งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/การค้าเสรี/การค้าเสรี
สุภาพบุรุษทั้งหลาย: การยกเลิกกฎหมายข้าวในอังกฤษนั้นเป็นชัยชนะแสนยิ่งใหญ่ของการค้าเสรีแห่งศตวรรษที่สิบเก้า ในทุก ๆ ประเทศ เวลาที่เจ้าของโรงงานพูดถึงการค้าเสรี ก็จะนึกถึงการค้าเสรีของธัญพืชหรือวัตถุดิบเป็นหลัก การตั้งกำแพงภาษีธัญพืชต่างชาติมันน่ารังเกียจ ไม่ต่างจากเก็งกำไรบนความหิวโหยของประชาชน
อาหารถูก ๆ ค่าจ้างสูง ๆ พวกคนอังกฤษที่หนุนการค้าเสรีสละเงินไปหลายล้านก็เพื่อเจตจำนงนี้เท่านั้น แล้วบัดนี้ เพื่อนพ้องน้องพี่บนแผ่นดินใหญ่ก็ไปติดเชื้อไฟบันดาลจิตกันมา แทบทั้งสิ้นว่า ใครก็ตามหากอยากได้การค้าเสรี ก็เพราะเขาเห็นแก่ประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน
แต่แปลกดีว่า ผู้คนที่แก่งแย่งหาอาหารถูก ๆ กลับไม่สำนึกบุญคุณกันเสียเลย อังกฤษคิดลบต่ออาหารราคาประหยัดเหมือนฝรั่งเศสต่อรัฐบาลที่ประหยัด คนเหล่านี้เห็นสุภาพบุรุษผู้อุทิศตนอย่างเบาว์ริง ไบรต์ และสหาย[a]เป็นศัตรูตัวฉกาจ มือถือสากปากถือศีล หน้าด้านไร้ยางอาย
ทุกท่านทราบว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายลิเบอรัลกับฝ่ายเดโมแครตในอังกฤษนั้นเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกสนับสนุนการค้าเสรีกับพวกสนับสนุนกฎบัตร[b] เรามาดูกันว่าผู้สนับสนุนการค้าเสรีชาวอังกฤษจะพิสูจน์เจตนาอันดีที่ดลใจเขาต่อผู้คนอย่างไร
เขากล่าวต่อคนงานโรงงานว่า:
“เก็บภาษีนำเข้าธัญพืชเท่ากับเก็บภาษีค่าจ้าง คุณจ่ายภาษีนี้ให้พวกเจ้าที่ดิน พวกขุนนางยุคกลาง ถ้าคุณมีฐานะยากจน นั่นก็เพราะของยังชีพที่จำเป็นที่สุดมีราคาแพงเท่านั้น”
คนงานถามกลับไปหาเจ้าของโรงงานว่า:
“เป็นไปได้เหรอว่าสามสิบปีที่ผ่านมา การค้าและการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ทำไมค่าจ้างถึงลดลงเร็วยิ่งกว่าราคาของธัญพืชที่สูงขึ้นอีก?”
“ภาษีที่คุณว่าเราจ่ายให้เจ้าที่ดินก็ราวสามเพนซ์ต่อสัปดาห์ต่อคนงานแต่ละคนเท่านั้น แต่ค่าจ้างช่างทอมือกลับลดลงจาก 28 ชิลลิงต่อสัปดาห์ในปี 1815 เหลือ 5 ชิลลิงในปี 1843 แม้แต่ค่าจ้างช่างทอเครื่องก็ลดลงจาก 20 ชิลลิงต่อสัปดาห์ในปี 1823 เหลือ 8 ชิลลิงในปี 1843 ในช่วงเวลาทั้งหมดภาษีที่คุณว่าเราจ่ายให้เจ้าที่ดินก็ไม่เคยเกินสามเพนซ์เลย พอมาในปี 1834 ตอนที่ขนมปังราคาถูกและธุรกิจกำลังรุ่งเรือง คุณบอกเราว่าอะไร? คุณบอกเราว่า ‘ ถ้าคุณจน ก็แค่เพราะคุณมีลูกเยอะเกินไป ชีวิตสมรสงอกงามยิ่งกว่างานเสียอีก!’”
“คุณเป็นคนพูดคำเหล่านี้ออกมาให้เราฟัง แล้วคุณยังไปประดิษฐ์กฎหมายความจนฉบับใหม่ออกมา ไปสร้างโรงทำงาน คุกบัสตีย์ของชนกรรมาชีพ”
เจ้าของโรงงานตอบกลับว่า:
“ถูกต้อง ท่านกรรมกรผู้ทรงเกียรติ แต่นอกจากราคาธัญพืชแล้ว การแข่งขันระหว่างมือที่หยิบยื่นให้ผมก็เป็นตัวกำหนดค่าจ้างด้วย ไม่นับว่าพื้นดินเรามีแต่หินกับดอนทราย คุณคงไม่ได้คิดจะปลูกข้าวในกระถางนะ! แทนที่เราจะมัวเสียแรงเสียทุนไปกับผืนดินกันดาร ถ้าเลิกทำเกษตรเสียแล้วทุ่มเทกับการค้าการผลิตล่ะก็ ยุโรปทั้งทวีปก็จะทิ้งโรงงาน อังกฤษจะกลายเป็นมหานครอุตสาหกรรม และยุโรปที่เหลือจะกลายเป็นเขตเกษตรกรรมของเรา”
ระหว่างที่คุยโวกับคนงาน พ่อค้ารายย่อยก็ถามแทรกเข้ามาว่า:
“ถ้าเราเลิกกฎหมายข้าวไป เกษตรกรรมพังพินาศแน่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ต่างชาติทิ้งโรงงานตัวเองแล้วหันมาซื้อของเราเสียหน่อย แล้วอะไรจะตามมา? เราจะเสียลูกค้าในประเทศไป ตลาดในประเทศก็จะพัง”
นายโรงงานหันหลังให้คนงานแล้วตอบกลับนายห้างว่า:
“เรื่องนั้นให้เราจัดการเอง! พอเราเลิกภาษีนำเข้าข้าวแล้ว เราก็จะนำเข้าข้าวต่างประเทศราคาถูก จากนั้นเราจะลดค่าจ้าง พร้อมกับที่ค่าจ้างในประเทศที่เราซื้อข้าวเขามากำลังขึ้น ดังนั้นนอกจากประโยชน์ที่เราได้รับอยู่แล้ว เรายังจะได้ค่าจ้างที่ถูกลง และด้วยความได้เปรียบเหล่านี้ ก็จะบังคับให้แผ่นดินใหญ่ต้องซื้อของจากเราได้อย่างง่ายดาย”
ทันใดนั้นเกษตรกรและคนงานสวนก็ร่วมวงสนทนา:
“แล้วเราล่ะ เราจะกลายเป็นอะไร? จะให้เราช่วยผ่านโทษประหารเกษตรกรรม แล้วเราจะเอาอะไรกิน? จะให้เราปล่อยให้ผืนดินถูกพรากไปจากเราเหรอ?”
