ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๑

จาก วิกิซอร์ซ
(เปลี่ยนทางจาก ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๑)
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉบับที่ ๓๑
เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
..................................................

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลบังคับใช้ต่อไปด้วยนั้น โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเรื่องค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะว่างเว้นจากการมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ และข้อ ๒ ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ข้อ ๑ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก และให้ถือว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อ ๒ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก"

ข้อ ๒ ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศฉบับดังกล่าว และมีวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อ ๓ กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้ดำเนินการตามมาตรา ๓๔ เช่นเดียวกับกรณีการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

ข้อ ๔ ในการดำเนินการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะยื่นคำร้องของผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมีหรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้

เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดให้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับทรัพย์สินโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะมีมติว่าทระพย์สินนั้นมิได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้อง แต่ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ก็ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้นั้น

ข้อ ๕ ในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

ข้อ ๖ ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช้บุคคลตามมาตรา ๖๖ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้

ข้อ ๗ การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ว่าเป็นมติในการวินิจฉัยหรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ถือเสียงข้างมาก

ข้อ ๘ บรรดาบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน


ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"