ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 34/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
ว่าด้วยหนังสือสัญญาค้าขาย
ระหว่างประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศส
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ ประเทศสยามได้ทำการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปอยู่หลายคราว ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๒๓ ไปจนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงแต่งทูตออกไปยังเมืองฝรั่งเศสถึง ๓ คราว แลพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสในเวลานั้น ก็ได้ทรงแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศสยามรวมถึง ๒ ครั้ง

การที่ประเทศทั้งสองได้มีการเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันเช่นนั้น ก็ย่อมเปนธรรมดาอยู่เองที่ต่างฝ่ายจะต้องมีหนังสือสำคัญ ๆ เกิดขึ้นฝ่ายละหลาย ๆ ฉบับ มีจดหมาย รายงาร แลใบบอก ฯลฯ เปนต้น ทางประเทศสยามนี้ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาได้มาถูกพม่าเผาเสียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ สรรพหนังสือสำคัญต่าง ๆ เหล่านั้นจึงได้เปนอันตรายสาบสูญเสียหมด แต่ยังดีอยู่หน่อยหนึ่งที่หนังสือต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงการเกี่ยวข้องระหว่างประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศส เปนต้นว่า หนังสือที่เมืองไทยส่งไปให้ฝรั่งเศสก็ดี หรือต้นร่างหนังสือ ที่ฝรั่งเศสมาเมืองไทยก็ดีนั้น เวลานี้ ทางประเทศฝรั่งเศสยังเก็บไว้พร้อมบริบูรณ์ที่เมืองปารีสในสถานที่ต่าง ๆ กันรวม ๓ แห่ง คือ บันดาต้นร่างจดหมายแลต้นร่างหนังสือคำสั่งต่าง ๆ ของฝ่ายฝรั่งเศสที่จะส่งมาเมืองไทยนั้น เก็บไว้ที่คลังหนังสือกระทรวงการต่างประเทศแห่งหนึ่ง แต่หนังสือประเภทนี้มีไม่มากฉบับนัก (Vol. Asie 2, Asie 3, Asie 4, Asie 6,) สำเนาจดหมายที่ส่งมาเมืองไทยก็ดี จดหมายที่ได้รับตอบไปจากเมืองไทยก็ดี ได้แยกเก็บไว้เปนสองแห่ง ที่คลังหนังสือกระทรวงการทหารเรือแห่งหนึ่ง (คลังนี้ได้รวมกับคลังหนังสือของประเทศแล้ว Series B I, vol. 39, 40, B 2, vol. 51 & seq, B 4, Vol. II, 32,133.150), กับคลังหนังสือกระทรวงการประเทศราชอีกแห่งหนึ่ง (Vol. C I. 22 to 27, and Asie Orientale 52) ส่วนหนังสือสัญญาค้าขายแลจดหมายของทูตสยามซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้พบที่กระทรวงการประเทศราชที่กรุงปารีส

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงหนังสือสัญญาจดหมายเหล่านั้น ข้าพเจ้าจะขอเล่าถึงการเกี่ยวข้องระหว่างประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๐๗ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ เสียก่อน ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะขอเล่าพอเปนสังเขป ด้วยว่าเหตุการณ์ในยุคนี้ได้มีปรากฎในหนังสือของมองสิเออร์ลูเซียน ลันเย ชื่อว่า เอจู๊ด ฮิสตอริค ซูร์ แล เรอลาสิออง เดอ ลา ฟรางส์ เอ ดู โรโยม เดอ เซียม (ว่าด้วยการเกี่ยวข้องระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับพระราชอาณาจักร์สยาม) เรื่อง ๑ ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ นั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้ถือเอาหนังสือเอกสารทั้งสิ้นซึ่งเก็บอยู่ณสถานที่ทั้ง ๓ แห่งที่กรุงปารีสนั้นเปนหลักฐาน นอกจากหนังสือของมอสิเออร์ลูเซียน ลันเย ผู้นี้แล้ว ยังมีหนังสือของบาดหลวงอาแอฟ อาเดรียน ลอเนย์ ชื่อว่า อีสตัวร์ เดอลา มิสสิออง เดอเซียม (เรื่องบาดหลวงฝรั่งเศสมาเมืองไทย) ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ อีกเรื่องหนึ่ง[1] หนังสือเรื่องนี้ได้กล่าวถึงเรื่องมิซชันนารีฝรั่งเศสเข้ามายังประเทศสยามไว้โดยเลอียดพิสดาร แลรวบรวมจดหมายแลบันดาเอกสารต่าง ๆ ซึ่งสมาคมสาสนาทูตต่างประเทศที่กรุงปารีสได้เก็บไว้มาพิมพ์ลงในหนังสือนั้นอีกด้วย ในที่นี้ ข้าพเจ้าจึงขอเล่าแต่ตอนสำคัญ ๆ แลโดยย่อ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องหนังสือสัญญาแลจดหมายทั้งสองฉบับซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้ติดต่อมาตั้งแต่ต้น

เหตุที่ประเทศสยามได้มีการเกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก็เนื่องมาจากพวกมิซชันนารีฝรั่งเศสก่อน คือ มีมิซชันนารีฝรั่งเศสชุดหนึ่ง มีมองเซนเยอร์ปาลู บิชอบเอลิโอโปลิส กับมองเซนเยอร์เดอ ลา มอธ ลัมแบร์ต บิชอบเบริธ เปนหัวหน้า ได้เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๒๐๕ นับว่า เปนมิซชันนารีชุดแรกที่ได้มาเมืองไทย แต่การที่มาในครั้งนั้นหามีเรื่องราวทางราชการปรากฎไม่ ต่อมาอีกจนถึง พ.ศ. ๒๒๑๖ การเกี่ยวข้องในทางราชการระหว่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ จึงได้เกิดขึ้น คือ มองเซนเยอร์ปาลูซึ่งเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ นั้น ได้กลับออกไปประเทศยุโรป แลได้ไปเฝ้าโป๊ปที่กรุงโรมเพื่อปรึกษาในเรื่องการสาสนา เมื่อกลับเข้ามาเมืองไทย ได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าหลุย แลศุภอักษรของโป๊ป พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ เข้ามาถวายสมเด็จพระนารายณ์ด้วย เพื่อเปนการแสดงความขอบพระทัยที่ได้ทรงอุปการะบันดามิซชันนารีทั้งหลายที่มาอยู่ในเมืองไทยให้ได้รับความร่มเย็น ประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสจึงได้เริ่มเกี่ยวข้องกันตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อบริษัทค้าขายฝรั่งเศสแพนกอินเดียตวันออก ซึ่งท่านเสนาบดีกอลแบร์ตตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ เพื่อแข่งขันการค้าขายกับบริษัทฮอลันดา ได้ทราบข่าวว่า พวกมิซชันนารีฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในเมืองนี้ได้รับความสุขสบาย ก็คิดเห็นเปนโอกาศเหมาะที่จะเข้ามาตั้งห้างค้าขายในเมืองไทย ที่สุด ตั้งห้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาได้ห้างหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ นับว่า เปนห้างค้าขายฝรั่งเศสห้างแรกที่มาตั้งในเมืองไทย

ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ ครั้นทรงเห็นว่า มีพ่อค้าฝรั่งเศสเข้ามาทำการค้าขายถึงเมืองไทย แลทรงทราบข่าวที่พระเจ้าหลุยได้ไชยชนะสงคราม จึงทรงแต่งทูตชุดหนึ่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสที่เมืองแวร์ไซย นับว่า เปนทูตไทยชุดแรกที่ไปเมืองฝรั่งเศส ทูตานุทุตที่ไปในครั้งนั้น คือ ออกญาพิพัฒน์ราชไมตรี ออกหลวงศรีวิสารสุนทร ออกขุนนครวิไชย กับข้าราชการคนไทยอีกกว่า ๒๐ คน คณะทูตได้ออกเดิรทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่เรือที่พาทูตไปนั้นหาได้ไปถึงเมืองฝรั่งเศสไม่ ไปถูกพายุเปนอันตรายแตกเสียที่ฝั่งตวันออกของเกาะมาดากาสการ์ เหตุร้ายเรื่องนี้ไม่ทราบมาถึงเมืองไทยเลย จนเวลาล่วงมาอีกถึง ๓ ปี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๒๕ กรุงศรีอยุธยาได้รับพระราชสาสนจากพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ อีกฉบับหนึ่ง ทางเมืองไทยจึงทราบเรื่องว่า ทูตที่ออกไปคราวแรกนั้นหาได้ไปถึงเมืองฝรั่งเศสไม่

