ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓

จาก วิกิซอร์ซ

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๓

เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชร พ.ศ. ๒๔๕๗

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณ สพานยศเส กรุงเทพฯ

คำนำ

ด้วยพระเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ฯ (ม.ว. ลพ สุทัศน์) จะทำการปลงศพหม่อมเจ้าหญิงอรชร ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ปราถนาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพ จึงมาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณช่วยเลือกเรื่องหนังสือ แลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์ ซึ่งจะบำเพ็ญการกุศลอุทิศผลทักษิณานุปทานแก่เจ้าครอกอาของท่าน เมื่อกรรมการได้รับฉันทอันนี้แล้วมาพิจารณาดูเห็นว่า หนังสือประชุมพงษาวดารได้ พิมพ์เปนของแจกในการบำเพ็ญการกุศลอย่างเดียวกันมาแล้ว ๒ ภาค คือ ภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉา ได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อปีขาลฉศก พ.ศ. ๒๔๕๗ ภาคที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินีกูลในปี เดียวกัน เมื่อพิมพ์หนังสือ ๒ ภาคนั้นแล้ว มาตรวจดูยังมีหนังสือพงษาวดารเกร็ดอยู่ในหอพระสมุดซึ่งยังไม่ได้พิมพ์อิก ๓ เรื่อง คือ พงษาวดารเมืองปัตตานีเรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองสงขลาเรื่อง ๑ ทั้ง ๒ เรื่องนี้ พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณะสงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาได้เรียบเรียงไว้แต่เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ กับเรื่องพงษาวดารเชียง



( ๒ ) ใหม่ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพได้เรียบเรียงทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ๑ หนังสือทั้ง ๓ เรื่องที่กล่าวมานี้กอปรด้วยประโยชน์สมควรจะรวมพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ได้ อิกภาค ๑ กรรม การจึงได้เลือกหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ให้พิมพ์ตามเจตนาของท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ฯ หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจตลอด แต่ไม่ได้สอบแก้ของเดิม ด้วยการตรวจสอบจะกินเวลามากนัก ข้าพเจ้าจะอธิบายแต่ความรู้เห็นของข้าพเจ้าไว้ในคำนำนี้โดยใจความ หนังสือพงษาวดารเมืองปัตตานี ซึ่งถ้าจะเรียกให้ตรงตามกาลเวลานี้ควรเข้าใจว่าพงษาวดารมณฑลปัตตานี ที่พระยาวิเชียรคิรีเรียงนั้นเรียบเรียงตามความรู้เห็นที่มีอยู่ในเมืองสงขลา แลบางทีจะได้สอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ด้วย ในตอนเบื้องต้นเข้าใจผิดหรือยังไม่ทราบความจริงอยู่บ้าง ที่จริงเมืองปัตตานีเปนเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้ง สมเด็จพระร่วง ครองนครศุโขไทยเปนราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธสาสนา ภายหลังจึงเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม ข้อที่ว่าเจ้าเมืองปัตตานีเปนผู้หญิงนั้น ไม่ใช่เพราะลูกยังเปนเด็กอย่างพระยาวิเชียรคิรีกล่าวไว้ในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุเก่าหลายเรื่อง แม้ที่พวกพ่อค้าฝรั่งซึ่งไปมาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตลอดจนแผ่นดินสมเด็จพระ

( ๓ ) นารายน์มหาราชได้จดไว้ กล่าวต้องกันว่าประเพณีการปกครองเมืองปัตตานีเลือกผู้หญิงในวงษ์ตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งมีอายุมากจนพ้นเขตรที่จะมีบุตรได้ เปนนางพระยาว่าราชการเมืองสืบ ๆ กันมา ประเพณีอย่างนี้ใช้ในบางเมืองในเกาะสุมาตราก่อน แล้วพวกเมืองตานีจึงเอาอย่างมาใช้ พึ่งเลิกประเพณีนี้ในชั้นกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี ในตอนหลัง ๆ อิกข้อ ๑ ซึ่งกล่าวด้วยการตั้งข้าราชการไทยไปเปนพระยาปัตตานี เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ตลอดมาจนเรื่องแยกเมืองปัตตานีออกเปน ๗ หัวเมืองนั้น ความคลาศกับหนังสือพระราชพงษาวดารอยู่เรื่องเมืองปัตตานี ว่าโดยใจความเปนดังนี้ เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บรรดาหัวเมืองแขกมลายูที่เคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยา พากันตั้งเปนอิศร ครั้งกรุงธนบุรียังไม่ได้ปราบปรามลงได้ดังแต่ก่อน มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีสยามประเทศทุกทิศทุกทาง เมื่อไทยรบชนะพม่าที่เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แลที่ลงมาทางเหนือ ตีแตกกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อตีกองทัพพม่าแตกกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา มีรับสั่งออกไปถึงบรรดาหัวเมืองแขกมลายู ซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยา ให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีขัดแขงไม่มาอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวร ฯ จึงมีรับสั่งให้

(๔) กองทัพยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้ว ไม่กล่าวไว้ในหนังสือ พระราชพงษาวดารว่าได้ทรงตั้งให้ ผู้ใดว่าราชการเมืองปัตตานีก็จริง แต่เหตุการที่เกิดภายหลังทำให้เข้าใจว่า ได้ทรงตั้งให้แขกซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระยาปัตตานีเดิมเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานีคนนี้ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพ ฯ เมื่อปีรกาเอกศก พ.ศ. ๒๓๓๒ มีหนังสือไปชวนองเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก ให้เปนใจเข้ากันมาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร องเชียงสือบอกความเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีอิกครั้ง ๑ ที่ตั้งไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีตามที่กล่าวในหนังสือของพระยาวิเชียรคิรี เห็นจะตั้งเมื่อตีเมืองปัตตานีได้ครั้งที่ ๒ นี้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามอิก พม่าเกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรี ๆ เอาใจไปเผื่อแก่พม่าข้าศึก เลยยุยงพวกมลายูเมืองปัตตานีให้เปนขบถขึ้นด้วย สาเหตุเนื่องกันดังกล่าวมานี้ จึงได้โปรดให้แยกเมืองปัตตานีเดิมออกเปนแต่เมืองเล็ก ๆ ๗ หัวเมือง แต่วงษ์วานชื่อเสียงผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๗ ตามที่พระยาวิเชียรคิรีจดไว้ ในพงษาวดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถูกต้อง ด้วยเมืองสงขลาได้กำกับว่ากล่าวมณฑลปัตตานีตลอดมา จนจัดตั้งมณฑลปัตตานีเปนมณฑลเทศาภิบาล ๑ ต่างหาก ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี มเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๔๔๙ เรื่องพงษาวดารเมืองสงขลานั้น ที่จริงพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ตั้งใจจะกล่าวถึงพงษาวดารตระกูล ณะสงขลา ยิ่งกว่าจะแต่งเปนพงษาวดาร

(๕) เมือง พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เคยให้ข้าพเจ้าดูหนังสือเรื่องนี้ แลได้เคยพูดกันถึงเรื่องหนังสือนี้มาตั้งแต่แรกแต่ง เนื้อความตามเรื่องราวที่เปนพงษาวดารเมืองสงขลาเอง ไม่ตรงตามที่พระยาวิเชียรคิรีกล่าวอยู่หลายแห่ง ข้อนี้จะแลเห็นได้ในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ แลหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ว่าโดยย่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกที่นับว่าเปนเมืองสำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ๓ เมืองด้วยกัน ข้างเหนือคือเมืองชุมพร เขตรจรดทั้งทเลนอกทเลใน ต่อลงไปถึงเมืองถลางตั้งอยู่ที่เกาะภูเก็จทุกวันนี้ (ซึ่งที่จริงควรจะเรียกว่าเกาะถลาง) รักษาชายพระราชอาณาจักรข้างทเลตวันตก ต่อลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชใหญ่กว่าทุกเมือง มีเมืองไชยาอยู่ข้างเหนือ เมืองพัทลุงอยู่ข้างใต้ทั้ง ๒ เมืองนี้ แม้ในทำเนียบว่าขึ้นกรุงเทพ ฯ ตามการที่เปนจริงอยู่ในอำนาจเจ้าพระยานครมิมากก็น้อย เมืองสงขลาบางทีจะเคยเปนเมืองมาแต่โบราณกาล แต่ไม่มีอไรเปนสำคัญนอกจากชื่อ กับที่ฝังศพพระยาแขกแห่ง ๑ ซึ่งเรียกว่า "มรหุ่ม" แต่ทำเลท้องที่ดีในการค้าขายด้วยตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพัทลุง สินค้าเข้าออกทางทเลสาบไปมากับเมืองพัทลุง ต้องอาไศรยเมืองสงขลาเปนที่ถ่ายลำ พวกจีนจึงมาตั้งค้าขายที่เมืองสงขลา จีนฮกเกี้ยนคน ๑ ในพวกที่มาตั้งค้าขายอยู่เมืองสงขลานั้น ที่เปนต้นตระกูลวงษ์ของพวกณะสงขลา โดยสามิภักดิเข้ารับราชการเปนนายกองส่วยก่อน แล้วมีบำเหน็จความชอบ จึงได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ซึ่งกลับตั้งขึ้นใหม่

(๖) ที่เมืองสงขลาเปนเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ที่จริงเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ เปนแต่ที่ประชุมการค้าขาย แรกตั้งขึ้นเปนเมืองอย่างเล็ก ๆ ประการที่ ๒ ไม่เปนที่มั่นคง ปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ ว่า แม้แต่แขกสลัดก็เคยมาตีเมืองสงขลาได้ ที่มาตั้งเปนเมืองใหญ่ขึ้นกรุงเทพ ฯ เปนชั้นหลังมาในปลายรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ภายหลังมาเมื่อเมืองสงขลาเจริญขึ้น ประ จวบเวลามีราชการเกี่ยวข้องต้องปราบปรามเมือง ไทรบุรีแลเมืองปัตตานี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ข้างในกรุงเทพฯ จะไม่อยากให้เจ้าพระยานครมีอำนาจมากเกินไป หรือจะเปนด้วยเห็นการลำบากเกินกว่าที่เจ้าพระยานครจะบังคับบัญชาได้เรียบร้อยทั่วไป จึงตั้งเมืองสงขลาให้เปนเมืองใหญ่อิกเมือง ๑ สำหรับตรวจตราดูแลเมืองมลายูข้างฝ่ายตวันออกเมืองนครศรีธรรมราชให้ตรวจตราว่ากล่าวข้างฝ่ายตวันตก อันติดเนื่องกับเขตรแดนอังกฤษ ลักษณการอันเปนพงษาวดารเมือง ใจความเปนดังกล่าวมานี้ เรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ ซึ่งพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่งนั้น เปนเรื่องพงษาวดารในตอนกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่จะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่านให้รู้เรื่องวงษ์ตระกูลของเจ้านายในมณฑลพายัพ ซึ่งรับราชการอยู่ในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูนทุกวันนี้ ว่าเกี่ยวดองแลสืบวงษ์ตระกูลมาอย่างใด

(๗) หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องเปนหนังสือควรอ่าน ด้วยอาจจะให้ความรู้พิเศษบางอย่างอันมิได้ปรากฏในหนังสืออื่น ควรสรรเสริญพระยาวิเชียรคิรี (ชม) พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ที่ได้อุสาหะเรียบเรียงขึ้นไว้ แลควรจะอนุโมทนาการกุศล ซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ฯ ได้ให้พิมพ์หนังสือ ๓ เรื่องนี้ขึ้น ให้เจริญความรู้แพร่หลาย อันนับว่าได้กระทำสารประโยชน์ให้แก่บรรดาผู้จะได้พบอ่านหนังสือเรื่องนี้ทั่วไป

หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗






สารบาน

พงษาวดารเมืองปัตตานี น่า ๑

พงษาวดารเมืองสงขลา น่า ๓๐

พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่ น่า ๗๔










พงษาวดารเมืองปัตตานี

€ เดิมเมืองแขกเมื่อครั้งยังเปนเมืองปัตตานีเมืองเดียว เจ้าเมืองแลภรรยาชื่อมิได้ปรากฏ ได้ความว่ามีแต่บุตรชายคนหนึ่งแต่ยังเล็ก ครั้นอยู่มาเจ้าเมืองปัตตานีตายลง ภรรยาของพระยาปัตตานีก็ว่าการเปนเจ้าเมืองแทนขึ้น เวลานั้นบ้านเมืองหรือที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานีนั้น ตั้งอยู่ในตำบลบ้านมะนาติดต่อกันกับบ้านโต๊ะโสมบ้านกะเสะฝ่ายตวันออก แต่บ้านพระยาปัตตานีเดี๋ยวนี้ ห่างกันทางประมาณสี่สิบเส้นเศษ ริมทาง ที่จะไปเมืองยิริง ในระหว่างภรรยาเจ้าเมืองปัตตานีว่าการเปนเจ้าเมืองอยู่นั้น สมมุติเรียกกันว่านางพระยาปัตตานี ศรีตวันกรมการพลเมืองในอาณาเขตร เมืองปัตตานีก็อยู่ในบังคับบัญชานางพระยาปัตตานี เรียบร้อยเหมือนอย่างพระยาปัตตานีสามีว่าการอยู่แต่ก่อน นางพระยาปัตตานีได้จัดแจงหล่อปืนทองเหลืองใหญ่ไว้สามกะบอก ตำบลที่หล่อปืนนั้นริมบ้านกะสะ ก่อด้วยอิฐเปนรูปโบถขึ้นหลังหนึ่งสามห้องเฉลียงรอบ แม่ปะธานกว้างประมาณหกศอก ยาวสิ้นตัวเฉลียงสี่วาเศษ เครื่องบนแลพื้นในเวลานี้ชำรุดหมด ยังเหลือแต่ฝาผนัง แลฝาผนังเฉลียงนั้นก่อเปนโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นแม่ปะธานสูงประมาณสองศอกเศษ พื้นเฉลียงสูงประมาณสองศอก ที่สุเหร่าก่อด้วยอิฐนี้ มลายูในแหลมปัตตานีเรียกชื่อว่าสับเฆ็ด ห่างจากสับเฆ็ดนิ้ไปฝ่ายทิศตวันออกเฉียงเหนือประมาณสองเส้นเศษ เปน ๑


๒ รอยเตาที่หล่อปืนดินที่สุกเปนรอยเค้าเตาอยู่ต้นไม้แลหญ้าไม่ได้ขึ้น กว้างประมาณแปดศอกเศษสี่เหลี่ยม พลเมืองในปัตตานีได้ทราบกันทั่วไปมาจนเดี๋ยวนี้ ว่าเปนที่หล่อปืน แลนายช่างผู้ที่หล่อปืนสามกะบอกนั้น สืบได้ความว่าเดินเปนจีนมาจากเมืองจีน เปนชาติหกเคี้ยนแส้หลิมชื่อเคี่ยม เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะ จีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าสาสนามาลายูเสียด้วย พวกมลายูสมมุติเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมตลอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แลในตำบลบ้านกะเสะซึ่งหลิมโต๊ะเคี่ยมอยู่มาก่อนนั้น พลเมืองที่อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ยังนับถือหลิมโต๊ะเคี่ยมว่าเปนต้นตระกูลของพวกหมู่บ้านนั้น แลยังกล่าวกันอยู่เนือง ๆ ว่าเดิมเปนจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวหลิมโต๊ะเคี่ยมชื่อเก๊าเนี่ยวตามมาจากเมืองจีน มาปะหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี อยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายูกลับไปเมืองจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไป เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปี หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไปแขงอยู่ เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้อง มีความเสียใจหลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ชายผูกคอตายเสีย ครั้นเก๊าเนี่ยวน้องสาวผูกฅอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ก็จัดแจงศพเก๊าเนี่ยว น้องสาวฝังไว้ที่ในตำบลบ้านกะเสะ ทำเปนฮ่องสุยปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พวกจีนก็เลยนับถือว่าเปนผู้หญิงบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เปนคนรักชาติตระกูลอย่างหนึ่ง ได้มีการเส้นไหว้เสมอทุกปีมิได้ขาดที่ศพเก๊าเนี่ยวนี้

๓ € แลเวลาหลิมโต๊ะเคี่ยมจะหล่อปืนทองเหลืองใหญ่สามกะบอกนั้น ได้เทปืนสองกะบอกเสร็จแล้ว ปืนกะบอกที่สามเทไม่ลง หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็ได้ตั้งการเส้นไหว้บวงสรวงแลบนบานขึ้นหลายอย่าง ปืนกะบอกที่สามนั้นก็ยังเทไม่ลง ในตอนที่สุดหลิมโต๊ะเคี่ยมมีความแค้นใจ กล่าวคำปฏิญาณว่าขอให้เทปืนครั้งนี้ลงดีแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมยอมเอาชีวิตรหลิมโต๊ะเคี่ยมเส้นถวาย ครั้นกล่าวคำปฏิญาณเช่นนี้แล้ว พเอิญเทปืนลงได้เต็มบริบูรณดี ฝ่ายหลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็จัดแจงแต่งปืนสามกะบอกเกลิ้ยงเกลาเสร็จแล้ว เวลาจะลองยิงปืนสามกะบอกนั้นจัดแจงตั้งเครื่องบวงสรวงเส้นไหว้แล้วประจุปืนเข้าทั้งสามกะบอก ก็จุดปืนกะบอกที่หนึ่งที่สองเปนลำดับไป ครั้นถึงจะจุดกะบอกปืนที่สาม หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างก็เข้าไปยืนตรงปากกระบอกปืน แล้วกล่าวคำว่าที่หลิมโต๊ะเคี่ยมได้ปฏิญาณไว้ ถ้าปืนกระบอกนี้เทลงดีแล้วจะเอาชีวิตรเปนเครื่องเส้นไหว้ปืน ครั้งนี้หลิมโต๊ะเคี่ยมได้ปลงใจยอมดังที่ปฏิญาณไว้แต่ก่อนแล้วก็บอกให้คนจุดปืน พอปืนลั่นออกแรงดินหอบพาหลิมโต๊ะเคี่ยมสูญหายไปในเวลานั้น แลปืนที่นางพระยาปัตตานีให้หลิมโต๊ะเคี่ยมเปนนายช่างหล่อขึ้นสามกะบอกนั้น กะบอกที่หนึ่งให้ชื่อว่านาง (บานัง ?) ปัตตานี กะบอกที่สองชื่อศรีนัครี กะบอกที่สามชื่อมหา หล่าหลอ อยู่ต่อมานางพระยาปัตตานีตาย สุลต่านในวงษ์ญาติเปนเจ้าเมืองปัตตานีขึ้น. € เวลาที่สุลต่านเปนเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นนั้น หาได้อยู่ว่าการที่ตำบล บ้านมะนาที่นางพระยาปัตตานีว่าการอยู่เดิมไม่ สุลต่านเลื่อนไปตั้งบ้าน

๔ เรือนอยู่ในที่ตำบลบ้านยิริง ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านนางพระยาปัตตานี ระยะทางเดินเท้าตั้งแต่บ้านมะนา ที่นางปัตตานีว่าการอยู่ไปถึงบ้านยิริงเจ็ดชั่วโมงครึ่ง แลบ้านที่สุลต่านไปตั้งว่าการอยู่นั้น ตรงกับท่าบ้านยิริงริมคลองเวลานั้นเปลี่ยนชื่อเปนระตู พลเมืองเรียกกันว่าระตูปะก่าลัน แปลเปนภาษาสยามเรียกว่าระตูน่าท่า แลระตูปะก่าลันคนนี้ คำเล่าฦๅกันว่าเปนคนมีสติปัญญาแลอำนาจมาก เมืองที่ใกล้เคียงก็คร้ามกลัวอยู่ € ขณะนั้น ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกกองทัพออกไปปราบปรามศึกพม่าถึงหัวเมืองฝ่ายตวันตก ครั้นกองทัพออกไปถึงเมืองสงขลา มีข่าวเข้ามาว่าเมืองปัตตานีก่อการกำเริบขึ้นมาก โปรดเกล้า ฯ จัดให้พระยากระลาโหม พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) พระยาพัทลุง (ทองขาว) หลวงสุวรรณคิรี (บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) เปนทัพน่ายกออกไปตีเมืองปัตตานี ได้สู้รบกันกับระตูปะก่าลันที่ตำบลบ้านยิริง ระตูปะก่าลันสู้รบทนกองทัพมิได้ ก็อพยพแตกหนีขึ้นไปทางเมืองรามันห์ พระยากระลาโหมแม่ทัพเห็นว่า ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) เปนผู้รู้จักทางก็แต่งกองรวมคนพัทลุงสงขลาให้ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) เปนหัวน่าตีตามระตูปะก่าลันไป ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ตามระตูปะก่าลันไปทันที่ปลายน้ำเมืองรามันห์ริมแดนเมืองแประได้สู้รบกันในตำบลนั้น ระตูปะก่าลันถูกกระสุนปืนตาย ในระหว่างนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพเรือไปตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเมืองปัตตานี ครั้นพระยา

๕ กระลาโหมกองทัพน่าตีระตูปะก่าลันแตก แลได้ศีศะระตูปะก่าลันมาแล้ว พระยากระลาโหม พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) พระยาพัทลุง (ทองขาว) หลวงสุวรรณคิรี (บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) พร้อมกันลงไปเฝ้าในเรือพระที่นั่งน่าเมืองปัตตานีทูลแจ้งราชการ รับสั่งให้นำปืนใหญ่สองกะบอกที่เก็บได้ลงมาเรือจะเอาเข้ามากรุงเทพ ฯ ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ได้จัดแจงเรือบรรทุกปืนนำลงไปถวาย ปืนกะบอกที่หนึ่งชื่อนางปัตตานีนั้นออกไปถึงเรือหลวงก่อน ได้ยกปืนขึ้นบนเรือหลวงเสร็จแล้ว เรือที่บรรทุกปืนกะบอกที่สองซึ่งชื่อศรีนัครีตกอยู่ข้างหลัง เกิดพยุเรือที่บรรทุกปืนกะบอกที่สองชื่อศรีนัครีล่มลง ปืนก็จมน้ำสูญหายไปด้วย กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดเกล้า ฯ ให้ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) เปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ยกคนไทยเลขส่วยดีบุกเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองจะนะ ซึ่งเปนญาติพี่น้องหรือพรรคพวกปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ให้อยู่เปนกำลังรักษาราชการเมืองปัตตานีห้าร้อยครัวเศษ ครั้นทรงจัดการเมืองปัตตานีเสร็จแล้วเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ หลวงสุวรรณคิรี (บุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ก็ตามเสด็จเข้ามากรุงเทพ ฯ ด้วย โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคิรี (บุ่นฮุ้ย) เปนพระยาสงขลา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา ( บุ่นฮุ้ย ) เชิญออกไปพระราชทานให้ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) เปนพระยาปัตตานี แลโปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสงขลาเปนเมืองตรีขึ้นกับกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้าฯ ให้เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองปัตตานี อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลา

๖ ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ครั้นได้รับพระราชทานตราตั้งเปนพระยาปัตตานีแล้ว ได้ตั้งบ้านเรือนว่าราชการอยู่ในตำบลบ้านมะนา ในปากอ่าวลำน้ำเมืองปัตตานีฝ่ายทิศตวันออก ในที่ตำบลนั้นสมัยนี้พลเมือง เมืองปัตตานีเรียกกันว่า อ่าวนาเกลือ ในระหว่างพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองก็เปนการปรกติเรียบร้อย ครั้นพระยาสงขลา (บุ่นฮุ้ย) ถึงแก่อนิจกรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋อง) หลานซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ เปนพระยาสงขลา ในระหว่างพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่นั้น พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้นายพ่าย น้องร่วมบิดามารดาแต่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เปนพระยาปัตตานี ตั้งให้นายยิ้มซ้ายบุตรพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) เปนหลวงสวัสดิภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี ครั้นพระยาปัตตานี (พ่าย) ได้ว่าราชการเมืองปัตตานีขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้าน พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ไม่ เลื่อนไปตั้งว่าราชการอยู่ที่บ้านย้ามู ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ห่างออกไปทางเดินเท้าประมาณสามชั่วโมงเศษ ในระหว่างพระยาปัตตานี (พ่าย) ไปว่าราชการอยู่ที่บ้านย้ามูนั้น พวกสาเหยดหนึ่ง พวกรัตนาวงหนึ่ง เปนคนชาติมลายูคบคิดกันเปนโจรเข้าตีปล้นบ้านพระยาปัตตานี (พ่าย) บ้าง บ้านหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการบ้าง พระยาปัตตานี (พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ได้สู้รบพวกสาเหยด พวกรัตนาวง พวกสาเหยดพวกรัตนาวงสู้พระยาปัตตานี (พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย)

๗ มิได้ แตกหนีขึ้นไปซ่อนอยู่ทีตำบลบ้านกะลาภอ ที่เปนหัวน่าหรือตัวนายก็เข้าไปเมืองสงขลาลุกะโทษต่อพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ก็ยกโทษให้พวกสาเหยดพวกรัตนาวงเปนภาคทัณฑ์ไว้ แลจัดแยกให้พวกสาเหยดพวกรัตนาวงเปนกองส่งชันส่งหวายขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา คนประมาณสี่ร้อยครัวเศษ แลให้อยู่ที่ตำบลบ้านกะลาภอเปนแขวงหนึ่ง ตัวนายหรือหัวน่านั้นตั้งให้เปนแม่กองคุมเลขในกองพวกนี้ ด้วยเห็นว่าถ้าจะบังคับให้พวกสาเหยด พวกรัตนาวงไปอยู่ในบังคับพระยาปัตตานี (พ่าย) อิกกลัวจะไม่สิ้นความพยาบาท จะเกิดวิวาทรบกวนไม่รู้แล้ว จึ่งได้จัดพวกนี้ให้แยกขึ้นเสียกับเมืองสงขลากองหนึ่ง พวกสาเหยดพวกรัตนาวงซึ่งแยกเปนกองส่งหวายส่งชันขึ้นกับเมืองสงขลาแล้ว ก็เรี่ยรายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบ้านหนองจิกบ้างยิริงบ้าง เหตุด้วยในแขวงตำบลที่กะลาภอไม่มีที่จะทำนา หัวน่าที่เปนแม่กองคุมอยู่นั้น ครั้นถึงกำหนดจะส่งหวายส่งชันกับเมืองสงขลาแล้ว ก็เที่ยวเรียกไปตามบาญชี เรียกชันเรียกหวายส่งกับเมืองสงขลาตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างพระยาปัตตานี (พ่าย) ว่าราชการเมืองอยู่ ในอาณาเขตรเมืองปัตตานีเกิดโจรผู้ร้ายเที่ยวตีปล้นบ้านเรือนชุกชุม พระยาปัตตานี (พ่าย) ปราบปรามไม่สงบลงได้ ก็บอกหนังสือแจ้งราชการเข้ามาเมืองสงขลา . พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ก็นำหนังสือบอกเข้ามากรุงเทพ ฯ € โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม กับพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ออกไปแยกเมืองปัตตานีเปนเจ็ดเมือง พระยาอภัยสงคราม พระยา

