คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๘

จาก วิกิซอร์ซ

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้หรือไม่ ที่ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกประกาศฉบับที่ ๓ กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงถูกยกเลิกและไม่มีผลใช้บังคับกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำมาแล้วก่อนที่จะมีการยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้วก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า บรรดาบทบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่ ดังนั้นแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการตราขึ้นใช้บังคับโดยชอบแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติทั่วไป กล่าวคือ หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์และยังคงดำรงความเป็นกฎหมายอยู่ในตัวเอง สามารถนำไปใช้บังคับใช้แก่กรณีต่าง ๆ ได้โดยหาจำต้องอาศัยความดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงไม่มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ในคำคัดค้านว่า คตส. และคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่มีอำนาจตรวจสอบไต่สวน และกระบวนการตรวจสอบไต่สวนกระทำนอกขอบอำนาจของประกาศ คปค. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ให้อำนาจ คตส. ในการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ นอกจากนี้ ประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าวยังให้ คตส. มีอำนาจพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่น อันเป็นการเปิดกว้างให้ คตส. มีอำนาจตรวจสอบได้ทุกเรื่องที่เห็นควรตรวจสอบ ดังนั้น ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ จึงเป็นประกาศที่ให้อำนาจ คตส. ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยมิได้จำกัดให้การตรวจสอบเฉพาะคณะรัฐมตนตรีคณะใดคณะหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การตรวจสอบไต่สวนของ คตส. ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการภายในขอบอำนาจตามประกาศ คปค. ที่ให้อำนาจไว้แล้ว ส่วนกรณีที่ คตส. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญาเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า การกล่าวหากรณีนี้ คตส. ใช้อำนาจตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตามข้อ ๑๐ ซึ่งตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. ๐๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ระบุชัดเจนว่าให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่น ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองและครอบครัวหรือพวกพ้อง รวมทั้งทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวดที่ ๖ และหมวดที่ ๗ แม้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้จะเป็นคณะเดียวกันกับคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญา ก็ไม่ต้องห้ามตามประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าวหรือระเบียบอื่นใด และที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านอ้างว่า คตส. ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาที่กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกตินั้น ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ได้กำหนดกรอบเวลาในการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และข้อ ๒๒ วรรคสอง กำหนดว่า "เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง และการตรวจสอบหรือการสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี" แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ ๑๑ ของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคสอง แต่การตรวจสอบเรื่องการสอบสวนเรื่องใดที่ดำเนินการอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑"

และมาตรา ๕ ให้เพิ่มเติมความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ ๑๑ ของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการเรื่องใดตามวรรคสองไม่แล้วเสร็จ ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี และถือว่าการดำเนินการ สำนวนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว แล้วแต่กรณี"

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนการไต่สวนของ คตส. ว่า คตส. ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ หลังจากนั้น คตส. ได้ส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้นให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ กรณีจึงถือได้ว่า คตส. ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในกรอบเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายผู้คัดค้านอ้างว่า คตส. ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาสองปีเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง นั้น เห็นว่า กรณีการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติซึ่งต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินสองปีตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง ดังกล่าวนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติขึ้นสำหรับให้สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้ปฏิบัติในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง จะนำมาบังคับใช้แก่กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของ คตส. ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นไม่ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นเมื่อประกาศของ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ให้อำนาจ คตส. ในการตรวจสอบการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและ คตส. ได้ดำเนินการไต่สวนภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ การตรวจสอบในกรณีกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติจึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว ส่วนข้ออ้างที่ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนจำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการนำพยานเข้าไต่สวนโดยมิชอบนั้น เห็นว่า การกำหนดเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้น ระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.