเป็นอันมาก

ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งมาตั้งมั่นอยู่กับกองทัพมอญนั้น เสบียงก็ขัดสนเบาบางด้วยรี้พลมากนัก ทหารทั้งปวงอดข้าวปลาอาหารอิดโรยถอยกำลังลง ครั้นแต่งกองทัพไปหาเสบียงอาหารที่บ้านไกลก็มิได้ ฝ่ายพม่าต้องไปเอาเสบียงถึงตำบลกองยีแดนพม่าก็ไม่ทันกองทัพกิน ทหารรามัญกองสอดแนมรู้ดังนั้นก็มากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งแล้วจึงทรงพระราชดำริว่า ครั้งนี้ กองทัพพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องขาดเสบียงอาหารเพราะยกลงมาเหลือประมาณมากนักจนไม่มีข้าวให้กิน หมายแต่จะได้ ไม่คิดเสีย กระทำการเกินตัว อุปมาดังเรือใหญ่กว่าทะเล จระเข้ใหญ่กว่าหนอง จะกลับกายว่ายเวียนไปก็ขัดขวาง เมื่อไพร่พลอิดโรยระส่ำระสายลงดังนี้แล้ว เห็นจะย่อท้อใจอยู่ เราจะคิดตัดกำลังศึกเสีย แล้วจะยกออกโจมตีให้ยับเยิบจงได้ จึงตรัสสั่งสมิงอังวะมังศรีให้จัดกองทัพเลือกทหารที่เข้มแข็งมีฝีมือให้ได้สามพันไปคอยก้าวสกัดตีทัพพม่าซึ่งไปหาเสบียงอาหารนั้น ตรัสสั่งว่า ถ้าเห็นกองทัพพม่าไม่ได้เสบียงอาหารมา อย่าเพ่อตี ถ้าพม่าได้เสบียงอาหารมา เห็นเสียขบวนแล้ว จึงยกเข้าโมตีให้แตกจงได้ สมิงอังวะมังศรีรับรับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกมาจัดทัพยกไปคอยตีพม่า กองทัพพม่าซึ่งไปหาเสบียงอาหารนั้นได้แล้วก็หาบคอนกลับมา

ฝ่ายกองทัพสมิงอังวะมังศรีเห็นทัพพม่าเสียขบวนได้ทีแล้วก็ยกทหารเข้าโจมตีทัพพม่า ทัพพม่าสู้ไม่เต็มกำลังก็แตกไป กองทัพมอญฆ่าฟันพม่าตายประมาณห้าร้อย จับเป็นได้สี่ร้อยคน ช้างพังพลายแปดช้าง ม้าสามสิบม้า กับเสบียงอาหาร นำเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ดีพระทัย จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นบำเหน็จรางวัลแก่สมิงอังวะมังศรี แลโปรดสั่งให้ปูนบำเหน็จทแกล้วทหารเป็นอันมาก

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ครั้นแต่งกองทัพออกไปหาเสบียงอาหาร กองทัพมอญก็คอยตีชิงเอาเสบียงอาหารไปทุกครั้ง ไพร่พลพม่าอดข้าวปลาอาหารอิดโรยลง พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะขืนอยู่รบพุ่งต้านทานกับกองทัพมอญช้าไป กำลังฝ่ายเราถอยลงแล้ว เห็นจะเสียท่วงที จึงให้หามังอะปายะสุกรี มังมหานรธา นายทัพนายกองทั้งปวง เข้ามาปรึกษาว่า กองทัพเราขัดสนแล้ว ท่านทั้งปวงจะคิดผ่อนปรนประการใด