เมื่อการเปนดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงได้ทรงแต่งทูตออกไปยังประเทศฝรั่งเศสอีกคราวหนึ่ง นับว่า เปนทูตครั้งที่ ๒ ทูตที่ออกไปครั้งนี้เพื่อจะได้ไปสืบข่าวทูตครั้งแรก แลเชิญพระราชสาสน เครื่องราชบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าหลุย แลนำของไปพระราชทานแก่ท่านเสนาบดีกอลแบร์ตด้วย

ทูตานุทูตในครั้งที่ ๒ นี้เปนข้าราชการไทย ๒ คน นอกจากนั้น ยังมีบาดหลวงวาเชตเปนมิซชันนารีฝรั่งเศส ตามออกไปด้วยอีกคนหนึ่ง คณะทูตได้โดยสานเรืออังกฤษออกจากเมืองไทยเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๒๖ ไปขึ้นที่ท่าเมืองมาร์เกท ท่าเรือประเทศอังกฤษ แล้วเดิรทางไปเมืองลอนดอน พักอยู่ลอนดอนได้ไม่ช้านัก ก็ข้ามมาประเทศฝรั่งเศส อยู่ที่ฝรั่งเศสจนถึงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๗ จึงได้กลับเมืองไทย ทูตครั้งนี้มีชื่อเสียงเหมือนครั้งหลังซึ่งเปนครั้งที่ ๓ ที่ได้ออกไปยังประเทศฝรั่งเศสในปีต่อมานั้นไม่ บาดหลวงอาฟ วาเวตผู้ได้เดิรทางไปด้วยนั้น ได้จดหมายเหตุเรื่องราวของทูตครั้งที่ ๒ นี้ไว้โดยเลอียด เรื่องราวเหล่านั้นมีปรากฎอยู่ในหนังสือของบาดหลวงอาฟ ลอเนย์ ซึ่งได้พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้นแล้ว ชื่อของคณะทูตครั้งที่ ๒ นี้ยังหาทราบไม่ เท่าที่ทราบกันอยู่ก็แต่เพียงว่า เปนข้าราชการชั้นผู้น้อย ในทางสติปัญญาแลกิริยามารยาทก็ผิดกับทูตครั้งหลังซึ่งได้รับความชมเชยจากชาวฝรั่งเศสเปนอันมาก ทูตครั้งที่ ๒ นี้ได้รับความลำบากต่าง ๆ ในขณะเมื่ออยู่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากตนขาดไหวพริบในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเข้าใหม่ ๆ

การที่ทูตไทยออกไปยังประเทศฝรั่งเศสในครั้งที่ ๒ นั้น เกิดผลอย่าง ๑ คือ เปนเหตุให้ฝรั่งเศสส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรียังพระราชสำนักสยาม นับว่า เปนทูตฝรั่งเศสครั้งแรกที่ได้เข้ามาเมืองไทย มีมองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง เปนราชทูตคุมมา แลมีมองสิเออร์เดอ ชัวสี มองสิเออร์เชอวาเลีย เดอ ฟอรแปง บาดหลวงตาชาร์ต กับมีพวกเยซูอิต แลพวกขุนนางหนุ่ม ๆ อีกหลายคนเดิรทางเข้ามาด้วย ทูตฝรั่งเศสครั้งที่ ๑ นี้ได้ออกเดิรทางจากเมืองเบรสต ท่าเรือประเทศฝรั่งเศส แต่วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๗ มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ เมื่อกลับไปถึงเมืองฝรั่งเศสแล้ว ได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ แลพิมพ์ไว้จากเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นเอง เราจึงทราบถึงระยะทางของเขาได้เปนวัน ๆ ไป แลจนตลอดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาได้มาพบในเมืองไทย

ทูตฝรั่งเศสชุดนี้ เมื่อมาถึงเมืองไทย ทางฝ่ายเมืองไทยได้ต้อนรับอย่างเอิกเกริก แลได้มีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการอันมีค่าต่อกัน แลการที่ทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งนั้นมีความมุ่งหมายมาทำการเผยแผ่สาสนาเปนข้อใหญ่ แลถ้ามีโอกาศเหมาะ ก็จะได้เลยชักชวนสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงถือสาสนาคริสเตียนเสียด้วยทีเดียว ตลอดไปจนถึงขอทำการค้าขายติดต่อด้วย

ความประสงค์ของทูตในข้อแรก คือ คิดจะทำการขยายสาสนานั้น มีผลดี คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงทำหนังสือสัญญาฉบับ ๑ ยอมให้บันดามิซชันนารีฝรั่งเศสทำการสอนสาสนาได้ทั่วพระราชอาณาจักร สัญญาฉบับนี้ทำที่เมืองลพบุรี[2] เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ความประสงค์ที่จะเข้ามาจัดการค้าขายก็เปนผลดีเหมือนกัน คือ เมื่อวันที่ ๑๑ ในเดือนธันวาคมนั้นเอง บริษัทอินเดียตวันออกได้หนังสือสัญญาฉบับหนึ่งอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทยนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้าทั้งขาเข้าแลขาออก แต่มีข้อจำกัดแขงแรงอยู่ข้อหนึ่งว่า สินค้าต่าง ๆ บริษัทจะต้องไปซื้อที่คลังหลวงแต่แห่งเดียว ผู้จัดการบริษัทอินเดียในเมืองไทยมีอำนาจปกครองบังคับคนใช้ของบริษัทได้ตามความพอใจ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายดีบุกในเมืองถลางได้แต่ผู้เดียว มีตั้งห้างค้าขายแลสร้างโรงงารที่เมืองนั้นได้ เเลที่เมืองสงขลาก็อนุญาตให้ทำการค้าขายเเลสร้างป้อมได้ แต่การที่รัฐบาลไทยยอมยกสิทธิในสิ่งสำคัญ ๆ ให้แก่บริษัทอินเดียตวันออกโดยมิได้รับสิ่งใดเปนเครื่องตอบแทนเลยเช่นนั้นแล้ว ก็ยังหาเปนที่พอใจแก่กรรมการบริษัทนั้นไม่ ดังจะเห็นได้จากหนังสือสัญญาค้าขายฉบับหลัง ทำเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ซึ่งข้าพเจ้าได้พบต้นฉบับที่เมืองปารีสแลพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้

เมื่อได้กล่าวถึงกิจการของทูตฝรั่งเศสครั้งแรกที่ได้มากระทำการในระหว่างที่อยู่ในเมืองไทยนั้นแล้ว จะได้เล่าถึงตอนเขาเดิรทางกลับต่อไป

มองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง ราชทูต กับพวก พักอยู่ในเมืองไทย ๓ เดือน พอถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็เดิรทางออกจากกรุงศรีอยุธยากลับประเทศฝรั่งเศสไปถึงเมืองเบรสตวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ เมื่อทูตฝรั่งเศสจะกลับครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงแต่งทูตอีกชุดหนึ่งออกไปเจริญาทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุย เพื่อเปนกาตอบแทนที่ฝรั่งเศสได้มีทูตมาเมืองไทย ทูตไทยไปฝรั่งเศสครั้งนั้นเปนครั้งที่ ๓ แลในเที่ยวนั้นมีบุตรข้าราชการคนไทยตามออกไปศึกษาวิชาที่ฝรั่งเศสอีก ๑๒ คน ทูตานุทูตเดิรทางออกจากประเทศสยามพร้อมกับมองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง ได้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส ไปขึ้นที่เมืองเบรสต์ แล้วก็เดิรทางต่อไปจนถึงเมืองนังต์ เมืองออเลอัง เมืองฟองแตนบโล แลที่สุด ถึงกรุงปารีส ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่พระราชวังแวร์ไซย แลได้ไปเที่ยวตามสถานที่ ๆ น่าชมอีกหลายแห่งในกรุงปารีส แลได้ไปชมเมืองแฟลนเดอ ซึ่งเปนเมืองที่ฝรั่งเศสตีได้ใหม่ ๆ ด้วย เหตุการณ์ที่ทูตไทยได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศสในครั้งนั้น มีปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า โวยาช แด อัมบาสสาเดอร์ เดอ เซียม อัง ฟรางส์ (ระยะทางทูตไทยไปฝรั่งเศส) ตีพิมพ์ที่ปารีสปี พ.ศ. ๒๒๒๙ (หนังสือเล่มนี้มีอยู่ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร)

บัดนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงเรื่องส่วนตัว ตลอดถึงประวัติแลนิสสัยของทูตานุทูตไทยครั้งที่ ๓ แลได้มีจดหมาย ๒ ฉบับที่เขาเปนผู้เขียน แลข้าพเจ้าได้พบกรุงปารีส ได้พิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

เชอวาเลีย เดอ โชมอง ได้เขียนไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของเขา (หน้า ๒๑๑–๒๑๒) ว่า "ทูตานุทูตชุดนี้เปนคนดีที่สุดในโลก เปนคนเฉย ได้เคยรับการศึกษาอย่างดี เปนคนอ่อนน้อม แลอารมณ์ดี หวังว่า เขากับข้าพเจ้าคงเปนมิตร์สหายที่สนิทสนมกันต่อไป"

ทูตานุทูตในครั้งนี้ คือ ออกพระวิสุทสุนทร เปนราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เปนอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา เปนตรีทูต

ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต เปนผู้มีอายุ ได้เคยเปนทูตไปประเทศจีน ๒ ครั้ง ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูตนั้น ยังหนุ่มอยู่ อายุราว ๆ ระหว่าง ๒๕ ถึง ๓๐ เปนบุตร์ชายของข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ เคยเปนทูตไปเมืองปอจุเกต ตัวท่านออกขุนศรีเองก็ได้เคยเปนทูตไปเมืองโมกัล ครั้งหนึ่ง ส่วนท่านราชทูต ออกพระวิสุทสุนทรนั้น เราทราบเรื่องราวของท่านเลอียดกว่าเรื่องราวของคนอื่น ๆ นามเดิมของท่านชื่อ ปาน คนไทยเรียกกันติดปากว่า โกษาปาน เปนน้องชายของออกญาพระคลังเก่า ออกพระวิสุท เมื่อก่อนจะเปนราชทูตไปฝรั่งเศส ได้รับราชการร่วมอยู่กับพี่ชาย ๑๕ ปี เมื่อมองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง มาเมืองไทย พอมาถึงสันดอน ก็พบกับออกพระวิสุทซึ่งออกไปรับ แลเปนคนไทยคนแรกที่มองสิเออร์เดอ โชมอง พบ แลในระหว่างเวลาที่มองสิเออร์เดอ โชมอง อยู่เมืองไทย ออกพระวิสุทได้ไปเยี่ยมเยียนที่บ้านแทบทุกวัน มองสิเออร์เดอ โชมอง ได้เขียนไว้ในหนังสือจดหมายเหตุ (หน้า ๒๑๐–๒๑๑) ว่า "ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นพระวิสุท ข้าพเจ้าก็ทราบได้ทันทีว่า เปนคนมีตระกูลแลเปนคนฉลาด ข้าพเจ้าได้พูดกับเจ้าพระยาวิชเยนทรว่า ชายคนนี้แลสมควรที่จะเปนราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส"

พระวิสุทสุนทรคนนี้เปนคนฉลาดจริงไม่ต้องสงสัย เรื่องราวต่าง ๆ ในหนังสือเรื่องทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศสเปนเรื่องราวของแกเสียโดยมาก มีคำพูดจาโต้ตอบกัน สนทนากัน แลเรื่องอื่น ๆ อีกมาก เรื่องราวเหล่านี้ ผู้แต่งจะเพิ่มเติมลงบ้างก็มี แต่มีส่วนเปนจริงอยู่มาก

มองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง กล่าวไว้ในจดหมายเหตุเขา (หน้า ๒๑๑) ว่า พระวิสุทสุนทร เมื่อเห็นอะไรแล้ว เปนต้องจดหมดทุกอย่าง "เช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้ายินดีเปนอันมาก เพราะเปนการแสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้พบในเมืองฝรั่งเศสนั้นล้วนแต่เปนสิ่งสำคัญ ๆ น่าชมทั้งสิ้น แลเมื่อเขากลับไปถึงเมืองไทยแล้ว เขาจะได้กราบทูลสิ่งที่เขาได้ไปเห็นต่อพระเจ้าแผ่นดินของเขาได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด"

เรื่องราวต่าง ๆ ของทูตไทยซึ่งมีปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่านั้น ถ้าแม้มีข้อพิศูจน์ยืนยันว่า เปนคำกราบทูลของออกพระวิสุทสุนทรเองต่อสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระวิสุทสุนทรก็ออกจะกราบทูลเกินความจริงไปมาก ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่านั้นมีข้อความว่า ท่านราชทูตได้แสดงวิชาเวทมนต์คาถาให้เห็นว่า ทหารไทยอยู่คงกพันชาตรีต่อหน้าพระที่นั่งพระราชวังแวร์ไซยนั้นตอนหนึ่ง แลอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า พระเจ้าหลุยโปรดได้พระราชทานหญิงฝรั่งเศสคนหนึ่งให้เปนภรรยา ข้อความทั้ง ๒ ตอนนี้ ถ้าจะไปลงความเห็นว่า พระวิสุทสุนทรเปนผู้พูดเอง ก็ดูออกจะไม่ยุติธรรม เพราะว่า พระราชพงศาวดารนั้นพึ่งจะได้มารวบรวมขึ้นเมื่อราว ๆ พ.ศ. ๒๔๔๓ นี้เอง ซึ่งเปนเวลาที่ห่างจากสมัยพระวิสุทสุนทรมามาก ข้าพเจ้าเองเข้าใจว่า เปนคำที่ปนมากับข่าวโจษซึ่งลือกันอยู่ในเมืองไทยถึงเรื่องต่าง ๆ ของราชทูตผู้มีชื่อเสียงคนนี้

ข้าพเจ้าได้พบข้อความตอนหนึ่งในหนังสือจดหมายเหตุของมองสิเออร์เซเบอเรซึ่งยังมิได้พิมพ์ออกเปนเล่ม ข้อความนั้นได้กล่าวถึงความสามารถในทางการของพระวิสุทสุนทร มองสิเออร์เซเบอเรผู้นี้ได้เปนทูตฝรั่งเศสในครั้งที่ ๒ เดิรทางมาเมืองไทยพร้อมกันกับพระวิสุทสุนทรกลับ มีข้อความว่า "บาดหลวงตาชาร์ตเคยพูดกับข้าพเจ้าว่า เขาไม่เคยหวังใจเลยที่พระวิสุทสุนทรจะมีใจคอยช่วยเหลืออุดหนุนชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในเมืองไทยนี้จริง ๆ เพราะว่า พระวิสุทสุนทรเปนผู้ถือพระพุทธสาสนาอย่างเคร่งครัด บาดหลวงตาชาร์ตคิดว่า เมื่อพระวิสุทสุนทรกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว คงจะประพฤติตนกับชาวฝรั่งเศสคล้อยไปตามทางราชการ คือ ถ้าทางราชการชอบชาวฝรั่งเศสอยู่แล้ว พระวิสุทสุนทรก็จะพลอยผสมชอบแลคอยช่วยเหลือด้วย แต่ถ้าทางราชการไม่ชอบชาวฝรั่งเศส พระวิสุทสุนทรก็จะเฉยเสียไม่ช่วยเหลือ แลแสดงตนว่า ไม่ชอบด้วย" ตามถ้อยคำของบาดหลวงตาชาร์ตที่กล่าวมานี้ พระวิสุทสุนทรมีนิสสัยอย่างไร เราก็พอจะหยั่งเห็นได้

ออกพระวิสุทสุนทร เมื่อกลับจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ได้เปนคนมีชื่อเสียงมาก ได้รับราชการอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ ซึ่งสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แลเกิดการจลาจลขึ้น พระเพทราชาได้ราชสมบัติ ราว ๆ ต้นแผ่นดินพระเพทราชา ออกพระวิสุทสุนทรได้เลื่อนยศขึ้นเปนพระยาโกษาธิบดีว่าที่พระคลัง ต่อมาภายหลัง ได้เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาศรีธรรมราช เดชชาติอำมาตยานุชิต พิพิธรัตนราชโกษาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ

แม้ว่าพระวิสุทสุนทร เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ได้รับยศแลตำแหน่งสูงที่สุดแล้วเช่นนั้นก็ดี ต่อมาภายหลัง ท่านได้มาถึงอสัญกรรมลงอย่างน่าสลดใจ ดังจะเห็นจากจดหมายเหตุของมองสิเออร์โบรด ซึ่งเปนมิซชันนารีอยู่ที่เมืองไทยในเวลานั้น (พ.ศ. ๒๒๔๓) จดหมายเหตุฉบับนี้มีปรากฎอยู่ในหนังสือของบาดหลวงอาฟ ลอเน (เล่ม ๒ หน้า ๔๔) มีใจความว่า

"ท่านพระคลังได้ถึงแก่อสัญกรรมเสียเมื่อสองเดือนล่วงมาแล้ว เนื่องด้วยถูกโบยด้วยเชือก แลด้วยความโทมนัสที่ถูกโบยแลถูกลงอาญาเนือง ๆ เมื่อ ๔ ปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินกริ้วด้วยเรื่องต่าง ๆ ได้เอาพระแสงตดจมูกท่าน เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงสงสัยว่า เปนขบถ ต้องถูกไต่สวน แลต้องโทษต่าง ๆ บุตร์สาวหัวปีคน ๑ บุตร์ชาย ๓ คน ภรรยาหลวง ภรรยาน้อย ถูกจับแลต้องจองจำ ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของท่านถูกริบก่อนวันที่ท่านจะถึงอสัญกรรม ๓ วัน แลมีข่าวลือกันต่อ ๆ ไปว่า ท่านมีความเสียใจ ได้เอามีดแทงตัวตาย ฝ่ายทางราชสำนักก็ได้แก้ข้อมลทินสงสัยต่าง ๆ เมื่อได้แสดงว่า มีความเสียใจที่ท่านพระคลังได้ถึงแก่อสัญกรรมลงแล้ว ได้กล่าวโทษหาว่า แพทย์ผู้หนึ่งวางยาท่านพระคลัง แลได้โบยแพทย์จีนผู้นั้นเสีย ส่วนศพท่านพระคลังนั้นได้นำออกไปฝังไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในเวลากลางคืนโดยมิได้มีการทำบุญให้ทานอย่างใดตามธรรมเนียม นับว่า เปนการลดเกียรติยศศพของท่านอย่างยิ่ง ท่านราชทูตไทยที่มีชื่อเสียงซึ่งได้ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงเมืองฝรั่งเศส แลได้เปนถึงอรรคมหาเสนาบดีของพระมหากษัตริย์แผ่นดินสยาม ก็มาสิ้นชื่อลงเพียงนี้เอง"

เมื่อได้ทราบเรื่องราวของทูตชุดที่ ๓ นี้ทุก ๆ ท่านดีแล้ว ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงจดหมายของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าได้พบที่เมืองปารีสต่อไป

ทูตานุทูตไทย พร้อมด้วยทูตฝรั่งเศสครั้งที่ ๒ คือ มองสิเออร์เดอ ลา ลูแบร์ มองสิเออร์เซเบอเร บาดหลวงตาชาร์ต กับพวกเยซูอิต แลทหารฝรั่งเศสกอง ๑ ซึ่งมองสิเออร์แดฟาช กับมองสิเออร์ดือ บรึอัง เปนหัวหน้าคุมมา เดิรทางมาเมืองไทย ออกจากเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๒๙ ทหารฝรั่งเศสกองหนึ่งซึ่งเข้ามาพร้อมกับทูตนั้น พระยาวิชาเยนทรเปนผู้สั่งให้เข้ามาสำหรับมาอยู่ประจำป้อมที่กรุงเทพฯ แลที่เมืองมริด เพื่อเปนการรักษาพระราชอาณาจักร์

ทูตานุทูตกับพวกมาถึงเคป ออฟ กุดโฮบ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๐ พักอยู่ที่เคปจนถึงวันที่ ๒๕ จึงได้ออกเดิรทางต่อมา แต่ก่อนวันจะออกเรือวันหนึ่ง ท่านราชทูตได้มีจดหมายไปถึงบุคคลในประเทศฝรั่งเศสหลายคน บาดหลวงตาชาร์ตซึ่งได้เข้ามาเมืองไทยพร้อมกับทูตในครั้งนั้นได้เขียนไว้ในจดหมายเหตุระยะเดิรทางครั้งที่ ๒ (หน้า ๖๙) ว่า "ก่อนที่เราจะออกจากเคป ทูตไทยได้เขียนจดหมายหลายฉบับไปถึงบุคคลหลายคนในกรุงปารีส เปนจดหมายขอบบุญขอบคุณ ข้าพเจ้ายินดีจะนำจดหมายเหล่านั้นมาพิมพ์ให้หมด ซึ่งหวังว่า คงจะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่านเปนอันมาก แต่จดหมายเหล่านั้นข้าพเจ้าได้ไว้ฉบับเดียวเท่านั้น คือ ฉบับที่ราชทูตวานให้ข้าพเจ้าส่งต่อไปให้ท่านอาฟ เดอ ลา แชส์ ท่านปุโรหิตของพระเจ้าหลุย แลข้าพเจ้าได้แปลออกไว้เปนภาษาฝรั่งเศส โดยได้รับความช่วยเหลือจากล่าม"

จดหมายของราชทูตฉบับที่บาดหลวงตาชาร์ตได้แปลไว้นั้น ขึ้นคำนำว่า "หนังสือออกพระวิสุทสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต มาถึงบาดหลวงเดอ ลา แชส์" แลใช้คำลงท้ายว่า "หนังสือมาณเดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก ศักราช ๒๒๓๑ ตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๖๘๗"

จดหมาย ๒ ฉบับซึ่งข้าพเจ้าพบที่เมืองปารีสนั้นลงวันเดียวกันกับฉบับที่บาดหลวงตาชาร์ตแปลไว้ ฉบับ ๑ ถึงท่านมาควีส เดอ แซเญอแล บุตรชายของมองสิเออร์กอลแบร์ต ผู้เปนเสนาบดีของพระเจ้าฝรั่งเศส อีกฉบับ ๑ ถึงมองสิเออร์เดอ ลาญี ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตวันออก จดหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้มีตราออกพระวิสุทสุนทรประทับไว้เปนสำคัญ

สำเนาจดหมายฉบับที่ ๑

 หนังสือออกพระวีสุทสุนธร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวีสารวาจา ตรีทูต มาเถีงท่านมูสูสิงแฬ ผู้เปนเสนาบดีผู้ใหญ่แห่งพระมหากระษัตราธิราชเจ้าลุยเลกรัง ด้วยอัตโนทังปวงมาเถีงถาณที่นี้ แลได้รับคำนับ แลนับถือ แลเอาใจใส่พิทักษ์รักษาแห่งชาวฝรั่งเสดทั้งปวงซึ่งเข้าไปส่งอัตโนเถีงกรุงศรีอยุทธยานั้น จึงในท่าทางอันมาไกลนั้นมิได้มีความทุกข์ แลมีความสนุกสบายอยู่มิได้ขาด บัดนี้ อัตโนได้มีน้ำใจชื่นชมยินดี ด้วยได้พบท่าทางซึ่งจะสำแดงแก่ท่านขอบใจแห่งอัตโน ด้วยบุนคุณของท่านมีแก่อัตโนเมื่ออยู่ณกรุงฝรั่งษ แลอัตโนยังรับคุณของท่านอยู่จนเท่าทุกวันนี้ เถิงว่าท่าทางนั้นมิสดวกก็ดี อัตโนก็จะมิได้รู้เปนทุกเลย แลความสุขนั้นก็มิรู้หายเลย ด้วยอัตโนมีอันจะคิดถึงสรรพอันวิเศษซึ่งได้พบได้เห็นณกรุงฝรั่งษ แลเมื่อยังอยู่ณกรุงฝรั่งษ แลสรรพอันวิเศษนั้นก็กลุ้มอยู่ แลละสิ่งละสิ่งนั้นก็ชักชวนน้ำใจให้ไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ให้รำคานใจยอยู่หน่อยหนึ่ง แลบัดนี้ มีวันคืนอันเปล่าอยู่ สรรพอันตระการทั้งปวงนั้น อัตโนก็เรียกมาในความคิดพิจารณาเห็นละสิ่งละสิ่งด้วยยินดีให้สบายใจย แลอัตโนจำเปนจะว่าแก่ท่านตามจริง มิคิดเห็นความสนุกสบายในแผ่นดินนี้จะสนุกสบายเท่าหนึ่งคิดถึงยศศักดิ์แห่งพระมหากระษัตรเจ้าผู้ใหญ่อันหาผู้ใดจะแปลบุญสมภารให้สิ้นมิได้ ดุจหนึ่งพระมหากระษัตราธิราชผู้เปนเจ้าแห่งอัตโนได้ตรัสแต่ใดสองปีสามปีแล้วว่า พระมหากระษัตรเจ้ากรุงฝรั่งษนี้เห็นสมควรจะเปนพระมหากระษัตรทั้งปวงทั้งแขวงเอรอบ แลความคิดทั้งปวงนี้มิได้ออกจากปัญญาอัตโนจนเท่าบัดนี้ เหตุฉนี้ ถึงว่าใกล้ไปทุกวัน ๆ จะเถิงเมืองอัตโน แลเห็นมิช้ามินานจะเถิงทั้งนั้นก็ดี อัตโนยังคิดเถิงบ้านเมืองแต่หน่อยหนึ่ง

