ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 1/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

สมเด็จพระนางเจ้า พระมาตุฉา มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ท.จ, ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำรุงเลี้ยงแต่ยังเยาว์ แลได้ทรงพระกรุณาอุปการะมาตลอดจนสิ้นชีพิตักไษยเมื่อณวันพฤหัศบดีที่ ๕ ธันวาคม แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จัตวาศก พ.ศ. ๒๔๕๕ มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณเลือกหาเรื่องหนังสือซึ่งควรจะพิมพ์ให้เปนการพระกุศลสาธารณประโยชน์ กรรมการเห็นพร้อมกันว่า ในสมัยนี้ มีผู้เอาใจใส่ในการศึกษาโบราณคดี มีพงษาวดารเปนต้น ตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความลำบากของผู้ศึกษามีอยู่ ด้วยจะหาหนังสือตรวจสอบได้ด้วยยาก ด้วยหนังสือพงษาวดารแลตำนานเก่าโดยมากยังมิได้พิมพ์บ้าง พิมพ์แล้วแต่จำหน่ายหมดไปเสียแล้วบ้าง บางทีที่พอจะหาได้ก็เปนฉบับที่วิปลาศคลาศเคลื่อนไม่สมควรจะใช้ในการตรวจสอบศึกษาไปเสียบ้าง ความต้องการหนังสือพงษาวดารแลตำนานเก่าที่เปนฉบับดีจึงมีอยู่แก่ผู้ศึกษาอยู่ทั่วไป

ที่จริง การศึกษาหาความรู้พงษาวดารแลตำนานการเก่า ย่อมถือว่า เปนส่วนสำคัญอย่าง ๑ ในการศึกษาทั่วทุกประเทศ ในสยามประเทศนี้ แม้แต่โบราณมา ท่านผู้เปนใหญ่ในแผ่นดิน ตั้งต้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมทรงเปนพระราชธุระทำนุบำรุงความรู้พงษาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ยกตัวอย่างเพียงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้เปนพระราชธุระทรงชำระพระราชพงษาวดารกรุงเก่า แลโบรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่เมื่อเสด็จดำรงพระเกียรติยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[1] ทรงรับน่าที่ชำระหนังสือพงษาวดารเหนือ อันเปนเรื่องพงษาวดารตอนก่อนสร้างกรุงศรีอยุทธยาอิกเรื่อง ๑ มาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดูเหมือนจะได้โปรดให้ผู้ใดรวบรวมเรื่องราวเมืองศุโขไทยครั้งเปนราชธานี ที่ว่าเปนหนังสือนางนพมาศแต่งเรื่อง ๑ แลได้ทรงอาราธนาให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียงเรียงพระราชพงษาวดารต่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงไว้ คือ ตั้งแต่ตอนตั้งกรุงธนบุรีมาจนถึงปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ. ๒๓๓๕ ในรัชกาลที่ ๑ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ มาถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทชำระ แลทรงตรวจแก้ไขเองอิกครั้ง ๑ คือ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ได้ทรงพิมพ์เปนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เอาพระไทยใส่เสาะแสวงหาหนังสือพงษาวดารรวบรวมไว้ในหอหลวงหลายเรื่อง ที่ได้พบฉบับแล้ว คือ เรื่องราวครั้งกรุงศุโขไทยเปนราชธานี ที่อ่านแลแปลจากศิลาจาฤก ซึ่งเสด็จไปพบแต่ครั้งยังทรงผนวชแลโปรดให้เอามาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ควรนับเปนเรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารกรุงเก่าแปลจากภาษารามัญ ที่เรียกกันว่าคำให้การขุนหลวงหาวัดเรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารเขมร มีรับสั่งให้แปลออกเปนภาษาไทย เมื่อปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ เรื่อง ๑ พงษาวดารพม่ารามัญโปรดให้แปลออกเปนภาษาไทยเมื่อปีมเสงนพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ พ.ศ. ๒๔๐๐ ยังตำนานต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก็หลายเรื่อง มาถึงในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรต่อเรื่องที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงไว้ ในรัชกาลที่ ๑ ลงมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ๑ ในส่วนพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เองก็มีหลายเรื่อง คือหนังสือพระราชวิจารณ์เปนต้น นอกจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ ยังโปรดให้พิมพ์หนังสือพงษาดารต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อน ให้ปรากฎแพร่หลายขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เปนอันมาก แลที่สุดเมื่อปีมแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๙ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโบราณคดีสโมสร แลเมื่อปีมเสงสัปตศก จุลศักราช๑๒๖๗ พ.ศ.๒๔๔๘ ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้น การศึกษาโบราณคดีจึงเปนหลักฐานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงนิยมการศึกษาโบราณคดีมาแต่แรก เมื่อเสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องสงครามในการรับราชสมบัติเมืองโปแลนด์ไว้ในภาษาอังกฤษเรื่อง ๑ ซึ่งชมกันในยุโรปมาก เมื่อเสด็จกลับเข้ามากรุงสยามแล้ว ก็ได้เปนพระราชธุระสอบสวนโบราณคดีทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง แต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเปนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอิกเรื่อง ๑ ได้ทรงรับเกียรติยศเปนสภา นายกกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ตั้งแต่แรกจัดตั้งเปนหอสมุดสำหรับพระนครตลอดมา จนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ทรงอุดหนุนการศึกษาโบราณคดีมาเปนนิจมิได้ขาด ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องบ่อเกิดรามเกียรดิ์ ตำนานเรื่องพระร่วง เรื่องท้าวแสนปมเปนต้น

