พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชบัญญัติ
ภาษีการรับมรดก
พ.ศ. ๒๕๕๘[1]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยภาษีการรับมรดก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓

พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

(๒) มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก

มาตรา ๔

ในพระราชบัญญัตินี้

“ภาษี” หมายความว่า ภาษีการรับมรดกที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้

“ประเทศไทย” หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทย

“เจ้าพนักงานประเมิน” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการเพื่อทําหน้าที่ประเมินภาษี

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป

มาตรา ๖

การจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

มาตรา ๗

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้แทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๘

กําหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือแจ้งรายการต่าง ๆ การอุทธรณ์และการเสียภาษีตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกําหนดเวลาดังกล่าวมีเหตุจําเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกําหนดเวลาได้หรือมิได้อยู่ในประเทศไทย อธิบดีจะอนุญาตให้เลื่อนกําหนดเวลาออกไปอีกตามความจําเป็นแก่กรณีก็ได้

ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเป็นการทั่วไปที่จะทําให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อาจปฏิบัติภายในกําหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ได้ อธิบดีจะประกาศขยายกําหนดเวลาออกไปตามสมควรจนกว่าเหตุดังกล่าวจะหมดสิ้นไปก็ได้ และเมื่อได้ขยายกําหนดเวลาออกไปแล้ว ให้ถือว่ากําหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นเป็นกําหนดเวลาที่กําหนดตามพระราชบัญญัตินี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนหรือขยายกําหนดเวลาของอธิบดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙

เอกสารที่มีถึงบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนําไปส่ง ณ ภูมิลําเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสํานักงานของบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทําการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลําเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสํานักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทํางานในบ้านหรือสํานักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้

ในกรณีที่ไม่สามารถส่งเอกสารตามวิธีที่กําหนดในวรรคหนึ่ง หรือบุคคลนั้นออกไปนอกประเทศไทยให้ใช้วิธีปิดหมายเอกสารนั้นในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่หรือสํานักงานของบุคคลนั้น หรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือจะโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จําหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้น หรือโดยวิธีการอื่นใดตามที่อธิบดีกําหนดก็ได้

เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันได้รับเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา ๑๐

เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกําหนดเวลาที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

หมวด ๒
การเสียภาษี

มาตรา ๑๑

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ ให้บุคคลผู้ได้รับมรดกดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(๑) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย

(๒) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๓) บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แตได่ ้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ให้ถือว่านิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือมีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอํานาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอํานาจบริหารกิจการทั้งหมด เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

ในกรณีตาม (๓) ถ้าในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่เป็นมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย แม้ภายหลังจะเปลี่ยนสภาพอย่างใด ก็ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย และผู้ได้รับมรดกนั้นยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา ๑๒

รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจลดหรือยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลตามสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเกี่ยวกับการรับมรดกท่ีรัฐบาลไทยได้ทําไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๒

ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราวถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท

มูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่ง หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น

ให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่งทุกห้าปี โดยนําอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คํานวณเพื่อใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยโดยการกําหนดมูลค่ามรดกขึ้นใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๑๓

บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

(๒) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

(๓) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

ทั้งนี้ เฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวจะกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๑๔

มรดกซึ่งต้องเสียภาษี ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(๑) อสังหาริมทรัพย์

(๒) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(๓) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้

(๔) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน

(๕) ทรัพย์สินทางการเงินที่กําหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

กรณีผู้ได้รับมรดกตามมาตรา ๑๑ (๑) และ (๒) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทย และกรณีผู้ได้รับมรดกตามมาตรา ๑๑ (๓) ให้เสียภาษีเฉพาะจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๕

การคํานวณมูลค่าของทรัพย์สินให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง

(๒) กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทําการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก

(๓) กรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กําหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจง

ถ้าจําเป็นต้องคํานวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมสรรพากรประกาศกําหนด

มาตรา ๑๖

ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคํานวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา ๑๒ แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละห้า

หมวด ๓
การยื่นแบบ การชําระภาษี และการประเมินภาษี

มาตรา ๑๗

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีตามแบบที่อธิบดีกําหนด ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นและชําระ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกําหนด

เมื่อเจ้าหน้าที่ของสํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้รับแบบแสดงรายการภาษีแล้ว ให้ส่งต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเร็ว และให้เจ้าพนักงานประเมินดําเนินการประเมินภาษีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มและได้ชําระภาษีภายในกําหนดเวลาตามมาตรา ๒๒ มิให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม เว้นแต่การต้องเสียภาษีเพิ่มนั้นเกิดจากรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ

ระยะเวลาหนึ่งปีตามวรรคสาม เมื่อมีเหตุอันจําเป็นและสมควรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นการเฉพาะกรณีก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี

มาตรา ๑๘

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายก่อนครบกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งโดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา ๓๑ แทนผู้ตายภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งโดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ สําหรับเงินเพิ่มให้คํานวณนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งจนถึงวันที่ชําระภาษีครบถ้วน

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งแล้ว โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแทนโดยให้ดําเนินการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งสําหรับเบี้ยปรับให้เสียหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชําระ เว้นแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีภายหลังกําหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องชําระ สําหรับเงินเพิ่มให้คํานวณตั้งแต่วันที่ครบกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชําระภาษีครบถ้วน

เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องไม่เกินเงินภาษีที่ต้องชําระ

ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนใดคนหนึ่งจะดําเนินการเองก็ได้ภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๙

ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถึงแก่ความตาย หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกดําเนินการแทนตามมาตรา ๑๘ ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ และให้นําความในมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษี ให้กระทําภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ในกรณีมีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกดําเนินการต่อไป

เมื่อพ้นกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากไม่มีผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีตามมาตรานี้ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจประเมินภาษีตามมาตรา ๒๐ ได้

มาตรา ๒๐

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗ เจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจประเมินภาษี เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด โดยให้มีอํานาจประเมินภาษีได้ภายในกําหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี

มาตรา ๒๑

เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๔ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้แทนหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา กับมีอํานาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นําบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวตอบคําถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกหรือได้รับคําสั่ง

มาตรา ๒๒

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีแล้ว ให้แจ้งการประเมินภาษีนั้นเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี และให้ผู้นั้นชําระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้ามี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีก็ได้

มาตรา ๒๓

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชําระภาษีภายในเวลาไม่เกินห้าปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา และเมื่อได้ชําระภาษีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ในกรณีที่ผ่อนชําระภาษีเกินสองปีจะกําหนดให้ต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วนตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้

มาตรา ๒๔

ในกรณีที่ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ชําระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือได้ชําระไว้เกินกว่าที่ต้องเสีย ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษี

ให้ผู้มสีิทธิได้รับคืนภาษีตามวรรคหนึ่งยื่นคําร้องขอรับคืนภาษีพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานภายในห้าปีนับแต่วันชําระภาษีทั้งหมด ต่อเจ้าหน้าที่ของสํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนด

ให้เจ้าหน้าที่ของสํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาซึ่งรับคําร้องไว้ ส่งคําร้องพร้อมเอกสารหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเร็ว และให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้อง และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคําร้องทราบภายในสิบห้าวันนับแต่การตรวจสอบแล้วเสร็จ และในกรณีที่ต้องมีการคืนภาษี ให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ

ในการขอรับคืนภาษี ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่คืน

เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตรวจสอบการขอคืนภาษี ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจประเมินภาษีได้ภายในระยะเวลาที่กําหนดในมาตรานี้

มาตรา ๒๕

ภาษีซึ่งต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อถึงกําหนดชําระแล้ว ถ้ามิได้เสียให้ถือเป็นภาษีค้าง

เพื่อให้ได้รับชําระภาษีค้าง ให้อธิบดีมีอํานาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อํานาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรภาคสําหรับการดําเนินการภายในเขตท้องที่ก็ได้

วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกําหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว ให้หักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาดและเงินภาษีค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ผู้มีอํานาจตามวรรคสองมีอํานาจ

(๑) ออกหมายเรียกผู้ต้องรับผิดชําระภาษีค้างและบุคคลใดๆ ที่มีเหตุสมควรเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีค้างมาให้ถ้อยคํา

