พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531

จาก วิกิซอร์ซ


เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๖

๘ ธันวาคม ๒๕๓๑
ฉบับพิเศษ หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๑

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑
เป็นปีที่ ๔๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕

(๒) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙

(๓) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙

(๔) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๐

(๕) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๘ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

(๖) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๖

บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา  ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นนิติบุคคล

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

"มหาวิทยาลัย" หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"สภามหาวิทยาลัย" หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มาตรา  ให้รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ประกาศทบวงมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา  ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

มาตรา  มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนราชการดังนี้

(๑) สำนักงานอธิการบดี

(๒) บัณฑิตวิทยาลัย

(๓) คณะ

(๔) วิทยาลัย

(๕) แผนกอิสระ

มหาวิทยาลัยอาจให้มีสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามมาตรา ๗ เป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอีกก็ได้

มาตรา  สำนักงานอธิการบดีอาจแบ่งส่วนราชการเป็นกอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

บัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย แผนกอิสระ อาจแบ่งส่วนราชการเป็นภาควิชา กอง สำนักงานเลขานุการ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือกอง

สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะตามมาตรา ๘ วรรคสอง อาจแบ่งส่วนราชการเป็นกอง สำนักงานเลขานุการ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

กอง สำนักงานเลขานุการ และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง อาจแบ่งส่วนราชการเป็นงาน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่างาน

มาตรา ๑๐ การจัดตั้ง การรวม การยุบเลิกสำนักงานอธิการบดี บัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย แผนกอิสระ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะตามมาตรา ๘ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

การแบ่งส่วนราชการเป็นภาควิชา กอง สำนักงานเลขานุการ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือกอง ให้ทำเป็นประกาศทบวงมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๑ ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ มหาวิทยาลัยจะรับสถาบันการศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันวิจัยอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยนั้นได้

การรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยเข้าสมทบ หรือการยกเลิกการสมทบของสถาบันดังกล่าว ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

การควบคุมสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยที่เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๒ นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยมีรายได้และทรัพย์สินดังนี้

(๑) เงินผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(๒) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นผู้ปกครอง ดูแล หรือใช้ประโยชน์

(๓) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย

(๔) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น ๆ

ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ

รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๑๓ บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จะต้องจัดการเพื่อประโยชน์ภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗

เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย จะต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้ให้กำหนดไว้และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย


มาตรา ๑๔ ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(๑) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(๒) อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่อธิการบดีโดยตำแหน่ง

(๓) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนเก้าคน ซึ่งเลือกตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๘ วรรคสอง

(๔) ประธานสภาอาจารย์โดยตำแหน่ง และกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกหกคน ซึ่งเลือกตั้งจากคณาจารย์ประจำผู้ได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๓)

(๕) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนสองคน ซึ่งเลือกตั้งจากข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป ที่มิใช่คณาจารย์ประจำ และมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๓)

(๖) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสี่คน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๓) (๔) และ (๕)

มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๔ (๓) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๘ วรรคสอง เป็นผู้เลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๔ (๔) ซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ให้คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเป็นผู้เลือกตั้ง และการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๔ (๕) ให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่มิใช่คณาจารย์ประจำเป็นผู้เลือกตั้ง

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๖ นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีวาระอยู่ในตำแหน่งสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรืออาจได้รับเลือกตั้งใหม่อีกก็ได้

กรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๔ (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยใน ประเภทนั้น ๆ

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือทำการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว หรือในกรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๔ (๖) เพิ่มขึ้น ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งหรือผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือเลือกตั้งไว้ก่อนแล้วนั้น

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือทำการเลือกตั้งขึ้นใหม่ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๗ ให้รองอธิการบดีเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีรองอธิการบดีหลายคน ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของอธิการบดี

มาตรา ๑๘ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะ ให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

(๒) วางระเบียบและออกข้อบังคับต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และอาจมอบให้ส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วางระเบียบและออกข้อบังคับสำหรับส่วนราชการนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้

(๓) พิจารณาเสนอจัดตั้ง รวม และยุบเลิกบัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย แผนกอิสระ สถาบัน สำนัก ศูนย์ ภาควิชา และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา

(๔) อนุมัติการรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยเข้าสมทบหรือยกเลิกการสมทบของสถาบันดังกล่าว

(๕) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยและมาตรฐานที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด

(๖) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร

(๗) แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ รองหัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา และศาสตราจารย์เกียรติคุณ

(๘) ดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอน อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

(๙) พิจารณาอนุมัติงบประมาณจากรายได้ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๒

(๑๐) วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงาน การเงิน และการจัดหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินตามมาตรา ๑๒

