ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 4/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

หนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้ เดิมกรรมการหอพระสมุดได้อนุญาตให้อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่อ ภัทรนาวิก) ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พิมพ์แจกการปลงศพสนองคุณท่านพัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา บัดนี้ นายเล็ก เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร มาขออนุญาตพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ๕๐๐ ฉบับ แลยอมรับประพฤติตามข้อบังคับของหอพระสมุด กรรมการจึงอนุญาต

หนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้ต่อจาก ๓ ภาคซึ่งได้พิมพ์แล้วแต่ก่อน หนังสือประชุมพงษาวดารที่ได้พิมพ์มาแล้ว คือ

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉาได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดไนยวรนุชในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินิกูลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๓ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรพิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชรในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

หนังสือที่เรียกชื่อว่า ประชุมพงษาวดาร นี้ คือ หนังสือพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ ทั้งเก่าแลใหม่ซึ่งกรรมการเห็นว่า เปนหนังสือเรื่องดีหรือความแปลก จึงเก็บมารวบรวมพิมพ์ไว้ เพื่อรักษาหนังสือหายากมิให้เปนอันตรายหายสูญ แลให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ศึกษาโบราณคดีทั้งปวงโดยได้มีโอกาศอ่านทราบแลสอบสวนหนังสือซึ่งลี้ลับอยู่ให้สดวกทั่วกัน หนังสือพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ นี้หอพระสมุดฯ หาได้อยู่เนือง ๆ ถ้ามีเรื่องพอจะรวมเปนเล่มพิมพ์ได้ ก็รวบรวมพิมพ์เสียคราว ๑ เพราะเหตุนี้ จึงต้องจัดแบ่งเปนภาค ๆ ดังพิมพ์มาแล้ว แลต่อไปก็ตั้งใจจะทำเช่นนี้ เห็นว่า ดีกว่าจะรอไว้คอยไปไม่มีกำหนดจนรวบรวมร้อยกรองให้สำเร็จเปนเรื่องใหญ่แล้วจึงพิมพ์เฉภาะเรื่อง

หนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้มีพระราชพงษาวดารกรุงเก่าตามต้นฉบับหลวงเขียนครั้งกรุงธนบุรีเมื่อปีมเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ หรือที่เรียกกันในหอพระสมุดฯ โดยย่อว่า "ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖" เรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองละแวก ฉบับสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี (นักพระองค์เอง) พระเจ้ากรุงกำพูชาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรื่อง ๑ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร ณ กรุงเทพฯ) ปลัดมณฑลอิสาณแต่ง เรื่อง ๑ รวมเปนหนังสือพงษาวดาร ๓ เรื่องด้วยกัน หนังสือ ๓ เรื่องที่รวมพิมพ์ในภาคที่ ๔ นี้มีคุณวิเศษต่างกัน ควรอธิบายไว้ให้ผู้อ่านทราบในคำนำนี้เสียก่อน

พระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นายเสถียรรักษา (กองแก้ว มานิตยกุล) ต.จ. บุตรเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ให้แก่หอพระสมุดฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้มาแต่เล่ม ๓ เล่มสมุดไทยเดียว ซ้ำตัวหนังสือในเล่มสมุดนั้นลบเลือนก็หลายแห่ง ว่าโดยเรื่องพระราชพงษาวดาร ผิดกับฉบับอื่น มีฉบับพระราชหัตถเลขาเปนต้น แต่เล็กน้อย ข้อสำคัญของหนังสือฉบับนี้อยู่ที่สำนวนหนังสือเปนสำนวนแต่งครั้งกรุงเก่า เปนโครงเดิมของหนังสือพระราชพงษาวดารที่เราได้อ่านกันในชั้นหลัง พิมพ์ไว้ให้ผู้ศึกษาโบราณคดีเห็นหลักฐานในทางประวัติของการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เดิมโดยอันดับมาอย่างไร ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าเคยได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๕ แลเมื่อพิมพ์เล่ม ๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ต่อมา ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบหนังสือพระราชพงษาวดารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เห็นความที่กล่าวไว้แต่ก่อนจะเคลื่อนคลาดอยู่บ้าง ตามการที่ได้สอบสวนมาจนเวลานี้ เข้าใจว่า เรื่องประวัติหนังสือพระราชพงษาวดารจะมีมาเปนขั้น ๆ ดังนี้ คือ

