โรงเรียนจิตรลดา

จาก วิกิซอร์ซ

พระบรมราโชวาทใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงเรียนจิตรลดา[แก้ไข]

" ...สอบไล่แล้ว ก็ออกไปเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา หรือจะไปเรียนที่ไหน หรือจะไม่เรียนก็ตาม ขอให้พิจารณาว่า ได้ผ่านโรงเรียนนี้เป็นเกียรติและเป็นประโยชน์ ขอให้สำนึกในคำนี้ว่าสำคัญแค่ไหน คืออย่าไปถือว่าเป็นเกียรติหรือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นคำที่กลาง ๆ เกียรติที่พูดถึงนี้มีความรับผิดชอบติดตัวอยู่ตลอด เพราะเกียรติเมื่อมีแล้วจะต้องรักษา รักษาด้วยการปฏิบัติตนให้ดีทุกทาง หมายถึงว่าถ้าไปเรียนชั้นอุดมศึกษาในสถาบันใด จะเป็นในประเทศ หรือนอกประเทศก็ตาม ตัวต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ได้ผ่านโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วก็เกียรตินี้จะต้องทำให้เกิดความรับผิดชอบ เพื่อนใหม่ที่จะได้พบในสถาบันที่จะศึกษาต่อไปนั้น เขาจะทราบว่ามาจากไหน ถ้าทำตนให้เป็นที่น่านับถือ มีความคิดที่ดี รอบคอบมีความเป็นผู้ดี หมายความว่ารู้จักคิด รู้จักพิจารณา ถ้าสักแต่จะปล่อยให้จิตใจของตนไปตามความคะนองของวัย หรือไปตามความสนุกสนาน โดยที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว นั่นแหละจะทำให้เกียรติของโรงเรียนจิตรลดาเสียไปและเกียรติของตัวก็หายไปเหมือนกัน....."

".......ที่ได้บอกว่า ได้มีโอกาสมาเรียนวิชาความรู้ในโรงเรียนนี้ ก็ขอให้เอาวิชาความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นก้าวหนึ่งต่อไปในการศึกษาที่จะสูงขึ้นไป ทีได้รับการอบรมให้เป็นผู้ที่มีมารยาทดี มีไหวพริบดี มีความฉลาดนั้น ก็เอาไปใช้ในทางการเรียน แต่ว่าต้องไปใช้ในทางการวางตัวด้วย มิใช่ว่าก้มหน้าก้มตาที่จะเรียนให้ได้แล้วก็ไม่นึกถึงการวางตัว ความจริงการวางตัวกับการเรียนนั้นคู่กัน ถ้าวางตัวให้ดีทำให้เรียนได้ดี ถ้าวางตัวไม่ดีเป็นอันธพาล ก็จะทำให้การเรียนนั้นมีอุปสรรคอย่างยิ่ง แม้ตอนต้นจะสามารถเรียนได้บ้าง แต่ทีหลังความเป็นอันธพาล ความเป็นผู้ไร้ความคิด จะนำไปสู่หายนะ จะทำให้ผู้อื่นสามารถชักนำเราในทางที่ผิดได้ จึงต้องใช้ทั้งความรู้ที่ได้จากโรงเรียนนี้ ทั้งที่ได้อบรมแล้วอย่าไปว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญทุกอย่าง การวางตัวเป็นพลเมืองดี คือเป็นเยาวชนที่ดีก่อนแล้วเป็นพลเมืองดีต่อไปนั่นแหละที่เป็นหน้าที่อันสำคัญ และโดยเฉพาะต่อไปเมื่อไปอยู่สำนักศึกษาชั้นอุดมศึกษาแล้ว ตัวจะมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น เพราะว่าถือกันทั่วโลกว่าผู้ที่เป็นนักศึกษา ผู้ที่เป็นนักค้นคว้า ผู้ที่เป็นนักเรียนนั้น เป็นผู้ที่เป็นปัญญาชน หมายความว่าผู้ที่ใช้สมอง คำว่านักศึกษาเป็นปัญญาชนนี้ ขอให้พิสูจน์ให้เป็นจริง ส่วนข้อเท็จจริงทุกอย่าง ขอให้จำเอาไว้ และปฏิบัติ จึงจะไปสู่ความเจริญ ความสำเร็จ ความพอใจได้ทุกประการ และจะเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตในทางที่ถูกที่ต้อง เป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เมื่อเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และสังคม ก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเองอย่างยิ่ง เพราะว่าสามารถที่จะหาความสุขใจที่แท้จริง คือความก้าวหน้า ความมั่นคงของประเทศ และความสุขของส่วนรวม... "

ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2512


งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก