แม่แบบ:พระมาลัยคำหลวง/(๑)

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ


_______________


ร้อยเอกสุจิต ศิกษมัต ได้มาแจ้งความจำนงต่อกรมศิลปากรว่า ในการปลงศพสนองคุณนางรอด จันทนะตระกูล ผู้เป็นยาย ณ เมรุวัดไตรมิตรวิทยาราม ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๘๑ นี้ มีความประสงค์จะตีพิมพ์หนังสือแจกเป็นที่ระลึกสักเรื่องหนึ่ง และโดยเหตุที่ร้อยเอกสุจิต ศิกษมิต เป็นนักศึกษาทางวรรณคดี จึงแสดงความประสงค์จะขออนุญาตตีพิมพ์เรื่อง “พระมาลัยคำหลวง” โดยเหตุผลสามประการ คือ เรื่อง “พระมาลัยคำหลวง” นี้เป็นวรรณคดีเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้เป็นประโยชน์แก่บรรดานักศึกษาวรรณคดีไทย ประการหนึ่ง เรื่องพระมาลัยเป็นเรื่องที่เนื่องในพระพุทธศาสนา นับว่าเหมาะแก่นิสัยของผู้ล่วงลับไป ประการหนึ่ง และเคยถือกันเป็นประเพณีนิยมใช้สวดหน้าศพ อีกประการหนึ่ง กรมศิลปากรประจักษ์ในเจตนาของร้อยเอกสุจิต ศิกษมิต ดังกล่าวนี้ จึงยินดีอนุญาตให้พิมพ์เรื่อง “พระมาลัยคำหลวง” ได้ตามความประสงค์

“พระมาลัยคำหลวง” ที่ตีพิมพ์นี้ เข้าใจว่าเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เพราะปรากฏในต้นฉบับสมุดไทยตัวเขียนซึ่งมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติหลายฉบับจดไว้ว่า “พระมาลัยคำหลวง” และฉบับหนึ่งกล่าวเป็นคำโคลงไว้ว่า

ผู้ใช้:Aristitleism/poem ผู้ใช้:Aristitleism/poem

และได้ความในบทสุดท้ายของ “พระมาลัยคำหลวง” นี้เองว่า

ผู้ใช้:Aristitleism/poem

ดังนี้ เป็นหลักฐานพอจะยุติได้ว่า คงจะเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เพราะยังมีหนังสือ “นันโทปนันทสูตรคำหลวง” เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเหมือนกัน ในนั้นอ้างศักราชไว้ว่า “พ.ศ. ๒๒๗๙”[1] เป็นอันทรงนิพนธ์ไว้ก่อน “พระมาลัยคำหลวง” ผิดกันเพียงปีเดียวเท่านั้น และคงจะนิพนธ์ในเวลาที่ทรงผนวชหรือภายหลังบ้างเล็กร้อย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้มักเรียกกันเป็นสามัญตามพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าบรมโกศ ได้เป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวร แต่ทิวงคตเสีย หาได้รับรัชทายาทไม่ ทรงเป็นกวีอย่างยอดเยี่ยมในครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง นิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ยังชอบร้องกันแพร่หลายต่อมาคือ “กาพย์เห่เรือ” นอกจากนี้ ยังมีหนังสือกาพย์กลอนที่ทรงนิพนธ์ไว้ คือ “กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง” และ “กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท” ซึ่งหอพระสมุดได้พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียว ให้ชื่อว่า “ประชุมกาพย์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้นแล้ว ในโอกาสที่ร้อยเอกสุจิต ศิกษมัต ได้จัดตีพิมพ์เรื่อง “พระมาลัยคำหลวง” ซึ่งเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรอีกเรื่องหนึ่งให้แพร่หลาย ก็เท่ากับรักษาวรรณคดีของไทยเราครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีอยู่น้อยฉบับและหาได้ยากไว้อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาย่อมจะยินดีอนุโมทนา

ว่าโดยเฉพาะเรื่องพระมาลัย ตามที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ “พระมาลัยกลอนสวด” พระมาลัยนั้นในตำนานกล่าวว่าเป็นพระอรหันตเถระองค์สุดท้าย ว่าเกิดที่โรหณชนบท[2] ในเกาะลังกา ในเรื่องว่ามีอิทธิฤทธิ์ไปโปรดสัตว์ถึงในนรก และเหาะเหินเดินอากาศขึ้นไปบนสวรรค์ ได้พบกับพระศรีอาริยเมตไตรยซึ่งจะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ดังมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ชื่อว่า “มาลัยสูตร” ซึ่งเป็นคัมภีร์อยู่นอกนิบาต ไม่ได้รวมอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก พิจารณาดูเค้าเรื่อง ค่อนไปข้างคติมหายาน เพราะทางมหายานมีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งชื่อ พระกษิติครรภ เสด็จไปโปรดสัตว์ในนรกเสมอ จนถึงในพิธีกงเต๊กก็จะขาดรูปพระกษิติครรภไปหาได้ไม่ และโดยเหตุที่พระกษิติครรภมีลักษณะคล้ายกับพระมาลัย ต่างกันแต่องค์หนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ อีกองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ในอานัมนิกายจึงขนานนามพระกษิติครรภ “พระมาลัย” นอกนี้ ที่ใน “มาลัยสูตร” กล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตรยก็มีเค้าไปข้างคติมหายาน ซึ่งนิยมอยู่ในเรื่องพระโพธิสัตว์ จนมหายานให้ชื่อว่า “โพธิสัตวยาน” ผิด...[3]

  1. ต้นฉบับเห็นไม่ชัด เลขสองตัวหลังอาจเป็น ๒, ๓, ๔, ๗, ๘ หรือ ๙ ก็ได้ แต่เลือกใช้ “๗๙” (“๒๒๗๙”) เพราะคำนำของกรมศิลปากรกล่าวต่อมาว่า พระมาลัยคำหลวง แต่งหลัง นันโทปนันทสูตรคำหลวง หนึ่งปี — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  2. ต้นฉบับว่า “โรหิชนบท” — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  3. ไม่มีหน้า (๔) ในต้นฉบับ — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].