ประการหนึ่ง แม้นมีคิดเกรงกลัวว่า จะขาดความนบนอบแลความนับถือแห่งพระมหากระษัตรเจ้าผู้ใหญ่ จะขอแก่ท่านให้เอาทูลแก่พระมหากระษัตรเจ้าผู้ใหญ่ว่า อันความนับถือแลนบนอบต่อพระมหากระษัตรผู้ใหญ่กว่าอัตโนจะสิ้นชีวิตร อัตโนจะรักษาไว้ในหัวใจให้มั่นคง มิให้แพ้แก่ความนับถือแลนบนอบยินดีแห่งชาวฝรั่งเสดทั้งปวง แลจะอุส่าห์ทำให้ชนะทุกคนในความนบนอบนั้น อนึ่ง อัตโนขอแก่ท่านอันท่านมีน้ำใจยยินดีปราถนาบำรุงพระราชไมตรีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าทั้งสองกรุงนี้ให้มั่นคงจำเริญสืบไปในอนาคตกาล อนึ่ง ท่านมีน้ำใจยยินดีต่ออัตโนแต่เมื่อยังอยู่ในกรุงฝรั่งษนั้นประการใด ขอให้ท่านมีน้ำใจยยินดีต่ออัตโนสืบไป แลอัตโนขอพรแก่พระเปนเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างแผ่นดินขอให้ช่วยบำรุงโปรดท่านให้ท่านได้สำเร็จตามความปราถนาท่านจงทุกประการ.

หนังสือมาวันพุท เดือนแปด แรมสองค่ำ เถาะ นพศก สักราช ๒๒๓๑

สำเนาจดหมายฉบับที่ ๒

 หนังสือออกพระวิสุทสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต แลออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต มาเถีงมูสูลายี ซึ่งได้บังคับกุมปันหญีทั้งปวง

ด้วยท่านสำแดงความยินดีแลนับถือได้ให้สำเร็จการทั้งปวงตามพระราชหฤทัยพระมหากระษัตราธิราชผู้เปนเจ้าอัตโน แลบัดนี้ ได้พบท่าทางอันจะเขียนมาให้ท่าน แจ้งว่า มีน้ำใจยอันยินดีต่อท่าน เห็นว่า ท่านจะมีโกรด เมื่อแลท่านรู้ว่าอัตโนทั้งปวงมาเถิงถารณที่นี้เปนสุขสนุกสบายอยู่ แลอันมานี้เสมอใจยนึก แลเห็นว่า ยังสามเดือนจะได้ไปเถิงพระมหากระษัตราธิราชผู้เปนเจ้า แลจะได้เอาแจ้งให้ละเอียดว่า ท่านเอาใจยใส่ช่วยในราชการแห่งพระมหากระษัตราธิราช แลเชื่ออยู่ว่า ท่านมีน้ำใจยร้อนรนช่วยทำการทั้งปวง แลเห็นปีน่าท่านจะส่งเครื่องบันนาการอันเหลืออยู่นั้นเข้าไปตามพระมหากระษัตราเจ้าต้องประสงค์นั้น แลอัตโนขอให้ท่านช่วยเร่งรัดครูอันสั่งสอนเด็กซึ่งอยู่เรียนนั้นให้รู้สันทัด จะได้กลับเข้าไปยังกรุงศรีอยุทธยา อันพระมหากระษัตราธิราชเจ้าพระราชประสงค์นั้น แลอัตโนขอแก่พระเปนเจ้าให้บำรุงช่วยท่านให้มีบุญให้จำเริญสืบไป แลหนังสือนี้เขียนณเมืองกาบ ในวันพุท เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีเถาะ นพศก สักราช ๒๒๓๑

ออกพระวิสุทสุนทรกะไว้ว่า จากเคป ออฟ กูด โฮป กว่าจะมาถึงเมืองไทยราว ๆ ๓ เดือนนั้นไม่ผิดเลย ด้วยว่า ตัวแก พร้อมด้วยทูตฝรั่งเศส แลคนทั้งหลาย ได้มาถึงสันดอนวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่งนับเวลาได้ ๓ เดือนกับ ๒ วันพอดี

ทูตานุทูตฝรั่งเศสครั้งที่ ๒ นี้ คือ มองสิเออร์ลา ลูแบร์ กับมองสิเออร์เซเบอเร ได้พักอยู่เมืองไทย ๓ เดือน ระหว่างนั้น ทูตได้เจรจาในเรื่องสัญญากับเจ้าพระยาวิชเยนทรด้วยความลำบากต่าง ๆ เรื่องราวเหล่านั้นมีปรากฎอยู่ในหนังสือของมองสิเออร์ลันเยแล้ว ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงแต่สัญญาค้าขายซึ่งทูตฝรั่งเศสทำกับข้าราชการไทยเท่านั้น

หนังสือสัญญาค้าขายระหว่างฝรั่งเศสกับไทยซึ่งมองสิเออร์เชอวาเลีย เดอ โชมอง ได้ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งนั้น เมื่อนำออกไปถึงเมืองฝรั่งเศส กลับปรากฎว่า เปนหนังสือสัญญาที่บกพร่อง แลไม่เปนที่พอใจแก่บริษัทฝรั่งเศสเลย หนังสือสัญญาฉบับนั้นหาเปนสัญญาที่ถูกต้องตามแบบแผนไม่ กล่าวคือ พูดถึงแต่สิ่งที่จะต้องการอย่างนี้บ้างอย่างนั้นบ้างเท่านั้น หาได้มีข้อความตอนใดตอนหนึ่งแสดงไว้โดยชัดเจนว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบด้วยไม่ แลเมื่อพิจารณาดูข้อความเหล่านั้นแล้ว ก็เห็นได้ว่า เปนแต่เพียงข้อสัญญากันระหว่างมองสิเออร์ เดอ โชมอง กับเจ้าพระยาวิชเยนทรเท่านั้น มองสิเออร์เซเบอเรเปนทูตเข้ามาครั้งหลังนี้ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องมาเจรจาในเรื่องการค้าขายซึ่งเปนทางการที่เขาชำนาญอยู่แล้ว ได้นำเอาหนังสือสัญญาฉบับแรกที่ได้เตรียมแก้ไขข้อบกพรองนั้นเข้ามาด้วยเพื่อมาทำกันใหม่ ในที่สุด ก็ได้ทำหนังสือสัญญากันขึ้นใหม่อีกฉบับ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมข้อบกพรองของสัญญาฉบับเก่า มองสิเออร์เซเบอเรได้เขียนจดหมายเหตุไว้ว่า เขาหวังว่า การที่เขาอุทิศตนเข้ามาเจรจาเรื่องการค้าขายจนกระทั่งได้แก้หนังสือสัญญาฉบับเก่าแลได้ทำขึ้นใหม่อีกฉบับ ๑ เช่นนั้น คงเปนที่พอใจแก่ชาวฝรั่งเศสเปนอันมาก

หนังสือสัญญาฉบับที่มองสิเออร์เซเบอเรทำมาใหม่นี้ ต้นฉบับทำถึง ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ฉบับ ๑ ภาษาฝรั่งเศส ฉบับ ๑ แลภาษาปอจุเกต ฉบับ ๑ ทั้ง ๓ ฉบับเวลานี้เก็บอยู่ที่คลังหนังสือกระทรวงการประเทศราชในเมืองปารีส

