ราชาธิราช (ราษฎร์เจริญ)/เล่ม 3

จาก วิกิซอร์ซ
ราชาธิราช
เล่ม ๓
ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ
ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา
ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา
เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลก ๆ เรื่อง
อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เปนสุกขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี
เจริญศรีศิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย
วัด รัตนโกสินทร์ เกาะ
ศก ๑๐๘

๏ หน้าต้น ๚ะ
๏ ราชาธิราช เล่ม ๓ ๚ะ

 ตั้งแต่พระยาอายลาวได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะเปนพระเจ้าช้างเผือก แล้วพระตะบะให้หนังสือไปถึงพระมหาราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ยกทัพมารวมกันตีเมืองเมาะตะหมะ ๚ะ


 ครั้นล่วงเข้าเวลาปัจฉิมยาม จึงเทพยดาอันสถิตสิงอยู่ในบวรเสวตรฉัตร์จึ่งบันดาลให้พระเจ้าฟ้ารั่วนิมิตร์ฝันว่า ซึ่งข้าศึกมาล้อมพระนครไว้ครั้งนี้ จะทรงพระวิตกไปไย พระยาช้างเผือกผู้ของพระองค์เปนชัยมงคลอยู่แล้ว ให้เร่งแต่งที่บนยอดเขาใกล้เมืองเมาะตะหมะประดับด้วยราชวัตร์ฉัตร์ธง แลให้เอาอ่างทองคำใส่น้ำตั้งพิธีแล้ว จึงประดับพระยาช้างด้วยเครื่องคชาภรณ์อันงาม เชิญขึ้นไปนะยอดเขาซึ่งตั้งพิธีนั้น พระยาช้างก็จะสูบเอาน้ำในอ่างทองพ่นออกไปทิศใด ปัจจามิตร์ที่อยู่ในทิศนั้นก็จะปราชัยไปทุกทิศ ครั้นพระเจ้าฟ้ารั่วตื่นจากที่พระประทมแล้ว ทรงพระดำริห์ว่า ชะรอยเทพยดาเจ้ามาบอกเหตุให้เราแล้วเปนมั่นคง จึงเสด็จออกสั่งให้แต่งที่ณะยอดเขาใกล้เมืองเมาตะหมะ เสร็จแล้วถึงเวลาอุดมฤกษ์ ก็ให้เชิญพระยาช้างขึ้นไปสถิตในโรงราชพิธี ๚ะ

