ข้ามไปเนื้อหา

จันทเสนชาดก

จาก วิกิซอร์ซ

พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเนกขัมมานิสงส์ ตรัสเทศนาชาดกนี้ว่า ปญฺจกามคุรํ ชหนฺติ ดังนี้ ความมีอยู่ว่า วันหนึ่ง พระศาสดา ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ เป็นของไม่มีแก่นสาร เปรียบปานว่าต้นละหุ่ง เปรียบดังว่าต้นกล้วยอุปมาดุจฟองน้ำ และอุปมาเช่นกับสายฟ้าแลบ อนึ่ง ชนเหล่าใด ย่อมสร้างพระพุทธ ปลูกต้นมหาโพธิ์ ก่อพระเจดีย์ สร้างพระวิหาร สร้างสะพานเป็นต้น ชนเหล่านั้น ครั้นทำลายขันธ์จากโลกนี้ ย่อมขึ้นไปบังเกิดในเทวโลก ดังนี้ ก็แล ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพอยู่ อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัต เสวยสิริราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระราชานั้นประกอบด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยภาวนา ถวายทาน ทรงประกาศแนะนำมหาชนชาวพระนครให้บริจาคทาน ให้กระทำปฏิสังขรณ์พระอารามอันชำรุดคร่ำคร่า ให้ทำบุญกิริยาวัตถุ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ บังเกิดในตระกูลคนเข็ญใจ เป็นคนกำพร้า เที่ยวเก็บฟืนและผักในป่ามาขายเลี้ยงชีวิตกับด้วยภรรยา ในสมัยหนึ่ง ทุคคตบุรุษโพธิสัตว์นั้นเข้าไปสู่ป่ากับภรรยาเพื่อจะเก็บฟืนและผักมาขายในตลาดเลี้ยงชีวิตของตน วันหนึ่งทุคคตบุรุษนั้นได้เห็นพระพุทธรูปในวิหารอันคร่ำคร่าหลังหนึ่ง ซึ่งมีพระเศียรพระกรรณและพระบาทหักทำลาย เพราะฝนตกเซาะ จึงปรึกษากับภรรยาว่าควรเอาดินเหนียวมาขยำทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป พระพุทธรูปที่ชำรุดหักพังนั้น ก็กลับบริบูรณ์เป็นปรกติดี ครั้นเวลาเย็น ยุคคตบุรุษนั้นกลับมาเคหสถาน พูดกะภรรยาว่า เราปรารถนาจะปิดทองพระพุทธรูป ทำไฉน จักได้ปิดทอง ภริยาจึงพูดกะสามีว่า ท่านจงพาตัวข้าพเจ้าไปขายในเรือนผู้มั่งคั่ง แล้วถือทรัพย์จากเรือนนั้นมาซื้อทองปิดพระพุทธรูปตามความปรารถนาเถิด พระโพธิสัตว์ พาภรรยาไปยังสำนักของผู้มั่งคั่ง ขายภรรยา แล้วรับเอาเงินมาซื้อทองคำเปลวปิดพระพุทธปฏิมากร ก็แล ครั้งทั้งสองปิดทองเสร็จแล้ว มีจิตโสมนัส ตั้งความปรารถนาว่า จักเป็นพระพุทธสัพพัญญูในอนาคตกาลภายหน้า ส่วนภรรยาตั้งความปรารถนาว่า ขอรัศมีทั้งหลายจงปรากฎ ขอให้ข้าพเจ้ามีสีกายอันงามดุจสีทองคำธรรมชาติ สว่างไปในทิศทั้งปวง ครั้นกาลต่อมา ภรรยาของพระโพธิสัตว์ก็พ้นจากความเป็นทาสี ผัวเมียทั้งสอง ก็มีจิตยินดีในการกุศล ระลึกถึงบุญที่ตนได้กระทำกุศลวัตรตราบเท่าอายุกาล เมื่อพระโพธิสัตว์มีอายุถึงปริโยสานที่สุด ก็มีเทพบุตรนำเอารถมาจากเทวโลกลอยอยู่ในอากาศ แล้วร้องเชิญว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ท่านจงมาเถิด มาขึ้นรถไปสู่เทวโลกของเราทั้งหลาย พระโพธิสัตว์จึงถามเทพบุตรทั้งหลายว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่มีสมภารอันก่อสร้างแล่้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นไหน ครั้นเทพบุตรเหล่านั้นบอกว่า ในดุสิตเทวพิภพ จึงกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ท่านทั้งหลายจงนำเราไปในพิภพดุสิตนั้น พระมหาบุรุษ ประหนึ่งว่าขึ้นสู่รถหลับแล้วและตื่นขึ้น ไปเกิดในวิมานทองอันสูงได้ ๑๒ โยชน์ เกลื่อนกล่นไปด้วยนางเทพอัปสรเป็นยศบริวาร อันมีในดุสิตเทวสถาน จุติจากดุสิตเทวพิภพนั้นแล้ว ถือเอาปฏิสนธิในครรภ์อัครมเหสีแห่งพระเจ้าพรหมทัต พระมารดานั้น ครั้นถ้วนทศมาส ก็ประสูตรพระโอรส ในวันที่พระโพธิสัตว์นั้นประสูติห่าฝนแก้ว ๗ ประการ ก็ตกลงที่ลานพระหลวง ประดุจดังมหาเมฆ และประดุจดวงพระจันทร์และพระอาทิตย์ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ในวันถวายพระนามโพธิสัตว์นั้น พระประยูรญาติ จึงถวายพระนามว่าจันทเสนกุมาร พระโพธิสัตว์นั้นเจริญวัย มีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี ทรงมีพระลักษณะงดงาม พระเจ้าพาราณสี ทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ปิโยรสของพระองค์ ปรารถนาจะอภิเษกพระโอรสในสิริราชสมบัติ จึงส่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า พระยาทั้งร้อยเอ็ดพระนครจงประดับตกแต่งธิดาของตนๆ ส่งมา พระยาทั้งร้อยเอ็ด ได้ทราบราชสาส์นของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ต่างก็ประดับตกแต่งธิดาของตนๆ ส่งไปยังสำนักของพระเจ้าเมืองพาราณสี เมื่อพระจันทเสนราชกุมารโพธิสัตว์ ตรวจดูซึ่งพระธิดาของพระยาร้อยเอ็ด มิได้เป็นที่พอพระทัยของกุมารนั้นแม้แต่สักองค์หนึ่ง จึงถวายบังคมลาพระราชบิดามารดาเที่ยวเลือกหาภรรยาด้วยพระองค์เอง แล้วออกจากพระนครพาราณสีไป ก็ลุถึงเมืองอัมพังคนคร พระเจ้าอัมพังคราช ครองราชย์ในอัมพังคนคร ทรงมีธิดาองค์หนึ่งนามว่าอุบลวาเทวี นางมีพระรูปลักษณะอันอุดม เปรียบดังนางเทพอัปสร ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่นางได้ปิดทองพระพุทธปฏิมากร และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปในศาสนาพระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หญิงที่พระรูปเช่นกับพระนางนั้นไม่มี รัศมีกายของนางนั้นโอภาสสว่างไป ครั้งพระนางมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาก็ให้สร้างปราสาท ๗ ชั้นแล้วให้พระราชธิดาของพระองค์ขึ้นอยู่เบื้องบนปราสาท อยู่มาวันหนึ่ง นางอุบลวาราชกุมารี บรรทมอยู่บนพระที่สิริไสยาสน์ ถูกอำนาจกิเลสทำให้เร่าร้อน ครั้นเวลากึ่งราตรี เสด็จลุกขึ้นทรงพระกันแสงร่ำไห้ แล้วกลับบรรทมอีก พระเจ้าอัมพังคราช ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงดำริว่า ธิดาของเราร้องไห้ ชะรอยจะเป็นเพราะประสงค์จะมีสามี จึงมีรับสั่งให้เหล่าอำมาตย์ไปป่าวร้องพระยาร้อยเอ็ดพระนครว่า ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีกำลังมาก สามารถมีศิลปศาสตร์ได้ฝึกหัดแล้ว ผู้นั้น จงถือเอาธนูไปยิงรูปนกยูงยนต์ รูปนกยูงยนต์ประกอบด้วยจักรและยนต์ ตกลงมา พระเจ้าอัมพังคราชจะยกพระราชธิดาให้แก่ผู้นั้น ผู้นั้นจตงพาพระธิดานั้นตามความปรารถนา หลีกไป พระโพธิสัตว์จันทเสนกุมารนั้น ได้ฟังดังนั้น ถือธนูเข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระเจ้าอัมพังคราช ขึ้นธนูดีดสาย เสียงสายธนู บรรลือลั่นทั่วทั้งพระนคร พระจันทเสนกุมารโพธิสัตว์นั้น ยิงรูปนกยูงยนต์กับทั้งจักรไป รูปนกยูงยนต์กับทั้งจักรก็ตกลงแล้วแล พระเจ้าอัมพังคราช ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระหฤทัยโสมนัส จึงสวมกอดจันทเสนราชกุมารโพะสัตว์แล้วจุมพิตเศียรเกล้า ตรัสว่า ท่านจงเป็นบุตรเราเถิด บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งที่จะประเสริฐเสมอด้วยท่านนี้มิได้มี ธิดาของเราสมควรแก่ท่านผู้เดียว เราจักกระทำการอภิเษกยกธิดาของเราให้แก่ท่าน ดังนี้ พระราชาทรงกระทำมังคลาภิเษก พระราชทานพระธิดาแก่จันทเสนกุมาร พระโพธิสัตว์จันทเสนกุมาร ขึ้นอยู่บนปราสาท ๗ ชั้น เสวยสิริสมบัติเป็นมหัศจรรย์กับด้วยนางอุบลวาราชธิดา ดุจสมเด็จอัมรินทราเสด็จอยู่ในท่ามกลางเทพบริษัทมีนางสุชาดาเทพรัตนกัญญาเป็นประธานเสวยทิพยโภชนาหาร ฉะนั้น พระโพธิสัตว์จันทเสนกุมาร ครั้นพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ อันอำมาตย์ทั้งหลายพร้อมใจกันให้ครองสิริราชสมบัติในเมืองพาราณสี ทรงปกครองประชาชนด้วยการยกเลิกราชทัณฑ์ ทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังควัตถุ ๔ ประการ ทรงบำเพ็ญทานทุกวัน รักษาอุโบสถศีลในวันปักขอุโบสถ รักษาศีล ๕ อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จประทับนั่งเหนือสยนอาสน์แล้ว ทรงพระดำริว่า บัดนี้ ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มาถึงแล้ว มรณธรรมก็จักมาถึงเรา ดังเรามีความสลด ราชสมบัติอันมากมาย ที่จะตามบุคคลผู้ไปยังปรโลกมิได้มี โดยที่สุดแม้แต่ร่างกายของตน สัตว์โลกก็จำต้องจะทิ้งไว้ จะพาไปก็มิได้ ก็จำต้องละสิ่งของทั้งปวงไปเป็นธรรมดา ประโยชน์อะไรของเรา ด้วยการอยู่ครองราชสมบัติ เราจะบวช ดังนี้แล้ว จึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีของพระองค์แล้ว ละกามคุณ ๕ ถวายบังคมลาพระชนนีเข้าไปสู่หิมวันตประเทศ ถือบรรพาเพศเป็นดาบส อยู่ในหิมวันตประเทศ เจริญพรหมวิหาร ๔ ได้ญานสมาบัติแล้ว ครั้นสิ้นชีพทำลายขันธ์ ได้เข้าถึงพรหมโลก