หนังสือสัญญาฉบับนี้ทำกันที่เมืองลพบุรีเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ ระหว่างมองสิเออร์ลา ลูแบร์ มองสิเออร์เซเบอเร ฝ่ายหนึ่ง กับข้าราชการไทย ๒ คนซึ่งเปนผู้แทนประเทศสยาม อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ออกญาพระเสด็จ ว่าที่พระคลัง คน ๑ กับออกพระศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา คน ๑ บาดหลวงตาชาร์ตเขียนจดหมายเหตุไว้เมื่อเข้ามาครั้งแรก (หน้า ๑๖๗) ว่า ออกญาพระเสด็จคนนี้เปนข้าราชการคนสำคัญที่สุดคน ๑ ในประเทศสยาม เปนเจ้าพนักงารใหญ่ในแพนกธรรมการ ปกครองคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร์ ที่มาปรากฎว่า ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ ออกญาพระเสด็จว่าที่พระคลังนั้น น่าจะเปนเพราะท่านพระคลังคนเก่า (บิดาพระวิสุทสุนทร) ได้ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งยังว่างอยู่ พระวิสุทสุนทรยังไม่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป ออกญาพระเสด็จจึงได้ว่าหน้าที่พระคลังไว้ก่อน

หนังสือสัญญาฉบับที่เปนภาษาไทยนั้นเขียนบนกระดาดฝรั่งเต็มทั้งด้านหน้าด้านหลังรวมทั้งสิ้นเปนกระดาด ๖ แผ่น เปนอักษรไทยย่อ ลายมือค่อนข้างหวัด ตอนท้ายหนังสือสัญญาทั้ง ๓ ฉบับนั้น มองสิเออร์ลา ลูแบร์ แลมองสิเอร์เซเบอเร ได้ลงชื่อแลประทับตราประจำตำแหน่งของตนไว้เปนสำคัญ ข้างฝ่ายไทยก็มีตราประจำตำแหน่งประทับอยู่ท้ายใบสัญญาเปนเส้นหมึกแดง รวมทั้งสิ้นเปนตรา ๓ ดวง คือ ตราบัวแก้ว ๑ ตราบัวผัน ๑ เปนตราประจำตำแหน่งของออกญาพระเสด็จ กับอีกดวง ๑ เปนตราบัวบาน บางทีจะเปนตราประจำตำแหน่งของออกพระศรีพิพัฒน สัญญาทั้ง ๓ ฉบับนี้ ฝ่ายข้างข้าราชการไทยหาได้เซ็นชื่อไว้ด้วยไม่ เรื่องนี้มองสิเออร์ลา ลูแบร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า "ข้าราชการไทยมิได้เซ็นชื่อหรือประทับตราใด ๆ ซึ่งจะเปนตัวหนังสือหรือเปนอักษรพิเศษไว้เลย ข้าราชการเหล่านั้นได้ประทับแต่ตราประจำตำแหน่งไว้ ซึ่งตราเหล่านั้นเปนแต่เพียงสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงมอบไว้ให้เปนเครื่องมือสำหรับใช้แต่ฉเพาะในที่ทำการเท่านั้น" (ลา ลูแบร์ ฉบับภาษาอังกฤษ หน้า ๗๕ พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๒๓๖)

สำเนาหนังสือสัญญา

 ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุบราชพิริยภาหุ ผู้ว่าราชการณที่โกษาธิบดี แลออกพระศรีพิพัทรัตนราชโกษา ฝ่ายสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ แลมูสูลาลูเบ แลมูสูสุปเรศ อิงวิยาโดรเอกโตรวิยารี ฝ่ายสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงฝรั่งษผู้ใหญ่ ทำหนังสือสัญญาแก่กันด้วยกิจของกุมบันหญีฝรั่งเสด ในนี้

 ข้อหนึ่ง สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทยาผู้ใหญ่พระราชทานแก่กุมปันหญีฝรั่งเสดที่แห่งหนึ่งใกล้ตึกซึ่งอยู่ทุกวันนี้ ฝ่าย[3] ก่อตึกอยู่สำหรับซื้อขาย

 ข้อหนึ่ง สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีซื้อขายณจังหวัดกรุงศรีอยุทธยา แลห้ามจำกอบขหนอรแลริดชาทั้งปวงในนี้ ประการหนึ่ง ถ้าแลกุมปันหญีเอาสินค้าบันทุกในกปั่นของกุมปันหญีเองก็ดี แลในกปั่นซึ่งเช่าระวางเข้ามาก็ดี ก็ให้ซื้อขายด้วยผู้ใด ๆ ตามภาษีของกุมปันหญี จะแนะนำให้ อย่าให้ผู้ใดห้ามปรามแลเอาข้อประการใดมาขัดขวาง ประการหนึ่ง ถ้าแลลูกค้าชาติใด ๆ เอาสินค้าเข้ามา แลกุมบันหญีจะต้องการให้ซื้อขาย ตามใจเขาเถิด แต่ว่าถ้าแลชาวคลังจะต้องการซื้อสินค้านั้นสำหรับราชการ ซึ่งลูกค้าทั้งปวงนอกกุมปันหญีเอาเข้ามานั้น แลกุมปันหญีต้องการสินค้านั้นอยู่ ก็ให้พนักงานข้างกุมปันหญีมาฟ้องเเก่เสนาบดีผู้เจ้าพนักงาน เมื่อแรกลูกค้านั้นเข้ามาถึง เสนาบดีก็จะสั่งแก่ชาวคลังให้แบ่งส่วนให้สมควรด้วยกิจของกุมปันหญี แลราคานั้นก็ให้เอาแต่เท่าทุนซึ่งซื้อแก่ลูกค้านั้น

ประการหนึ่ง ถ้าแลกุมปันหญีต้องการซื้อดีบุกนอก ดีบุกณเมืองถลาง บางคลี แลงาช้าง แลช้าง แลดินผะสิวขาว ดีบุกดำ หมากกรอก ฝาง ก็ให้ชาวคลังขายให้แต่ตามราคาซื้อขายแก่ลูกค้าทั้งปวง แลอย่าให้กุมปันหญีซื้อขายสินค้ามีชื่อทั้งนี้แก่ลูกค้าซึ่งมิได้ซื้อต่อชาวคลังนั้นเลย ด้วยสินค้านั้นเปนส่วยษาอากรของหลวง แลห้ามมิให้ผู้ใดขายนอกชาวคลังนั้นเลย

ประการหนึ่ง สินค้าซึ่งต้องห้ามนั้นในนี้ ดินผะสิวขาว ดินผะสิวดำ สุพรรมถัน แลปืน แลเครื่องสาตราวุธ ถ้าแลสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้ซื้อไปมา จึงให้ซื้อไปมา ถ้าแลมิได้พระราชทานให้ซื้อไปมา ก็อย่าให้ซื้อไปมา ถ้าแลกุมปันหญีเอาเครื่องมีชื่อเข้ามา ก็ให้พนักงานข้างกุมปันหญียื่นสารบาญชีแก่เสนาบดี ถ้าแลจะต้องการสำหรับราชการ ก็ให้ข้าหลวงซื้อเอาไว้ก่อนคนทั้งปวง

ประการหนึ่ง หนังณจังหวัดกรุงศรีอยุทธยาฝ่ายเหนือฝ่ายใต้จนปากน้ำบางเจ้าพระยา สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีวิลันดาซื้อ แลอย่าให้กุมปันหญีฝรั่งเสดซื้อขายในสินค้าอันนั้น ถ้าแลฝรั่งเสดไปอยู่ณเมืองใดนอกฝ่ายเหนือฝ่ายใต้จนปากน้ำบางเจ้าพระยา แลมีหนังจะซื้อขาย แลมิได้เอาเข้ามาณกรุงเทพพระมหานคร ก็ให้ซื้อขายเถิด

ประการหนึ่ง สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานจำกอบขหนอรแลริดชาทั้งปวงแก่กุมปันหญีฝรั่งเสดให้เข้าออกจงสดวก อย่าให้ผู้ใดลงตรวจ แลให้แต่ยื่นหางว่าวสินค้าซึ่งบันทุกมานั้นแก่เจ้าพนักงานในเมืองทณบุรีย เเลเมื่อบันทุกสินค้าจะออกไปนั้น ก็ให้ยื่นหางว่าวสินค้าซึ่งบันทุกนั้นแก่เจ้าพนักงานณกรุงเทพพระมหานคร แลเอาตราเบิกด่านสำหรับเข้าออกวางทุกครั้ง

