อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/๓๑

จาก วิกิซอร์ซ
อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง




ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร คือ ที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปรตุเกส เป็นทีแรกที่กรุงสยามจะได้เป็นไมตรีกับฝรั่ง เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๘

ตำนานเหตุการณ์ที่ฝรั่งชาติโปรตุเกสมาเป็นไมตรีนั้น แต่เดิมมา ทางที่ไปมาค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก (คือ ประเทศทั้งหลายตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนถึงเมืองจีน) ไปมากันในสามทาง คือ ทางสายเหนือ เดินบกได้ตั้งแต่เมืองจีนมาข้างเหนือประเทศทิเบต ไปลงแม่น้ำอมุราหรือโอซุส[1] มีทางจากอินเดียขึ้นไปบรรจบกันที่แม่น้ำนี้ ล่องน้ำลงไปแล้วต้องขึ้นเดินบกเลียบชายทะเลคัสเปียน ไปลงท่าที่ทะเลดำ ทางหนึ่ง ทางสายกลาง ใช้เรือแต่เมืองจีนแล่นมาทางทะเลจีน (ความปรากฏว่า จีนรู้จักใช้เข็มทิศเดินเรือในทะเลมาแต่เวลาร่วมพุทธกาลแล้ว) ผ่านอ่าวสยามไปทางเกาะสุมาตรา แล่นเลียบไปจนถึงอินเดีย จากอินเดียก็ใช้เรือแล่นเลียบฝั่งไปทางอ่าวเปอร์เซียจนถึงแม่น้ำติคริส[2] แล้วขึ้นเดินบกไปลงท่าที่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางสายกลางนี้ถ้าเดินบกจากอินเดียไปทางประเทศเปอร์เซียก็ได้เหมือนกัน อยู่มา พวกอาหรับที่อยู่ตามเมืองชายทะเลแดงซึ่งเคยแล่นเรือเลียบฝั่งมาอินเดียทางอ่าวเปอร์เซียมาสังเกตรู้ลมมรสุมว่า มีฤดูที่ลมพัดแน่วแน่อยู่ทางทิศเดียว จึงจับเวลาให้สบมรสุม แล่นเรือข้ามทะเลอาหรับไปมาอินเดียได้ เกิดพบทางเส้นใต้นี้อีกสายหนึ่ง รับสินค้าบรรทุกเรือไปทางทะเลแดงได้จนถึงประเทศอียิปต์ ต้องขึ้นเดินบกหน่อยหนึ่ง ก็ไปถึงท่าทะเลเมดิเตอเรเนียน พวกพ่อค้าที่ทำการค้าขายในระหว่างประเทศทางตะวันออกกับยุโรปเดินไปมาค้าขายตามทางสามสายที่กล่าวมานี้ อนึ่ง แต่โบราณมีสิ่งสินค้าซึ่งเป็นของเกิดทางประเทศฝ่ายตะวันออก เป็นของดีมีราคาที่ต้องการใช้ในยุโรป มีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ผ้าแพรและถ้วยชามซึ่งส่งไปจากเมืองจีน ทองคำและเพชรนิลจินดาซึ่งเป็นของเกิดในสุวรรณภูมิประเทศและในอินเดีย ตลอดจนเครื่องเทศมีขิงและพริกไทยเป็นต้นซึ่งปลูกเป็นแต่ทางตะวันออกนี้ บรรดาที่ซื้อขายใช้สอยกันในยุโรปเป็นของที่พ่อค้าหาไปจากประเทศทางตะวันออกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเป็นการที่เกิดกำไรแก่พวกพ่อค้า และเป็นผลประโยชน์แก่เมืองท่าที่รับส่งสินค้าเป็นอันมากแต่โบราณ

เมื่อ พ.ศ. ๕๔๓ เกิดพระเยซูขึ้นในหมู่ชนชาติยิวในมณฑลปาเลสตินซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศโรมในยุโรป พระเยซูประกาศตั้งคริสต์ศาสนา มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้น แต่พวกยิวที่เป็นศัตรูเก่าของพระเยซูมีมากกว่า จึงจับพระเยซูประหารชีวิตเสียที่เมืองเยรูซาเล็มเมื่อ พ.ศ. ๕๗๔ แต่เหตุที่พระเยซูถูกประหารชีวิตนั้นเอง กลับทำให้พวกสานุศิษย์เชื่อมั่นในลัทธิศาสนาของพระเยซู จนคริสต์ศาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรป จำเนียรกาลนานมา เป็นศาสนาที่ฝรั่งนับถือแทบทั่วไป

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๔ เกิดพระนาบีมะหะหมัดขึ้นในหมู่ชนชาติอาหรับที่เมืองเมกกะ พระนาบีมะหะหมัดประกาศตั้งศาสนาอิสลามขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง นับศักราชศาสนาอิสลามตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๑๑๖๕ พระนาบีมะหะหมัดเที่ยวรบพุ่งแผ่ศาสนาอิสลามอยู่สิบปี ก็กระทำกาลกิริยาเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ต่อจากนั้นมาก มีกาหลิฟ (ภาษาอาหรับแปลว่า ผู้รับทายาท)[3] เป็นหัวหน้าศาสนาอิสลามทำการรบพุ่งแผ่อาณาจักรและศาสนาอิสลามตามอย่างพระนาบีมะหะหมัดต่อมา ศาสนาอิสลามแพร่หลายรวดเร็วมาก เมื่ออุมา[4] เป็นกาหลิฟ นับเป็นองค์ที่สอง พวกอิสลามได้บ้านเมืองในประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจตั้งแต่ต่อแดนอินเดียออกไปจนถึงยุโรป ทางค้าขายไปมาที่กล่าวมาแล้วทั้งสายใต้และสายกลางตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลาม อุมาแลเห็นประโยชน์ที่อาจจะได้ในการค้าขายมาเป็นกำลังตั้งอำนาจและบำรุงการแผ่ศาสนาอิสลาม จึงอุดหนุนให้พวกที่ถือศาสนาอิสลาม โดยมากเป็นพวกอาหรับ ให้เอาเป็นธุระทำการค้าขายพร้อมไปกับทำกิจในศาสนา แม้พวกที่ส่งไปเที่ยวสอนศาสนาอิสลามตามเมืองต่างประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นแก่กาหลิฟก็สั่งให้ไปเที่ยวตั้งทำการค้าขายพร้อมกับการสั่งสอนศาสนาด้วย เหตุนี้ พวกฝรั่งที่ถือศาสนาพระเยซูเป็นอริอยู่กับพวกอิสลามด้วยผิดลัทธิศาสนากัน จะค้าขายกับประเทศทางตะวันออกจึงไม่สะดวกดังแต่ก่อน ต้องคิดหาทางหลีกเลี่ยงอำนาจของพวกอิสลามมาค้าขายกับประเทศทางตะวันออกโดยทางข้างสางเหนือ แต่ต่อมาเมื่อประเทศในทางสายนั้นตกอยู่ใต้อำนาจแขกอิสลาม ฝรั่งก็ต้องจำใจรับสินค้าทางตะวันออกที่พวกอิสลามนำไปขาย ต้องยอมเสียกำไรให้แก่พวกอิสลามอีกชั้นหนึ่ง

