ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ตำรานพรัตน์"

จาก วิกิซอร์ซ
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Tiemianwusi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Tiemianwusi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 288: บรรทัดที่ 288:
== เชิงอรรถ ==
== เชิงอรรถ ==


{{reflist}}
{{smr}}





รุ่นแก้ไขเมื่อ 02:44, 1 พฤษภาคม 2556

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ตำรานพรัตน์






พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี


ทรงแจก


ในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ


ครบหกสิบพรรษา


วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔






พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร



หน้า (๕) ขึ้นลง



คำนำ



หนังสือนี้เป็นตำราว่าด้วยแก้วเก้าประการ สมควรมีนามว่า "ตำรานพรัตน์" เข้าใจว่า เป็นสำเนาหนังสือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ครั้งยังเป็นพระยาสุริยวงศมนตรี ได้สอบสวนพร้อมด้วยผู้มีนามในหนังสือนั้น แล้วนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาถึงพิราลัยแล้ว คุณหญิงเนิ่น บุนนาค ต.จ. ผู้ธิดา ได้เก็บรักษาไว้ และเมื่อคุณหญิงเนิ่น บุนนาค ต.จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ได้ตกมาเป็นหนังสือห้องสมุดวังบางขุนพรหม กรุงเทพฯ

เมื่อได้พิจารณาหนังสือนี้ดูรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ชวนอ่าน แต่ก็เห็นว่า เป็นตำนานที่ควรจะรักษาให้มีไว้ เพราะเรายังนับถือว่า แก้วเก้าประการเป็นของมีสิริมงคลสำคัญอยู่ แต่ภาษาบางแห่ง เช่น ชื่อวัตถุแลประเทศ เป็นต้น ล่วงสมัยจนไม่อาจยึดถือเป็นแน่นอนลงได้ ทั้งนี้ ก็เพราะไม่มีผู้ใดได้สอบสวนประกอบอันเนื่องมาจากต้นฉบับไม่แพร่หลายเป็นมูล ถ้าได้จัดพิมพ์ขึ้นไว้ให้แพร่หลายแล้วก็มีทางที่จะกลับเป็นผลแก้เหตุนั้นในภายหน้า จึงนับว่าไม่ไร้ประโยชน์

ข้าพเจ้า กับนายศิลป์ เทศะแพทย์ อาศัยโอกาสที่ได้เคยเป็นเลขานุการในพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์พินิต จึงพร้อมกันขอพระราชทานพระอนุญาตพิมพ์หนังสือนี้รวมสามพันฉบับเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในคราวงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุหกสิบพระพรรษาของพระองค์ สำหรับเป็นบริวารของหนังสือที่จะทรงแจกไว้เป็นที่ระลึก



น.ท. พระแสงสิทธิการ
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔



หน้า ๑–๒๓ ขึ้นลง



ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุริยวงศมนตรี พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา หลวงภักดีจินดา นายชม ปรึกษาพร้อมกันสอบตำราเพชรรัตน์กับตำราพราหมณ์ซึ่งหลวงภักดีจินดาได้เรียนไว้มาชำระเทียบต้องกันสามฉบับ พระมหาวิชาธรรมค้นพระบาลีพุทธศาสตร์ประกอบกับตำรับไสยศาสตร์ หลวงลิขิตปรีชา อาลักษณ์ แต่งตำรับพุทธศาสตร์ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระบาลีคัมภีร์พุทธศาสตร์นั้นว่า

วชิรํ รตฺตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รตฺตกาฬมิสฺสกํ โอทาตปีตมิสฺสกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตฺตาหารัญฺจาติ อิมานิ นวกานีนิ รตนานิตสฺมา รตนชาติโย อเนกวิธา นานาปเทสุ อุปฺปชฺชนฺตีติ เวทิตพฺพา[1]

อธิบายตามพระบาลีว่า รตนานิ อันว่ารัตนชาติทั้งหลาย อเนกวิธา มีประการเป็นอันมากจะประมาณมิได้ นวกาทีนิ มีแก้วเก้าประการเป็นอาทิ คือ แก้ววิเชียร ๑ แก้วแดง ๑ แก้วอินทนิล ๑ แก้วไพฑูรย์ ๑ แก้วรัตกาลมิศก ๑ แก้วโอทาตปีตมิศก ๑ นีลรัตน์ ๑ แก้วบุษราคัม ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วทั้งเก้าประการมีพรรณต่างกัน แต่แก้ววิเชียรนั้นมีสีงามบริสุทธิ์ดุจดังน้ำอันใส ตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า เพชร นับถือว่า เป็นมงคลอันพราหมณ์ทั้งหลายนำมาใช้ให้ช่างเจียระไนผูกเรือนธำมรงค์ประดับด้วยเนาวรัตน์จัดเอาเพชรตั้งเป็นประถม รตตํ อันว่าแก้วมีพรรณแดงงามสดใสยิ่งนัก ในตำราไสยศาสตร์สมมุติชื่อว่า ปัทมราช ถ้ามีสีแดงอ่อนดังผลเมล็ดทับทิมสุกนั้นชื่อว่า ทับทิม ประดับเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์เป็นที่สอง อินฺทนีลํ อันว่าแก้วอินทนิลมีพรรณผลนั้นเขียวเลื่อมประภัสสร[2] ดั่งแสงแห่งปีกแมลงทับ ในตำรับไสยศาสตร์ชื่อว่า แก้วมรกต ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่สาม เวฬุริยํ อันว่าแก้วไพฑูรย์มีสีเหลืองเลื่อมพรายดังสีสันพรรณบุปผชาติทั้งหลาย มีสีดอกซึกเป็นอาทิ ตำราไสยศาสตร์ว่า แก้วไพฑูรย์ ประดับนับเข้าในเรือนนพรัตน์เป็นที่สี่ รตฺตกาฬมิสฺสกํ อันว่าแก้วอันมีสีดำและสีแดงเจือแกมกัน[3] ดูงามสดใส ในตำราไสยศาสตร์ชื่อว่า แก้วโกเมน สมมุติว่ามีคุณอันพิเศานำมาผูกเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์จัดเป็นที่ห้า โอทาตปิตมิสฺสกํ อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้น ตำราไสยศาสตร์ว่า แก้เพทาย ประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก นีลํ อันว่านิลมีสีดังดอกอัญชันแลดอกสามหาว ประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นที่เจ็ด ปุสฺสราคํ อันว่าบุษราคัมมีสีเหลืองเลื่อมประภัสสรดั่งสีวงแววหางปลาสลาด นัยหนึ่งมีสีดังหลังปู ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่แปด มุตฺตาหารํ อันว่ามุกดาหารมีสีดังมุกอันเลื่อมพรายดูงามเป็นที่จำเริญจักขุบุคคลอันเล็งแลดู ประดับเรือนพระธำมรงค์นพรัตน์เป็นที่เก้า

โบราณจารย์พฤฒาพราหมณ์ทั้งหลายผู้ฉลาดชำนาญในไตรเพท เหตุรู้จักคุณพิเศษแห่งรัตนชาติทั้งปวง จึงเลือกคัดจัดรัตนชาติเก้าประการมีผลอันบริสุทธิ์สิ้นโทษทั้งนี้มาเจียระไน ได้ศุภฤกษ์ดีจึงประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นพระธำมรงค์ประกอบแก้วทั้งเก้าประการต้องตามตำรับไสยศาสตร์นับถือว่าเป็นมงคลอันวิเศษ เหตุดั่งนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงมีคำอธิบายเป็นพระบาลีว่า ตถา รตฺตนีลาทิเภทา อเนกวิธา มณโย นานาฐาเนสุ ปากฏา แปลว่า อันว่ารัตนชาติทั้งหลายมีสีดำแลสีแดงมีสีต่าง ๆ ซึงวิเศษนอกกว่าแก้วเก้าประการนี้มีเป็นอันมาก ย่อมบังเกิดในที่แทบเชิงพระเมรุบรรพต และเกิดในที่ท้องพระมหาสมุทร และเกิดในที่เขาวิบูลบรรพต และเกิดในป่าพระหิมพานต์ และบังเกิดด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ และบังเกิดในบ่อแก้วทั้งหลายในแดนมนุษย์ ด้วยอานุภาพบุญฤทธิ์แห่งกระษัตริย์ทั้งหลายมีสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราเป็นอาทิ รัตนชาติทั้งหลายก็ปรากฏมีมาคุ้มเท่าทุกวันนี้