มังอะปายะสุกรี มังมหานรธา จึงกราบทูลว่า กองทัพยกมาครั้งนี้รี้พลมากนักถึงยี่สิบแสน เสบียงอาหารน้อยไม่พอจะแจกจ่ายได้ แต่ไพร่พลหาบคอนบรรทุกช้างม้ามากิน จะให้กองลำเลียงคอยส่งก็ไม่ทันทีด้วยเป็นทางกไกล ครั้นขัดสนลงแล้วแต่งกองทัพให้ไปหาเสบีนงอาหาร กองทัพมอญก็คอยก้าวสกัดตีเสียทีมาเป็นหลายครั้ง ถ้าจะตั้งอยู่นาน เห็นจะคับแค้นขัดสนนัก ด้วยการสงครามย่อมมีเสบียงอาหารเป็นที่ตั้ง อนึ่ง ก็จวนวัสสานฤดู ถ้าฝนตกหนักลงมา เห็นไพร่พลจะลำบาก จะถอยไปก็ยาก จะสู้ก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะขอให้ถอยทัพกลับไป อย่าให้ทันไพร่พลอิดโรยนัก จึงจะควร พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังก็เห็นด้วย จึงจัดทัพให้มังมหานรธาคุมพลสามหมื่นอยู่รั้งหลัง มีพระราชกำหนดตรัสกำชับว่า ซึ่งเราจะล่าทัพไปครั้งนี้ ถ้ากองทัพมอญรู้ก็จะติดตามตี ท่านอย่าได้ประมาท จงต้านทานไว้ให้ได้ แม้นเรายกไปได้สามวันแล้วจึงค่อยยกไปตาม พระเจ้ามนเทียรทองก็ยกทัพหลวงถอยไป

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งว่า พระเจ้ามนเทียรทองล่าทัพไปดังนั้น เห็นสมพระดำริแล้วก็ดีพระทัย จึงให้สมิงพ่อเพชร ทัพหนึ่ง สมิงนครอินท์ ทัพหนึ่ง สองทัพนี้ไปคอยก้าวสกัดตีทัพพระเจ้ามนเทียรทอง แล้วพระองค์ก็ยกกองทัพเข้าล้อมค่ายมังมหานรธา ฝ่ายมังมหานรธาเห็นกองทัพมอญโอบอ้อมเข้ามา อยู่มิได้ ก็ถอยทัพล่าไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ยกไล่ติดตามตีกองทัพมังมหานรธาไปจนปะทัพพระเจ้ามนเทียรทอง

ฝ่ายกองทัพสมิงพ่อเพชร สมิงนครอินท์ ทั้งสองทัพซึ่งไปซุ่มคอยก้าวสกัดตีนั้นก็พร้อมกันเข้า จึงยกอ้อมตีกระหนาบทัพพระเจ้ามนเทียรทอง ก็พร้อมกันกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช กองทัพพระเจ้ามนเทียรทองก็แตกยับเยินไป กองทัพมอญฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก จับเป็นได้พันห้าร้อยคน อีกช้างม้าเครื่องศัสตราวุธก็มาก สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงทรงจัดทัพอีกสองทัพ อำมาตย์มาสมร ทัพหนึ่ง สมิงอุบากอง ทัพหนึ่ง บรรจบกับสมิงพ่อเพชร สมิงนครอินท์ สี่ทัพ เป็นคนสี่หมื่น ให้ยกไปติดตามตีกองทัพพระเจ้ามนเทียรทองต่อไป แล้วพระองค์ก็ยกพยุหโยธาทัพเสด็จกลับยังกรุงหงสาวดี