 ฝ่ายพระยาช้างก็สูบเอาน้ำในอ่างทอง แล้วก็พ่นออกไปตามทิศซึ่งข้าศึกตั้งอยู่นั้น ช้างในกองทัพเมืองเชียงใหม่ได้ยินเสียงพระยาช้างเผือกพ่นน้ำออกไป ก็ตกใจ วิ่งเหยียบกองทัพ ๆ ก็แตกไป ชาวเมืองเมาะตะหมะก็เปิดประตูเมืองออกไปเก็บได้เครื่องสาตราวุธแลผู้คนม้าเปนอันมาก จำเดิมแต่ทัพเมืองเชียงใหม่แตกไปแล้ว ชาวเมืองเมาะตะหมะก็มีความสุขทั่วทุกชายหญิง ครั้นอยู่นานมา ชังคี ชังแง ซึ่งเปนบุตร์พระเจ้าตราพระยานั้น พระเจ้าฟ้ารั่วให้เชิญพานพระศรีองค์หนึ่ง เชิญพระเต้าน้ำองค์หนึ่ง ด้วยเห็นว่าเปนพระราชนัดดา หาแคลงพระทัยไม่ ใช้สรอยสนิทอยู่ วันหนึ่ง อำมาตย์ทั้งปวงจึงบอกชังคี ชังแง ว่า พ่อทั้งสองนี้หาเปนพระราชบุตร์พระเจ้าฟ้ารั่วไม่ เปนบุตร์พระเจ้าตราพระยาต่างหาก ชังคี ชังแง สงสัยนัก จึงไปทูลถามพระมารดา นางสินทยา ผู้เปนพระมารดา ก็บอกสมคำอำมาตย์ และแจ้งความแต่หลังให้ฟังทุกประการ ชังคี ชังแง ได้ฟังพระมารดาบอกดังนั้น ก็มีพระทัยโทมนัสเศร้าโศก จึงปรึกษากันพี่น้องว่า แต่พระราชบิดาเราท่านยังประหารชีวิตเสีย ตัวเราทั้งสองนี้ที่ไหนท่านจะรักใคร่ พี่น้องจึงคิดกันเปนขบถ เอามีดเหน็บซ่อนไว้ คอยดูท่วงทีซึ่งจะทำการ ครั้นพระเจ้าฟ้ารั่วเข้าที่บรรทมหลับสนิทอยู่ สองคนพี่น้องลอบย่องเข้าไป แล้วชักมีดเหน็บออกจะแทง พอนางนักสนมเห็น ร้องอื้ออึงขึ้น พี่น้องทั้งสองกลัว แทงเบาไป หาเข้าไม่ พระเจ้าฟ้ารั่วตกพระทัยตื่นขึ้นเห็น ชังคี ชังแง ก็วิ่งหนีไป จึงตรัสสั่งให้เสนาบดีตามไปจับ เสนาบดีทั้งปวงตามไปจับพระราชนัดดาทั้งสองได้ตำบลวัดเฉภาะ เอามาถวายพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงตรัสสั่งให้เอาไปประหารชีวิตเสีย แล้วจึงตรัสว่า แต่นี้ไป ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก จึงเปนคำโบราณสืบมาจนเท่าบัดนี้ พระเจ้าฟ้ารั่วเสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะได้ยี่สิบหกปี พระโรคเบียดเบียฬ ก็สวรรคตณวันพุธ ขึ้นหกค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช ๖๗๕ ปี เมื่อไปอยู่ณเมืองสุโขทัยประมาณกี่ปี แลเมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนมายุเท่าใด จดหมายในราชพงศาวดารรามัญหาปรากฏไม่ ๚ะ

 ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวงจึงเชิญพระศพพระเจ้าฟ้ารั่วเข้าถวายพระเพลิงในปราสาท กวาดเอาพระอัฐิและพระอังคารประมวญเข้าแล้ว ก่อพระเจดีย์สรวมลงไว้ กระทำเปนรูปนกยูงทองไว้หน้าพระเจดีย์ ๆ ยังประดิษฐานอยู่จนเท่าบัดนี้ แล้วเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตทั้งปวงจึงเชิญมะกะตา ผู้เปนพระอนุชาพระเจ้าฟ้ารั่ว ขึ้นครองสมบัติในศักราช ๖๗๕ ปีณวันเสาร์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนสาม ฤกษ์ยี่สิบ ครั้นมะกะตาได้เสวยราชสมบัติเปนใหญ่ในเมืองเมาะตะหมะแล้ว จึงให้แต่งพระราชสารกับเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตคุมไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ขอพระราชทานนาม พระร่วงเจ้าจึงตรัสถามราชทูตว่า มะกะตานี้เปนเชื้อวงศ์กษัตริย์อยู่หรือ ราชทูตทูลว่า เปนพระอนุชาพระเจ้าฟ้ารั้ว สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังก็มีพระทัยยินดี จึงพระราชทานพระนามลงในพระสุพรรณ์บัตร์ชื่อ พระเจ้ารามประเดิด ราชทูตรับพระสุพรรณ์บัตร์แล้ว ก็กราบถวายบังคมลามาถึงเมืองเมาะตะหมะ จึงถวายพระสุพรรณ์บัตร์แก่พระเจ้ามะกะตา ๚ะ

 ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ราชปะโรหิตทั้งปวงก็ตั้งพระราชพิธีราชาภิเศกมะกะตาเปนกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ารามประเดิด ๆ จึงให้สร้างสะโตงแลเมืองวาน แล้วโปรดให้สมิงยีรามะละไปกินเมืองวาน ๚ะ

 ขณนั้น พระเจ้าเชียงใหม่จึงแต่งให้เสนาบดีเปนแม่ทัพมาตีเมืองวาน ๆ แตก สมิงยีรามะละตาย แลพระเจ้ารามประเดิดนั้นได้เสวยราชสมบัติแล้วเกียจคร้าน มิได้เอาพระทัยใส่ในราชกิจ ๚ะ