จะกล่าวตำราไสยศาสตร์สืบไป ในต้นตำราไสยศาสตร์นั้นว่า เมื่อตั้งภัทรกัลป์ ยังมีอสูรตนหนึ่งชื่อ มหาพลอสูร มีตบกิจพิธีอันอุกฤษฏ์ คิดจะไว้เกียรติยศปรากฏในแผ่นดินสิ้นกัลปาวสาน อสูรนั้นจึงตั้งพิธีอดอาหารเจ็ดวันก็สิ้นชีวิต เทวาทั้งหลายจึงนำกระดูกร่างกายอสูรอันตายนั้นไปเรี่ยรายฝังไว้ทุกแห่ง ก็บังเกิดเป็นเพชรรัตน์ พระมหาฤๅษีองคตจึงตั้งแต่งตำราพิจารณาเพชรรัตนชาติอันมีคุณและมีโทษไว้เป็นฉบับสำหรับผู้มีปรีชาจะได้ศึกษาเรียนรู้ดูเพชรรัตน์อันมีคุณพิเศษ แลจะประกอบด้วยโทษแก่ผู้ถือนั้นดังนี้ อันว่ารัตนชาติทั้งหลายบังเกิดในกฤดายุค และเกิดในไตรดายุค และเกิดในทวาบรยุคตราบเท่าถึงกลียุคทุกวันนี้ จะกล่าวกำเนิดสกุลเพชรอันประเสริฐกว่าแก้วทั้งแปดประการนั้นก่อน อันว่าเพชรมีสามประการ คือ เพชรประถมชาติ ประการหนึ่ง เพชรทุติยชาติ ประการหนึ่ง เพชรตติยชาติ ประการหนึ่ง อันว่าเพชรประถมชาติอันประกอบด้วยคุณพิเศษมีห้าจำพวก เพชรทุติยชาติมีคุณสี่จำพวก เพชรตติยชาติมีโทษสิบสองจำพวก

เพชรประถมชาติมีคุณพิเศษห้าประการ ชื่อว่า ขัตติยชาติ นั้นมีน้ำแดงดังผลตำลึงสุก เมื่อพิจารณาดูในผลนั้นมีรัศมีขาว เหลือง ดำ เขียว รุ้งกินน้ำ เมื่อส่องดูด้วยแดดเป็นดวงแล่นออกจาเหลี่ยมเป็นสีเบญจรงค์ด้านละแปดดวง ผู้ใดถือเพชรขัตติยชาติแม้สกุลไพร่จะได้เป็นนาย นายจะได้เป็นขุน ขุนจะได้ครองเมือง ถ้าวงศาพระยาจะได้เป็นกระษัตริย์ กระทำสงครามจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกปราบศัตรูพ่ายแพ้ทุกทิศ ให้ผูกเรือนธำมรงค์ทรงใส่นิ้วชี้เบื้องขวา เป็นเพชรประถมชาติประการหนึ่ง

เพชรชื่อ สมณชาติ มีพรรณเหลืองดังน้ำมันไก่ พิจารณาดูในผลมีรัศมีแดง เขียว ขาว ดำ หงสิบบาท[4] ครั้นส่องดูด้วยแดดเห็นแสงทอกันดังแสงตะวันเมื่อเที่ยงเป็นช่วงแล่นออกจากเหลี่ยนหลายสีเป็นเบญจรงค์ทุกด้าน เพชรดังนี้มีราคาจะคณนามิได้ ให้ผูกเรือนแหวนถือนิ้วชี้มือเบื้องขวาจะจำเริญสุขสมบัติสมบูรณ์ด้วยอานุภาพเพชรอันมีคุณพิเศษ เป็นเพชรประถมชาติประการสอง

เพชรชื่อ พราหมณชาติ นั้นมีพรรณขาวช่วง พิจารณาดูในผลมีรัศมีแดง ดำ เหลือง เขียว หงสิบบาท ครั้นส่องต้องแสงตะวันแสงทอกันดังแสงพระอาทิตย์เมื่อเที่ยง เพชรดังนี้ดีนักจะคณนาค่ามิได้ ให้ถือนิ้วชี้ขวา สมบัติจะไหลมาสู่ ศัตรูทำร้ายมิได้ เป็นเพชรประถมชาติประการสาม

เพชรชื่อ แพศยชาติ นั้นมีพรรณเขียว พิจารณาดูในผลนั้นรัศมีขาว แดง เหลือง ดำ หงสิบบาท ถ้าส่องด้วยแสงแดดเป็นแสงทอกันดั่งแสงตะวันเมื่อเที่ยง ผู้ใดได้เพชรดังนี้ให้ถือนิ้วชี้เบื้องขวา ชอบค้าขายจะมีกำไรมาก จะจำเริญสุขสวัสดิ์ศัตรูอัปราชัย เป็นเพชรประถมชาติประการสี่

เพชรอันชื่อ ศูทรชาติ นั้นมีพรรณดำดุงดังตะกั่วตัด พิจารณาในผลมีรัศมีแดง เหลือง ขาว เขียว หงสิบบาท ครั้นส่องดูด้วยแดดเห็นเป็นดวงแล่นฉวัดเฉวียนออกจากเหลี่ยมด้านละแปดดวงดุจดังรุ้งกินน้ำ เบญจรงค์แสงทอกันดั่งแสงตะวันเมื่อเที่ยง เพชรดังนี้ดีนัก ให้ผูกเรือนแหวนถือนิ้วชี้ขวาจะมีชัยแก่ข้าศึกศัตรู จะอยู่จำเริญสุขสวัสดิ์ จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ชอบทำไร่ไถนาสร้างสวนดีนัก เป็นเพชรประถมชาติประการห้า กล่าวสกุลเพชรประถมชาติห้าประการอันประกอบด้วยคุณพิเศษสิ้นเท่านี้

อันว่าเพชรทุติยชาติอันประกอบคุณมีสี่จำพวกนั้น จำพวกหนึ่งเป็นเพชรยอด มีพูหกพูรอบผลหน้ากระดานแปดแห่ง มีท้องแลหลังเหมือนกัน ถ้าจะพลิกกลับเป็นยอดก็ได้ถูกพู ประการหนึ่ง จำพวกหนึ่งผลเป็นเหลี่ยม มีแสงทอกันอยู่ดูดังลายเข็ม ประการหนึ่ง จำพวกหนึ่งสีเหลืองเป็นสังวาลอินทรธนู ประการหนึ่ง จำพวกหนึ่งมิได้กล่าวสี แต่มีผลนั้นเบากว่าแก้วผลึก[5] เป็นประมาณ ประการหนึ่ง เพชรสี่จำพวกนี้มีคุณวิเศษนัก ผู้ใดถือเพชรทุติยชาตินี้อาจคงแก่เครื่องศัสตราวุธจะแทงฟันกายผู้นั้น บ มิเข้า จะเป็นที่เสน่ห์แก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย จะได้เป็นใหญ่ในที่ยศศักดิ์ จักบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ศัตรูพ่ายแพ้อำนาจ เพลิง บ มิไหม้เรือน งูขบ บ มิปวดพิษ ด้วยฤทธิ์เพชรอันวิเศษนัก แต่อย่าให้คนป่วยไข้ถือโรคจะกำเริบ กล่าวคุณเพชรทุติยชาติสี่จำพวกสิ้นเท่านี้