หนังสือพงษาวดารแลตำนานในภาษาไทยที่พิมพ์แล้วก็มี ที่ยังไม่แพร่หลายยังมีหลายเรื่องบางเรื่องเปนเรื่องยาวซึ่งควรจะพิมพ์เฉภาะเรื่องบางเรื่องเปนเรื่องดี แต่เรื่องไม่สู้ยาวควรรวมหลายเรื่องพิมพ์เปนเล่มเดียวได้ ถ้าพิมพ์หนังสือพงษาวดารแลตำนานเหล่านี้ให้แพร่หลายได้หมด จะเปนคุณแก่การศึกษาไม่น้อยทีเดียวกรรมการได้นำความเห็นดังกล่าวมานี้ขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุฉาพระองค์ทรงดำริห์เห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้พิมพ์หนังสือพงษาวดารเปนของประทานแจกในงานศพ หม่อมเจ้าดนัยวรนุช

กรรมการหอพระสมุดเลือกหนังสือได้ ๖ เรื่อง พิมพ์รวมกันเปนเล่มสมุด ๑ คือ ๑ หนังสือพงษาวดารเหนือ ๒ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ๓ หนังสือเรื่องครั้งกรุงศุโขไทยตามศิลาจาฤก ๔ พงษาวดารเขมร ๕ พงษาวดารพม่ารามัญ ๖ พงษาวดาร ล้านช้าง หนังสือ ๖ เรื่องนี้ เรื่องใดเปนอย่างไร จะทราบได้ในคำอธิบายต่อไปนี้

หนังสือพงษาวดารเหนือ

หนังสือพงษาวดารเหนือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เปนผู้รวบรวมเรื่องมาเรียบเรียง เมื่อปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ พ.ศ. ๒๓๕๐ ต้นฉบับที่มีในหอพระสมุดมีบานแพนกดังนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า พระวิเชียรปรีชาน้อยเจ้ากรมราชบัณฑิตย์ขวาได้รับพระราชทานเรียงเรื่องสยามราชพงษาวดารเมืองเหนือ ตั้งแต่บาธรรมราช สร้างเมืองสัชชนาไลยเมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชาธิราช เปนลำดับลงมาจนถึงพระเจ้าอู่ทอง สร้างกรุงศรีอยุทธยาโบราณราชธานี โดยกำลังสติปัญญาสักกานุรูปอันน้อย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะ"