๘ สงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ครั้นออกไปถึงเมืองปัตตานีแล้ว ก็แยกออกเปนเมืองปัตตานีหนึ่ง เปนเมืองยิริงหนึ่ง เปนเมืองสายบุรีหนึ่ง เปนเมืองหนองจิกหนึ่ง เปนเมืองรามันห์หนึ่ง เปนเมืองระแงะหนึ่ง เปนเมืองยะลาหนึ่ง € เขตรแดนเมืองปัตตานีรอบตัวนั้น ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายใต้ต่อพรมแดนเมืองรามันห์เมืองยะลา มีหลักเรียงรายไปจนถึงหลักห้า ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองหนองจิก เอาปากคลองบางหมอเปนแดนขึ้นไปคลองบ้านดอนรัก จดต้นตะเคียนใหญ่บ้านคลองขุด ปลายคลองขุดเปนคลองเล็ก ขึ้นไปถึงบ้านกะหรั่งตลอดไปคลองใหญ่ที่เรียกว่า คลองวัว คลองวัวแลพ้นคลองวัวไปทิศใต้เรียกว่าอะเนาะบุโหละ ในระหว่างคลองวัวกับอะเนาะบุโหละคนละฟากคลอง ฟากตวันออกเปนเมืองปัตตานี ฟากตวันตกเปนเขตรเมืองหนองจิก ทิศตวันออกต่อพรมแดนเมืองยิริง ตั้งแต่อ่าวโตนดริมทเลลงไปทิศใต้ ปักหลักเรียงขึ้นไปจนถึงต้นพิกุลใหญ่ริมบ้านโต๊ะโสมริมบ้านกะดี ปักหลักเรียงลงไปถึงต้นยางขาคีมหว่างบ้านสิโต๊ะบ้านอะโห บ้านอะโหเปนเขตรเมืองปัตตานี บ้านสิโต๊ะเปนเขตรเมืองยิริง สิ้นเขตรเมืองปัตตานี € เขตรแดนเมืองยิริงรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายตวันออกต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ปักหลักแลปลายคลองตายบ่อหม่าหังพรุกะจูดเขาน้อยเขาโต๊ะชูดคลองน้ำโพรงจรเข้เขาทองเปนแดน ฝ่ายใต้ปักหลักที่นาดำต่อพรมแดนเมืองรามันห์ ตั้งแต่หลักห้าที่นาดำตรงไป ตวันออกมีคลองน้ำแม่ครกไปจนถึงลำห้วยสะโหระ ตั้งแต่ลำห้วย

๙ สะโหระปักหลักเรียงไปจนถึงบ้านตรัง ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตั้งแต่อ่าวโตนดริมทเลลงไป ทิศใต้ปักหลักเรียงขึ้นไปจนถึงต้นพิกุลใหญ่หว่างบ้านโต๊ะโสมบ้านกะดี ปักหลักเรียงลงไปถึงต้นยางขาคีมหว่างบ้านสิโต๊ะบ้านอะโห ตั้งแต่บ้านอะโหเรียงลงไปถึงต้นมะม่วงใหญ่ตวันตกบ้านเกาะล่ากา ปักหลักเรียงลงไปถึงบ้านก่อหวายบ้านสะตาลบ้านประดู่ ลงไปถึงบ้านน้ำใสตลอดไปหลักห้าเพียงบ้าน นาดำ สิ้นเขตรเมืองยิริง € เขตรแดนเมืองสายบุรีรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่ายตวันออก ปักหลักที่คลองน้ำย้ากัง ตั้งแต่ทเลเรียงไปปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง เปนเขตรจนจดคลองตรวบ ฝ่ายตวันออกเปนเขตรเมืองกลันตัน ฝ่าย ตวันตกเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้มีเขาใหญ่ที่ยาวไปตวันออกตวันตกเปนเขตรแดน พ้นเขาปักหลักที่บ้านยิ้งอเรียงไปตวันออกปักหลักบ้าง ต้นไม้ใหญ่บ้างจนจดคลองตรวบ ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้เปนเขตรเมืองระแงะ ฝ่ายตวันตกมีปลายคลองตายเปนเขตรต่อพรมแดนเมืองยิริง ปักหลักแต่พรุกะจูดตลอดไปถึงบ่อหม่าหังเรียงขึ้นไปพรุใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่ปักหลักไปถึงคลองน้ำโพรงจรเข้เขาน้อยต่อพรมแดนที่กะลาภอ ฝ่ายตวันออกเฉียงใต้ไปถึงเขามุโดเปนเขตรตลอดไปคลองฆอหลอกะปัดต่อพรมแดนเมืองรามันห์ สิ้นเขตรเมืองสายบุรี € เขตรแดนเมืองระแงะรอบตัว ฝ่ายเหนือมีภูเขาใหญ่ที่ขวางยาวไปตวันออกตวันตกเปนเขตรแดน ปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้างเรียง

๑๐ ไปจนจดคลองตรวบ ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองสายบุรี ฝ่ายใต้เปนเขตรระแงะ ฝ่ายตวันตกเขาหลิหยอเปนแดนลงมาแบ๊หงอปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง มีสายห้วยน้ำตลอดขึ้นมาบ้านสุเปะบ้านปะฆอหลอ ปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้างมีเขาบ้าง เรียงไปจนถึงคลองตามะหันต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ฝ่ายตวันออกคลองตรวบเปนแดนตลอดขึ้นไปบ้านโต๊ะเดะ ปักหลักตั้งแต่บ้านโต๊ะเดะไปถึงพรุ สิ้นพรุเปนลำห้วยเรียกว่าอาเหอิหนอ เปนคลองเขตรแดนตลอดไปถึงตกหมกเหมืองทอง ฝ่ายตวันออกต่อพรมแดนเมืองกลันตัน ฝ่ายใต้ไม่มีหลักลงไปตวันตกเฉียงใต้ตลอดไปบะโลมจดคลองน้ำเมืองแประ ตั้งแต่ตกหมกไปฝ่ายตวันออกเฉียงใต้ เปนป่าดงใหญ่ตลอดไปไม่มีหลักไม่มีสำคัญ สิ้นเขตรเมืองระแงะ € เขตรแดนเมืองรามันห์รอบตัว ฝ่ายเหนือปักหลักที่นาดำต่อพรมแดนเมืองยิริง เรียงไปต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตลอดไปถึงเขาปะราหมะต่อพรมแดนเมืองยะลา เรียงไปจนถึงปะฆอหลอสะเตาะเหนือกำปงจินแหร ปักหลักไปถึงบ้านกาลั่นอะหรอจดคลองใหญ่ท่าสาบไปตามลำคลองคนละฟาก ฟากเหนือเปนเขตรเมืองยะลา ฟากใต้เปนเขตรเมืองรามันห์ จนถึงบ้านบะนางสะตา ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีเขาสะปะเหลาะที่ขวางอยู่นั้นเปนเขตรแดนมีต้นไม้ใหญ่มีคลองน้ำมีเขาบ้าง ฝ่ายตวันตกเฉียงใต้ตลอดไปถึงเขามะนะเสาะ มีเขาเนื่องกันไปในที่ยารม มีห้วยน้ำแลต้นไม้ใหญ่ตลอดไปต่อพรมแดนเมืองแประ ฝ่ายตวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่คลอง

๑๑ น้ำเมืองแประ ตลอดไปคลองน้ำบะโลมจดตกหมกเหมืองทองแขวงเมืองระแงะ ฝ่ายตวันออกตั้งแต่เขาหลิหยอลงมาปักหลักบ้างมีต้นไม้ใหญ่บ้าง จนถึงลำห้วยแบ๊หงอต่อพรมแดนเมืองระแงะ ปักหลักตลอดถึงบ้านสุเปะ บ้านปะฆะหลอจดคลองก่าบู ปักหลักไปจดเขามุโดเรียงลงมาฆอหลอกะปัดต่อพรมแดนเมืองสายบุรี ตลอดมาถึงบ้านตรังบ้านท่าทุ่งต่อพรมแดนเมืองยิริง สิ้นเขตรเมืองรามันห์ € เขตรแดนเมืองยะลารอบตัว ตวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เขาปะราหมะ ปักหลักเรียงลงไปตวันออกถึงปะฆะหลอสะเตาะเหนือบ้านจินแหร ตลอดไปถึงบ้านกะลั่นอะหรอจนถึงคลองใหญ่ท่าสาบจดบ้านบะนางสะตา ฟากเหนือเปนเขตรเมืองยะลา ฟากใต้เปนเขตรเมืองรามันห์ ฝ่าย ตวันออกเฉียงเหนือต่อพรมแดนเมืองปัตตานี ตั้งแต่ตะโหละเปาะย้านิงมีสายห้วยไปจดคลองน้ำท่าสาบ ฟากคลองตวันตกเปนเขตรเมืองยะลา ฟากคลองตวันออกเปนเขตรเมืองปัตตานี ฝ่ายเหนือต่อพรมแดนเมืองหนองจิก เขาศาลาคิรีเปนแดน ฝ่ายตวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีคลองบาโงยเปนเขตรแดนขึ้นไปถึงบ้านยิ้นังตลอดไปบ้านบะเหลาะ ฝ่ายตวันตกตลอดไปจดเขาเหมืองดิดะล่าบู สิ้นเขตรเมืองยะลา € เขตรแดนเมืองหนองจิกรอบตัว ฝ่ายเหนือจดทเล ฝ่าย ตวันออกหลักแดนคลองน้ำติดต่อกับเมืองปัตตานี ฝ่ายใต้ต่อพรมแดนเมืองยะลา ฝ่ายตวันออกตั้งแต่หาดลุโบบาโกยริมคลองใหญ่ท่าสาบเรียงไปบ้านทุ่งยาวตลอดไปสายห้วยเรียกว่าคลองสามี พ้นแต่คลอง

๑๒ สามีมีต้นมะม่วงใหญ่แลต้นไม้ใหญ่ เรียงไปจดเขาใหญ่ที่ยาวไปตวันออก ตวันตกเรียกว่าเขาศาลาคิรี ยาวตลอดไปหาดทรายแขวงเมืองเทพา ฝ่ายใต้เขาศาลาคิรีเปนเขตรเมืองยะลา ฝ่ายเหนือเปนเขตรเมืองหนองจิก ฝ่ายตวันตกริมทเลตั้งแต่ปากบางราภาขึ้นไปตามคลองใหญ่สายห้วยโว่น้อย ยักไปตวันตกเขาเรียกว่าคลองบ้านภูมี ตลอดไปข้างปลายเรียกว่าคลองท่าศาลา ขึ้นไปตวันตกบ้านป่าบอนบ้านกะโผะ มีห้วยน้ำเรียกว่าคลองช้าง ฟากตวันออกคลองช้างเขตรเมืองหนองจิก ฟากตวันตกคลองช้างเปนเขตรเมืองเทพา เรียงขึ้นไปเรียกว่าควนหินกอง ที่บ้านบุหร่นคลองหินกองปักหลักเปนแดนตั้งแต่ควนหินกองตลอดขึ้นไป ถึงเขาน้อยบ้านห้วยบอนเปนกลางแดน มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายเปนเขตรไปจนถึงเขาศาลาคิรี สิ้นเขตรเมืองหนองจิก € ครั้นพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) แยกเมืองปัตตานีออกเปนเจ็ดเมือง แลปักหลักแบ่งเขตรแดนเสร็จแล้ว พระยาปัตตานี (พ่าย) หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยซึ่งตั้งบ้านเรือนว่าราชการ อยู่ที่ตำบลบ้านย้ามูติดอยู่ในเขตรเมืองยิริงพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พร้อมด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) กะตัวให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เปนพระยายิริง หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ก็ให้คงเปนผู้ช่วยอยู่ แต่เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์ เมืองยะลา เมืองหนองจิก ซึ่งยังไม่มีตัวผู้รักษาราชการเมืองนั้น พระยาอภัยสงครามข้าหลวง

๑๓ พร้อมด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) บังคับให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เลือกจัดหาในพวกตระกูลตวันตระกูลหนิ ที่พระยาปัตตานี (พ่าย) ได้เคยใช้สอยเห็นว่าที่ใจเรียบร้อยมาแต่ก่อนนั้น จดรายชื่อกะตัวให้ครบทั้งหกเมือง พระยาปัตตานี (พ่าย) ก็จดรายชื่อขึ้นยื่นต่อพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) รายชื่อที่พระยาปัตตานี (พ่าย) ยื่นนั้น คือหนิดะ เดิมพระยาปัตตานี (พ่าย) ตั้งให้เปนที่ขุนปลัดกรมการหนึ่ง หนิเดะ เปนน้องชายจาก หนิดะขุนปลัดหนึ่ง ตวันหม่าโส่ เดิมพระยาปัตตานี (พ่าย) ตั้งให้เปนนายอำเภออยู่ที่บ้านรามันห์หนึ่ง ตวันยลอ เปนวงษ์ญาติ ตวันหม่าโส่หนึ่ง ตวันสุหลง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านกะเสะหนึ่ง ตวันหนิ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านหนองจิกหนึ่ง ครั้นพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ได้รายชื่อครบหกเมืองแล้ว ก็จัดให้ตวันสุหลงเปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีให้ตวันหนิเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก ให้ตวันหม่าโส่เปนผู้รักษาราชการเมืองรามันห์ ให้ตวันยลอเปนผู้รักษาราชการเมืองยะลาให้หนิดะเปนผู้รักษาราชการเมืองสายบุรี ให้หนิเดะเปนผู้รักษาราชการ เมืองระแงะ ให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง แต่หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ให้คงเปนผู้ช่วยราชการอยู่ในพระยาปัตตานี (พ่าย) ผู้ว่าราชการเมืองยิริง พระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ครั้นแยกเขตรแดนแลจัดให้มีตัวผู้รักษาราชการเมืองเสร็จแล้ว พร้อมกันกลับกรุงเทพ ฯ กราบ

๑๔ บังคมทูลรายงานตามที่แยกเมืองปัตตานีออกเปนเจ็ดเมือง แลจัดให้มีผู้รักษาราชการไว้ทุกเมืองแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตั้งตามรายชื่อซึ่งพระยาอภัยสงครามข้าหลวง พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) จัดไว้ ในตอนนี้ชื่อพระยาทั้งเจ็ดเมืองที่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานตั้งนั้นสืบไม่ได้ความ ได้ทราบความแต่ว่าพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) เปนผู้เชิญตราตั้งออกไปพระราชทานทั้งเจ็ดเมือง เปลี่ยนให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เปนพระยายิริง ตวันสุหลงเปนพระยาปัตตานี ตวันหนิเปนพระยาหนองจิก ตวันหม่าโส่เปนพระยารามันห์ ตวันยลอเปนพระยายะลา หนิดะเปนพระยาสายบุรี หนิเดะเปนพระยาระแงะ เมืองทั้งเจ็ดเมืองนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อมา พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ตั้งพระยาเจ้าเมืองแลมอบเมืองทั้งเจ็ดเมืองเสร็จแล้วก็กลับเมืองสงขลา € พระยายิริง (พ่าย) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองนั้นอยู่ที่ตำบลบ้านย้ามู พระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานี อยู่ที่ตำบลบ้านกะเสะใกล้ตำบลบ้านมะนาซึ่งพระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองอยู่ก่อน พระยาหนองจิก (ตวันหนิ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองหนองจิกนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหนองจิกพระยายลา (ตวันยลอ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองยะลานั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา พระยารามันห์ (ตวันหม่าโส่) ตั้งบ้านเรือน

๑๕ หรือที่เรียกกันว่าเมืองรามันห์นั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านรามันห์ พระยาสายบุรี (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองสายบุรีนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยิ้งอ ริมแดนต่อพรมแดนเมืองระแงะทางประมาณสี่ร้อยเส้นเศษ พระยาระแงะ (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองระแงะนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านระแงะและริมพรมแดนต่อแดนเมืองกลันตันต้นทางที่จะไปตกหมกเหมืองทอง ในระหว่างนั้นบ้านเมืองเปนปรกติเรียบร้อยอยู่หลายปี อยู่มาพระยาสงขลา ( เถี้ยนจ๋อง ) ถึงอนิจกรรมลง โปรดเกล้า ฯ ให้น้องจากพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ซึ่งร่วมบิดามารดา ชื่อเถี้ยนเส้ง เปนพระยาว่าราชการเมืองสงขลาขึ้น ในตอนพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่นั้น พระยารามันห์ (ตวันหม่าโส่) พระยายลา (ตวันยลอ) พระยาหนองจิก (ตวันหนิ) ก็ถึงแก่กรรม พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดให้ตวันกะจิน้องร่วมบิดามารดาแต่พระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) รักษาราชการเมืองหนองจิก ให้ตวันบางกอกบุตรพระยายะลา (ตวันยลอ) รักษาราชการเมืองยะลา ให้ตวันกุโหนบุตรพระยารามันห์ (ตวันหม่าโส่) รักษาราชการเมืองรามันห์ ครั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดให้มีตัวผู้รักษาราชการเมืองแทนขึ้นเสร็จแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ก็เข้ามายังกรุงเทพ ฯ นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาตามที่พระยาผู้ว่าราชการเมืองถึงแก่กรรม แลได้จัดให้น้องพระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) ชื่อตวันกะจิรักษาราชการเมืองหนองจิก ให้บุตรพระยายะลา (ตวันยลอ) ชื่อตวันบางกอกรักษาราชการเมืองยะลา ให้

๑๖ บุตรพระยารามันห์ (ตวันหม่าโส่) ชื่อตวันกุโหนรักษาราชการเมืองรามันห์ ก็โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดไว้ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กราบถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เชิญออกไปด้วย ครั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ออกไปถึงเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้น) มีหนังสือเรียกตัวตวันกุโหน ตวันกะจิ ตวันบางกอก เข้ามายังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ก็มอบตราตั้ง ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานออกไป ตั้งให้ตวันกะจิเปนพระยาหนองจิก ตั้งให้ตวันบางกอกเปนพระยายะลา ตั้งให้ตวันกุโหนเปนพระยารามันห์ พระยายะลา (ตวันบางกอก) พระยารามันห์ (ตวันกุโหน) พระยาหนองจิก (ตวันกะจิ) ก็ลาพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กลับไปบ้านเมือง ในระหว่างนั้นบ้านผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ ก็ยังคงว่าราชการอยู่ที่บ้านเจ้าเมืองคนเก่า หาได้รื้อเลื่อนไปอื่นไม่ บ้านเมืองก็ยังเปนปรกติเรียบร้อยกันอยู่ทั้งเจ็ดเมือง € ครั้นอยู่มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) พี่ พระยาหนองจิก (ตวันกะจิ) น้อง พระยายะลา (ตวันบางกอก) พระยาระแงะ (หนิเดะ) สี่เมืองนี้ร่วมคิดกันเปนกระบถขึ้น แยกกันออกตีบ้านพระยายิริง (พ่าย) บ้าง เลยเข้ามาตีถึงเมืองจะนะเมืองเทพาบ้าง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) มีใบบอกเข้ามากรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนแม่ทัพ

๑๗ ออกไปสมทบช่วยเมืองสงขลา ครั้นกองทัพพระยาเพ็ชรบุรีออกไปถึงเมืองสงขลา ก็รวบรวมสมทบกับกองทัพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ยกออกตีแขกตั้งแต่เมืองจะนะเมืองเทพาตลอดจนถึงเมืองระแงะ ไปจับได้พระยาปัตตานี (ตวันสุหลง) พระยายะลา (ตวันบางกอก) พระยาหนองจิก (ตวันกะจิ) ที่ตำบลบ้านโต๊ะเดะในเขตรแขวงเมืองระแงะริมพรมแดนเมืองกลันตัน ประหารชีวิตรเสียในที่ตำบลนั้น แต่พระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่เปนพวกร่วมคิดกันกระบถนั้นหนีรอดตามไม่ได้ตัว ในระหว่างนั้นพระยาเพ็ชรบุรีแม่ทัพ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดให้หนิบอสูรักษาราชการเมืองระแงะ หนิบอสูคนนี้เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านบางปูแขวงเมืองยิริง พระยายิริง (พ่าย) ให้เปนกรมการอยู่ที่เมืองยิริง เวลาที่รบนั้นก็ได้ไปในกองทัพด้วย มีคำสรรเสริญว่าใจคอกล้าหาญ จัดให้หลวงสวัสดิ์ (ยิ้มซ้าย) เดิมเปนผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองยิริงไปรักษาราชการเมืองยะลา จัดให้นายเม่นเมืองจะนะเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก จัดให้ตวันยุโส่เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานี แต่ตวันยุโสคนนี้เปนสองชื่ออยู่ เรียกกันว่าโต๊ะกีก็เรียก € พระยาเพ็ชรบุรีแม่ทัพ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ครั้นตีแขกกระบถแตก แลเมืองที่ว่างไม่มีผู้ว่าราชการเมืองนั้น ก็จัดให้มีขึ้นอยู่รักษาราชการแทนไว้เสร็จแล้ว พร้อมกันกลับกรุงเทพ ฯ ตวันยุโส่หรือโต๊ะกี่ได้เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานี ก็เลื่อนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฝ่ายตวันตกแต่บ้านกะเสะ ห่างจากบ้านพระยาปัตตานี (ตวัน ๒

๑๘ สุหลง) ซึ่งเปนกระบถไปประมาณสามร้อยเส้นเศษ หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองยิริง ซึ่งได้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลานั้น ก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านวังตระแขวงเมืองยะลาอยู่ฝ่ายตวันตกเฉียงเหนือแต่บ้านพระยายะลา (ตวันบางกอก) ซึ่งเปนกระบถห่างออกไปทางประมาณห้าร้อยเส้นเศษ หนิบอสูซึ่งได้เปนผู้รักษาราชการเมืองระแงะ ก็ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านตะหยงหมะ แขวงเมืองระแงะ ฝ่ายตวันออกแต่บ้านพระยาระแงะ (หนิเดะ) ซึ่งเปนกระบถไกลออกไปทางประมาณวันหนึ่ง ในตอนนี้ขนบธรรมเนียม เมืองยิริง เมืองยะลา เมืองหนองจิก กรมการแลอำเภอใช้อย่างเมืองสงขลาทั้งสิ้น เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์นั้น พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ก็แต่งให้กรมการออกไประวังตรวจอยู่เสมอมิได้ขาด บ้านเมืองก็เปนการเรียบร้อยทั้งเจ็ดเมือง อยู่มาพระยายิริง (พ่าย) ป่วยเปนโรคชราถึงแก่กรรมลง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดให้หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองยะลา ไปรักษาราชการเมืองยิริง ในระหว่างหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) รักษาราชการอยู่ที่เมืองยะลานั้น ได้โก่นสร้างเหมืองดีบุกไว้ในเมืองยะลาหกเหมือง ชื่อเหมืองดิดะ เหมืองล่าบู เหมืองหม่าเระ เหมืองบายอ เหมืองใหม่ เหมืองแหมะบุหลัน ครั้นหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ต้องเลื่อนเปลี่ยนไปอยู่รักษาราชการเสียที่เมืองยิริง หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ก็ทำรายชื่อเหมืองมอบอนุญาตให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ก็ได้รับผลประโยชน์ได้เปนดีบุกบ้าง ได้เปน

๑๙ เงินค่าเช่าบ้างทุก ๆ ปีมิได้ขาด มาจนพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถึงแก่อนิจกรรม ต่อมาเหมืองรายนี้ก็เลยรวมเปนมรดกของเมืองสงขลาไป ถ้าท่านคนใดได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลาขึ้นแล้ว ก็ได้รับผลประโยชน์ต่อ ๆ กันมาตลอดจนถึงพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ในระหว่างหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) รักษาราชการเมืองยิริงนั้น พระยา กลันตังชื่อเดิมสืบไม่ได้ความถึงแก่กรรมลง พระยาจางวางสุลต่านเดวอหนึ่ง ตวันปากแดงหนึ่ง ตวนกูปะสาหนึ่ง ตวันบางโงยหนึ่ง ซึ่งเปนวงษ์ญาติอยู่ในพระยากลันตันที่ถึงแก่กรรม เกิดวิวาทรบพุ่งแย่งชิงกันจะเปนเจ้าเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้พระเสน่หามนตรี ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ออกไประงับการวิวาทที่เมืองกลันตัน ครั้นพระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ไปถึงเมืองกลันตัน ตวันบาโงยก็หนีไปทางเมืองกะลาปาหัง พระเสน่หามนตรีผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ก็พาตัวพระยาจางวาง (สุลต่านเดวอ) มาไว้เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็พาตัวตนกูปะสามาไว้เสียที่เมืองสงขลา ครั้งนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้ ตวันปากแดงเปนพระยากลันตัน เมืองกลันตันก็เปนการเรียบร้อยอยู่มาหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองยิริงถึงแก่กรรมลง นายเม่นซึ่งเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิกไม่ได้ราชการ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถอดนายเม่นออกจากราชการเสียในระหว่างนั้นเมืองยิริงผู้รักษาราชการเมืองถึงแก่กรรม เมืองหนองจิก

๒๐ ผู้รักษาว่าราชการยังไม่มีตัว เมืองปัตตานี เมืองยะลา ผู้รักษาราชการก็ยังไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ก็พาหนิยุโส่หรือที่เรียกว่าโต๊ะกี่ ซึ่งได้จัดไว้ให้เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองปัตตานีหนึ่ง นายเมืองบุตรพระยายิริง (พ่าย) ซึ่งได้จัดให้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลาอยู่หนึ่ง นายเกลี่ยงบุตรหลวง สวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้รักษาราชการเมืองยิริงที่ถึงแก่กรรมหนึ่ง ตวนกูประสาซึ่งพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) พามาแต่เมืองกลันตันหนึ่งเข้ามากรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตั้งให้ หนิยุโส่หรือโต๊ะกีเปนพระยายิริง ให้นายเมืองเปนพระยายะลา ให้นายเกลี่ยงเปนพระยาหนองจิก ให้ตวนกูปะสาเปนพระยาปัตตานี ครั้นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองยิริง ได้รับพระราชทานตราตั้งเสร็จแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยิริง เมือง ยะลา กราบถวายบังคมลากลับเมืองสงขลา € พระยาปัตตานี (ตวนกูปะสา) ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านจะบังติฆอ ที่พระยาปัตตานีว่าราชการอยู่เดี๋ยวนี้ พระยาหนองจิก (เกลี่ยง) ได้ตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลบ้านตุยง อยู่ฝ่ายทิศตวันออกเคียงบ้านผู้ว่าราชการเมืองหนองจิกเดี๋ยวนี้ พระยายิริง (หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านย้ามู ริมลำน้ำเมืองยิริงฟากทิศใต้ พระยายะลา (เมือง) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านท่าสาบ ริมลำน้ำที่ลงจากเมืองรามันห์ฟากตวันตก บุตรหลานพระยายะลา