 ฝ่ายสมิงมังละคิด ซึ่งเปนผัวนางอุ่นเรือน น้องสาวพระเจ้าฟ้ารั่ว พี่เขยพระยารามประเดิดนั้น คิดกันกับภรรยาว่า พระยารามประเดิดเกียจคร้าน มิได้เอาพระทัยใส่ในราชการแผ่นดิน อุบประมาดังต้นไม้อันหาผลมิได้ มิดังนั้น ประดุจดอกไม้อันปราศจากกลิ่นหอม ก็หาประโยชน์มิได้ เมื่อตัวความคิดน้อยแล้วสิประกอบด้วยความเกียจคร้านเล่า แต่ทัพเสนาบดียกมาเพียงนี้ยังได้ความเดือดร้อนทั้งพระนครแล้ว ถ้ามีศึกกษัตริย์ใหญ่หลวงมา จะมิเสียพระนครเปนชะเลยเสียหรือ ทั้งพระยาช้างเผือกก็จะได้ไปแก่ข้าศึก จะนิ่งอยู่ให้ครองสมบัติสืบไปมิได้ จำจะยกเสียจากราชสมบัติ ครั้นคิดกันแล้ว จึงแต่งเปนกลอุบายให้กรมช้างเอาเนื้อความกราบทูลว่า มีช้างตัวหนึ่งสามงา ๆ หนึ่งออกที่กระพอง เที่ยวกินหญ้าอยู่ป่าริมพระลาน พระยารามประเดิดได้ทรงฟัง สำคัญว่าจริง มิได้มีความสงสัย ก็ดีพระทัย จึงสั่งให้เอาช้างต่อแลเชือกบาศข้ามไปฟากเทืองเมาะลำเลิงแล้ว ส่อนพระองค์ก็เสด็จข้ามไปด้วยพวกพลพอประมาณ หมายจะจับช้างตัวประหลาด เมื่อข้ามไปมิได้พบช้างสำคัญแล้ว จะเสด็จกลับคืนเข้าเมือง ประตูเมืองเขาก็ปิดเสีย เข้าพระนครมิได้ สมิงมังละคิดก็ให้จับพระยารามประเดิดฆ่าเสีย พระยารามประเดิดได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะสองปี ในศักราช ๖๗๖ ปี แต่กษัตริย์ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะสวรรคตล่วงไปสองพระองค์แล้ว จึงสมิงมังละคิดจะคิดเอาราชสมบัติ ๚ะ

 ฝ่ายนางอุ่นเรือน ภรรยานั้น จึงว่า ธรรมดาขึ้นชื่อว่าเปนเจ้าแผ่นดินนี้ ต้องประพฤติให้องอาจดุจหนึ่งพระยาไกรสรสีหราช เสนาบดีพลเมืองจึงเกรงกลัว บัดนี้ พระองค์ก็ทรงพระชราภาพอยู่แล้ว จะมีผู้ใดเกรงกลัวหามิได้ ลูกชายเราก็มีอยู่สองคน ลูกชายใหญ่นั้นจะให้เปนพระยาเสวยราชสมบัติแล้ว เราสองคนก็จะพึ่งพาอาศัยได้ถนัด ไพร่ฟ้าข้าเฝ้าทั้งปวงก็จะเกรงกลัวฉันเดียวกัน ครั้นปรึกษาเห็นชอบด้วยกันแล้ว จึงอุภิเศกเจ้าอาว ซึ่งเปนบุตร์ชายใหญ่นั้น ให้ครองราชสมบัติณวันอาทิตย์ ขึ้นหกค่ำ เดือนยี่ ศักราช ๖๗๖ ปี จึงแต่งพระราชสารกับเครื่องราชบรรณการให้ราชทูตคุมไปถวายทูลขอพระนามสมเด็จพระร่วงเจ้า ๆ จึงพระราชทานนามลงพระสุพรรณ์บัตร์ชื่อ พระเจ้าแสนเมืองมิง แลพระราชธิดาสมเด็จพระร่วงเจ้าซึ่งเปนมะเหษีพระเจ้าฟ้ารั่วนั่น สมิงมังละคิดก็เอามาเปนภรรยา สมิงมังละคิดให้ปลูกตำหนักใหญ่หลังหนึ่งบนยอดเขาฟังปู แล้วให้เขียนเปนรูปต่าง ๆ อยู่มาวันหนึ่ง สมิงมังละคิดออกไปเล่นน้ำในสระ ฝ่ายข้าสาวซึ่งอยู่ในตำหนักนั้นนอนกลางวันมิได้ปิดหน้าต่าง เมื่อจะเกิดเหตุนั้น กาคาบเอาเนื้อย่างซึ่งไฟติดอยู่นั้นมาจับกินที่หน้าต่าง ไฟตกลงติดเชื้อเข้า ก็ไหม้ตำหนักขึ้น นางห้ามทั้งหลายซึ่งอยู่ในตำหนักนั้นหนีไม่ทัน ก็ตายในไฟ ๚ะ