หนังสือที่รวมเรียกว่าพงษาวดารเหนือนี้ที่จริงเปนหนังสือหลายเรื่องมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เดิมดูเหมือนจะจดจำไว้เปนเรื่องต่าง ๆ กัน ได้เคยเห็นบางเรื่องมีอยู่ในที่อื่น จะพึ่งเอามารวบรวมแลแต่งหัวต่อเชื่อมให้เปนเรื่องเดียวกัน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชาเรียบเรียง วิธีเรียบเรียงอยู่ข้างจะไขว้เขวสับสน บางทีเรื่องเดียวกันเล่าซ้ำเปนสองหนก็มี หนังสือพงษาวดารเหนือนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้พิมพ์เปนครั้งแรก เมื่อปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ.๒๔๑๒ มีเรื่องตำนานพระแก้วมรกฎติดอยู่ข้างท้ายด้วย ในการพิมพ์ใหม่ครั้งนี้เพื่อจะให้สดวกแก่ผู้อ่าน ข้าพเจ้าได้ลงชื่อเรื่องไว้ทุก ๆ เรื่องในพงษาวดารเหนือ แลเรื่องที่เล่าซ้ำกันได้ตัดออกเสีย แต่ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า หนังสือพงษาวดารเหนือนี้พิมพ์ตามฉบับเดิม ข้าพเจ้าไม่ได้สอบสวนลงเนื้อเห็นความจริงเท็จของเรื่องราวไว้ในที่นี้

พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ

พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เปนหนังสือเรื่องพงษาวดารกรุงเก่า ซึ่งสมเด็จพระนารายน์มหาราช มีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ พ.ศ. ๒๒๒๓ ที่เรียกว่าพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เพราะพระปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) แต่ยังเปนที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ ไปได้ต้นฉบับมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ เปนหนังสือพระราชพงษาวดารความแปลกเปนฉบับ ๑ ต่างหาก จำจะต้องเรียกชื่อให้แปลกกว่าฉบับอื่น กรรมการจึงให้เรียกว่า ฉบับหลวงประเสริฐ ให้เปนเกียรติยศแก่ผู้ไปหามาได้ หนังสือเรื่องนี้ได้พิมพ์เมื่อปีมแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๙ พ.ศ. ๒๔๕๐ ครั้งหนึ่ง ฉบับครั้งนั้นยังบกพร่อง ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ต้นฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาอิกฉบับ ๑ สอบสวนได้ความที่ฉบับเดิมลบเลือนครบบริบูรณ์ ดังพิมพ์ไว้ในเล่มนี้

หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐนี้ ทั้งเนื้อเรื่องแลศักราชผิดกับพระราชพงษาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม แลฉบับพระราชหัดถเลขาอยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้าได้สอบสวนกับหนังสือพงษาวดารประเทศอื่น เห็นเนื้อความแลศักราชที่ลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐแม่นยำมาก ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชที่ลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐเปนถูกต้องตามจริง

เรื่องครั้งกรุงศุโขไทย

เรื่องนี้เดิมจาฤกไว้ในหลักศิลา ๓ หลัก เมื่อครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีของสยามประเทศ ศิลาจาฤกที่๑ เปนคำจาฤกของพระเจ้าขุนรามคำแหง เล่าถึงพระราชวงษ์พระร่วงแลเรื่องราวกรุงศุโขไทย ครั้งพระเจ้าขุนรามคำแหงครองราชสมบัติ เปนจาฤกดีที่สุดในทางพงษาวดารของไทย ศิลาจาฤกหลักนี้ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจาฤกด้วยตัวอักษรไทย ที่พระเจ้าขุนรามคำแหงทรงคิดแบบขึ้น เมื่อปีมแมเบญจศก จุลศักราช ๖๔๕ พ.ศ. ๑๘๒๖ ตัวอักษรนี้ไม่มีผู้ใดอ่านออกอยู่หลายร้อยปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช เสด็จธุดงค์ไปถึงเมืองศุโขไทยได้มาพร้อมกับพระแท่นมนังศิลา แลศิลาจาฤกภาษาเขมรอิกหลัก ๑ เพียรทรงพิจารณาอักษรไทยนี้จนทรงทราบวิธีอ่านหนังสือของพระเจ้าขุนรามคำแหง จึงทราบเรื่องในศิลาจาฤกนี้