แทนที่จะให้คำตอบ สันนิบาตต่อต้านกฎหมายข้าวพอใจกับการจัดประกวดความเรียงชิงรางวัลสามรางวัล หัวข้อเกี่ยวกับอิทธิพลของการเลิกกฎหมายข้าวที่จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรมอังกฤษ
ผู้ชนะได้รับรางวัลประกอบด้วยนายโฮป นายมอร์ส และนายเกร็ก ส่วนความเรียงของทั้งสามคนได้ถูกนำไปหว่านทั่วเขตเกษตรกรรม ผู้ชนะคนแรกตั้งเป้าไว้ว่าจะพิสูจน์ว่าการเลิกกฎหมายข้าวจะไม่ส่งผลเสียกับคนเช่าที่ทำสวนและลูกจ้างทำสวน จะมีแต่เจ้าที่ดินเท่านั้นที่จะได้รับผลเสีย
“เกษตรกรผู้เช่าชาวอังกฤษ” เขากล่าว “ไม่จำเป็นต้องกลัวการเลิกกฎหมายเลย เพราะไม่มีประเทศไหนปลูกข้าวได้ถูกเท่าอังกฤษแล้ว ถึงแม้ราคาข้าวจะตก ท่านก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะจะส่งผลต่อค่าเช่าเท่านั้น ซึ่งจะลดลง ขณะที่กำไรของทุนและค่าจ้างแรงงานจะคงที่”
ผู้ชนะคนที่สอง นายมอร์ส ยืนยันตรงกันข้าม ว่าราคาของข้าวจะสูงขึ้นหลังจากเลิกกฎหมาย เขาตรากตรำพิสูจน์ว่าการคุ้มครองทางภาษีไม่เคยทำให้ราคาของข้าวอยู่ในจุดที่คุ้มค่า
เขาสนับสนุนข้ออ้างโดยหยิบข้อเท็จจริงว่า เวลาใดที่ข้าวต่างประเทศถูกนำเข้ามา ราคาข้าวในอังกฤษจะสูงขึ้นค่อนข้างมาก และเมื่อไม่มีการนำเข้าข้าวเลย ราคาก็จะตกลงไปมาก ผู้ชนะรางวัลท่านนี้ลืมไปว่าราคามันไม่ได้สูงเพราะการนำเข้า แต่เพราะราคามันสูงคนถึงได้นำเข้า ตรงข้ามกับเพื่อนผู้ชนะรางวัลโดยสิ้นเชิง เขาอ้างว่าราคาข้าวที่สูงขึ้นจะเป็นกำไรแก่ทั้งเกษตรกรเช่าสวนและคนงานสวน แต่จะไม่เป็นผลดีต่อเจ้าที่ดิน
ผู้ชนะคนที่สาม นายเกร็ก เขาเป็นเจ้าของโรงงานรายใหญ่ และเขียนถึงเกษตรกรผู้เช่ารายใหญ่ เขาไม่มีหน้าเขียนอะไรไร้สาระแบบนั้น แต่เขียนเป็นประสาวิทยาศาสตร์กว่า เขายอมรับว่ากฎหมายข้าวสามารถทำให้ค่าเช่าแพงขึ้นได้ด้วยการขึ้นราคาข้าวเท่านั้น และจะขึ้นราคาข้าวได้ผ่านการดึงดูดการลงทุนในที่ดินด้อยคุณภาพเท่านั้น โดยอธิบายได้อย่างเรียบง่ายว่า
เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ถ้านำเข้าข่าวต่างประเทศไม่ได้ ก็บังคับให้ต้องเพาะปลูกบนพื้นที่ซึ่งขาดความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มต้นทุน ผลิตผลก็แพงขึ้นตาม ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาเป็นที่ต้องการทั้งหมดและจะขายออกจนหมด ราคาของทั้งหมดก็จะต้องถูกกำหนดตามราคาของผลผลิตจากดินที่ด้อยกว่า ส่วนต่างระหว่างราคานี้กับตุ้นทุนการผลิตจากดินที่คุณภาพสูงกว่าคือค่าเช่าที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการได้ใช้ที่ดินที่ดีกว่า ดังนั้น หากเลิกกฎหมายข้าวแล้วราคาข้าวตกลง และหากค่าเช่าตกลงตามมาด้วย ก็เพราะว่าจะไม่มีการเพาะปลูกบนดินที่ด้อยกว่าแล้ว ค่าเช่าที่ลดลงจึงจะทำลายเกษตรกรผู้เช่าบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เข้าใจคำพูดของนายเกร็ก
“เกษตรกรรายย่อย” เขากล่าว “ที่ไม่สามารถประคองตัวด้วยการทำเกษตรก็จะต้องหาที่พึ่งในภาคอุตสาหกรรม ส่วนเกษตรกรผู้เช่ารายใหญ่นั้น ไม่มีทางพลาดทำกำไรจากแผนการนี้: ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ถูกบังคับให้ต้องขายที่ให้ในราคาถูก ก็ต้องทำสัญญาเช่าระยะยาวมาก เกษตรกรผู้เช่าก็จะสามารถเพิ่มการลงทุนในไร่นา การใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และการประหยัดแรงงาน ซึ่งก็ยิ่งถูกลงเพราะค่าจ้างจะลดลงโดยทั่วไป อันเป็นผลโดยตรงจากการเลิกกฎหมายข้าว”
ดร. เบาว์ริง มอบความศักดิ์สิทธิทางศาสนาให้เหตุผลเหล่านี้ด้วยการป่าวประกาศในการประชุมสาธารณะว่า “พระเยซูคริสต์คือการค้าเสรี และการค้าเสรีคือพระเยซูคริสต์”