 ฝ่ายสมิงมังละคิดกลับเข้ามาเห็นนางห้ามทั้งปวงถึงแก่ความตายดังนั้น จึงให้เอาศพนั้นมากองมั่วสุมไว้ เอาไม้ซึ่งเหลือไฟไหม้นั้นมาเผาศพนั้นเสีย ฝ่ายพระเจ้าแสนเมืองมิงกับแม่นางตะปีนั้นอยู่ด้วยกัน มีพระราชบุตร์องค์หนึ่งชื่อ อายกำกอง ครั้นอยู่มา มีพระราชบุตร์อีกองค์หนึ่งชื่อว่า นางโอกัลยาณ์ พระเจ้าแสนเมืองมิงมีราชบุตร์สององค์ ๚ะ

 ฝ่ายสมิงมังละคิดแลนางอุ่นเรื่องซึ่งเปนบิดามารดาก็ถึงแก่กาลกิริยาไปสู่ปะระโลกย์ในปีนั้น ในศักราช ๖๘๐ ปี พระยาแสนเมืองมิงยกไปตีเมืองลำภูลประการ ได้เมืองลำภูลประการ แล้วยกไปตีเมืองทวาย ก็ไดเมืองทวาย จึงให้ขุนลังกาไปตีเมืองตะนาวศรี ก็เมืองตะนาวศรี แต่พระยาแสนเมืองมิงได้เสวยราชสมบัติอยู่สิบสี่ปี จะได้มีข้าศึกมาย่ำยีหามิได้ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเปนสุข พระยาแสนเมืองมิงนั้นโลภในการเมถุนธรรมนั้น ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ ก็ถึงแก่พิราลัย ศักราช ๖๘๑ ปี แต่กษัตริย์ได้ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะ ได้พระนามในพระสุพรรณ์บัตร์มาแต่เมืองศุกโขไทยเปนสามพระองค์ จึงเจ้าชีพ เปนพระอนุชาพระเจ้าแสนเมืองมิง ได้เสวยราชสมบัติสืบมา รับพระนามว่า พระเจ้ารามมะไตย แลราชธิดาของพระเจ้ารามประเดิด ซึ่งเปนน้องพระเจ้ารามมะไตยองค์หนึ่งนั้น ชื่อว่า แม่นางอำปะแล แม่นางตะปี ซึ่งเปนมะเหษีพระเจ้าแสนเมืองมิง ผู้เปนพี่สะใภ้นั้น พระเจ้ารามมะไตยเอานางทั้งสองคนนี้มาเลี้ยงเปนอรรคมะเหษี อยู่มา จึงให้ไปสร้างเมืองตะเกิงและเมืองวากะเหมาะอยู่ข้างทิศอุดรเมืองพะโค ๚ะ