ความคิดเห็นได้มีแก่ฝรั่งมานานแล้วว่า น่าจะแล่นเรือทางทะเลเลียบตามแนวฝั่งตะวันตกของทวีปอาฟริกามาถึงอินเดียและเมืองจีนใต้ แต่ในครั้นนั้น ความรู้ภูมิศาสตร์ยังมีน้อย และกำลังติดการรบพุ่งกับพวกแขกอิสลามเสียช้านานหลายร้อยปี จน พ.ศ. ๑๖๔๓ เมื่ออำนาจพวกอิสลามถอยลง ฝรั่งตีคืนบ้านเมืองที่เป็นประเทศสเปนและโปรตุเกสเดี๋ยวนี้ได้โดยมาก ได้ตั้งราชอาณาจักรโปรตุเกสขึ้น แล้วมีราชโอรสของพวกพระเจ้าดองยวง[5] พระเจ้าโปรตุเกสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ดองเฮนริก[6] เป็นผู้มีอัธยาศัยนิยมในวิชาการเดินเรือ คิดพากเพียรจะเดินเรือมาให้ถึงอินเดีย จึงรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศแสวงหาผลประโยชน์อย่างวิธีซึ่งพวกอิสลามเคยทำมาแต่ก่อนบ้าง คือ เที่ยวสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลาย ประการหนึ่ง เที่ยวค้าขายหากำไรเป็นผลประโยชน์ให้แก่เมืองโปรตุเกส ประการหนึ่ง และถ้าพบบ้านเมืองควรจะเอาไว้ในอำนาจได้ ก็ขยายอาณาจักรโปรตุเกสให้กว้างขวางออกไปด้วย ประการหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสทรงพระดำริเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ดองเฮนริกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง ดองเฮนริกเกลี้ยกล่อมผู้ที่ชำนาญการเดินเรือและฝึกสอนผู้คนควบคุมเข้าได้เป็นพวก ลงทุนจัดหาเรือเดินทะเลบรรทุกสินค้าของยุโรปส่งเรือเหล่านั้นไปค้าขายตามเมืองอาฟริกาข้างตะวันตกได้สำเร็จประโยชน์มาก คือ ไปได้บ้านเมืองที่ฝรั่งยังไม่เคยไปแต่ก่อนเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสหลายแห่ง ในส่วนการค้าขาย เอาสินค้ายุโรปไปเที่ยวแลกของดีมีราคาในอาฟริกา คือ งาช้าง และทองคำ เป็นต้น ก็ได้กำไรมาก ส่วนการสอนคริสต์ศาสนานั้น นอกจากพาบาทหลวงไปเที่ยวสั่งสอน ดองเฮนริกยังให้เที่ยวรับซื้อพวกแขกดำซึ่งเป็นทาสเป็นเชลยอยู่ตามอาฟริกาพาบรรทุกเรือมาเมืองโปรตุเกสขายต่อไปแก่พวกโปรตุเกสที่มีใจศรัทธาจะสั่งสอนพวกมิจฉาทิฐิรับซื้อไปไว้ใช้สอยและสั่งสอนให้เข้ารีตคริสต์ศาสนา เกิดกำไรในการนี้ด้วยอีกประการหนึ่ง เมื่อการที่ดองเฮนริกทำได้ประโยชน์ดีเกินกว่าที่คาดหมายดังกล่าวมานี้ จึงเกิดความวิตกขึ้นว่า จะมีผู้อื่นมาทำการประชัน พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจึงตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดแต่งเรือออกมาเที่ยวค้าขายทำการประชันกับดองเฮนริก และเพื่อจะป้องกันมิให้ฝรั่งชาติอื่นมาแย่งชิง ดองเฮนริกได้ไปทูลขออาชญา[7] ต่อโป๊บผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนาที่เมืองโรม โป๊ปก็ออกอาชญาอนุญาตให้แก่ดองเฮนริกว่า บรรดาเมืองมิจฉาทิฐิที่โปรตุเกสได้ไปพบปะ ให้เป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส ห้ามมิให้ชาติอื่นไปแย่งชิง แต่โปรตุเกสจะต้องทำการสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลายในบรรดาเมืองที่ได้ไปพบปะนั้น จึงจะถืออำนาจตามอาชญาของโป๊ปได้ เมื่อดองเฮกริกทำการสำเร็จประโยชน์และได้อำนาจดังกล่าวมาแล้ กิตติศัพท์ก็แพร่หลาย มีพวกฝรั่งทั้งชาติโปรตุเกสและชาติอื่นขอเข้าเป็นพวกดองเฮนริกเป็นอันมาก ดองเฮนริกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศโดยอาการดังกล่าวมาคราวละสองลำบ้างสามลำบ้างทุก ๆ ปี ตั้งแต่ดองเฮนริกได้เริ่มทำการมาตลอดเวลาสี่สิบปี ตรวจทางทะเลตามฝั่งอาฟริกาลงมาได้เพียงแหลมเวอเด[8] ด้วยการที่ใช้ใบในมหาสมุทรแอตแลนติกต้องฝ่าคลื่นฝืนลม เรือที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นลงมาได้ด้วยยาก ดองเฮนริกสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓ เพราะการที่ดองเฮนริกทำกลายเป็นการสำคัญของโปรตุเกส ทั้งที่ได้ทรัพย์และได้อำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจึงจัดเอาเป็นราชการแผ่นดินต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๐๒๙ ในรัชกาลพระเจ้าดองยวงที่ ๒ ครองประเทศโปรตุเกส พระเจ้าดองยวงแต่งให้บาโทโลมิวเดอดายส์[9] คุมเรือกำปั่นสองลำแล่นมาตรวจทาง บาโทโลมิวเดอดายส์แล่นก้าวในมหาสมุทรแอตแลนติกหลงเลยมาได้ถึงแหลมอาฟริกาใต้ที่เรียกว่า แหลมกู๊ดโฮ๊ป ในบัดนี้ ได้ความรู้ว่า ได้พบทางที่จะมาอินเดียเป็นแน่แล้ว บาโทโลมิวเดอดายส์จะแล่นเรือเลยมาอินเดีย แต่พวกลูกเรือถูกลำบากกรากกรำเสียช้านาน ไม่ยอมแล่นต่อมาอีก จึงจำต้องกลับไปเมืองโปรตุเกส