๒๑ (เมือง) ยังได้อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ในระหว่างนั้นเมืองแขกทั้งเจ็ดเมืองก็เปนการเรียบร้อย อยู่มาพระยายะลา (เมือง) ไม่ได้ราชการ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถอดออกเสียจากราชการ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดให้ตวันบาตูปุเต้เปนผู้รักษาราชการเมืองยะลา ตวันบาตูปุเต้ผู้รักษาราชการเมืองยะลา ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา บ้านที่พระยายะลาว่าราชการอยู่เดี๋ยวนี้ อยู่มาพระยาสายบุรี (หนิดะ) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตั้งให้หนิละไมบุตรเปนพระยาสายบุรี พระยาสายบุรี (หนิละไม) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนของบิดาที่ตำบลบ้านยิ้งอต่อมา ครั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถึงแก่อนิจกรรม ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเปนพระยาสงขลา ในระหว่างพระยาสงขลา (บุญสัง) ว่าราชการเมืองอยู่นั้น พระยายิริง (หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้พระยาจางวาง (สุล ต่านเดวอ) ซึ่งเสน่หามนตรีพามาจากเมืองกลันตันให้อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น เปนพระยายิริง อยู่มาพระยายิริง (สุลต่านเดวอ) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้นายแต่งซึ่งเปนบุตรพระยายิริง (หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) เปนพระยายิริง พระยายิริง (แต่ง) คนนี้ทราบความว่า เมื่อครั้งเมืองปัตตานีเกิดกระบถนั้น พระยายิริง (แต่ง) อายุประมาณได้ห้าขวบหรือหกขวบ ครั้นบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว กองทัพที่ออกไปนั้นกลับกรุงเทพ ฯ พระยายิริง (แต่ง)

๒๒ ติดเข้ามากรุงเทพ ฯ ด้วย ครั้นพระยายิริง (แต่ง) มีอายุมากขึ้นก็เลยเปนไทยไป ได้บวชเปนสามเณรอยู่จนอายุถึงยี่สิบเอ็ดยี่สิบสองปีแล้วเลยบวชเปนพระภิกษุต่อไปหลายพรรษาจนได้เปนที่พระใบฎีกา ครั้นสึกจากพระก็ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา ยังหาได้กลับออกไปบ้านเมืองไม่ ต่อเมื่อได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่พระยายิริงผู้ว่าราชการเมืองยิริงแล้ว จึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกไปบ้านเมือง ครั้นพระยายิงริง (แต่ง) ออกไปถึงเมืองยิริงแล้ว ก็ปลูกเรือนลงในที่บ้านพระยายิริง (หนิยุโส่หรือโต๊ะกี) ผู้เปนบิดา ว่าราชการเมืองอยู่ที่นั้น เมืองยิริงในตอนพระยายิริง (แต่ง) ว่าราชการอยู่ขนบธรรมเนียมจัดอย่างเมืองสงขลา คดีถ้อยความที่ปรับไหมหรือตัดสินก็ใช้ตามพระราชกำหนดกฎหมายสยามทั้งสิ้น เมืองยิริงเวลานั้นเปนที่เรียบร้อยแลมีการเจริญขึ้นมาก อยู่มาพระยาปัตตานี (ตวนกูปาสา) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ตวันปุเต้บุตร เปนพระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา รัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมของบิดาต่อมา เมืองปัตตานีเวลาพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ว่าราชการอยู่นั้น ขนบธรรมเนียมโรงศาลแขวงแลอำเภอจัดเหมือนอย่างเมืองยิริง อยู่มาพระยารามันห์ (ตวันกุโหน) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ตวันติมุนบุตรเปนพระยารัตนภักดี ศรีราชบดินทร์ สุรินทรวิวังษา ผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ พระยา

๒๓ รามันห์ (ตวันติมุน) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านรามันห์ ที่พระ ณรงค์วังษาอยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ เมืองรามันห์ตอนที่พระยารามันห์ (ติมุน) ว่าราชการอยู่นั้น ขนบธรรมเนียมบ้านเมืองจัดอย่างเมืองปัตตานีเมืองยิริงทั้งสิ้น ครั้นเจ้าพระยาสงขลา (บุญสัง) ถึงแก่ อสัญญกรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระสุนทรนุรักษ์ (เม่น) บุตรพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) เปนพระยาวิเชียรคิรี ฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา อยู่มาพระยาหนองจิก (เกลี่ยง) ถึงแก่กรรมลง พระยายะลา (ตวันบาตูปุเต้) ก็ถึงแก่กรรม € ในระหว่างนั้น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัตยุบันนี้ (รัชกาลที่ ๕) เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองกะลักตา เวลาเสด็จกลับนั้นมาประทับที่เมืองไทรบุรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถล มารคแต่เมืองไทรบุรี เสด็จมาลงเรือพระที่นั่งที่เมืองสงขลา ครั้นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกจากเมืองสงขลาแล้ว พระยาวิเชียรคิรี (เม่น) ก็พานายเวียงบุตรหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) ตวันกะจิบุตรพระยายะลา (ตวันบาตูปุเต้) เข้ามากรุงเทพ ฯ € โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคิรี (เม่น) เปนเจ้าพระยาวิเชียรคิรีฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งให้นายเวียงเปนพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์ วาปีเขตรมุจลินท์ นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ตั้งให้ตวันกะจิเปนพระยาณรงค์ฤทธี ศรีประเทศ วิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองยะลา เจ้าพระยาวิเชียร

๒๔ คิรี (เม่น) พระยาหนองจิก (เวียง) พระยายะลา (ตวันกะจิ) ก็กราบถวายบังคมลากลับเมืองสงขลา พระยายะลา (ตวันกะจิ) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนบิดาต่อมา หาได้เลื่อนบ้านไปอยู่ที่อื่นไม่ แต่พระยาหนองจิก (เวียง) นั้น หาได้ว่าราชการที่บ้านพระยาหนองจิก (เกลียง) ไม่ เลื่อนไปตั้งบ้านลงใหม่ห่างบ้านพระยาหนองจิก (เกลียง) ไปฝ่ายตวันตกประมาณทางห้าสิบเส้นเศษ อยู่มาพระยาสายบุรี (หนิละไม) พระยารามันห์ (ตวันติมุน) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้า ฯ ให้หนิแปะบุตรพระยาสายบุรี (หนิละไม) เปนพระยาสุริยสุนทร บวรภักดี ศรีมหารายา มัตตาอัปดุล วิบุลยขอบ เขตร ประเทศมลายู ผู้ว่าราชการเมืองสายบุรี ให้หนิปิน้องจากพระยาสายบุรี (หนิแปะ) เปนพระรัตนามนตรีผู้ช่วยราชการ ให้หนิอี่ตำน้องจากพระรัตนามนตรี (หนิปี) เปนพระวิเศษวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองสายบุรี ตั้งให้พระณรงค์วังษา (ตวันยาฮง) ผู้ช่วยราชการซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยารามันห์ (ติมุน) เปนพระยารัตนภักดี ศรีราชบดินทร์ สุรินทรวิวังษา ผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ ให้หลวงรายาภักดี (ตวันบาไลยาวอ) บุตรพระยารามันห์ (ติมุน) เปนพระณรงค์วังษาผู้ช่วยราชการ ให้ตวันละเบะบุตรพระยารามันห์ (ตวันยาฮง) เปนหลวงรายาภักดีผู้ช่วยราชการเมืองรามันห์ พระยาสายบุรี (หนิแปะ) เปนผู้ว่าราชการเมืองขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมบิดาไม่ เลื่อนมาตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกว่าเมืองสายบุรีนั้น มาอยู่ที่ตำบลบ้านสะลินงบายู๊ ริมลำน้ำซึ่งลงมาจากอ่าวลุทรายเหมือง

๒๕ ทองแขวงเมืองระแงะฟากตวันออก ว่าราชการมาจนถึงทุกวันนี้ พระยารามันห์ (ตวันยาฮง) เปนผู้ว่าราชการเมืองขึ้น หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยารามันห์ (ตวันติมุน) พี่ชายไม่ เลื่อนไปปลูกเรือนอยู่ใต้บ้านพระยารามันห์ (ตวันติมุน) ห่างออกไปทางประมาณสองเส้นเศษ อยู่มาพระยาหนองจิก (เวียง) พระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) พระยายิริง (แต่ง) ก็ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้ตวนกูปะสาบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ซึ่งมารดาอยู่เมือง กลันตัน เปนพระยาวิชิตภักดี ศรีสุรวังษา รัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ให้พระพิพิธภักดี ผู้ช่วยราชการ เปนพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร นริศรสุรบดินทร์ นรินทรภักดี ผู้ทนุบำรุงราชการ ให้ตวนกูบอสูเปนพระศรีบุรีรัฐพินิต ผู้ช่วยราชการ ให้ ตวนกูเดบุตรพระยาพิทักษ์ ฯ เปนพระพิพิธภักดี ช่วยราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้หนิเหมาะซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยายิริง (แต่ง) เปนพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดี ศรีสุรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองยิริง ตั้งให้หนิโหวะบุตรพระยายิริง (หนิเหมาะ) เปนพระโยธานุประดิษฐ ผู้ช่วยราชการเมืองยิริง ตั้งให้นายมิ่งบุตรพระยาเทพา (ช้าง) เปนพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์ วาปิเขตรมุจลินท์ นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก พระยาปัตตานี (ตวนกูปะสา) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ผู้บิดา พระยาหนองจิก (มิ่ง) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาหนองจิก (เวียง) แต่พระยายิริง (หนิเหมาะ) หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยา

๒๖ ยิริง (แต่ง) พี่ชายไม่ ปลูกบ้านเรือนใหม่ขึ้นว่าราชการ ห่างแต่บ้านพระยายิริง (แต่ง) ลงไปทิศใต้ทางประมาณหกเส้นเศษ อยู่มาพระยาระแงะ (ตวันบอสู) ถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระคิรีรัตนพิศาล (ตวันโหนะ) บุตรพระยาระแงะ (ตวันบอสู) เปนพระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศ วิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองระแงะ ตั้งให้ตวันแตะน้องจากพระยาระแงะ (ตวันโหนะ) เปนพระคิรีรัตนพิศาล ผู้ช่วยราชการเมืองระแงะ พระยาระแงะ (ตวันโหนะ) ก็ว่าราชการอยู่ที่บ้านเรือนพระยาระแงะ (ตวันบอสู) ผู้บิดา ครั้นเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) ถึงอสัญญกรรมลง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม) เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลาอยู่ พระยาปัตตานี (ตวนกูปะสา) พระยาหนองจิก (มิ่ง) ก็ถึงแก่กรรมทั้งสองเมือง ในระหว่างนั้นเมืองปัตตานี พระศรีบุรีรัฐพินิต (ตวนกูบอสู) ซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) เปนผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ แต่เมืองหนองจิกนั้นพระยาสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม) แต่งให้หลวงจ่ามหาดไทยกรมการเมืองสงขลาออกไปเปนผู้รักษาราชการ แล้วพระยาสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม ) ก็เข้ามากรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม) เปนพระยาวิเชียรคิรี ฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ครั้นพระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) กลับออกไปถึงเมืองสงขลาแล้ว แต่งให้นายทัดมหาดเล็กซึ่งเปนน้องต่างมารดาแต่พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) ไปเปนผู้รักษาราชการเมืองหนองจิก พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) พักอยู่

๒๗ ที่เมืองสงขลาประมาณสิบห้าสิบหกวัน ก็เลยออกไปเมืองรามันห์พักอยู่ที่เมืองรามันห์ประมาณเดือนเศษ พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) ให้ป่วยหนักลงก็กลับจากเมืองรามันห์ มาถึงเมืองสงขลาอยู่ได้สี่วันอาการป่วยทรุดหนักลง พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) ก็ถึงแก่อนิจกรรม ครั้นพระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) ถึงแก่อนิจกรรมลงได้สี่วัน พอประจวบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัตยุบันนี้ (รัชกาลที่ ๕) เสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองสงขลา ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงวิเศษภักดี (ชม) ผู้ช่วยราชการ เปนพระยาสุนทรานุรักษ์ว่าราชการเมืองสงขลา ให้นายพ่วงบุตรพระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) เปนหลวงอุดมภักดีผู้ช่วยราชการ ให้นายผันมหาดเล็กซึ่งเปนบุตรพระอนุรักษ์ภูเบศร์ (ถัด) เปนหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ผู้ช่วยราชการ ครั้นทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งผู้ว่าราชการเมืองผู้ช่วยเมืองสงขลาเสร็จแล้ว ก็เลยเสด็จพระราชดำเนินประพาศเมืองริมทเล ตั้งแต่เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพ ฯ ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ นั้น เปนปีถึงกำหนดของเมืองแขกเจ็ดเมืองทำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แลเปนธรรมเนียมมาพร้อมกันลงเรือที่เมืองสงขลาทั้งเจ็ดเมือง เมืองสงขลาต้องแต่งผู้ช่วยกรมการล่ามคุมพาเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ เมืองปัตตานี พระศรีบุรีรัฐพินิต (ตวนกูบอสู) ผู้ช่วยราชการ ผู้รักษาราชการ

๒๘ หนึ่ง พระพิพิธภักดี (ตวนกูเด) ผู้ช่วยราชการหนึ่ง ตวนกูม่าหมะบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) หนึ่ง ตวนกูเงาะบุตรพระศรีบุรีรัฐพินิตหนึ่ง เมืองหนองจิกนายทัดมหาดเล็กน้องชายพระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) หนึ่ง ซึ่งเปนผู้รักษาราชการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่เมืองสายบุรี เมืองยิริง เมืองรามันห์ เมืองยะลานั้น ผู้ว่าราชการเมืองแต่งให้ผู้ช่วยศรีตวันกรมการคุมพาเข้ามา พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา แต่งให้หลวงอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการ หลวงศรีโยธากรมการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการแขกทั้งเจ็ดเมืองเข้ามากรุงเทพ ฯ € ในครั้งนั้น โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรเลื่อนให้หลวงอนันตสมบัติ (เอม) เปนที่พระอนันตสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้พระศรีบุรีรัฐพินิต (ตวนกูบอสู) เปนพระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษา รัตนาณาเขตรประเทศราช ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีเลื่อนให้พระพิพิธภักดี (ตวนกูเด) เปนพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร นริศรสุร บดินทร์ นรินทรภักดี ผู้ทนุบำรุงราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้ ตวนกูม่าหมะบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) เปนพระศรีบุรีรัฐพินิตรายามุดาเมืองปัตตานี ตั้งให้ตวนกูเงาะบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูบอสู) เปนพระพิพิธภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานี ตั้งให้นายทัดมหาดเล็กเปนพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์ วาปีเขตรมุจลินท์ นฤบดินทรสวามิภักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก พระยาปัตตานี (ตวนกูบอสู) หาได้ว่า

๒๙ ราชการอยู่ที่บ้านพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) ที่พระยาปัตตานี (ตวนกูปะสา) ว่าราชการอยู่ไม่ ว่าราชการอยู่ที่บ้านเดิมของตัวซึ่งปลูกสร้างไว้เมื่อเปนที่พระศรีบุรีรัฐพินิตผู้ช่วยราชการ อยู่ฝ่ายทิศตวันออก แต่บ้านที่พระยาปัตตานี (ตวนกูปะสา) ว่าราชการ พระยาหนองจิก (ทัด) ก็หาได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านพระยาหนองจิก (มิ่ง) ไม่ เลื่อนไปปลูกสร้างขึ้นใหม่ฝ่ายทิศตวันออกแต่บ้านพระยาหนองจิก (มิ่ง) ห่างกันประมาณเจ็ดเส้นเศษ ในปีฉลูเอกศก ศักราช ๑๒๕๑ พระยาระแงะ (ตวันโหนะ) ถึงแก่กรรมลง ในระหว่างนั้น พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ช่วยราชการ ผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา จัดให้ตวันเหงาะบุตรตวันสุหลงซึ่งเปนพี่ต่างมารดาแต่พระยาระแงะ (ตวันโหนะ) เปนผู้รักษาราชการเมืองระแงะอยู่ ครั้นปีเถาะตรีศก ศักราช ๑๒๕๓ ถึงกำหนดแขกเจ็ดเมืองนำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ตวันเหงาะผู้รักษาราชการเมืองระแงะ นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลถเกล้า ฯ ถวาย ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้ตวันเหงาะเปนพระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศ วิเศษวังษา ผู้ว่าราชการเมืองระแงะ พระยาระแงะ (ตวันเหงาะ) ว่าราชการเมืองอยู่ที่บ้านพระยาระแงะต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ในที่บ้านตะหยงหมะซึ่งเปนที่เดิมของพระยาระแงะ (ตวันบอสู) สร้างไว้


๓๐ พงษาวดารเมืองสงขลา พระยาวเชียรคิรี (ชม) เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ เรียบเรียง

€ ข้าพเจ้า พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ได้คิดเรียบเรียงเรื่องราวตระกูลเมืองสงขลาขึ้นไว้ เพื่อจะได้ทราบทั่วกัน เดิมครั้ง ๑ เมืองสงขลาเปนเมืองแขก ตั้งอยู่ริมเขาแดง เจ้าเมืองชื่อสุลต่านสุเลมัน ๆ ได้สร้างป้อมขุดคูเมืองแลจัดแจงสร้างบ้านเมืองเสร็จแล้ว ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโบราณ ครั้นสุลต่านสุเลมันถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรแลหลานคนหนึ่งคนใดก็ไม่ได้เปนผู้ครองเมืองสืบตระกูลต่อไป เมื่อสุลต่านสุเลมันสร้างบ้านเมืองขึ้นนั้นไม่ปรากฏว่าศักราชเท่าใด ตั้งแต่สุลต่านสุเลมันถึงอนิจกรรมแล้ว เมืองก็รกร้างว่างเปล่าอยู่ช้านาน แต่ป้อมที่ฝังศพสุลต่านนั้นราษฎรเรียกกันว่ามรหุมต่อมาจนทุกวันนี้ เมื่อปีมเมียโทศกศักราช ๑๑๑๒ จีนคนหนึ่งแซ่เฮ่า ชื่อเหยี่ยง ชาวเมืองเจี่ยงจิ้วหู ตำบลบ้านเส้หิ้นเหนือเมืองแอมุ่ย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเก่าของสุลต่านริมเขาแดง ราษฎรชาวบ้านชวนกันเรียกจีนเหยี่ยงว่าตั้วแปะ ๆ ทำสวนปลูกผักกาดขายอยู่ปีหนึ่ง ครั้นณปีมแมตรีศก ตั้วแปะรื้อเรือนขึ้นไปอยู่ตำบลบ้านทุ่งอาหวังแขวงเมืองจะนะ สร้างสวนปลูกพลูขายอยู่ ๓ ปี ครั้นณปีรกาเบญจศก ตั้วแปะกลับลงมาตั้งเรือน


๓๑ อยู่ตำบลบ้านบ่อยางที่บ้านหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ในเมืองสงขลา ช่วยทาษ ๔ ครัวให้ดักโพงพาง ครั้นณปีขาลสัมฤทธิศก ตั้วแปะรื้อเรือนไปตั้งค้าขายอยู่ฟากแหลมสน ตั้วแปะมีภรรยากับชาวเมืองพัทลุงมีบุตร ๕ คน บุตรที่ ๑ ชื่อบุญหุ้ย บุตรที่ ๒ ชื่อบุญเฮี้ยว บุตรที่ ๓ ชื่อบุญซิ้น บุตรที่ ๔ ชื่อเถี้ยนเส้ง บุตรที่ ๕ ชื่อยกเส้ง € เมื่อณปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๓๐ หลวงนายสิทธิ์เปนที่พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครถึงแก่อสัญญกรรมพระปลัดตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า ให้นายวิเถียนกรมการชาวเมืองนครศรี ธรรมราชมาเปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากแหลมสน ราษฎรเรียกกันว่าหลวงสงขลาวิเถียน € เมื่อศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก เจ้าตากยกกองทัพหลวงมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตกแล้ว ยกกองทัพเลยมาตั้งอยู่ณเมืองสงขลา หลวงสงขลาวิเถียนหนีเจ้าตากไปกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าตากตั้งให้นายโยมคนชาวเมืองสงขลาเปนพระสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ครั้งนั้นตั้วแปะทำบาญชีทรัพย์สิ่งของบุตรภรรยาข้าทาษกับยาแดง ๕๐ หีบของตั้วแปะ ถวายกับเจ้าตากทั้งสิ้น ตั้งแปะขอรับทำอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า ถวายเงินปีละ ๕๐ ชั่ง เจ้าตากก็คืนทรัพย์สิ่งของทั้งนั้นให้แก่ตั้วแปะ ทรงรับไว้แต่ยาแดง ๕๐ หีบ แล้วตั้งตั้วแปะเปนที่หลวงอินทคิรีสมบัติ นายอากรทำอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า แล้วเจ้าตากขอเอาบุตรที่สามของหลวง

๓๒ อินทคิรีสมบัติ ชื่อบุญซิ้น พาไปเปนมหาดเล็กคนหนึ่งอยู่ณกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรจึ่งเรียกตั้วแปะซึ่งเปนที่หลวงอินทคิรีสมบัติว่า จอมแหลมสนบ้าง ขรัวแปะบ้าง หลวงอินทคิรีก็ได้ทำอากรรังนกส่งเข้าไปกรุงเทพ ฯ ทุกปีต่อมามิได้ขาด € ครั้นปีมเสงเบญจศก ศักราช ๑๑๓๕ เจ้าตากรับสั่งให้ข้าหลวงเปนแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ข้าหลวงแม่กองสักเลขออกมาอยู่สองปี ครั้นเสร็จราชการแล้วกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ € ครั้นปีมแมสัปตศก ศักราช ๑๑๓๗ หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) คุมเงินอากรรังนกกับสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปถวายเจ้าตากณกรุงเทพ ฯ เจ้าตากรับสั่งกับข้าราชการว่า หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) คนนี้ เปนข้าหลวงเดิมสามิภักดิ์มาช้านาน ควรที่จะชุบเลี้ยงให้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมืองผู้ใหญ่ได้ มีรับสั่งว่าพระสงขลาโยมเปนคนไม่ได้ราชการ ไม่ควรจะให้เปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) เปนหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช แล้วมีตราโปรดเกล้าฯ หาตัวพระสงขลาโยมเข้าไปณกรุงเทพฯ ถอดออกเสียจากราชการ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) กลับออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งให้นายฉิมบุตรพระสงขลาโยมเปนขุนรองราชมนตรี คุมไพร่ส่วยดีบุกจะนะเก้าหมวดทำราชการอยู่ในหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) € เมื่อศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีหนังสือให้กรมการออกมาเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูก แลบุตรสาว

๓๓ กรมการบุตรสาวราษฎรชาวเมืองสงขลา พาไปเมืองนครศรีธรรมราชหลายสิบคน ครั้งนั้นหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งกรมการให้ไปเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูก แลบุตรสาวกรมการ บุตรสาวราษฎร ชาวเมืองสงขลาพาไปเมืองนครศรี ธรรมราชเสียหลายสิบคน ราษฎรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เปนที่พึ่ง รับสั่งว่าเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาวิวาทกันไม่รู้แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราออกมาถึงเมืองนครศรี ธรรมราช ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับกรุงเทพ ฯ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา € ครั้นณปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีนั้นเจ้า พระยานครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญญกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้บุตรเขยเจ้าพระยานคร เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนนี้กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เปนคนรักใคร่สนิทกัน ขอรับพระราชทานให้เมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกมาถึงหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช


๓๔ เหมือนอย่างแต่ก่อนสืบต่อไป เมืองสงขลาจึ่งได้กลับไปขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชอิก € ครั้นณปีมโรงฉศก ศักราช ๑๑๔๖ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ป่วยเปนไข้หมอพยาบาลอาการหาคลายไม่ ครั้นณวัน ๕๑๑ ค่ำ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถึงแก่กรรม เปนหลวงอินทคิรีสมบัติคุมเลขทำอากรรังนกอยู่ ๖ ปี เลื่อนเปนหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ๙ ปี เมื่อถึงแก่กรรมอายุได้ ๖๘ ปี บุตรแลหลานได้ฝังศพไว้ริมเขาแหลมสน จาฤกอักษรจีนไว้ในป้ายศิลาตามอย่างธรรมเนียมจีนแล้ว € ในปีมโรงฉศกนั้น นายบุญหุ้ยบุตรที่หนึ่งหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ณกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายบุญหุ้ยเปนที่หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา € เมื่อปีมเสงสัปตศก ศักราช ๑๑๔๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเปนแม่กองออกไปสักเลขเมืองสงขลา สักแขนขวาได้เลข ๗๖๗๒ คน เมื่อปีมเสงสัปตศก มีตราโปรดเกล้า ฯ ออกมาเมืองสงขลา ให้ต่อเรือหูช้าง ๓๐ ลำ ปากกว้างแปดศอกยาวเก้าวาสำหรับรักษาพระนครหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ตัดไม้ต่อเรือยังไม่เสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎาเสด็จออกมาเร่งให้ต่อเรือ ตั้งพลับพลาประทับอยู่ณบ้านบ่อเตย