 ครั้นอยู่มา ไทยห้าร้อยหนีออกไปแต่เมืองเพ็ชร์บูรี ไปสู่สมภารพระเจ้ารามมะไตย ๆ ถามว่า เหตุไฉนจึงมาสู่สมภารเรา ไทยห้าร้อยจึงทูลว่า ข้าพเจ้ารู้ข่าวเลื่องลือไปว่า พระองค์มีความรักใคร่ในข้าราชการและทหารยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงเข้ามาสู่สมภาร พระเจ้ารามมะไตยได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย จึงพระราชทานรางวัลแก่ไทยห้าร้อยเปนอันมาก โปรดให้ชีปอน ข้าหลวงเดิม เปนใหญ่แก่ไทยห้าร้อย ครั้นอยู่มา สมิงอายกำกอง ซึ่งเปนพระราชบุตร์พระเจ้าแสนเมืองมิงเกิดด้วยแม่นางตะปีนั้น เปนคนหยาบช้า พระพฤติ์พาลทุจริต พระเจ้ารามมะไตย ผู้เปนบิดาเลี้ยง ให้เอาไปจำไว้ ให้ริบเอาทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปะโภคบริโภคเสียสิ้น ครั้นอยู่มา ภรรยาของอายกำกองคลอดบุตร์เปนชาย พระเจ้ารามมะไตยทรงเมตตาแก่กุมารผู้เปนหลานนั้น จึงพระราชทานทรัพย์สิ่งของ ๆ อายกำกองผู้บิดาคืนให้กุมารที่คลอดนั้น ครั้นกุมารวัฒนาการจำเริญใหญ่ขึ้นมา พระเจ้ารามมะไตยจึงพระราชทานนามชื่อ สมิงเจ้าอายปราสาท ๆ มีบุตร์สี่คน ๆ หนึ่งชื่อ ยีจาน พระเจ้ารามมะไตยโปรดให้กินเมืองพะสิม คนหนึ่งชื่อ อายพะบูญ โปรดให้กินเมืองนครเพน คนหนึ่งชื่อ เลิกพร้า โปรดให้กินเมืองมองมะละ คนหนึ่งชื่อ อุเลว โปรดให้กินเมืองเมาะลำเลิง แล้วพระเจ้ารามมะไตยให้เจ้าอายพะบูญไปตีเมืองทวาย ส่วนพระองค์นั้นยกไปตีเมืองตะนาวศรีแตก ได้เมืองตะนาวศรีแล้วกลับเข้ามาในปีนั้น แล้วให้ยีจานยกไปตีเมืองมะเริง ได้เมืองมะเริงแล้ว ก็ให้อยู่กินเมืองมะเริง ๚ะ

 ฝ่ายพระเจ้ารามมะไตยเกิดพระราชบุตร์ด้วยนางอำปะสามพระองค์ พระราชบุตร์ผู้ใหญ่นั้น เมื่อประสูตร์เกิดจันทรุปราคา พระราชบิดามารดาพระวงศาจึงพระราชทานนามชื่อ พระนางจันทมังคะละ อยู่มาพระชนม์ได้สี่ขวบห้าขวบ พระนางจันทมังคะละสิ้นพระชนม์ พระราชบุตร์ถัดมาพระองค์หนึ่ง เมื่อจะประสูตร์มีเหตุอัศจรรย์ พระเจ้ารามมะไตย ผู้เปนพระราชบิดา ให้สร้างกุฎีเจ็ดหลังถวายพระสงฆ์แล้วเสร็จแต่ในวันเดียว แล้วมีผู้นำเอาผลมะเดื่อใหญ่ประมาณสามกำมาถวาย ผลมะเดื่อนั้นรามัญเรียกว่า วิ อาไศรยตัววิอักษรกับกุฎีเจ็ดหลังซึ่งสร้างแล้วนั้น จึงถวายพระนามชื่อว่า วิหารเทวี พระราชบุตร์องค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า มุนะ ครั้นต่อไปในเบื้องหน้า พระราชบุตร์ชื่อว่า มุนะ นี้ ได้ครองราชสมบัติ คนทั้งปวงก็เรียกพระวิหารเทวีนั้นชื่อว่า พระมหาเทวี เหตุว่าเปนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้ารามมะไตยเกิดพระราชบุตร์ด้วยแม่นางตะปีสองพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อว่า มิฉาน เปนพระราชบุตรี พระราชบุตร์รององค์หนึ่งชื่อว่า มังลังกา ครั้นมังลังกาค่อยจำเริญขึ้นมา พระราชบิดาให้ยกทัพไปตีเมืองทวาย ก็ได้เมืองทวาย อยู่มาครั้งหนึ่ง ชีปอนซึ่งได้คุมไทยห้าร้อยเปนกำลังคิดกลอุบายปลูกเรือนฝากะดานน้อยเรือนหนึ่ง ครั้นเรือนแล้ว จึงไปทูลเชิญพระเจ้ารามมะไตยว่า ขอเชิญพระองค์เสด็จไปเหยียบเรือนข้าพเจ้าให้เปนเกียรติยศไว้ พระเจ้ารามมะไตยก็ทรงพระเมตตาแก่ชีปอนว่า เปนข้าหลวงเดิมมา แล้วก็ได้เลี้ยงพระองค์มาแต่ยังเยาว์อยู่นั้น หาความสงสัยพระทัยไม่ ก็เสด็จลงไปสู่เรือนชีปอน ๆ กับไทยห้าร้อยก็จับพระเจ้ารามมะไตยฆ่าเสีย พระเจ้ารามมะไตยก็สวรรคต พระเจ้ารามมะไตยได้เสวยราชสมบัติในศักราช ๖๘๑ ปี เสวยราชได้แปดปี ทิวงคตในศักราช ๖๘๙ ปี แต่กษัตริย์ได้เสวยราชในเมืองเมาะตะหมะตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วมาจนพระเจ้ารามมะไตยเปนสี่พระองค์ด้วยกันในเมืองเมาะตะหมะ ๚ะ

 ฝ่ายแม่นางอำปะ พระอรรคมะเหษีเอก อันตั้งพระนามชื่อว่า นางจันทะมังคะละ นั้น กับนางนักสนมทั้งปวง จึงลอบเอาเงินทองไปให้แก่เสนาคนหนึ่งชื่อว่า เจตะสงคราม ให้คิดฆ่าชีปอนเสีย เจตะสงครามรับเงินทองแล้ว ก็ยกไปฆ่าชีปอนเสีย แลชีปอนได้เปนใหญ่ในเมืองเมาะตะหมะได้เจ็ดวันตายในศักราช ๖๘๘ ปี แต่กษัตริย์ได้ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะเปนห้าพระองค์ ครั้นชีปอนตายแล้ว อายกำกอง ผู้เปนราชบุตร์พระเจ้าแสนเมืองมิง ซึ่งเปนหลานพระเจ้ารามมะไตย ๆ ให้จำไว้นั้น ครั้นอยู่มา นางจันทะมังคะละให้ถอดออกจากโทษ ยกราชสมบัติให้ อายกำกองได้ราชสมบัติแล้ว มิได้กะตัญญูรักใคร่นางจันทะมังคะละ ๆ ลอบเอายาพิษใส่ให้อายกำกองกิน อายกำกองถึงแก่ความตาย แต่กษัตริย์ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะได้หกพระองค์ ครั้นอายกำกองถึงแก่อาสัญกรรมแล้ว พระยาอายลาวเปนใหญ่อยู่ในเมืองสะโตง แล้วยกไปอยู่เมืองพะโค มีบุตร์ชายคนหนึ่งชื่อ อายลอง นางอำปะให้ไปเชิญมา จะยกราชสมบัติให้ พระยาอายลาวจึงพาเอาอายลองซึ่งเปนบุตร์ไปเมืองเมะตะหมะด้วย พระยาอายลาวก็เอานางอำปะภิเศกเปนพระอรรคมะเหษี พระยาอายลาวได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาตะมะ ๆ กับเมืองศุกโขไทยขาดทางพระราชไมตรีกันแต่นั้นมา ๚ะ

 ขณะนั้น ในเมืองเมาะตะหมะ เมืองพะโค เมืองสะโตง เมืองพะสิมนั้น บังเกิดเข้ายากหมากแพง อาณาประชาราษฎรนั้นล้มตายเปนอันมาก พระยาช้างเผือกก็งาหัก ครั้นอยู่มา พระยาอายลาวจึงทรงพระดำริห์ว่า ถ้ากูล่วงลับไปแล้ว มุนะ ผู้เปนบุตร์นางตะปี กับลูกกูนี้ ใครจะได้ราชสมบัติ จำกูจะลองความคิดคนทั้งสองดู ทรงพระดำริห์แล้ว ทำเปนทรงพระประชวร มิให้พระอรรคมะเหษีแลนางนักสนมเข้าใกล้ ให้แต่คนที่ไว้พระทัยเข้าใช้ใกล้พระองค์แต่สองคนสามคน ครั้นอยู่มา ทำประชวรหนักลง นางนักสนมจึงพูดแก่กันแพร่งพรายไปว่า ทรงพระประชวรหนักลง ๚ะ