อันว่าเพชรตติยชาติประกอบด้วยโทษมีสิบสอบจำพวก คือ เพชรผลหาพูมิได้ ๑ เพชรมีผลเบี้ยว ๑ เพชรผลเป็นรอยยาว ๑ ผลนั้นเป็นลมเข้าอยู่ใน ๑ ผลแตก ๑ ผลนั้นเห็นเป็นรู ๑ รูปผลดังทะนานมะพร้าว ๑ ผลช่ำดังผมพึ่งโกน ๑ ผลนั้นเห็นดั่งรูเจาะ ๑ ผลดำมิได้มีน้ำอื่นแกม ๑ ผลเป็นรอยดังตีนกา ๑ และเพชรมีผลอันระคนด้วยโทษหนึ่งสิบสองประการนี้ นายช่างผู้ฉลาดเจียระไนสิ้นโทษผลบริสุทธิ์แล้วก็จะกลับเป็นคุณดังกล่าวมานั้น ถ้ากระทำมิหมดโทษ เพชรนั้นก็จะให้โทษแก่ผู้ถือ จะเสียทรัพย์เงินทอง จะต้องเครื่องศัสตราวุธป่วยลำบากเป็นสาหัส ศัตรูหมู่ข้าศึกจะปองทำร้าย จะฉิบหายทั้งช้างม้าช้าใช้สอย จะเกิดโรคพยาธิ จะเกิดภัยด้วยเพลิงแลน้ำเนือง ๆ ด้วยโทษอันถือเพชรมิสิ้นโทษนั้น เพชรตติยชาติเป็นเพชรโทษสิบสองจำพวกสิ้นเท่านี้

อนึ่ง สกุลเพชรพิเศษอันเกิดในแดนเมืองกลึงคราชนั้นแสงเขียวดุจดังทองจาวชื่อ กลึงคเพชร เพชรอันบังเกิดในแดนเมืองมิลินลราชมีสีเหลืองขาวดังสีงาช้างชื่อ คชเพชร ช้างกลัวนัก เพชรอันเกิดในแดนเมืองปันทรราชสีดังหิงคูล ภาษาพราหมณ์ว่า สีดุจดังยางโพธิ์ จำพวกหนึ่งสีดังหงสิบบาท ทั้งสองประการนี้ชื่อ ปันทรเพชร เพชรอันบังเกิดในแดนเมืองสามลราชในผลนั้นมีรัศมีแดงเท่าเมล็ดพรรณผักกาดอันผ่าสามซีกเอาแต่ซีกหนึ่งก็ดี เท่าศีรษะแมลงวันหัวเขียวก็ดี ชื่อว่า เพชรสังหาร ผูกเรือนแหวนถือ ข้าศึกศัตรูจะพ่ายแพ้อำนาจ อาจแก้คุณปิศาจทั้งปวงประสิทธิ์นัก อนึ่ง เพชรอันเกิดในแดนเมืองบุษบากรราชสีผลนั้นเหมือนดังดอกเบญจมาศชื่อ หิมพานตเพชร และเพชรสังหารหิมพานเพชรทั้งสองจำพวกนี้มีคุณอันพิเศษนัก ให้ถือเมื่อกระทำพิธีสมโภชเชิญขวัญมังคลาภิเษก จะเกิดสุขสิริสวัสดิ์จำเริญ หมู่ปัจจามิตรศัตรูแต่ก่อนจะเข้ามาอ่อนน้อมยอมสามิภักดิ์ด้วยอานุภาพเพชรนี้ จะมีประสงค์สิ่งใดก็จะได้สำเร็จทุกประการ เพชรอันบังเกิดในแดนเมืองไภยรากราช รัศมีผลนั้นดุจดังน้ำอยู่บนใบบัว ชื่อ ไภยรากรเพชร ผู้ใดถือจะมีอำนาจ อาจกันอันตรายได้ถึงร้อยแปดประการ ดีนัก กล่าวสกุลเพชรอันพิเศษบังเกิดในแดนเมืองทั้งหกสิ้นเท่านี้

อนึ่ง สกุลเพชรอันบังเกิดด้วยอำนาจเทพยุดาประดิษฐานไว้ในที่ทั้งปวงมีหกจำพวกดังนี้ เพชรอันเกิดในศิลา มีผลแดงดุจดังทองแดงก็ดี ดังสีพระจันทร์อันงามก็ดี เพชรสองจำพวกนี้ชื่อว่า ศิลาเพชร เพชรจำพวกหนึ่งเกิดในปุ้มเปือกกุสุมาลีมหาสมุทร เพชรนั้นผลมีสีขาวใสดุจดังน้ำค้างใบบัวก็ดี มีน้ำแดงขำหมอก เขียว ขาว ทั้งสองจำพวกนี้ชื่อว่า อินทรเพชร เพชรจำพวกหนึ่งเกิดในดอกบัวสัตตบุษย์ มีสีผลนั้นขนานกัน คือ สีดำ แดง ขาว เหลือง เขียวเจือกันดังประพาลนาคราช ชื่อว่า นาคราชเพชร เพชรจำพวกหนึ่งเกิดในศีรษะแรดก็ดี เกิดในศีรษะเหยี่ยวก็ดี เกิดในศีรษะนกกระเรียนก็ดี มีสีขาวดังระลอกสมุทร ชื่อว่า เพชราวุธ เพชรจำพวกหนึ่งบังเกิดด้วยอานุภาพพระอินทร์ มีรัศมีกล้าดุจดังแสงพระอาทิตย์ มีฤทธิ์นัก ชื่อ สังขนิลเพชร ท้าวสุราคราชให้เพชรนี้แก่หนุมานครั้งไตรดายุคนั้น

อันว่าเพชรที่เทพยุดาประดิษฐานทั้งหกจำพวกดังกล่าวมานี้เป็นมหาวิเศษนัก มิอาจคณนาค่าแลคุณได้เลย สกุลเพชรคุณยี่สิบเอ็ด โทษสิบสอง สามสิบสามจำพวกเท่านี้

พระองคตมหาฤๅษีผู้มีปรีชาชำนาญในไตรเพทกล่าวอุปเทศลักษณะปัทมราช[6] อันมีคุณแลประกอบด้วยโทษสืบไป ในลักขณะปัทมราชนั้น ชื่อ ชาติรังคะ เป็นประถมชาติ ๑ ชื่อ กระวินทระ เป็นทุติยชาติ ๑ ชื่อ เสาวคนธี เป็นตติยชาติ ๑ ชื่อ กรวางคะ เป็นจตุตถชาติ ๑ แลปัทมราชอันเป็นประถมชาตินั้นมีสีต่างกันเก้าประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นมีแดงดังดอกสัตตบุษย์เมื่อบาน ประการหนึ่ง มีผลนั้นดังดอกจงกลนี ประการหนึ่ง ผลนั้นมีสีดังดอกทับทิม ประการหนึ่ง ผลนั้นมีสีดังแมลงเต่าทอง ประการหนึ่ง ผลนั้นมีสีดั่งเปลวประทีปเมื่อจะใกล้ดับ ประการหนึ่ง ผลนั้นดั่งพระอาทิตย์แรกขึ้นมาเพื่อเพลาเช้า ประการหนึ่ง ผลนั้นดังผลเม็ดทับทิมอันสุกเข้ม ประการหนึ่ง ผลนั้นแดงดั่งดวงตานกจากพราก[7] ประการ ๑ ผลดังสีถ่านเพลิงแดง ประการหนึ่ง ทั้งเก้าประการนี้เป็นสีแห่งปัทมราชอันเป็นประถมชาติ เท่านี้

