อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

คำปรารภ[แก้ไข]

บรรดารัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้

สังเกตว่า กฎบัตรสหประชาชาติยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ และในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี

สังเกตว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยืนยันหลักการที่ว่า การเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และประกาศว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ และว่าทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งความแตกต่างเพราะเหตุแห่งเพศ

สังเกตว่า รัฐภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีความผูกพันที่จะประกันสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในการที่จะได้อุปโภคสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง และทางการเมืองทั้งปวง

พิจารณาถึง อนุสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษที่ส่งเสริมความเสมอภาคแห่งสิทธิของบุรุษและสตรี

อีกทั้งยังสังเกตถึง ญัตติ ปฏิญญา และข้อเสนอแนะที่รับรองโดยสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษซึ่งส่งเสริมความเสมอภาคแห่งสิทธิของบุรุษและสตรี

อย่างไรก็ตาม มีความห่วงใยว่า ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอยู่อย่างกว้างขวาง

ระลึกถึงว่า การเลือกปฏิบัติต่อสตรีขัดต่อหลักการของความเสมอภาคของสิทธิและความเคารพต่อเกียรติศักดิ์ของมนุษย์ เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของสตรีด้วยเงื่อนไขที่เสมอภาคกันกับบุรุษในการดำรงอยู่ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในประเทศของตน ขัดขวางความเจริญเติบโตแห่งความรุ่งเรืองของสังคมและครอบครัว และทำให้พัฒนาการอย่างสมบูรณ์ของศักยภาพต่าง ๆ ของสตรีในการให้บริการแก่ประเทศของตนและมนุษยชาติเป็นไปได้โดยยากยิ่งขึ้น

มีความห่วงใยว่า ในสถานการณ์แห่งความยากจน สตรีมีโอกาสเข้าถึงอาหาร การอนามัย การศึกษา การฝึกอบรม และโอกาสในการทำงานและความจำเป็นอื่น ๆ ได้น้อยมาก

มีความเชื่อมั่นว่า การจัดให้มีระเบียบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบใหม่ ซึ่งอยู่บนรากฐานของสมธรรมและความยุติธรรม จะช่วยในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรีอย่างสำคัญ

ย้ำว่า การขจัดการแบ่งแยกผิว การแบ่งเชื้อชาติทุกรูปแบบ การเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ ลัทธิอาณานิคม ลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ การรุกราน การยึดครองครอบครอง และการแทรกแซงของต่างชาติในกิจการภายในของรัฐต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการได้อุปโภคสิทธิอย่างเต็มที่ของบุรุษและสตรี ยืนยันว่า การทำให้สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแข็งแกร่งขึ้น การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศ ความร่วมมือซึ่งกันและกันในบรรดารัฐทั้งปวงโดยไม่ถือระบบสังคมและเศรษฐกิจของตน การลดอาวุโสโดยทั่ว ๆ ไปและอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้การควบคุมระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็งและได้ผล การยืนยันถึงหลักการแห่งความยุติธรรม ความเสมอภาคและผลประโยชน์ของกันและกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ และการตระหนักถึงสิทธิของประชาชนที่อยู่ภายใต้การครอบครองของต่างชาติและอยู่ภายใต้อาณานิคม และการยึดครองของต่างชาติต่อการที่จะปกครองตนเองและการได้อิสรภาพ รวมทั้งการเคารพอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและพัฒนาการทางสังคม และในฐานะเป็นผลสืบเนื่องจะช่วยให้บรรลุถึงความเสมอภาคอย่างเต็มเปี่ยมระหว่างบุรุษและสตรี

มีความเชื่อมั่นว่า พัฒนาการอย่างเต็มที่และสมบูรณ์ของประเทศ สวัสดิภาพของโลกและเหตุที่จะมีสันติภาพ จำต้องให้สตรีได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ในทุก ๆ สาขาโดยเสมอภาคกับบุรุษ

คำนึงถึง การที่สตรีมีส่วนช่วยอย่างสำคัญต่อสวัสดิการของครอบครัวและต่อพัฒนาการของสังคม ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ ความสำคัญทางสังคมของความเป็นเพศมารดาและบทบาทของบิดามารดาในครอบครัวและในการเลี้ยงดูบุตร และตระหนักว่าบทบาทของสตรีในการให้กำเนิดบุตรไม่ควรจะเป็นพื้นฐานในการเลือกปฏิบัติ แต่ตระหนักว่า การเลี้ยงดูบุตรจาต้องได้รับผิดชอบร่วมกันระหว่างบุรุษและสตรี และสังคมทั้งมวล

