พระราชบัญญัติจัดการศาลในสนามสถิตย์ยุติธรรม รัตนโกสินทร์ศก 111

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชบัญญัติ
คำปรารภ
ข้อ
  1. เลิกศาลอุทธรณ์คดีหลวง ให้ความอุทธรณ์ที่ยังค้างอยู่มารวมในศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์
  2. ตั้งศาลราชทัณฑ์พิเฉทให้พิจารณาความอาญาขึ้นอีกศาลหนึ่ง
  3. เลิกค่าเชิงประกัน
  4. เรียกค่าหมายเรียกแลหมายเกาะจำเลยฉบับละ 1 บาท
  5. เลิกกรมรับฟ้อง
  6. ให้ผู้มีคดียื่นฟ้องต่อศาล
  7. ผู้มีอรรถคดีจะให้การต่างฟ้องเองก็ได้ ฤๅจะให้ผู้รู้กฎหมายแต่งให้ก็ได้
  8. วิธีแต่งฟ้อง
  9. คดีไม่ควรรับไว้พิจารณา ให้ยกฟ้องเสีย ถ้าฟ้องบกพร่อง ให้คืนไปให้โจทย์แก้เสียให้ถูกต้อง
  10. โจทย์ทิ้งฟ้องไว้เกิน 15 วัน ให้ตัดสินยกฟ้องเสีย
  11. ฟ้องแย้งให้รวมพิจารณา แต่มิให้เอาฟ้องของจำเลยเปนคำให้การ ให้ทั้งสองฝ่ายให้การแก้ฟ้องกัน
  12. ฟ้องความอาญา โจทย์ต้องสาบาลตัว เว้นแต่กรมอัยการฟ้อง ไม่ต้องสาบาล
วันประกาศ

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
จัดการศาลในสนามสถิตย์ยุติธรรม
รัตนโกสินทร์ ๑๑๑

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๒๕ เดือนมีนาคม รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ ได้ยกศาลเดิมรวม ๑๖ ศาลซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ กับศาลฝ่ายพระราชวังบวรมารวมยังสนามสถิตย์ยุติธรรม แล้วแบ่งตั้งขึ้นใหม่เปนศาลอุทธรณ์ ๒ ศาล แลศาลต่ำ ๕ ศาล รวม ๗ ศาล ได้พิจารณาพิพากษาคดีเก่าที่คั่งค้างมาแต่ก่อน กับคดีที่ราษฎรร้องฟ้องกันในปีรัตนโกสินทร์ ๑๑๑ โดยรวดเร็วไปมากนัก ตามความที่ประจักษ์ในรายงานสารบบความแพ่งอาญาแลอุทธรณ์ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโศภน เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยลำดับสืบมา แลทรงพระราชดำริห์ว่า จำนวนความอุทธรณ์ที่คงค้างอยู่ในศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์แลศาลอุทธรณ์คดีหลวงนั้นมีอยู่น้อย จำนวนความอาญาที่คงค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั้นยังมีอยู่มากกว่าศาลอื่น ๆ หลายส่วน เพราะความเก่าที่ค้างมาจนปลายปีรัตนโกสินทร์ ๑๑๐ ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรมกับความที่ราษฎรฟ้องหากันขึ้นใหม่ก็มากอยู่แล้ว ทั้งความหัวเมืองทั้งปวงก็ส่งทับถมมารวมเข้าอีกเสมอไป จึ่งเปนการเหลือกำลังที่ศาลพระราชอาญาศาลเดียวจะพิจารณาพิพากษาให้แล้วทันกับความที่เกิดขึ้นใหม่ได้ อีกประการหนึ่ง กรมรับฟ้องซึ่งได้ตั้งขึ้นตามความในข้อ ๕ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ นั้น ก็ได้รับฟ้องของราษฎรทั้งปวงแลประทับส่งไปให้ศาลพิจารณาโดยถูกต้องตามพระธรรมนูญตลอดปีรัตนโกสินทร์ ๑๑๑ โดยเรียบร้อยดีอยู่ แต่บัดนี้ ทรงพระราชดำริห์เพื่อจะให้โอกาสแก่ราษฎรทั้งหลายผู้มีอรรถคดีได้ปฤกษาหาฤๅผู้รู้พระราชกำหนดกฎหมายเรียบเรียงคำฟ้องให้ถูกต้องแก่ความจริงอันเกิดขึ้นชอบด้วยตัวบทกฎหมายแล้ว ก็ไม่จำเปนจะต้องให้มีกรมรับฟ้องอีกต่อไป