ศิลาจาฤกที่ ๒ เปนคำจาฤกของพระบาทกมรเดงอัด ศรีสุริยพงษรามมหาธรรมราชา คือ พระเจ้าลิไทย ไนยหนึ่งเรียกว่า พระมหาธรรมราชา ซึ่งครองนครศุโขไทยในรัชกาลที่ ๕ เปนราชนัดดาของพระเจ้าขุนรามคำแหง แสดงราชประวัติของพระองค์เอง มีเรื่องราวซึ่งเปนข้อสำคัญในความรู้พงษาวดารเหมือนกัน จาฤกที่ ๒ นี้ของเดิมสร้างเปน ๒ หลัก จาฤกด้วยอักษรขอมเปนภาษาเขมรหลัก ๑ จาฤกด้วยอักษรไทยในภาษาไทยหลัก ๑ ความต้องกัน หลักอักษรไทยเห็นจะมีผู้เอามาเสียจากเมืองศุโขไทยช้านานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพบ แลได้มาแต่หลักภาษาเขมร โปรดให้สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เปนหัวน่ากรรมการแปลเปนภาษาไทยได้ความตามที่ได้พิมพ์ไว้นี้ ส่วนหลักภาษาไทยนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชคุปต์) ไปพบอยู่ที่วัดใหม่ริมพระนครหลวงในแขวงกรุงเก่า จะมาอยู่ที่นั่นช้านานเท่าใดไม่ทราบ มีผู้ลับมีดเสียจนตัวอักษรลบเลือนไปมาก ส่งหลักจาฤกนี้มาไว้กับหลักคู่กันที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อ่านสอบตัวหนังสือเท่าที่มีอยู่ พอได้ความว่าเปนเนื้อความเดียวกับหลักภาษาเขมรนั้นเอง ตัวหลักศิลาทั้ง ๒ ก็มีรูปร่างอย่างเดียวแลเท่ากัน จึงรู้ได้เปนแน่ว่า เมื่อแรกสร้างหลักศิลาจาฤกคงจะสร้างขึ้น ๒ หลักพร้อมกัน ด้วยในเวลานั้นไพร่พลเมืองศุโขไทยจะยังมีมากทั้งไทยแลขอม ศิลาจาฤกหลักที่ ๒ นี้ น่าเสียดายอยู่น่อย ที่มิได้มีผู้ใดคัดภาษาเขมรไว้แต่เมื่อยังมีบริบูรณ์ กรรม การหอพระสมุดพึ่งให้ไปคัดเมื่อสัก ๔ ปีมานี้ เห็นจะเปนด้วยหลักศิลาที่ตั้งไว้ในศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่มีที่กำบังแดดแลฝนมาแต่ก่อน อักษรลบเลือนไปเสียมาก จะเอาภาษาเขมรมาสอบกับภาษาไทยในเวลานี้อิกไม่ได้ จึงจำต้องถือเอาความตามที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงแปลไว้ว่าเปนถูกต้อง

หลักที่ ๓ เปนคำจาฤกของพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชาเหมือนกันเล่าเรื่องรับพระบรมธาตุแลพระมหาโพธิจากลังกา มาประดิษฐานไว้ที่เมืองนครปุ ที่อยู่หลังเมืองกำแพงเพ็ชรเดี๋ยวนี้ ศิลาจาฤกนี้แต่เดิมเห็นจะอยู่ที่เมืองนครปุ ได้ลงมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เดี๋ยวนี้รับเอามาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ

พงษาวดารเขมร

หนังสือพงษาวดารเขมรฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ขุนสุนทรโวหาร ในกรมพระอาลักษณ์ แลพระยาธรรมาธิบดี พระเสนาพิจิตร หมื่นมหาสมุท ๓ นายเปนล่ามเขมร แปลออกเปนภาษาไทย เมื่อปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ แลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พิมพ์เปนครั้งแรก เมื่อปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ ต้นฉบับเดิมคงจะได้มาจากกรุงกัมพูชา จะได้มาในรัชกาลที่๔ หรือก่อนนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบมีหนังสือพงษาวดารเขมรอิกฉบับ ๑ เรียกว่าพงษาวดารเมืองลแวก ความซ้ำกัน แลเนื้อเรื่องมีน้อย ต้นฉบับภาษาไทยที่หอพระสมุดได้มาเขียนแต่ในรัชกาลที่ ๑ เชื่อว่าในรัชกาลที่ ๑ ยังไม่ได้พงษาวดารเขมรฉบับที่พิมพ์นี้ ข้าพเจ้าได้สืบสวนถึงกรุงกัมพูชาหมายว่าจะหาพงษาวดารเขมรมาสอบ ได้ความว่าพงษาวดารเขมรที่มีอยู่ในกรุงกัมพูชาก็เท่าที่พิมพ์นี้เอง

พงษาวดารพม่ารามัญ

หนังสือพงษาวดารพม่ารามัญที่พิมพ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ขุนสุนทรโวหาร กรมพระอาลักษณ์ กับขุนอักษรรามัญ นายขำเปรียญ นายสุดเปรียญ นายจุ รวม ๔ นายเปนล่ามแปลออกเปนภาษาไทย เมื่อปีมเสงนพศกจุลศักราช๑๒๑๙ พ.ศ.๒๔๐๐ ต้นฉบับเดิมที่ได้มาเห็นจะเปนภาษารามัญ แลผู้แต่งเปนรามัญ เพราะพงษาวดารพม่าที่พม่าแต่งของเขามีอิกเรื่อง ๑ เรียกว่าเรื่องมหาราชวงษ์ซึ่งหอพระสมุดกำลังแปลอยู่ เปนหนังสือยืดยาวหลายเล่มสมุดไทย

พงษาวดารล้านช้าง

หนังสือพงษาวดารล้านช้างมี ๒ ฉบับ พะบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เรียบเรียงไว้ฉบับ ๑ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ไปได้ต้นฉบับตามภาษาเดิม ส่งมาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณอิกฉบับ ๑ สอบกันดูเห็นฉบับของพระยาประชากิจกรจักรแม่นยำ แลมีเรื่องราวชัดเจนดี จึงเอาฉบับของพระยาประชากิจกรจักรมาพิมพ์ในเล่มนี้ วิธีภาษาที่แต่งเปนภาษาไทยล้านช้างผิดกับภาษาไทยที่พูดกันข้างใต้ ผู้อ่านแต่แรกคงจะฉงนอยู่บ้าง แต่เมื่อพิเคราะห์ดูหรืออ่านไปให้ชินสักหน่อย ก็จะเข้าใจได้สดวกไม่ยากอันใด

หนังสือเล่มนี้ที่ให้ชื่อว่า "ประชุมพงษาวดารภาค ๑" เพราะเปนหนังสือพงษาวดารต่าง ๆ รวมกันเปนเล่มเดียว ซึ่งพิมพ์ขึ้นเปนคราวแรก ตำนานแลพงษาวดารต่าง ๆ ยังจะรวบรวมพิมพ์ต่อไปได้อิก เมื่อรวบรวมพิมพ์ขึ้นทีหลังจะได้เรียกเปนภาคที่ ๒ ที่ ๓ ให้เปนลำดับต่อกันไป ส่วนภาคที่ ๑ ที่รวมแต่เพียง ๖ เรื่องเท่าที่พิมพ์นี้ ขนาดเล่มก็พอควรอยู่แล้ว

ข้าพเจ้าเชื่อว่า บรรดาผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยเฉภาะผู้ที่เอาใจใส่ศึกษาพงษาวดารแลโบราณคดี จะขอบพระเดชพระคุณแลอนุโมทนาในการซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ามาตุฉา ได้โปรดให้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ประทานความรู้เปนสาธารณประโยชน์ อันควรนับว่าเปนพระกุศล อันจะมีผลถาวรวัฒนาการสืบไปตลอดกาลนาน.

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

  1. ในคำอธิบายหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น ผิดไป