ต่อมา มีฝรั่งชาวเยนัว[10] คนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอโคลัมบัส[11] ได้ไปเดินเรืออยู่กับโปรตุเกสหลายปี ไปได้ความที่เกาะมะไดราซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ฝั่งอาฟริกาว่า มีไม้คลื่นซัดมาในมหาสมุทรจากทางทิศตะวันตกมาติดเกาะนั้น ไม้มีรอยคนแกะเป็นลวดลาย จึงเกิดความคิดเห็นว่า แผ่นดินอินเดียที่โปรตุเกสค้นหาทางไปอยู่นั้นจะเป็นแผ่นดินยาวแต่ตะวันออกไปจนทางตะวันตกตลอดมหาสมุทรแอตแลนติก คริสโตเฟอโคลัมบัสจึงนำความเห็นทั้งนี้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส จะขอรับอาสาคุมเรือไปเที่ยวหาประเทศอินเดียถวายโดยทางตะวันตกอีกทางหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสให้ที่ประชุมผู้ชำนาญแผนที่และการเดินเรือปรึกษาความเห็นของคริสโตเฟอโคลัมบัส ที่ประชุมไม่เห็นด้วย คริสโตเฟอโคลัมบัสมีความน้อยใจ จึงลอบออกจากเมืองโปรตุเกสไปรับอาญาพระเจ้าแผ่นดินสเปน ประเทศสเปนเวลานั้นยังแบ่งเป็นสองราชอาณาจักร แต่รวมกันด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายได้ทำการวิวาห์กัน พระเจ้าแผ่นดินสเปนแต่งเรือให้คริสโตเฟอโคลัมบัสคุมไปเที่ยวหาประเทศอินเดียตามประสงค์ คริสโตเฟอโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพียรไปจนพบหมู่เกาะในทวีปอเมริกาเหนือที่ยังเรียกอยู่จนทุกวันนี้ว่า หมู่เกาะอินเดียฝ่ายตะวันตก โดยเข้าใจในครั้งนั้นว่า เป็นประเทศอินเดีย มิใช่ทวีปหนึ่งต่างหาก คริสโตเฟอโคลัมบัสถือเอาแผ่นดินที่ไปพบนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศสเปน จึงเกิดอำนาจแข่งโปรตุเกสขึ้นในทางเที่ยวหาเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น จนต้องไปขออาชญาโป๊ปให้ป้องกันการที่จะแย่งชิงเมืองขึ้นกันในระหว่างโปรตุเกสกับสเปน โป๊ป[12] จึงเอาแผนที่โลกเท่าที่รู้อยู่ในเวลานั้นมาขีดเส้นแต่เหนือไปใต้ และบอกอาชญา[13] ว่า บรรดาแผ่นดินข้างตะวันตกของเส้นนั้น ถ้าพวกสเปนไปพบ ให้เป็นเมืองขึ้นของสเปน ข้างตะวันออกของเส้นออกของเส้น ให้เป็นของโปรตุเกส แต่ทั้งสองประเทศต้องสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลายในเมืองเหล่านั้น จึงจะมีอำนาจตามอาชญาของโป๊ป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ ในรัชกาลของพระเจ้ามานูเอล[14] ครองกรุงโปรตุเกส พระเจ้ามานูเอลให้วัสโคดาคามา[15] คุมเรือรบสามลำพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธบรรทุกสินค้ายุโรปและเครื่องราชบรรณาการสำหรับที่จะถวายพระเจ้าแผ่นดินตามเมืองในประเทศตะวันออก แล่นอ้อมทวีปอาฟริกาออกมาให้ถึงอินเดียให้จงได้ วัสโคดาคามาแล่นเรือฝ่าคลื่นลมออกมาด้วยความลำบากเป็นอันมาก เรือมาเสียลงลำหนึ่ง เหลืออยู่แต่สองลำ มาถูกพายุใหญ่ พวกลูกเรือทนความลำบากกรากกรำจะขอให้กลับหลายครั้ง วัสโคดาคามาไม่ยอมกลับ แต่เพียรแล่นเรือมาถึงสิบเอ็ดเดือน จึงแล่นอ้อมทวีปอาฟริกามาได้ถึงเมืองเมลินเดซึ่งอยู่ทางชายทะเลด้านตะวันออก มาหานำร่องได้ที่เมืองเมลินเด[16] แล้วแล่นข้ามทะเลอาหรับมาถึงเมืองกาฬีกูฎ[17] ที่อินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๐๔๑

