ด่วน! "ทักษิณ" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน!!!

จาก วิกิซอร์ซ
ด่วน! "ทักษิณ" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน!!!
ประชาไท / ข่าว
Submitted on Tue, 2006-09-19 23:52

เมื่อเวลาประมาณ 22.25 น. วันที่ 19 กันยายน 2549 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยโยกย้าย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ไปรายงานตัวกับ พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ เพื่อปฏิบัติราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และให้ พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้กำกับการตามสถานการณ์ฉุกเฉิน

เนื้อหาของประกาศโดยสรุป ดังนี้

ฉบับที่ 1

โดยที่ปรากฏว่า มีกลุ่มบุคคลที่จะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร มีการสั่งเคลื่อนย้ายกำลัง เพื่อโค่นล้มยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐและของบุคคล รวมทั้งกระทบอย่างร้ายแรงต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 11 วรรค 1 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 44 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 เวลา 21.15 น.
  • พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

ฉบับที่ 2

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 11 วรรค 2 (6) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ณ บัดนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน 2549
  • พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

ฉบับที่ 3

  • คำสั่งผู้กำกับการปฏิบัติงานตามสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบและมอบอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครแล้วนั้น

อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรค 4 และวรรค 6 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังนี้

1. บังคับบัญชาและสั่งการราชการและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

2. ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดหรือมอบหมาย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ประชาไท. (2549, 19 กันยายน). ด่วน! "ทักษิณ" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน!!!. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2006/09/9699

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"