๓๕ ประทับแรมอยู่เดือนหนึ่ง เรือที่ต่อยังไม่สำเร็จ เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ € ครั้นณปีมเมียอัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ พม่าข้าศึกยกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จออกมาตีเอาเมืองนครคืนได้ ยังประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นขุนรองราชมนตรีเปนบุตรพระสงขลาโยมนอกราชการ ขัดเคืองกับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ขุนรองราชมนตรีทราบว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว ขุนรองราชมนตรีมีใจกำเริบ ซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ในกองขุนรองราชมนตรีตำดินดำที่บ้านศีศะเขา จะเข้าตีเอาค่ายตำบลบ้านบ่อยางฟากน้ำตวันออก หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ทราบว่าขุนรองราชมนตรีคิดขบถ จึ่งแต่งให้กรมการขึ้นไปกวาดต้อนคนในแขวงเมืองสงขลามาทางบกทางเรือ ขุนรองราชมนตรีให้คนไปสกัดทางชิงเอาคนทางบกทางเรือเสียทั้งสิ้น ได้คนแลเรือมากแล้วตั้งรวมกันอยู่ที่บ้านศีศะเขา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เห็นว่าคนในค่ายน้อยตัว จึ่งจัดแจงผ่อนบุตรภรรยาขนเข้าของลงเรือใหญ่ถอยไปทอดอยู่ที่เกาะหนูสองลำ แต่ตัวหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) อยู่ในค่ายตำบลบ้านบ่อยาง ขุนรองราชมนตรีให้นายทิดเพ็ชรคุมไพร่พันเศษ ขุนรองราชมนตรีคุมไพร่พันเศษ เวลาเช้าเข้าตีค่ายตำบลบ้านบ่อยาง นายทิดเพ็ชรเข้าตีด้านทักษิณ ขุนรองราชมนตรีเข้าตีค่ายด้านตวันตกริมน้ำ หลวง

๓๖ สุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) อยู่ในค่ายให้ยิงปืนคาบศิลาถูกขุนรองราชมนตรีแต่ไม่บาดเจ็บ ถูกไพร่ในลำเรือของขุนรองราชมนตรีบาดเจ็บตกน้ำตายเปนอันมาก ขุนรองราชมนตรีล่าทัพไปอยู่แหลมฝาด คนรักษาค่ายด้านทักษิณเปนใจเข้าด้วยขุนรองราชมนตรี เปิดประตูให้นายทิดเพ็ชรเข้าในค่ายได้ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เห็นการจะต่อสู้ขุนรองราชมนตรีนายทิดเพ็ชรไม่ได้ จึ่งลงเรือเล็กหนีไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะหนูใช้ใบเข้าไปกรุงเทพฯ ขณะนั้นขุนรองราชมนตรีรั้งเมืองสงขลาอยู่ ๔ เดือน หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุยหุ้ย) เข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ขุนรองราชมนตรีบุตรพระสงขลาโยมนอกราชการ กับนายทิดเพ็ชรเปนขบถตีเอาเมืองสงขลาได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงไปประทับอยู่ที่เมืองนครแล้ว ให้หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ตามไปกราบบังคมทูลที่เมืองนครศรีธรรมราชเถิด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระสงขลาโยมนอกราชบิดาขุนรองราชมนตรี ออกมาด้วยหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ๆ ให้บุตรภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯ พระสงขลาโยมนอกราชการกับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาเรือลำเดียวกัน มาถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระสงขลาโยมนอกราชการ กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลว่าขุนรองราชมนตรีกับนายทิดเพ็ชรเปนขบถตีเอาเมืองสงขลาได้ รับสั่ง

๓๗ ว่าให้พระสงขลาโยมนอกราชการ กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาทำพลับพลาไว้ที่เมืองสงขลาก่อน เสร็จราชการเมืองนคร ฯ แล้วจะเสด็จมาเมืองสงขลา พระสงขลาโยมนอกราชการ กับ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลามาเมืองสงขลาให้นายหมวดนายกองเกณฑ์ไพร่ทำพลับพลาที่ตำบลบ้านบ่อพลับ ขุนรองราชมนตรีก็มาทำพลับพลาอยู่ด้วย ทำพลับพลาอยู่ ๑๘ วัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นประทับพลับพลาตำบลบ้านบ่อพลับ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) พระสงขลา (โยม) นอกราชการ ขุนรองราชมนตรีกับนายทิดเพ็ชรเข้าเฝ้าพร้อมกัน ทรงพระกรุณารับสั่งถามตามธรรมเนียมแล้ว ทรงพระกรุณาให้มีตราไปหาตัวพระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน พระยาปัตตานี เข้ามาเฝ้าให้พร้อมกันที่เมืองสงขลา จะได้ทรงจัดแจงบ้านเมืองให้เรียบร้อย พระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน แต่งให้บุตรหลานศรีตวันกรมการ นำพาสิ่งของเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่พระยาตานีแขงตัวอยู่ ทรงขัดเคืองพระยาตานี ทรงพระกรุณารับสั่งว่า ให้กองทัพหลวงออกไปเหยียบเมืองตานีเสียให้ยับเยิน ขณะนั้นแขกเมืองตานีพาเรือมาค้าขายอยู่ที่เมืองสงขลาลำหนึ่ง รับสั่งให้ยุดเอาคนแลเรือไว้ มอบให้ขุนรองราชมนตรีเปนผู้คุม ครั้งนั้นนายจันทองเพื่อน ๑๐ ครัว เปนไทยเดิมเมืองนครศรีธรรมราช ตกไปอยู่เมืองตานีเสียช้านาน พาบุตรภรรยาหนีเข้ามาเมืองสงขลา นายจันทองแจ้งความกับหลวงสุวรรณคิรี

๓๘ สมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาว่า พระยาตานีทราบความว่ากองทัพหลวงจะยกไปตีเมืองตานี พระยาตานีให้เกณฑ์ไพร่ทำค่ายที่ปากน้ำเมืองตานีค่ายหนึ่ง ที่บ้านพระยาตานีค่ายหนึ่ง กวาดเอาผู้คนเข้าไว้ในค่ายเปนอันมาก นายจันทองเห็นเรือกองทัพใหญ่ทอดอยู่ปากน้ำเมืองตานี ๗ ลำ แขกเมืองตานีเห็นเรือกองทัพไทยน่าเมืองตกใจกลัว ประชุมพูดกันว่า ตายายแขกสั่งไว้ว่าศึกมาแต่ทักษิณให้สู้ ศึกมาแต่อุดรอย่าให้สู้เลย บัดนี้กองทัพหลวงมาทอดอยู่น่าเมืองตานีแล้ว ให้คิดอ่านพาอพยพหนีแต่ยาว พวกแขกเมืองตานีพูดกันดังนี้ นายจันทองกลัวว่าพระยาตานีจะฆ่าบุตรภรรยาของนายจันทองเสีย นายจันทองคิดอ่านสอดแนมเข้าไปฟังการในบ้านพระยาตานี ได้ยินพระยาตานีปฤกษากับศรีตวันกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยกว่า กองทัพไทยยกมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตานีแล้วจะคิดอย่างไร นายจันทองรับอาสากับพระยาตานีว่า นายจันทองจะขอเปนแม่กองคุมพวกนายจันทองแลพวกแขกลงไปรักษาค่ายปากน้ำเมืองตานีไว้ ไม่ให้กองทัพไทยเข้ามาในเมืองตานีได้ จะขอปืนใหญ่ปืนน้อยกระสุนดินดำเสบียงอาหารกับเรือปากกว้าง ๕ ศอกสักลำ ถ้านายจันทองยิงเรือกองทัพไทยจมลง นายจันทองจะได้ลงเรือไปจับเอาพวกกองทัพไทยโดยง่าย พระยาตานีก็เห็นด้วย จึ่งจัดเสบียงอาหารกระสุนดินดำกับเรือลำหนึ่ง ให้นายจันทองไปรักษาค่ายปากน้ำ นายจันทองกับเพื่อนนายจันทองจัดแจงเรือพร้อมแล้ว เวลากลางคืนนายจันทองกับพวกเพื่อนพาเรือเล็ดลอดเข้าไปในเมืองตานี ขึ้นไปเรือนขนเข้าของแลบุตรภรรยาลงเรือ

๓๙ มาทอดอยู่ที่ค่ายปากน้ำ เวลาเข้านายจันทองเพื่อนนายจันทองแต่งตัวเปนภาษาไทยออกเรือยกธงขาวมาใกล้เรือกองทัพไทย นายจันทองร้องบอกพวกเรือกองทัพไทยว่าให้ยิงปืนเถิด พวกแขกในเมืองตานีจัดแจงจะพาบุตรภรรยาหนีอยู่แล้ว พวกญวนกองทัพไทยเรียกให้นายจันทองแอบเรือเข้าไปใกล้จะได้สืบข่าวราชการ นายจันทองบอกความว่า หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งให้มาสืบราชการเมืองตานีได้ความแล้วช้าอยู่ไม่ได้จะเร่งรีบกลับไป นายจันทองก็แจวเรือมาเมืองสงขลา มาสักครู่หนึ่งพวกเรือกองทัพไทยยิงปืนใหญ่ พวกแขกในค่ายปากน้ำยิงปืนใหญ่รับนัดหนึ่ง แล้วพวกแขกออกจากค่ายปากน้ำเข้าในเมืองตานี แขกในเมืองตานีแตกตื่นพาอพยพออกจากเมืองไปเปนอันมาก พวกญวนกองทัพไทยเห็นแขกทิ้งค่ายปากน้ำเสีย กองทัพไทยลงเรือสำปั้นขึ้นบนตลิ่งเข้าอยู่ในค่ายปากน้ำ นายจันทองมาพบเรือกองทัพไทยที่น่าเมืองเทพา ๓ ลำ นายจันทองบอกว่ากองทัพไทยตีค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว ให้เร่งรีบไปเถิด นายจันทองก็เลยมาถึงบ้านแหลมทรายปากน้ำเมืองสงขลา พวกข้าหลวงกองตระเวนซึ่งรักษาปากน้ำเมืองสงขลา เรียกให้นายจันทองหยุดเรือ นายจันทองบอกว่าเรือสืบราชการร้อนเร็วจะหยุดช้าอยู่ไม่ได้ นายจันทองแจวเรือเลยเข้ามาในเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ได้ทราบความดังนั้นแล้ว พาตัวนายจันทองเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานม?งคลว่า หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งเรือเล็กให้นายจันทองเพื่อน ๔ คนเล็ดลอดเข้าไ

๔๐ สืบราชการเมืองตานี ทราบความว่าแขกเมืองตานีไม่คิดจะสู้ คิดจะหนีทั้งสิ้น นายจันทองได้บอกเรือกองทัพน่าซึ่งไปทอดอยู่ปากน้ำ เมืองตานีให้ยิงปืนใหญ่ พวกแขกได้ยินเสียงปืนหนีออกจากคายปากน้ำเข้าในเมือง กองทัพน่าขึ้นชิงเอาค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว แขกในเมืองตานีพาอพยพหนีไปเปนอันมาก รับสั่งว่าหลวงสุวรรณคิรี (บุญหุ้ย) อุส่าห์แต่งให้คนไปสืบราชการเมืองตานีได้ความชัดแจ้งดังนี้สิ้นวิตก รับสั่งให้เร่งจัดแจงกองทัพลงไประดมตีเมืองตานี จับเอาตัวพระยาตานีให้จงได้ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่า แขกเรือเมืองตานีซึ่งให้ขุนรองราชมนตรีคุมไว้นั้นพาเรือหนีไปได้ กับพระยาจะนะน้องพระยาพัทลุงคิดขบถมีหนังสือลับไปถึงพม่าข้าศึกให้ยกมาตีเมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงพี่ชายพระยาจะนะเปนตระลาการชำระ พระยาจะนะรับเปนสัตย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ประหารชีวิตรเสียพร้อมด้วยขุนรองราชมนตรี แต่นายทิดเพ็ชรนั้นเข้าหาพระยากลาโหมราชเสนา ๆ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานโทษนายทิดเพ็ชรไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงลงไปประทับอยู่เมืองตานี พวกกองทัพจับตัวพระยาตานีได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำตัวพระยาตานีไว้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พวกกองทัพเข็นปืนทองเหลืองใหญ่ในเมืองตานี ๒ บอกลงเรือรบ แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่าน่าเมืองตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปืนนางพระยาตานีเดี๋ยวนี้ ประทับอยู่เมืองตานีเดือนเศษ เสร็จ

๔๑ ราชการแล้วยกทัพหลวงเสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญซิ้น ผู้น้องตามเสด็จเข้าไปณกรุงเทพฯ นายทิดเพ็ชรก็เข้าไปกับพระยากลาโหมราชเสนา ครั้นถึงกรุงเทพ ฯ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญซิ้นผู้น้อง ขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนให้หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เปนพระยาสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาให้นายบุญเฮี้ยวเปนพระอนันตสมบัติ ให้นายบุญซิ้นเปนพระพิเรนทรภักดี ให้นายเถี้ยนเส้งเปนพระสุนทรนุรักษ์ เปนผู้ช่วยราชการทั้ง ๓ คน แต่พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว ) นั้นโปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะด้วย แต่เมืองสงขลาให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม พระยาสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับพระอนันตสมบัติ พระพิเรนทร์ พระสุนทรนุรักษ์ กราบถวายบังคมลาพาบุตรภรรยากลับออกมาเมืองสงขลา ในปีวอกสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๕๐ ครั้นณปีจอโทศก พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรมที่เมืองจะนะ ได้ทำการเผาศพแลเชิญอัฐิมาฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสน ทำเปนฮ่องสุยตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้นายเถี้ยนจ๋งบุตรพระอนันตสมบัติ ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรม พระ อนันตสมบัติมีบุตรชาย ๓ คน บุตรที่ ๑ ชื่อเถี้ยนเจ๋ง บุตรที่ ๒ ชื่อเถี้ยนเส้ง บุตรที่ ๓ ชื่อเถี้ยนไล่ต่างมารดา พระยาสงขลา (บุญหุ้ย)

๔๒ ขอพระราชทานถวายนายเถี้ยนจ๋งเปนมหาดเล็กทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ นายเถี้ยนจ๋งบุตรพระอนันต์ (บุญเฮี้ยว) ก็ทำราชการเปนมหาดเล็กอยู่ณกรุงเทพฯ สืบต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ปฤกษากับข้าราชการว่า จะได้ผู้ใดเปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระยากลาโหมราชเสนากราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทานให้นายทิดเพ็ชรเปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายทิดเพ็ชรเปนพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะคุมเลขส่วยดีบุกเก้าหมวดขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เมืองจะนะให้อยู่ในบังคับเมืองสงขลาตามเดิม พระมหานุภาพปราบสงครามทิดเพ็ชร กราบถวายบังคมลาออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณเมืองจะนะ € ครั้นณปีกุญตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ โต๊ะสาเหยดมาแต่ประเทศอินเดียเปนคนรู้เวทมนต์วิชาการต่าง ๆ ไปคบคิดกับพระยาตานีให้ยกทัพมาตีเมืองสงขลา ทัพพระยาตานียกมาตั้งอยู่ที่ริมเขาสะโมรง หลังเขาลูกช้าง พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ไปตั้งค่ายรับอยู่ริมคลองสะโมรง แล้วมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอกองทัพหลวงมาช่วยฉบับหนึ่ง มีหนังสือไปขอกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชมาช่วยฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณบ้านบ่อเตยค่ายหนึ่ง ให้มาตั้งอยู่ตำบลบ้านบ่อยางค่ายหนึ่ง เจ้า พระยานครศรีธรรมราช กับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ปฤกษากำหนด

๔๓ วันจะเข้าตีค่ายโต๊ะสาเหยดให้พร้อมกันในวันนั้น พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดยกอ้อมมาทางบางกะดาน ถึงน่าค่ายตำบลบ้านบ่อยาง พวกทัพเมืองนครศรีธรรมราชยิงปืนถูกพวก อ้ายโต๊ะสาเหยดตายประมาณสามร้อยคน พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดก็ล่าทัพกลับไป กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา ไล่ตามไปทันได้รบกับพวกแขกถึงตลุมบอน พวกแขกแตกเข้าค่ายหลังเขาลูกช้าง อ้ายโต๊ะสาเหยดเศกน้ำมนต์โปรยอยู่ประตูค่ายกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา หักเข้าค่ายได้ ยิงอ้ายโต๊ะสาเหยดตายอยู่กับที่ พวกแขกก็ตายเปนอันมาก ที่เหลือตายก็แตกหนีไปสิ้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ให้กองทัพยกตามไปตีเอาเมืองตานีกลับคืนได้ กองทัพเมืองนครศรี ธรรมราช เมืองสงขลา ยกกลับมาถึงเมืองสงขลา ๔ วัน ๕ วัน กองทัพหลวงจึ่งยกออกมาถึง หาทันได้สู้รบกับแขกเมืองตานีไม่ พักกองทัพอยู่ในเรือน่าค่ายตำบลบ้านบ่อยางอยู่หลายเวลา พวกญวนในกองทัพวิวาททุบตีกันกับพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาไปห้ามปรามก็ไม่ทัน พวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ไปกราบเรียนเจ้าพระยานครว่า พวกญวนกองทัพเรือกระทำข่มเหงทุบตีพวกกองทัพเมืองนครเจ็บป่วยเปนหลายคน พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาดูอยู่ด้วยก็ไม่ห้ามปราม เจ้า พระยานครขัดเคืองกับพระยาสงขลาแลพระสุนทรนุรักษ์แต่นั้นมา กองทัพกรุงเทพ ฯ แลกองทัพเมืองนคร พักอยู่เมืองสงขลา ๗ เดือน จึ่งยกกองทัพกลับไป หลวงปลัด (อ้าย) เมืองสงขลาก็ตามเจ้าพระยา

๔๔ นครไปเสียด้วย ในปีนั้นพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กับเจ้าพระยานครเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ เจ้าพระยานครกราบบังคมทูลกล่าวโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ว่าทำข่มเหงกับเมืองไทรบุรี ยกเอาตำบลบ้านพะตงกับตำบลบ้านการำแขวงเมืองไทรบุรีเสีย แลยุให้พวกญวนกองทัพวิวาททุบตีพวกกองทัพเมืองนครศรี ธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งถามพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตามคำเจ้าพระยานครศรีธรรมราชกราบทูลกล่าวโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่า ที่ตำบลบ้านพะตงการำเปนที่เขตรแดนเมืองสงขลามาแต่เดิม พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) หาได้ทำข่มเหงกับเมืองไทรบุรีไม่ แลพวกญวนกองทัพหลวงทุบตีกับพวกเมืองนครศรีธรรมราชนั้นวิวาทกันขึ้นเอง พระยาสงขลาแลพระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ เหลือสติกำลังที่จะห้ามปรามพวกกองทัพหลวง แลพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) แลพระสุนทรนุรักษ์จะได้ยุให้พวกกองทัพวิวาทกันนั้นหามิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่า พวกกองทัพทั้งสองทัพไม่อยู่ใต้บังคับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) วิวาทกันขึ้นเอง จะปรับโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการนั้นไม่ชอบ ที่ตำบลบ้านพะตงการำนั้นถึงจะเปนเขตรเมืองไทรบุรีก็จริง แต่เมืองสงขลาตีเมืองไทรบุรีแลเมืองตานีได้ เมืองสงขลามีความชอบมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกที่ตำบลบ้านพะตง ตำบลบ้านการำให้เปนเขตรแดนเมืองสงขลา ที่ตำบลบ้านพะตงการำจึ่งได้เปนแขวง

๔๕ เมืองสงขลาแต่ครั้งนั้นสืบต่อมา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เปนเจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลายกเมืองสงขลาเปนเมืองเอกให้ขึ้นกับกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกเมืองไทรบุรี เมืองตานี เมืองตรังกานู ให้ขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าพระยาสงขลาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้เก้าเดือน กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา € ครั้นณปีฉลูเบญจศกศักราช ๑๑๕๕ พระจะนะทิดเพ็ชรถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้จีนเค่งซึ่งมาแต่เมืองชีจิวหู้เปนเพื่อนร่วมศุขทุกข์กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาณกรุงเทพ ฯ ขอรับพระราชทานให้จีนเค่งเปนพระจะนะสืบต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้จีนเค่งเปนพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระจะนะ (เค่ง) ถวายจีนขวัญซ้ายบุตรที่หนึ่ง ให้ทำราชการ เปนมหาดเล็ก อยู่ณกรุงเทพฯ นายบัวแก้วบุตรพระจะนะ (ทิดเพ็ชร) เข้าไปทำราชการเปนมหาดเล็กอยู่ณกรุงเทพฯ พร้อมกับจีนขวัญซ้าย พระจะนะ (เค่ง) กลับออกมาว่าราชการเมืองจะนะ € ครั้นณปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ อ้ายพม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) กับพระยาวิเศษโกษาเปนแม่ทัพ โปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็กบุตรพระอนันตสมบัติเปนหลวงนายฤทธิ์ ออก

๔๖ มาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ด้วย เจ้าพระยาพลเทพยกกองทัพเรือออกมาขึ้นเดินกองทัพที่เมืองชุมพรไปเมืองถลาง เจ้า พระยาพลเทพให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราออกมาเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ยกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แล้วให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะ ให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปช่วยตีเมืองถลาง เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาได้เจ็ดร้อยคน ให้หลวงพลเปนนายทัพ เกณฑ์ไพร่เมืองจะนะได้สองร้อยคน ให้จีนขวัญซ้ายมหาดเล็กบุตรพระจะนะ (เค่ง) เปนนายทัพ รวมไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะเก้าร้อยคน มอบให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปทางเมืองพัทลุงไปสมทบทัพเจ้าพระยาพลเทพที่เมืองตรัง แล้วเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่สองร้อยคน ให้หลวงจ่ามหาดไทยยกไปตั้งถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ กองทัพเจ้าพระยาพลเทพกับพระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ยกไปถึงเมืองถลาง ได้ยกเข้าตีพวกพม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป เจ้าพระยาพลเทพจัดราชการเมืองถลางอยู่ปี ๑ เสร็จราชการแล้วยกกองทัพมาเมืองสงขลาทางเมืองตรัง ครั้งนั้นด่าตูปักหลันเจ้าเมืองยิริงคิดขบถ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เปนแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพด่าตูปักหลันเมืองยิริงถึงตลุมบอน จับตัวด่าตูได้ จึ่งได้แยกเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองตามพระบรมราชานุญาต เหตุด้วยเมืองตานีเมืองเดียวมีกำลัง

๔๗ มาก เมืองสงขลามีกำลังน้อย แล้วตั้งให้นายพ่ายทหารเอกเมืองสงขลาเปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง จัดราชการแยกเมืองตานีอยู่ ๖ เดือน เสร็จราชการแล้ว ยกกองทัพพาตัวด่าตูกลับเข้ามาเมืองสงขลา เจ้า พระยาพลเทพ พระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรงพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน. € ศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในจุลศักราช ๑๑๗๑ พม่ายกกองทัพเรือรวม ๒๐๐ ลำ มาตีเอาเมืองถลางได้อิก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้า พระยายมราชยกกองทัพหลวงออกมาขึ้นเดินบกทางเมืองชุมพร แลโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์เชิญท้องตราออกมาถึงเจ้าพระยาสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลายกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แลให้เกณฑ์ไพร่เมืองไทรยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชด้วย แลให้หลวงนายฤทธิ์คุมไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่พลเมืองให้หลวงนายฤทธิ์พันคน ยกไปเมืองตรังทางเมืองพัทลุง แลเกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุง


๔๘ ไป ๕๐๐ คนด้วย แล้วเจ้าพระยาสงขลาคุมไพร่ ๔๐๐ คนยกไปตั้งอยู่ที่เมืองไทรบุรี แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองไทร ๑๐๐๐ คน เรือ ๓๐ ลำ แต่งให้พระยาปลัดเมืองไทรเปนนายทัพ รีบยกไปสมทบกับเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยายมราชรวมกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไทร ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองถลาง อ้ายพม่าข้าศึกแตกหนีไป เจ้าพระยายมราชตีได้เมืองถลางคืน แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้อยู่รักษาเมืองถลาง จัดราชการอยู่ ๓ ปี ราชการเรียบร้อยแล้วจึ่งได้ยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาไม่มีทัพศึกเปนปรกติอยู่ ๓ ปี เจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (บุญหุ้ย) ป่วยโรคชราถึงแก่ อสัญญกรรม ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองมา ๓๔ ปี เจ้าพระยาอินทคิรีไม่มีบุตร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) บุตรพระอนันต์, (บุญเฮี้ยว) ซึ่งเปนหลานเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาวิเศษภักดี ศรีสุรสงคราม พระยาสงขลา แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระยาวิเศษภักดี เชิญตราตั้งออกมาพระราชทานให้พระภิรมย์สมบัติ (บุญซิ้น) ซึ่งเปนน้องต่างมารดาของเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาศรีสมบัติจางวาง พระราชทานให้นายเถี้ยนเส้ง น้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีเปนพระสุนทรนุรักษ์ ครั้นณวันเดือนหกปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ปี พระยาวิเศษภักดี พร้อม


๔๙ ด้วยญาติพี่น้อง ได้จัดแจงเผาศพเจ้าพระยาอินทคิรีเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐไปทำฮ่องสุยตามธรรมเนียมจีนที่ริมเขาแหลมสน เคียงกับฮ่องสุยหลวงสงขลา (เหยี่ยง) € ศักราช ๑๑๗๕ ปีรกาเบญจศก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหจางวางกรมม้า เปนแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ตั้งโรงสักที่ทุ่งบ่อเตย พระยาศรีสุริยพาหหลักเสขอยู่ ๒ ปี เสร็จการสักเลขแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นพระยาไทรเกิดขัดเคืองกับเมืองสงขลา จึ่งไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรี ธรรมราช นำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองไทรขึ้นกับเมืองนครตามสมัค ในปีนั้นพระยาตรังกานูวิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน ๆ จึ่งเข้ามาขอขึ้นอยู่กับเมืองสงขลาไม่สมัคจะขึ้นกับเมืองตรังกานูสืบไป พระยาวิเศษภักดี ตอบกับพระยา กลันตันว่ารับไว้ไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นอยู่กับเมืองตรังกานู พระยากลันตันจึ่งเลยไปขอขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามที่พระยาตรังกานู กับพระยา กลันตันวิวาทกัน โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นกับเมืองนครตามสมัค เมืองกลันตันจึ่งได้ขึ้นกับเมืองนครสืบต่อมา. € ครั้นณปีฉลูนพศก ศักราช ๑๑๗๙ พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ ให้พระยาศรีสมบัติจางวาง กับพระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง ครั้น ๔