สมัยเมื่อเมื่อโปรตุเกสแล่นเรือจากยุโรปออกมาถึงอินเดียได้นั้น ในประเทศอินเดียได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากกว่าแต่ก่อนเสียเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ตั้งแต่เกิดศาสนาอิสลามขึ้นในแว่นแคว้นแดนอาหรับ ถึงพวกอิสลามไม่ได้ยกกองทัพมารบพุ่งจนถึงแดนอินเดียก็จริง แต่ได้พากันออกมาเที่ยวตั้งทำการค้าขายและมาเที่ยวสอนศาสนาอิสลามอยู่ตลอดเวลาถึงหกร้อยปี มีผู้คนพลเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเป็นอันมาก บ้านเมืองในประเทศอินเดียในเวลานั้นก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพปกครองเป็นราชอาณาจักรใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แยกกันอยู่เป็นประเทศน้อย ๆ เมืองทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือ มี คันธารราฐ เป็นต้น ในเวลานั้น ผู้คนพลเมืองก็เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเสียแล้ว ข้างตอนกลางบางเมืองถือศาสนาอิสลาม แต่ที่ยังถือศาสนาพราหมณ์ก็ยังมีอยู่มาก แต่ตอนข้างใต้ยังถือศาสนาพราหมณ์ เมืองกาฬีกูฎที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเป็นที่แรกตั้งอยู่ชายทะเลข้างตะวันตกในแหลมมละบา[18] เป็นราชธานีของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือศาสนาพราหมณ์ เรียกพระนามว่า พระเจ้าสมุทรินทร[19] ส่วนการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลในอินเดีย ไม่ว่าในเมืองที่ถือศาสนาอิสลามหรือถือศาสนาพราหมณ์ มีพวกพ่อค้าแขกอิสลามไปตั้งทำการค้าขายอยู่ช้านานแล้วทุกแห่ง วิธีค้าขายของพวกเหล่านี้ ไปทูลขออนุญาตต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งห้างตามเมืองเก่ารับซื้อสินค้าในพื้นเมืองบรรทุกเรือไปเที่ยวจำหน่ายตามนานประเทศตลอดจนยุโรป และรับสินค้าต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นเมือง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองบ้านเมืองตั้งแต่มีพวกอิสลามมาตั้งทำการค้าขายก็เกิดผลประโยชน์ทั้งในทางเก็บภาษีอากร และตั้งคลังสินค้าซื้อขายสิ่งของบางอย่างเป็นของหลวงได้กำไรอีกชั้นหนึ่ง เมื่อว่าโดยย่อ ในเวลานั้น การค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก คือ อินเดีย เป็นต้น อยู่ในมือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดสามารถจะแย่งชิง เมื่อวัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเมืองกาฬีกูฎ ให้ขึ้นไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาจากพระเจ้ากรุงโปรตุเกสให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอไปค้าขายกับเมืองกาฬีกูฎ ฝ่ายพระเจ้าสมุทรินทรเคยได้ผลประโยชน์อยู่ในการค้าขายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อได้ทราบว่า ได้มีฝรั่งโปรตุเกสจะมาขอทำการค้าขายอีกชาติหนึ่ง ก็ไม่มีความรังเกียจ รับรองวัสโคดาคามาอย่างราชทูต และยอมอนุญาตให้โปรตุเกสซื้อขายสินค้าตามประสงค์ แต่ฝ่ายพวกพ่อค้าแขกอิสลามในเมืองกาฬีกูฎเมื่อรู้ว่า โปรตุเกสแล่นเรือบรรทุกสินค้ามาถึงอินเดียได้จากยุโรป ก็คิดการณ์ล่วงหน้าแลเห็นได้ตลอดว่า ถ้าพวกฝรั่งไปค้าขายกับอินเดียได้โดยทางเรือ ผลประโยชน์การค้าขายของตนจำจะต้องตกต่ำ ด้วยทางที่พวกพ่อค้าแขกขนสินค้าไปมาในระหว่างอินเดียกับยุโรปต้องบรรทุกเรือแล้วขนขึ้นเดินบกไปลงเรืออีก ต้องเสียค่าขนสินค้ามาก ฝรั่งเอาสินค้าบรรทุกเรือแล่นตรงมาได้รวดเดียว เสียค่าขนน้อย คงจะขายสินค้ายุโรปได้ราคาถูกกว่า และอาจจะซื้อสินค้าพื้นเมืองได้ราคาแพงกว่าตน ถ้าขับเคี่ยวกันไป การค้าขายคงจะไปตกอยู่ในมือฝรั่งหมด พวกพ่อค้าแขกอิสลามคิดเห็นดังนี้จึงตั้งใจจะกีดกันมาแต่แรกเพื่อจะมิให้โปรตุเกสไปมาค้าขายในอินเดียได้ดังประสงค์ ในเบื้องต้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามทำอุบายให้เกิดข่าวเล่าลือให้ราษฎรหวาดหวั่นต่าง ๆ จนไม่กล้ามาค้าขายกับฝรั่ง และไปบนบานเจ้าพนักงานให้แกล้งกีดขวางหน่วงเหนี่ยววัสโคดาคามามิให้ทำการได้สะดวก แต่เผอิญในเวลานั้นมีฝรั่งชาวสเปนคนหนึ่งซึ่งแขกอิสลามเอาเข้ารีตแล้วพามาไว้ที่เมืองกาฬีกูฎ ได้ทราบความคิดของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม มีความสงสารพวกโปรตุเกสด้วยเป็นชาติฝรั่งด้วยกัน จึงลอบนำความไปแจ้งแก่วัสโคดาคามา วัสโคดาคามาจึงอุบายซ้ายกลพวกพ่อค้าแขก โดยแกล้งทำเป็นไม่รู้เท่าราษฎรในเชิงค้าขาย เมื่อเวลาเอาสินค้ายุโรปขึ้นไปค้าขาย แม้พวกชาวเมืองจะต่อตามจนถึงขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนสินค้าที่ชาวเมืองนำมาขายให้ ถึงจะโก่งเอาราคาแพง วัสโคดาคามาก็ยอมซื้อ พวกชาวเมืองเข้าใจว่า ฝรั่งโง่ ก็พากันมาซื้อขายกับวัสโคดาคามามากขึ้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามเห็นดังนั้นจึงเอาความไปยุยงแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลพระเจ้าสมุทรนิทรว่า กิริยาที่พวกโปรตุเกสซื้อขายดูไม่คิดถึงทุนรอนตามทำนองค้าขาย เห็นจะเป็นคนสอดแนมที่ฝั่งแต่งให้มาสืบสวนการงานบ้านเมือง เมื่อรู้กำลังแล้ว ฝรั่งคงจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเป็นแน่ พระเจ้าสมุทรินทรเห็นจริงด้วย จึงให้จับวัสโคดาคามากับพรรคพวกซึ่งขึ้นไปบนบกขังไว้ ฝ่ายน้องชายวัสโคดาคามาซึ่งอยู่ในเรือเห็นพระเจ้าสมุทรินทรทำแก่พี่ของตนดังนั้น ก็จับขุนนางเมืองกาฬีกูฎซึ่งลงไปอยู่ในเรือไว้บ้าง เมื่อมีเหตุขึ้นดังนี้ พระราชครูผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสมุทรินทรเห็นว่า จะเกิดวุ่นวาย จึงเข้าไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า วัสโคดาคามาเป็นราชทูตมาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศซึ่งพระเจ้าสมุทรินทรได้รับรองแล้วอย่างราชทูต ที่จะมาทำร้ายผู้เป็นราชทูตผิดประเพณี พระเจ้าสมุทรินทรจึงให้ปล่อยวัสโคดาคามา และว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้หายความเคียดแค้น วัสโคดาคามาได้ออกเรือจากเมืองกาฬีกูฎเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๐๔๑ แล่นไปแวะที่เมืองคานะนอ[20] ซึ่งอยู่ชายทะเลฝั่งมละบา ข้างเหนือเมืองกาฬีกูฎ พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองนั้นก็แกล้งอีก แต่เจ้าเมืองคานะนอไม่เชื่อฟังคำยุยงของพ่อค้าแขกอิสลาม ช่วยเป็นธุระแก่พวกโปรตุเกสหาสินค้าได้จนเหลือระวางเรือ วัสโกดาคามาสำเร็จความประสงค์แล้วก็แล่นเรือจากอินเดียกลับไปถึงเมืองโปรตุเกสเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๐๔๒