เห็นได้ชัดว่าคำพูดที่ขัดแย้งกันทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดมาเพื่อเปลี่ยนใจให้กรรมกรอยากกินขนมปังราคาถูก มิหนำซ้ำ กรรมกรจะเข้าใจอาการใจบุญฉับพลันของเจ้าของโรงงานได้อย่างไร? ในเมื่อเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ต่อต้านกฎหมายสิบชั่วโมงอย่างสุดขีด กฎหมายที่จะลดวันทำงานของคนงานจากสิบสองชั่วโมงเหลือสิบชั่วโมง
เพื่อให้เห็นถึงความใจบุญของเจ้าของโรงงาน ผมขอเตือนความจำทุกท่านถึงกฎข้อบังคับที่มีใช้อยู่ในโรงงานของเขาทุกแห่ง
เจ้าของโรงงานทุกรายมีประมวลกฎหมายอาญาเป็นของตัวเองที่เอาไว้ใช้ส่วนบุคคล ซึ่งกำหนดค่าปรับสำหรับความผิดทุกรูปแบบไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างเช่น หากคนงานเคราะห์ร้ายเผลอนั่งเก้าอี้ กระซิบ คุยกัน หรือหัวเราะ ก็ต้องจ่ายค่าปรับจำนวนเท่าหนึ่ง หรือหากมาสายไม่กี่นาที หรือหากเครื่องจักรชำรุดหรือทำผลงานไม่ตรงตามมาตรฐาน ฯลฯ ค่าปรับสูงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากกรรมกรเสมอ และเพื่อเพิ่มโอกาสเรียกค่าปรับจากคนงาน โรงงานจะตั้งนาฬิกาให้เดินนำหน้า และจะเอาวัตถุดิบด้อยคุณภาพมาให้คนงานใช้ทำสินค้าคุณภาพ ส่วนหัวหน้าคนงานที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนความผิดได้ก็จะโดนไล่ออก
ทุกท่านเห็นไหมว่า กฎหมายส่วนบุคคลนี้ออกแบบมาเพื่อแกว่งหาความผิดโดยเฉพาะ และความผิดนั้นก็สร้างขึ้นมาเพื่อหาเงิน ดังนั้น เจ้าของโรงงานใช้ทุกวิถีทางเพื่อลดจำนวนเงินค่าจ้าง และยังแสวงกำไรจากอุบัติเหตุที่กรรมกรไม่ได้ก่อ เจ้าของโรงงานพวกนี้น่ะเหรอคือคนใจบุญที่พยายามชักจูงให้กรรมกรเชื่อว่าเขามีความสามารถในการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพียงเพราะประสงค์จะเสริมวาสนาของเหล่าคนงานเท่านั้น! ด้านหนึ่งก็กัดแทะค่าจ้างของคนงานในแบบที่หยุมหยิมที่สุด ผ่านกฎต่าง ๆ ในโรงงาน ในอีกด้าน ก็พร้อมเสียสละทุกอย่างเพื่อให้ค่าจ้างสูงขึ้น ผ่านสันนิบาตต่อต้านกฎหมายข้าว
พวกเขาใช้เงินมหาศาลสร้างวังโออ่าไว้เป็นที่ทำการของสันนิบาต พวกเขาส่งกองทัพธรรมทูตไปทุกซอกทุกมุมของอังกฤษเพื่อประกาศข่าวประเสริฐการค้าเสรี พวกเขาพิมพ์และแจกจ่ายแผ่นพับหลายพันใบเพื่อสั่งสอนกรรมกรเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเขาเอง พวกเขาใช้เงินปึกหนาฟาดหัวสื่อ พวกเขาวางระบบการบริหารขนาดใหญ่ในการนำขบวนการการค้าเสรี และแสดงพรสวรรค์ด้านฝีปากจนหมดเปลือกในการประชุมสาธารณะ ในการประชุมครั้งหนึ่งนั้นเอง มีกรรมกรท่านหนึ่งร้องขึ้นมาว่า:
“ถ้าเจ้าที่ดินจะขายกระดูกเรา เจ้าของโรงงานอย่างคุณคือคนแรกที่จะซื้อไปใส่เครื่องโม่แป้ง”
กรรมกรอังกฤษเข้าใจดีถึงความสำคัญของการต่อสู้ระหว่างเจ้าที่ดินกับทุน เขาเข้าใจว่าที่จะลดราคาขนมปังก็เพื่อจะได้ลดค่าจ้าง และรู้ว่ากำไรของทุนจะสูงขึ้นเท่ากับที่ค่าเช่าจะถูกลง
ริคาร์โด อัครทูตของผู้สนับสนุนการค้าเสรีชาวอังกฤษ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งศตวรรษ เห็นพ้องกับกรรมกรในประเด็นนี้โดยสิ้นเชิง ในผลงานเลื่องชื่อว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง เขากล่าวว่า: “แทนที่เราจะปลูกข้าวเอง . . . เราไปหาตลาดใหม่ที่หาทดแทนได้ . . . ที่ราคาถูกกว่า ค่าจ้างก็จะลดลง กำไรก็จะสูงขึ้น การลดราคาผลผลิตการเกษตรจะทำให้ค่าจ้างถูกลง ไม่เฉพาะค่าจ้างของคนงานที่จ้างมาไถดินเท่านั้น แต่ของคนงานทั้งหมดที่รับจ้างในภาคการค้าและการผลิตเช่นกัน”[c]
ท่านสุภาพบุรุษ ท่านอย่าหลงเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อกรรมกร ถึงจะได้เพียงสี่ฟรังก์เพราะข้าวถูกลง แต่ก่อนเขาจะได้ห้าฟรังก์