อันว่ากระวินทปัทมราชอันเป็นทุติยชาตินั้นมีสีผลต่างกันเก้าประการ ประการหนึ่ง สีผลนั้นแดงก่ำดังดอกเส้งนา[8] ประการหนึ่ง ผลนั้นสีดังดอกทองกวาว ประการหนึ่ง สีดังดอกทองหลาง ประการหนึ่ง สีดังดอกไม้แดง ประการหนึ่ง สีดังดอกกระมุทแดง ประการหนึ่ง ดังสีเลือดกระต่าย ประการหนึ่ง สีแดงดังศีรษะลิงโลด ประการหนึ่ง สีแดงดังชาติหรคุณ ประการหนึ่ง สีแดงดังผลมะกล่ำไฟ ทั้งเก้าประการนี้ชื่อว่าปัทมราชอันเป็นทุติยชาติ เท่านี้

อันว่าเสาวคนธีปัทมราชอันเป็นตติยชาตินั้นมีสีต่างกันห้าประการ ประการหนึ่ง ผลแดงดังดวงตานกกระเหว่า ประการหนึ่ง สีแดงดังน้ำฝาง ประการหนึ่ง สีแดงดังผลสะบ้าสุก ประการหนึ่ง สีแดงดังดอกงิ้ว ประการหนึ่ง สีแดงดังดอกรักแดง ปัทมราชทั้งห้าประการนี้เป็นน้ำตติยชาติ สิ้นเท่านี้

อันว่ากรวางคปัทมราชอันเป็นจตุตถชาติมีสีต่างกันสี่ประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นมีเหลืองเจือสีแดงดังผลกระดอมสุก ประการหนึ่ง สีดังอิฐแดง ประการหนึ่ง สีดั่งน้ำขมิ้น ประการหนึ่ง สีแดงอ่อนกว่าดอกทองกวาว ปัทมราชทั้งสี่ประการนี้เป็นน้ำจตุตถชาติ สิ้นเท่านี้

โทษอันมีในผลปัทมราชทั้งหลายอันเป็นประถมชาติ ทุติยชาติ ตติยชาติ จตุตถชาติก็ดี มีโทษสิบหกประการ ประการหนึ่ง กลางผลหวำ ประการหนึ่ง ผลแตก ประการหนึ่ง ผลเห็นน้ำขาวไหลไปมาในผล ประการหนึ่ง ลมเข้าอยู่ในผล ประการหนึ่ง ผลรอยบิ่น ประการหนึ่ง ผลช้ำดังผมพึ่งโกน ประการหนึ่ง ผลนั้นดินแดงเข้าอยู่ใน ประการหนึ่ง ดินดำเข้าอยู่ในผล ประการหนึ่ง สลายทั้งผล ประการหนึ่ง ผลเป็นน้ำดำ ประการหนึ่ง ผลเบี้ยวบิด ประการหนึ่ง ผลเป็นพู ประการหนึ่ง เป็นดังควันไฟอยู่ในผล ประการหนึ่ง เป็นสีเหลืองคำเปลวอยู่ในผล ปัทมราชอันมีมลทินโทษสิบหกประการดังกล่าวมานี้ ผู้มีปรีชารู้ว่าผลปัทมราชติดมลทินกระทำชำระโทษสิ้นแล้ว ก็จะสิ้นโทษกลับเป็นคุณ ถ้ามีโทษพึงละเสีย ถ้าผู้ใดมิได้รู้ว่าเป็นพลอยโทษเอามาถือจะบังเกิดโทษเป็นพิบัติ แม้นผู้มีสกุลจะกำจัดจากที่ยศศักดิ์แลบริวาร จะเกิดโรคพิการลำบาก จะพลัดพรากจากบุตรภรรยาญาติวงศา จะเกิดอันตราย จะตายด้วยต้องคมอาวุธ แลไฟจะไหม้เรือน ปัทมราชอันประกอบด้วยโทษสิบหกประการเท่านี้ ปัทมราชจำพวกใดน้ำแลสีดีต้องลักษณะก็ดี ถ้าผลเป็นโทษกระทำมิสิ้นโทษไซร้ ผู้ปรีชาพึงละเสียเถิด จัญไรนัก

จักกล่าวคุณในปัทมราชสิบจำพวก จำพวกหนึ่งมีน้ำนิลเข้าอยู่ใน ให้เอาผลนั้นเผาด้วยเพลิง เอาออกไว้ให้เย็นเอง อย่าให้ถูกน้ำ ปัทมราชนั้นจึงจะบริสุทธิ์ จำพวกหนึ่งมีรัศมีในผลนั้นสีต่างกันถึงสิบ เก้า แปด หก ห้าประการก็ดี ผลนั้นมีสัณฐานดังรูปไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งรูปมะนาวตัดกลางก็ดี ถ้าผู้ใดถือปัทมราชอันน้ำนิลอยู่ในเผาด้วยเพลิงแล้ว น้ำแดงแสงงามบริสุทธิ์ดุจดังฟ้าแดงเมื่อตะวันตกแลพระอาทิตย์แรกอุทัย และโทษสิบหกประการมิได้ติดอยู่ในผลนั้น ผู้ถือจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและมีช้างม้าข้าใช้เป็นอันมาก จักจำเริญสุขสำราญใจหาโรคพยาธิมิได้ จะมีอายุยืนด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น

ผู้ใดถือปัทมราชอันมีรัศมีในผลนั้นถึงสิบประการ แลผลนั้นสัณฐานรูปดั่งไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวตัดกลางก็ดี เนื้อสนิทบริสุทธิ์เว้นจากโทษสิบหกประการ ผู้นั้นจะได้เป็นพระยา ถ้าอยู่เมืองฝนจะตกในเมืองนั้นเดือนละสามครั้ง ปัทมราชอันมีรัศมีสิบประการนั้น ถ้าผลหนักสิบสองกล่ำ รัศมีขึ้นสูงได้สี่สิบสององคุลี ถ้าปัทมราชผลนั้นมีรัศมีแต่เก้าประการ หนักสิบสองกล่ำ รัศมีออกจากผลได้สิบแปดองคุลี ปัทมราชสองประการนี้ควรแก่ท้าวพระยาทรง ปัทมราชอันเป็นสามัญ ผลนั้นมีน้ำ (๑) เขียวดังสีผลึก (๒) น้ำสีดั่งผลเมล็ดทับทิมดิบ (๓) น้ำดั่งเมล็ดทับทิมสุก (๔) น้ำดั่งสีกลีบบัวหลวงอันบาน (๕) น้ำดั่งสีฟ้าแดงเมื่อตะวันจะใกล้ตก (๖) น้ำสีดั่งถ่านเพลิงแดง ถ้าผลหนักสามสลึง รัศมีออกจากผลสี่องคุลี ถ้าหนักบาทหนึ่ง รัศมีออกจากผลนั้นสี่สิบสององคุลี ถ้าหนักห้าสลึง รัศมีออกสี่สิบหกองคุลี รัศมีเลื่อมพรายทั้งผลนั้นมีรูปดั่งไข่ไก่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวตัดกลางก็ดี และเว้นจากโทษสิบหกประการดั่งกล่าวมานั้น ผู้ใดถือจะมีเงินทองทรัพย์สิ่งของโคกระบือช้างม้าข้าคนเป็นอันมาก จะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น

