ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 19 (พิมพ์ครั้งที่ 1)/เรื่องที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ จดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ
จดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ
ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณไว้แต่เมื่อปีขาล อัฐศก ว่า ในปีมะโรง สัมฤทธิ จุลศักราช ๑๒๓๐ จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวงเมื่อเดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ซึ่งยากนักที่จะได้เห็นในพระราชอาณาจักร ด้วยวิธีโหราสาตรได้ทรงสะสมมานานตามสารัมภ์ไทยสารัมภ์มอญ แต่ตำราอเมริกันฉบับเก่าแลตำราอังฤกษเปนหลายฉบับ ได้ทรงคำนวณสอบสวนต้องกัน ได้ทรงกะการตามในแผนที่ว่าจะมีเปนแน่ ทวีปขิยอุดร อา ‗ͦ‗ ลิ พิลิ๔๐ เปนตวันตกกรุงเทพพระมหานครเพียงลิ เวลา กับในกรุงเทพพระมหานครเพียง ๓ นาทีกับ ๒๐ วินาที ได้ทรงพิจารณาเลอียดถ้วนถี่แล้วว่า พระอาทิตย์จะจับหมดดวง แลจะเห็นบนน่าแผ่นดินไปไกลถึง ลิดา/๑๓๐ ต่อ ลิดา/๑๔๐ ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคิรีขันธ์ ตรงเกาะจานเข้าไปเปนท่ามกลางที่มืดหมดดวง ขึ้นมาข้างบนถึงเมืองปราณบุรี ลงไปข้างใต้ถึงเมืองชุมพร ได้ทราบการเปนแน่ดังนี้แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพ็ชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคิรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว แลนายงานหลายนาย ให้จัดการทำค่ายหลวงแลพลับพลาที่ประทับแรมที่ตำบลหว้ากอ ตรงเกาะจานเข้าไปใต้คลองวาฬลงไปทาง ๒๔ เส้น แล้วโปรดให้แต่งคำประกาศตีพิมพ์แจกให้ทราบทั่วกัน.

ในครั้งนี้ พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสได้ทราบว่า สุริยุปราคาจะมีในพระราชอาณาจักรแผ่นดินสยาม มีหนังสือมาถึงกงสุลฝรั่งเศสที่อยู่ในพระนครนี้ให้กราบทูลขอพระราชทานอนุญาตที่จะเข้ามาดูสุริยุปราคา ก็โปรดพระราชทานตามประสงค์ พวกฝรั่งเศสมาเที่ยวค้นหาที่จะดูเปนหลายตำบล ค้นลงไปถึงเมืองชุมพร ก็ไม่ได้ตำบลซึ่งจะชี้ให้ตรงที่กึ่งทางกลางพระอาทิตย์ ครั้นเมื่อท่านสมุหพระกลาโหมกะการให้ตั้งที่ค่ายหลวงที่ตำบลหว้ากอตรงเกาะจานเข้าไป พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสจึงมาขอตั้งโรงที่จะดูนั้นแห่ง ๑ ต่ำลงไปข้างใต้พลับพลาที่ค่ายหลวงทาง ๑๘ เส้น ตั้งเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายอย่างประมาณ ๕๐ คันเศษ.

ครั้นณวันศุกร เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชออกจากท่านิเวศวรดีษฐใช้จักรไปถึงเมืองสมุทปราการเวลาเที่ยงแล้ว ๑๕ นาที ทอดสมออยู่ ๓ ชั่วโมงเศษ เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาที ใช้จักรออกจากที่ทอดสมอ แล้วข้ามสันดอนตกน้ำลึก ๓ วา เย็น ๕ โมง ๔๓ นาที แล้วยิงสุลตรับ ๓ นัด เรือสยามมูปสดัมภ์ก็ยิงรับ ๑๒ นัด จนถึงเวลา ๖ โมง ๑๒ นาที.

รุ่งขึ้นวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว ถึงเขาสามร้อยยอด ใช้จักรไปเวลา ๔ โมงเช้า ถึงเกาะหลัก เวลาเที่ยง ถึงที่ทอดสมอน่าค่ายหลวงตำบลหว้ากอ ที่ตรงนั้นน้ำลึก ๘ ศอก อยู่ใต้คลองวาฬเหนือเกาะจาน แต่อากาศมืดคลุ้ม มีแต่เมฆคลุมไปทุกทิศทุกแห่ง ไม่เห็นแดดแลเดือนดาวเลย พระอาทิตย์พระจันทร์เห็นบ้างราง ๆ บาทนาฬิกาหนึ่งบ้าง กึ่งบาทบ้าง แลที่ทอดเรือน่าค่ายหลวงที่ตรงตำบลหว้ากอนั้นคลื่นใหญ่ เรือโคลงอยู่เสมอ เรือพระที่นั่งทอดสมออยู่ที่น่าค่ายหลวงประมาณ ๖ ชั่วโมง ครั้นเวลาย่ำค่ำ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ถอยเรือพระที่นั่งกลับไปทอดประทับแรมอยู่ที่อ่าวมะนาวอันเปนที่ลับบังลม ไม่มีคลื่นใหญ่ เหนือที่พลับพลาไปทางประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ ทอดประทับแรมอยู่ ๒ วัน.

ณวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งตั้งแต่อ่าวมานาวลงไปถึงพลับพลาค่ายหลวงตำบลหว้ากอ เวลาย่ำค่ำ เรือพระที่นั่งก็ถอยลงไปทอดอยู่ที่น่าค่ายหลวงห่างฝั่งประมาณ ๒๐ เส้นเศษ เรืออัคเรศรัตนศน์ เรือสยามมูปสดัมภ์ แลเรืออื่น ๆ ก็ทอดล้อมวงอยู่ชั้นนอกพร้อมกัน.

รุ่งขึ้นณวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ได้พระฤกษ์ยกเสาธงแลฉัตร ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง รับสั่งให้ประโคม แล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัดถ์สลุตธงสลับกันกับทหารปืนใหญ่ฝ่ายละนัดครบ ๒๑ นัดทั้ง ๒ ข้าง ปืนเรือสยามมูปสดัมภ์ได้ยิงอิก ๒๑ นัด รวมเปน ๖๓ นัด เวลาบ่าย ๑ โมง พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาเฝ้าที่พลับพลา ๘ นายพระราชทานทองคำบางสพานทุกนาย.

รุ่งขึ้นณวันพุฒ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ พวกออฟิเซอร์ในเรือรบ ๑๒ นายขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานทองคำบางสพานทุกนาย.

ณวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ เวลาเช้า กัปตันนายเรือรบฝรั่งเศสขอเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ให้เสด็จลงไปเที่ยวในเรือรบ โปรดเกล้าฯ ให้พณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ลงไปด้วย กัปตันจัดการรับเสด็จเหมือนอย่างรับกระษัตริย์ในประเทศยุโรป มีทหารทอดกริบแลยืนเพลา แล้วยิงปืนใหญ่รับ ๒๑ นัด ทหารประจุปืนปัศตันลุกขึ้นลากกระชากเอาแขนขาดตายคน ๑ ครั้นเวลาค่อนเที่ยง ทรงวัดแดดสอบแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ เวลาจวนค่ำ เสด็จกลับ.

ณวันศุกร เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ มิศเตอร์อาลบาสเตอร์ ผู้ว่าราชการแทนกงสุลอังกฤษ ขึ้นไปเฝ้าที่พลับพลา โปรดให้ยิงปืนรับ ๗ นัด.

ณวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมง เรือเจ้าพระยามาถึงที่ค่ายหลวง ได้ทรงรับหนังสือข่าวต่าง ๆ หลายฉบับ กับของที่สั่งไปจัดซื้อมาแต่เมืองลอนดอนสำหรับแจกในการพระราชพิธีโสกันต์อิกมาก.[1]

ณวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ เซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ มาด้วยเรือกลไฟ ๓ ลำ ถึงหว้ากอเวลา ๓ โมงเช้า โปรดให้หลวงพิเศษพจนการ[2] เปนข้าหลวงไปเยี่ยมเยือน.

ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลาค่ายหลวง โปรดให้ยิงปืนสลุตรับ ๑๑ นัด ให้พระราชทานทองคำบางสพานตั้งแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์แลพวกออฟิเซอร์ที่ขึ้นมาเฝ้าทุกคน แล้วให้ไปอยู่ที่เรือนพักซึ่งทำไว้รับเขา.

รุ่งขึ้นณวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ เวลา ๒ โมงเช้า เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อย เครื่องทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา เวลาเช้า ๔ โมง ๓ นาที เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้าเปนเมฆฝนคลุมไปในด้านตวันออก ไม่เห็นอะไรเลย ต่อเวลา ๔ โมง ๑๖ นาที เมฆจึงจางสว่างออกไป เห็นดวงพระอาทิตย์ไร ๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้ว จึงประโคมเสด็จสรงมุรธาภิเศก ครั้นเวลา ๕ โมง ๒๐ นาที แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงพระอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตวันตก แลดาวอื่น ๆ มาก หลายดวง เวลา ๕ โมง ๓๖ นาที ๒๐ วินาที จับสิ้นดวง เวลานั้น มืดเปนเหมือนกลางคืนเวลาพลบค่ำ คนที่นั่งใกล้ ๆ ก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน พระราชทานเงินแจกพระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินออกไปทั่วกัน.

รุ่งขึ้นณวันพุฒ เดือน ๑๐ ขึ้น ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขอถ่ายพระรูป แล้วโปรดให้มีลครข้างในให้พวกอังกฤษแลฝรั่งเศสดู ให้พาภรรยาเจ้าเมืองสิงคโปร์เข้าไปข้างใน ได้พระราชทานทองแลก๊าศพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทุกพระองค์ เวลาบ่าย ๓ โมง ๑๕ นาที เสด็จลงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช พวกทหารปืนใหญ่ยิงสลุตส่งเสด็จ ๒๑ นัด ทหารที่ยิงปืนปัศตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดไปข้างหนึ่งตายในที่นั้น เรือพระที่นั่งออกจากที่ทอดน่าค่ายหลวงใช้จักรมากรุงเทพมหานคร.


  1. คือ เตรียมการโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์.
  2. ชื่อ หวาด บุนนาค ในรัชกาลที่ ๕ ได้เปนพระยาอรรคราชนารถภักดี.