(๑๑) แต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ ให้รักษาราชการแทนอธิการบดี ในกรณีที่ตำแหน่งอธิการบดีว่างลง

(๑๒) แต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

(๑๓) มีอำนาจและหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

มาตรา ๑๙ การประชุมสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๐ ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือมีทั้งรองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี คนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อช่วยกิจการที่อธิการบดีมอบหมาย

ให้ถือว่า อธิการบดีเป็นอธิบดี และรองอธิการบดีเป็นรองอธิบดี ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยและกฎหมายอื่น

มาตรา ๒๑ อธิการบดีนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓ โดยคำแนะนำของอธิการบดี

ให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้ช่วยอธิการบดีจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓ และให้มีอำนาจถอดถอนผู้ช่วยอธิการบดีด้วย

เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๒๒ อธิการบดีต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(๑) ได้ปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือ

(๒) ได้ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี

มาตรา ๒๓ รองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับอธิการบดี หรือเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

ผู้ช่วยอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติได้ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง

มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ตำแหน่งอธิการบดีว่างลง ในระหว่างที่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี

ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคน ให้รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมายให้รองอธิการบดีผู้ใดรักษาราชการแทน ให้รองอธิการบดีที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้รักษาราชการแทนตามความในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี

มาตรา ๒๕ อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ในการนี้ ให้มีอำนาจออกระเบียบ คำสั่ง และประกาศได้

(๒) ควบคุมการเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ระเบียบ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

(๓) เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั่วไป

(๔) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๕) มีอำนาจและหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

มาตรา ๒๖ ให้มีสภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ประธานสภาอาจารย์ และกรรมการสภาอาจารย์ซึ่งเลือกตั้งจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่ออธิการบดี และหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรือ อธิการบดีมอบหมาย

จำนวนกรรมการ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งและการดำเนินงานของสภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๗ ในบัณฑิตวิทยาลัย ให้มีคณบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของบัณฑิตวิทยาลัย และอาจมีรองคณบดีคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อช่วยกิจการที่คณบดีมอบหมาย

ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณบดีจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘

ให้คณบดีเป็นผู้เสนอการแต่งตั้งรองคณบดีจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๙ ต่อสภามหาวิทยาลัย

ให้คณบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

เมื่อคณบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๒๘ คณบดีในบัณฑิตวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(๑) ได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และ

(๒) ได้ทำการสอนมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง

มาตรา ๒๙ รองคณบดีในบัณฑิตวิทยาลัยต้องได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และ

(๑) ได้ทำการสอนมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือ

(๒) เป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

มาตรา ๓๐ ในบัณฑิตวิทยาลัย ให้มีคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยคณะหนึ่ง มีอำนาจและหน้าที่บริหารงานของบัณฑิตวิทยาลัย และอาจให้มีคณะกรรมการอื่นที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติงานต่าง ๆ ของบัณฑิตวิทยาลัยตามที่สภามหาวิทยาลัยเห็นสมควรอีกก็ได้

การกำหนดองค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ รวมทั้งวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยตลอดจนคณะกรรมการอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๑ ในคณะและวิทยาลัย ให้มีคณบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะและวิทยาลัย และอาจมีรองคณบดีคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อช่วยกิจการที่คณบดีมอบหมาย

ในแผนกอิสระ ให้มีหัวหน้าแผนกอิสระคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของแผนกอิสระ และอาจมีรองหัวหน้าแผนกอิสระคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อช่วยกิจการที่หัวหน้าแผนกอิสระมอบหมาย

วิธีการแต่งตั้ง การถอดถอน คุณสมบัติ และวาระการดำรงตำแหน่งของคณบดีหรือหัวหน้าแผนกอิสระ รองคณบดีหรือรองหัวหน้าแผนกอิสระ ให้นำมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๒ ในคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ให้มีคณะกรรมการประจำคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ประกอบด้วย คณบดีหรือหัวหน้าแผนกอิสระเป็นประธาน รองคณบดีหรือรองหัวหน้าแผนกอิสระ หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ถ้ามี เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำ ศาสตราจารย์พิเศษ อาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษในคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น มีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการโดยตำแหน่ง

ในกรณีที่ไม่มีการแบ่งภาควิชา หรือมีแต่ไม่ถึงสี่ภาควิชา ให้มีกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำ ศาสตราจารย์พิเศษ อาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษในคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น มีจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

ให้ประธานกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขานุการคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้เลขานุการพ้นจากตำแหน่งด้วย

การแต่งตั้งกรรมการและคุณสมบัติของกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๓ กรรมการประจำคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งตามมาตรา ๓๒ อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้

ถ้าตำแหน่งกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งว่างลงก่อนวาระ สภามหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้น ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้ก่อนแล้วนั้น

มาตรา ๓๔ คณะกรรมการประจำคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางนโยบายและแผนงานของคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย

(๒) วางระเบียบและออกข้อบังคับทางการศึกษาของคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย รวมทั้งวางระเบียบและออกข้อบังคับอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

(๓) พิจารณาวางหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัย

(๔) จัดการสอบไล่สำหรับคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ

(๕) ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นแก่คณบดีหรือหัวหน้าแผนกอิสระในกิจการของคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ

(๖) พิจารณางบประมาณของคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัย

(๗) เสนอการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณในคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระต่อสภามหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๕ การดำเนินงานของคณะกรรมการประจำคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๖ ในสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้มีผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ และอาจมีรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าหน่วยงานคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อช่วยกิจการที่ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานจะมอบหมายก็ได้

คุณสมบัติ วิธีการแต่งตั้ง และวาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงาน และรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าหน่วยงาน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

เมื่อผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าหน่วยงานพ้นจากตำแหน่งด้วย

การดำเนินงานของสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๗ ในกรณีที่มีการแบ่งภาควิชาในคณะ วิทยาลัย หรือแผนกอิสระ ให้มีหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของภาควิชา

หัวหน้าภาควิชานั้น ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง

หัวหน้าภาควิชามีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา ๓๘ ให้นำความในมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ มาใช้กับสถาบัน สำนัก ศูนย์ และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะโดยอนุโลม

มาตรา ๓๙ วิธีการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอให้มีการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๔๐ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชา ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา และจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันไม่ได้

ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งอาจรักษาราชการแทนในตำแหน่งอื่นดังกล่าวอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน


มาตรา ๔๑ คณาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งทางวิชาการดังนี้

(๑) ศาสตราจารย์

(๒) รองศาสตราจารย์

(๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์

(๔) อาจารย์

มาตรา ๔๒ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต้องมีคุณวุฒิ ความสามารถทางการสอน และผลงานทางวิชาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย

อาจารย์ต้องได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือมีความชำนาญพิเศษในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์นั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย

มาตรา ๔๓ นอกจากคณาจารย์ประจำในมาตรา ๔๑ มหาวิทยาลัยอาจเชิญบุคคลที่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติเหมาะสมเป็นอาจารย์พิเศษหรือผู้บรรยายพิเศษอีกก็ได้

มาตรา ๔๔ ศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์พิเศษในวิชาที่ผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๔๕ ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญเป็นพิเศษ และพ้นจากหน้าที่ราชการในมหาวิทยาลัยไปแล้ว สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในวิชาที่ศาสตราจารย์ผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญได้

คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย


มาตรา ๔๖ ปริญญามีสามชั้น คือ

เอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.
โท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.
ตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.

มาตรา ๔๗ มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย

การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาใด และจะใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๘ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาเกียรตินิยมได้

มาตรา ๔๙ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรได้ดังนี้

(๑) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาแล้ว

(๒) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี

(๓) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรเฉพาะวิชา

มาตรา ๕๐ มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภามหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่คณาจารย์ประจำ นายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้นไม่ได้

ชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย


มาตรา ๕๑ มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ คณาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษ และอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตรได้

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ จะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างไร ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๕๒ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๕๓ ผู้ใดใช้ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่า ตนมีตำแหน่ง ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย โดยที่ตนไม่มี ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีตำแหน่งหรือวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๔ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่อไป จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และมีการเลือกตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๕ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งต่อไป สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถ้าดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสามปีนับแต่วันที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสามปี ถ้าดำรงตำแหน่งครบสามปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอธิการบดีตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสามปี ถ้าดำรงตำแหน่งครบสามปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณบดีและหัวหน้าแผนกอิสระตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน สำนัก และศูนย์ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสามปี ถ้าดำรงตำแหน่งมาครบสามปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบัน สำนัก และศูนย์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นหัวหน้าภาควิชาตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้นั้นดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสามปี ถ้าดำรงตำแหน่งครบสามปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชาตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

การดำรงตำแหน่งของอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกอิสระ ผู้อำนวยการสถาบัน สำนัก และศูนย์ และหัวหน้าแผนกวิชา ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มิให้ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งในวาระตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๗ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๕๖ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย แผนกอิสระ สถาบัน สำนัก ศูนย์ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๕๗ ให้ผู้ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีฐานะเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕๘ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕๙ ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ระเบียบ และข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำพระราชกฤษฎีกา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ระเบียบ และข้อบังคับที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ และแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมและพัฒนาทางวิชาการ การผลิตบัณฑิต การบริการสังคม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"