ค่าจ้างเขาต่ำลงเทียบกับกำไรใช่หรือไม่? สถานะทางสังคมของเขาย่ำแย่ลงอย่างชัดเจนเทียบกับของนายทุนใช่หรือไม่? อย่างไรก็ดี เขาสูญเสียจริง ๆ ตราบใดที่ราคาข้าวสูงและค่าจ้างก็สูง เขายังพอเก็บหอมรอมริบยอมอดขนมปังไปหาซื้อความบันเทิงได้ แต่ทันทีที่ขนมปังราคาถูก และค่าจ้างถูก จะอดขนมปังเท่าใดก็ไม่เหลือพอซื้ออย่างอื่น
กรรมกรอังกฤษแสดงให้พวกสนับสนุนการค้าเสรีชาวอังกฤษแล้วว่าจะไม่ถูกคำโกหกหลอกลวง และแม้กระนั้นหากไปเข้าร่วมต่อต้านเจ้าที่ดินกับเจ้าของโรงงานก็ตาม ก็ทำไปเพื่อทำลายระบบศักดินาให้ไม่เหลือซาก และจึงจะเหลือศัตรูให้จัดการเพียงฝ่ายเดียว เหล่ากรรมกรไม่ได้คำนวณพลาดไป เพราะพวกเจ้าของที่ดินก็ได้ร่วมผลักดันให้กฎหมายสิบชั่วโมงผ่าน กฎหมายที่กรรมกรเรียกร้องมานานกว่าสามสิบปี เพื่อแก้แค้นพวกเจ้าของโรงงาน ซึ่งกฎหมายฉบับนั้นผ่านทันทีหลังจากที่กฎหมายข้าวถูกยกเลิก
ที่งานประชุมนักเศรษฐศาสตร์ ระหว่างที่ ดร. เบาว์ริงหยิบใบรายการออกมาแสดงให้ดูว่าอังกฤษนำเข้าปศุสัตว์ แฮม เบคอน เนื้อไก่ ฯลฯ มา——เขาพูด——ให้กรรมกรบริโภคมากเท่าใด เขาลืมบอกด้วยว่าในตอนนั้นเองกรรมกรในเมืองแมนเชสเตอร์และเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ กำลังตกงานเมื่อวิกฤตเริ่มต้นขึ้น
ถือเป็นหลักการในเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าห้ามนำตัวเลขของหนึ่งปีมาใช้หากฎทั่วไป เฉลี่ยแล้วต้องใช้หกถึงเจ็ดปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่จะผ่านช่วงของความรุ่งเรือง การผลิตล้นเกิน และวิกฤต กล่าวคือครบรอบวัฏจักรที่เลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าถ้าราคาของสินค้าทุกชนิดถูกลง——ซึ่งเป็นผลที่จะต้องเกิดจากการค้าเสรี——ผมใช้หนึ่งฟรังก์ซื้อของได้เยอะกว่าเมื่อก่อน เงินหนึ่งฟรังก์ของกรรมกรคนไหนก็เหมือนกัน ดังนั้น การค้าเสรีต้องเป็นผลดีต่อกรรมกร แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่งแฝงอยู่ นั่นคือ ก่อนกรรมกรคนนั้นจะแลกหนึ่งฟรังก์กับสินค้าอื่น เขาต้องแลกแรงงานของเขากับเงินของนายทุนเสียก่อน ถ้าแลกแล้วได้หนึ่งฟรังก์เท่าเดิมขณะที่สินค้าอื่นถูกลงหมด ข้อตกลงนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่เขาเสมอ ความยากไม่ใช่การพิสูจน์ว่าสินค้าทั้งหมดราคาถูกลงแล้วจะซื้อสินค้าได้มากกว่าด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม
นักเศรษฐศาสตร์นับเฉพาะราคาของแรงงานขณะที่แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นตลอด แต่ไม่เคยสนใจเวลาที่แรงงานแลกเปลี่ยนกับทุน เมื่อต้นทุนที่ใช้เดินเครื่องผลิตสินค้าลดลง สิ่งที่จำเป็นต้องใช้บำรุงเครื่องจักรที่เรียกว่ากรรมกรก็จะถูกลงด้วย ถ้าสินค้าทุกชนิดถูกลง แรงงาน ซึ่งก็เป็นสินค้า ก็จะราคาถูกลง และเราจะเห็นต่อไปว่าสินค้านี้นั้น คือแรงงาน เทียบกับสินค้าอื่นทั้งหมดแล้วจะถูกลงยิ่งกว่าอีกมาก ถ้ากรรมกรเขายังเชื่อมั่นในการให้เหตุผลของนักเศรษฐศาสตร์พวกนี้ เขาจะพบว่า ตื่นเช้ามาวันหนึ่ง ฟรังก์ในประเป๋าเขาหดลง เหลือไว้เพียงห้าซู
ครั้นแล้วนักเศรษฐศาสตร์จะบอกท่านว่า:——
“เรายอมรับว่าการแข่งขันระหว่างกรรมกรเองจะไม่ลดลงอย่างแน่นอนภายใต้การค้าเสรี และไม่นานค่าจ้างก็จะกลับมาสอดคล้องกับราคาของสินค้าที่ถูกลง แต่ในอีกมุม สินค้าราคาถูกจะเพิ่มการบริโภค การบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มการผลิต ซึ่งจะเพิ่มความต้องการแรงงาน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นก็จะตามมาด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้น”
การให้เหตุผลทั้งหมดสรุปได้ว่า: การค้าเสรีเพิ่มพลังการผลิต เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต เมื่อความมั่งคั่ง เมื่อพลังการผลิต หรือในหนึ่งคำ เมื่อทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ความต้องการแรงงาน ราคาของแรงงาน และฉะนั้นค่าจ้างก็จะเพิ่มเช่นเดียวกัน