 ฝ่ายอายลอง พระราชโอรสนั้น คุมพลทหารไปจับมุนะ ๆ ตีแตกมา แล้วมุนะยกพวกพลติดตามมา จะจับเอาอายลอง พระเจ้าอายลาวเห็นวุ่นวาย จึงร้องตวาดออกมาว่า อ้ายสองคนพี่น้องทำไมกัน ฝ่ายทหารมุนะได้ยินพระสุระเสียงพระยาอายลาวร้องตวาดออกมา ก็วิ่งหลบลี้หนีไป พระยาอายลาวทำอาการประดุจหนึ่งทรงพระโกรธแก่มุนะว่า พวกพ้องข้าไทยมันมาก มันจึงทำข่มเหงแก่ลูกกูได้ถึงเพียงนี้ จึงสั่งให้จำมุนะไว้ ครั้นอยู่มา นางจันทะมังคะละกับนางสะเจียงทูลขอโทษมุนะ พระยาอายลาวโปรดให้มุนะพ้นโทษ ครั้นอยู่มา อายลอง พระราชโอรสพระเจ้าอายลาว เปนอะหิวาตะกะโรคดับสูญสิ้นพระชนม์ พระยาอายลาว ผู้เปนพระราชบิดา ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะได้สิบแปดปี ลุศักราช ๗๐๗ ปีก็สวรรคต ตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วครองราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะ ได้ช้างเผือกผู้เปนปถมราชพาหนะ มาตราบเท่าพระยาอายลาว ลำดับกษัตริย์ต่อกันมาพระนามปรากฎเรียกว่า พระเจ้าช้างเมือง ทุกพระองค์ ล่วงไปเปนเจ็ดพระองค์ด้วยกัน แลพระองค์ซึ่งเปนคำรบแปด คือ มุนะ ได้ราชาภิเศกในราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อว่า พระเจ้าอู่ ๚ะ

 อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าอู่เสด็จไปคล้องช้างเมืองพะโค เมื่อเสด็จกลับมานั้น พบสตรีผู้หนึ่งอยู่ในสวนกล้วย เปนบุตรีชาวสวนกล้วย มีลักษณงามหาที่เปรียบมิได้ ชื่อว่า เม้ยโกศก แปลเปนคำไทยว่า นางผมงาม พระเจ้าอู่มีพระทัยเสน่หารักใคร่ในนางนั้นนัก จึงให้ตกแต่งมรรคาสลับไปด้วยราชวัตร์ฉัตร์ธงต้นกล้วยต้นอ้อย มีร้านน้ำสองข้างมรรคา รับสตรีนั้นเข้ามาเมืองเมาะตะหมะ เลี้ยงเปนพระสนมเอก ให้ชื่อว่า นางอำเปอ ๚ะ

 ขณะนั้น ชาวเมืองทั้งปวงซึ่งได้เห็นรูปนางนั้นก็ตบมือรำทำเพลงว่า ตักกะตอยลัดอูรูปะนะโกลนโกญปะราตะลาญ แปลเปนภาษาไทยว่า นางรูปงามทรามสวาทผาดหน้าดีมีศรีแก่นางทั้งหลาย ลูกชาวบ้านกล้วยป่า แลนางอำเปอนั้นพระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกเปนที่เสน่หารักใคร่ยิ่งนัก ครั้นอยู่มา นางจันทะมังคะละ ซึ่งเปนอรรคมะเหษี ตาย จึงตั้งให้นางอำเปอขึ้นเปนอรรคมะเหษี ให้ชื่อว่า นางจันทะมังคะละ ๚ะ

