กฎหมายลักษณอาญา/คำปรารภ

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๕๐ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มกฎสังวัจฉร จิตรมาศ สุกปักษ์ ปัณรสีดิถี พุฒวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ เมษายนมาศ ปัณรสมาศาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุฒมพงษบริพัตร์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ มหามกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร์โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิสมญาพินิตประชานารถ เปรมกระมลขัตติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร์ ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยามหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริห์ว่า พระราชกำหนดกฎหมายสำหรับพระราชอาณาจักร์สยามนี้ บรมกระษัตริย์แต่โบราณสมัยได้รับคัมภีร์พระธรรมสาตรของมนูสาราจารย์ซึ่งเปนกฎหมายในมัชฌิมประเทศมาเปนหลักของกฎหมายแล้ว

แลเมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้นอันจะตัดสินด้วยพระธรรมสาตรมิได้ โดยกฎหมายพระธรรมสาตรไม่กล่าวถึงก็ดี หรือโดยประเพณีแลความนิยมในสยามประเทศผิดกันกับมัชฌิมประเทศก็ดี บรมกระษัตริย์แต่ปางก่อนก็ทรงตั้งพระราชกำหนดบทพระอัยการขึ้นไว้เปนแบบแผนสำหรับพิพากษาเหตุแลคดีอย่างนั้น ๆ ที่จะมีขึ้นในภายหน้า พระราชกำหนดบทพระอัยการนี้ก็เปนกฎหมายสำหรับพระราชอาณาจักรเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมา แลพระราชกำหนดบทพระอัยการที่ได้ตั้งมาเปนครั้งเปนคราวนี้ เมื่อล่วงเวลาช้านานเข้า ก็มีมากมายซับซ้อนกัน เกิด เกิดลำบากแก่การที่จะพิพากษาอรรถคดี โดยการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมาพ้นเหตุล่วงสมัยที่จะต้องใช้พระราชกำหนดบทพระอัยการที่กระษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ได้ทรงบัญญัติไว้หลายชั่วอายุคนแล้วบ้าง หรือโดยเหตุที่พระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าขัดขวางกับที่บรมกระษัตริย์ภายหลังได้ทรงตั้งขึ้นบ้าง ในเวลาเมื่อถึงความลำบากมีขึ้นเช่นนี้ พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ประชุมลูกขุนณศาลา อันเปนเจ้ากระทรวงฝ่ายธุระการ พร้อมด้วยลูกขุนณศาลหลวง อันมีตำแหน่งในฝ่ายตุลาการ ตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมาย แลทรงพระราชวินิจฉัยให้ยกเลิกบทกฎหมายที่พ้นเวลาแลมิควรจะใช้ออกเสีย คงไว้แต่ที่ยังใช้ได้ จัดระเบียบเข้าเปนลักษณมีหมวดหมู่แลมาตราให้คนทั้งหลายรอบรู้บทกฎหมายง่ายขึ้นแลเปนความสดวกแก่การพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงทั่วไป เปนราชประเพณีมีสืบมาแต่โบราณทีเดียวดังนี้ แลการตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมายดังว่ามานี้ ครั้งหลังที่สุดได้มีเมื่อจุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก รัตนโกสินทร์ศก ๒๓ ในรัชกาลแห่งสมเด็จพระบรมไปยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้นับได้ ๑๐๓ ปี ยังหาได้ตรวจชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการให้เรียบร้อยไม่ ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่พระราชกำหนดบทพระอัยการอันพ้นความต้องการในสมัยนี้แลที่ขัดขวางกันเองจะมีอยู่เปนอันมาก ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ถึงเวลาสมควรที่จะต้องตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมายอยู่ด้วยเหตุนี้แล้วประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง ในระหว่างตั้งแต่จุลศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะ สัปตศก รัตนโกสินทร์ศก ๗๔ มา กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ แลหนังสือสัญญาทั้งปวงนั้นได้ทำตามแบบหนังสือสัญญาที่ฝรั่งได้ทำกับประเทศทางตวันออก คือ ประเทศเตอรกี ประเทศจีน แลประเทศยี่ปุ่น เปนต้น มีข้อความอย่างเดียวกันที่ยอมให้กงสุลมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาแลพิพากษาคดีตามกฎหมายของเขา ในเมื่อคนในบังคับของชาตินั้น ๆ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศทางตวันออกเปนความกันขึ้นเองหรือเปนจำเลยของคนในบังคับของบ้านเมือง ลักษณการอย่างนี้ แม้จะมีประโยชน์ที่บันเทาความรับผิดชอบแห่งเจ้าของประเทศได้อยู่บ้างในสมัยเมื่อแรกทำหนังสือสัญญาเวลายังมีชาวต่างประเทศพึ่งเข้ามาค้าขาย แต่ต่อมาเมื่อการค้าขายคบหากับนานาประเทศเจริญแพร่หลาย มีชาวต่างประเทศมาตั้งประกอบการค้าขายในพระราชอาณาจักรมากขึ้น ความลำบากในเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับต่างประเทศก็ยิ่งปรากฎเกิดมีทวีมากขึ้นทุกที เพราะเหตุที่คนทั้งหลายอันประกอบการสมาคมค้าขายอยู่ในประเทศบ้านเมืองอันเดียวกันต้องอยู่ในอำนาจศาลแลในอำนาจกฎหมายต่าง ๆ กันตามชาติของบุคคล กระทำให้เปนความลำบากขัดข้อง ทั้งในการปกครองบ้านเมือง แลกีดกันประโยชน์ของคนทั้งหลายตลอดจนชนชาติต่างประเทศนั้น ๆ เองอยู่เปนอันมาก ความลำบากด้วยเรื่องอำนาจศาลกงสุลเช่นว่ามานี้ย่อมมีทุกประเทศที่ได้ทำสัญญาโดยแบบอย่างอันเดียวกัน แลต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันที่จะหาอุบายเลิกล้างวิธีศาลกงสุลต่างประเทศ ให้คนทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ๆ บรรดาอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้รับประโยชน์อยู่ในอำนาจกฎหมายแลอำนาจศาลสำหรับบ้านเมืองแต่อย่างเดียวทั่วกัน ประเทศยี่ปุ่นได้เริ่มริคิดอ่านจัดการเรื่องนี้ก่อนประเทศอื่นโดยวิธีเลือกหาเนติบัณฑิตย์ต่างประเทศที่ชำนาญระเบียบบทกฎหมายฝรั่งมารับราชการเปนที่ปฤกษาทำการพร้อมด้วยข้าราชการยี่ปุ่น ช่วยกันตรวจชำระกฎหมายของประเทศยี่ปุ่นจัดเข้าระเบียบเรียงเรียงให้เปนแบบแผนวิธีทำนองเดียวกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศฝรั่งโดยมาก ทั้งจัดการศาลยุติธรรมให้เปนไปตามสมควรแก่ปัตยุบันสมัยทั่วไปในประเทศยี่ปุ่น เมื่อประเทศทั้งปวงแลเห็นว่า กฎหมายแลศาลของยี่ปุ่นเปนระเบียบแบบแผนเรียบร้อยดีแล้ว ก็ยอมแก้สัญญายกเลิกอำนาจศาลกงสุลให้คนในบังคับต่างประเทศอยู่ในอำนาจกฎหมายแลศาลยี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา มีประเทศยี่ปุ่นที่เลิกอำนาจศาลกงสุลต่างประเทศได้ด้วยอุบายที่จัดการดังกล่าวมานี้เปนปฐม แลเปนทางที่ประเทศอื่น ๆ อันได้รับความลำบากอยู่ด้วยวิธีศาลกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งในบ้านเมืองจะดำเนิรตามให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันได้ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงได้โปรดให้หาเนติบัณฑิตย์ผู้ชำนาญกฎหมายต่างประเทศเข้ามารับราชการหลายนาย มีมองซิเออร์โลแลง ยัคแมงส์ ผู้ได้เคยเปนเสนาบดีในประเทศเบลเคียม ที่ได้มารับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปนเจ้าพระยาอภัยราชานั้น เปนต้น แลเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีกรรมการผู้ชำนาญกฎหมายทั้งฝ่ายไทยแลต่างประเทศ คือ