ตระหนักว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทดั้งเดิมของบุรุษ รวมทั้งบทบาทของสตรีในสังคมและในครอบครัวเพื่อให้บรรลุถึงความเสมอภาคอย่างเต็มที่ระหว่างบุรุษและสตรี

ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะให้มีการปฏิบัติตามหลักการที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และเพื่อความมุ่งประสงค์นั้นจะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จาเป็นสำหรับการขจัดการเลือกปฏิบัติดังกล่าวในทุกรูปแบบและวิธีการ

ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ภาค ๑[แก้ไข]

ข้อ ๑[แก้ไข]

เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ คำว่า “เลือกปฏิบัติต่อสตรี” จะหมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพด้านการสมรส บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของพลเมืองหรือด้านอื่น ๆ

ข้อ ๒[แก้ไข]

รัฐภาคีทั้งหลายขอประณามการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตกลงที่จะติดตามนโยบายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยวิธีที่เหมาะสมทุกประการและโดยไม่ชักช้า และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ ตกลงที่จะ

(ก) บรรจุหลักการของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติของตนหรือในบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมอื่น ๆ ถ้าหากว่ายังไม่รวมเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติเหล่านั้น และประกันที่จะให้มีการปฏิบัติตามหลักการนี้ โดยทางกฎหมายและวิธีการที่เหมาะสมอื่น ๆ

(ข) กำหนดมาตรการด้านนิติบัญญัติและอื่น ๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งข้อบังคับเมื่อเห็นเหมาะสม ซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งมวลต่อสตรี

(ค) จัดให้มีการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่งสิทธิของสตรีบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันกับบุรุษ และรับประกันในการคุ้มครองสตรีอย่างมีประสิทธิภาพต่อการเลือกปฏิบัติใด ๆ โดยผ่านศาลยุติธรรมแห่งชาติที่มีอำนาจและสถาบันรัฐบาลอื่น ๆ

(ง) งดเว้นจากการเข้าไปพัวพันในการกระทำหรือการปฏิบัติใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และรับประกันว่าเจ้าหน้าที่และสถาบันของรัฐจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับข้อผูกพันนี้

(จ) ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยบุคคล องค์การหรือวิสาหกิจใดๆ

(ฉ) ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง รวมทั้งการออกกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือ ล้มเลิกกฎหมาย ข้อบังคับ ประเพณีและแนวปฏิบัติที่ยังมีอยู่ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

(ช) เพิกถอนบทบัญญัติทางอาญาภายในทั้งปวงซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

ข้อ ๓[แก้ไข]

ในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อประกันพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรี เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะรับประกันให้สตรีได้ใช้และได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานบทฐานของความเสมอภาคกับบุรุษ

ข้อ ๔[แก้ไข]

๑. การที่รัฐภาคีออกมาตรการพิเศษชั่วคราว ซึ่งมุ่งที่จะเร่งรัดให้มีความเสมอภาคที่แท้จริงระหว่างบุรุษและสตรี จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามที่ได้นิยามความหมายไว้ในอนุสัญญานี้ แต่จะโดยประการใดก็ตามไม่ต้องมีการคงมาตรฐานอันไม่เสมอภาค หรือแบ่งแยกไว้ในฐานะเป็นผลที่ตามมา มาตรการเหล่านี้จะสิ้นสุดเมื่อได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของความเสมอภาคของโอกาสและการปฏิบัติ

๒. การที่รัฐภาคีออกมาตรการพิเศษ รวมทั้งมาตรการที่มีอยู่แล้วในอนุสัญญานี้ ซึ่งมุ่งที่จะปกป้องความเป็นเพศมารดาไว้จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

ข้อ ๕[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง

(ก) เพื่อปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมของบุรุษและสตรี โดยมุ่งที่จะให้ได้ขจัดความเดียดฉันท์และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีและอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง หรือที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทแบบเก่าสำหรับบุรุษและสตรี

(ข) เพื่อประกันว่า การศึกษาเกี่ยวกับระบบครอบครัวรวมถึงความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นเพศมารดาในฐานะเป็นหน้าที่ทางสังคม และเป็นการยอมรับถึงความรับผิดชอบร่วมกันของบุรุษและสตรีในการเลี้ยงดูและการพัฒนาบุตร ทั้งยังเป็นที่เข้าใจด้วยว่าในทุก ๆ กรณี ผลประโยชน์ของบุตรย่อมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นเบื้องแรก