(๒) สั่งบุคคลดังกล่าวใน (๑) ให้นําบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันจําเป็นแก่การจัดเก็บภาษีค้างมาตรวจสอบ

การดําเนินการตามวรรคห้า ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคําสั่ง

หมวด ๔
การอุทธรณ์

มาตรา ๒๖

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีทั้งนี้ โดยยื่นตามแบบ ณ สถานที่ที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คณะกรรมการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน เป็นประธานผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง เป็นกรรมการ

คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ระยะเวลาดังกล่าวอธิบดีจะอนุมัติให้ขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน เมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่ต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว

คําวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ทําเป็นหนังสือ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคําวินิจฉัย

ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคําวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคําวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์

มาตรา ๒๗

การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษี เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคําวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคําพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชําระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคําพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่มีคําวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชําระภายในกําหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่มีคําวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคําพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียน้อยลง ให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีที่ต้องคืนให้แก่ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฟ้องคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคําวินิจฉัยหรือคําพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

มาตรา ๒๘

เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์มีอํานาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๑

หมวด ๕
เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

มาตรา ๒๙

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณีและอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกําหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชําระ

(๒) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จํานวนภาษีที่ต้องเสียขาดไปให้เสียเบี้ยปรับอีกศูนย์จุดห้าเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม

มาตรา ๓๐

เบี้ยปรับตามพระราชบัญญัตินี้ อาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนถึงเหตุแห่งการงดหรือลดเบี้ยปรับ โดยคํานึงถึงความสุจริตและเหตุจําเป็นของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสําคัญ

มาตรา ๓๑

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ บุคคลใดไม่ชําระภาษีให้ครบถ้วนภายในกําหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชําระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ

ในกรณีที่ได้มีการอนุญาตให้เลื่อนกําหนดเวลาการชําระภาษี และได้มีการชําระภาษีภายในกําหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละศูนย์จุดเจ็ดห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือน

การคํานวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกําหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีจนถึงวันที่ชําระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คํานวณได้มิให้เกินจํานวนภาษีที่ต้องชําระ

มาตรา ๓๒

เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นเงินภาษี

หมวด ๖
บทกําหนดโทษ

มาตรา ๓๓

ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา ๑๗ โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๓๔

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคําถามของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๒๑ หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๘หรือไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคําสั่งของผู้มีอํานาจตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๓๕

ผู้ใดทําลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่แสนบาท

ในกรณีผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล หากกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นได้มีส่วนในการกระทําความผิดของนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย

มาตรา ๓๖

เจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รู้ข้อมูลของผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง นําออกแจ้งแก่บุคคลใดหรือทําให้รู้โดยวิธีใด หรือปล่อยปละละเลยให้ข้อมูลดังกล่าวรู้ถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องรู้ โดยไม่มีอํานาจกระทําได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

มาตรา ๓๗

ผู้ใด

(๑) โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคําเท็จ หรือตอบคําถามด้วยถ้อยคําอันเป็นเท็จ หรือนําพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) โดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๓) แนะนําหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทําการตาม (๑) หรือ (๒)

ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๓๘

บรรดาความผิดตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ให้อธิบดีมีอํานาจเปรียบเทียบได้

ถ้าผู้มีหน้าที่เสียภาษีชําระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่อธิบดีกําหนดแล้ว มิให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดนั้น

ถ้าอธิบดีเห็นว่าไม่ควรใช้อํานาจเปรียบเทียบ หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้วผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือยอมแล้วแต่ไม่ชําระค่าปรับภายในระยะเวลาที่ผู้มีอํานาจเปรียบเทียบกําหนดให้ดําเนินการฟ้องร้องต่อไป และในกรณีนี้ห้ามมิให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามกฎหมายอื่นอีก

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจํานวนมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรที่จะจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจํานวนมากเพื่อนําไปพัฒนาประเทศและยกระดับการดํารงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยมิให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควรแก่การดํารงชีพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๗๒ ก/หน้า ๑/๕ สิงหาคม ๒๕๕๘

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"