พระราชบัญญัติอธิกรณประถมปาราชิก พระพุทธศักราช ๒๔๖๓

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


อธิกรณประถมปาราชิก


พระพุทธศักราช ๒๔๖๓[1]


_______________



มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า คดีประถมปาราชิกเปนลำพังอธิกรณในฝ่ายคณะสงฆ์ แต่ฝ่ายอาณาจักรตั้งศาลพิจารณาแลลงโทษผู้มีความผิดโดยฐานนี้เปนอาชญาแผ่นดิน ก็เพื่อสนับสนุนพระพุทธบัญญัติโดยฐานที่พระเจ้าแผ่นดินเปนพุทธศาสนูปถัมภก แต่ไม่เปนการสดวกแก่คณะสงฆ์เลย เพราะวิธีพิจารณาแห่งศาลฝ่ายอาณาจักรแลทางพระวินัยแผกกัน ศาลฝ่ายอาณาจักรลงโทษผู้ต้องหาต่อเมื่อพิจารณาถึงว่าเปนปาราชิก ฝ่ายทางพระวินัยพิจารณาได้ไม่ถึงเปนปาราชิกแต่มัวหมองในอย่างอื่น ก็ปรับโทษได้ ผู้ต้องหาเปลื้องตนไม่พ้นจากข้อสงสัยไม่หลุดพ้น แลในบัดนี้ การปกครองคณะสงฆ์เปนไปรอบคอบพอจะป้องกันแลกำจัดภิกษุอลัชชีผู้ลเมิดพระพุทธบัญญัติข้อนี้ได้แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นไว้ มีความดังต่อไปนี้ ฯ



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติอธิกรณ์ประถมปาราชิก พระพุทธศักราช ๒๔๖๓ ฯ


มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เปนกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๓ เดือนเมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๓ เปนต้นไป ฯ


มาตรา ๓

ตั้งแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป ให้ยกเลิกโทษอาชญาฐานปาราชิก ในกฎหมายลักษณผัวเมีย มาตรา ๔๐ กับ ๔๑ แลประกาศรัชกาลที่ ๔ ว่าด้วยภิกษุสามเณรประพฤติอนาจาร ลงวันศุกร์ เดือนเก้า แรมค่ำหนึ่ง ปีวอก โทศัก จุลศักราช ๑๒๒๒ เฉภาะข้อว่าด้วยโทษอาชญาฐานปาราชิกนั้นเสีย ฯ


มาตรา ๔

ถ้ามีคดีประถมปาราชิกค้างพิจารณาในศาลยุติธรรมในเวลาที่ใช้พระราชบัญญัตินี้เปนกฎหมาย ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลนั้นโอนคดีไปยังกรมธรรมการโดยพลัน ฯ


มาตรา ๕

ตั้งแต่บัดนี้สืบไป ภิกษุผู้ลเมิดพระพุทธบัญญัติประถมปาราชิกถึงเปนคดีฟ้องร้องแล้วก็ดี ฤๅลเมิดพระพุทธบัญญัติข้อนี้ในกาลข้างน่าก็ดี ให้กล่าวหาเปนลำพังอธิกรณในคณะสงฆ์ แลลงโทษผู้ผิดโดยพระพุทธบัญญัติส่วนเดียว ฯ


มาตรา ๖

เมื่อภิกษุลเมิดพระพุทธบัญญัติประถมปาราชิก ให้เปนน่าที่ของเจ้าพนักงานผู้รักษาท้องถิ่นจับตัวคุมขัง แล้วส่งไปยังกรมธรรมการ เพื่อจะได้ส่งตัวให้คณะสงฆ์พิจารณาต่อไป ฯ


มาตรา ๗

ให้คณะสงฆ์ผู้พิจารณาอธิกรณประถมปาราชิกมีอำนาจสั่งกรมธรรมการหมายเรียกพยาน ฤๅให้ผู้ใดส่งหนังสือฤๅวัดถุมาเปนพยาน กับให้เปนน่าที่ของกรมธรรมการออกหมายเรียกพยานมาเบิกความต่อหน้าคณะสงฆ์ แลออกหมายเรียกสรรพหนังสือฤๅวัดถุอย่างใด ๆ สุดแท้แต่คณะสงฆ์จะปรารถนา ฯ

บุคคลผู้ได้รับหมายให้มาเบิกความเปนพยาน (รวมทั้งหญิงคนกลางด้วย) ฤๅผู้ซึ่งกรมธรรมการปรารถนาจะให้ส่งหนังสือฤๅวัดถุมาเปนพยาน ขัดขืนไม่ปฏิบัติการตามหมายฤๅคำสั่งของกรมธรรมการอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้มีเหตุฤๅข้อแก้ตัวอันสมควร ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๗ ฯ



พระราชบัญญัติตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๓ เปนปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ฯ



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๗/หน้า ๗๙/๒ พฤษภาคม ๒๔๖๓

ดูเพิ่ม[แก้ไข]




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"