๒๕๔๙ ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ กำหนดให้คณะอนุกรรมการไต่สวนให้โอกาสแก้ผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาอันสมควร แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบข้อกล่าวหา และในกรณีที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าพยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวหาหรือเป็นการประวิงให้ชักช้า คณะอนุกรรมการไต่สวนจะไม่ทำการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการให้คณะอนุกรรมการไต่สวนใช้ดุลพินิจได้ตามสมควรแก่พฤติการในแต่ละกรณี ในข้อนี้ก็ได้ความว่า ในส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น คตส.ได้มีมติให้ดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วโดยมีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกกล่าวหารับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้แยกดำเนินการในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาออกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และยังทำคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินยื่นต่อ คตส. อีกด้วย โดยในส่วนของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปเป็นเวลา ๖๐ วัน รวม ๒ ครั้ง โดยในครั้งที่ ๒ ได้ขอใช้สิทธิตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสาร ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนก็ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ ๓๐ วัน ส่วนที่ขอตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารนั้นได้มีมติให้ผู้ขอตรวจสอบแจ้งว่าต้องการตรวจสอบหลักฐานเรื่องใดเพื่อจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งต่อไป ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้ขอตรวจสอบพยานหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แล้วมีมติให้ยกคำร้อง ต่อมาในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ผู้รับมอบอำนาจขอผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือขอให้เพิกถอนคำสั่งการขอใช้สิทธิตรวจเอกสาร คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๑ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีมติยืนยันตามมติเดิม และผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑ ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งแนบบัญชีรายชื่อพยานบุคคลและพยานเอกสารภายในเวลาที่กำหนดได้ แต่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ ขอระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ และขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสาร คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๑ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ แล้วเห็นว่าเป็นเอกสารที่คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอยู่แล้ว และเอกสารบางส่วนที่อ้างก็สามารถตรวจสอบได้จากคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดตรวจภาษีชินคอร์ป จึงให้ยกคำร้องขอดังกล่าวทั้งหมด ในส่วนการยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ และอ้างพยานบุคคลมาท้ายคำร้องด้วย โดยได้นัดพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ ๑๒, ๑๙ และ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนการพิจารณาคำร้องออกไปโดยอ้างว่าพยานเอกสารที่สำคัญและจำเป็นที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการและบุคคลภายนอกยังไม่ได้มา และขอให้หมายเรียกเอกสาร กับขอยกเลิกวันนัดในวันที่ ๑๙ ที่ได้นัดไว้แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินก็อนุญาตให้เลื่อนนัดและให้นัดเพิ่มเป็นวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ตามที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีวันว่าง ต่อมาในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่าขอถ่ายเอกสารจากหน่วยราชการแล้วแต่ยังไม่ได้รับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินอนุญาตให้เลื่อนนัดไปในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ แต่เมื่อถึงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดและกำหนดวันนัดใหม่อีก โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารเนื่องจากต้องดำเนินการมอบอำนาจใหม่โดยมีการเลื่อนนัดไปวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตามวันว่างของผู้ถูกกล่าวหา และให้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานเอกสารในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ครั้นถึงวันนัดตรวจพยานเอกสาร ผู้ถูกกล่าวหาขอให้เรียกพยานเอกสารจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินเห็นว่าเอกสารเป็นเอกสารที่ คตส. มีอยู่แล้ว จึงให้มาตรวจดูก่อนและกำชับให้ผู้ถูกกล่าวหาตั้งคำถามพยานล่วงหน้า ๓ วัน กับให้เตรียมพยานมาให้พร้อมในวันนัด แต่เมื่อถึงวันนัดในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ พยานที่เรียกมาให้ถ้อยคำไม่มา ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่าพยานจะมาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๑ ครั้นถึงวันนัดสามารถไต่สวนพยานได้เพียงปากเดียวแล้วเลื่อนนัดพิจารณาออกไป หลังจากนั้นมีการไต่สวนพยานตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหาต่ออีกหลายนัดจนถึงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาแถลงขอนำคำให้การของนางสาวอรัญญา คงเจริญสถาพร