๕๐ ณเดือน ๖ ปีฉลูนพศก พระยาศรีสมบัติจางวางป่วยเปนไข้พิศม์ถึงแก่กรรม ครั้นพระยาวิเศษภักดีกลับออกมาถึงเมืองสงขลาป่วยเปนโบราณโรค ครั้นณวันเดือน ๓ ปีฉลูนพศก พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาถึงแก่กรรม เปนผู้ว่าราชการเมืองอยู่ ๗ ปี พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) ให้หลวงพิทักษ์ราชาอยู่รักษาเมือง พระสุนทรนุรักษ์รีบเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แลพระราชทานศิลาน่าเพลิงออกมาเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาด้วย พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) นายพลพ่าย (บุญสัง) บุตรพระยาศรีสมบัติจางวาง กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลาพร้อมกัน € ครั้นณเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ พระสุนทรนุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พร้อมกับหมู่ญาติได้จัดการเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาพร้อมกันเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐิพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดีพระยาสงขลา ไปทำฮ่องสุยไว้ณที่อันเดียวกันริมเขาแหลมสน พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๗ ปี ได้สร้างโรงพระอุโบสถวัดสุวรรณคิรีอาราม ๑ ยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระสุนทรนุรักษ์ กับนายพลพ่าย หลวงพิทักษ์ราชา นายแพะบุตรพระสุนทรนุรักษ์ พากันเข้าไปเฝ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทถวายพระราชกุศล จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

๕๑ ตั้งให้พระสุนทรเปนพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลพ่าย (บุญสัง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงพิทักษ์ราชาเปนพระพิเรนทรภักดี ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายแพะเปนหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ กลับออกมารับราชการอยู่ที่เมืองสงขลา ภายหลังจึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้นายเหมเปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายยกเส่งเปนหลวงอุดมบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายหมีเปนหลวงพิทักษ์สุนทร ผู้ช่วยราชการ € ในปีขาลสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ นั้น พระยาถลางมีใบบอกเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ว่า พม่ายกกองทัพมาตั้งต่อเรือที่เมืองมฤทเมืองตะนาวศรี แต่ไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรสำแดงคุมไพร่ ๒๐๐ คนยกออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุง ให้พระยาวิชิตณรงค์คุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยากลาโหมราชเสนาคุมไพร่ ๕๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองถลาง โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ข้าหลวงคุมไปตั้งต่อเรือรบอยู่ที่เมืองสตูลอิกกองหนึ่ง พระยาศรสำแดงข้าหลวงออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา


๕๒ ปีหนึ่ง จึ่งเลิกกองทัพกลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ในปีเถาะเอกศกศักราช ๑๑๘๑ € ครั้นปิมโรงโทศก ศักราช ๑๑๘๒ บังเกิดความไข้อหิวาตกะโรค ราษฎรพลเมืองล้มตายเปนอันมาก ความไข้ตลอดมาจนถึงปีมเสงตรีศกจึ่งได้สงบ € ในปีมเสงนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเข้าไปณกรุงเทพ ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยาไทรเปนคนดื้อดึง จะเอากิจราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ แลไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองนครศรีธรรมราช ขอรับพระราชทานยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครเปนแม่ทัพแลมีท้องตราออกมาเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ยกไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครเชิญท้องตราเปนแม่ทัพออกมาเกณฑ์ไพร่ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี เจ้า พระยาไทรบุรีไม่ต่อสู้ ยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก กองทัพเจ้าพระยานครเข้าตั้งอยู่ในกลางเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเอาครอบครัวราษฎรเมืองไทรส่งเข้าไปถวายณกรุงเทพ ฯ หลายร้อยครัว แล้วเจ้าพระยานครมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานให้นายแสงบุตรเจ้าพระยานคร เปนพระยาไทรบุรีด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราออกมาตั้งนายแสงบุตรเจ้า พระยานคร ให้เปนตำแหน่งที่พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราช


๕๓ ธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงครามรามภักดี พิริยพาห พระยาไทรบุรี € ครั้นณปีกุญนพศก ศักราช ๑๑๘๙ อ้ายอนุเวียงจันทร์เปนขบถ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้ ๑๐๐๐ เศษ รีบยกกองทัพเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ แต่ไม่ทันจะได้เข้ารบกับอ้ายอนุขบถ เพราะการสงบเรียบร้อยแล้ว จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาทำป้อมที่เมืองสมุทปราการ พระยาสงขลาคุมไพร่ ๑๐๐๐ เศษ ทำป้อมอยู่ที่เมืองสมุทปราการปีหนึ่งจึ่งเสร็จราชการ แล้วกราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา € ครั้นณปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาให้พระยาสงขลาต่อเรือศีศะง้าว ๓๐ ลำ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองเทพา แลในปีฉลูเอกศกนั้นฝนตกน้อย ราษฎรทำนาไม่ได้รับผล ราษฎรเกิดระส่ำระสายด้วยเข้าแพง พระยาสงขลาจึ่งให้เลิกการต่อเรือเสีย แลในปีขาลโทศกกำลังเข้าแพงอยู่นั้น โปรดเกล้า ฯ ให้หมื่นสมันพันธูรเชิญท้องตราออกมาสักเลขเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาเปนแม่กองตั้งโรงสักเลขที่ศาลากลาง ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเสนา ๘ นายแต่ไม่ปรากฏนาม เชิญท้องตราออกมาประเมิลนา แลออกตราแดงให้แก่ราษฎรเปนครั้งแรก ในปีขาลโทศกนี้พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ ๑๐๐๐ คนไปต่อเรือที่เมือง

๕๔ เทพาอิก การต่อเรือยังไม่ทันเสร็จ ครั้นณวันเดือนหกปีเถาะตรีศก ตนกูเดนบุตรเจ้าพระยาไทร ซึ่งยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก คิดอ่านซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ได้มากแล้วยกเข้าตีชิงเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ แล้วรวบรวมคบคิดกับพระยาตานี พระยายิริง พระยายะลา ยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา ตั้งค่ายอยู่ที่เขาลูกช้างแลบางกระดาน กองทัพเมืองสงขลาออกต่อสู้ต้านทานไว้เปนสามารถ ครั้นณวันเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ศักราช ๑๑๙๔ ปีมโรงจัตวาศก โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่ทัพ ยกกองทัพเรือออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ พระยาตานี พระยายะลา พระยายิริง เห็นว่ากองทัพหลวงยกออกมาถึงเมืองสงขลา ก็พาอพยพครอบครัวหนีไปเมืองกลันตัน แต่พระยารามันห์ พระยาหนองจิก ยกครอบครัวหนีไปทางบก ไปอยู่ที่ตำบลบ้านนาที่บาโรมแขวงเมืองแประ เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่มีบัญชาสั่งให้พระยาสงขลายกกองทัพออกไปตีเมืองตานี เมืองหนองจิก แลให้พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ตามออกไปรวบรวมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองตานี แล้วเจ้าพระยาพระคลังกับพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพหลวงออกไปตั้งอยู่ที่เมืองตานี โปรดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๓๐๐๐ คนตามไปจับตัวพระยารามันห์ หลวงสุนทรนุรักษ์ คุมไพร่ตามไปจับตัวพระยารามันห์ได้ที่บ้านนาตำบลบาโรมแขวงเมืองแประได้สิ้นทั้งครอบครัว แต่พระยาหนองจิกออก


๕๕ ต่อสู้กับพวกทหารไทยตายเสียในที่รบ จับได้แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวก แล้วตัดเอาศีศะพระยาหนองจิกมาส่งเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองตานี เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ให้จำตัวพระยารามันห์เข้าไปณกรุงเทพ ฯ แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวกพระยารามันห์นั้นให้กลับไปอยู่เมืองรามันห์ตามเดิม แต่สมัคพรรคพวกแลบุตรภรรยาครอบครัวพระยาหนองจิก พระยาตานีนั้น ให้ส่งเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น จัดราชการเมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เปนปรกติเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพกลับเข้ามาพักอยู่ที่เมืองสงขลา แลได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนยอดเขาเมืองแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว จึ่งยกกองทัพกลับเข้าไป ณกรุงเทพ ฯ € ในปีเถาะนพศกฝนตกน้ำท่วมจนท้องนาของราษฎรทำนามิได้ผลรับประทานเลย ราษฎรได้ความเดือดร้อนในการที่ไม่มีอาหารรับประทานถึงแก่ล้มตายกลางถนน ที่ยกอพยพครอบครัวไปอยู่บ้านเมืองอื่นเสียโดยมาก เวลานั้นเข้าสารราคาเกวียนละ ๕๐๐ เหรียญก็ยังไม่มีที่จะซื้อ พระยาสงขลารีบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นำความที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนไม่มีอาหารรับประทาน ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ขอรับพระราชทานซื้อเข้าสารออกมาเจือจานราษฎรในเมืองสงขลา ๑๐๐๐ เกวียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกภาษีเข้าสาร


๕๖ ให้แก่พระยาสงขลา ๆ กราบถวายบังคมลาออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนยี่ปีมโรงจัตวาศก € ครั้นณปีมเสงเบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการแลเงินส่วยต่าง ๆ เข้าไปทูลกล้า ฯ ถวาย พณหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ นำหลวงสุนทรนุรักษ์เข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายต้นไม้ทองเงิน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามีความชอบมาก ด้วยได้ยกทัพติดตามจับตัวพระยารามันห์ แลครอบครัวพระยาหนองจิกได้ในแขวงเมืองแประ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงสุนทรนุรักษ์ เปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา € ครั้นณปีวอกอัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตรา ออกมาให้พระยาสงขลาก่อป้อมกำแพงเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกเงินภาษีอากรเมืองสงขลาให้ ๑๐๐ ชั่ง พระยาสงขลาก็กะเกณฑ์ไพร่ลงมือก่อป้อมแลกำแพงเมืองยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระยาสงขลาพาพระยาตานี พระยายิริง พระยาสายบุรี พระยายะลา พระยาระแงะ พระยารามันห์ เข้าไปเฝ้าในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชก็เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน

๕๗ € ในศักราช ๑๒๐๐ ปีนั้น ตนกูหมัดสะวะหลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ครั้งก่อน ซ่องสุมสมัคพรรคพวกได้แล้วยกเข้ามาตีชิงเอาเมืองไทรบุรีได้อิก พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรี บุตรเจ้าพระยานครทานกำลังตนกูหมัดสะวะไม่ได้ ก็ยกครอบครัวล่าถอยเข้ามาตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาแต่งให้ขุนต่างตาคุมไพร่ ๕๐๐ คน ไปตั้งค่ายมั่นรักษาอยู่ที่พะตงที่การำริมเขตรแดนเมืองไทรบุรี แล้วรีบแต่งให้เรือศีศะฉลอมถือใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตนกูหมัดสะวะหลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีออกไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ก่อน คิดขบถยกกองทัพมาตีชิงเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรี ล่าทัพถอยมาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤดิเหตุแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานคร กับพระยาสงขลารีบกลับออกมาเมืองสงขลา แล้วให้เกณฑ์กองทัพออกไปปราบข้าศึกให้จงได้ พระยาสงขลากราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนสิบสอง ไม่ปรากฏว่าขึ้นแรมกี่ค่ำ พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้เสร็จแล้วรีบยกขึ้นไปตั้งอยู่ที่ท่าหาดใหญ่ ให้พระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง แล้วพระยาสงขลามีหนังสือให้กรมการถือออกไปเมืองแขกทั้ง ๗ เมืองให้ยกกองทัพมาช่วยระดมรบเมืองไทรบุรี พระยาตานี (ทองอยู่) พระยายิริง (พ่าย) พระยาสาย (ระดะ) พระจะนะ (บัวแก้ว) ยกกองทัพไปรวมกันกับทัพพระยา

๕๘ สงขลา ๆ แต่งให้พระยายิริง พระยาตานี พระยาสาย พระจะนะ หลวงนา หลวงพล ขุนต่างตา คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปรบกับตนกูหมัดสะวะที่ค่ายทุ่งโพในแขวงเมืองไทรบุรี ตนกูหมัดสะวะมีกำลังมากแต่งกองทัพตัดหลังเข้ามาทางสบ้าเพน เผาเรือนราษฎรในแขวงเมืองจะนะจนกระทั่งถึงบ้านพระจะนะ พวกแขกในเมืองจะนะก็กลับเข้าสมัคอยู่ด้วยตนกูหมัดสะวะทั้งสิ้น พวกไทยในเมืองจะนะมีน้อยก็พาครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ในแขวงเมืองสงขลาทั้งสิ้น พวกแขกในแขวงเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานี เมืองยิริง ก็กลับกำเริบขึ้น พระยาสงขลาจึ่งจัดให้พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย พระจะนะ คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งรักษาทางตำบลบ้านพะตง บ้านการำไว้ ให้หลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์คุมไพร่ ๕๐๐ คนรีบยกไปตั้งรักษาทางเมืองจะนะไว้ แลให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เปนกองส่งเสบียงอาหารอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่ แล้วพระยาสงขลารีบกลับลงมาจัดการในกลางเมืองสงขลา แต่งให้หลวงยกรบัตรคุมไพร่ ๓๐๐ คนไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลปลักแรดในระหว่างเขาสำโรงแลเขาลูกช้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ทเววิเชียรรัถยา นั้นค่ายหนึ่ง แลที่ตำบลวัดเกาะถ้ำค่ายหนึ่ง ที่ตำบลเขาเก้าเส่งริมทเลค่ายหนึ่งเสร็จแล้ว พอพวกแขกขบถเมืองไทรยกเข้ามาตีตำบลที่พะตงที่การำแตก พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย ล่าทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านน้ำกระจาย กองทัพเมืองไทรบุรีรุกตามเข้ามาทันกองพระยาสายที่ทุ่งนา

๕๙ น่าบ้านน้ำกระจาย ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน พวกแขกเมืองไทรบุรีเสียทีล่าถอยไป กองทัพพระยาสายตั้งค่ายมั่นลงได้ที่ริมเขาลูกช้าง พระยาตานีตั้งค่ายมั่นลงที่เขาเก้าเส่ง แต่กองทัพหลวงไชยสุรินทร์ หลวงพลสงคราม ทานกำลังแขกเมืองไทรบุรีไม่ได้ ก็ถอยทัพลงมาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลปลักแรดพร้อมกันกับกองทัพเมืองสงขลา พวกแขกเมืองไทร เมืองจะนะ ยกตามมาตั้งค่ายลงที่น่าค่ายปลักแรด พวกแขกขบถยังตั้งค่ายไม่ทันเสร็จ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพพวกจีนสี่กองพร้อมกับกองทัพหลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์ เข้าระดมตีค่ายพวกแขกเปนสามารถถึงตลุมบอน พวกแขกขบถทานกำลังไม่ได้ก็ล่าถอยหนีไป พวกจีนตัดศีศะพวกแขกขบถมาได้หลายสิบศีศะ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) รางวัลให้พวกจีนที่ตัดศีศะแขกขบถมาได้ ศีศะละ ๕๐ เหรียญ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ที่ตำบลปลักแรด รีบมีใบบอกให้หลวงพัฒนสมบัติ (ก้งโป้ย) ถือเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ด้วยเรือศีศะฉลอม ในใบบอกมีความว่า แขกเมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก คิดขบถสมทบกับแขกเมืองไทรบุรียกกองทัพเข้าตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้เกณฑ์กองทัพจีนแลไทยออกไปต่อสู้กับพวกแขกขบถที่ตำบลปลักแรด ในระหว่างเขาสำโรงแลเขาลูกช้าง ใกล้กับเมืองสงขลาระยะทางประมาณ ๙๐ เส้น กองทัพเมืองสงขลารบประทะตั้งมั่นกันอยู่ ราษฎรเมืองสงขลาก็มีน้อยตัว พวกแขกขบถมีกำลังมาก ขอรับพระราชทานกองทัพหลวงออกไปช่วย

๖๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤติเหตุแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์กับพระราชวรินทร์กรมพระตำรวจ คุมไพร่ ๕๐๐ คนเปนกองทัพน่ารีบยกออกมาก่อน ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า เปนแม่ทัพใหญ่ กับเจ้า พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี คุมไพร่ ๓๐๐๐ คนยกตามออกมากองทัพพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ ยกออกมาถึงเกาะหนูน่าเมืองสงขลา ยังไม่ทันยกกองทัพขึ้นบนบก พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เห็นกองทัพหลวงยกออกมาถึงเกาะหนูแล้ว จึ่งให้พวกทหารในค่ายปลักแรดยกปืนจ่ารงขึ้นตั้งบนค่ายเขาเกาะถ้ำ แล้วให้บวงสรวงกระทำสักการบูชาโดยพิศดารหลายอย่าง และกระทำพิณพาทย์ย่ำฆ้องไชยตั้งโห่ ๓ ลาเสร็จแล้ว จึ่งให้ยิงปืนจ่ารงตรงเข้าไปในค่ายแขกขบถ เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนมหามหัศจรรย์ กระสุนปืนจ่ารงที่บรรจุสองสัดสองนัดไปตกลงในกลางค่ายพวกแขกขบถ แขกขบถก็แตกทัพหนีกลับไปในเวลาพลบค่ำวันนั้น ปืนจ่ารงกระบอกนั้นก็ร้าวแตกมาจนทุกวันนี้ แลปืนจ่ารงนั้นเปนปืนเหล็กรางเกวียนยาว ๕ ศอก กระสุน ๔ นิ้ว ครั้นพวกแขกขบถแตกไปแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็ลงไปรับพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ขึ้นจากเรือรบมาพักอยู่ที่จวนพระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จึ่งปฤกษากับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ว่า พวกแขกขบถก็แตกไปหมดแล้ว ตัวพระยาตานี พระยายิริง พระยา

๖๑ สาย ก็ยังติดอยู่ที่เมืองสงขลา ในแขวงเมืองตาควรให้ พระยายิริง พระยาตานี พระยาสาย รีบล่วงน่าไปรักษาราชการเมืองเสียก่อนจึ่งจะชอบ ปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึ่งให้พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย รีบพาพวกแขกลงไปรักษาราชการเมืองตานี เมืองยิริง เมืองสายเสียก่อน อยู่สองวันสามวัน พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ กับพระยาสงขลาก็ยกกองทัพบกทัพเรือตามออกไปเมืองตานี ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) อยู่รักษาราชการเมืองสงขลา ส่วนกองทัพบุตรเจ้าพระยานครยกเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองไทรบุรีได้ แขกเมืองไทรบุรีซึ่งขบถก็ยกหนีลงเรือไปอยู่เมืองเกาะหมาก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จัดราชการอยู่เมืองตานีเดือนเศษ ต่อกองทัพ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ออกมาถึงเมืองสงขลาณเดือนหกขึ้นแปดค่ำปีกุญเอกศก ศักราช ๑๒๐๑ ยกกองทัพขึ้นตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ มีหนังสือออกไปหาตัวพระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งตั้งรักษาราชการอยู่ที่เมืองตานีให้รีบเข้าไปเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ทราบความตามหนังสือแม่ทัพแล้ว จึ่งจัดแจงให้พระยาวิชิตณรงค์ กับนายเม่นมหาดเล็กบุตรพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) อยู่รักษาราชการเมืองตานี พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระราชวรินทร์ก็รีบกลับเข้ามาเมือง


๖๒ สงขลา พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ก็ยกเข้ามาเมืองสงขลาพร้อมกัน พระยาไทรบุตรเจ้าพระยานคร ตั้งค่ายพักอยู่ที่ตำบลท่าว้าน ในขณะนั้นพระยากลันตัน กับพระยาจางวาง ชื่อตนกูปะสา วิวาทกันขึ้น พระยากลันตันมีหนังสือบอกเข้ามาให้นำกราบเรียนพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ แลขอให้ยกทัพไทยลงไประงับเหตุที่วิวาท พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ จึ่งแต่งให้หลวงศรเสนีปลัดกรมอาสาจามรีบลงไปห้ามปรามพระยากลันตันกับพระยาจางวาง หลวงศรเสนีลงไปถึงเมืองกลันตันได้ห้ามปรามทั้งสองฝ่ายก็หาฟังไม่ หลวงศรเสนีบอกหนังสือกราบเรียนมายังพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ ๆ จึ่งจัดให้พระยาราช บุรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมไพร่ ๒๐๐๐ คนเศษ รีบยกไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลยากังแขวงเมืองสายบุรี ริมเขตรแดนเมือง กลันตัน แล้วมีหนังสือให้หลวงโกชาอิศหากล่ามรีบถือหนังสือลงไปหาตัวพระยากลันตันกับตนกูปะสาให้รีบเข้ามาเมืองสงขลา หลวงโกชาอิศหากล่ามถือหนังสือลงไปเมืองกลันตัน แลพาตัวพระยา กลันตันกับตนกูปะสาเข้ามาเมืองสงขลาได้ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพว่ากล่าวระงับการวิวาท ให้พระยากลันตันกับตนกูปะสาเลิกการวิวาทโดยเรียบร้อยแล้ว พระยากลันตันกับตนกูปะสาก็ลาพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพกลับออกไปรักษาราชการเมืองกลันตันตามเดิม ส่วนเมืองไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กลับไปรักษาราชการอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเดหลาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงไปว่าราชการ

๖๓ เมืองพัทลุง แลยกที่พะโคะแขวงเมืองพัทลุงให้เปนแขวงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการสงบเรียบร้อยแล้ว จึ่งมีหนังสือออกไปหาพระยาเพ็ชรบุรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ซึ่งรักษาราชการอยู่ที่เมืองสายให้กลับเข้ามาเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลาสองปี แลได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้ว จึ่งได้ยกกองทัพกลับเข้าไป ณกรุงเทพ ฯ นำข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เมืองไทรบุรีนั้นครั้นจะให้คนไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไปคงจะไม่เปนการเรียบร้อย ควรแบ่งเมืองไทรบุรีออกเปนสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี จึ่งจะเปนปรกติเรียบร้อยได้ ขอรับพระราชทานให้ยมตวันซึ่งเปนพระยาไทรบุรีมาแต่ก่อน เปนพระยาไทรบุรีสืบต่อไป ? ให้ตนกูอานมเปนพระยาบังปะสู ให้ตนกูเสศอะเส็มเปนพระยาปิด ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเปนพระยาพัทลุง ส่วนพระยาพัทลุงบุตรเจ้าพระยานครนั้น ควรพาตัวเข้ามาทำราชการเสียในกรุงเทพ ฯ แต่เมืองพังงานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ขอรับพระราชทานให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ไปเปนที่พระยาบริรักษ์ภูธร พระยาพังงา ให้พระนุชิตเปนที่พระยาตะกั่วป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราตั้งเจ้าเมืองแลผู้ว่าราชการเมืองออกมาตามความเห็นพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพราชการบ้านเมืองก็เปนปรกติไม่มีขบถสืบต่อมาจนทุกวันนี้

๖๔ € ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย เสร็จราชการแล้วก็กลับออกมาเมืองสงขลา ๆ เปนปรกติ ไม่มีการทัพศึกอยู่ ๓ ปี € ครั้นปีฉลูตรีศก โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาเมืองสงขลาว่า พระยากลับตันกับพระยาจางวาง ตนกูปะสา พี่น้องวิวาทกันขึ้นอิก ให้พระเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับพระยาท้ายน้ำข้าหลวง รีบลงไประงับว่ากล่าวอย่าให้พระยากลันตันกับตนกูปะสาอริวิวาทแก่กัน ถ้าเห็นว่าจะระงับการวิวาทไม่ได้แล้ว ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) พาตัวตนกูปะสามาไว้เสียที่เมืองแจก ๗ เมือง ซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา ให้พระเสน่หามนตรีพาตัวพระยาจางวางไปไว้ที่เมืองนครเสีย พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพมาประชุมอยู่พร้อมกันที่เมืองสงขลา แล้วยกกองทัพเลยลงไปเมืองกลันตัน พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ได้ว่ากล่าวกับพระยากลันตัน พระยาจางวาง ให้เลิกการวิวาทซึ่งกันแลกัน พระยากลันตันกับพระยาจางวางก็หาฟังคำห้ามปรามไม่ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) จึ่งได้พูดจาเกลี้ยกล่อมพาตัวตนกูปะสา กับสมัคพรรคพวกบุตรภรรยาเข้ามาไว้ที่เมืองตานี พระเสน่หามนตรีก็พาตัวพระยาจางวางกับบุตรภรรยาข้าทาษสมัคพรรคพวกไปไว้ที่เมืองนคร พระยาท้ายน้ำ

๖๕ ก็กลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ พระเสน่หามนตรีก็กลับไปเมืองนคร พระสุนทรนุรักษ์ก็กลับเข้ามาเมืองสงขลา เมืองกลันตันก็เปนปรกติเรียบร้อยมาจนทุกวันนี้ € ครั้นณปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๒๐๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา พระราชทานไม้ไชยฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่ง กับเทียนไชยหนึ่งเล่ม พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ แลโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระอุดมปิฎกเปนประธานสงฆ์ถานานุกรมเปรียญ ๘ รูปออกมาเปนประธาน กับพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ กับพราหมณ์แปดนายออกมาเปนประธานในการฝังหลักไชย พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้กะเกณฑ์กรมการแลไพร่จัดการทำเปนโรงพิธีใหญ่ขึ้นในกลางเมือง คือที่น่าศาลเจ้าหลักเมืองเดี๋ยวนี้ แลตั้งโรงพิธีสี่ทิศ คือที่ป้อมเสร็จแล้ว ครั้นเดือนสี่ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาลจัตวาศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้จัดการตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤษ์กับเทียนไชยเปนการใหญ่ คือจัดกระบวนแห่ทั้งพวกจีนแลพวกไทยเปนที่ครึกครื้นเอิกเกริกมาก ตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤกษ์กับเทียนไชยไปเข้าโรงพิธี แล้วพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมเจริญพระปริต พระครูพราหมณ์ก็สวดตามไสยเวท ครั้นณวันเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำเวลาเช้าโมงหนึ่งกับสิบนาทีได้อุดมฤกษ์ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เชิญหลักไม้ไชยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา มี ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดการ ๕ ๖๖ สมโภชหลักเมืองเปนการเอิกเกริกอิก ๕ วัน ๕ คืน คือลครหรือโขนร้อง ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง ลครชาตรี ๔ โรง แลพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ ๒๒ รูป กับเครื่องบริขารภัณฑ์ต่าง ๆ แก่พระราชาคณะถานานุกรมเปรียญ แลพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เปนอันมากเสร็จแล้ว ครั้นเสร็จการฝังหลักเมือง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดเรือสำเภาลำหนึ่งส่งพระราชาคณะกับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เข้าไปณกรุงเทพ ฯ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างก่อตึกคร่อมหลักเมืองไว้สามหลักเปนตึกจีน กับศาลเจ้าเสื้อเมืองไว้หลังหนึ่งด้วย ครั้นปีมโรงฉศก ศักราช ๑๒๐๖ ถึงกำหนดงวดส่งต้นไม้ทองเงิน เมืองสตูลหาส่งต้นไม้ทองเงินมาไม่ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ต้องทำต้นไม้ทองเงินแทนเมืองสตูล แล้วแต่งให้ตนกูเดหวานำต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล พระยาสตูล (เดหวา) กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสตูล ในปีนั้นพระยาสตูลกับพระยาปลิดวิวาทกันด้วยเรื่องเขตรแดน จึ่งโปรดเกล้า ฯ มีตราออกมาให้เมืองนครกับเมืองสงขลา พร้อมกันออกไปชำระสะสางให้เปนที่ตกลงเรียบร้อยแก่กัน แล้วให้ปักหลักแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดวิวาทกันต่อไป ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จึ่งได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอยกเมืองสตูลให้ขึ้นอยู่กับเมืองนคร เหตุด้วยเมือง