๑. หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับแรกแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ พ.ศ. ๒๒๒๓ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้เรียกในหอพระสมุดฯ ว่า ฉบับหลวงประเสริฐ แลได้พิมพ์ไว้ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑ แล้ว

๒. ต่อมาในชั้นกรุงเก่านั้น เข้าใจว่า เห็นจะเปนในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ มีรับสั่งให้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารขึ้นอีกฉบับ ๑ คือ ฉบับที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้ ที่รู้ได้ว่า เปนหนังสือแต่งครั้งกรุงเก่า เพราะสำนวนที่แต่งเปนสำนวนเก่าใกล้เกือบจะถึงสำนวนที่แต่งพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แต่มิใช่ฉบับเดียวกัน ด้วยเรื่องซ้ำกัน แลความในฉบับหลังพิศดารกว่าฉบับหลวงประเสริฐ หนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับนี้เปนหลักฐานให้เข้าใจว่า เมื่อครั้งกรุงเก่านั้นมีหนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับ ๆ ความย่อแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชฉบับ ๑ ฉบับความพิศดารแต่งเมื่อราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐฉบับ ๑ ฉบับความย่อตั้งต้นเรื่องตั้งแต่สร้างพระเจ้าพนัญเชิง ฉบับความพิศดารจะตั้งต้นเรื่องตรงไหนรู้ไม่ได้ แต่ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เล่ม ๓ สมุดไทยความกล่าวในตอนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตอนปลาย เอาความข้อนี้เปนหลัก สันนิฐานว่า ฉบับพิศดารตั้งเรื่องตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุทธยา เห็นจะไม่ผิด

๓. เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บ้านเมืองเปนจลาจล หนังสือเปนอันตรายหายสูญเสียครั้งนั้นมาก ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับตั้งเปนอิศรได้ จึงให้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงเก่าทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ฉบับย่อที่แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชหาฉบับได้ในครั้งกรุงธนบุรีสิ้นเรื่องเพียงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ความที่กล่าวข้อนี้มีหลักฐาน ด้วยหอพระสมุดฯ ได้หนังสือพระราชพงษาวดารความย่อนั้นไว้ ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า หลวงประเสริฐหามาได้ อีกฉบับ ๑ เปนตัวฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี กรมพระสมมตอมรพันธุ์ประทาน เอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้สอบกันดู ความขึ้นต้นลงท้ายเท่ากัน จึงรู้ได้เปนแน่ว่า ครั้งกรุงธนบุรีหาฉบับได้เพียงเท่านั้นเอง ส่วนฉบับความพิศดารนั้นจะหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีกี่เล่มทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดฯ หาได้แต่ ๓ เล่ม แต่มีหลักฐานมั่นคงรู้ได้ว่า ในครั้งกรุงธนบุรีรวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงเก่าไม่ได้ฉบับครบ แลเข้าใจว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารไว้ ถ้าจะได้แต่งเพิ่มเติมในครั้งกรุงธนบุรีบ้างก็แต่เล็กน้อย

๔. มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พ.ศ. ๒๓๓๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับกรุงเก่าแลแต่งเติมที่บกพร่อง มีหนังสือพระราชพงษาวดารสำหรับพระนครบริบูรณ์ขึ้นในครั้งนั้น หนังสือพระราชพงษาวดารชุดนี้มีบานแพนกบอกปีแลการที่ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารไว้เปนหลักฐาน การชำระหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ เอาฉบับครั้งกรุงเก่าทั้งฉบับย่อแลฉบับพิศดารเปนหลัก เห็นจะระวังรักษาเรื่องของเดิมมาก ในตอนข้างต้นที่ไม่มีฉบับพิศดาร จึงคัดเอาฉบับย่อลงเต็มสำนวนโดยมาก ตอนที่มีฉบับพิศดารก็เปนแต่เอาฉบับเดิมมาแก้ไขถ้อยคำเพื่อจะให้เปนสำนวนเดียวกับที่ต้องแต่งใหม่ แต่ประโยคต่อประโยคยังคงกันอยู่โดยมาก ความที่กล่าวนี้ ถ้าผู้ใดเอาหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แลฉบับที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้ ไปสอบกับพระราชพงษาวดารความพิศดาร จะเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ก็ตาม ฉบับพระราชหัตถเลขาก็ตาม จะแลเห็นจริงได้ดังข้าพเจ้าว่า เพราะหนังสือพระราชพงษาวดารความพิศดารที่พิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับนั้นที่จริงเปนแต่แก้ไขหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับรัชกาลที่ ๑ ในที่บางแห่งเท่านั้น

ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าพลาดไปในความวินิจฉัยแต่ก่อนนั้น คือ ที่ไปเข้าใจว่า ได้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงธนบุรี เมื่อมาพิจารณาหนังสือมากเข้า เห็นว่า ครั้งกรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวมฉบับหนังสือครั้งกรุงเก่าที่พลัดพรายเข้าไว้ในหอหลวง ที่ได้มาแต่งให้พระราชพงษาวดารมีขึ้นบริบูรณ์สำหรับพระนครดังแต่ก่อนเปนการในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ควรเฉลิมเปนพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ได้ทรงรวบรวมแลชำระหนังสืออันเปนตำราสำหรับบ้านเมืองสำเร็จถึง ๓ อย่าง คือ สังคายนาพระไตรปิฎกอย่าง ๑ ชำระพระราชกำหนดกฎหมายอย่าง ๑ ชำระพระราชพงษาวดารอย่าง ๑ พระราชพงษาวดารที่ชำระในรัชกาลที่ ๑ นั้นไม่ใช่แต่ซ่อมแซมของเก่าที่ฉบับขาดอย่างเดียว ได้แต่งเรื่องพระราชพงษาวดารต่อลงมาจนถึงเสียกรุงเก่าด้วยอีกตอน ๑

๕. ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ จะเปนในปีใดยังไม่พบจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ให้ทรงชำระเรื่องพระราชพงษาวดารอีกครั้ง ๑ พระราชพงษาวดารที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระสำเร็จรูปเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ สังเกตดูทางสำนวนในตอนข้างต้นที่แต่งมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แล้วนั้น เปนแต่แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้เพราะขึ้น ส่วนตัวเรื่องพระราชพงษาวดารได้แต่งต่อมาอีกตอน ๑ เริ่มแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากกรุงเก่า จดไว้ในหนังสือฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ว่า แผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) แต่งเรื่องตลอดรัชกาลกรุงธนบุรี แลต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร จนถึงเจ้าพระยายมราชยกกองทัพออกไปเมืองทวายเมื่อปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ. ๒๓๓๕ ความที่กล่าวตอนนี้ไม่ต้องอ้างหลักฐาน ด้วยบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีทราบอยู่ทั่วกันแล้ว

๖. ต่อมา ถึงรัชกาลที่ ๔ ราวปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงช่วยกันชำระหนังสือพระราชพงษาวดารอีก ครั้ง ๑ ความข้อนี้มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเซอยอนเบาริงในปีนั้น มีสำเนาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องเมืองไทยที่เขาแต่ง เล่ม ๒ น่า ๔๔๔ การชำระครั้งรัชกาลที่ ๔ แก้ไขถ้อยคำเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนตัวเรื่องก็ได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติมในตอนที่แต่งมาแล้วหลายแห่ง แต่ไม่ได้ทรงแต่งเรื่องต่อ สำเร็จรูปเปนหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดชทรงพิมพ์เปนครั้งแรกเมื่อปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๗ พ.ศ. ๒๔๕๕