อันว่าปัทมราชอันเป็นมัธยม พิจารณาดูสีผลแดงเรื่อ ๆ ก็ดี แดงก่ำก็ดี แดงอ่อนก็ดี สีเหลืองเจือแดงดั่งหงสิบบาท หาดำ ขาว เขียวมิได้ก็ดี ถ้ามีเขียวผ่านแดงก็ดี มีเหลืองผ่านแดงก็ดี เมื่อส่องดูในผลเป็นระลอกสมุทรแลดั่งปีกแมลงวันก็ดี ถ้าถือไปเด็ดใบไม้มิได้มีเงาปรากฏในผลนั้นก็ดี ปัทมราชดังกล่าวมานี้เป็นมัธยมอย่างกลาง ถ้าจะพิกัดราคาโดยสถานต่ำเป็นทองร้อยหนัก พิกัดราคาอย่างกลางหนักชั่งทองหนึ่ง พิกัดราคาอย่างยิ่งเป็นทองหมื่นหนัก อนึ่ง ปัทมราชเมื่อพิเคราะห์ดูเห็นแต่สีขาวเจืออยู่ในผลแต่สิ่งหนึ่งก็ดี มีแต่สีเขียวเจืออยู่ก็ดี มีแต่สีเหลืองเจืออยู่แต่สิ่งเดียวก็ดี ถ้าจะพิกัดค่าบาททองหนึ่งเป็นราคาต่ำ พิกัดค่าทองร้อยหนักเป็นอย่างกลาง พิกัดค่าอย่างยิ่งหนักชั่งทองหนึ่ง ปัทมราชมัธยมดังกล่าวมานี้ ถ้าผลนั้นบริสุทธิ์สิ้นโทษแล้ว ผู้ถือจำจำเริญสุขสิริสวัสดิ์ทุกประการด้วยอานุภาพปัทมราชอันมีคุณพิเศษนั้น พรรณนาปัทมราชอันจะให้คุณโทษสิ้นเท่านี้

จะกล่าวกำเนิดไพฑูรย์อันบังเกิดแทบเชิงเขาวิบูลบรรพต แลบังเกิดในบ่อแก้วทั้งหลายต่าง ๆ อันว่าไพฑูรย์อันชื่อ มโนหรไพฑูรย์ นั้นมีแสงขนานกันหลายสีดุจดังเอาดอกไม้ทุก ๆ พรรณแกมกับสลับหลายสี ดังเอาดอกบัวเผื่อนประดับคลับคล้ายเห็นลายดำ แดง ขาว เขียวดังแมลงเต่าทอง ลายทั้งผองได้ห้าหกสิ่ง ไพฑูรย์จำพวกนี้มีสกุลสูงเหมือนดังไพฑูรย์อันบูรณกาสูรถือไปเล่นสกามีชัยชนะแก่ท้าวธนญชัยโกรพภยราช และไพฑูรย์อันบังเกิดในแดนเมืองพิรุณภูมิเป็นประถมชาติมีสามจำพวก จำพวกหนึ่งพิจารณาดูในผลนั้นเป็นเส้นสีขาวกับสีเหลืองเคียงกันผ่านอยู่กลางผลนั้นเป็นแสงอินทรธนูสังวาล จำพวกหนึ่งสีดังเปลวไฟ จำพวกหนึ่งสีดังตาแมว สามจำพวกนี้ชื่อประถมชาติไพฑูรย์ แลไพฑูรย์ทุติยชาตินั้น จำพวกหนึ่งพิจารณาดูในผลนั้นดังแววหางนกยูง จำพวกหนึ่งดั่งแสงแมลงคาเรือง จำพวกหนึ่งดังพรรณดอกปริก สามจำพวกเป็นทุติยชาติไพฑูรย์ แลไพฑูรย์ตติยชาตินั้น จำพวกหนึ่งพิจารณาดูในผลนั้นมีสีดั่งสีใบทองกวาวเขียวอ่อน จำพวกหนึ่งสีเขียวเหลืองอ่อนดังงูเขียวปากปลาหลด จำพวกหนึ่งสีดั่งใบไผ่อ่อน จำพวกหนึ่งสีเขียวเจือแดงดั่งกาบไผ่อ่อนอันเกิดได้เดือนหนึ่ง จำพวกหนึ่งสีดั่งดอกกล้วยพึ่งบาน ห้าจำพวกนี้เป็นตติยชาติ แลไพฑูรย์อันเป็นจตุตถชาตินั้น จำพวกหนึ่งพิจารณาดูในผลนั้นมีสีดั่งปีกแมลงทับ จำพวกหนึ่งสีเหลืองสีเขียวเจือกันดั่งสีผลหมากสง สองประการนี้เป็นจตุตถชาติไพฑูรย์

อันว่าไพฑูรย์อันประกอบไปด้วยคุณมีสิบประการ ประการหนึ่ง ผลนั้นกลมมีสัณฐานดั่งก้นทะนาน จำพวกหนึ่งมีหม่นระคนสีเหลืองดังพรวนไฟไหม้ แลมีแสงเป็นเส้นรีตามผล เมื่อกลอกดูเดินไปมาถึงริมทั้งสองข้างถึงสองเส้นสามเส้นก็ดี จำพวกหนึ่งกลมดั่งผลมะพร้าวผ่ากลางศีรษะสูง เมื่อกลอกดูมีแสงแล่นไปมาอยู่ในผลนั้นดีนัก ผู้ใดถือจะเป็นเสน่ห์ จะจำเริญความสุข จำพวกหนึ่งมีแสงขาวรีผ่านศีรษะ จำพวกหนึ่งมีแสงเป็นเส้น กลอกผลดูแสงกลับไปมาถึงริม แลริมนั้นมีน้ำแดงด้วย ผู้ใดถือจะมีชัยชนะแก่ข้าศึก ศัตรูทำร้ายมิได้ ไฟมิไหม้เรือน ข้าหนีมิได้ จำพวกหนึ่งแสงเหลืองแลเขียวแกมแดงแลผลรีดั่งข้าวเปลือก จำพวกหนึ่งแสงเหลืองแกมเขียว ผู้ใดถืองูขบมิได้ปวดพิษ มีตบเดชะเป็นอันมาก ทำไร่นาสร้างสวนจะเกิดผลมาก จำพวกหนึ่งแสงขาวหม่น ใครถือค้าขายมีสิ่งสินมาก จำพวกหนึ่งแสงแดงแกมขาวดังสีเปลือกเสม็ดอ่อน ใครถือคุณไสยทั้งหลายจะทำมิได้เลย

อันว่าไพฑูรย์มีสีหลายพรรณสลับกันได้ถึงสิบสี ถ้าผลหนักสิบสองกล่ำ รัศมีขึ้นหกสิบองคุลี เป็นค่าทองสามหนึ่งสิบสามโกฏิหนักทอง แลพิกัดค่าไพฑูรย์อันเป็นประถมทุติยตติยจตุตถชาติดังกล่าวมานี้ ผู้มีปรีชาพึงพิกัดค่าดุจดังปัทมราชอันเป็นประถมทุติยตติยจตุตถชาตินั้นเถิด

ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งลายดั่งจักรแลมีน้ำเป็นแถวแดง ขาว เหลือง เขียว ดำ หงสิบบาท เข้าจดดุมจักรแลวงดุมจักรนั้นเป็นเกลียวดุจดังเกลียวลวดทองแดงดั่งหิ่งห้อย มีอินทรธนูผ่านจักร เมื่อส่องดูด้วยแดดเป็นแสงแล่นออกได้สามสิบสองดวง และดวงนั้นเป็นสีเบญจรงค์แสงกล้าดั่งตะวันเมื่อเที่ยง ไพฑูรย์จำพวกนี้มีราคาร้อยโกฏิ พันโกฏิ ล้านโกฏิก็ดี จะพิกัดค่าเป็นอันขาดมิได้ ผู้ใดถือ สมบัติจะมาสู่ด้วยอานุภาพแก้ว จะมีศรีสวัสดิ์ยิ่งนักแล

ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งผลลายดั่งตานกแขกเต้าก็ดี ดั่งตานกพิราบก็ดี ดังตาตั๊กแตนก็ดี มีอินทรธนูผ่านกลาง เมื่อพิศดูอินทรธนูเวียนตามแถวน้ำในผลดั่งหิ่งห้อย เมื่อส่องด้วยแดดแสงทอตาดั่งแสงตะวันเมื่อเที่ยง ถ้าผลหนักไพหนึ่ง ค่าชั่งทองหนึ่ง หนักสองไพ ค่าหมื่นทองหนึ่ง หนักสามไพ ค่าแสนทองหนึ่ง ถ้าหนักสี่ แปด เก้า สิบไพ ค่าโกฏิทองหนึ่ง ขึ้นตามน้ำหนักนั้นเถิด

ไพฑูรย์จำพวหนึ่งผลลายเป็นสีเจือกันดั่งเบญจรงค์ แลผลลายดั่งระลอกสมุทร หาอินทรธนูมิได้ มีแต่เมาลีดั่งหมอกอยู่กลางผลนั้น ถ้าผลหนักไพหนึ่ง ค่าทองร้อยหนัก ถ้าผลหนักสองไพ ค่าทองสองร้อยหนัก ถ้าผลหนักสาม สี่ สิบไพ ค่าชั่งทองหนึ่ง

ไพฑูรย์จำพวกหนึ่งผลขาวบริสุทธิ์ดั่งระลอกน้ำ หาอินทรธนูมิได้ แลเป็นระลอกเขียวก็ดี แดงก็ดี ดำก็ดี เหลืองก็ดี หาเมาลีมิได้ ถ้าผลนั้นหนักไพหนึ่ง ค่าบาททองหนึ่ง ให้ขึ้นค่าไพละบาททอง ถ้ามีระลอกแลเมาลีด้วย แต่หาอินทรธนูมิได้ ถ้าผลนั้นหนักไพหนึ่ง ค่าตำลึงทองหนึ่ง ให้ขึ้นค่าไพละตำลึงทอง

ไพฑูรย์จำพวกหนึ่ง พิจารณาดูในผลนั้นมีรัศมีเป็นสายขาว แดง เขียว เหลือง ดำก็ดี เป็นแต่สอง สาม สี่สายก็ดี หาระลอกมิได้ หาเมาลีมิได้ หาอินทรธนูมิได้ ไพฑูรย์จำพวกนี้จะประมาณค่ามิได้เลย

อันว่าไพฑูรย์มีผลอันบริสุทธิ์สิ้นโทษก็ดี แลผลอันมีโทษแลช่างเจียระไนกระทำให้สิ้นโทษต้องลักขณะก็ดี จะมีค่าแลมีคุณเป็นอันมาก และพลอยอันประกอบไปด้วยโทษ ช่างเจียระไนกระทำมิสิ้นโทษ คือ สีผลนั้นตายกลางยอด ผู้ใดถือจะตายจากพี่น้องลูกเมีย ข้าคนในเรือนจะตาย ผู้ถืออันศีรษะหวำกลางก็ดี อนึ่ง ผลบางก็ดี จะเข็ญใจทุกเมื่อ ผู้ใดถือพลอยโทษอันศีรษะตลอดดั่งก้นทะนานจะต้องเครื่องอาวุธ ถ้าไปค้าจะเสียของ ผู้ใดถือพลอยโทษอันมีน้ำขุ่นมัวจะผิดพี่น้อง ผู้ใดถือพลอยโทษอันเป็นรูเจาะมีสิ่งสินไว้มิคง ผู้ใดถือพลอยทาอันมีแผลรุ้งเข้าไปในผลนั้น ผู้ถือจะเป็นโทษร้อนใจนัก ผู้ใดถือพลอยโทษมีสีดำดั่งปีกกา ผู้ถือจะเป็นโจร

อันว่าไพฑูรย์จำพวกอันประกอบไปด้วยคุณมีรูปดั่งไข่ผ่ากลางก็ดี ดั่งมะนาวผ่ากลางก็ดี ดั่งเมล็ดละหุ่งก็ดี แลมีผลบริสุทธิ์เว้นจากโทษแปดจำพวกดั่งกล่าวมานี้ ถ้าผู้ใดได้ไพฑูรย์อันประกอบด้วยคุณอยู่ ณ เมืองใด ฝนจะตกในเมืองนั้นเดือนละสามครั้ง กล่าวลักขณะไพฑูรย์สิ้นเท่านี้

อันว่ามุกมีกำเนิดสิบห้าแห่ง เกิดในศีรษะปลาทั้งปวง ผลเท่าเมล็ดมะกล่ำไฟ สีขาวแกมแดงดั่งดอกแคฝอย ผู้ใดถือเบาตัวดำน้ำมิจมเลย เกิดในหอยโข่งใหญ่ ผลกลมดั่งไข่จิ้งจก สีพรรณขาวดั่งสีสังข์ ผู้ใดถือจะจำเริญสุข จะมีสมบัติ เกิดในศีรษะสมัน รัศมีกล้าดั่งพระอาทิตย์ และสีดั่งตานกเค้า อันว่ามุกจำพวกหนึ่งย่อมบังเกิดในงาช้าง หารัศมีมิได้ มีพรรณแดง รูปใหญ่เท่าไข่ไก่ ถือรบศึกชนะ ช้างไล่มิได้เลย ช้างกลัวนัก เกิดในคอผู้หญิง หนึ่ง เกิดในคอผู้ชาย หนึ่ง เกิดในคอนกกระทุง สามจำพวกนี้เกิดแต่ในกฤดายุคทวาบรยุค จะได้เกิดในกลียุคทุกวันนี้หามิได้ จึงมิได้กล่าวคุณไว้ในตำรา

หนึ่งเกิดในต้นอ้อย ข้าว ไม้ไผ่ ผู้ใดถือเป็นเสน่ห์ หนึ่งเกิดในหัวงู มีอานุภาพมาก ผู้ใดถือรบศึก ข้าศึกเห็นดั่งงูจะขบกลัวหนีไปเอง หนึ่งเกิดในเขี้ยวหมู ผลเท่าเล็บเหยี่ยว ลายน้อยหนึ่ง สีเหลืองดั่งสีเล็บเหยี่ยว ผู้ใดถือจะประสิทธิ์ทุกประการ หนึ่งเกิดในหอยชะเล แสงขาวดั่งเงิน จำพวกมุกเกิดในหอยชะเลสี่แห่ง แห่งหนึ่งเกิดในชะเลปาลฤๅษีเทศ แห่งหนึ่งเกิดในหอยชะเลปาลิไลยเทศ แห่งหนึ่งเกิดในหอยชะเลตะนาวศรี แห่งหนึ่งเกิดในหอยชะเลสิงหล รัศมีงาม สีหม่นดั่งเมล็ดพรรณผักกาด และมุกอันเกิดในชะเลสิงหลนั้นสีขาวบริสุทธิ์ดุจดังปัด รัศมีลายเลื่อม และมุกอันเกิดในหอยชะเลตะนาวศรีน้ำแดงผลใหญ่ แลมุกจำพวกหนึ่งเกิดในเมฆ มีรัศมีดั่งพระอาทิตย์ ถ้าจะแลดูแสงทอตานัก มุกจำพวกนี้พิทยาธรแลฤๅษีทั้งหลายจึงจะถือได้ มนุษย์ บ ห่อนจะถือได้เลย