เงื่อนไขที่พึงปรารถนาที่สุดสำหรับกรรมกรคือการเติบโตของทุน ต้องยอมรับว่า: เมื่อทุนอยู่เฉย การค้าและการผลิตจะไม่อยู่เฉยแต่จะถดถอย และเหยื่อตัวแรกในเรื่องนี้จะเป็นกรรมกร เขาจะเจ๊งก่อนนายทุน ในกรณีที่ทุนเติบโต อันเป็นเงื่อนไขที่พึงปรารถนาที่สุดสำหรับกรรมกรที่เราว่านั้น ชะตาของเขาจะเป็นเช่นใด? เขาก็จะเจ๊งเหมือนเดิม การเติบโตของทุนหมายถึงการสะสมและรวมศูนย์ทุน การรวมศูนย์ประกอบด้วยการแบ่งงานและการใช้เครื่องจักรมากยิ่งขึ้น ยิ่งแบ่งงานก็จะยิ่งทำลายทักษะพิเศษของกรรมกร และเมื่อแทนที่แรงงานฝีมือด้วยแรงงานที่ใครก็ทำได้ การแข่งขันระหว่างกรรมกรก็จะเพิ่มขึ้น
การแข่งขันจะยิ่งรุนแรงเมื่อการแบ่งงานทำให้คน ๆ เดียวสามารถทำงานของคนสามคน เครื่องจักรกลบรรลุผลเดียวกันเพียงแต่ในระดับที่ใหญ่กว่ามาก การสะสมทุนการผลิตบังคับให้นายทุนอุตสาหกรรมต้องทำงานกับปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำลายผู้ผลิตรายย่อยและผลักให้เขากลายเป็นชนกรรมาชีพ แล้วอัตราดอกเบี้ยก็จะลดลงเทียบกับทุนที่สะสม คนปล่อยเช่าและพ่อค้าเกษียณที่ไม่สามารถพึ่งพารายได้ที่น้อยลงก็จำต้องหันทำธุรกิจอีกครั้ง และสุดท้ายก็เพิ่มจำนวนชนกรรมาชีพ ในที่สุด ยิ่งทุนการผลิตเติบโต ก็ยิ่งถูกบังคับให้ผลิตโดยไม่ทราบความต้องการของตลาด——อุปทานพยายามบังคับให้มีอุปสงค์ และผลที่ตามมาคือวิกฤตที่บ่อยครั้งและรุนแรงกว่าเดิม แต่วิกฤตทุกครั้งก็เร่งให้ทุนรวมศูนย์ และเพิ่มจำนวนชนกรรมาชีพ ดังนั้น เมื่อทุนการผลิตเติบโต การแข่งขันระหว่างกรรมกรก็เพิ่ม และเทียบกันแล้วเพิ่มขึ้นยิ่งกว่ามาก ค่าตอบแทนงานน้อยลงโดยถ้วนหน้า ภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยก็ในบางส่วน
ปี 1829 แมนเชสเตอร์มีช่างปั่นด้าย 1088 คนรับจ้างอยู่ในโรงงาน 36 แห่ง ในปี 1841 มีแค่ 448 คนแต่เดินเครื่องปั่นด้ายมากกว่าช่าง 1088 คนเคยเดินในปี 1829 กว่า 53,353 เครื่อง หากแรงงานมือเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกับพลังการผลิต จำนวนช่างปั่นด้ายควรขึ้นมาเป็น 1848 คน เครื่องจักรที่พัฒนาขึ้นจึงลิดรอนงานกว่า 1100 ตำแหน่งไปจากกรรมกร
เรารู้ล่วงหน้าว่านักเศรษฐศาสตร์จะตอบว่าอะไร——คนที่ตกงานก็จะหางานชนิดใหม่ได้ ดร. เบาว์ริง ไม่พลาดท่องเหตุผลข้อนี้ที่งานประชุมนักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่พลาดพูดแย้งตัวเองเช่นกัน ในปี 1833 ดร. เบาว์ริงได้พูดในสภาสามัญถึงช่างทอผ้า 50,000 รายที่ลอนดอนที่อดอยากและหางานชนิดใหม่ที่ผู้สนับสนุนการค้าเสรียื่นให้จากไกล ๆ ไม่เจอ เรามาลองฟังถ้อยคำบางส่วนที่โดดเด่นสุด ๆ ของนายเบาว์ริง
“ความระกำลำเค็ญของช่างทอผ้า” เขากล่าว “คือชะตากรรมซึ่งแรงงานทุกรูปแบบที่เรียนรู้ง่ายจำต้องเจอ ซึ่งอาจถูกแทนที่ด้วยวิธีที่ถูกกว่าเมื่อใดก็ได้ ในกรณีเหล่านี้ เพราะคนงานแข่งขันกันอยู่มาก อุปสงค์ลดลงเล็กน้อยก็ก่อวิกฤตได้ ช่างทอผ้าเหล่านี้ ในแง่หนึ่ง คาบเกี่ยวบนเขตแดนของการดำรงอยู่ของมนุษย์ หนึ่งก้าวหน้าก็มิอาจอยู่ต่อได้อีก สั่นนิดเดียวก็ล้มได้ ยิ่งแรงงานมือถูกแทนที่ ความก้าวหน้าของศาสตร์จักรกลจะนำมาซึ่งทุกข์ยากมหันต์ในยุคเปลี่ยนผ่าน สวัสดิภาพของชาติซื้อมาได้ด้วยความชั่วร้ายของบางบุคคลเท่านั้น อุตสาหกรรมก้าวหน้าด้วยราคาของคนที่ล้าหลัง มากกว่าการค้นพบใด ๆ เครื่องจักรทอผ้ากดทับช่างทอผ้าหนักที่สุด กับสิ่งของทั้งหลายซึ่งเคยทำด้วยมือ ช่างทอผ้าถูกทำให้อยู่ในสภาพไม่พร้อมรบ และเขาจะถูกบดขยี้อย่างแน่นอนกับผ้าหลากชนิดที่เหลือที่ยังทำด้วยมืออยู่”
เขากล่าวต่อว่า: “ในมือข้าพเจ้าคือจดหมายจากผู้สำเร็จราชการถึงบริษัทอินเดียตะวันออก จดหมายกล่าวถึงช่างทอผ้าในอำเภอแดกกา ท่านผู้สำเร็จราชการเขียนในจดหมายว่า: ‘ ไม่กี่ปีก่อน บริษัทอินเดียตะวันออกได้รับผ้าดิบหกถึงแปดล้านผืนที่ทอด้วยกี่ท้องถิ่น ความต้องการทยอยลดลงและเหลือประมาณหนึ่งล้านผืน ปัจจุบันหยุดการผลิตแล้วเกือบทั้งหมด’ มากกว่านั้น ในปี 1800 อเมริกาเหนือได้สินค้าฝ้ายจากอินเดียไปมากถึง 800,000 ชิ้น ในปี 1830 ไม่ถึง 4000 ชิ้น ประการสุดท้าย ในปี 1800 ได้ส่งออกไปโปรตุเกสหนึ่งล้านชิ้น ในปี 1830 โปรตุเกสได้ไม่เกิน 20,000 ชิ้น”
“รายงานถึงความทุกข์ยากของช่างทอผ้าชาวอินเดียฟังแล้วแย่ แล้วความทุกข์ยากนี้มีต้นกำเนิดจากอะไร? การปรากฎตัวของสินค้าอังกฤษในตลาด การผลิตสินค้าเดียวกันด้วยเครื่องทอผ้า ช่างทอจำนวนมากเสียชีวิตด้วยความอดอยาก ส่วนที่เหลือย้ายสายงาน ส่วนใหญ่ไปทำงานในไร่ หากหางานใหม่ไม่ได้ก็เปรียบได้กับโทษประหารชีวิต และในบัดนี้อำเภอแดกกาก็ล้นด้วยด้ายและผ้าดิบจากอังกฤษ มัสลินแดกกาที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะความสวยงามและเนื้อผ้าที่แน่น ก็ยังถูกบดบังโดยการแข่งขันจากเครื่องจักรอังกฤษ ตลอดประวัติศาสตร์ของการค้า ดูจะหาเทียบได้ยากถึงความทุกข์ทรมานที่ชนทั้งชั้นในอินเดียต้องยอมทน”
สุนทรพจน์ของนายเบาว์ริงยิ่งน่าทึ่งกว่าเดิม เพราะข้อเท็จจริงที่อ้างมานั้นถูกต้อง และถ้อยคำที่พยายามใช้บรรเทามันก็มีลักษณะจอมปลอมเฉกเช่นที่วาทกรรมของการค้าเสรีทั้งหมดมี เขาแทนกรรมกรว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่ต้องแทนที่ด้วยปัจจัยการผลิตที่ถูกกว่า แสร้งมองแรงงานที่กล่าวถึงเป็นแรงงานที่ยอดเยี่ยม และเครื่องจักรที่บดขยี้ช่างทอผ้าเป็นเครื่องจักรที่ยอดเยี่ยมเหมือนกัน เขาลืมไปว่าไม่มีแรงงานมือชนิดใดเลยที่จะไม่ต้องพบชะตาเดียวกันกับช่างที่ทอผ้าด้วยกี่ในสักวันหนึ่ง
“เป้าหมายและแนวโน้มตลอดกาลของการพัฒนากลไกทุกครั้งคือการกำจัดแรงงานมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง หรือเพื่อลดราคา ด้วยการแทนแรงงานของผู้ใหญ่เพศชายด้วยแรงงานของผู้หญิงและเด็ก หรือแทนแรงงานฝีมือด้วยแรงงานไร้ฝีมือ ในโรงปั่นด้ายกำลังน้ำส่วนใหญ่ คนงานปัจจุบันทั้งหมดเป็นเด็กผู้หญิงอายุสิบหกปีหรือเด็กกว่า การนำเครื่องปั่นด้ายอัตโนมัติมาใช้ได้ทำให้ช่างปั่นด้าย (ผู้ใหญ่เพศชาย) ส่วนใหญ่ต้องตกงาน แต่เด็กและเยาวชนยังจ้างต่อไป”
ถ้อยคำดังกล่าวเป็นของผู้สนับสนุนการค้าเสรีที่กระตือรือร้นที่สุด ดร. ยัวร์ ออกแบบมาเติมเต็มคำสารภาพของ ดร. เบาว์ริง นายเบาว์ริงพูดถึงความชั่วร้ายของบุคคล และพร้อมกันนั้นเองก็บอกว่าความชั่วร้ายของบุคคลนี้ทำลายชนทั้งชั้น เขาพูดถึงความทุกข์ชั่วคราวระหว่างยุคเปลี่ยนผ่าน และก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าความชั่วร้ายชั่วคราวเหล่านี้หมายถึงการเปลี่ยนผ่านของคนส่วนใหญ่จากความเป็นสู่ความตาย และการเปลี่ยนผ่านของคนที่เหลือจากสภาพที่ดีกว่าไปสู่สภาพที่แย่กว่า ต่อมาเมื่อเขาอ้างว่าความทุกข์ของชนชั้นแรงงานนั้นแยกไม่ได้จากความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม และจึงจำเป็นสำหรับความเจริญของชาติ เขาเพียงกล่าวว่าความเจริญของชนชั้นกระฎุมพีนั้นมีความทุกข์ของชนชั้นแรงงานเป็นเงื่อนไขจำเป็น
คำปลอบใจที่นายเบาว์ริงมอบให้แด่กรรมกรผู้ซึ่งกำลังตาย และหลักการชดเชยที่ผู้สนับสนุนการค้าเสรีเสนอนั้น ทั้งหมดสรุปได้ดังนี้:——
กรรมกรทั้งร้อยพันที่ใกล้วอดวาย อย่าหมดหวังไปเลย! ท่านจากไปอย่างสงบเถิด ชนชั้นท่านจะไม่เหือดหาย แต่จะยังคงมีอยู่มากมาย พอให้ชนชั้นนายทุนทำลายได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหมดไป อย่างไรเสีย ทุนจะใช้ได้เป็นประโยชน์อย่างไรถ้าไม่คอยดูแลรักษาสิ่งที่มันเอาเปรียบ นั่นคือกรรมกร ให้เอาเปรียบได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก?
