คำสั่งศาลฎีกาที่ 1706/2562

จาก วิกิซอร์ซ
◯ (๓๑ ทวิ)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำสั่ง

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ ๑๗๐๖/๒๕๖๒
ศาลฎีกา
วันที่ ๑๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
 
ความ คดีเลือกตั้ง
ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง
นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน
เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ (ขอให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต)

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ต่อมา ผู้ร้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านแล้วพบว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ขอให้ถอนชื่อผู้คัดค้านออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ประกอบกิจการการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยที่ระบุในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๔๓ ว่า ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล เป็นเพียงแบบวัตถุประสงค์สำเร็จรูปแนบคำขอจดทะเบียนเท่านั้น อีกทั้งห้างดังกล่าวได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ แล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่เสนอต่อศาลแล้ว เห็นว่า คดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐาน จึงให้งดการไต่สวน

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ โดยที่ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ บัญญัติว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ..." และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒ บัญญัติเช่นเดียวกันว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ..." ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มิได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒ (๓) ที่ผู้ร้องอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น แม้ต่อมาวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส แล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจากผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงต้องถือว่า ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติดังกล่าว และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คำร้องของผู้ร้องฟังขึ้น

จึงมีคำสั่งให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน ออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่.


นายสุภัทร์ สุทธิมนัส

นายชัยรัตน์ ศิลาลาย

นายเรวัตร สกุลคล้อย

◯ (๓๑ ทวิ)
สำหรับศาลใช้
ตราครุฑ
ตราครุฑ
รายงานกระบวนพิจารณา
คดีหมายเลขดำที่ ลต (สส) ๓๗๔/๒๕๖๒
 

ศาลฎีกา
วันที่ ๑๙ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ความ คดีเลือกตั้ง

ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง
นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน


ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา นาฬิกา

นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาวันนี้

ศาลฎีกามีคำสั่งแล้ว ให้ศาลที่รับคำร้องอ่านคำสั่งให้คู่ความทราบ

ให้ศาลที่รับคำร้องปิดประกาศคำสั่งไว้ที่หน้าศาล ลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน และแจ้งคำสั่งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดสกลนคร

ให้ส่งคำสั่งพร้อมรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนี้ไปที่ศาลที่รับคำร้องทันที.


นายสุภัทร์ สุทธิมนัส บันทึก
นายเรวัตร สกุลคล้อย
นายชัยรัตน์ ศิลาลาย

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ศาลฎีกา. (2562). คำสั่งศาลฎีกาที่ 1706/2562 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2562 ในความ คดีเลือกตั้ง ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ (ขอให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต). สืบค้นจาก http://www.supremecourt.or.th/file/election_18032019/1706-62.pdf.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"