การที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาได้ถึงอินเดียคราวนั้นเป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่โปรตุเกส ด้วยตั้งแต่โปรตุเกสพากเพียรตรวจทางทะเลมาได้เกาะและบ้านเมืองชายทะเลอาฟริกาตามรายทางไว้เป็นเมืองขึ้นบ้าง เป็นไมตรีบ้าง ขยายอำนาจและอาณาจักรออกมาโดยลำดับ มีที่พักเป็นระยะมาตลอดทาง แล้วพอรู้ทางว่ามาถึงอินเดียได้ ก็อาจจะจัดการเดินเรือไปมาค้าขายถึงอินเดียได้ทันที ส่วนผลประโยชน์ที่จะพึงได้ในการค้าขายกับอินเดียนั้น แต่เพียงในเที่ยวแรกที่วัสโคดาคามามาด้วยเรือสองลำ ราคาสินค้าที่ได้ไปเมื่อคิดราคาเทียบกับทุนที่แต่งเรือออกมาครั้งนั้น โปรตุเกสได้กำไรถึงหกสิบเท่า จึงเกิดความทะเยอทะยานยินดีกันอย่างใหญ่ในประเทศโปรตุเกส ด้วยแลเห็นทั่วกันว่า ประเทศโปรตุเกสจะเป็นประเทศที่มีกำลังทั้งอำนาจและทรัพย์สมบัติ ต่อมา การก็เป็นจริงดังนั้นทุกประการ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้ากรุงโปรตุเกสให้แต่งเรือออกมาอินเดียอีก คราวนี้ คิดการเตรียมแก้ไขความขัดข้องมาเสร็จ ด้วยได้ความรู้แล้วว่า ทางตะวันออกพวกถือศาสนาอิสลามซึ่งเคยเป็นข้าศึกกับฝรั่งมาหลายร้อยปียังมีอำนาจอยู่ และการค้าขายทางตะวันออกก็อยู่ในมือของคนพวกนั้น การที่พวกโปรตุเกสออกมาประเทศตะวันออก คงจะถูกพวกแขกที่ถือศาสนาอิสลามคิดร้ายรังเกียจกันทั้งการสอนคริสต์ศาสนาและการค้าขาย มิให้โปรตุเกสทำการได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ เรือที่แต่งให้บรรทุกสินค้าและพาพวกบาทหลวงออกมาสอนคริสต์ศาสนาในคราวที่สองนั้น พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจึงให้แต่งเป็นกองทัพมีจำนวนเรือรบสิบสามลำ กระสุนดินดำ และนายไพร่พลทหารประจำลำรวมหนึ่งพันห้าร้อยคน ก็เลือกสรรแต่ล้วนที่กล้าหาญชำนาญศึก ให้เปโดรอัลวเรสคาบรัล[21] เป็นแม่ทัพ และเป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองประเทศตามรายทางบรรดาที่เข้ากับโปรตุเกส และมอบอำนาจออกมากับคาบรัลในครั้งนั้นว่า ถ้าบ้านใด เมืองใด หรือบุคคลจำพวกใดขัดขวางแก่การของโปรตุเกส ว่ากล่าวโดยดีไม่ตลอดแล้ว ก็ให้ใช้กำลังปราบปรามเอาไว้ในอำนาจให้จงได้