ข้อ ๖[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง รวมทั้งการออกกฎหมาย เพื่อปราบปรามการค้าสตรีและการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของสตรีทุกรูปแบบ

ภาค ๒[แก้ไข]

ข้อ ๗[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกประการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองและทั่ว ๆ ไปของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้ประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกับบุรุษซึ่งสิทธิ

(ก) ที่จะออกเสียงในการเลือกตั้งและลงประชามติทั้งปวง และมีสิทธิที่จะได้รับเลือกตั้งเข้าไปในองค์กรที่มีการเลือกตั้งอย่างเปิดเผยทั้งมวล

(ข) ที่จะเข้าร่วมในการวางนโยบายของรัฐบาลและดาเนินการตามนโยบายนั้น และในการรับตำแหน่งราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุก ๆ ระดับของรัฐบาล

(ค) ที่จะเข้าร่วมในองค์การและสมาคมที่ไม่ได้เป็นของรัฐบาลที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไป และที่เกี่ยวกับการเมืองของประเทศ

ข้อ ๘[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อให้ประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกันกับบุรุษและโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ ซึ่งโอกาสที่จะเป็นผู้แทนรัฐบาลของตนในระดับระหว่างประเทศ และเข้าร่วมในงานขององค์การระหว่างประเทศ

ข้อ ๙[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะให้สิทธิที่เสมอภาคกันกับบุรุษแก่สตรี ในการที่จะได้มาเปลี่ยนแปลงหรือคงไว้ซึ่งสัญชาติของตน รัฐภาคีเหล่านั้นจะรับประกันเป็นพิเศษว่าทั้งการแต่งงานกับคนต่างชาติ กับทั้งการเปลี่ยนสัญชาติของสามีระหว่างการแต่งงานจะไม่เปลี่ยนสัญชาติของภรรยาโดยอัตโนมัติไปด้วย อันจะทำให้เธอเป็นคนไร้สัญชาติหรือบังคับเธอให้ถือสัญชาติของสามี

๒. รัฐภาคีจะให้สิทธิอันเสมอภาคกันกับบุรุษแก่สตรี เกี่ยวกับสัญชาติของบุตรของตน

ภาค ๓[แก้ไข]

ข้อ ๑๐[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่างเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี เพื่อที่จะให้ประกันแก่สตรีทั้งหลายซึ่งสิทธิอันเสมอภาคกันกับบุรุษในด้านการศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประกันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคของบุรุษและสตรี

(ก) เงื่อนไขเดียวกันสำหรับอาชีพและการแนะแนวอาชีพ สำหรับการมีโอกาสเข้าศึกษา และสำหรับการได้รับวุฒิบัตรในสถาบันการศึกษาทุกประเภททั้งในเขตชนบทและเขตเมือง ความเสมอภาคนี้จะได้รับการประกันในการศึกษาก่อนเข้าโรงเรียน การศึกษาทั่ว ๆ ไป การศึกษาเทคนิค การศึกษาอาชีพ และการศึกษาเทคนิคชั้นสูง รวมทั้งการฝึกฝนด้านอาชีพทุกแบบ

(ข) โอกาสที่จะเข้าเรียนในหลักสูตรเดียวกัน การสอบชนิดเดียวกัน คณาจารย์สอนที่มีคุณสมบัติได้มาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งมีอาณาบริเวณของโรงเรียนและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพชนิดเดียวกัน

(ค) การขจัดแนวความคิดแบบเก่าเกี่ยวกับบทบาทของบุรุษและสตรีในทุก ๆ ระดับ และทุก ๆ รูปแบบของการศึกษา โดยการกระตุ้นให้มีสหศึกษาและแบบอื่น ๆ ของการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการทบทวนตาราและโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน และการดัดแปลงวิธีการสอน

(ง) โอกาสเท่ากันที่จะได้ประโยชน์จากทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือทางการศึกษาอื่นๆ

(จ) โอกาสเท่ากันที่จะได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการศึกษาต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการศึกษาผู้ใหญ่ และโครงการรณรงค์ให้รู้หนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มุ่งจะลดช่องว่างในการศึกษาที่มีอยู่ระหว่างบุรุษและสตรี ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