 ข้อหนึ่ง ถ้าแลกุมปันหญีขายสินค้าแก่ลูกค้าผู้ใด ๆ ให้ไปจำหน่ายต่างเมือง เสียหายเปนของกุมปันหญีเอง แลจำกอบสินค้าทั้งปวงนั้น สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้ทั้งเข้าออก อย่าให้เจ้าพนักงานเรียกเอา

 ข้อหนึ่ง ถ้ากุมปันหญีหากปั่นจะบันทุกสินไปมาค้าขายต่างเมืองมิได้ แลเช่าระวางกปั่นของลูกค้าทั้งปวงไป สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานดุจในข้อสอง ข้อสาม นั้น

 ข้อหนึ่ง ถ้าแลผู้ใดชื่อเปนฝรั่งเศดแลชาติใด ๆ ชื่ออยู่ในบังคับกุมปันหญีเปนความแก่กัน ก็ให้ผู้เปนนายกุมปันหญีในเมืองนั้นแลมีกฎสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงฝรั่งษสำหรับตัวนั้น ก็ให้ผู้นั้นบังคับความตามชอบธรรม ถ้าแลฝรั่งเสดผู้ใดซึ่งอยู่ในบังคับกุมปันหญีฟันแทงกันตาย แลข้อสิ่งใดซึ่งต้องอาญา ก็ให้ผู้เปนนายกุมปันหญีจำตัวผู้ร้ายไว้ แลกฎหมายเอาเนื้อความแล้ว แลส่งกฎหมายแลตัวผู้ร้ายไปเมืองฝรั่งเสดให้ลงอาญาตามโทษนั้น

ประการหนึ่ง ถ้าแลฝรั่งเสดแลชาติใดซึ่งอยู่ในบังคับกุมปันหญีเปนความต้องตระทรวงอาญาก็ดี แพ่งก็ดี ต่อฝรั่งเสดแลชาติใด ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในบังคับกุมปันหญีก็ดี ถ้าแลฝรั่งเสดแลชาติใด ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในบังคับกุมปันหญีเปนความต้องตระทรวงอาญาก็ดี แพ่งก็ดี ด้วยฝรั่งเสดแลชาติใด ๆ ซึ่งอยู่ในบังคับกุมปันหญีนั้น กระลาการข้างกรุงเทพมหานครเปนพนักงานจะพิจารณา แต่ว่ากิจนั้นต้องฝรั่งเสดอยู่ จึงสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้ผู้เปนนายกุมปันหญี แลถือกฏหมายสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงฝรั่งษผู้ใหญ่สำหรับตัวในตำบลนั้น นั่งด้วยกระลาพิจารณาความให้เปนท่องแท้ แต่ให้ผู้นั้นสบถต่อพระเปนเจ้าว่า จะพิจารณาด้วยกระลาการให้จงชอบธรรม

 ข้อหนึ่ง สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทยาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเสดไปตั้งซื้อขายในเมืองถลางบางคลีก็ดี แลในจังหวัดที่นั้น แลห้ามจำกอบขหนอรแลริดชาดุจในข้อสอง ข้อสาม แลพระราชทานให้ซื้อดีบุกในเมืองถลางบางคลีทั้งปวง แลห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใด ๆ ซื้อดีบุกนอกกุมปันหญีฝรั่งเศสนั้นได้ ถ้าแลผู้ใดลอบลักซื้อขายนอกกุมปันหญีฝรั่งเศสไซ้ ให้ริบเอาแลให้ทำเปนสี่ส่วน ให้สองส่วนให้แก่ชาวคลังเปนของหลวง ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้โจท ส่วนหนึ่งพระราชทานแก่กุมปันหญีฝรั่งเสด แลให้กุมปันหญีฝรั่งเสดเอาสินค้าตามต้องการณเมืองนั้นไปขายจงอุดม อย่าให้ราษฎรชาวเมืองนั้นขาดสินค้าซึ่งต้องการนั้นได้ แลราคาสินค้าซึ่งกุมปันหญีจะซื้อก็ดี ราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อก็ดี ให้เจ้าเมือง แลกรมการ แลผู้เฒ่าผู้แก่ แลกุมปันหญี นั่งด้วยกันว่าราคาสินค้าซึ่งกุมปันหญีจะขาย แลราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อนั้น ให้ว่าให้ขาดทีเดียว แลอย่าให้กุมปันหญีขึ้นลงราคาให้เปนแค้นเคืองแก่ราษฎร ถ้าแลราคานั้นมิลงกัน ก็ให้บอกข้อซึ่งขัดสนนั้นเข้ามา แลสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่โปรดประการใด ก็ให้ทำตาม

ประการหนึ่ง ดีบุกส่วยษาอากรณเมืองถลางแลจังหวัดนั้น ก็ให้ชาวคลังเรียกเอาตามทำเนียม แลแต่ในเดือนสิบ ปีมะโรง สำฤทธิศก ไปเมื่อหน้า อย่าให้ชาวคลังปลงดีบุกแก่ราษฎร ด้วยดีบุกนั้นมีพอกุมปันหญีฝรั่งเสดจะซื้อขาย

ประการหนึ่ง ถ้าแลกุมปันหญีฝรั่งเสดมิได้เอาสินค้าไปซื้อขายตามสัญญา แลราษฎรขาดสินค้า แลเอาดีบุกซอขายแก่ลูกค้าอื่น ก็อย่าให้เจ้าพนักงานริบเอาลูกค้าซึ่งซื้อขายดีบุกแก่กันนั้นเลย

 ข้อหนึ่งว่า ถ้าแลกุมปันหญีฝรั่งเสดจะต้องการไปตั้งตึกอยู่ซื้อขายณหัวเมือง จังหวัด แลเมืองขึ้นณกรุงศรีอยุทธยาไซ้ ก็ให้ฟ้องแก่เสนาบดีออกไปตั้งอยู่ซื้อขายเถิดดุจหนึ่งในข้อสอง ข้อสาม ข้อสี่ ข้อห้า นั้น ถ้าแลไปตั้งซื้อขายณเมืองนครไซ้ ก็อย่าให้ซื้อขายดีบุก ด้วยพระราชทานให้กุมปันหญีวิลันดาซื้อดีบุกณเมืองนครดุจหนึ่งพระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเสดซื้อขายพริกนั้น

 ข้อหนึ่งว่า ถ้ากปั่นของกุมปันหญีใหญ่ก็ดี น้อยก็ดี เสียในแว่นแคว้นซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุทธยา ก็ให้กุมปันหญีรับเอาเครื่องกปั่นแลสินค้าทั้งปวงนั้นไว้ แลอย่าให้เจ้าเมืองแลกรมการแลผู้ใด ๆ เก็บเอาไว้ แลให้กุมปันหญีฝรั่งเสดรักษาไว้เอง

 ข้อหนึ่งว่า สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้เปนอันขาดแล้วให้กุมปันหญีฝรั่งเสดไปตั้งอยู่ณเกาะแห่งใดซึ่งอยู่ใกล้เมืองมฤทิออกไปสิบโยช แลให้ก่อตึก แลป้อม แลกำแพง พิทักษ์รักษาตกแต่งซึ่งชอบการของกุมปันหญีฝรั่งเสด แลกุมปันหญีฝรั่งเสดสัญญาต่อหน้าพระเปนเจ้ามิถือตำบลนั้นให้เปนเหตุแก่ราชการสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ประการใดได้ แลมิรับผู้เปนสัตรูแผ่นดินเข้าออกในตำบลนั้น แลมิช่วยผู้เปนสัตรูด้วยสิ่งใด ๆ เลย แลสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีบังคับความแลเปนเจ้าในเกาะนั้นเปนอันขาดทีเดียว แลครั้นเขียนอย่างเกาะ แลกว้างยาวเท่าใดเข้ามาแล้ว จะพระราชทานพระราชกำหนดสำหรับเกาะนั้นเปนอันขาดทีเดียว