คาบรัลยกกองทัพเรือออกจากเมืองโปรตุเกสเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๐๔๓ ใช้ใบเรือลงมาจนถึงแหลมเวอเดแล้ว แล่นก้าวออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือไปถูกพายุซัดพัดข้ามมหาสมุทรไปพบเมืองบราซิลในอเมริกาใต้เข้า จึงได้เมืองบราซิลเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในคราวนั้น คาบรัลแล่นเรือกลับจากเมืองบราซิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงเมืองเมลินเดในอาฟริกาข้างตะวันออกซึ่งเป็นไมตรีกับโปรตุเกสมาแต่ก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม เรือที่ไปด้วยกันสิบสามลำ ไปแตกเสียกลางทางบ้าง พลัดกันบ้าง เหลืออยู่แต่หกลำ คาบรัลรับนำร่องที่เมืองเมลินเดแล้วก็แล่นข้ามทะเลอาหรับมา รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองโปรตุเกสมาได้หกเดือนจึงถึงท่าเมืองกาฬีกุฎเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม พระเจ้าสมุทรินทรเมื่อเห็นกองทัพเรือโปรตุเกสยกมาคราวนี้ก็ให้ข้าราชการออกไปรับพาคาบรัลขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ และยอมทำสัญญาอนุญาตที่ดินให้พวกโปรตุเกสตั้งห้างค้าขายที่เมืองกาฬีกูฎตามประสงค์ แต่ครั้นเมื่อสร้างห้างสำเร็จแล้ว โปรตุเกสหาซื้อสินค้าอยู่สองเดือนไม่ได้สินค้า จึงสืบสวนได้ความว่า เพราะพวกพ่อค้าแขกอิสลามอุบายชิงรับซื้อบรรดาสิ่งสินค้าซึ่งรู้ว่าพวกโปรตุเกสต้องการไว้เสียก่อน ไม่ให้พวกโปรตุเกสหาซื้อได้ คาบรัลไปทูลความต่อพระเจ้าสมุทรินทร พระเจ้าสมุทรินทรก็มิรู้ที่จะทำประการใด คาบรัลขัดใจ จึงให้ไปแย่งเอาสินค้าของพวกพ่อค้าแขกอิสลามซึ่งกำลังเอาลงบรรทุกเรือที่จอดอยู่ในอ่าว พวกพ่อค้าแขกอิสลสามที่อยู่บนบก เมื่อเห็นพวกโปรตุเกสปล้นเอาสินค้าของตนดังนั้น ก็คุมพรรคพวกยกมาปล้นสินค้าที่ห้างของโปรตุเกสบ้าง พวกแขกอิสลามกับพวกโปรตุเกสเกิดรบกันขึ้นในเมืองกาฬีกูฎ พวกแขกอิสลามมากกว่า ฆ่าพวกโปรตุเกสตายห้าสิบสี่คน และเผาห้างของโปรตุเกสเสียสิ้น พวกกองทัพเรือโปรตุเกสเห็นพวกแขกอิสลามทำร้ายพวกของตนที่อยู่บนบก ก็ยกกำลังไปตีปล้นเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามบรรดาที่จอดอยู่ในอ่าวเมืองกาฬีกูฎ ฆ่าพวกแขกล้มตายเป็นอันมาก แล้วเผาเรือเหล่านั้นเสียถึงสิบลำ แล้วเลยเอาปืนใหญ่ยิงเมืองกาฬีกูฎอยู่สองชั่วโมง แล้วจึงถอนสมอใช้ใบเรือไปจากเมืองกาฬีกูฎ ไปพบเรือแขกเข้าที่ไหน พวกโปรตุเกสก็ปล้นเรือแขกตลอดทางมา จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างพวกโปรตุเกสกับพวกแขกอิสลามขึ้นแต่ครั้งนั้น

เรื่องราวที่พวกโปรตุเกสทำอย่างไรต่อมาในอินเดียมีมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้โดยพิสดารในที่นี้ ตั้งแต่พวกโปรตุเกสเกิดรบขึ้นกับพวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองกาฬีกูฎเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ แล้ว แต่นั้นมา การค้าขายของพวกโปรตุเกสก็กลายเป็นเอากำลังเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติ หาอำนาจและอาณาจักรทางตะวันออก เอาแต่ชื่อว่าเที่ยวสอนคริสต์ศาสนาและค้าขายขึ้นบังหน้า เพราะการใช้ปืนไฟใหญ่น้อยและวิธีรบพุ่งในทางทะเลพวกชาวตะวันออกยังไม่ชำนาญเท่าโปรตุเกส โปรตุเกสน้อย ๆ คนเคยรบชนะพวกชาวอินเดียที่มากกว่าหลายคราวจึงได้ใจ แต่นั้น โปรตุเกสก็แต่งกองทัพเรือออกมาจากยุโรปทุกปี พบเรือแขกเข้าที่ไหน ก็ปล้นเอาทรัพย์สมบัติและทำลายเรือเสีย ส่วนเมืองตามชายทะเลในอินเดียเมืองไหนที่ยอมเข้ากับโปรตุเกส โปรตุเกสก็ตั้งห้าง แล้วเลยทำห้างขึ้นเป็นป้อม เอากำลังทหารที่มารักษากดขี่เจ้าบ้านผ่านเมืองเอาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสบ้าง เมืองไหนที่ไม่เข้าด้วยหรือไม่ค้าขายด้วย โปรตุเกสก็ถือว่า เป็นข้าศึก เที่ยวรบพุ่งทำร้ายต่าง ๆ ไม่ช้านานเท่าใด เมืองอินเดียตามชายฝั่งทะเลมละบาก็ตกอยู่ในอำนาจโปรตุเกสหลายเมือง ส่วนการค้าขาย เมื่อโปรตุเกสเที่ยวทำลายเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามเสียเป็นอันมากแล้ว โปรตุเกสก็ได้สินค้าประเทศทางตะวันออก เมืองโปรตุเกสเกิดเป็นที่ชุมนุมการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกขึ้นใหญ่โต จนเมืองฝรั่งแถวทะเลเมดิเตอเรเนียนซึ่งเคยร่ำรวยด้วยการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกตามเส้นทางเปอร์เซียและอียิปต์ถึงความอัตคัดขัดสนไปหลายเมือง เมื่อการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเปลี่ยนไปเฟื่องฟูเป็นตลาดใหญ่อยู่ที่เมืองโปรตุเกสดังกล่าวมานี้ จึงมีชาวโปรตุเกสเป็นอันมากทะเยทะยานอยากออกมาหาทรัพย์สมบัติทางตะวันอออก พวกผู้ดีมีสกุลก็เข้าไปรับอาสาเป็นนายทหารบ้าง ออกมาเป็นผู้สอนศาสนาบ้าง ที่เป็นฝรั่งเลวก็ไปอาสาเป็นลูกเรือและพลทหาร ด้วยความเข้าใจทั่วกันว่า เป็นช่องทางที่จะปราบปรามพวกอิสลาม เอาทรัพย์สมบัติของพวกมิจฉาทิฐิไปเป็นอาณาประโยชน์ อย่างพวกอิสลามได้เคยทำแก่ปู่ย่าตายายของตนมาแต่ก่อน ไม่ถือว่า เป็นบาปกรรมอันใด

เมื่อโปรตุเกสไปมาหาที่มั่นได้ที่ชายทะเลอินเดียแล้ว ได้ข่าวว่า ทางตะวันออกต่อมา มีเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญในทางรับส่งสินค้าระหว่างเมืองจีนกับอินเดีย และมีสินค้าตามเมืองที่ใกล้เคียงซึ่งมาขายที่เมืองมะละกามาก เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจึงแต่งให้โลเปสเดอสิไครา[22] คุมเรือกำปั่นรบสี่ลำเป็นราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าเมืองมะละกาซึ่งเป็นแขกมลายูนับถือศาสนาอิสลามแล้วในเวลานั้น เจ้าเมืองมะละกาก็รับรองสิไคราอย่างราชทูต และยอมให้ที่ตั้งห้างตามประสงค์ แต่เมื่อพวกโปรตุเกสขึ้นไปซื้อขายสินค้าที่ห้างตั้งใหม่ ไปเกิดวิวาทขึ้นกับพวกชาวเมืองมะละกา สิไคราสงสัยว่า เจ้าเมืองมะละกาคิดกลอุบายเข้ากับพวกพ่อค้าแขกอิสลามจะทำร้าย สิไครามีความโกรธเป็นกำลัง จึงจับพวกชาวมะละกาที่ลงมาอยู่ในเรือเอาลูกธนูเสียบหนังหัวประจานส่งขึ้นไปบอกเจ้าเมืองมะละกาว่า ถ้าไม่คบกับโปรตุเกสโดยดี โปรตุเกสจะตีเอาเมืองมะละกาให้จงได้ ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาเห็นโปรตุเกสดูหมิ่นก็โกรธ จึงให้ขุนนางคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นบันดาหร[23] ว่าการฝ่ายทหาร คุมกำลังไปล้อมจับโปรตุเกสที่ขึ้นไปซื้อขายอยู่บนบก ฆ่าฟันตายเสียบ้าง จับเป็นไว้ได้เป็นตัวจำนำก็หลายคน สิไคราไม่มีกำลังพอที่จะตีเอาเมืองมะละกาได้ในคราวนั้น ด้วยพลเรือขึ้นไปถูกพวกชาวมะละกาฆ่าฟันและจับไว้เสียมาก จึงให้เผาเรือโปรตุเกสเสียสองลำ เอาคนมาลงเรือที่ยังเหลืออยู่สองลำแล่นกลับไป เมื่อความทราบถึงกรุงโปรตุเกสว่า เจ้าเมืองมะละกาทำร้ายแก่พวกโปรตุเกส ก็ให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองมะละกา แต่ประจวบเวลาเกิดเหตุขึ้นในอินเดียและทางทะเลแดง ด้วยพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองแขกที่ถูกโปรตุเกสรังแกกดขี่ต่าง ๆ หลายเมืองเข้ากันรบพุ่งโปรตุเกส โปรตุเกสต้องปราบปรามอยู่จนปีมะแม จุลศักราช ๘๗๑ พ.ศ. ๒๐๕๒ อัฟฟอนโสอัลบูเคอเค[24] แม่ทัพใหญ่ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ของพระเจ้าโปรตุเกส จึงยกกองทัพเรือมายังเมือมะละกา กองทัพอัลบูเคอเคแล่นมาพบเรือแขกที่ไหนก็ตีชิงเรื่อยมา จนถึงเมืองมะละกาเมื่อเดือนมิถุนายน อุบายให้ไปบอกเจ้าเมืองมะละกว่า เป็นราชทูตจะมาเป็นไมตรีโดยดี ไม่รบพุ่ง ให้เจ้าเมืองมะละกาส่งตัวพวกโปรตุเกสที่จับไว้เป็นตัวจำนำลงมาให้ แล้วอัลบูเคอเคก็จะขึ้นไปหาเจ้าเมือง ข้างเมืองมะละก็ให้มาบอกว่า จะยอมเป็นไมตรีและจะส่งพวกโปรตุเกสคืนให้ แต่ขอให้อัลบูเคอเคขึ้นไปทำทางไมตรีเสียก่อน อัลบูเคอเคคอยอยู่ เห็นการไม่ตกลงกัน ก็ยกกำลังขึ้นตีเมืองมะละกา ได้รบพึ่งกันถึงตะลุมบอน ชาวมะละกาสู้ไม่ได้ ต้องถอยออกไปนอกเมือง พวกโปรตุเกสเผาเมืองมะละกาเสีย แล้วก็ถอยกลับลงเรือ พวกชาวมะละกาก็กลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเมืองอีก ในเวลานั้น มีสำเภาจีนมาค้าขายอยู่ที่เมืองมะละกาประมาณหนึ่งร้อยลำ สำเภาจีนจะกลับไปเมือง อัลบูเคอเคจึงให้โปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ เฟอนันเด[25] ถือหนังสือโดยสารเรือสำเภาจีนเข้ามากรุงศรีอยุธยาขอเป็นไมตรีไปค้าขายกับไทย ด้วยได้ทราบว่า เมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ก่อน

อัลบูเคอเคมาตระเตรียมการอยู่ที่เรือ พอพร้อมเสร็จก็คุมกำลังขึ้นตีเมืองมะละกาครั้งที่สองในเดือนสิงหาคม คราวนี้ รบพุ่งกันเป็นสามารถ พวกเจ้าเมืองมะละกาสู้โปรตุเกสไม่ได้ก็แตกหนี เมืองมะละกาจึงได้อยู่ในอำนาจโปรตุเกสแต่นั้นมา

เมื่อโปรตุเกสได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่นแล้ว ถึงปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ พระเจ้ามานูเอล พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส จึงแต่งให้ดวดเตโคเอลโล[26] เป็นราชทูตเข้ามาทำสัญญามีทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณ กรุงศรีอยุธยาในคราวคราวเดียวกับไปทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ตามจดหมายของโปรตุเกสว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยินดีรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกส พระราชทานอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งห้างไปมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองปัตตานีได้ตามประสงค์ และจะรับแต่งกองทัพไทยไปช่วยโปรตุเกสปราบปรามพวกแขกที่มาตีเมืองมะละกาด้วย ต่อมา ปรากฏว่า โปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ไปตั้งห้างค้าขายที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองมะริดอีกสองเมือง

ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ พ.ศ. ๒๐๖๒ โปรตุเกสไปขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ยอมให้ไปมาค้าขายตามประสงค์ และให้โปรตุเกสตั้งห้ามที่เมืองเมาะตะมะอีกแห่งหนึ่ง โปรตุเกสจึงเป็นไมตรีกับไทยและมอญแต่นั้นมา

เรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย ด้วยหนังสือทั้งปวงของไทย ของมลายู และของฝรั่งถูกต้องกัน และมีเนื้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๑๗ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๑๙๙๘ แต่จะมีผลอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เหตุที่ไทยยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เห็นจะเป็นด้วยเรื่องเจ้าเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พวกอาหรับที่มาเป็นครูบาอาจารย์สอนให้กระด้างกระเดื่องขึ้น แต่กองทัพไทยเห็นจะตีไม่ได้เมืองมะละกาคราวนั้น เมื่อโปรตุเกสมาตีเมืองมะละกา เกรงจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับไทยซึ่งเป็นเจ้าของเมืองมะละกาอยู่แต่เดิม จึงแต่งราชทูตเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทย ในเวลานั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังไม่เสร็จสงครามกับเชียงใหม่ จึงรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกส

การที่โปรตุเกสมาเป็นไมตรีกับไทยก็ดี กับมอญก็ดี ไม่มาเกะกะวุ่นวายเหมือนกับเมืองแขกในอินเดีย เพราะสองประเทศนี้ถือพุทธศาสนา ไม่มีสาเหตุที่จะวิวาทกันด้วยเรื่องลัทธิศาสนา ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ทั้งสองประเทศเป็นประเทศใหญ่ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้สิทธิ์ขาด โปรตุเกสจะทำร้ายไม่ได้เหมือนในอินเดีย จึงมาค้าขายแต่โดยดี ใช่แต่เท่านั้น ยังมีพวกฝรั่งโปรตุเกสที่คิดหาสินจ้างโดยลำพังตัวพากันเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองมารับจ้างเป็นทหารทำการรบพุ่งให้ทั้งไทยและมอญ การค้าขายและเป็นไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศได้เริ่มต้นมีมาแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๒ โดยมูลเหตุดังอธิบายมานี้

  1. "อมุรา" คือ อามูร์ (Amur) หรือเฮย์หลงเจียง (黑龙江, Hēilóng Jiāng; "แม่น้ำมังกรดำ")
  2. "ติคริส" คือ ไทกริส (Tigris)
  3. "กาหลิฟ" (Caliph) คือ "เคาะลีฟะฮ์" (خليفة, kalīfah) หมายถึง ประมุขรัฐอิสลาม
  4. "อุมา" คือ อุมัร บุตรคอฏฏอบ (عمر بن الخطاب, Umar ibn Al-Khattāb; Umar Son of Al-Khattab)
  5. "ดองยวง" คือ ดองฌวง (Don Juan) "ดอง" เป็นคำนำหน้าชื่อ และดองยวงในที่นี้ คือ ฌูเอาที่ ๑ (João I) ตามสำเนียงโปรตุเกส หรือจอห์นที่ ๑ (John I) ตามสำเนียงอังกฤษ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์อาวีซ (House of Aviz)
  6. "ดองเฮนริก" คือ ดองเอ็งรีกี (Don Henrique) "ดอง" เป็นคำนำหน้าชื่อ และดองเฮนริกเป็นที่รู้จักในชื่อ "เอนรีเกราชนาวิก" (Henry the Navigator)
  7. "อาชญา" ปัจจุบันเรียก "สารตรา" (bull) หรือชื่อเต็มว่า "สารตราพระสันตะปาปา" (papal bull)
  8. "เวอเด" คือ เวอร์เด (Verde) หรือชื่อเต็มว่า "กาโบเวอร์เด" (Cabo Verde) ตามสำเนียงโปรตุเกส หรือ "เคปเวิร์ด" (Cape Verde) ตามสำเนียงอังกฤษ
  9. "บาโทโลมิวเดอดายส์" คือ บาร์ตูลูเมว ดีอัซ (Bartolomeu Dias)
  10. "เยนัว" คือ เจนัว (Genoa)
  11. "คริสโตเฟอโคลัมบัส" คือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)
  12. โป๊ปในที่นี้ คือ พระสันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ ๖ (Pope Alexander VI)
  13. อาชญาฉบับนี้ คือ อินเทอร์เซเทอรา (Inter caetera)
  14. "มานูเอล" คือ มานูเอลที่ ๑ (Manuel I)
  15. "วัสโคดาคามา" คือ วัซกู ดา กามา (Vasco da Gama)
  16. "เมลินเด" (Melinde) ชื่อปัจจุบันว่า "มาลินดี" (Malindi)
  17. "กาฬีกูฎ" คือ "กอลิกูฏ" (قَالِقُوط, Qāliqūṭ) ตามสำเนียงอาหรับ หรือ "คาลิคัต" (Calicut) ตามสำเนียงอังกฤษ และชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โคซิโคเด" (Kozhikode)
  18. "มละบา" คือ มลพาร (मलबार, Malabāra; Malabar)
  19. "สมุทรินทร" คือ "สามูทิริ" (സാമൂതിരി, Sāmūtiri) ตามสำเนียงมาลายาลัม หรือ "ซาโมริน" (Zamorin) ตามสำเนียงโปรตุเกส
  20. "คานะนอ" คือ "แคนนานอร์" (Cannanore) ตามสำเนียงอังกฤษ หรือชื่อปัจจุบันว่า "กัณณูร" (കണ്ണൂര്‍, Kaṇṇūr) ตามสำเนียงมาลายาลัม หรือ "คันนูร์" (Kannur) ตามสำเนียงอังกฤษ
  21. "เปโดรอัลวเรสคาบรัล" คือ เปดรู อัลวาริซ กาบราล (Pedro Álvares Cabral)
  22. "โลเปสเดอสิไครา" คือ ดีโอโก โลเปช ดี เซเกรา (Diogo Lopes de Sequeira)
  23. "บันดาหร" คือ "เบนดาฮารา" (بنداهارا, Bendahara) แปลว่า อัครมหาเสนาบดี (prime minister)
  24. "อัฟฟอนโสอัลบูเคอเค" คือ อาฟอนซู ดี อัลบูเกร์เก (Afonso de Albuquerque)
  25. "เฟอนันเด" คือ ดูอาร์เต เฟอร์นันเดซ (Duarte Fernandes)
  26. "ดวดเตโคเอลโล" คือ ดูอาร์เต โกเอโล (Duarte Coelho)