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เปนประธาน ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ๑

พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) เมื่อเปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ๑

เจ้าพระยาอภัยราชา ที่ปฤกษาราชการ ๑

มองซิเออร์ริชาด์ ยัคส์ เกอกแปตริก เนติบัณฑิตย์เบลเคียม ที่ปฤกษากฎหมาย ๑

หมอโตกีจิ มาเซา เนติบัณฑิตย์ยี่ปุ่นเมื่อเปนผู้ช่วยของที่ปฤกษาราชการ ๑

พร้อมกันตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่แลปฤกษาลักษณการที่จะชำระแลจัดระเบียบกฎหมายเปนเดิมมา มองซิเออร์เกอกแปตริกถึงแก่กรรม มองซิเออร์คอร์เนย์ ชเลสเตอร์ เนติบัณฑิตย์เบลเคียม ได้รับตำแหน่งแทน แลได้รับหน้าที่พร้อมด้วยหมอโตกีจิ มาเซา ช่วยกันรวบรวมพระราชกำหนดบทพระอัยการอันควรคงจะใช้ต่อไปเรียบเรียงเปนร่างขึ้นไว้ แต่ยังหาได้ตรวจชำระไม่ ครั้นเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดให้หามองซิเออร์ยอชส์ ปาดู เนติบัณฑิตย์ฝรั่งเศส เข้ามารับราชการในตำแหน่งที่ปฤกษาในการร่างกฎหมาย จึงได้โปรดให้ตั้งกรรมการ มี

มองซิเออร์ยอชส์ ปาดู เปนประธาน ๑

มิสเตอร์วิลเลียม แอลเฟรด คุณะ ติลเก ผู้แทนเจ้ากรมอัยการ ๑

พระอัตถการประสิทธิ์ (ปลื้ม) ผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ ๑

หลวงสกลสัตยาทร (ทองบุ๋น) ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ๑

รับร่างกฎหมายที่กรรมการก่อนได้ทำไว้มาตรวจชำระแก้ไขอิกครั้งหนึ่ง เมื่อกรรมการนี้ได้ชำระร่างกฎหมายส่วนลักษณอาญาเสร็จ แลได้ส่งร่างนั้นไปปฤกษาเจ้ากระทรวงฝ่ายธุระการบรรดามีหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องต้องปฏิบัติเนื่องด้วยกฎหมายนี้ทุกกระทรวง แล้วจึงนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งกรรมการเสนาบดี มี

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เปนประธาน ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ๑

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ๑

แลให้มีกรรมการสำหรับตรวจเทียบเคียงถ้อยคำบทกฎหมายที่ร่างใหม่กับกฎหมายเก่า มี

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ กรรมการศาลฎีกา เปนประธาน ๑

พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) กรรมการศาลฎีกา ๑

พระบริรักษ์จัตุรงค์ (พุ่ม) กระทรวงต่างประเทศ ๑

ช่วยกันตรวจชำระร่างกฎหมายลักษณอาญาที่ร่างใหม่ พร้อมด้วยกรรมการซึ่งมองซิเออร์ยอชส์ ปาดู เปนประธานนั้น เปนชั้นที่สุดอิกชั้นหนึ่ง กรรมการทั้งหลายนี้ได้ลงมือตรวจชำระมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ ครั้นเมื่อมาประจวบเวลาเสด็จประพาศประเทศยุโรป พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ไปตามเสด็จ หมอโตกีจิ มาเซา กรรมการศาลฎีกา แลมิสเตอร์ยอนสติววาด แบล๊ก เนติบัณฑิตย์อังกฤษ กรรมการศาลฎีกา ได้รับหน้าที่ในกรรมการนี้แทนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตลอดมาจนถึงเดือนกันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ การตรวจชำระร่างกฎหมายลักษณอาญาสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อเสด็จกลับคืนพระนคร ทรงตรวจแก้ไขด้วยพระองค์เองอิกชั้นหนึ่ง แลได้ทรงปฤกษาในที่ประชุมเสนาบดีเห็นชอบโดยพระราชบริหารแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้เปนพระราชบัญญัติสืบไป ดังนี้