แต่เช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงยังเสนอคำถามนี้อย่างกับเป็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบ ว่า: การนำการค้าเสรีมาใช้จะส่งอิทธิพลอย่างไรต่อฐานะของชนชั้นแรงงาน? กฎทั้งหลายที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองตั้งแต่แกแน[d]จนถึงริคาร์โดได้บัญญัติไว้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าไม่มีอุปสรรคที่แทรกแซงเสรีภาพของการค้าอยู่ เมื่อการค้าเสรีถูกนำมาใช้กฎเหล่านี้ก็ยิ่งแข็งแรง กฎแรกกล่าวว่าการแข่งขันจะลดราคาของสินค้าทั้งหมดโดยมีขั้นต่ำเป็นต้นทุนการผลิต ดังนั้นขั้นต่ำของค่าจ้างคือราคาตามธรรมชาติของแรงงาน แล้วอะไรเป็นขั้นต่ำของค่าจ้าง? ก็คือเท่าที่จำเป็นต่อการผลิตสิ่งของอันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผดุงชีพกรรมกร สำหรับการสืบสานทั้งชีวิตของเขาเองและของชนชั้นตนไม่ว่าด้วยวิถีทางใดก็ตาม
แต่อย่านึกว่ากรรมกรได้แค่ค่าจ้างขั้นต่ำ และยิ่งอย่านึกว่าเขาจะได้เสมอ เปล่าเลย ตามกฎนี้ บางคราวชนชั้นแรงงานจะโชคดี บางคราวจะได้มากกว่าขั้นต่ำ แต่ส่วนเกินนี้จะเพียงแต่ชดเชยส่วนพร่องจากตอนที่ได้น้อยกว่าขั้นต่ำในช่วงอุตสาหกรรมตกต่ำ หมายความว่าในบางช่วงเวลาซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ในวัฏจักรอันเป็นลักษณะของของพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านระยะของความรุ่งเรือง การผลิตล้นเกิน ความตกต่ำ และวิกฤต เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ชนชั้นแรงงานได้เกินและน้อยกว่าที่จำเป็นแล้ว เราจะเห็นว่า สุดท้ายก็ไม่ได้มากหรือน้อยไปกว่าขั้นต่ำ กล่าวคือ ชนชั้นแรงงานจะยังรอดเป็นชนชั้นแม้ต้องทนผ่านความทรมานและอาภัพ และต้องทิ้งซากศพนับไม่ถ้วนไว้บนสมรภูมิอุตสาหกรม แล้วจะเป็นอะไรไป? ชนชั้นจะยังมีอยู่ ไม่สิ มันจะยิ่งเพิ่มขึ้น
แต่ยังไม่หมด ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมจะทำให้ปัจจัยการยังชีพยิ่งถูกลง แล้วเหล้าจะแทนที่เบียร์ ฝ้ายจะแทนที่ขนแกะกับลินิน มันฝรั่งจะแทนที่ขนมปัง
และเมื่อค้นพบปัจจัยยังชีพแรงงานด้วยอาหารที่ถูกและอนาถยิ่งขึ้นอยู่เสมอ ขั้นต่ำของค่าจ้างก็จะต่ำลงเสมอ หากค่าจ้างเริ่มจากการให้มนุษย์ทำงานเพื่ออยู่ ก็จบด้วยการบังคับให้มนุษย์อยู่อย่างเครื่องจักร การมีอยู่ของเขามีค่าเพียงเท่ากับพลังการผลิตอย่างง่าย และนายทุนก็กระทำต่อเขาเยี่ยงนั้น กฎข้อนี้ของสินค้าเช่นแรงงาน ของขั้นต่ำของค่าจ้าง จะผ่านการยืนยันตราบเท่าเมื่อข้อตั้งของนักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นจริง กล่าวคือ การค้าเสรี ฉะนั้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง: เราต้องหยุดเชื่อเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสาขาที่ใช้การค้าเสรีเป็นสมมุติฐาน หรือเราต้องยอมรับว่าภายใต้การค้าเสรีเดียวกันเอง ความรุนแรงทั้งหมดของกฎทางเศรษฐศาสตร์จะตกอยู่กับกรรมกร
กล่าวโดยสรุป อะไรคือการค้าเสรีภายใต้เงื่อนไขของสังคมในปัจจุบัน? คือเสรีภาพของทุน เมื่อท่านทุบกำแพงระดับชาติไม่กี่แนวที่ยังขวางการพัฒนาของทุนอย่างเสรีอยู่ ท่านให้เพียงแต่มอบเสรีภาพให้มันทำอะไรก็ได้ ตราบใดที่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานรับจ้างกับทุนยังมีอยู่ ไม่ว่าเงื่อนไขที่สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าได้จะพึงปรารถนาเท่าใด ก็จะมีชนชั้นซึ่งขูดรีดกับชนชั้นซึ่งถูกขูดรีดเสมอไป ยากที่จะเข้าใจว่าผู้สนับสนุนการค้าเสรีนั้นคิดอย่างไรจึงจินตนาการว่าการใช้ทุนสร้างดอกผลได้ดีขึ้นจะลบล้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างนายทุนอุตสาหกรรมกับกรรมกรรับจ้าง ตรงกันข้าม ผลลัพธ์เดียวที่จะเกิดคือความเป็นปฏิปักษ์นี้จะยิ่งโดดเด่นชัดเจนขึ้น
เรามาลองสมมุติว่าไม่มีกฎหมายข้าวแล้ว หรืออากรขาเข้าทั้งในระดับชาติหรือท้องถิ่น หรือสมมุติให้เหตุสุดวิสัยใด ๆ ที่กรรมกร ณ วันนี้อาจมองเป็นสาเหตุแห่งความทุกยากมันหายลับไป เช่นนี้เราจะได้ฉีกม่านที่บังตาเขาจากศัตรูตัวจริง
เขาจะเห็นว่าทุนซึ่งถูกปลดตรวนจนหมดแล้วนั้นจะจับเขาเป็นทาสไม่ต่างจากทุนซึ่งถูกขัดขวางด้วยอากรขาเข้า
ท่านสุภาพบุรุษ! อย่าหลงกลถ้อยคำนามธรรมว่าเสรีภาพ! เสรีภาพของใคร? ไม่ใช่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลซึ่งกันและกัน แต่เสรีภาพของทุนที่จะบดขยี้กรรมกร
ท่านอยากสนับสนุนการแข่งขันไร้ขีดจำกัดต่อไปด้วยมโนคติของเสรีภาพอันนี้หรือ หากมโนคติของเสรีภาพนั้นเป็นเพียงผลผลิตของเงื่อนไขทางสังคมที่ตั้งอยู่บนการแข่งขันเสรี
เราแสดงให้เห็นแล้วว่าการค้าเสรีสร้างความสัมพันธ์ฉันพี่น้องแบบไหนระหว่างแต่ละชนชั้นในชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเป็นพี่น้องอย่างที่การค้าเสรีจะก่อระหว่างแต่ละชาติบนโลกนั้นไม่แน่ไปกว่านี้ ให้เรียกการขูดรีดทั่วโลกว่าสากลภราดรภาพคงมีแต่สมองของชนชั้นกระฎุมพีที่คิดออก ทุก ๆ ปรากฎการณ์ทำลายล้างที่การแข่งขันไร้ขีดจำกัดก่อกำเนิดในประเทศใดนั้นจะแพร่พันธุ์เป็นยักษ์ในตลาดโลก เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับเหตุผลวิบัติของพวกการค้าเสรีเกี่ยวกับประเด็นนี้แล้ว ไม่มีค่ามากไปกว่าเหตุผลของผู้ชนะประกวดความเรียงอย่างนายโฮป มอร์ส กับเกร็ก
ยกตัวอย่างเช่น เขาบอกเราว่าการค้าเสรีจะสร้างการแบ่งงานในระดับนานาชาติ แต่ละประเทศก็จะได้สาขาการผลิตที่เข้ากันกับข้อได้เปรียบตามธรรมชาติของประเทศนั้น
ท่านสุภาพบุรุษอาจเชื่อว่าธรรมชาติลิขิตให้อินเดียตะวันตก[e]ผลิตกาแฟกับน้ำตาล แต่สองศตวรรษที่แล้ว ธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับการค้าเลย ไม่ได้ปลูกอ้อยหรือต้นกาแฟไว้ที่นั่น และอีกไม่ถึงครึ่งศตวรรษ ท่านก็อาจไม่เจอกาแฟหรือน้ำตาลเลย เพราะอินเดียตะวันออกใช้การผลิตที่ถูกกว่าพลิกลิขิตธรรมชาติที่ว่าของอินเดียตะวันตกไปแล้ว อินเดียตะวันตกที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ก็กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งแก่อังกฤษเช่นเดียวกับที่ช่างทอผ้าจากแดกกาเป็น ผู้ที่ฟ้าลิขิตให้ใช้กี่ทอผ้ามานับแต่ปฐมกาล
เราต้องอย่าลืมอีกหนึ่งสถานการณ์ ว่าพอดีกับที่ทุกอย่างถูกผูกขาด ก็ยังมีอุตสาหกรรมบางสาขาที่เหนือกว่าสาขาอื่น และรับรองว่าชาติใดที่ส่งเสริมมันเป็นพิเศษจะมีอำนาจเหนือตลาดโลก ในการค้าโลก ฝ้ายเพียงอย่างเดียวจึงสำคัญทางการค้ากว่าวัตถุดิบอื่นใดที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้า เป็นเรื่องน่าตลกจริง ๆ ที่ผู้สนับสนุนการค้าเสรียกของเฉพาะทางไม่กี่อย่างในอุตสาหกรรมแต่ละสาขามาวางเทียบกับผลผลิตที่ใช้บริโภคทุกวัน ซึ่งผลิตได้ถูกที่สุดในประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาแล้วในระดับสูง
เราอย่าแปลกใจ ถ้าผู้สนับสนุนการค้าเสรีไม่เข้าใจว่าชาติหนึ่งสามารถร่ำรวยแลกด้วยชาติอื่น เพราะคนพวกนี้ก็ไม่ยอมเข้าใจว่าชนชั้นหนึ่งสามารถร่ำรวยแลกด้วยอีกชนชั้นหนึ่งแม้ในประเทศเดียวกันเองก็ตาม
แต่ท่านสุภาพบุรุษอย่าคิดว่าเมื่อเราวิจารณ์การค้าเสรีแล้วแปลว่ามีเจตนาปกป้องการคุ้มครองแม้แต่น้อย คนหนึ่งสามารถต่อต้านระบอบรัฐธรรมนูญแต่ก็มิได้สนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์
อนึ่ง ระบบคุ้มครองเป็นเพียงแต่เครื่องมือพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ ทำให้ต้องพึ่งพิงตลาดโลก และทันใดที่ต้องพึ่งพิงตลาดโลก ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบการค้าเสรีด้วยไม่มากก็น้อย นอกจากนั้น ระบบคุ้มครองยังช่วยพัฒนาการแข่งขันเสรีภายในประเทศ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมในประเทศที่พ่อค้ากระฎุมพีเริ่มต้องการถือพวกตนเป็นชนชั้นโดยชอบ อย่างในเยอรมนีเป็นต้น ก็จะพยายามผลักดันให้เก็บภาษีคุ้มกันอย่างสุดความสามารถ เป็นอาวุธที่ชนชั้นกระฎุมพีใช้ต่อกรกับระบอบศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นเครื่องมือเพื่อรวมศูนย์อำนาจและสร้างระบบการค้าเสรีภายให้เกิดขึ้นจริงภายในประเทศเอง
แต่ กล่าวโดยรวมแล้ว ระบบภาษีคุ้มกันในปัจจุบันนั้นเป็นอนุรักษ์นิยม ขณะที่ระบบการค้าเสรีจะเซาะกร่อน บ่อนทำลายชนชาติเก่า เสริมความขัดแย้งระหว่างชนกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพีจนถึงขีดสุด โดยย่อว่า ระบบการค้าเสรีจะบิดคันเร่งการปฏิวัติสังคม ในแง่ปฏิวัติอย่างนี้เท่านั้น ท่านสุภาพบุรุษ ผมเห็นชอบการค้าเสรี
- ↑ หมายถึงจอห์น เบาว์ริง จอห์น ไบรต์ และผู้สนับสนุนการค้าเสรีคนอื่น ๆ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ หมายถึงกฎบัตรประชาชน ค.ศ. 1838 เพิ่มเติมที่ Chartism (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ เดวิด ริคาร์โด (1917) [1817]. "On Foreign Trade". On the Principles of Political Economy and Taxation. น. 80 – โดยทาง อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ François Quesnay (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ West indies (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)


งานต้นฉบับ: |
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1930 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี
Public domainPublic domainfalsefalse |
---|---|
งานแปล: |
งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน
Public domainPublic domainfalsefalse |