(ฉ) การลดอัตราการออกจากโรงเรียนของนักศึกษาหญิง และการจัดโครงการต่าง ๆ สำหรับเด็กหญิงและสตรีที่ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันสมควร

(ช) โอกาสเท่ากันที่จะเข้าร่วมอย่างแข็งขันในกีฬาและพลศึกษา

(ซ) โอกาสได้เข้าศึกษาข้อสนเทศทางการศึกษาเฉพาะอย่าง เพื่อช่วยให้หลักประกันด้านสุขภาพและการอยู่ดีของครอบครัว รวมทั้งข้อสนเทศและคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว

ข้อ ๑๑[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการจ้างงานเพื่อที่จะประกันสิทธิอย่างเดียวกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

(ก) สิทธิที่จะทำงานในฐานะเป็นสิทธิอันจะพึงแบ่งแยกมิได้ของมนุษย์ทั้งปวง

(ข) สิทธิในโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานชนิดเดียวกัน รวมทั้งการใช้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเดียวกันในเรื่องของการจ้างงาน

(ค) สิทธิในการเลือกอาชีพและการทำงานได้อย่างเสรี สิทธิในการได้เลื่อนตำแหน่ง ความปลอดภัยในการทำงาน และผลประโยชน์ รวมทั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริการทั้งปวง และสิทธิที่จะได้รับการฝึก และการฝึกซ้ำด้านอาชีพ รวมทั้งภาวะการเป็นผู้ฝึกงาน การฝึก และการฝึกซ้ำด้านอาชีพในระดับสูง

(ง) สิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนเท่าเทียมกัน รวมทั้งผลประโยชน์และสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคกันเกี่ยวกับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน รวมทั้งความเสมอภาคของการปฏิบัติในการวัดผลคุณภาพของงาน

(จ) สิทธิที่จะได้รับประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการเกษียณอายุ การตกงาน การป่วย การทุพพลภาพและวัยชรา และการหมดสมรรถนะที่จะทำงานอื่น ๆ รวมถึงสิทธิในการได้รับเงินค่าจ้างขณะพักงาน

(ฉ) สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในสภาพการทำงานต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองในการทำหน้าที่ด้านการมีบุตรสืบพันธุ์

๒. เพื่อที่จะป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรีด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการแต่งงานหรือความเป็นเพศมารดา และเพื่อประกันสิทธิอันแท้จริงของสตรีในการที่จะทำงาน รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสม

(ก) เพื่อห้ามภายใต้การบังคับใช้ของข้อห้ามต่าง ๆ ไม่ให้มีการปลดเพราะเหตุแห่งการตั้งครรภ์ หรือเพราะการลาคลอดบุตร และการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของสถานภาพในการแต่งงาน

(ข) เพื่อริเริ่มให้มีการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง หรือได้ผลประโยชน์ทางสังคมที่เปรียบเทียบได้โดยไม่สูญเสียการงานเดิม อาวุโสในการทำงานหรือเงินช่วยเหลือทางสังคม

(ค) เพื่อกระตุ้นให้มีบริการสังคมอันเป็นตัวสนับสนุนที่จาเป็น เพื่อที่จะช่วยให้บิดามารดาสามารถรวบรวมข้อผูกพันทางครอบครัวเข้ากับความรับผิดชอบในการงานและการเข้าร่วมในกิจการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและพัฒนาขอบข่ายของสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูเด็ก

(ง) ให้มีการคุ้มครองเป็นพิเศษแก่สตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ในการทำงานทุกรูปแบบที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอันตรายต่อสตรีเหล่านั้น

๓. บทบัญญัติของกฎหมายด้านการคุ้มครองที่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ในข้อนี้ จะได้รับการพิจารณาเป็นครั้งคราวในแง่ของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะได้รับการแก้ไข ยกเลิก หรือขยาย เท่าที่จาเป็น

ข้อ ๑๒[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพ เพื่อประกันการมีโอกาสได้รับการบริการในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งบริการที่เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี

๒. ทั้ง ๆ ที่มีบทบัญญัติในวรรค ๑ ของข้อนี้ รัฐภาคีจะประกันให้สตรีได้รับบริการที่เหมาะสมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและระยะหลังคลอดบุตร โดยการให้บริการแบบให้เปล่าเมื่อจำเป็น รวมทั้งการให้โภชนาการที่เพียงพอระหว่างการตั้งครรภ์และระยะการให้นม