เหตุอันนี้ ก็เป็นการสมควรแก่กาลสมัยที่จะต้องจัดแก้ไขธรรมเนียมรับฟ้องเสียใหม่ แลเปลี่ยนศาลให้พอแก่การพิจารณาคดีที่คั่งค้างอยู่มากแลน้อย อีกประการหนึ่ง ค่าธรรมเนียมค่าเชิงประกัน ๒ บาทซึ่งเรียกแก่โจทย์จำเลยตามพิกัดค่าธรรมเนียมศาลในข้อ ๗ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า ควรจะแก้ไขเสียด้วย จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันต่อไปดังนี้

ข้อ  ศาลอุทธรณ์คดีหลวงซึ่งตั้งขึ้นไว้ตามความในข้อ ๓ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ นั้น ให้ยกเลิกเสียตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนต้นไป แลบรรดาความอุทธรณ์ซึ่งยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์คดีหลวงนั้น ให้ยกมารวมพิจารณาในศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ต่อไป แลบรรดาความอุทธรณ์ซึ่งจะร้องฟ้องกันขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนต้นไปนั้น ความเดิมจะเปนคดีหลวงก็ดี คดีราษฎร์ก็ดี ก็ให้ฟ้องแลประทับไปยังศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ทั้งสิ้น ถ้าราษฎรผู้มีอรรถคดีจะฟ้องอุทธรณ์กล่าวโทษคำพิพากษาตัดสินของศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์แล้ว ก็ให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทีเดียวตามความในข้อ ๖ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ นั้น

ข้อ  ศาลพระราชอาญามีอยู่ศาลเดียว ยังไม่พอแก่การพิจารณาความอาญาที่ยังคงค้างอยู่แลที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกต่อไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลเพิ่มขึ้นอีกศาลหนึ่ง ให้เรียกนามว่า ศาลราชทัณฑ์พิเฉท แลให้ศาลพระราชอาญาแลศาลราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้เปนกระทรวงพิจารณาพิพากษาตัดสินความอาญาทั้งปวง แลความอาญาที่คงค้างอยู่ในศาลพระราชอาญานั้นก็ให้แบ่งแยกมาพิจารณาในศาลราชทัณฑ์พิเฉทด้วยตามสมควร บรรดาความอาญาซึ่งจะร้องฟ้องกันขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนต้นไปนั้น ให้แบ่งประทับไปยังศาลพระราชอาญาแลศาลราชทัณฑ์พิเฉททั้งสองนี้ตามพระธรรมนูญ

ข้อ  ค่าธรรมเนียมค่าเชิงประกัน ๒ บาทซึ่งเรียกแต่ราษฎรผู้ต้องคดีในศาลหัวเมืองทั้งปวง ศาลกองตระเวน ศาลในสนามสถิตย์ยุตธรรม แลศาลข้าหลวง ศาลอุทธรณ์ แลศาลฎีกา ดังที่กำหนดไว้ในพิกัดค่าธรรมเนียมศาลในข้อ ๗ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ นั้น ให้ยกเลิกเสีย ถ้าแลศาลจะบังคับให้ผู้ต้องคดีหาประกันแลรับเรือนตามกฎหมายแล้ว ก็ให้ผู้ต้องคดีฤๅผู้ประกับผู้รับเรือนทำหนังสือประกันหนังสือรับเรือนให้ไว้แก่ตุลาการณศาลนั้นตามเดิม แต่ห้ามมิให้ศาลทั้งปวงซึ่งกล่าวชื่อมาแล้วนี้เรียกเงินค่าเชิงประกันแก่ผู้ต้องคดีเปนอันขาด

ข้อ  ถ้าศาลในหัวเมืองทั้งปวง ศาลกองตระเวน ศาลในสนามสถิตย์ยุติธรรม แลศาลข้าหลวง ศาลอุทธรณ์ แลศาลฎีกา ฤๅศาลใดศาลหนึ่งซึ่งจะได้ตั้งขึ้นอีกต่อไปภายน่า จะออกหมายเรียก หมายเกาะ ฤๅหมายจับจำเลยฤๅคนใดคนหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องต้องคดีอยู่ในศาลนั้น ก็ให้ศาลเรียกค่าธรรมเนียมออกหมายแต่โจทย์ผู้ซึ่งกล่าวหาคดีแลเปนผู้มาขอให้ศาลออกหมายนั้น ฉบับละ ๑ บาท

ข้อ  กรมรับฟ้องสนามสถิตย์ยุติธรรมซึ่งได้ตั้งขึ้นไว้ตามความในข้อ ๕ แห่งประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ นั้น ให้ยกเลิกเสียตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนต้นไป

ข้อ  ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนต้นไป ให้ราษฎรทั้งหลายผู้มีอรรถคดีซึ่งเปนความแพ่ง ความอาญา แลความอุทธรณ์ มาฟ้องต่อศาลสนามสถิตย์ยุติธรรมศาลใดศาลหนึ่งสุดแต่มูลคดีของตนจะเปนกระทรวงของศาลนั้นได้พิจารณาตามพระธรรมนูญ แลให้บรรดาศาลทั้งปวงณสนามสถิตย์ยุติธรรมตั้งจ่าศาลไว้เปนเจ้าพนักงานรับฟ้องสำหรับศาลจงทุก ๆ ศาล เพื่อได้รับฟ้องของราษฎรผู้มีอรรถคดีแลนำขึ้นเสนอต่อผู้พิพากษาศาลนั้นจะได้ตรวจแลสั่งประทับให้เปนฟ้องได้ตามพระธรรมนูญ

ข้อ  ราษฎรทั้งหลายผู้มีอรรถคดีจะปฤกษาหาฤๅผู้รู้กฎหมายให้เรียบเรียงแต่งฟ้องให้ตนตามมูลคดีที่ตนเชื่อว่าเปนความสัตย์จริงให้ถูกต้องชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายก็ได้ แล้วให้นำมายื่นต่อศาล ฤๅจะมาให้การต่างฟ้องต่อจ่าศาลก็ได้ ให้จ่าศาลเรียบเรียงขึ้นเปนฟ้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฟ้องฉบับใดซึ่งราษฎรผู้มีอรรถคดีให้ผู้รู้กฎหมายเรียบเรียงแต่งให้นั้นต้องให้ผู้แต่งแลผู้เขียนลงลายมือเขียนชื่อของตนมาในท้ายฟ้องด้วยตามความในประกาศว่าด้วยลงชื่อผู้แต่งผู้เขียนหนังสือฟ้องเรื่องราวแลฎีกา รัตนโกสินทร์ ๑๑๐

ข้อ  ในฟ้องทุก ๆ ฉบับนั้นต้องกล่าวข้อความดังนี้ คือ

(๑) นามศาลซึ่งโจทย์มายื่นฟ้อง

(๒) ชื่อตัวฤๅชื่อยศของโจทย์ กับสังกัดมูลนาย แลตำบลบ้านที่อยู่อาไศรย

(๓) ชื่อตัวฤๅชื่อยศของจำเลย กับสังกัดมูลนาย แลตำบลบ้านที่อยู่อาไศรยตามที่โจทย์สืบรู้ได้

(๔) สรรพเหตุการต่าง ๆ ซึ่งให้เกิดมูลคดีพิพาท เมื่อใดแล ณ ที่ใดให้กล่าวแต่ใจความให้ชัดเจน แลวแบ่งแยกออกเปนข้อหาเรียงเปนลำดับข้อ ๑ ข้อ ๒ ฯลฯ ไปแต่โดยสังเขป ซึ่งโจทย์เชื่อแน่แก่ใจว่า เปนความจริงอาจสืบพยานให้สมได้ในเวลาพิจารณา

(๕) ในท้ายฟ้อง ให้มีคำร้องขอให้ศาลพิจารณพิพากษาตัดสินประการใดตามกฎหมายแลยุติธรรมก็สุดแต่ความประสงค์ของโจทย์

ถ้าในฟ้องจะอ้างถึงสรรพหนังสือ เอกสารสำคัญ ฤๅสารบบบาญชีใด ๆ ก็ให้คัดสำเนาติดมากับท้ายฟ้อง ห้ามมิให้เขียนลงในฟ้องเปนอันขาด

ข้อ  ถ้าศาลตรวจดูฟ้องซึ่งโจทย์แต่งมาเองเห็นว่า มูลคดีที่กล่าวหาในฟ้องนั้นไม่เปนคดีอันควรรับไว้พิจารณาตามกฎหมาย ก็ให้ตัดสินยกฟ้องเสียทีเดียว ไม่ต้องออกหมายเรียกจำเลยมาแก้คดี แลให้ค่าธรรมเนียมรับฟ้องเปนภัพแก่โจทย์ไป เว้นแต่ฟ้องที่โจทย์มาให้การต่างฟ้องต่อศาลซึ่งจ่าศาลเรียบเรียงแต่งให้นั้น ค่าธรรมเนียมรับฟ้องจึ่งไม่เปนภัพแก่โจทย์ ควรให้ศาลคืนให้แก่โจทย์ไป

ถ้าศาลตรวจดูฟ้องซึ่งโจทย์แต่งมาเองเห็นว่า มูลคดีที่กล่าวหาควรรับไว้พิจารณาได้ตามกฎหมายแล้ว แต่ข้อหายังบกพร่องอยู่ ฤๅกล่าวความไม่ชัดเจนเคลือบคลุมสงไสยประการใด ก็ให้ศาลคืนฟ้องให้โจทย์ไปแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องชัดเจนดีแล้วจึ่งรับไว้พิจารณา

ข้อ ๑๐ ถ้าศาลรับฟ้องไว้แล้ว โจทย์เพิกเฉยทิ้งฟ้องเสียไม่นำหมายเรียกจำเลยฤๅไม่ร้องตักเตือนให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยแต่ในกำหนด ๑๕ วันนับตั้งแต่วันศาลรับฟ้องไว้เปนต้นไป ก็ให้ศาลตัดสินยกฟ้องเสีย แล้วให้โจทย์เสียค่าธรรมเนียมตัดสินจงเต็ม แต่ก่อนวันที่ศาลจะตัดสินยกฟ้องเสียนั้น ให้ศาลออกหมายบอกโจทย์ให้รู้ล่วงน่าเสีย ๓ วันก่อนว่า ถ้าโจทย์ไม่มานำหมายเรียกจำเลยฤๅขอให้ออกหมายเรียกจำเลยแต่ในกำหนดแล้ว ศาลก็จะตัดสินยกฟ้องเสียตามกฎหมาย แล้วให้โจทย์ค่าธรรมเนียมออกหมายนี้ด้วย

ข้อ ๑๑ ถ้าราษฎรสองฝ่ายต่างคนต่างมาฟ้องแย้งกล่าวโทษกันในศาลเดียววันเดียวกัน ก็ให้ศาลรับฟ้องไว้ทั้งสองฉบับรวมพิจารณาเปนคดีสำนวนเดียวกัน แล้วให้ศาลตรวจดูฟ้องฝ่ายใดควรเปนโจทย์ฝ่ายใดควรเปนจำเลย ก็ให้ปฤกษาตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งเปนโจทย์ฝ่ายหนึ่งเปนจำเลยตามพระราชกำหนดกฎหมาย แต่ห้ามมิให้เอาฟ้องของฝ่ายจำเลยเปนคำให้การแก้ฟ้องของโจทย์เปนอันขาด ให้ฟ้องทั้งสองฉบับคงเปนฟ้องอยู่ตามเดิม แล้วให้ศาลบังคับให้โจทย์จำเลยทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างให้การแก้ฟ้องกันเหมือนดังความสองสำนวนฉนั้น

ข้อ ๑๒ บันดาฟ้องที่กล่าวหาเปนความอาญาแล้ว ให้ศาลบังคับโจทย์ให้สาบาลตัวเสียก่อนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยบังคับโจทย์ให้สาบาลก่อนฟ้องความอาญา รัตนโกสินทร์ ๑๑๑ เว้นไว้แต่ความอาญาซึ่งเปนน่าที่ของกรมอัยการฟ้องเปนโจทย์เท่านั้น เจ้าพนักงานกรมอัยการผู้ฟ้องไม่จำเปนต้องสาบาลตามพระราชบัญญัติที่กล่าวชื่อมานี้ แต่ถ้ามีพยานคนใดคนหนึ่งผู้รู้ว่า มูลคดีที่กรมอัยการฟ้องหาเปนความอาญานั้นเปนความจริง เจ้าพนักงานกรมอัยการจะนำพยานผู้นั้นมาสาบาลเหมือนดังตัวโจทย์ก็ได้

ประกาศมาณวันที่ ๓๑ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ๑๑๑ เปนวันที่ ๘๙๐๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"