อันว่ามุกจะให้จำเริญคุณแก่ผู้ถือมีหกจำพวก จำพวกหนึ่งเหลืองอ่อนดั่งรัศมีพระจันทร์ จำพวกหนึ่งถือเย็นแก่มือ จำพวกหนึ่งเบาแก่มือ จำพวกหนึ่งถือเย็นแก่ตา จำพวกหนึ่งมีรูปดั่งดีนก จำพวกหนึ่งกลมขาวบริสุทธิ์

อันว่ามุกมีโทษสิบประการ ประการหนึ่ง ดั่งหนามติดอยู่ในผล ๑ เม็ดทรายติดอยู่ในผล ๑ สองประการนี้ ผู้ใดถือจะป่วยเป็นไข้จะเป็นฝี ผู้ใดถือมุกอันดินดำเข้าติดอยู่ในผลก็ดี ดินแดงเข้าอยู่ในผลก็ดี ผู้ถือสมบัติจะฉิบหาย ผู้ใดถือมุกโทษอันมีผลเบี้ยวก็ดี เป็นฝาแฝดก็ดี ผู้ถือจะเข็ญใจไร้ยาก ผู้ใดถือมุกโทษอันเป็นลายกลีบ ผู้ถือจะเป็นหูหนวก ผู้ใดถือมุกโทษอันหัวคร่ำมีสีดั่งน้ำไหลไปมา ผู้ถือจะต้องเครื่องศัสตราวุธ

ผู้ใดถือมุกอันประกอบด้วยคุณหกจำพวก แลเว้นจากโทษสิบประการ ผู้ถือจะมีไพร่ฟ้าข้าไทช้างม้าศฤงคารบริวารเป็นอันมาก จะอยู่สุขสำราญด้วยอานุภาพมุกอันมีคุณพิเศษดั่งกล่าวมานี้

องคตฤๅษีจะกล่าวไข่มุก ถ้าสามร้อยสี่สิบลูก แลหนักบาทหนึ่ง ค่าเจ็ดพัน มุกสองร้อยห้าสิบลูก บาทหนึ่งค่าแปดพันห้าร้อย มุกสองร้อยสี่สิบลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อย มุกสองร้อยสิบเอ็ดลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าหนึ่งหมื่นห้าพัน มุกหนึ่งร้อยห้าสิบเจ็ดลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าหนึ่งหมื่นแปดพัน มุกหนึ่งร้อยห้าสิบลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าสองหมื่นสี่พัน มุกหนึ่งร้อยห้าสิบลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าสี่หมื่น มุกเก้าสิบลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าเจ็ดหมื่น มุกเจ็ดสิบลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าหนึ่งแสน มุกสี่ลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าสองแสน มุกสามสิบห้าลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าสามแสน มุกยี่สิบหกลูก หนักบาทหนึ่ง ค่าสี่แสน มุกยี่สิบเอ็ดลูก หนักบาทหึ่ง ค่าห้าล้านห้าแสนหนักเงิน

อนึ่ง ค่ามุกอันอุดมแลเว้นจากโทษดั่งกล่าวมานั้น ให้ชั่งดู ผิหนักกล่ำหนึ่ง ค่าสลึงทอง ผิหนักสองกล่ำ ค่าสองสลึงทอก สามกล่ำ สามสลึงทอง ขึ้นค่าไปโดยอันหนักนั้นแล

อันว่านิลอันบังเกิดในแดนลังกาเป็นชาตินิลสามจำพวก จำพวกหนึ่งสีเขียวมีน้ำแดงเจือกันชื่อ ขัตติยชาติ นิลจำพวกหนึ่งมีน้ำขาวเจือกันชื่อ พราหมณชาติ นิลจำพวกหนึ่งเขียวมีน้ำดำเจือกันชื่อ ศูทรชาติ แลนิลอันมีคุณพิเศษสิบเอ็ดจำพวก จำพวกหนึ่งดั่งน้ำครามชื่อ ปริวารนิล จำพวกหนึ่งดั่งสีดอกอัญชันชื่อ นิลอัญชัน จำพวกหนึ่งส่องดูด้วยแดดมีสีเป็นสายขาวเลื่อมในผลนั้นชื่อ อินทนิล จำพวกหนึ่งเนื้อเขียวสีพรายเหลืองดั่งปีกแมลงทับชื่อ สรกาลังคนิล จำพวกหนึ่งดั่งสีตาวัวชื่อว่า ราชนิล จำพวกหนึ่งสีดั่งดอกบัวครั่งชื่อ นิลุบล อนึ่ง ดั่งแววหางนกยูงชื่อ มหาราชนิล หนึ่งเนื้อเขียวเจือสีขาวชื่อ นิลคนธี จำพวกหนึ่งสีดั่งดอกสามหาวชื่อ นิลมาศคนธี จำพวกหนึ่งสีดั่งขนคอนกกระเหว่าชื่อ พัทธนิล จำพวกหนึ่งเอาสำลีปัดแลดูรัศมีจับสำลี แลจำพวกนิลมีลักขณะดังกล่าวมานี้เป็นนิลอันมีคุณวิเศษ

อนึ่ง นิลอันประกอบด้วยโทษมีแปดประการ คือ นิลโพรด ผลนั้นขาวหม่น ๑ มีอันธการเชี่ยนโตนดเป็นสีขาว ดำ ประการหนึ่ง ผลแตกสลาย ๑ ลมเข้าอยู่ใน ๑ ศีรษะขาว ๑ น้ำเหลืองดั่งน้ำขมิ้น ๑ น้ำเหลืองดั่งน้ำสนิมขี้เหล็ก ๑ ดินเข้าอยู่ในผลนั้น ๑ ผู้ใดถือนิลโทษชื่อ นิลโพรด อันขาวหม่นก็ดี ลมเข้าอยู่ในก็ดี ผู้ถือสิ่งสินมิคง ผู้ใดถือนิลอันธการขาว ดำ ผู้ถือจะเจ็บไข้หาความสุขมิได้ ผู้ใดถือนิลโทษอันเหลืองจะต้องเขี้ยวงา ผู้ใดถือนิลโทษอันดินเข้าอยู่ในก็ดี อันน้ำสนิมเหล็กก็ดี จะเป็นโรคลมกษัยดาน กล่าวนิลโทษสิ้นเท่านี้

ผู้ใดถือนิลอันประกอบด้วยคุณสิบเอ็ดประการแลเว้นจากโทษแปดประการ ผู้ถือจะเป็นสุข จะมีทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก

องคตฤๅษีกล่าวกำเนิดมรกต นาคสวาท ครุฑธิการว่า แต่ก่อนยังมีพระยานาคตตัวหนึ่งชื่อ พาสุกินนาคราช พระยาครุฑพาเอาไปกิน ณ เมืองตรุดตาด เมื่อพาสุกินนาคราชจะตายจึงตายโลหิตออกเป็นประถมเกิดเป็นนาคสวาท คายโลหิตออกภายหลังเกิดเป็นมรกต น้ำลายพระยานาคอันตกลงเป็นครุฑธิการ

อันว่านาคสวาทมีสี่ประการ ประการหนึ่ง สีผลดั่งเห็บตับเต่า ประการหนึ่ง สีผลเขียวเหลืองดั่งงูเขียวปากปลาหลด ประการหนึ่ง สีผลเขียวดังผิวไม้ไผ่เกิดได้หนึ่งสองเดือน อนึ่ง เขียวเจือดำสี่ประการดังกล่าวมานี้ชื่อ นาคสวาท มีคุณอันวิเศษนัก ถ้าเป็นฝีอันมีพิษก็ดี ตะขาบแมลงป่องแลงูอันมีพิษสารพัดพิษขบตอดเอาก็ดี ให้เอานาคสวาทกลั้นใจชุบลงในน้ำ เอาน้ำนั้นมาทากิน หายปวดพิษทั้งปวง ถ้าถือรบศึกจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกด้วยอานุภาพนาคสวาทอันมีคุณวิเศษ

ท่านให้ลองดู เมื่อเดือนสามสี่ ให้ทำบัดพลีเครื่องกระยาบวงสรวงนาคสวาทตั้งไว้ในที่อันสมควร ถ้าเห็นคลับคล้ายดุจดังงูในที่บัดพลีนั้น จึงจะเป็นนาคสวาทแท้

อันว่าครุฑธิการอันมีคุณวิเศษสามประการ ประการหนึ่ง สีผลเขียวดั่งสนิมทองเหลืองอันตกอยู่ในดิน ประการหนึ่ง สีผลดังสำริดอันต้องเปลวเพลิงสีเขียวหม่น ประการหนึ่ง สีผลเขียวเศร้าดังทองเหลืองมิได้ชำระ แลครุฑธิการสามจำพวกอันประกอบด้วยคุณวิเศษนี้ ผู้ใดถือจะมีชัยชนะแก่ศัตรู จะเป็นที่รักแก่คนทั้งปวง จะเจริญยศศักดิ์

อันว่ามรกตอันประกอบด้วยคุณมีสี่จำพวก จำพวกหนึ่งสีผลเขียวดั่งใบแก้ว จำพวกหนึ่งสีผลเขียวเหลืองดั่งขนคอนกแขกเต้า จำพวกหนึ่งสีผลเขียวพรายดั่งปีกแมลงทับ จำพวกหนึ่งเอาสำลีปัดดูสีจับสำลีสีเขียวไปสิ้น มรกตสี่จำพวกเป็นอย่างดี

มรกตอันประกอบด้วยคุณเป็นอย่างกลางมีเก้าประการ ประการหนึ่ง สีผลเขียวใสดังสีขนคอนกกระเหว่า ประการหนึ่ง สีผลดั่งตานกแขกเต้า ประการหนึ่ง สีผลเขียวเหลืองดั่งใบจิก ประการหนึ่ง สีเขียวพรายดั่งแมลงค่อมทอง ประการหนึ่ง สีเขียวดั่งขี้ทอง ประการหนึ่ง สีเขียวดั่งใบข้าว ประการหนึ่ง สีดั่งใบโลด ประการหนึ่ง สีดังใบแค ประการหนึ่ง สีเขียวแก่ดั่งงูเขียวสังวาลพระอินทร์ มรกตอย่างดีสี่กลางเก้า สิบสามประการ มีรูปบางแลกลมเว้นจากโทษสี่จำพวก ผู้ใดถืองูขบมิปวดพิษ งูมิขึ้นเรือน จะจำเริญสุขทุกประการ

มรกตอันประกอบไปด้วยโทษสี่จำพวก จำพวกหนึ่งสีผลดั่งสีข้าวสุกขยำกับแกงฟัก จำพวกหนึ่งดินเข้าอยู่ในผล จำพวกหนึ่งสีสะว้าม จำพวกหนึ่งเบี้ยวรูปแอ่งทรายนอน และพลอยโทษสี่ประการดังกล่าวมานี้ ช่างเจียระไนกระทำให้บริสุทธิ์ก็จะสิ้นโทษ แม้นกระทำมิสิ้นโทษ ผู้ใดถือจะเกิดอันตรายต่าง ๆ พรรณนามรกตสิ้นเท่านี้

อันว่าเพทายอันบังเกิดในแดนเมืองสิงคราชมีสิบสามจำพวกนั้น จำพวกหนึ่งน้ำในผลนั้นพิจารณาดูเป็นสีเหลืองดั่งน้ำขมิ้นชื่อ ริตุกเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำในผลนั้นสีขาวใสชื่อ จุมกุดิเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำในผลนั้นสีดั่งน้ำฝากชื่อ ครังคราทิเพทาย จำพวกหนึ่งสีแดงดั่งน้ำครั่ง น้ำในผลสีดั่งดอกสามหาวอยู่ด้วย ชื่อ สุรคนธีเพทาย จำพวกหนึ่งกลม น้ำในผลนั้นมีเหลืองดั่งดอกคูนอยู่ด้วย ชื่อ ไคเสบพเลดเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำในผลนั้นมีสีหลายพรรณเจือกันอยู่ชื่อ ชไมยเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำขาวดั่งน้ำค้างไหลไปมาอยู่ในผลนั้นชื่อ ทันตรเพทาย จำพวกหนึ่งดั่งน้ำติดอยู่ในดอกบอนในผลนั้นชื่อ รวางคเพทาย จำพวกหนึ่งสีแดงแลน้ำในผลนั้นแดงดังปัทมราชชื่อ โควินทเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำแดงแลขาวปนกันชื่อ กตเพทาย จำพวกหนึ่งน้ำแดงแลดำเป็นต้น จำพวกหนึ่งแดงแลเหลืองปนกัน เพทายดังกล่าวมานี้ ถ้าดูน้ำและสีคล้ายเหมือนปัทมราช จะใคร่รู้ให้เอาเพทายกับปัทมราชมาสีกันดู ถ้ามีรอยชื่อเพทาย ถ้าหารอยมิได้เป็นปัทมราช นัยหนึ่ง ให้ฝนด้วยหินกากเพชรดู ถ้ามีรอยชื่อเพทาย นัยหนึ่งให้ทาปูนไว้สามวันจึงเอาน้ำมะพร้าวนาฬิเกล้างปูนออกดูผิว ถ้าผิดเพชรพลอยนั้นชื่อเพทาย ถ้าผิวเป็นปรกติอยู่ชื่อปัทมราช กล่าวเพทายสิ้นเท่านี้



จบ



หน้า ๒๓ ขึ้น



สันสกฤต


มุก๎ตา มาณิก๎ย ไวฑูร๎ย โคเมทา วัช๎รวิฑ๎รุเมา
ปัท๎มราโค มรกตํ นีลัศ๎เจติ ยถาก๎รมํ



ไทย


๑. เพชรดี (เพชรที่หนึ่ง)
๒. มณีแดง (ทับทิม)
๓. เขียวใสแสง มรกต
๔. เหลืองใสสด บุษราคัม
๕. แดงแก่ก่ำ โกเมนเอก
๖. ศรีหมอกเมฆ นิลกาฬ
๗. มุกดาหาร หมอกมัว
๘. แดงสลัว เพทาย
๙. สังวาลสาย ไพฑูรย์



เชิงอรรถ

  1. ไม่ใช่พระบาลีที่เป็นพระพุทธวจนะ เป็นความที่คัดมาจากสำนวนอรรถกถาซึ่งแก้ความในพระบาลีเดิมบางแห่งอันกล่าวถึงรัตนะ
  2. ประภัสสร ม. ประภาสวร ส. สีพรายแสงพราวเหมือนพระอาทิตย์แรกขึ้น
  3. แดงก่ำ
  4. เข้าใจว่า "หงสบาท" ม. มีคล้ายเท้าหงส์ คือ สีแดงเรื่อ หรือสีแสดก็ว่า
  5. แก้วหินสีขาว
  6. พลอยสีแดง พลอยทับทิม
  7. ม. จักกวาโก ส. จักรวาก นกจากพราก เป็นห่านหรือเป็ดชนิดหนึ่ง อังกฤษเรียก Brahminy duck บ้าง เรียก ruddy goose บ้าง ชื่อลาตินว่า anas casarca
  8. โดยมากเรียกว่า ต้นเส้ง มักเกิดในที่นา




ขึ้น

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก