ประกาศพระราชบัญญัติแลพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 5/เล่ม 7/เรื่อง 10
วิธีพิจารณาความอาญา ศก ๑๒๐
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความอาญาได้ ดังต่อไปนี้
มาตรา๑ห้ามไม่ให้ศาลใดศาลหนึ่งออกหมายจับ เว้นไว้แต่จะได้เรียกตัวโจทย์ฤๅตัวผู้ขอหมายมาซักไซ้ไล่เลียงสาบาลเล่าเรื่อง แลถ้ายังไรให้มีพยานให้การประกอบคำด้วยเปนดี แต่ถ้าอัยการก็ดี ฤๅเจ้าพนักงานเจ้าน่าที่จะขอหมายจับแล้ว ไม่จำเปนต้องสาบาลให้การ ให้บอกเหตุพอสั้น ๆ ก็ใช้ได้
มาตรา๒ห้ามไม่ให้ศาลรับฟ้องราษฎรเรียกข้าราชการเปนจำเลยในความอาญามีข้อหาในเรื่องที่เกี่ยวกับน่าที่ราชการ เว้นไว้แต่โจทย์จะได้นำพยานมาสืบบ้างแล้วพอเห็นได้ว่าจำเลยพิรุธ จึ่งค่อยให้ออกหมายไปถึงจำเลยผู้นั้น แลถึงผู้บังคับเจ้าพนักงานผู้นั้นให้ทราบไว้อีกฉบับหนึ่ง แลหมายที่จะออกนั้น ให้เปนหมายเรียกก่อน เมื่อเรียกไม่มาแล้ว จึ่งค่อยให้ออกหมายจับ[1]
มาตรา๓ในมณฑลกรุงเทพฯ ให้ผู้ว่าราชการเมือง อธิบดี รองอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกรม กองตระเวน แลในหัวเมืองนอกจากมณฑลกรุงเทพฯ ให้ผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอ มีอำนาจออกหมายจับส่งศาล แลออกหมายค้นบ้านเรือน แลออกหมายเรียกพยานได้เหมือนอย่างผู้พิพากษาศาลโปริสภา ถ้าอธิบดี รองอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกรม ผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอ ไปเอง จะจับจะค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย
มาตรา๔ห้ามไม่ให้ผู้พิพากษาออกหมายค้นวังพระบรมวงษานุวงษ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป เว้นไว้แต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ประกาศมาณวันที่ ๒๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ เปนวันที่ ๑๑๘๕๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
- ↑ มีใบบอกแก้คำผิดให้แก้ข้อความทั้งมาตรา 2 เป็นดังนี้ “ห้ามไม่ให้ศาลประทับฟ้องราษฎรเรียกข้าราชการตลอดถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้ตั้งตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก 116 เปนจำเลยในความอาญามีข้อหาในเรื่องที่เกี่ยวกับน่าที่ราชการ เว้นไว้แต่โจทย์จะได้นำพยานมาสืบบ้างแล้วพอเห็นได้ว่าจำเลยมีพิรุธ จึงให้ศาลส่งฟ้องไปให้แก่ผู้บังคับข้าราชการที่เปนจำเลยนั้นให้ทราบก่อน 3 วัน แล้วจึงให้ออกหมายไปถึงจำเลยผู้นั้น” (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)