๖๗ สงขลาบังคับบัญชาเมืองแขก ๗ เมืองโดยเต็มกำลังแล้ว จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสตูลขึ้นอยู่กับเมืองนครตั้งแต่นั้นมา € ครั้นณปีมเมียอัฐศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ป่วยโรคชราจึ่งได้มีบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ขุนภักดีโอสถหมอยา พันเมือง หมอนวด ออกมาพยาบาล อาการทรงบ้างทรุดลงบ้าง แลอาการป่วยให้เคลิบเคลิ้มสติเปนโบราณชวน ครั้นณวันอังคารเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำปีมแมนพศก ศักราช ๑๒๐๙ เวลา ๓ โมงเช้า พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถึงอนิจกรรม พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) แลญาติพี่น้องพร้อมกัน ได้จัดแจงศพตั้งไว้ณหอนั่งเสร็จแล้ว พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) แต่งให้หลวงไชยสุรินทร์กรมการถือใบบอกกับเงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญ เข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย เงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญนั้น คือเปนพัทยาตามกฎหมายเดิม ภายหลังพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) รีบตามเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา แลโปรดเกล้า ฯ ให้รีบกลับออกมาจัดการศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระราชทานศิลาน่าเพลิงแลผ้าไตร ๓๐ ไตร พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ กับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหมื่นตะมังนายช่างทหารในออก


๖๘ มาเปนช่างทำศพคนหนึ่ง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) กราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลา ได้จัดแจงทำการศพยังไม่ทันจะเสร็จ € ในปีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์เปนแม่กองออกมาสักเลข ตั้งทำเนียบโรงสักอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ ได้ลงมือสักเลขอยู่หลายเดือน € ครั้นณวันเดือนเจ็ดปีรกาเอกศก ศักราช ๑๒๑๑ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) พร้อมด้วยญาติพี่น้องได้จัดแจงเผาศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ที่ทุ่งนอกกำแพงเมืองสงขลา ซึ่งเรียกกันว่าทุ่งเมรุตลอดมาจนทุกวันนี้ แล้วได้เชิญอัฐิไปฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสนทำ เปนฮ่องสุยตามธรรมเนียมจีนเสร็จแล้วอยู่ ๒ วันพณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมออกมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นพักอยู่ที่ทำเนียบตำบลบ้านบ่อพลับ ตรวจการสักเลขอยู่สามเดือน เสร็จการสักเลขแล้ว พณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมกับพระยาวิชิตณรงค์ก็กลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ประวัติพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) € พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนบุตรที่ ๒ ของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) เปนน้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงครามพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เดิมเมื่อพระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ ภายหลังโปรดเกล้า ฯ


๖๙ ให้เปนพระสุนทรนุรักษ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยาวิเชียรคิรีศรีสมุทสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีบุตรกับท่านผู้หญิงทองสุก คือ ท่านผู้หญิงที่ ๑ แล้วมีบุตรกับท่านผู้หญิงแก้วชาวเมืองพัทลุงซึ่งนับเปนท่านผู้หญิงที่ ๒ บุตรที่ ๑ ชื่อลูกจันทน์ บุตรที่ ๒ ชื่อลูกอิน เปนผู้หญิงทั้ง ๒ คน ลูกจันทน์ได้ถวายเปนเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกอินนั้นเปนท่านผู้หญิงที่ ๓ ของเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) แต่ไม่มีบุตร พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้สร้างบ้านเรือนไว้ในกรุงเทพ ฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาน่าวัดสามปลื้มตำบลหนึ่ง ปลูกเปนเรือนมุงกระเบื้องพื้นกระดาน ฝากระดาน ๘ หลัง แลมีท่านผู้หญิงชื่อปรางอยู่ในกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งนับว่าเปนท่านผู้หญิงที่ ๔ แต่ไม่มีบุตร แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เปนแม่ทัพต่อสู้กับแขกขบถถึง ๒ ครั้ง แลได้ก่อกำแพงเมืองกับฝังหลักเมืองเสร็จบริบูรณ์ กับได้ก่อตึกจีนทำเปนจวนผู้ว่าราชการเมืองไว้ ๕ หลัง ซึ่งเรียกกันว่าในจวนตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) อัธยาไศรยดุร้าย จนราษฎรร้องเรียกกันว่า เจ้าคุณสงขลาเสือ เหตุด้วยท่านเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีศะเขา เพราะที่นั้นเปนที่เสือป่าอยู่ชุกชุม วิธีที่ล้อมจับเสือนั้นพิศดารหลายอย่าง คือเกณฑ์ให้ราษฎรทำแผงไม้ไผ่กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ ศอก ๔ เหลี่ยมไว้เสมอทุกกำนัน ๆ ละ ๑๐ แผงบ้าง ๑๒ แผงบ้าง ๑๕ แผงบ้าง เมื่อเสือเข้ามากัดสุกรหรือโคของราษฎรที่ตำบลบ้านศีศะเขาแล้ว พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีคำสั่งเรียกราษฎรแลแผง

๗๐ ได้ในทันทีให้มาล้อมจับเสือ ถ้าราษฎรมาไม่พร้อมในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องรับอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีแลต้องจำคุกด้วย เมื่อราษฎรพาแผงมาพร้อมแล้วก็ชวนกันเอาแผงล้อมเสือเข้าโดยรอบ ด้านนอกแผงนั้นให้ราษฎรกองเพลิงตีเกราะนั่งยามโดยรอบแผง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ถือปืนคาบศิลาชื่อว่าอีเฟืองไปนอนเฝ้าเสืออยู่พร้อมด้วยราษฎร พระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) มีอาญาสิทธิเต็มอำนาจเหมือนกับอาญาสิทธิแม่ทัพใหญ่ ครั้นเวลาเช้าพระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) จัดให้ราษฎรพวกหนึ่งถือหอกแลง้าวพร้าขวานเข้าไปอยู่ในแผง ราษฎรพวกหนึ่งคอยขยับแผงตาม พวกราษฎรที่เข้าไปอยู่ในแผงก็จัดกันเปนสามชั้น ชั้นที่หนึ่งถือหอกง้าวเดินเข้าไปข้างน่า ชั้นที่สองถือพร้าขวานถางป่า เดินตามเข้าไปข้างหลัง ชั้นที่สามขยับแผงตามหลังเข้าไปให้วงแผงที่ล้อมนั้นเลื่อนน้อยเข้าทุกครั้ง เมื่อถางป่าขยับแผงล้อมรอบวงน้อยเข้าไปทุกวัน ๆ เสือซึ่งอยู่ในที่ล้อมก็กระโดดกัดเอาคนซึ่งอยู่ในแผงสามชั้นวันละ ๒ คน ๓ คน ถึงแก่กรรมบ้าง เจ็บป่วยลำบากบ้าง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ก็ยังรีบเร่งให้ราษฎรล้อมเสืออยู่เสมอ ในเวลานั้นปรากฏว่าเสือกัดราษฎรตายในที่ล้อมเสียหลายสิบคน เมื่อล้อมแผงเข้าไปใกล้ชิดกับตัวเสือแล้ว เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นอยู่บนต้นมะปริงใหญ่ริมโบถแขกตำบลบ้านศีศะเขาเดี๋ยวนี้ เพื่อจะกระโดดข้ามแผงหนีออกไป พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิงเสือด้วยปืนคาบศิลาชื่ออีเฟืองถูกที่ขมองศีศะ เสือพลัดตกลงจากต้นมะปริงตายในทันที พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ชำนาญในการยิงปืน เพราะเปนศิษย์ท่านพระยาอภัยสรเพลิง

๗๑ กรุงเทพ ฯ แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้อัธยาไศรยชอบเล่น ลครแลศักรวา ทั้งเปนผู้ศรัทธาในพระพุทธสาสนา ได้สร้างพระวินัยไว้ ๖๖ คัมภีร์ พระสูตร ๒๒๙ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๙๗ คัมภีร์ แลได้สร้างเรือสำเภาไว้สำหรับค้าขาย ๓ ลำ แลได้จัดราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยลงหลายอย่าง แต่พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ถือธรรมเนียมจีนอย่างกวดขัน แลเปนผู้ชำนาญในภาษาจีนเขียนอ่านหนังสือจีนคิดเลขอย่างจีนได้คล่องแคล่ว ทั้งเปนผู้ที่ดุร้ายมีอำนาจโดยเต็มกำลัง จึ่งได้รักษาราชการเมืองสงขลาไว้ได้โดยเรียบร้อย เพราะเวลานั้นแขกเมืองทั้ง ๗ เมืองก็คิดขบถอยู่เสมอ ราษฎรในพื้นเมืองสงขลาก็เปนพวกบาแบเรียนคิดแต่จะปล้นสดมฉกชิงวิ่งราวอยู่มิได้ขาด แลธรรมเนียมราชการก็ฟั่นเฝือเหลือจะประมาณ เมืองสงขลาเวลานั้นก็แรกจะตั้งขึ้น ราษฎรพลเมืองก็มีตัวอยู่แต่น้อย พวกแขก ๗ เมือง มีกำลังมาก ถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) แบ่งเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองเสียแล้วก็จริง เมืองสงขลาอำนาจยังไม่พอที่จะปกครอง เพราะเหตุนี้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) จึ่งได้กระทำอำนาจโดยแขงแรง ถึงแก่บังคับให้ราษฎรจับเสือป่าได้คล้าย ๆ กับจับวิลาหรือกระจง ราษฎรในเมืองสงขลาเวลานั้นกลัวอำนาจพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิ่งกว่ากลัวอำนาจเสือป่า ความพิศดารในการเรื่องนี้ยังมีวิถารมาก ข้าพเจ้าผู้เรียงหนังสือฉบับนี้ไม่สามารถที่จะกล่าวให้เกินไป แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้ถือลัทธิธรรมเนียมจีนโดยกวดขัน ในวงษ์ญาติซึ่งเนื่องว่าเปนพวก

๗๒ แซ่เง่าด้วยกันแล้วห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีต่อกัน ด้วยธรรมเนียมจีนถือกันอย่างนี้ € พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนผู้โอบอ้อมยกย่องญาติพี่น้องในตระกูลโดยแขงแรง คือเจือจานให้ปันเลี้ยงดูในหมู่ญาติทั่วตลอดกัน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง แลรวบรวมหมู่ญาติในตระกูลให้ตั้งอยู่ในความสามัคคีต่อกันโดยเรียบร้อย แลเปนผู้ชำนาญหาผลประโยชน์ในการค้าขาย € ครั้นณวันเดือนหกปีจอโทศก ศักราช ๑๒๑๒ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) มอบราชการเมืองให้หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ( แสง ) กับกรมการอยู่รักษาราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รับสัญญาบัตรตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เข้าไปติดค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ ปีเศษ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ในปีจอโทศกนั้นหลวงวิเศษภักดี (นาก) ผู้ช่วยราชการซึ่งอยู่รักษาราชการเมืองสงขลาป่วยถึงแก่กรรม ยังอยู่แต่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) กับกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่รักษาราชการเมือง ครั้นณวันพุฒเดือนหกแรมสิบสามค่ำปีกุญตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เปนพระยาวิเชียรคิรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้นายจ่าเรศ (เม่น) บุตรพระยาวิเศษภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ พระยาวิเชียรคิรี

๗๓ (บุญสัง) หลวงสุนทรนุรักษ์ (เม่น) กราบถวายบังคมลากลับออกมารับราชการอยู่ณเมืองสงขลา ภายหลังหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เข้าไปเยี่ยมญาติในกรุงเทพ ฯ ก็ป่วยถึงแก่กรรมเสียในกรุงเทพ ฯ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) คนนี้เปนบุตรพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) มารดาเปนคนในกรุงเทพ ฯ เมื่อพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เข้าไปทำราชการเปนที่หลวงนายฤทธิ์อยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้สร้างบ้านเรือนเคหสถานที่ริมแม่น้ำ คือที่สุนันทาลัยเดี๋ยวนี้ แลมีภรรยาในกรุงเทพ ฯ มีบุตรผู้หญิงหนึ่ง ผู้ชายหนึ่ง บุตรผู้หญิงชื่อวัน เข้าทำราชการ เปนพนักงานอยู่ในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๒ บุตรผู้ชายชื่อแสงเปนนายขันมหาดเล็ก ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เปนผู้ชำนาญในการยิงปืนแม่นยำ แลชำนาญในการแพทย์ด้วย เมื่อออกมารับราชการเปนที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองสงขลา มีภรรยาอิกคนหนึ่งชื่อนิ่ม มีบุตรผู้ชายหนึ่ง ผู้หญิงหนึ่ง บุตรผู้ชายชื่อเวียง บุตรผู้หญิงชื่อทับ แต่เมื่อถึงแก่กรรมนั้นในวันเดือนปีใดไม่ปรากฎ ะ




๗๔ พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ เรียบเรียง

€ จุลศักราช ๑๒๓๗ ปีกุญสัปตศก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้พระยาศรีสิงหเทพ เรียงพงษาวดารโดยลำดับวงษ์ลาวพุงดำประเทศ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย จักดำเนินเรื่องราชพงษาวดาร เมื่อลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศก พระเจ้าอังวะยกพยุหโยธาทัพลงมาตรีกรุงศรีอยุทธยามหานครบุราณถึงแก่พินาศปราไชยแล้ว พระเจ้าอังวะตั้งให้ โปสุพลา โปมะยุงวน คุมกองทัพลงมารวบรวมไพร่พลลาวเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไปตั้งอยู่ที่เมืองกุมกาม โปสุพลา โปมะยุงวน ตั้งพระยาจ่าบ้านเปน พระยาสุรสงครามเจ้าเมือง ตั้งฟ้าชายแก้ว ผู้หลานเปนพระยาอุปราช อยู่มาพระยาอุปราชถึงแก่กรรม พระยาอุปราชมีบุตรชาย ๗ คน คือ นายกาวิละ ๑ นายคำโสม ๑ นายน้อยธรรม ๑ นายดวงทิพ ๑ นายหมูล่า ๑ นายคำฟัน ๑


๗๕ นายบุญมา ๑ บุตรหญิง ๓ คน นางสริรจา ๑ นางศิริ วรรณา ๑ นางศิริบุญธรรม ๑ รวม ๑๐ คน โปสุพลาจึงตั้งนายกาวิละบุตรนายฟ้าชายแก้วที่หนึ่งเปนพระยาอุปราช € ลุศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก พระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองกุมกาม ครั้นขึ้นไปถึงเมืองลำพูนไชย ก็หยุดประทับตั้งค่ายหลวงอยู่ที่นั้น โปสุพลา โปมะยุงวน รู้ว่ากองทัพกรุง เทพ ฯ ยกขึ้นไป ก็ให้พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ เกณฑ์คนออกตั้งรับทัพไทยอยู่นอกเมือง ฝ่ายพระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ ก็เข้าหาท่านเจ้าพระยาแม่ทัพ ขอเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพ ฯ ท่านเจ้าพระยาแม่ทัพ ก็ให้พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ นำทัพยกเข้าปีนปล้นเอาเมือง ฝ่ายโปสุพลา โปมะยุงวน ทราบว่าพระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ เข้าหาแม่ทัพไทยแล้ว ก็ไม่อาจที่จะคิดสู้รบต่อไป ครั้นถึงณวัน ๗ เดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำเวลายามเศษ โปสุพลา โปมะยุงวน ก็กวาดต้อนครอบครัวพม่าลาวหนีออกจากเมือง ครั้นณวัน ๕ เดือน ๒ แรม ๓ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนเสด็จยกเข้าอยู่ในเมือง โปรดตั้งพระยาจ่าบ้านเปนพระยาวิเชียรปราการ ถืออาญาสิทธิ์ ให้พระยาวังพร้าว ผู้หลานเปนพระยาอุปราช น้อยโพธิเปนพระยาราชวงษ์ ยกขึ้นไปตั้งที่เมืองป่าทราง ทางไกลเมืองกุมกามวันหนึ่ง ตั้งพระยาลำพูนเปนพระยาไวยวงษา ถืออาญาสิทธิ์ ครองเมืองลำพูนไชยตามเดิม ตั้งนายน้อยต่อมต้อเปนพระยาอุปราช ให้พระยากาวิละถืออาญาสิทธิ์ครอง

๗๖ เมืองนครลำปาง ตั้งคำโสมผู้น้องที่หนึ่งเปนพระยาอุปราช ตั้งน้อยธรรมผู้น้องที่สองเปนพระยาราชวงษ์ ดวงทิพ หมูล่า คำฟั่น บุญมา น้อง ๔ คนนี้ให้เปนผู้ช่วยราชการ จึงพระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิทุกคน แล้วเสด็จยกทัพกลับยังกรุงธนบุรี เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็เปนเมืองขึ้นกรุงธนบุรีแต่นั้นมา € ครั้นศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก พระเจ้าอังวะให้อะแซวุ่นกี้ เปนแม่ทัพมาตีเมืองพิศณุโลก แลเมืองฝ่ายเหนือ ให้อำมะหลอกวุ่นกับตวนวุ่นเปนแม่ทัพ คุมพลมาตีเมืองป่าทราง พระยาวิเชียร ปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาไวยวงษาเจ้าเมืองลำพูนสู้รบเหลือกำลัง ก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ลงมาอยู่เมืองนครลำปางบ้าง อยู่ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือต่าง ๆ บ้างแต่ที่เมืองนครลำปางนั้น พระยากาวิละรักษาเมืองไว้ได้ พระยาวิเชียรปราการ พระยาไวยวงษา อุปราชน้อยต่อม ก็ลงมาถึงแก่กรรมอยู่ณเมืองสวรรคโลก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ก็ร้างว่างอยู่ € ครั้นศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกแล้ว พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง แต่งให้นายคำฟั่นผู้น้องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท


๗๗ € ครั้นศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศก ครั้งทัพลาดหญ้าพม่ายกมาล้อมเมืองนครลำปาง แลตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง กับเจ้าพระยามหาเสนา ยกไปตีทัพพม่าณหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทัพหลวงก็เสด็จหนุนขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์ ครั้นพม่าถอยไปสิ้นแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา แบ่งคนในกองทัพหลวงยกไปบรรจบทัพเจ้าพระยามหาเสนา ไปรบพม่าตามลำน้ำพิง ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร เมืองตาก แล้วไปช่วยเมืองนครลำปาง ฝ่ายพม่าที่ล้อมเมืองนครลำปาง ได้ทราบว่ากองทัพไทยขึ้นไปช่วยก็เลิกทัพกลับไป € ครั้นศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก พม่าซึ่งตั้งอยู่เมืองเชียงแสน จะยกมาตีเมืองฝางลาว พระยาแพร่ที่อะแซวุ่นกี้เอาตัวไปเมืองพม่าแต่ครั้งทัพเมืองพระพิศณุโลกนั้น พระยาแพร่มาอยู่ที่เมืองเชียงแสนคิดกับพระยายอง จับอาปะกามะนีนายทัพพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองเชียง รายจำโตงก พาครอบครัวเข้ามาสามิภักดิ์สู่พระบรมโพธิสมภาร พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางบอกส่งลงมา โปรดให้พระยายอง กลับขึ้นไปอยู่กับพระยากาวิละที่เมืองนครลำปาง แต่พระยาแพร่นั้นให้ทำราชการอยู่ณกรุงเทพ ฯ € แล้วได้ข่าวว่าพม่าจะยกมาตีเมืองฝางลาว เมืองนครลำปางอิก จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปจัดการณเมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง จึงมีพระราช

๗๘ บัณฑูรตั้งให้พระยากาวิละเปนพระยาเชียงใหม่ ให้น้อยธรรมผู้น้องที่สองเปนพระยาอุปราช ให้พุทสารผู้เปนญาติข้างมารดาพระยากาวิละเปนพระยาราชวงษ์ พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิพระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ ก็กราบถวายบังคมลายกครัวเชียงใหม่เดิม แล้วขอรับพระราชทานครัวเชียงใหม่ ซึ่งตกค้างอยู่ณเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองเชียง ใหม่แต่ณปีมเมียอัฐศกศักราช ๑๑๔๘ ปีมาจนทุกวันนี้ € แลที่เมืองนครลำปางนั้น มีพระราชบัณฑูรตั้งคำโสมผู้น้องรองพระยากาวิละ เปนพระยานครลำปาง ให้ดวงทิพผู้น้องที่ ๓ เปนพระยาอุปราช ให้หมูล่าผู้น้องที่ ๔ เปนพระยาราชวงษ์ อยู่รักษาเมืองนครลำปางสืบไป พระราชทานเครื่องยศเหมือนตั้งเมืองเชียง ใหม่ แต่ที่เมืองลำพูนไชยนั้นยังหาได้ตั้งไม่ € ลุศักราช ๑๑๕๖ ปีขาลฉศก พระยานครลำปางป่วยถึงแก่กรรมพระยานครคำโสมเปนพระยานครได้เก้าปี แต่จะโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพนั้นหาได้ปรากฎในหมายเหตุไม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราหาตัวพระยาอุปราชดวงทิพ พระยาราชวงษ์หมูล่า นายหนานไชยวงษ์ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชดวงทิพเปนพระยานครลำปาง ตั้งพระยาราชวงษ์หมูล่าเปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานไชยวงษ์บุตรพระยานครคำโสมเปนพระยาราชวงษ์ พระราชทานเครื่องยศโดย


๗๙ สมควรแก่ถานาศักดิ แล้วพระยานครลำปาง พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครลำปาง € ลุศักราช ๑๑๖๓ ปีรกาตรีศก พระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยานครลำปางดวงทิพ กับญาติพี่น้องยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสาด จับได้ราชาจอมหงษ์เจ้าเมือง กับครอบครัวส่งลงมาถวายณกรุงเทพ ฯ € ลุศักราช ๑๑๖๔ ปีจอจัตวาศก เจ้าเวียงจันท์กับเจ้าอินท์รับอาสานำกองทัพพระยายมราชยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ครั้นพระยา ยมราชกับนายทัพนายกองยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสนแล้ว ตีเมืองเชียงแสนหาแตกไม่ พระยายมราชนายทัพนายกองไทยลาว ก็ล่าทัพกลับลงมายังกรุงเทพ ฯ € ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุญเบญจศก พระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยานครลำปางดวงทิพ เจ้านายญาติพี่น้อง กับเจ้าฟ้าเมืองน่านเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนเมืองยองแตกกระจัดกระจาย จุดเผาบ้านเรือน กวาดต้อนเอาครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อย ช้างม้าโคกระบือ เครื่องสรรพสาตราวุธ ทรัพย์สิ่งของ เครื่องวัตถุอัญมณีลงมาไว้ณเมืองเชียงใหม่เมืองนครลำปางเปนอันมาก เมืองน่านก็ยกเอาเมืองเชียงของไปเปนเมืองขึ้นเมืองน่าน แล้วบอกข้อราชการที่ได้ไชยชำนะแก่เมืองเชียงแสน เมืองยอง ลงมาณกรุงเทพ ฯ € ครั้นศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลูสัปตศก พระยาเชียงตุงเจ้าเมืองพี่ชายมหาขนานเปนขบถต่อเมืองอังวะ อพยพครอบครัวหนีเข้ามา


๘๐ อยู่ยังเมืองเชียงใหม่ขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา เอาพระเดชเดชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ เปนที่พึ่งสืบไป € ครั้นลุศักราช ๑๑๖๘ ปีขาลอัฐศก พระยาราชวงษ์คำฟั่นเมืองเชียงใหม่ พระยาอุปราชหมูล่าเมืองนครลำปาง เกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงรุ้งได้รบพุ่งกับพม่าลาวลื้อพลเมืองเปนหลายครั้ง เจ้าเมืองเชียงรุ้งกับท้าวพระยาสิบสองพันนา ก็อ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพ ฯ € อยู่มาลุศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง ยกขึ้นไปเกลี้ยกล่อมมหาขนานณเมืองเชียงตุง ๆ ก็ยอมพาครอบครัวอพยพมาพักอยู่ณเมืองเชียงแสนได้ประมาณเดือนเศษแล้วมหาขนานกลับใจพาครอบครัวหนีกลับไปเมืองเชียงตุง พระยานครลำปาง พระยาเชียงใหม่ ก็หาได้ยกกองทัพติดตามไปไม่ € ครั้นลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสู่สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกแล้ว ครั้นณปีมเมียโทศก พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง แต่งให้เจ้านายบุตรหลาน คุมเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย € ครั้นลุศักราช ๑๑๗๖ ปีจอฉศก จึงทรงพระราชดำริห์ปฤกษา ด้วยท่านอรรคมหาเสนาบดีว่า เมืองลำพูนไชยยังร้างว่างอยู่ หามีผู้คนรักษาบ้านเมืองไม่ จะทรงพระมหากรุณาตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์

๘๑ ขึ้นรักษาเมืองลำพูนไชยให้เปนเมืองสืบต่อไป ท่านอรรคมหาเสนาบดีก็เห็นชอบด้วยดังกระแสพระราชดำริห์ โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหา พระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยาราชวงษ์คำฟั่น นายบุญมา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท € ครั้นณวัน ๕ เดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาเชียงใหม่กาวิละ ขึ้นเปนพระเจ้าเชียงใหม่ ตั้งพระยาราชวงษ์คำฟั่น เปนพระยาลำพูนไชย ตั้งนายบุญมา เปนพระยาอุปราชเมืองลำพูนไชย พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน จึงโปรดเกล้า ฯ ยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ขึ้นเปนเมืองประเทศราชแต่นั้นมา แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ พระยาลำพูนไชย พระยาอุปราช ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ จึงแบ่งเอาคนเมืองเชียงใหม่ เปนคนสกรรจ์ ๑๐๐๐ คน เมืองนครลำปาง ๕๐๐ คน ให้พระยาลำพูนไชย ๆ ก็ยกครอบครัวไพร่พลทั้งสองเมือง มาตั้งเมืองลำพูนไชยแต่ในศักราช ๑๑๗๖ ปีจอฉศก มาจนทุกวันนี้ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ครั้นจัดการเมืองลำพูนไชยเสร็จแล้วก็ป่วยลง พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละเปนพระยาเชียงใหม่ได้ ๒๘ ปี เปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ปีหนึ่ง รวมแต่ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาได้ ๒๙ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในปีจอฉศกนั้น แต่จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพ ก็หาได้ปรากฎในหมายเหตุไม่ € ครั้นลุศักราช ๑๑๗๗ ปีกุญสัปตศก พระยาอุปราชน้อยธรรม พระยาราชวงษ์หมูล่าเมืองเชียงใหม่ พระยาลำพูนไชย พระยาอุปราช ๖

๘๒ เมืองลำพูนไชย นำช้างพลายเผือกเอกลงมาถวาย ครั้นแพช้างลงมาถึงกรุงเก่า พระยาราชวงษ์หมูล่าป่วยลงก็ถึงแก่กรรม พระยาอุปราช พระยาลำพูน ก็เอาศพพระยาราชวงษ์หมูล่าฝังไว้ที่กรุงเก่า แล้วก็ล่องแพช้างเผือกเอกลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แห่ช้างขึ้นสู่โรงสมโภช ขึ้นระวางพระราชทานนามว่า พระยาเสวตรไอยรา บวรพาหนนารถ อิศราราชบรมจักร สีสังข์ศักดิอุโบสถ คช คเชนทรชาติอากาศจารี เผือกผ่องศรีบริสุทธิ์ เฉลิมอยุทธยายิ่ง วิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า แล้วทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาอุปราชน้อยธรรมขึ้นเปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งพระยาลำพูนคำฟั่นเปนพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งพระยาอุปราชบุญมาเมืองลำพูน เปนพระยาลำพูน แต่ที่อุปราชเมืองลำพูนนั้น ยังหาได้โปรดตั้งผู้ใดไม่แล้วพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาลำพูน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปบ้านเมือง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานคุมหีบศิลาน่าเพลิงขึ้นไปปลงศพพระยาราชวงษ์หมูล่าที่กรุงเก่าด้วย € ลุศักราช ๑๑๘๓ ปีมเสงตรีศก พระยาเชียงใหม่น้อยธรรมรักษาเมืองมาได้ ๗ ปีก็ถึงแก่อสัญญกรรม แต่จะโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่น้อยธรรมนั้นหาปรากฎในหมายเหตุไม่ € ลุศักราช ๑๑๘๕ ปีมแมเบญจศก มีตราโปรดขึ้นไปหาตัวพระยาอุปราชคำฟั่นเมืองเชียงใหม่ พระยานครลำปางดวงทิพ นายพุทธวงษ์ นายคำมูล นายน้อยกาวิละ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระ

๘๓ มหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยานครลำปางดวงทิพ เปนพระเจ้านครลำปาง ตั้งพระยาราชวงษ์หนานไชยวงษ์ บุตรพระยานครคำโสมขึ้นเปนพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ตั้งพระยาอุปราชคำฟั่นขึ้นเปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายพุทธวงษ์บุตรนายพ่อเรือน หลานฟ้าชายแก้วเปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำมูลบุตรนายพ่อเรือน เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยกาวิละบุตรนายพ่อเรือน เปนพระยาเมืองแก้ว โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วพระเจ้านครลำปาง พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ พระยาเมืองแก้ว ก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง € ลุศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เสด็จสู่สวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว พระยาเชียงใหม่คำฟั่นว่าราชการเมืองมาได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญญกรรมณวันเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ศักราช ๑๑๘๗ ปีรกาสัปตศก พระเจ้านครลำปางดวงทิพ เปนพระยานครลำปางได้ ๙ ปี เปนพระเจ้านครลำปางได้ ๓ ปี รวมได้ครองเมืองนครลำปางมาได้ ๑๒ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในเดือน ๙ ปีรกาสัปตศกนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่คำฟั่นให้จมื่นสมุหพิมานขึ้นไปปลงศพพระเจ้านครลำปางดวงทิพ € ลุศักราช ๑๑๘๘ ปีจออัฐศก เจ้าเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรง

๘๔ มหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชพุทธวงษ์ เปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายหนานมหาวงษ์บุตรพระยาเชียงใหม่น้อยธรรม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายน้อยมหาพรหมบุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่น เปนพระยาราชวงษ์ เมืองนครลำปางนั้นทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาราชวงษ์ หนานไชยวงษ์บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยานครลำปาง ตั้งนายน้อยขัติย บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำแสนบุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยคำภูบุตรพระยาอุปราชหมูล่า เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายหนานมหาพรหม เปนพระยาราชบุตร ที่เมืองลำพูนไชยนั้น ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาลำพูนบุญมาขึ้นเปนพระเจ้าลำพูนไชย เจ้านครลำพูน ตั้งนายน้อยอินท์บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานมหายศบุตรนางสิงบุญธรรม์ น้องพระเจ้าลำพูนบุญมาเปนราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมลังกาบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายน้อยคำตันบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาราชบุตร แต่นายพิมพิสาร นายธรรมกิติ วิวาทกับราชวงษ์คำมูล เอาตัวไว้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ พระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง ก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปพอถึงเมืองตาก อนุเวียงจันท์คิดการเปนขบถ ยกกองทัพลงมาตีเมืองนครราชสิมา พระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง เกณฑ์ให้เจ้านายบุตรหลาน ยกขึ้นไปช่วยราชการทางเมืองเวียงจันท์ พระเจ้าลำพูนบุญมาเปนพระยาลำพูนได้ ๙ ปี เปน

๘๕ พระเจ้าลำพูนได้ ๔ ปี รวมแต่ได้ครองเมืองลำพูนได้ ๑๓ ปี ก็ถึงแก่พิราไลย พระยาเมืองแก้วน้อยกาวิละก็ถึงแก่กรรมด้วย € ในศักราช ๑๑๘๙ ปีกุญนพศกนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยพาห ขึ้นไปปลงศพพระเจ้าลำพูนบุญมา แล้วพระยาอุปราชน้อยอินท์บุตรพระยานครคำโสม พระยาราชบุตรคำตัน เมืองแก้วน้อยลังกา บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาไชยสงครามหน่อเมือง บุตรพระเจ้านครดวงทิพ ก็พากันลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชน้อยอินท์ เลื่อนขึ้นเปนพระยาลำพูนเจ้าเมืองลำพูนไชย ตั้งพระยาราชบุตรคำตันเลื่อนขึ้นเปนพระยาอุปราช ตั้งพระยาไชยสงครามเลื่อนขึ้นเปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมลังกาเปนพระยาเมืองแก้ว โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระยาลำพูน พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ พระยาเมืองแก้ว ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ลุศักราช ๑๑๙๙ ปีรกานพศก พระยานครลำปางไชยวงษ์ รักษาเมืองมาได้ ๑๒ ปี ครั้นณวันเดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ ก็ถึงแก่อสัญญกรรม ในปีรกานพศกนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิพิธไอสูรย์ ขึ้นไปปลงศพพระยานครลำปาง € ลุศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสัมฤทธิศก อุปราชน้อยขันธิย บุตรพระยานคร คำโสมลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งอุปราชน้อยขันธิย เลื่อนขึ้นเปนพระยานครลำปาง โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยานครลำปาง ก็ถวายบังคมลา

๘๖ กลับขึ้นไปถึงเมืองได้ ๖ เดือนก็ถึงอสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุเรนทรราชเสนา นายโนรีมหาดเล็ก ขึ้นไปปลงศพพระยานครลำปางขันธิย แล้วพระยาลำพูนน้อยอินท์ บุตรพระยานครคำโสม อุปราชคำตัน บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาลำพูนน้อยอินท์ บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาลำปาง ตั้งพระยาอุปราชคำตัน บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาลำพูน โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ แล้วพระยานครลำปาง พระยาลำพูน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ลุศักราช ๑๒๐๑ ปีกุญเอกศก ณวันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน มีใบบอกลงมาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาอุปราชมหาวงษ์เปนแม่ทัพ นายพิมพิสารเปนปลัดทัพ คุมกำลังนายไพร่ ๓๓๐๐ คน พระยาลำพูนแต่งให้พระยาอุปราชเปนแม่ทัพ นายน้อยคำวงษาเปนปลัดทัพคุมกำลังนายไพร่ ๙๐๐ คน รวมสองเมืองนายไพร่ ๔๒๐๐ คน ยกไปตีเมืองปุ เมืองสาด เมืองต่วน แตกกระจัดกระจาย จุดเผาบ้านเรือน กวาดต้อนครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยได้ ๑๘๖๘ คน กับเครื่องสรรพสาตราวุธช้างม้าโคกระบือลงมาถึงเมืองเชียงใหม่ ณวันเดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำปีกุญเอกศก แล้วพระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน มีใบบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาว่า ครัวที่กวาดต้อนได้มานั้น ขอพระราชทานแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่นายทัพนายกองเปนคนชายหญิงใหญ่

๘๗ น้อย ๑๐๐๐ คน ส่งลงมาถวาย เปนครัวเมืองต่วน พระยาต่วนเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๕๐๗ คน รวม ๕๐๘ คน เมืองสาดพระยาแก่นเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๘๓ คน รวม ๑๘๔ คน เมืองปุ ท้าวแก้วเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗๕ คน รวม ๑๗๖ คน รวมหญิงชายใหญ่น้อย ๘๖๘ คน กับปืนหลักปืนคาบศิลาคาบชุด ๔๗ บอก ม้า ๑๕ ม้า โค ๒๔๖ โค € ครั้นนำใบบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทจึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราตอบขึ้นไปว่า ครอบครัวที่พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน จะส่งลงมาถวายนั้น ให้เอาไว้เปนไพร่พลเมือง ปืน ม้า โค ซึ่งเปนเมืองขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่ จะได้สำหรับรักษาบ้านเมืองต่อไป พระยาเชียงใหม่ก็แบ่งปันครอบครัวทั้งปวงนั้น ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เปนภูมิลำเนา ตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปทุกประการ € ครั้นลุศักราช ๑๒๐๓ ปีฉลูตรีศก พระยาลำพูนคำตันว่าราชการเมืองมาได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระเทพาธิบดีขึ้นไปปลงศพพระยาลำพูนคำตัน แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวพระยาเมืองแก้วน้อยลังกา บุตรพระยาลำพูนบุญมาลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาเมืองแก้ว เลื่อนขึ้นเปนพระยาลำพูน โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาลำพูนก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมืองได้ ๒ ปี

๘๘ € ลุศักราช ๑๒๐๕ ปีเถาะเบญจศก พระยาลำพูนน้อยลังกาถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปถึงพระยากำแพงเพ็ชร แต่งกรมการไปปลงศพพระยาลำพูน พระยากำแพงเพ็ชรก็แต่งให้พระปลัดขึ้นไปปลงศพพระยาลำพูน ในปีเถาะเบญจศกนั้น ณวันเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ พระยานครลำปางน้อยอินท์ พระยาอุปราชมหาวงษ์เมืองเชียงใหม่ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งเมืองเชียงรายเปนเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ ตั้งเมืองงาว เมืองพเยา เปนเมืองขึ้นเมืองนครลำปาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายธรรมลังกาน้องนายพิมพิสาร เปนพระยารัตนอาณาเขตร เจ้าเมืองเชียงราย ตั้งนายอุ่นเรือนบุตรพระยาแสนหลวง เปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำแสน น้องนายอุ่นเรือนเปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายพุทธวงษ์ น้องพระยานครน้อยอินท์ เปนพระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพเยา ตั้งนายน้อยมหายศ น้องพระยานครน้อยอินท์ที่ ๒ เปนพระยาอุปราช ตั้งนายแก้วมนุษย์ น้องพระยานครน้อยอินท์ที่ ๓ เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายขัติย บุตรพระยาประเทศอุต?รทิศ เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายน้อยขัติย บุตรพระยาอุปราชหมูล่า เปนพระยาราชบุตร ตั้งพระยาไชยสงคราม เปนพระยาฤทธิภิญโญยศ เจ้าเมืองงาว ตั้งนายขนานยศ น้องพระยานครน้อยอินท์ เปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานปัญญา บุตรพระยานครน้อยอินท์ เนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายหนานยศ บุตรพระยานครไชยวงษ์ เปนพระยาเมืองแก้ว ได้รับพระราชทานเครื่อง

๘๙ ยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเอาคนเมืองเชียงใหม่ไปไว้เมืองเชียงราย แบ่งเอาคนเมืองนครลำปางไปไว้เมืองพเยา เมืองงาว จะได้สำหรับรักษาบ้านเมืองต่อไป พระยานครลำปาง พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่อุปราช ราชวงษ์ เมืองเชียงราย เมืองพเยา เมืองงาว ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปจัดการตั้งบ้านเมือง ตามกระแสพระบรมราชโองการทุกประการ พระยาเชียงใหม่พุทธวงษ์ว่าราชการเมืองมาได้ ๒๒ ปี € ลุศักราช ๑๒๐๘ ปีมเมียอัฐศก ณเดือน ๗ พระยาเชียงใหม่พุทธวงษ์ก็ถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระยารักษมณเฑียรที่เปนพระยาอิศรานุภาพ กับหลวงพิทักษ์สุเทพ ขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่ € ลุศักราช ๑๒๐๙ ปีมแมนพศก พระยาอุปราชมหาวงษ์ นายพิมพิสาร นำช้างพลายสีปลาดลงมาถวายช้างหนึ่ง โปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชมหาวงษ์ เปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายพิมพิสาร เปนพระยาอุปราช ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวนายหนานไชยลังกาบุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่นลงมาณกรุงเทพ ฯ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก นายหนานไชยลังกา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้ง

๙๐ นายหนานไชยลังกาเปนพระยาลำพูน ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาลำพูนก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง แล้วพระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน เข้าชื่อกันบอกกล่าวโทษพระยานครน้อยอินท์ลงมา ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวพระยานครน้อยอินท์ลงมาณกรุงเทพ ฯ ก็ป่วย พระยานครลำปางน้อยอินท์ว่าราชการเมืองมาได้ ๑๑ ปี ก็ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพ ฯ เมื่อณเดือน ๒ ศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอุปราชญาณรังษี บุตรพระยานครคำโสม ว่าราชการเมืองนครลำปาง € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๒ ปีกุญยังเปนโทศก ณวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ลุศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญตรีศกณเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศก ครั้นลุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน พระยาอุปราชผู้ว่าราชการเมืองนครลำปาง แต่งให้เจ้านายญาติพี่น้องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เมืองเชียงใหม่แต่งให้นายน้อยธรรมกิติ เมืองนครลำปางแต่งให้พระยาราชวงษ์หนานปัญญา พระยาเมืองแก้วไชยลังกา เมืองลำพูนไชยแต่งให้พระยาราชบุตรหนานศรีวิไชย คุมสิ่งของเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย นายธรรมกิติ พระยาราชวงษ์หนานปัญญา เมืองแก้วไชยลังกา พระยาราชบุตรหนานศรีวิไชย

๙๑ ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ป่วยเปนไข้อหิวาตกโรคก็ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองเชียงใหม่เขตรแดนติดต่อกันกับพม่าเขิน เมืองเชียงตุง แต่ก่อนเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย พร้อมกันยกกองทัพไปทำศึกรบกับเมืองเชียงตุง การก็ไม่สำเร็จ พม่าเขินเมืองเชียงตุงยกกองทัพโจรมาตีต้อนจับผู้คนพลเมือง ๆ เชียงใหม่ไปเนือง ๆ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนแม่ทัพ กับเจ้าพระยายมราชเปนแม่ทัพอิกทัพหนึ่ง ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในปีชวดจัตวาศกนั้น นายทัพนายกองที่ยกขึ้นไปรบเมืองเชียงตุงการก็ไม่สำเร็จ แต่พระยาเชียงใหม่มหาวงษ์ป่วยอยู่ก็ไม่นิ่งนอนใจ พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาเมืองแก้ว นายน้อยมหาพรหม นายสุริยวงษ์ผู้บุตร กับญาติพี่น้องแสนท้าวพระยาลาวคุมไพร่ยกขึ้นไปช่วยรบพม่าเขินเมืองเชียงตุง แลพระยาเชียงใหม่ก็ได้ลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพ มิให้ขัดสน จึงทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาเชียงใหม่ก็มีความชอบอยู่ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๕ ปีฉลูเบญจศก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชฤทธิไกร เชิญแผ่นพระสุพรรณบัตรกับเครื่องสูง ขึ้นไปพระราชทานพระยาเชียงใหม่มหาวงษ์ เลื่อนขึ้นเปนพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพิสีมหานครราธิฐาน ภูบาลบพิตร สถิตย์ในอุตมชิยางคราชวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศเปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ ๕ เดือนกับ ๒๘ วัน คิดรวมกันตั้งแต่เปน

๙๒ พระยาเชียงใหม่มาได้ ๗ ปีเศษ ลุศักราช ๑๒๑๖ ปีขาลฉศก ณวันแรม ๙ ค่ำเดือน ๒ พระเจ้ามโหตรประเทศถึงแก่พิราไลย จึงมีตราโปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปให้พระยาอุปราชพิมพิสาร บุตรพระยาเชียงใหม่คำฟัน ว่าราชการเมือง ก็ถือเปรียบแก่งแย่งกันกับนายน้อยมหาพรหมกิติศัพท์ทราบลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ที่เมืองเชียงใหม่เจ้านายมิได้ประนีประนอมเปนสามัคคีคารวะต่อกัน แลราชการทางเมืองเชียงตุงก็ยังติดพันกันอยู่ซึ่งจะไว้ใจแก่ราชการนั้นมิได้ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะสัปตศก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรี (เกด) หลวงวิสูตรสมบัติ (พร้อม) ขึ้นไประงับการที่เมืองเชียงใหม่ แล้วให้ปลงศพพระเจ้ามโหตรประเทศราชาด้วย เจ้าพระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ ก็กราบถวายบังคมลาขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ณวัน ๑ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ เจ้า พระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ก็จัดการบ้านเมืองเรียบร้อยเปนปรกติ เจ้าพระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ กับเจ้านายญาติพี่น้อง ช่วยกันปลงศพพระเจ้ามโหตรประเทศราชาเสร็จแล้ว ก็พาตัวพระยาเมืองแก้วหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ กับนายน้อยมหาพรหม นายหนานสุริยวงษ์บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศราชา พระยาลำพูน พระยาอุปราช เมืองนครลำปาง แลเจ้านายญาติพี่น้องลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ณวันเดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรงอัฐศก แต่พระยาอุปราชพิมพิสารป่วย

๙๓ ลงมาหาได้ไม่ เจ้าพระยามุขมนตรีก็นำเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลท่านอรรคมหาเสนาธิบดี ว่าเมืองลาวพุงขาว เมืองแขก เมืองเขมร ซึ่งเปนเมืองประเทศราชเชื้อวงษ์เปนเจ้า ก็ได้ทรงพระมหากรุณาตั้งขึ้นเปนเจ้าทุก ๆ เมือง แต่ลาวพุงดำเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ตั้งแต่พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ พระเจ้านครลำปางดวงทิพ พระเจ้าลำพูนไชยบุญมา ถึงแก่พิราไลยแล้ว ตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ เมืองแก้ว ครั้งใด ก็ตั้งเปนพระยาทุก ๆ ครั้ง ครั้งนี้จะทรงพระมหากรุณาตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองแก้ว ขึ้นเปนเจ้าทั้ง ๓ เมือง ให้สมควรที่ได้ยกขึ้นเปนเมืองประเทศราชอันใหญ่ แต่เจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองแก้ว เมืองขึ้นนั้น ให้คงเปนพระยาอยู่ตามเดิม พระบรมวงษานุวงษ์แลท่านอรรคมหาเสนาธิบดี ก็เห็นชอบด้วยดังกระ แสพระราชดำริห์ทุกประการ จึงโปรดเกล้า ฯ ปฤกษาด้วยท่านเสนาธิบดีทั้งปวงว่าจะตั้งพระยาอุปราชพิมพิสารขึ้นเปนเจ้านครจางวาง ให้ว่ากล่าวการสิทธิ์ขาดในเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย จะตั้งพระยาเมืองแก้วสุริยวงษ์ เปนเจ้านครเชียงใหม่ จะตั้งนายน้อยมหาพรหมเปนเจ้าอุปราช ให้ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมด้วยพระยาลำพูนไชย พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง จะเห็นชอบด้วยประการใด ปฤกษากันยังหาตกลงไม่ พอพระยารัตนอาณาเขตร เจ้าเมือง

๙๔ เชียงราย มีใบบอกลงมาว่า พระยาอุปราชพิมพิสารถึงแก่กรรมแต่ณวันเดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรงอัฐศก ฝ่ายพระยาลำพูนไชย พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ก็แจ้งความแก่ท่านเสนาบดี ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า นายน้อยมหาพรหมนั้นเปนคนกระด้างกระเดื่อง มิได้อยู่ในถ้อยคำผู้ใหญ่ จะโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายน้อยมหาพรหมเปนที่อุปราชเมืองเชียงใหม่ นายน้อยมหาพรหมก็จะประพฤติการที่ผิด ๆ ทำให้เสียราชการ ขอให้เอาตัวนายน้อยมหาพรหมไว้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก่อน ถ้าจะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเมืองแก้วสุริยวงษ์เปนเจ้านครเชียงใหม่ จะขอรับพระราชทานนายธรรมปัญโญ บุตรพระยาอุปราชคำฟั่น เปนที่อุปราช นายหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศราชา เปนราชบุตร จะได้ควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ของพระเจ้ามโหตรประเทศราชา ท่านเสนาบดีก็นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ว่าเมืองเชียงใหม่เปนเมืองประเทศราชใหญ่ เขตรแดนติดต่อกับอังกฤษพม่า จะตั้งอุปราชราชวงษ์ก็ต้องเอาใจผู้เปนเจ้าเมืองแลญาติพี่น้องที่เมืองใกล้เคียงเห็นพร้อมกัน จึงจะไม่แตกร้าวในราชการประการใดได้ ครั้งนี้ก็จะทรงพระมหากรุณาตั้งแต่งตามญาติพี่น้องปฤกษาตกลงกันนั้น แต่ที่เมืองแก้วจะทรงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ให้เรียกว่าบุรีรัตนทั้งเมืองใหญ่แลเมืองขึ้น


๙๕ € ครั้นณวัน ๕ แรม ๒ ค่ำเดือน ๑๐ ปีมโรงอัฐศกศักราช ๑๒๑๘ ปีจึงโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาเมืองแก้วหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ากาวิละ เปนพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ดำรงนพิสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชศรีโยนางคดไนยราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ ตั้งนายหนานธรรมปัญโญเปนเจ้าอุปราช ตั้งนายอินทนนท์เปนเจ้าบุรีรัตน ตั้งนายหนานสุริยวงษ์เปนเจ้าราชบุตร แล้วทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ขึ้นเปนเจ้าวรญาณรังษี ภักดีราชธรรม์ สุพรรณโสมดไนย โยนกวิไสยประชาธิกร อมรมหาเดชเชษฐกเสนางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัยเจ้านครลำปาง ตั้งราชวงษ์มหาพรหมบุตรเจ้านครดวงทิพ เปนเจ้าอุปราช เลื่อนพระยาลำพูนไชย เปนเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ หริภุญไชยรัษฎาธิวาศ ประเทศราชธุระธาดา มลาวัยวงษ์มัตยานุกูล ลำพูนนครวิชิตไชย เจ้านครลำพูนไชย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน เจ้าราชบุตร เมืองเชียงใหม่ เจ้า วรญาณรังษี เจ้าอุปราช มืองนครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เมืองลำพูนไชย ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง แต่นายน้อยมหาพรหม บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศนั้นโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนพระยาอุตรการโกศล ได้พระราชทานพานทอง ให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ


๙๖ € ครั้นณวันเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมแมเอกศก พระเจ้าเชียงใหม่บอกให้นายน้อยหน่อคำ นายน้อยแผ่นฟ้า คุมต้นไม้ทองต้นไม้เงินลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ว่า ที่ราชวงษ์เมืองเชียงใหม่ยังว่างอยู่ นายน้อยหน่อคำก็เปนบุตรพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก ควรจะเปนที่ราชวงษ์ได้ แต่นายน้อยแผ่นฟ้าหลานพระเจ้ากาวิละ ๆ ก็มีความชอบได้เกลี้ยกล่อมรวบรวมผู้คนทำศึกกับพม่าปัจจามิตร ก็ควรจะให้นายน้อยแผ่นฟ้าเปนที่หนึ่งที่ใดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แต่ที่ทางก็ได้ทรงพระมหากรุณาตั้งแต่งเต็มตำแหน่งหมดแล้ว จะต้องคิดชื่อตั้งขึ้นให้สมควรแก่ที่เกี่ยวข้องเปนบุตรหลานโดยลำดับ ท่านเสนาบดีก็เห็นพร้อมด้วยโดยดังกระแสพระบรมราชโองการ จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายน้อยหน่อคำเปนที่เจ้าราชวงษ์ ตั้งนายน้อยแผ่นฟ้าเปนเจ้าราชภาคิไนย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ แล้วเจ้าราชวงษ์ เจ้าราชภาคิไนย ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายพระยาอุตรการโกศลทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรมในปีวอกโทศกศักราช ๑๒๒๒ ปี € ครั้นศักราช ๑๒๒๕ ปีกุญเบญจศก เจ้าอุปราชมหาพรหมเมืองนครลำปาง ป่วยถึงแก่อสัญญกรรม ครั้นณเดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ ศักราช ๑๒๒๗ ปีฉลูสัปตศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร เมืองเชียงใหม่ บอกกล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ลงมาเดือนละฉบับ ข้อความต้องกันว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เกณฑ์คน

๙๗ ทำทางออกจากเมืองเชียงใหม่ไปจนถึงท่าผาแดง แล้วจัดเอาช้างพลาย ๒ ช้างกับปืน แต่งคนคุมขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ ก็ให้พม่าคุมเอาสิ่งของมาให้แก่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ๆ พาพม่ากับล่ามเข้าไปพูดในที่ลับ ครั้นพม่ากลับไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็เอาล่ามพม่าไปฆ่าเสีย แล้วนายน้อยเทพวงษ์ บุตรพระยาอุตรการโกศล ก็ร้องถวายฎีกากล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์หลายข้อ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหามนตรีเจ้ากรมพระตำรวจในขวา ขึ้นไปหาตัวพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ลงมาณกรุงเทพ ฯ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร กับเจ้านายญาติพี่น้อง ก็ลงมาพร้อมด้วยพระยามหามนตรี ถึงกรุงเทพ ฯ ณวัน ๔ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาลอัฐศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายญาติพี่น้องเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายต้นไม้ทองเงิน กับพาบุตรฟ้าโกลานเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ฟ้าโกลานจะเทครัวพลเมืองเข้ามาขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา ส่งขุนหลวงผู้บุตรเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทก่อน แล้วพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เอาแหวนทับทิมเท่าผลเม็ดบัวแก่ ๒ วง สังวาลทองคำมีสายสร้อย ๑๕ สายมีประจำยามใหญ่ ๑ ประจำยามเล็ก ๒ ตาบ ๑ ประดับพลอยทับทิมใหญ่ ๔ ทับทิมเล็ก ๙๖ รวม ๑๐๐ เม็ด ผ้าเกี้ยวพม่า ๓ ผืน ผ้าตาลวด ๘ ผืน รวม ๑๑ ผืน ของเจ้าอังวะให้แก่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ๆ ๗

๙๘ นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงมีพระบรมราชโองการว่าของทั้งนิ้เจ้าอังวะให้แก่เจ้าเชียงใหม่ ก็ให้เจ้าเชียงใหม่เอาไว้เถิด จะทรงรับเอาไว้แต่แหวนทับทิมวงเดียว พอไม่ให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เสียใจ แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเสนาบดีชำระพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ที่รายเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร บอกกล่าวโทษลงมานั้น พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ให้การหลีกเลี่ยงท่านเสนาบดีจึงนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ที่สมุหพระกลาโหมเปนประธาน จึงทำคำปฤกษาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็เปนเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ก็ยังหามีความผิดเปนข้อใหญ่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ขอรับพระราชทานให้ได้กลับขึ้นไปรักษาอาณาเขตร ปกป้องเจ้านายญาติพี่น้องบุตรหลาน ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป แต่เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยมหาวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานธรรมลังกานั้น ขอพระราชทานให้เอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ ก่อน ถ้าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ให้ปฤกษาด้วยเจ้าวรญาณรังษีเจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาลเจ้านครลำพูนไชย ด้วยเปนเครือวงษ์วานญาติพี่น้อง


๙๙ ถ้าเจ้าเมืองนครลำปาง เจ้าเมืองลำพูนไชย มีศุภอักษรลงมาประการใด จึงค่อยผ่อนปรนไปตามทางสามัคคีคารวะอย่าให้แตกร้าวกันได้ ครั้นทรงทราบในคำปฤกษาแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์กลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว เอาคำ ปฤกษาของพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี ไปแจ้งต่อเจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย ทราบทุกประการแล้ว เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้านครลำพูนไชย มีศุภอักษรลงมาว่า ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เปนเจ้าประเทศราชใหญ่ เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยมหาวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานธรรมลังกา ก็มิได้อยู่ในถ้อยคำถือเปรียบแก่งแย่งผู้ใหญ่ ทำให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ขอรับพระราชทานให้เอาตัว เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายหนานธรรมลังกา นายน้อยมหาวงษ์ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณกรุงเทพ ฯ ก่อน ครั้นทรงทราบในศุภอักษรแล้วก็โปรดเกล้า ฯ ให้เอาตัวเจ้านายเมืองเชียงใหม่ไว้ตามคำปฤกษา € ครั้นณปีเถาะนพศกศักราช ๑๒๒๙ ปี เจ้าอุปราชธรรมปัญโญป่วยถึงแก่กรรม ครั้นณวัน ๕ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายญาติพี่น้องบุตรหลาน ช่วยกันปลงศพ

๑๐๐ เจ้าอุปราชธรรมปัญโญเสร็จแล้ว จึงมีศุภอักษรบอกลงมาณกรุงเทพ ฯ ณเดือน ๕ ปีมโรงสัมฤทธิศก ว่าเจ้าอุปราชธรรมปัญโญถึงแก่กรรม จะขอรับพระราชทานนายน้อยมหาวงษ์ บุตรเจ้าอุปราชธรรมปัญโญขึ้นไปควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ครั้นทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้นายน้อยมหาวงษ์ กลับขึ้นไปอยู่ณเมืองเชียงใหม่ แลเจ้าราชบุตรหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศที่เอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรม € ครั้นลุศักราช ๑๒๓๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศก € ลุศักราช ๑๒๓๑ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ มีศุภอักษรลงมาว่า ฟ้าโกลานเจ้าเมืองมอกใหม่ขัดแขง ไม่พาครอบครัวเข้ามาเหมือนสัญญาไว้แต่ก่อน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์แต่งให้เจ้าบุรีรัตน เจ้านายบุตรหลาน ยกไปตีต้อนกวาดครอบครัวฟ้าโกลานมาณเมืองเชียงใหม่ กับช้างที่เมืองพร้าวตกลูกเปนช้างด่างช้างหนึ่ง แต่งให้หนานไชยวงษ์ พระยาไชยเลิก คุมลงมาถวายถึงกรุงเทพฯ ณวันเดือน ๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมเสงเอกศกศักราช ๑๒๓๑ ปีทรงพระมหากรุณาให้แห่ช้างขึ้นไปสู่โรงสมโภช ขึ้นรวางพระราชทานนามว่า พระเสวตรวรวรรณ


๑๐๑ € ครั้นลุศักราช ๑๒๓๑ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์พาบุตรหลานลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการให้เจ้าราชภาคิไนย นายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง ก็แต่งให้เจ้าราชวงษ์ บุตรพระเจ้านครดวงทิพ เจ้าราชบุตรใจแก้ว บุตรเจ้าวรญาณรังษี ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย € ครั้นณเดือน ๒ ปีมเสงเอกศก กองทัพเงี้ยวกองทัพลื้อยกลงมาตีเมืองปายเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ เจ้าราชภาคิไนย นายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ มีหนังสือแจ้งข้อราชการลงมาเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย แล้วนายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ คุมกำลังนายไพร่เมืองเชียงใหม่ ๑๐๐๐ คน เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง แต่งให้นายน้อยพิมพิสาร นายหนานไชยวงษ์ คุมกำลังนายไพร่เมืองนครลำปาง ๑๐๐๐ คน เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย แต่งให้นายอินทวิไชย นายน้อยมหายศ คุมกำลังนายไพร่เมืองลำพูน ๕๐๐ คน ยกขึ้นไปช่วยเมืองปายก็หาทันไม่ กองทัพเงี้ยวทัพลื้อ เมืองมอกใหม่ ตีเมืองปายแตก จุดเผาบ้านเรือนกวาดต้อนครอบครัวไปเมืองมอกใหม่ กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ยกติดตามไปจนถึงฝั่งน้ำสละวิน ก็หาทันกองทัพเงี้ยวทัพลื้อไม่ แลพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ก็ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ณเดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ

๑๐๒ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนคลำปาง ก็เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ก็น้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานเจ้าราชวงษ์หน่อคำ นายหนานมหาเทพ กับญาติพี่น้อง ซึ่งเอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ แต่ก่อน ขึ้นไปทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณเมืองเชียงใหม่ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้กลับขึ้นไป € ครั้นเดือน ๔ ปีมเสงเอกศก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าบุรีรัตนอินทนนท์ บุตรพระยาราชวงษ์มหาพรหม เปนเจ้าอุปราช ตั้งนายพุทธวงษ์ บุตรเลี้ยงพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เปนเจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางนั้นโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์เปนเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าราชบุตรใจแก้วเปนเจ้าราชวงษ์ พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์อยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก็ป่วยลง ครั้นทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทก็พระราชทานหมอยาหมอนวด ให้ไปพยาบาลอาการก็หาคลายไม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์จึงแจ้งความต่อท่านเสนาบดีว่า จะขอถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาตัวณเมืองเชียงใหม่ ท่านเสนาบดีก็นำเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายหนานมหาเทพ เจ้านายบุตรหลาน เมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เมืองนครลำปาง เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมือง


๑๐๓ เชียงใหม่ เมืองนครลำปาง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหมอยา หมอนวดให้ ขึ้นไปด้วยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ € ครั้นณวัน ๑ เดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ ปีมเมียโทศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายทั้งสองเมืองก็ออกเรือจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปถึงบ้านท่าพเนศเขตรเมืองเชียงใหม่ ยังทางอิกวันหนึ่งจะถึงเมืองพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ป่วยหนักลง ครั้นถึงณเดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ปีมเมียโทศก เวลาสองโมงเช้า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ถึงแก่พิราไลย เปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ ๑๖ ปี เจ้าอุปราช แลเจ้านายบุตรหลานก็พาเอาศพพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ไปณเมืองเชียงใหม่

€ ครั้นณวัน ๕ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีมเมียโทศก เจ้าราชภาคิไนยเมืองเชียงใหม่ก็ถึงแก่กรรม เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้านายบุตรหลาน มีศุภอักษรให้นายบุญทวงษ์ถือลงมาว่า พม่าเขินเมืองเชียงตุงยกครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อย ๓๗๐ คน มาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน มีเรือน ๓๓๓ หลังเรือน กับครัวเงี้ยวฟ้าโกลานที่ตีกวาดมาไว้แต่ก่อน เปนคนชายหญิงใหญ่น้อย ๑๐๐ คน ส่งลงมาถวาย ได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้วจึงมีศุภอักษรโปรดเกล้าฯ ขึ้นไปให้เจ้าอุปราชว่าราชการเมือง ให้นายบุญทวงษ์ว่าที่อุปราช แล้วให้แต่งคนขึ้นไปว่ากล่าวแก่พวกพม่าเขินว่า ถ้าจะมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนก็ให้ยอมขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เมืองเชียงราย นายบุญทวงษ์ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชก็แต่งให้แสนท้าว


๑๐๔ พระยาลาว ไปว่ากล่าวแก่พวกพม่าเขินเมืองเชียงแสน พม่าเขินก็ยังหายอมขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เมืองเชียงรายไม่ € ครั้นมาณเดือน ๓ ปีมเมียโทศก โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชวรานุกูล ขึ้นไปปลงศพพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระยาราชวรานุกูลขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้านายญาติพี่น้องช่วยกันปลงศพ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ในเดือนสี่ปีมเมียโทศก € แลในเดือนสี่นั้น พวกเงี้ยวพวกลื้อยกกองทัพเข้ามาตีต้อนกวาดครอบครัวเผาบ้านเรือนในแขวงเมืองเชียงใหม่ เข้ามาจนถึงบ้านฉลองหนองคายบ้านป่าแง ยังทางอิกวันหนึ่งจะถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชผู้ว่าราชการเมืองเกณฑ์ให้นายหนานธรรมลังกา ผู้เปนที่เจ้าราชสัมพันธวงษ์ นายอินทรศผู้เปนที่เจ้าราชภาคิไนย กับนายหนานมหาเทพ นายน้อยปัญญา คุมกำลังนายไพร่ ๕๐๐๐ คน เจ้า วรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เกณฑ์ให้นายน้อยธนัญไชยผู้เปนที่เจ้าราชสัมพันธวงษ์ กับพระยาวังซ้าย คุมกำลังนายไพร่ ๒๐๐๐ คน เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย เกณฑ์ให้นายอินทวิไชย นายน้อยมหายศ คุมกำลังนายไพร่ ๑๐๐๐ คน รวมเปนคนนายไพร่ ๘๐๐๘ คน ยกขึ้นไปตีพวกเงี้ยวพวกลื้อแตกเลิกถอยไป นายทัพนายกองยกติดตามตีไปจนถึงท่าผาแดง กองทัพเงี้ยวกองทัพลื้อก็แตกไปพ้นเขตรแดนเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้ง ๓ เมืองก็พากันกลับมา แต่นายหนานมหาเทพนั้นมาถึงกลางทางยังหาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ ก็ป่วยถึงแก่กรรม

๑๐๕ € ครั้นณปีมแมตรีศก เจ้าวรญาณรังษีป่วย เจ้าวรญาณรังษีว่าราชการเมืองนครลำปางมาได้ ๑๖ ปี ถึงณวันเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีมแมตรีศกศักราช ๑๒๓๓ ปี เจ้าวรญาณรังษีก็ถึงแก่พิราไลย เจ้าไชยลังกาพิศาลเปนพระยาลำพูนได้ ๘ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนขึ้นเปนเจ้าลำพูนได้ ๑๗ ปี รวมแต่ได้ครองเมืองลำพูนไชยมาได้ ๑๕ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในปีมแมตรีศกนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีเสนาขึ้นไปปลงศพเจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง ฝ่ายกงสุลเยเนราลอังกฤษ มีหนังสือแจ้งความมายังท่านเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศ ว่าเมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ยังไม่ถึงแก่พิราไลย ให้เจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่ ไปเก็บริบเอาไม้ขอนสักแลทรัพย์สิ่งของช้างม้าโคกระบือ ฆ่าฟันพวกพม่าต้องซู่ ซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษเปนหลายเรื่องหลายราย ท่านเสนาบดีได้นำความขึ้นน้อมเกล้าถวายคำนับกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง กับพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย ขึ้นไปชำระความพม่าต้องซู่ซึ่งฟ้องหาเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่ พระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ได้ชำระความพม่าต้องซู่ เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวแล้วไปบ้าง แต่ที่ตัดสินฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลยไม่ยอมกันมีอยู่หลายเรื่อง พระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี กำหนดให้โจทย์จำเลยลงมาชำระว่ากล่าวกันณกรุงเทพ ฯ

๑๐๖ แล้วพระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี ก็พาตัวเจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชเมืองนครลำปาง เจ้านายบุตรหลานทั้งสองเมืองลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แต่เจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาจ่าแสนบดี ไปทำการปลงศพเจ้าราชบุตรณวัดบวรมงคล ฝ่ายพม่าต้องซู่ซึ่งเปนโจทย์ฟ้องหากล่าวโทษเจ้านายแสนท้าว พระยาลาวเมืองเชียงใหม่ ก็ตามลงมายื่นเรื่องราวต่อกงสุลเยเนราลอังกฤษณกรุงเทพ ฯ กงสุลเยเนราอังกฤษ แจ้งความมายังท่านเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศ ๆ ก็นำความขึ้นน้อมเกล้าถวายคำนับกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชวรานุกูล พระยาจ่าแสนบดี พระยามหามนตรี ลงไปชำระความพม่าต้องซู่โจทย์ เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่จำเลย ที่บ้านกงสุลเยเนราลอังกฤษ ได้ตัดสินความโจทย์จำเลยยกเลิกไป ๒๑ เรื่อง จำเลยแพ้ ๑๑ เรื่อง

€ ครั้นณเดือน ๖ ปีรกาเบญจศก โปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าอุปราชอินทนนท์บุตรพระยาราชวงษ์มหาพรหม ขึ้นเปนที่เจ้าอินทวิไชยานนท์ พหลเทพภักดี ศรีโยนางคนไนยราชวงษา มหาประเทศราชประชาธิบดี นพิสีนคราภิพงษ์ ดำรงพิพัฒนชิยางคราชวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ตั้งนายน้อยขัติยวงษ์ บุตรเจ้าเชียงใหม่อินทนนท์ เปนเจ้าราชบุตร ตั้งนายอินทรศ บุตรเขยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เปนเจ้าราช

๑๐๗ ภาคิไนย ตั้งนายธรรมลังกา หลานพระเจ้ามโหตรประเทศ บุตรนางบัวทิพ เปนเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ตั้งนายน้อยเทพวงษ์ บุตรพระยาอุตรการโกศลมหาพรหม เปนพระยาอุตรการโกศล แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า ที่เมืองปายตั้งแต่เงี้ยวลื้อยกกองทัพมาตีจุดเผาบ้านเรือนกวาดต้อนครอบครัวไป ก็ยังร้างว่างอยู่ หามีผู้จะรักษาเมืองไม่ กองทัพเงี้ยวลื้อจึงมีใจกำเริบองอาจประมาทเข้ามาตีกวาดต้อนเอาครอบครัวไปเนือง ๆ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายหนานธนัญไชย ซึ่งเปนพระยาไชยสงคราม บุตรราชวงษ์มหายศ เปนพระยาเกษตรรัตนอาณาจักร เจ้าเมืองปาย ให้ยกเอาคนเมืองเชียงใหม่ ไปตั้งเมืองปายให้เปนภูมิลำเนาบ้านเรือนเหมือนแต่ก่อนจะได้ป้องกันรักษาด่านทางเมืองเชียงใหม่ต่อไป แล้วโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าอุปราชบุตรพระเจ้านครดวงทิพ เปนเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา สามันตวิชิตประเทศราช บริสัษยนารถทิพจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไสย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสุรนางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัย เจ้านครลำปาง ตั้งนายแก้วเมืองมา บุตรเจ้าอุปราชมหาพรหมเปนเจ้าราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมเสนา บุตรเจ้าวรญาณรังษีเปนเจ้าบุรีรัตน ตั้งนายน้อยคำป้อ บุตรเจ้าวรญาณรังษี เปนเจ้าสุริยจางวาง ตั้งนายโละ บุตรเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เปนเจ้าราชบุตร ตั้งนายน้อยหวัน บุตรเจ้าราชบุตรมหาเทพ เปนพระยาไชยสงคราม ตั้งนายน้อยไชยสาร บุตรพระยาวังซ้ายคนเก่า เปนพระยาวังซ้าย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานา

๑๐๘ ศักดิทุกคน แล้วเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครลำปาง เจ้านายบุตรหลาน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ครั้นณเดือน ๑๒ ศักราช ๑๒๓๕ ปีรกาเบญจศก เจ้านครเชียงใหม่ แต่งให้นายบุญทวงษ์ผู้ว่าที่อุปราช คุมเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายบุญทวงษ์ เปนที่เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ เจ้าอุปราชก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงคเชนทรามาตย์ขึ้นไปปลงศพเจ้าไชยลังกาพิศาลเจ้าลำพูนไชยด้วย € ครั้นณเดือน ๒ ปีรกาเบญจศก เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ แต่งให้นายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน คุมเอาสิ่งของขึ้นไปถวายพระตะแคงเมืองอังวะ € ครั้นณเดือน ๔ ปีรกาเบญจศกนั้น ทูตที่โปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปทำหนังสือสัญญาว่าด้วยการเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย กลับเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย เชิญศุภอักษรแลหนังสือสัญญาขึ้นไปแจ้งราชการต่อเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง เจ้าราชวงษ์ ผู้ว่าราชการเมืองลำพูนไชย ให้จัดตั้งด่านระวังโจรผู้ร้ายตามข้อสัญญา เจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพรหมภิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง เจ้าราชวงษ์ ผู้ว่าราชการเมืองลำพูนไชย ได้ทราบใน

๑๐๙ ศุภอักษร แล้วก็จัดคนออกไปตั้งด่าน ในแขวงเมืองเชียงใหม่ ๗ ตำบล เมืองนครลำปาง ๔ ตำบล เมืองลำพูนไชย ๒ ตำบล รวม ๑๓ ตำบล เปนคนนาย ๑๗ ไพร่ ๕๘๐ รวม ๕๙๗ คน € ครั้นณเดือน ๑๐ ศักราช ๑๒๓๖ ปีจอฉศก เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ ให้นายน้อยเทพวงษ์ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทจึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีศุภอักษรให้นายน้อยเทพวงษ์ถือขึ้นไปถึงเจ้านครเชียงใหม่ ให้เกณฑ์กองทัพจัดให้เจ้านายบุตรหลานคุมขึ้นไปขับไล่พวกพม่าเขิน ซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน € แลในปีจอฉศกศักราช ๑๒๓๖ ปีนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้พระนรินทรราชเสนี ปลัดบาญชีกรมพระกระลาโหม เปนข้าหลวงที่หนึ่ง หลวงเสนีพิทักษ์ กรมมหาดไทย เปนข้าหลวงที่สอง ขึ้นไปอยู่ณเมืองเชียงใหม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ทหาร นาย ๑๐ คน ทหารเลว ๖๐ คน รวม ๗๐ คน ขึ้นไปประจำอยู่กับข้าหลวงที่เมืองเชียงใหม่ด้วย ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเดือนให้ข้าหลวงที่ ๑ ที่ ๒ ล่ามขุนหมื่นเสมียนนายไพร่ รวมปีหนึ่งเปนเงิน ๑๖๒ ชั่ง ๑๒ ตำลึง พระนรินทรราชเสนี หลวงเสนีพิทักษ์ ขุนหมื่นเสมียนทหารนายไพร่ ราบถวายบังคมลาขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ ณวัน ๑๒ ค่ำ ปีจอฉศก ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ณเดือน ๒ ปีจอฉศก นายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน กลับมาแต่เมืองอังวะ ถึงเมืองเชียงใหม่ในเดือน ๒ ปีจอฉศกนั้น แจ้งความต่อเจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ว่า ขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้เข้า

๑๑๐ เฝ้าเจ้าอังวะ ๆ ให้เงินทองผ้าผ่อนพอสมควรทั้งนายทั้งไพร่ กับได้ทำแผนที่เมืองอังวะลงมาด้วย เจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่จึงแต่งให้นายหนานสองเมือง คุมตัวนายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน กับนำแผนที่เมืองอังวะลงมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ € ครั้นณเดือน ๔ ปีจอฉศกศักราช ๑๒๓๖ ปี เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ ปฤกษาพร้อมด้วยพระนรินทรราชเสนี จะเกณฑ์คนยกขึ้นไปขับไล่พวกพม่าเขิน ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน พระ นรินทรราชเสนีจึงมีหนังสือลงมายังเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ให้เกณฑ์คนยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ เจ้านครเชียงใหม่จึงแต่งให้นายน้อยเทพวงษ์ พระยาอุตรการโกศล นายน้อยหน่อเมือง คุมไพร่เมืองเชียงใหม่ ๑๐๐๐ คน เจ้านครลำปางแต่งให้เจ้าราชบุตร นายสุริย คุมไพร่เมืองนครลำปาง ๑๐๐๐ คน เมืองลำพูนไชยแต่งให้นายน้อยมหายศ คุมไพร่เมืองลำพูนไชย ๕๐๐ คน รวม ๒๕๐๐ คน ยกออกจากเมืองเชียงใหม่แต่ณวัน ฯ๓๔ ค่ำ € แลในเดือนสี่ปีจอฉศกนั้น เจ้าราชวงษ์ดาวเรือง บุตรเจ้าลำพูนไชยลังกา เจ้าราชบุตรน้อยสุริย บุตรเจ้าลำพูนลังกา นายอินทวิไชยบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เจ้าราชวงษ์ใจแก้ว นายน้อยธนัญไชย บุตร เจ้าวรญาณรังษี นายอาริยะ บุตรเจ้าอุปราชหมูล่า เมืองนครลำปาง ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการ ครั้นณวัน ๖ ค่ำ ศักราช ๑๒๓๗ ปีกุญสัปตศก ทรงพระมหากรุณา

๑๑๑ โปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์ดาวเรือง ขึ้นเปนที่เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจ วรโฆษกิติโสภณ วิมลคุณ หริภุญไชยมหาเจดีย์บูชากร ราษฎรธุระธาดาประดิษฐาธิบดี เจ้านครลำพูนไชย ตั้งนายน้อยสุริย เปนเจ้าอุปราชตั้งนายพิมพิสาร เปนเจ้าราชบุตรเมืองลำพูนไชย ตั้งราชวงษ์ใจแก้วเปนเจ้าอุปราช ตั้งนายน้อยธนัญไชย เปนเจ้าราชสัมพันธวงษ์เมืองนครลำปาง ตั้งนายอาริยะ เปนพระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมือง พเยา ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แต่เจ้าราชสัมพันธวงษ์นั้น พระราชทานเครื่องยศเหมือนเจ้าราชวงษ์ แลเจ้านครลำพูนไชย เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร เมืองลำพูนไชย เจ้าอุปราช เจ้าราชสัมพันธวงษ์ เมืองนครลำปาง พระยาประเทศอุตรทิศเจ้าเมืองพเยา ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย

€ ครั้นณเดือน ๑๐ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ ปี เจ้านครเชียงใหม่ มีศุภอักษรให้เจ้าอุปราช คุมช้างพลายเล็บครบลงมาถวายช้าง ๑ กับเจ้านครลำพูน แต่งให้เจ้าบุรีรัตน นายพรหม นายน้อยอินทยศ คุมช้างพลายสูง ๕ ศอก ๑๐ นิ้วช้าง ๑ สูง ๕ ศอก ๘ นิ้วช้าง ๑ ลงมาถวาย กับขอพระราชทานเจ้าบุรีรัตนเปนที่เจ้าราชวงษ์ นายน้อยพรหมเปนที่เจ้าบุรีรัตน นายน้อยอินทยศเปนพระยาไชยสงคราม กับเจ้านครลำปาง มีศุภอักษรลงมาขอเจ้าราชบุตรเปนที่เจ้าบุรีรัตน ขอพระยาวังซ้ายเปนที่เจ้าราชบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าบุรีรัตน เมืองนครลำพูน เปนที่เจ้าราชวงษ์ ตั้งนายพรหม เปนที่เจ้าบุรีรัตน

๑๑๒ เมืองนครลำพูน ตั้งนายน้อยอินทยศ เปนพระยาไชยสงคราม ตั้งเจ้าราชบุตรเมืองนครลำปาง เปนที่เจ้าบุรีรัตน แต่พระยาวังซ้ายนั้นโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าเปนแต่เทือกเถาท้าวพระยา หาควรจะตั้งขึ้นเปนเจ้าไม่ แต่เปนคนมีความชอบได้ราชการ โปรดให้มีเครื่องยศเหมือนกับเจ้าราชบุตร ได้พระราชทานสัญญาบัตรแลเครื่องยศเสร็จแล้ว เจ้าราชวงษ์ เจ้าบุรีรัตน พระยาไชยสงคราม เมืองนครลำพูน เจ้าบุรีรัตน พระยาวังซ้ายเมืองนครลำปาง พากันกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไป ณเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย


งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก