พระราชพงสาวดารกรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสิด)/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

ไนงานพระราชทานเพลิงสพพันเอก พร้อม มิตรภักดี เจ้าภาพมีความประสงค์ที่จะพิมพ์หนังสือแจกสมนาคุนแก่ท่านที่มาไนงานนี้ จึงได้ขอไห้ฉันช่วยเหลือหาเรื่องที่จะพิมพ์ พร้อมทั้งเขียนคำนำ และเรียบเรียงประวัติท่านที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ฉันมีความยินดีและเต็มไจสนองคำขอนี้ เพราะเปนโอกาสอีกหย่างหนึ่งที่ฉันจะได้มีส่วนร่วมกับเจ้าภาพไนการบำเพ็ญกุสลไห้แก่พันเอก พร้อม มิตรภักดี ซึ่งฉันได้นับถือเสมือนญาติผู้ไหย่ผู้หนึ่ง นอกจากนี้ พันตรี หลวงทัสนัยนิยมสึก (ทัสนัย มิตรภักดี) เปนมิตรที่รักของฉัน ซึ่งเปนผู้หนึ่งที่ได้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขอพระราชทานรัถธัมนูญมาด้วยกันตั้งแต่ครั้งยังสึกสาวิชาหยู่ไนประเทสฝรั่งเสส ได้ถึงแก่กัมก่อนท่านบิดา ไม่มีโอกาสที่จะสนองคุนไนวาระสุดท้ายของท่านบิดา ฉันจึงรู้สึกพากพูมไจที่ฉันได้มีส่วนบ้างไนการสนองคุนบิดาแทนพันตรี หลวงทัสนัยฯ

ไนการพิมพ์หนังสือแจกไนงานสพ ได้เคยมีญาติมิตรขอร้องไห้ฉันเปนผู้เลือกเรื่องที่จะพิมพ์ไห้ ไนระหว่างนี้ ฉันได้เลือกเรื่องที่เกี่ยวแก่พุทธสาสนาโดยมาก เพราะเห็นว่า เปนเรื่องที่เกี่ยวกับความจิงเที่ยงแท้แน่นอน แต่มาไนคราวนี้ ฉันระลึกขึ้นได้ว่า เมื่อครั้งฉันยังหยู่ไนกรุงปารีสพร้อมกับพันตรี หลวงทัสนัยฯ ฉันได้เคยเอาไจไส่ไนการค้นคว้าหาหลักถานเกี่ยวกับประวัติสาตรของประเทสไทยด้วย เมื่อค้นคว้ามาได้แล้ว เคยได้นำมาเล่าสู่มิตรสหาย ซึ่งรวมทั้งพันตรี หลวงทัสนัยฯ ไนการค้นคว้าเช่นนี้ ความประสงค์ก็เพื่อจะค้นหาความจิง เพราะพระราชพงสาวดารกรุงเก่าที่มีผู้พิมพ์ไนสมัยรัตนโกสินทนี้ปรากตว่า มีเหตุการน์และสักราชแตกต่างกับที่ปรากตไนเอกสารซึ่งชาวยุโรปได้ตีพิมพ์ไว้ไนสมัยกรุงสรีอยุธยา แต่ถ้ายิ่งค้นไปถึงต้นฉบับรายงานซึ่งคนะบาดหลวงที่กรุงสรีอยุธยาได้เขียนส่งไปยังสำนักงานคนะบาดหลวงต่างด้าว (Missions Étrangères) ซึ่งเขียนไนเวลากะชั้นชิดกับเหตุการน์นั้น ก็จะปรากตความแตกต่างกันมาก เพื่อที่จะสอบความจิง ฉันได้พบข้อความไนจดหมายเหตุคนะทูตฝรั่งเสสที่มาจเรินทางพระราชไมตรีไนรัชสมัยสมเด็ดพระนารายน์มหาราช ปรากตข้อความตอนหนึ่งว่า สมเด็ดพระนารายน์มหาราชได้ซงค้นคว้าหาหลักถานเรียบเรียงพระราชพงสาวดารของประเทสไทยขึ้น แล้วได้มอบสำเนาไห้แก่คนะทูตเพื่อถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หนึ่งฉบับ ฉันได้พยายามค้นดูไนหอสมุดต่าง ๆ ด้วยตนเองก็ดี โดยจ้างพนักงานหอสมุดไห้ช่วยค้นก็ดี ก็ไม่ปรากตสำนวนพระราชพงสาวดารที่กล่าวถึงนี้ ต่อมาเมื่อฉันได้กลับมาจากประเทสฝรั่งเสสแล้ว จึงซาบว่า มีพระราชพงสาวดารกรุงเก่าฉบับหนึ่งซึ่งพระยาปริยัติธัมธาดา (แพ ปเรียญ) เมื่อครั้งเปนหลวงประเสิดอักสรนิติ ได้ต้นฉบับสมุดไทยดำจากบ้านราสดรแห่งหนึ่ง เขียนด้วยอักสรไทยตัวเดิม กัมการหอสมุดวชิรญานเห็นว่า สมุดไทยเล่มนั้นเปนหนังสือพระราชพงสาวดารเขียนไนสมัยกรุงสรีอยุธยา และไนบานแผนกสแดงไห้เห็นว่า ต้นฉบับเดิมได้เรียบเรียงขึ้นโดยรับสั่งสมเด็ดพระนารายน์มหาราช เมื่อได้ฉบับนี้มาแล้ว สมเด็ดกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แก้ไขสักราชไหม่ (ประชุมพงสาวดาร ภาค 5) โดยอาสัยพงสาวดารฉบับนี้เปนหลัก ฉะนั้น พระราชพงสาวดารกรุงเก่าฉบับนี้ก็เปนเอกสารฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ความจิง ฉะนั้น การที่ฉันเลือกพระราชพงสาวดารกรุงเก่าฉบับนี้ไห้เจ้าภาพพิมพ์ ก็เปนเรื่องที่หยู่ไนกรอบของพระพุทธสาสนา คือ การค้นหาความจิงนั่นเอง.

การแต่งเรื่องประวัติสาตรไม่ไช่เปนการแต่งเรื่องอ่านเล่นซึ่งผู้แต่งสมมติตัวละคอนพระเอกนางเอกพรรนนาข้อความโลดโผนรักโสกตามชอบไจ ผู้แต่งเรื่องประวัติสาตรจะต้องบำเพ็นตนประดุจเปนตุลาการที่เที่ยงธัม คือ ประการแรก จะต้องวินิจฉัยข้อเท็ดจิงเสียก่อนว่า เอกสารก็ดี ข้อความที่มีผู้เล่าไห้ฟังก็ดี ซึ่งเปรียบประดุจเปนพยานไนคดีประวัติสาตร ว่า พยานเหล่านั้นจะไห้การตามตรง หรือไห้การเท็ด หรือมีเล่ห์กลอคติประการไดเคลือบแฝงหยู่ด้วย เรื่องบางชนิด ผู้แต่งอาสัยชื่อบุคคล สถานที่ วันเวลาไนประวัติสาตร แต่พรรนนาเหตุการน์ไปอีกหย่างหนึ่งต่างหากจากความจิง หรือพรรนนาไปไนทำนองเรื่องอ่านเล่น เรื่องชนิดนี้เปนเรื่องอิงประวัติสาสตร ฉนั้น หนังสือเล่มได แม้จะมีชื่อว่า ประวัติสาตร แต่ถ้ามีข้อความตอนไดซึ่งเปนไปในทางสมมติ ไม่ไช่ของจิงแล้ว ข้อความนั้นก็มีค่าแต่เพียงเปนเรื่องอิงประวัติสาตรเท่านั้น ตุลาการแห่งคดีประวัตสาตรจำต้องล้วงค้นชำระข้อเท็ดจิงไห้ขาวสอาด เมื่อข้อเท็ดจิงผิดพลาด การตัดสินคดีประวัติสาตร คือ การลงความเห็นว่า การกะทำนั้น ๆ ดีหรือไม่ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ก็ย่อมจะผิดพลาดไปทั้งหมด เมื่อฟังข้อเท็ดจิงได้โดยถูกต้องแน่แท้แล้ว การที่จะตัดสินคดีประวัติสาตรดังกล่าวแล้วก็จะเปนไปได้โดยถูกต้องสมควน ไม่มีการอุทธรน์ดีกาที่จะตัดสินกลับสัจโดยยุวชนรุ่นหลัง ทั้งนี้ ผู้สนไจไนวิชาประวัติสาตรย่อมเห็นประจักส์หยู่แล้วว่า หนังสือประวัติสาตรบางเล่มที่แต่งไว้ก่อน ๆ โดยอาสัยข้อเท็ดจิงที่ผิดพลาดต้องถูกแก้ไขไนชั้นหลัง ๆ นี้ก็มีหยู่ หนังสือพระราชพงสาวดารกรุงเก่าที่ได้พิมพ์โดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ หรือที่ได้พิมพ์ต่อ ๆ มาโดยอาสัยต้นฉบับจากหอสมุดซึ่งได้มาจากกรมราชเลขาธิการ ก็ได้มีการชำระสะสางจากต้นฉบับก่อน ๆ โดยได้ข้อเท็ดจิงที่ปรากตขึ้นไนตอนหลัง ไนบางตอน ต้นฉบับได้เขียนโดยรับสั่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกสซึ่งสืบเนื่องมาแต่พระเพทราชาและขุนหลวงสรสักดิ์ ข้อเท็ดจิงบางหย่างซึ่งเปนการไม่ดีในสมัยพระมหากสัตรทั้งสองพระองค์นั้นถูกปกปิดเสียก็มี คุนความดีของสมเด็ดพระนารายน์ที่ยังมีอีกมากมายหลายหย่างไนการปรับปรุงบ้านเมืองไห้ทันสมัยไนทางวิทยาสาตรและสิลปสาตรได้ถูกปกปิดไว้ก็มี บางตอนได้พรรนนาเปนไปไนทำนองเรื่องอ่านเล่นหรือเรื่องอิงประวัติสาตร เช่น อภินิหารต่าง ๆ ที่เจ้าพระยาโกสาปานได้สแดงไห้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ดูก็ดี พระการุนย์ภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีต่อราชทูตไทย เช่น กล่าวว่า ซงพระราชทานนางข้าหลวงไห้เปนภรรยาราชทูตคนหนึ่ง และราชทูตหยู่สมัคสังวาสด้วยภรรยาจนมีบุตรชายคนหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนบิดา หยู่ประมาน 3 ปี ราชทูตจึงกราบถวายบังคมลา แล้วทูนฝากบุตรภรรยา เช่นนี้ ถ้าสอบสวนเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนเวลาที่ราชทูตหยู่ไนประเทสฝรั่งเสส ก็จะเห็นว่า เปนเรื่องอิงประวัติสาตร ฉะนั้น จึงเปนการสมควนหย่างยิ่งที่ข้อเท็ดจิงต่าง ๆ ดังปรากตไนหนังสือพระราชสาวดารจะต้องมีการชำระสังคายนาไนชั้นหลังนี้สักครั้งหนึ่ง.

พระราชพงสาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสิด นี้ อาดเปนเอกสารฉบับหนึ่งที่จะช่วยพิสูจน์ข้อเท็ดจิง เมื่อได้อ่านดูข้อความแล้ว จะเห็นได้ว่า เขียนไว้หย่างกลาง ๆ เหตุการน์ที่จดลงไว้และสักราชก็พ้องกับจดหมายเหตุอื่น ๆ บางฉบับ ซึ่งเท่ากับมีพยานเอกสารอื่นสนับสนุนหยู่ด้วย ฉะนั้น ไนชั้นนี้ ถ้ายังมิได้มีพยานดีกว่าที่จะหักล้างพยานนี้ได้ ก็ควนที่นักประวัติสาตรจะยอมถือไว้ก่อนว่า พระราชพงสาวดารกรุงเก่าฉบับนี้เปนเอกสารพยานที่ดีฉบับหนึ่งไนคดีประวัติสาตรของกรุงสรีอยุธยาสมัยก่อนสมเด็ดพระนารายน์มหาราช.

ต่อจากคำนำนี้ ฉันได้เรียบเรียงประวัติพันเอก พร้อม มิตรภักดี โดยอาสัยข้อความที่ปรากตไนสมุดประวัติที่เก็บไว้นะกะซวงกลาโหมฉบับหนึ่ง และนะสำนักพระราชวังฉบับหนึ่ง.

ขอผลกุสลอันพึงบังเกิดจากการเผยแพร่วิทยาทานโดยหนังสือที่พิมพ์ขึ้นแจกไนงานพระราชทานเพลิงสพนี้จงดนบันดานไห้พันเอก พร้อม มิตรภักดี ประสบความสุขไนสัมปรายภพทุกประการเทอน.


17 กรกดาคม 2486
ปรีดี พนมยงค์