๑๐ ข้อหนึ่งว่า ถ้าฝรั่งเสดผู้ใด ๆ มีลูกเมียในจังหวัดกรุงศรีอยุทธยาแลเมืองขึ้น แลฟ้องจะขอออกไปจากแผ่นดิน แลเงินทองของผู้ใด ๆ มิได้อยู่ แลมิได้เปนถ้อยความด้วยผู้ใด ๆ ไซ้ สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้ออกไปทั้งลูก แลเมีย แลทาษ แลทรัพย์สิ่งของ ตามใจนั้นเถิด

๑๑ ข้อหนึ่งว่า ถ้าแลฝรั่งเสดซึ่งมาด้วยกปั่นของสมเด็จพระมหากระษัตรกรุงฝรั่งษผู้ใหญ่ก็ดี มาด้วยกปั่นของกุมปันหญีก็ดี มาณกรุงศรีอยุทยาก็ดี ณเมืองขึ้นก็ดี อย่าให้เจ้าพนักงานชักชวนว่ากล่าวให้ละกปั่นนั้นเสีย ถ้าแลฝรั่งเสดซึ่งอยู่ณกปั่นสมพระมหากระษัตรกรุงฝรั่งษผู้ใหญ่ก็ดี ณกปั่นกุมปันหญีก็ดี หนี ให้เจ้าพนักงานเสาะสางหามาส่งให้แก่นายกปั่น

๑๒ ข้อหนึ่งว่า หนังสือขุนพิพัทโกษาราชปหลัด แลมุงสูอูรเดลัน กปิตันฝรั่งเสด สัญญาต่อกันด้วยพริกนั้นในเดือนสิบสอง ขึ้นเก้าค่ำ สักราชพันสี่สิบห้า คือ พุทศักราชสองพันสองร้อยญี่สิบเจดนั้น สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่สั่งว่า ชอบแล้ว แลทรงพระกรุณาโปรดแก่กุมปันหญี ก็มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ซึ่งจะริบเอาพริกแลไหมเอาแก่ผู้ลักลอบซื้อขายพริกนั้น ก็ให้ทำเปนสี่ส่วน ในนี้ สองส่วนให้แก่เจ้าพนักงานเอาเปนหลวง แลส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ส่อ แลส่วนหนึ่งพระราชทานแก่กุมปันหญีฝรั่งเสด

ประการหนึ่ง เพื่อจะให้ห้ามที่ซึ่งจะเปนวิวาทถุ้งเถียงในระหว่างชาวคลังแลกุมปันหญี ก็ให้เอาพริกทั้งปวงนั้นไว้ในคลังอันหนึ่ง ใส่กุนแจของชาวคลังอันหนึ่ง ใส่กุนแจของกุมปันหญีฝรั่งเสดอันหนึ่ง แลจะเปิดปตูออกให้ทั้งสองฝ่ายนั่งพร้อมกัน ให้แบ่งปันออกเปนส่วนตามอยู่ในความสัญญา แลข้อสัญญาทั้งนี้เขียนเปนสามฉบันทุกภาษา ในนี้ ภาษาไทยสามฉบับ ภาษาฝรั่งเสดสามฉบับ ภาษาปตุกกรรสามฉบับ แลผู้มีชื่อทั้งสองฝ่ายนั้นขีดแกงไดปิดตราเปนสำคัญทุกฉบับ เขียนในเมืองลพบุรียในวันพระหัด เดือนอ้าย ขึ้นแปดค่ำ พุทสักราชสองพันสองร้อยสามสิบเอด ปีเถาะ นพศก

มอสิเออร์ลา ลูแบร์ ได้นำหนังสือสัญญาฉบับนี้ไปถึงประเทศฝรั่งเสดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ บริษัทค้าขายอินเดียตวันออกพอใจเปนอันมาก ต่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ พระเจ้าหลุยได้ทรงกระทำสัตยาบันสัญญาฉบับนี้ที่พระราชวังแวร์ไซย เปนข้อความเติมอยู่ท้ายสัญญาฉบับภาษาฝรั่งเสด ดังต่อไปนี้

"เราพอใจสัญญาข้างบนนี้ทั้งหมดทุกข้อ แลโดยลายเซ็นของเรานี้ เรารับรองเห็นชอบด้วย ฉนั้น จึงขอปฏิญญาณโดยความเชื่อ แลมีพระราชดำรัสให้ใช้สัญญาฉบับนี้โดยเคร่งครัด มิให้พลาดพลั้งไปอย่างใด ๆ เพื่อเปนพยานหลักถาน เราได้เซ็นพระนามแลประทับพระราชลัญจกรลงไว้ในสัญญานี้ ด้วยเปนสำคัญ

เขียนที่เมืองแวร์ไซย วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๖๘๙ เปนปีที่ ๔๗ ในรัชกาลของเรา[4]

(พระบรมนามาภิธัย) หลุย
(ลงนาม) กอลแบรต"

บัดนี้ จะเห็นว่า ได้สัญญาฉบับหลังซึ่งมองสิเออร์ลา ลูแบร์ ได้เข้ามาทำจนสำเร็จนั้น เปนสัญญาที่มีลายเซ็นแลมีตราประจำตำแหน่งของคู่สัญญาประทับอยู่พร้อมบริบูรณ์ แลทั้งได้กระทำสัตยาบันเปนหนังสือสัญญาที่เรียบร้อยแล้วทุกประการ ถึงกระนั้น หนังสือสัญญาฉบับนี้ ในที่สุดก็กลายเปนหนังสือสัญญาที่ใช้ไม่ได้ไปอีกฉบับ ๑ เพราะว่า ตั้งแต่วันที่ทำกันเสร็จแล้วที่เมืองลพบุรีจนกระทั่งนำไปถึงเมืองฝรั่งเศสแลจนถึงวันทำสัตยาบันที่เมืองแวร์ไซยนั้น ทางฝ่ายเมืองไทยก็พอดีถึงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บ้านเมืองเกิดจลาจล บันดาผู้ที่ไม่ชอบพวกถือสาสนาคริสเตียนก็บังคับให้พวกฝรั่งออกนอกประเทศ ชาวฝรั่งเสดซึ่งอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น ทั้งที่เปนมิซชันนารีแลพ่อค้า ก็สิ้นอำนาจลง เลยพลอยถูกบังคับให้ออกนอกประเทศไปกับฝรั่งชาติอื่น ๆ ด้วย สัญญาฉบับหลังนี้ก็เลยยังไม่ทันเอาออกใช้

สัญญาฉบับนี้ ฉเพาะในทางการแล้ว ในเวลานี้ไม่มีประโยชน์เลย แต่เนื่องจากจดหมายเหตุที่ได้ทำกันไว้ในสมัยโบราณได้เปนอันตรายสาบสูญเสียหมดเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผานั้น หนังสือสัญญาค้าขายฉบับนี้ ซึ่งยังมีตัวอยู่ในเวลานี้ จึงกลับเปนของมีค่าอย่างสูงสุดในทางพงศาวดาร ด้วยทำให้เราทราบได้ว่า หนังสือสัญญาในสมัยโบราณของไทยนั้นมีใจความแลลักษณมาอย่างไร

จดหมายฉบับที่ ๑
(ผ.ท.บ.)

จดหมายฉบับที่ ๒
(ผ.ท.บ.)

  1. หนังสือ ๒ เรื่องที่ระบุชื่อมานี้ หอพระสมุดสำหรับพระนครได้เลือกแปลตอนที่สำคัญ ๆ ออกเปนภาษาไทยแล้ว พิมพ์อยู่ในหนังสือหมวดประชุมพงศาวดาร
  2. หนังสือสัญญาเรื่องนี้ ฉบับภาษาไทยมีอยู่ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ส่วนฉบับที่ได้แปลออกเปนภาษาฝรั่งเศสกับอังกฤษนั้น พิมพ์อยู่ในหนังสือ สเตด เปเปอร์ ออฟ เดอะ คิงดอม ออฟ สยาม (หนังสือราชการของราชอาณาจักร์สยาม) ค.ศ. ๑๖๖๔–๑๘๘๖ หน้า ๒๓๙
  3. สังเกตในต้นฉบับดูตรงนี้จะเปนสำหรับลงคำว่า "เหนือ" ฤๅ "ใต้" แต่หาได้ลงไม่.
  4. สัญญาฉบับนี้ ตัวอักษรเขียนเปนไทยย่อ มีหลายน่ากระดาษ คล้ายกับตัวจำลองจดหมายฉบับที่ ๑ จึงมิได้นำมาพิมพ์ไว้