กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗/๒๔๕๗.๐๙.๑๓
สารบัญ[แก้ไข]
- พระราชปรารภ
- ๑ นามพระราชบัญญัติ
- ๒ ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ
- ๓ ลักษณะประกาศ
- ๔ ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก
- ๕ เมื่อเลิกต้องประกาศ
- ๖ อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
- ๗ อำนาจศาลทหาร แลอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
- ๘ เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ
- ๙ การตรวจค้น
- ๑๐ การเกณฑ์
- ๑๑ การห้าม
- ๑๒ การยึด
- ๑๓ การเข้าอาไศรย
- ๑๔ การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่
- ๑๕ การขับไล่
- ๑๖ ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้
- ๑๗ มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเปนพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิไชยสงคราม อันต้องการของความเรียบร้อยปราศจากไภย ซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายใน ได้โดยสดวกไม่ บัดนี้ สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกแลเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้นเสีย แลให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเปนพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้
นามพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗”
ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ
เมื่อเวลามีเหตุอันจำเปน เพื่อจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากไภยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในพระราชอาณาจักร์นั้นแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร์ หรือตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร์ แลถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องยกเลิกทั้งสิ้น
ลักษณะประกาศ
ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร์ ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตร์ใดใช้กฎอัยการศึก
ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก
เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเปนผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ฉะเพาะในเขตร์อำนาจน่าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด
เมื่อเลิกต้องประกาศ
การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเปนไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ
อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
ในเขตร์ที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าน่าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่ง ไม่ว่าในกระทรวงทบวงการอันใด กับในการระงับปราบปราม หรือรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าน่าที่ฝ่ายพลเรือนต้องช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหาร
อำนาจศาลทหาร แลอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
พลเมืองซึ่งได้กระทำความผิดในคดีอาญาในเขตร์แขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ว่าจะเปนคดีอาญาอย่างใด ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลทหารทั้งสิ้น แลให้เปนไปตามพระธรรมนูญศาลทหารทุกประการ
แต่ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ก่อนใช้กฎอัยการศึก แลศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึก
เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ
เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาไศรย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, แลที่จะขับไล่
เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ
เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาไศรย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, แลที่จะขับไล่
การตรวจค้น
การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้
(๑) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาไศรย ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
(๒) ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตร์แขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน
การเกณฑ์
การเกณฑ์นั้น ให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้
(๑) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร์ หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ
(๒) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, แลเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เปนกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง
การห้าม
การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้
(๑) ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมประชุมกัน
(๒) ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเปนข่าวคราว ซึ่งราชการทหารเห็นว่าไม่เปนการสมควรในสมัยนั้น คือ ห้ามมิให้มีการออกหนังสือเปนข่าวคราวไม่ว่าอย่างใด ก่อนที่เจ้าน่าที่จะได้ตรวจแลมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้
(๓) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวง ซึ่งเจ้าน่าที่เห็นว่าเปนการจำเปนในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง
(๔) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร ไม่ว่าจะเปนทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟแลทางรถรางที่มีรถเดินด้วย
(๕) ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้สาตราวุธบางอย่าง ซึ่งราชการทหารเห็นเปนการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตร์แขวงนั้น ๆ
การยึด
บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ แลมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารเห็นเปนการจำเปน จะยึดไว้ชั่วคราว เพื่อมิให้เปนประโยชน์แก่ราชสัตรู หรือเพื่อเปนประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้
การเข้าอาไศรย
อำนาจการเข้าพักอาไศรยนั้น คือ ที่อาไศรยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเปนจะใช้เปนประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาไศรยได้ทุกแห่ง
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ ดังนี้
(๑) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เปนรองราชสัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านแลสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเปนกำลังแก่ราชสัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบ ก็ทำลายได้ทั้งสิ้น
(๒) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศ หรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชสัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง
การขับไล่
ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาไศรยเปนหลักฐาน หรือเปนผู้มาอาไศรยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงไสยอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจำเปนแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้
ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้
ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ ถึงมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติแลดำเนิรการตามกฎอัยการศึกนี้ เปนการสำหรับป้องกันพระมหากระษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหาร ให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเปนอิศระภาพ แลสงบเรียบร้อยปราศจากราชสัตรูภายนอกแลภายใน
มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง
ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้น สำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสดวกแลเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนิรไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ แลเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดีหรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเปนส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เปนวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
เชิงอรรถ[แก้ไข]
- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/หน้า ๓๘๘/๑๓ กันยายน ๒๔๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะมีลักษณะตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา ๗ สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (๑) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (๒) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (๓) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (๔) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (๕) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (๑) ถึง (๔) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น"