๗. ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพเมื่อปีมโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ ในปีนั้นเอง มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรต่อจากที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโรสได้ทรงแต่งค้างไว้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ท่านเก็บรวบรวมจดหมายเหตุต่าง ๆ เปนต้นว่า หมายรับสั่งแลท้องตราใบบอกหัวเมืองซึ่งมีอยู่ตามต่างกระทรวง ไปรวบรวมแต่งพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรขึ้นทั้ง ๔ รัชกาล แต่งแล้วถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงตรวจอิก ชั้น ๑ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หนังสือพระราชพงษาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่งทำเร็วเปนอัศจรรย์ หนังสือราว ๑๐๐ เล่มสมุดไทย แต่งแล้วได้ถวายภายใน ๒ ปี ต่อมาถึงปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๒๖๓ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้พิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ทรงพระราชดำริห์ว่า หนังสือที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่งไว้เปนด้วยรีบทำ ยังไม่เรียบร้อยควรแก่การพิมพ์ทีเดียว จึงมีรับสั่งให้ข้าพเจ้ารับน่าที่ตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรสำหรับการที่จะพิมพ์ตามพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าได้ตรวจชำระส่วนรัชกาลที่ ๑ สำเร็จ แลได้พิมพ์แต่ในปีนั้นรัชกาลที่ ๑ ครั้นตรวจมาถึงรัชกาลที่ ๒ เปนฉบับเดิมบกพร่องมากนัก เรื่องราวเหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๒ ยังมีอยู่ในหนังสืออื่น เปนหนังสือต่างประเทศโดยมาก ควรจะรวบรวมเรื่องตรวจเสียใหม่แล้วจึงค่อยพิมพ์จึงจะดี ด้วยเหตุนี้ประการ ๑ ประกอบกับที่ข้าพเจ้าติดธุระในตำแหน่งราชการมากด้วยอิกประการ ๑ การที่จะตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ จึงได้ค้างมา แต่ก็มิได้เสียเวลาเปล่า ด้วยในระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้เอาเปนธุระเสาะแสวงหาแลรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเนื่องด้วยพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ มาโดยลำดับ พึ่งมาได้ลงมือแต่งเมื่อปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๗๕ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดี๋ยวนี้หนังสือนั้นกำลังพิมพ์อยู่ ท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านในไม่ช้านัก ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดารเท่าที่ข้าพเจ้าทราบความมีดังอธิบายมานี้

หนังสือพงษาวดารเมืองละแวกนั้น ที่จริงเปนเรื่องพงษาวดารกรุงกัมพูชา มิใช่พงษาวดารเมืองละแวก ที่เรียกชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า พงษาวดารเมืองละแวก จะเปนด้วยได้หนังสือนี้มาจากเมืองละแวก หรือมิฉนั้น เรียกตามคติโบราณเมื่อเมืองละแวกเปนราชธานีของกรุงกัมพูชาเริ่มแต่สมัยเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุทธยา เรียก เมืองละแวก หมายความอันเดียวกันว่า กรุงกัมพูชา เหมือนอย่างเรียก กรุงศรีอยุทธยา หมายความว่า กรุงสยามทั่วไปฉนั้น ถึงในหนังสือพระราชพงษาวดารของเราที่แต่งมาแต่ครั้งกรุงเก่าก็เรียกชื่อโดยนิยมอย่างว่านี้ เช่น พระยาละแวกยกกองทัพเข้ามากวาดครัวแลรบพุ่งถึงในเมืองไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แลที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงลงไปตีเมืองละแวก จับพระยาละแวกได้ ให้ทำพิธีปฐมกรรม ก็หมายความว่า กรุงกัมพูชา ทั้งนั้น

หนังสือพงษาวดารเมืองละแวกที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้มีบานแพนกปรากฏรู้ได้ว่า นักพระองค์เอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเปนพระราชบุตรบุญธรรมาแต่ยังเยาว์ แลพระราชทานอภิเศกเปนสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยดม บรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราช บรมนารถบพิตร ออกไปครองกรุงกัมพูชาเมื่อปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีออกไปอยู่กรุงกัมพูชา ส่งหนังสือพงษาวดารฉบับนี้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย โปรดให้แปลเปนภาษาไทยสำเร็จเมื่อ ณ วันพฤหัศบดี เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๑๕๘ พ.ศ. ๒๓๓๙ คิดสันนิฐานดู เข้าใจว่า ในเวลานั้น หนังสือพงษาวดารเขมรจะไม่มีฉบับที่ดีอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่ออภิเศกสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีออกไปครองเมือง เห็นจะมีรับสั่งออกไปให้สืบหาหนังสือพงษาวดารเขมรส่งเข้ามาถวาย ในเวลานั้น กรุงกัมพูชาก็กำลังยับเยิน ด้วยถูกข้าศึกภายนอกเข้าไปตี แลเกิดเหตุจลาจลภายในติดต่อกันมากกว่า ๒๐ ปี สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีเที่ยวสืบเสาะหาหนังสือพงษาวดาร จึงได้แต่ฉบับนี้มาถวาย เปนฉบับอย่างย่อ แลข้อความไม่ถูกถ้วน แต่เชื่อได้ว่า เปนหนังสือพงษาวดารเขมรฉบับแรกที่ได้มาในครั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้ ต่อมา ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้นักพระองค์ด้วง โอรสสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ซึ่งได้เปน สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี สืบเสาะหาหนังสือพงษาวดารเขมรถวายอีกครั้ง ๑ สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีส่งพงษาวดารเขมรเข้ามาถวายอีกฉบับ ๑ เนื้อความถ้วนถี่ถูกต้องพิศดารดีกว่าพงษาวดารเมืองละแวกที่ได้มาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่า จะถึงรวบรวมหนังสือเก่าที่หาได้ แลมาประชุมพระยาพระเขมรแต่งเรื่องเพิ่มเติมต่อมา เพราะมีเรื่องพงษาวดารลงมาจนถึงปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ ตรงสมัยในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรนี้ หนังสือพงษาวดารเขมรฉบับที่ได้มาในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้แปลเปนภาษาไทยสำเร็จเมื่อ ณ วันพฤหัศบดี เดือน ๘ บุรพาสาธ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ แลได้พิมพ์แล้วในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑

ต่อมา เมื่อหาหนังสือรวบรวมเข้าหอพระสมุดวชิรญาณเมื่อตั้งเปนหอพระสมุดสำหรับพระนคร ข้าพเจ้าได้ให้สืบสวนที่กรุงกัมพูชาจะหาหนังสือพงษาวดารเขมรอีก ได้ความว่า ฉบับที่แปลครั้งรัชกาลที่ ๔ นี้เปนฉบับดีที่สุดที่เขามีอยู่ เขากลับถามว่า ที่ในกรุงเทพฯ นี้มีหนังสือพงษาวดารเขมรฉบับอื่นที่ดีกว่าฉบับนั้นบ้างหรือไม่ ถ้ามีขอให้ช่วยคัดให้ไปไว้สำหรับกรุงกัมพูชา ตามความที่ปรากฏดังแสดงมานี้เปนยุติได้ว่า หนังสือพงษาวดารเขมรที่แปลเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้นเปนพงษาวดารเขมรที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้

หนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ นี้เปนหนังสือใหม่ ทั้งการที่รวบรวมเรื่องแลการที่แต่ง หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเปนนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบชั้นแรก ได้เรียนวิชาความรู้สอบได้เต็มที่แล้ว จึงออกไปรับราชการ มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงอื่นก่อน แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงมหาดไทย สมัคออกไปรับราชการในมณฑลอิสาณ คือ ที่แบ่งเปนมณฑลอุบลราชธานีแลมณฑลร้อยเอ็จทุกวันนี้ แต่ครั้งพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเปนข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการรวมเปนมณฑลเดียวกัน ได้เปนตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยขึ้นไปจนได้เปนปลัดมณฑล ถ้าหากอยู่มาจนปานนี้ไม่สิ้นชีพเสีย ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า คงจะได้รับพระราชทานเกียรติยศแลบันดาศักดิสูงขึ้น แม้กล่าวในเหตุที่หม่อมอมรวงษ์วิจิตรสิ้นชีพ ผู้อ่านก็จะแลเห็นได้ว่า หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเปนผู้มีอัชฌาไศรยอย่างไร คือ เมื่อปีมแม นพศก จุลศักราช ๑๒๖๙ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดนซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้น เปนฤดูฝน ทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงษ์วิจิตรรับอาษาออกไป ก็ไปเปนไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเปนไข้ จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิศม์ไข้ไม่ได้ สิ้นชีพในระหว่างทางที่มาเมื่อ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความชอบของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า เมื่อหม่อมอมรวงษ์วิจิตรมีชีวิตรอยู่ ได้แบ่งเงินเดือนส่งเข้ามาเลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ผู้บิดาเสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์เท่าที่ได้เคยรับจากหม่อมอมรวงษ์วิจิตรทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็พระราชทานต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนภรรยาของหม่อมอมรวงษ์วิจิตรก็ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามพระราชบัญญัติฐานที่สามีไปสิ้นชีพในเวลาทำราชการ ยังหม่อมหลวงอุรา (คเนจร ณ กรุงเทพ) ซึ่งเปนบุตรชายใหญ่ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร บิดาได้ถวายเปนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมไว้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง เวลานี้ มียศเปน จ่า มีบันดาศักดิเปนที่ พระทรงพลราบ รับราชการอยู่ในกรมพระอัศวราช

หนังสือพงษาวดารมณฑลอิสาณนี้ไม่ได้มีผู้ใดสั่งให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่ง หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งโดยอำเภอใจในเวลาว่างราชการ ด้วยรักวิชาความรู้แลเจตนาจะให้เปนประโยชน์ต่อราชการบ้านเมือง เที่ยวสืบถามตามผู้รู้ในเวลาเที่ยวตรวจหัวเมืองบ้าง ดูจากหนังสือราชการที่มีอยู่ในมณฑลบ้าง แลอาไศรยหนังสือพงษาวดารต่าง ๆ ที่จะซื้อหาได้บ้าง เมื่อแต่งได้สักน่อย ๑ หม่อมอมรวงษ์วิจิตรมีราชการเข้ามากรุงเทพฯ ได้พาหนังสือนี้มามอบไว้ให้ข้าพเจ้าตรวจ ข้าพเจ้าตรวจแล้วส่งกลับไปให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งต่อจนสำเร็จ ได้ส่งเข้ามาให้ข้าพเจ้าครั้งหลังเมื่อก่อนหม่อมอมรวงษ์วิจิตรจะสิ้นชีพสักน่อย ๑ ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้ทำอย่างไร เปนแต่ให้เก็บรักษาหนังสือนั้นไว้ในกระทรวงมหาดไทย ครั้นเมื่อได้ข่าวว่า หม่อมอมรวงษ์วิจิตรสิ้นชีพ มารฦกขึ้นได้ถึงหนังสือเรื่องนี้ จำไม่ได้ว่า ส่งเข้ามาแล้วหรือยัง ให้ค้นหาในกระทรวง บังเอิญหนังสือนี้ไปซุกอยู่เสียผิดที่ หาไม่ได้ ให้ถามออกไปยังมณฑลก็ไม่ได้ความ จึงทอดธุระว่า จะหายสูญ มีความเสียดายมาช้านาน พึ่งมาค้นพบหนังสือนี้เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกระทรวงมหาดไทยไม่ช้านัก จึงได้ส่งต้นฉบับมารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครเพื่อจะได้พิมพ์ในโอกาศที่สมควร มีโอกาศจึงได้พิมพ์ในครั้งนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่า คำนำนี้ออกจะยืดยาวไปสักหน่อย แต่เรื่องราวกล่าวประวัติของหนังสือ แม้จะยาว ก็เปนส่วนข้างให้ความรู้ ข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวเล่าประวัติหม่อมอมรวงษ์วิจิตรผู้แต่งหนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณนั้น ข้าพเจ้ามีความประสงค์โดยเฉภาะที่เอาเรื่องหม่อมอมรวงษ์วิจิตรมากล่าวในที่นี้ ด้วยทุกวันนี้ ข้าราชการที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ออกไปรับราชการมีตำแหน่งอยู่ตามหัวเมืองก็มาก ถ้าใช้เวลาว่างในทางสืบเสาะพงษาวดารแลโบราณคดี หรือแม้จะเปนขนบธรรมเนียมในท้องที่ ๆ ไปอยู่ จดขึ้นไว้เล่นเช่นหม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ถึงจะทำได้ไม่มาก ทำเพียงเท่าที่รู้ที่เห็น เอาเวลาว่างใช้ในทางที่จะเกิดประโยชน์อย่างนี้บ้างดูก็จะดี ถึงอย่างต่ำก็ไม่มีโทษในที่ทั้งปวง

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