ฝ่ายกองทัพมอญทั้งสี่นายตามไปทันทัพมังมหานรธา ณ แม่น้ำคะปวง แดนเมืองตองดู นายทัพทั้งสี่ก็ยกทหารเข้าล้อมกองทัพพม่าไว้แน่นหนาเป็นสี่ด้าน มังมหานรธาก็ขับพลทหารออกสู้รบเป็นสามารถ ทหารมอญฆ่าพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก มิอาจจะตีหักออกมาได้ มังมหานธราขัดใจยิงนัก พาทหารถอยมา จึงคิดว่า ครั้งนี้ เราอับจนตกอยู่ในที่ล้อม อุปมาดังติดกรงเหล็ก จะอยู่ก็ไม่ได้ จะหนีไปก็ไม่มีประตูออก จะต้องลองหักกรงเหล็กดูทีหนึ่ง จึงกำชับทหารทั้งปวงว่า พวกเราเข้าที่คับแค้น เปรียบประดุจหมากรุกจนแต้ม เขากินเบี้ยเรือเม็ดม้าไปเกือบหมดแล้ว ตัวเราเปรียบเหมือนขุน ท่านทั้งปวงเหมือนเม็ดม้าโคนเบี้ยก็จะเสียลงไปทุกทีเพราะข้าศึกเดินแต้มดีมีกำลังนัก เราเป็นขุน จะออกรบกับขุนตัวต่อตัวให้สิ้นฝีมือ ถ้าพลาดพลั้งประการใด ท่านทั้งปวงจงคิดหนีแต้มตาจนเอาตัวรอดเถิด ว่าแล้วมังมหานรธาก็แต่งตัวใส่เกราะขึ้นม้า โพกผ้าประเจียดแดงโมรี สะพายดาบซ้ายขวา มือถือทวน คุมพลทหารออกหน้า จะตีหักออกด่านสมิงนครอินท์ล้อมอยู่นั้น

สมิงนครอินท์ก็ยกทหารหนุนเนื่องล้อมเข้ามา จึงประกาศทหารทั้งปวงว่า อย่าให้ข้าศึกหนีไปได้ ถ้าออกด้านใคร เราจะตัดศีรษะเสีย สมิงนครอินท์ก็ขับม้าตรงเข้ามา มังมหานรธราจึงถามว่า นายทัพมอญคนนี้หรือชื่อ สมิงนครอินท์ เขาลือว่า ฝีมือเข้มแข็งนัก เมื่อปีก่อนนั้นก็ได้รบกับกองทัพเราที่ท้องทุ่งชายป่าแล้วแตกไป ซึ่งท่านล้อมเราไว้ถึงสี่ทัพ สำคัญว่า เราจะรบรับหักออกไปไม่ได้หรือ ท่านอย่าเพ่อประมาท ครั้งนี้ ตัวเราเปรียบประดุจเสือผอมผอมแต่กาย เขี้ยวเล็บนั้นอ้วนอยู่ พอจะเคี้ยวขบตบสัตว์ให้ตายได้ ตัวท่านเหมือนหนึ่งกวาง ถึงพวกมากก็สู้เสือไม่ได้ ถ้าท่านรักชีวิตอยู่แล้ว จงเปิดทางให้เราไปโดยดี

สมิงนครอินท์ได้ฟังก็โกรธ จึงตวาดด้วยเสียงอันดังว่า ท่านรู้จักชื่อเราแล้วว่าเป็นคนดี เหตุไฉนไม่ลงจากม้าปูผ้าลงกราบขอชีวิตเราเล่า ยังจะพูดอวดอ้างเปรียบเทียบให้เหลือตัว เหมือนหนึ่งเขียนรูปเสือให้วัวกลัว หาต้องการไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้เรามาคอยเอาศีรษะท่าน ท่านจงลงจากม้าก้มคอมารับคมดาบเราโดยดี จะได้ตายไปเมืองผีหาความสุขเสียโดยเร็ว มังมหานรธาได้ฟังก็โกรธ จึงตอบว่า เราก็เป็นทหารพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะ นับว่า ชายผู้หนึ่ง ถ้าอับจนแล้ว ไม่เสียดายชีวิต ซึ่งจะยอมตายโดยง่ายนั้นหามิได้ ถ้าท่านจะต้องการศีรษะเราแล้ว จงเอาศีรษะเข้ามารับเอา เราจึงจะให้ สมิงนครอินท์ได้ฟังก็โกรธ จึงขับม้าเข้ารบกับมังมหานรธาเป็นสามารถ

นายทัพทั้งสามก็ล้อมไว้สามด้านมั่นคง ดูมังมหานรธากับสมิงนครอินท์รบกันแคล่วคล่องว่องไวนัก สมิงนครอินท์ มังมหานรธา รบกันด้วยเพลงทวนเป็นหลายสิบเพลงยังหาแพ้ชนะไม่ สมิงนครอินท์ไม่สู้ชำนาญเพลงทวนนัก ถนัดแต่เพลงดาบ พอรบกันสิ้นเพลงลง ถอยม้าห่างออกไป สมิงนครอินท์จึงแกล้งว่า ท่านนี้ชำนาญแต่อาวุธยาว อาวุธสั้นเห็นจะไม่ชำนาญ อาวุธสั้นนี้คนขลาดแล้วก็รบไม่ได้ ท่านก็มีฝีมือเข้มแข็ง รบกันด้วยอาวุธสั้นเถิด มังมหานรธาได้ฟังก็ทิ้งทวนเสีย ชักดาบออกสู้กันเป็นช้านาน มังมหานรธาเสียที สมิงนครอินท์ฟันด้วยดาบถูกที่สำคัญตกม้าตาย ให้ทหารตัดเอาศีรษะไว้ พลพม่าทั้งปวงเห็นนายตายก็แตกหนี ทหารมอญไล่ฆ่าฟันล้อมตายเป็นอันมาก จับเป็นได้บ้าง หนีรอดไปได้สักส่วนหนึ่ง ตายสองส่วน กองทัพมอญก็ยกติดตามพม่าไปจนสุดแดน

ฝ่ายสมิงนครอินท์เอาศีรษะมังมหานรธาแช่น้ำผึ้งไว้มิให้เน่าเปื่อย แล้วก็ยกกองทัพมาถึงกรุงหงสาวดีพร้อมกันทั้งสี่ทัพ นายทัพนายกองทั้งสี่จึงชวนกันเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช กราบทูลแจ้งกิจซึ่งไปตามตีพม่าทุกประการ สมิงนครอินท์จึงเอาศีรษะมังมหานรธาใส่ถังแช่น้ำผึ้งไว้นั้นถวาย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ดีพระทัยนัก

ขณะเมื่อสมิงนครอินท์ได้ศีรษะมังมหานรธามาถวายนั้นเป็นฤดูกำปั่นเข้ามาค้าขาย ณ เมืองเสี่ยงสิบลำ แลค่าธรรมเนียมจังกอบกำปั่นนั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชโปรดพระราชทานให้เจ้าสมิงนครอินท์สิ้น แต่ส่วยสาอาการซึ่งขึ้นแก่เจ้าเมืองเสียงนั้นทรงพระราชทานให้แก่สมิงพ่อเพชร อำมาตย์มาสมรนั้นโปรดให้กินเมืองมุวาร โปรดให้สมิงอุบากองกินเมืองกันพะออ

ขณะเมื่อพระเจ้ามนเทียรทองแตกไปนั้น ช้างจำลองมังคลเทวีพระอัครมเหสีซึ่งทรงไปนั้นตื่นเข้าป่าเอาไว้มิอยู่ จำลองพลัดลง นางมังคลเทวีก็ตกช้างลงยืนอยู่ พอฉางกาย นายกองผู้หนึ่งซึ่งขึ้นช้างจำลอง หนีกองทัพมอญมาต่อภายหลัง นางมังคลเทวีทอดพระเนตรเห็นก็ร้องว่า ฉางกายเอ๋ย ช่วยด้วย ครั้นฉางกายเห็นดังนั้นจึงพูดกับนายช้างว่า บัดนี้ มัจจุราชมาถึงเราแล้ว ครั้นจะมิรับเอานางไปด้วย ถ้าผู้อื่นมาพบเข้ารับไปก็จะเอาเนื้อความเข้าทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เราพบแล้วมิรับไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงพระพิโรธ ให้ลงโทษถึงสิ้นชีวิตหมดทั้งโคตร ถ้าเรารับไป บัดนี้ ก็จะตายแต่ตัวผู้เดียว

นายช้างถึงตอบฉางกายว่า ซึ่งท่านมิรับนางพระยาเจ้าไปจะเป็นโทษถึงตายหมดทั้งโคตรหรือสามชั่วโคตรนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่ซึ่งท่านว่ารับไปจะตายแต่ผู้เดียวนั้น ข้าพเจ้าสงสัยนัก ธรรมดาบุคคลทำคุณกับผู้อื่นร้อยพันคนก็ไม่เท่ากับเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระดำริถึงคุณแล้วก็จะทรงพระเมตตาปลูกเลี้ยงให้ยศถาศักดิ์ทรัพย์เป็นอันมาก เหตุไฉนท่านจึงว่าดังนี้ ฉางกายจึงตอบว่า ซึ่งท่านพูดนั้นก็พอเชื่อฟังแต่เห็นข้างได้ ไม่เห็นข้างเสีย ธรรมดาบุคคลทำคุณแก่พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในกตัญญูรู้จักคุณแล้ว ก็จะโปรดให้มีความสุขสมบูรณ์ด้วยยศถาศักดิ์ทรัพย์หาที่สุดมิได้ ถ้าพระมหากษัตริย์อกตัญญูไม่รู้คุณคนแล้ว ผู้ใดทำคุณก็เหมือนทำแก่อสรพิษ โกรธขึ้นมาแล้วย่อมเผาผลาญชีวิตให้สิ้นสูญทั้งบุตรภรรยาญาติบิดามารดา หาคิดถึงคุณไม่ ซึ่งเราว่าจะตายแต่ตัวนั้น เพราะรู้จักพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ประกอบด้วยความหึงหวงมาก ถ้าเราพาอัครมเหสีไปถวาย คงจะทรงพระสงสัยเคลือบแคลง ด้วยทางไกลหลายคืนวันจึงถึงเมือง แม้มีพระทัยรังเกียจเมื่อใดก็จะฆ่าเราเมื่อนั้น ซึ่งคำเราว่ามิได้ผิด ท่านคอยดูไปเถิด

นายช้างได้ฟังก็เศร้าใจ จึงว่า สุดแต่บุญกรรมจะให้ผลเป็นไป ซึ่งความชอบเราทำไว้ มนุษย์ไม่เล็งเห็น เทพยดาอารักษ์ก็คงเห็นบ้าง ท่านจงไปรับเถิด ครั้นนายช้างกับฉางกายพูดกันแล้วก็ไสช้างเข้าไป จึงพากันลงจากช้าง ถวายบังคม แล้วเชิญเสด็จนางมังคลเทวีขึ้นทรงช้างจำลองพาไป ครั้นเวลาค่ำลง ก็ทำห้างบนต้นไม้ เชิญให้นางมังคลเทวีขึ้นบรรทมบนห้าง ฉางกายกับนายช้างผูกช้างเสียมั่นคง แล้วก็ก่อไฟไว้ที่ต้นไม้นั้น เอาผ้าผูกเอวกันเข้า แล้วก็นอนพิทักษ์รักษานางอยู่ ครั้นรุ่งเช้า ฉางกายก็ผูกช้างรับนางพาไป ค่ำลงก็รักษานางโดยสุจริตดังนี้ทุกวัน

ฝ่ายพระเจ้ามนเทียรทองยกรีบไปถึงกรุงรัตนบุระอังวะแล้ว ก็ทรงพระวิตกถึงนางมังคลเทวีอัครมเหสีซึ่งพลัดไป อนึ่ง ก็ได้ทราบว่า มังมหานรธาตายในที่รบ สเมด็จพระเจ้ามนเทียรทองก็ทรงพระโสมนัสนัก ตรัสว่า ครั้งหนึ่งเสียตละเจ้าเปฟ้าราชธิดาไปแก่ข้าศึกแล้ว ครั้งนี้มาเสียพระอัครมเหสีไปอีกเล่า ทั้งมังมหานรธาก็ตายในที่รบ ทรงพระวิตกไม่สบายพระทัย

ฝ่ายฉางกายพานางมังคลเทวีมาได้ยี่สิบวันก็ถึงกรุงอังวะ มีคนเอาเนื้อความเข้าไปกราบทูล สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องแจ้งว่า ฉางกายได้พระอัครมเหสีมา ก็ดีพระทัยนัก จึงให้เถ้าแก่ชาวแม่พระสนมนางกำนัลออกไปรับนางมังคลเทวีขึ้นมายังพระราชมนเทียร นางมังคลเทวีเข้ามากราบถวายบังคมแทบฝ่าพระบาทพระเจ้ามนเทียรทอง พระเจ้ามนเทียรทองจึงตรัสถามนางมังคลเทวีว่า เมื่อฉางกายพามาช้านานกำหนดได้ยี่สิบวันจึงถึงเมืองอังวะ แลมากลางทาง ฉางกายทำเป็นประการใดบ้าง นางมังคลเทวีจึงพูดว่า เมื่อฉางกายพาข้าพเจ้ามานั้นเป็นฉันข้ากับเจ้าอยู่ จะได้มีประทุษจิตหามิได้ ครั้นเวลาค่ำก็ทำห้างให้ข้าพเจ้านอนบนต้นไม้ ตัวฉางกายกับนายช้างก่อกองไฟไว้ แล้วเอาผ้าผูกคอกอดกันนอนทุกวันจนถึงเมืองอังวะ พระเจ้ามนเทียรทองได้ทรงฟังดังนั้นก็ให้เอาตัวฉางกายกับนายช้างเข้ามาถามคนละครั้ง ฉางกายกับนายช้างก็ให้การต้องคำกันกับนางมังคลเทวีทูลนั้น พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังก็มีพระทัยโสมนัสนัก จึงโปรดพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแพรพรรณเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ฉางกายแลนายช้างเป็นอันมาก ครั้นพระเจ้ามนเทียรทองทอดพระเนตรเห็นลักษณะพระอัครมเหสีประกอบด้วยสิริโสภัคเป็นอันงาม มีพระทัยสงสัยขึ้นขณะใดก็ให้เอาฉางกายแลนายช้างเข้ามาซักถามอีกเล่า ฉางกายแลนายช้างก็ให้การยืนอยู่อย่างหนหลังมิได้ผิดเพี้ยน พระเจ้ามนเทียรทองก็พระราชทานรางวัลอยู่เนือง ๆ ทุกครั้ง

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ามนเทียรทองเสด็จไปหานางมังคลเทวีที่ห้องพระตำหนัก นางมังคลเทวีก็ยกพานพระศรีมาตั้ง แล้วจึงหยิบกรรไกรคีบหมาก กรรไกรหนีบนิ้วพระหัตถ์นางมังคลเทวี นางมังคลเทวีก็ตกพระทัยร้องขึ้นว่า ฉางกายเอ๋ย ช่วยด้วย พระเจ้ามนเทียรทองได้ทรงฟังดังนั้นก็ให้แคลงพระทัย จึงทรงพระดำริว่า นางมังคลเทวีนี้เห็นจะมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันกับฉางกาย จึงออกชื่อดังนี้ ชะรอยจะมีจิตเสน่หาช้านานอยู่ในสันดานมิได้ลืม จึงออกชื่อให้กันช่วยฉะนี้ ทรงพระดำริแล้วก็มีพระทัยหึงขึ้งเคียด จึงให้ถอดนางมังคลเทวีเสียจากที่พระอัครมเหสี แล้วให้เอาตัวฉางกายไปฆ่าเสีย

ขณะเมื่อเพชฌฆาตจะเอาฉางกายไปฆ่านั้น ฉางกายมิได้ครั่นคร้าม ยิ้มแล้วจึงว่า เราทำนายตัวเราแล้วมิได้ผิด เพชฌฆาตถามว่า ท่านทำนายตัวไว้อย่างไร ฉางกายก็เล่าให้ฟังตั้งแต่พบพระอัครมเหสีแลได้พูดกับนายช้างจนพานางมาถึงเมืองทุกประการ เพชฌฆาตก็สังเวชใจ พอนายช้างรู้ เดินร้องไห้ตามมาเยี่ยม ฉางกายเห็นจึงว่า ท่านจะร้องไห้ไปไย เราได้พูดกับท่านแต่แรกแล้วว่า มัจจุราชมาถึง ซึ่งเราจะตายครั้งนี้หาเสียดายชีวิตไม่ เพราะได้ฝากความชอบความดีไว้แก่เทพยดาฟ้าดินแล้ว แต่เราจะขอสั่งหน่อยหนึ่ง ซึ่งท่านจะทำราชการเป็นข้าแผ่นดินสืบไปภายหน้า จงระมัดระวังผิด อย่าประมาท จะหาเจ้านายเป็นที่พึ่งก็ให้รู้จักน้ำใจเจ้านายเสียก่อนว่าชั่วหรือดีแล้วจึงเข้าสวามิภักดิ์ทำราชการ แลให้มีความซื่อสัตย์กตัญญู ถึงตัวจะตายก็อย่าให้เสียสัตย์ จะทำคุณก็ให้เห็นคุณแล้วจึงทำ ถ้าเห็นจะกลายเป็นโทษแล้วอย่ากระทำเช่นอย่างตัวเราฉะนี้ พอฉางกายสั่งสอนนายช้างแล้ว เพชฌฆาตก็เอาตัวไปฆ่าเสียตามรับสั่ง

เมื่อพระเจ้ามนเทียรทองยกลงมาตีมอญแล้วกลับแตกขึ้นไปครั้งนั้น ไม่สบายพระทัยเลย หมายจะยกลงมาตีกรุงหงสาวดีแก้แค้นอีกให้จงได้ ทรงพระดำริว่า กองทัพเรายกลงไปทำศึกกับมอญสองครั้งแล้วก็ไม่สมคะเน เสียทแกล้วทหารเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก ซึ่งแตกพ่ายขึ้นมาครั้งนี้เพราะเหตุว่า ศึกเรารุกรีบนัก ประการหนึ่ง หัวเมืองรายทางแว่นแคว้นกรุงหงสาวดีเล่าก็ยังบริบูรณ์มั่งคั่งดีอยู่ ครั้นรู้ว่า เรายกลงไป เห็นจะรับมิได้ ก็อพยพครอบครัวกวาดเสบียงอาหารเสียสิ้น ฝ่ายกองทัพเราจึงขัดสน ไม่มีที่อาศัย ต้องมาเอาเสบียงถึงเมืองอังวะก็มิทัน ครั้นจะทำสงครามขับเคี่ยวไปก็มิได้ จึงต้องล่าทัพถอยมา ใช่จะเสียทีโดยฝีมือทแกล้วทหารทีเดียวก็หามิได้ ครั้งนี้ จำจะงดศึกใหญ่ไว้ก่อน จะแต่งกองทัพให้จู่ลงไปตีบ้านเมืองรายทางให้ผู้คนระส่ำระสายไว้ อย่าให้ตั้งทำมาหากินได้ ให้ถอยกำลังลง แล้วจึงเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม ยกทัพใหญ่ลงไปทำแก่เมืองหงสาวดีอีก เห็นจะได้โดยสะดวก ครั้นทรงพระดำริแล้วก็ตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวง เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย

พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงแต่งให้สังขยาเป็นนายทัพถือพลสามหมื่นยกลงมา สังขยานายทัพรับสั่งแล้วถวายบังคมลายกกองทัพมาถึงปลายแดนเมืองหงสาวดี แล้วก็แยกกันออกเที่ยวจับครอบครัวมอญ ให้ทหารตัดฟันต้นหมากต้นมะพร้าวสิ่งของมีผลเสียเป็นอันมาก กองทัพพม่าก็ตั้งมั่นอยู่ตำบลงอนโต กิตติศัพท์แจ้งเข้าไปถึงสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้สมิงนครอินท์ถือพลหมื่นหนึ่งยกทัพบกทัพเรือไปตีสังขยา สมิงนครอินท์รับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกมาจัดช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธพร้อมเสร็จ ครั้นถึงกำหนดจะยกกองทัพ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จลงไป ณ เรือขนานหน้าฉนวนตำหนักน้ำเพื่อจะส่งกองทัพ

ขณะนั้น สมิงนครอินท์จึงแต่งตัวนุ่งผ้าใส่เสื้อหมวกให้ต้องสีตามตำราพิชัยสงคราม ทาแป้งหอมน้ำมันหอมอันประกอบวิทยาคม เสร็จแล้วจึงเอาพานธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้มากราบถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นสมิงนครอินท์มาก็มีพระทัยยินดีนัก จึงยกพระบาทวางลงในถาดทอง ให้สมิงนครอินท์วักเอาน้ำชำระพระบาทใส่ศีรษะ แล้วก็ตรัวอวยพรสิริสวสัดิ์พิพัฒนมงคลให้มีชัยชนะแก่ข้าศึก พระองค์จึงหยิบพระศรีในพานทองเครื่องเสวยคำหนึ่งส่งให้นางอุตละซึ่งเป็นห้ามชอบพระทัยเอาไปพระราชทานให้ต่อมือสมิงนครอินท์ สมิงนครอินท์ก็ยังไม่รับ ยกมือขึ้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช แล้วจะเอาพานทองรับ นางอุตละนั้นก็ขวยเขินประหม่าใจ ยังมิอาจจะวางพระศรีลงในพานได้ ด้วยมีรับสั่งให้ส่งให้กับมือสมิงนครอินท์ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นก็แย้มพระสรวล จึงโปรดพระราชทานอภัย ตรัสว่า ให้สมิงนครอินท์รับต่อมือนางเถิด สมิงนครอินท์เกรงพระราชอาชญาขัดพระราชโองการมิได้ ก็รับพระราชทานพระศรีต่อมือนางอุตละ แล้วจึงคิดว่า แต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสใช้ให้ไปทำการสงครามครั้งใด จะได้ให้นางห้ามอันเป็นที่ชอบพระอัชฌาสัยเอาหมากมาพระราชทานให้ถึงมือเหมือนครั้งนี้หามิได้ บัดนี้ พระองค์ตรัสใช้นางอุตละเอาพระศรีในพานทองเครื่องเสวยมาพระราชทานให้ถึงมือดังนี้ แกล้งจะยุให้เราตายเสียหรือ หรือพระองค์จะทรงพระดำริประการใด คิดดูน่าสงสัยนัก อย่าเลยเราจะลองดูให้รู้ตระหนักแน่ว่า พระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรักข้าทหารมากหรือ หรือจะรักสตรีมาก คิดแล้วก็กราบถวายบังคมลามาลงเรือ ครั้นถึงจึงบอกแก่ทหารบ่าวไพร่ทั้งปวงว่า ถ้าถึงฤกษ์ ได้ยินเสียงฆ้องกลองสัญญา อย่าให้ออกเรือขนาน สมิงนครอินท์สั่งแล้วก็เอาผ้าคลุมศีรษะทำนอนป่วยอยู่ในเรือ



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๑๖ ขึ้น เล่ม ๑๘