ที่เคยให้ถ้อยคำไว้ในสำนวนคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นพยานของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินก็อนุญาต แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงติดใจขออ้างพยานอีก ๘ ปาก และขอนัดเพิ่มรวม ๔ นัด แต่เนื่องจาก คตส. จะหมดวาระการทำงานในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ จึงส่งสำนวนพร้อมเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ เห็นว่า ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา การตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสาร และการขอตรวจพิสูจน์ทรัพย์สินในชั้นคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีการประชุมพิจารณาเป็นลำดับมาและมีมติที่กระทำไปโดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณา กับได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เมื่อเห็นได้ว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้วก็มีอำนาจที่จะงดการไต่สวนในส่วนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเสียได้ หากคณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการประวิงให้การไต่สวนชักช้าจะไม่ไต่สวนพยานหลักฐานนั้นเสียก็ย่อมได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบแต่อย่างไรด้วย ในส่วนของการขอพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินก็ได้ให้โอกาสนำพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเข้านำสืบพอสมควรแล้ว โดยเรียกพยานให้ และอนุญาตให้เลื่อนนัดไปหลายครั้งตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ หรืออนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหานำคำให้การพยานบางปากที่เคยให้การในอีกสำนวนหนึ่งมาเป็นพยานในสำนวนของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ร้องขอ ตลอดจนส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมเป็นระยะตลอดการพิจารณาคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งก็ได้รับอนุญาตตลอดมา ถือได้ว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ โดยชอบแล้ว ส่วนข้อคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาที่อ้างว่า การแต่งตั้งนายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ ที่เป็นปรปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวนเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในการตรวจสอบของ คตส. นอกจากอำนาจหน้าที่ที่มีตามประกาศ คปค. แล้ว ยังต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วย กรณีดังกล่าวบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นอนุกรรมการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๖ และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๑ ได้แก่ บุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหามาก่อน หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา การรู้เห็นเหตุการณ์จำกัดเฉพาะการเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่กล่าวหานั้น เช่น การมีส่วนร่วมในการดำเนินการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาด้านโทรคมนาคมต่าง ๆ ที่มีการกล่าวหาในคดีนี้ เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่นายกล้านรงค์ จันทิก เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเคยกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาในกรณีปกปิดการถือครองหุ้นนั้น กรณีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่นายกล้านรงค์ จันทิก ไปร่วมรับฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เป็นการเข้าร่วมในฐานะผู้รับฟังซึ่งเป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ส่วนการที่เคยให้ข่าวรับเป็นทนายความว่าความให้กลุ่มวุฒิสมาชิกจำนวน ๒๘ คน ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาสิ้นสุดลง กับการจะไปเข้าร่วมแสดงศาลจำลองโจมตีการบริหารงานของผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นการดำเนินการโดยใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพที่ทำได้ แต่ในที่สุดนายกล้านรงค์ จันทิก ก็หาได้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวหรือกิจกรรรมศาลจำลองแต่อย่างใด ส่วนการกระทำของนายบรรเจิด สิงคเนติ ตามข้อคัดค้านเป็นการแสดงออกในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่ง มิได้โกรธเคืองเป็นส่วนตัวต่อผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งการยื่นคำร้องต่าง ๆ ก็เป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายในการตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล สำหรับการกระทำของนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นการแสดงออกในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง การขึ้นเวทีปราศรัยและการเขียนหนังสือ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่มีเหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัวกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงกับเรื่องที่มีการกล่าวหา ซึ่งการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนนี้ คตส. ได้ใหเโอกาสผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๔ และ คตส. ได้พิจารณาคำคัดค้านให้แล้วโดยเห็นว่าอุนกรรมการไต่สวนที่ถูกคัดค้านไม่มีพฤติการณ์หรือเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และระเบียบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๑ อันเป็นปรปักษ์ต่อู้ถูกกล่าวหา และมีมติให้ยคำคัดค้านพร้อมทั้งได้แจ้งผลการิจารณาคำคัดค้านให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบล้ว ส่วนในการพิจารณาคำคัดค้านนั้น อนุกรรมการที่ถูกคัดค้านแต่ละรายก็มิได้อยู่ร่วมในการวินิจฉัยข้อคัดค้านเฉพาะส่วนของตนแต่อย่าใด ทั้งในระหว่างที่มีการคัดค้านจนกระทั่ง คตส. มีมติยกคำคัดค้านก็ไม่ปรากฏว่าอนุกรรมการทั้งสามได้มีการดำเนินการใดเกี่ยวกับการไต่สวนในเรื่องนี้ ดังนั้น การแต่งตั้งในกล้านรงค์ จันทิก นยบรรเจิด สิงคเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวนจึงชอบแล้ว ที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้าโต้แย้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยชอบ จึงไม่มีอำนาจเข้าดำเนินการแทน คตส. นั้น เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่นี้เป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๑๙ ซึ่งตามข้อ ๑ ของประกาศ คปค. ดังกล่าวกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมิได้มาจากการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗ จึงไม่ต้องดำเนินการให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการแต่ประการใด และถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อระยะเวลาตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง คตส. ไม่อาจใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ได้อีกต่อไป จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินคดีแทน คตส. และถือว่าสำนวนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบที่ คตส. ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยตามประกาศดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจดำเนินการแทน คตส. ได้ การดำเนินการของ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงชอบแล้ว ส่วนที่ว่า คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในการพิสูจน์ทรัพย์สินให้เสร็จเด็ดขาดก่อนยื่นคำร้อง เป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายนั้น ข้อนี้เห็นว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๘ กำหนดว่า บรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามข้อ ๕ ถ้าเจ้าของทรัพย์าสินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และในข้อ ๑๑ กำหนดว่า ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ดำเนินการตามประกาศให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี ตามประกาศ คปค. ทั้งสองข้อน้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อ คตส. ได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่ง คตส. ก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านแล้ว แต่เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ ที่แก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสาม ก่อนที่ คตส. จะพิจารณาเรื่องพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้นไปได้ทุกกรณี สำหรับกรณีที่วินิจฉัยได้ คตส. ก็มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดแล้ว ส่วนกรณีที่ไม่แล้วเสร็จก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านต้องพิสูจน์ต่อศาลและเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งต่อไป ดังนั้น การกระทำของ คตส.และกรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่า ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเนื่องจากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องที่ส่งมายังมีข้อไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้ถือว่ามติคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิมให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นในครั้งแรกว่า ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนการตรวจสอบไต่สวน แต่เมื่อ คตส. ยืนยันความเห็นให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดได้พิจารณาและดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนดคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ จึงต้องถือว่าข้อไม่สมบูรณ์ในครั้งแรกได้มี การแก้ไขและได้ยุติแล้ว ส่วนที่ว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่ต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา ก่อนตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหานั้น เห็นว่า มูลคดีนี้เป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยได้กระทำการต่าง ๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน ครอบครัวและพวกพ้อง เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ มิใช่เป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีมูลเหตุมาจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา แม้ผู้ร้องจะกล่าวมาในคำร้องว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญาด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความ คือ ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จริงหรือไม่ หากได้ความตามนี้แล้ว ศาลย่อมมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาหรือไม่แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๘ วรรคสอง ศาลฎีกาแผนดดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังผลคดีส่วนอาญาก่อน ทั้งคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาก็ระบุในคำคัดค้านเป็นข้อต่อสู้มาด้วยว่าเป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีของศาลที่ต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาแต่ประการใด ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องของให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ วรรคสอง ให้อำนาจ คตส. สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้ถูกตรวจสอบ คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ โดยตามคำร้องของ คตส. กล่าวหาว่าทรัพย์สินที่ทำการอายัดไว้เป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สมรส และร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเฉพาะทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น หาได้กล่าวอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านอื่นทั้งหลายไม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้