ข้อ ๑๓[แก้ไข]

รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านอื่น ๆ ของการเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่จะให้ได้สิทธิอย่างเดียวกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

(ก) สิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ด้านครอบครัว

(ข) สิทธิที่จะได้กู้ยืมจากธนาคาร การจำนอง และสินเชื่อด้านการเงินในรูปอื่น ๆ

(ค) สิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมนันทนาการ การกีฬา และเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมทุกอย่าง

ข้อ ๑๔[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะคำนึงถึงปัญหาเฉพาะที่สตรีในชนบทเผชิญอยู่ รวมทั้งบทบาทสำคัญ ๆ ซึ่งสตรีชนบทมีอยู่ ในการช่วยสนับสนุนค้ำจุนครอบครัวของตนด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งงานในสายเศรษฐกิจที่ไม่ได้กำหนดเป็นตัวเงิน และจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่างรับประกันที่จะให้นำบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับนี้ไปใช้แก่สตรีในเขตชนบทด้วย

๒. รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในเขตชนบท เพื่อที่จะประกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีว่า สตรีทั้งหลายเข้าร่วมและได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้สตรีดังกล่าวได้รับสิทธิ

(ก) ที่จะเข้าร่วมในการจัดทำรายละเอียดและการดำเนินการตามแผนการพัฒนาในทุก ๆ ระดับ

(ข) ที่จะมีโอกาสได้รับความสะดวกด้านการรักษาสุขภาพอย่างเพียงพอ รวมทั้งข้อสนเทศ การปรึกษาหารือ และการบริการในการวางแผนครอบครัว

(ค) ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการประกันสังคม

(ง) ที่จะได้รับการฝึกอบรมและการศึกษาทุกรูปแบบ ทั้งแบบในระบบและนอกระบบ รวมทั้งที่เกี่ยวกับการรณรงค์ให้รู้หนังสือ และทั้งผลประโยชน์จากบริการชุมชนและบริการส่งเสริม เพื่อที่จะเพิ่มความชานาญด้านเทคนิค

(จ) ที่จะจัดการให้มีกลุ่มช่วยตนเอง และสหกรณ์ เพื่อที่จะได้เข้าถึงโอกาสด้านเศรษฐกิจ โดยการรับจ้างทำงาน หรือการทำงานด้วยตนเอง

(ฉ) ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมชุมชนทุกประเภท

(ช) ที่จะมีโอกาสได้สินเชื่อและการกู้ยืมทางการเกษตร สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการตลาด เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการปฏิบัติแบบเสมอภาคในการปฏิรูปที่ดินและการเพาะปลูก รวมทั้งในโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ในที่ดิน

(ซ) ที่จะได้มีสภาพการดำรงอยู่อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับที่พักอาศัย การสุขาภิบาล ไฟฟ้าและน้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม

ภาค ๔[แก้ไข]

ข้อ ๑๕[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะให้สตรีมีความเสมอภาคกับบุรุษในทางกฎหมาย

๒. ในกรณีทางแพ่ง รัฐภาคีจะให้ความสามารถตามกฎหมายแก่สตรีเช่นเดียวกับที่ให้ความสามารถนั้นแก่บุรุษ และจะให้โอกาสเดียวกันในการใช้ความสามารถนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐภาคีจะให้สิทธิเท่าเทียมแก่สตรีในการทำสัญญาและการจัดการทรัพย์สิน และจะปฏิบัติต่อบุรุษและสตรีอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการทางศาลและการชาระความทุกขั้นตอน

๓. รัฐภาคีตกลงว่าสัญญาทั้งปวงและเอกสารสำคัญอื่น ๆ ทั้งปวงไม่ว่าชนิดใดที่มีผลตามกฎหมายซึ่งมุ่งจากัดความสามารถทางกฎหมายของสตรีจะถือว่าใช้ไม่ได้และเป็นโมฆะ

๔. รัฐภาคีจะให้สิทธิเช่นเดียวกันแก่บุรุษและสตรีในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการโยกย้ายของบุคคลและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่และภูมิลำเนา

ข้อ ๑๖[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวกับการสมรสและความสัมพันธ์ทางครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี จะประกัน

(ก) สิทธิเช่นเดียวกันในการทำการสมรส

(ข) สิทธิเช่นเดียวกันในการเลือกคู่สมรสอย่างอิสระ และการทำการสมรสอย่างอิสระและด้วยความยินยอมพร้อมใจเท่านั้น

(ค) สิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกันในระหว่างการสมรสและการขาดจากการสมรส

(ง) สิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกันในฐานะบิดามารดา โดยไม่คำนึงถึงสถานะในการสมรสของตน ในเรื่องที่เกี่ยวกับบุตรของตน ในทุกกรณีผลประโยชน์ของบุตรจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

(จ) สิทธิเช่นเดียวกันในการตัดสินใจอย่างอิสระและมีความรับผิดชอบในจำนวนบุตรและระยะห่างในการมีบุตรของตน และให้เข้าถึงข้อสนเทศ การศึกษาและวิธีที่จะทำให้สตรีใช้สิทธิเหล่านี้ได้

(ฉ) สิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกันในเรื่องการปกครองบุตร การปกป้องบุตร การได้รับมอบหมายให้ดูแลบุตร และการรับบุตรบุญธรรม หรือสถาบันที่คล้ายคลึงซึ่งมีแนวความคิดเหล่านี้อยู่ในกฎหมายภายใน ในทุกกรณีผลประโยชน์ของบุตรจะเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

(ช) สิทธิส่วนตัวเช่นเดียวกันในฐานะสามีและภรรยา รวมถึงสิทธิในการเลือกใช้นามสกุล และการประกอบอาชีพ

(ซ) สิทธิเช่นเดียวกันสำหรับคู่สมรสทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับเป็นเจ้าของการได้มา การจัดการ การดำเนินการ การอุปโภค และการจำหน่ายทรัพย์สินไม่ว่าจะไม่คิดมูลค่าหรือเพื่อตีราคาเป็นมูลค่าก็ตาม

๒. การรับหมั้นและการแต่งงานของเด็กจะไม่มีผลทางกฎหมาย และการปฏิบัติการที่จำเป็นทั้งปวง รวมทั้งการบัญญัติกฎหมายจะต้องกระทำขึ้นเพื่อระบุอายุขั้นต่ำของการแต่งงาน และให้บังคับให้มีการจดทะเบียนสมรส ณ ที่ทำการจดทะเบียนของทางราชการ

ภาค ๕[แก้ไข]

ข้อ ๑๗[แก้ไข]

๑. เพื่อความมุ่งประสงค์ในการพิจารณาความก้าวหน้าซึ่งกระทำขึ้นในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า “คณะกรรมการ”) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณธรรมและความสามารถสูงในสาขาที่ครอบคลุมโดยอนุสัญญานี้จานวนสิบแปดคนในเวลาที่อนุสัญญานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ และประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญยี่สิบสามคนหลังจากการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญานี้โดยรัฐภาคีรัฐที่สามสิบห้า ผู้เชี่ยวชาญจะได้รับเลือกตั้งโดยรัฐภาคีจากบรรดาคนชาติของตนและจะปฏิบัติงานตามความสามารถของบุคคล โดยพิจารณาถึงการกระจายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรม และการตั้งผู้แทนตามอารยธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละรูปแบบตลอดจนระบบกฎหมายที่สำคัญอีกด้วย

๒. สมาชิกของคณะกรรมการจะได้รับเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับจากบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งเสนอชื่อโดยรัฐภาคี รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจเสนอชื่อบุคคลหนึ่งคนจากบรรดาคนชาติของตนเอง

๓. การเลือกตั้งครั้งแรกจะกระทำขึ้นหกเดือนหลังจากวันที่อนุสัญญาฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างน้อยที่สุดสามเดือนก่อนการเลือกตั้งแต่ละครั้งเลขาธิการสหประชาชาติจะส่งจดหมายถึงรัฐภาคี เชิญให้รัฐภาคีทำการเสนอชื่อภายในเวลาสองเดือน เลขาธิการจะจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลทั้งปวง ตามที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเรียงตามลำดับอักษร โดยระบุถึงรัฐภาคีซึ่งได้เสนอชื่อบุคคลเหล่านั้นและจะเสนอบัญชีนั้นต่อรัฐภาคี

๔. การเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการจะกระทำขึ้นในการประชุมของรัฐภาคี ซึ่งเรียกประชุมโดยเลขาธิการ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในการประชุมนั้นซึ่งสองในสามของรัฐภาคีจะประกอบเป็นองค์ประชุม บรรดาบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และได้รับคะแนนเสียงจากจานวนสมาชิกที่มีมากกว่าฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งหมดของผู้แทนของรัฐภาคีที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง

๕. สมาชิกคณะกรรมการจะได้รับเลือกตั้งคราวละสี่ปี อย่างไรก็ตามวาระของสมาชิกเก้าคนที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะสิ้นสุดหลังจากครบสองปี ชื่อของสมาชิกเก้าคนนี้จะได้รับเลือกโดยทันทีหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก โดยการจับสลากจากประธานคณะกรรมการ

๖. การเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการที่เพิ่มขึ้นห้าคนจะจัดให้มีขึ้นตามบทบัญญัติของวรรค ๒, ๓ และ ๔ ของข้อนี้หลังจากรัฐภาคีที่สามสิบห้าได้ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติแล้ว วาระของสมาชิกสองคนที่ได้รับเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นในโอกาสนี้จะสิ้นสุดหลังจากครบสองปี ชื่อของสมาชิกสองคนนี้จะได้รับเลือกโดยการจับสลากโดยประธานคณะกรรมการ

๗. เพื่อบรรจุตำแหน่งที่ว่างลงโดยเหตุไม่ปกติ รัฐภาคีซึ่งผู้เชี่ยวชาญของตนได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการ จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากบรรดาคนชาติของตน โดยขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของคณะกรรมการ ๘. โดยความเห็นชอบของสมัชชา สมาชิกคณะกรรมการจะได้รับเงินตอบแทนจากแหล่งเงินทุนของสหประชาชาติ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขเช่นที่สมัชชาอาจวินิจฉัย โดยพิจารณาถึงความสำคัญของความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

๙. เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดหาเจ้าหน้าที่และสิ่งอานวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้

ข้อ ๑๘[แก้ไข]

๑. รัฐภาคีรับที่จะเสนอรายงานว่าด้วยมาตรการด้านนิติบัญญัติ ตุลาการ การบริหาร หรืออื่น ๆ ซึ่งรัฐภาคีเหล่านั้นได้กำหนดขึ้นเพื่อให้มีผลต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับนี้ และความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อการพิจารณาโดยคณะกรรมการ

(ก) ภายในหนึ่งปีหลังจากการเริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับรัฐที่เกี่ยวข้อง

(ข) หลังจากนั้นอย่างน้อยที่สุดทุก ๆ สี่ปี และต่อจากนั้นเมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการร้องขอ

๒. รายงานอาจระบุปัจจัยและความยากลำบากซึ่งกระทบกระเทือนถึงระดับที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้

ข้อ ๑๙[แก้ไข]

๑. คณะกรรมการจะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง

๒. คณะกรรมการจะเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของตนคราวละสองปี

ข้อ ๒๐[แก้ไข]

๑. โดยปกติ คณะกรรมการจะประชุมกันเป็นระยะเวลาไม่เกินสองสัปดาห์ทุกปี เพื่อพิจารณารายงานที่เสนอตามข้อ ๑๘ ของอนุสัญญาฉบับนี้

๒. โดยปกติ การประชุมของคณะกรรมการจะจัดให้มีขึ้น ณ สานักงานใหญ่สหประชาชาติ หรือที่อื่นใดที่สะดวกตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ ๒๑[แก้ไข]

๑. คณะกรรมการจะต้องรายงานต่อสมัชชาของสหประชาชาติโดยผ่านทางคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นประจาทุกปีว่าด้วยกิจกรรมของคณะกรรมการ และอาจทำข้อเสนอและข้อแนะนำทั่วไป โดยยึดการตรวจสอบรายงานและข้อสนเทศซึ่งได้รับจากรัฐภาคีเป็นมูลฐาน ข้อเสนอและข้อแนะนาทั่วไปเช่นว่านั้น จะรวมอยู่ในรายงานของคณะกรรมการ รวมทั้งคำวิจารณ์จากรัฐภาคี ถ้ามี ๒. เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องส่งรายงานของคณะกรรมการไปยังคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพของสตรีเพื่อทราบ

ข้อ ๒๒[แก้ไข]

ทบวงการชำนัญพิเศษจะมีสิทธิที่จะได้มีผู้แทนในการพิจารณาการปฏิบัติตามบทบัญญัติเช่นว่าของอนุสัญญาฉบับนี้ที่อยู่ภายในขอบข่ายของกิจกรรมของตน คณะกรรมการอาจเชิญให้ทบวงการชำนัญพิเศษเสนอรายงานว่าด้วยการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ในเรื่องที่อยู่ภายในขอบข่ายของกิจกรรมของตน

ภาค ๖[แก้ไข]

ข้อ ๒๓[แก้ไข]

ไม่มีข้อความใดในอนุสัญญาฉบับนี้ที่จะกระทบกระเทือนบทบัญญัติใด ๆ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมได้มากกว่าในการที่จะบรรลุถึงความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี ซึ่งอาจบรรจุอยู่

(ก) ในบทบัญญัติของกฎหมายของรัฐภาคี หรือ

(ข) ในอนุสัญญา สนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศอื่นใดซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับรัฐนั้น

ข้อ ๒๔[แก้ไข]

รัฐภาคีรับที่จะกำหนดมาตรการที่จำาเป็นทั้งปวงในระดับชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุถึงการตระหนักอย่างเต็มที่ถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับในอนุสัญญาฉบับนี้

ข้อ ๒๕[แก้ไข]

๑. อนุสัญญาฉบับนี้จะเปิดให้มีการลงนามโดยรัฐทั้งปวง

๒. เลขาธิการสหประชาชาติจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เก็บรักษาอนุสัญญาฉบับนี้

๓. อนุสัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับการให้สัตยาบัน สัตยาบันสารจะต้องมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

๔. อนุสัญญาฉบับนี้จะเปิดให้มีการภาคยานุวัติโดยรัฐทั้งปวง การภาคยานุวัติจะมีผลโดยการมอบภาคยานุวัติสารไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๒๖[แก้ไข]

๑. คำร้องขอเพื่อการแก้ไขอนุสัญญาฉบับนี้อาจกระทำขึ้นในเวลาใด ๆ โดยรัฐภาคีใด โดยวิธีทำหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงเลขาธิการสหประชาชาติ

๒. สมัชชาสหประชาชาติจะตัดสินเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ถ้ามี ที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องขอเช่นว่านั้น

ข้อ ๒๗[แก้ไข]

๑. อนุสัญญาฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ[1]

๒. สำหรับรัฐแต่ละรัฐซึ่งให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้ หลังจากการมอบสัตยาบันหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบ อนุสัญญานี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากวันมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของตน

ข้อ ๒๘[แก้ไข]

๑. เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องรับและเวียนตัวบทข้อสงวนที่กระทำโดยรัฐต่าง ๆ ในเวลาทำการสัตยาบันหรือภาคยานุวัติให้แก่รัฐทั้งปวง

๒. ข้อสงวนที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้จะไม่ได้รับการอนุมัติ

๓. ข้อสงวนอาจถูกถอนในเวลาใด ๆ โดยหนังสือบอกกล่าวเพื่อการนี้ส่งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ซึ่งหลังจากนั้นจะแจ้งไปยังรัฐทั้งปวงให้ทราบถึงข้อสงวนเหล่านั้น หนังสือบอกกล่าวเช่นว่าจะมีผลในวันที่หนังสือนั้นได้รับ

ข้อ ๒๙[แก้ไข]

๑. กรณีพิพาทใด ๆ ระหว่างรัฐภาคีสองรัฐหรือมากกว่าเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้อนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งระงับไม่ได้โดยการเจรจา จะต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งร้องขอ ถ้าภายในหกเดือนนับจากวันที่ร้องขอให้มีอนุญาโตตุลาการ ภาคียังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการ ภาคีเหล่านั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเสนอกรณีพิพาทไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยการร้องขอ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของศาล

๒. ในเวลาที่ลงนามให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้ รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจประกาศว่าตนไม่ถือว่าตนเองผูกมัดโดยวรรค ๑ ของข้อนี้ รัฐภาคีอื่น ๆ จะไม่ผูกมัดโดยวรรคนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐภาคีใดซึ่งได้ทำข้อสงวนเช่นว่า

๓. รัฐภาคีใดซึ่งได้ทำข้อสงวนตามวรรค ๒ ของข้อนี้อาจถอนข้อสงวนในเวลาใด ๆ โดยหนังสือบอกกล่าวไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๓๐[แก้ไข]

อนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งตัวบทภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปนใช้ได้เท่าเทียมกัน จะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องได้ลงนามอนุสัญญาฉบับนี้

เชิงอรรถวิกิซอร์ซ[แก้ไข]

  1. มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