 ฝ่ายอำมาตย์คนหนึ่งนั้น มีบุตร์คนหนึ่งชื่อว่า มะสามบุญ ๆ มีลูกหญิงสี่คน ๆ หนึ่งชื่อว่า มุเอียด คนหนึ่งชื่อว่า มุกอ คนหนึ่งชื่อว่า มุชีพ คนหนึ่งชื่อว่า มุเตียว ทั้งสี่คนนั้น อำมาตย์ผู้เปนบิดาเอาขึ้นไปถวายพระเจ้าอู่ ๆ รับเอาไว้คนหนึ่งชื่อว่า มุเตียว เปนน้องที่สุด แล้วพระราชทานให้มังลังกา ตั้งมังลังกาเปนชื่อ ยี่กองสิ้น ให้ไปกินเมืองพะโค แลมุเตียวนั้นมีบุตร์คนหนึ่งชื่อว่า บุญลาภ ครั้นจำเริญอายุขึ้นมา พระเจ้าอู่โปรดให้ไปกินเมืองตะเกิง พระเจ้าอู่เสวยราชได้สามปี ในศักราช ๗๑๐ ปี พระเจ้าเชียงใหม่จึงแต่งกองทัพแปดทัพ ๆ ละหมื่น ให้อูพิดเปนแม่ทัพยกลงไปตีเมืองเมาะตะหมะ แลกองทัพยกไปตีเมืองสะโตง เมืองตักคลา เมืองวาน เมืองยางิน เมืองนครเถิง เมืองเหล่านี้แตกหมด มาตั้งกองทัพอยู่ณบ้านปลายไผ่แปดทัพ ใกล้เมืองเมาตะมะทางสองร้อยเส้น ชาวเมืองเมาะตะหมะออกไปหาเข้าปลาอาหารก็ขัดสน สมณะชีพราหมณ์แลเสนาพฤฒามาตย์ราษฎรก็ได้ความร้อนรนนัก จึงมาประชุมปรึกษาพร้อมกันว่า แต่ก่อนเปนบุพะจารีตสืบมา ถ้าจะมีศึกสงครามมาแต่ประเทศทิศใด ก็ย่อมให้แต่งบวงสรวงพลีกรรมบูชาเทพยดาอารักษ์พระเสื้อเมืองทรงเมืองกับพระยาช้างเผือก ข้าศึกก็จะพ่ายหนีไป ปะโลหิตจึงเอาเนื้อความทั้งนี้ขึ้นไปบังคมทูลพระเจ้าอู่ ๆ แจ้งแล้ว ครั้นเวลากลางคืน เทพยดาเจ้าอันรักษาพระยาช้างเผือกจึงบันดาลให้พระเจ้าอู่ทรงสุบินนิมิตร์ว่า ให้ทำต้องกันกับปะโรหิตกราบทูล ครั้งพระเจ้าอู่ตื่นบรรทมขึ้น แจ้งในนิมิตร์แล้ว ก็มีความยินดีนัก จึงให้อาราธนาสมณะชีพราหมณ์ ให้ปลูกศาลบวงสรวงเทพารักษ์กับโรงพระยาช้างเผือกบนยอดเขาใกล้เชิงกำแพงเมือง แล้วให้ล้อมด้วยราชวัตร์ฉัตร์ธง จึงให้ประดับพระยาช้างเผือกด้วยเครื่องคชาอาภรณ์อันอลงการ แล้วเชิญเข้าสถิตในโรง ยืนเหนือแผ่นสิลา บ่ายหน้าไปต่อราชสัตรู แล้วให้เอาอ่างทองคำมาใส่น้ำพระพุทธมนตร์ตั้งไว้ตรงหน้าพระยาช้างเผือก ปะโรหิตจึงอธิษฐานว่า ขอให้พวกอรินทรราชไพรีพ่ายแพ้หนีไปด้วยอำนาจพระเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินแลอำนาจพระยาช้างเผือก ๚ะ

 ฝ่ายพระยาช้างเผือกก็เอางวงสูบในอ่างทอง พ่นน้ำออกไปโดยทิศข้าศึกตั้งนั้น ฝ่ายรี้พลช้างม้ากองทัพเมืองเชียงใหม่ซึ่งประชิดเมืองเมาตะหมะนั้นก็ตกใจตื่นเหยียบผู้คนอลหม่านไป ครั้นพระเจ้าอู่แจ้งเหตุดังนั้นแล้ว จึงให้ยกกองทัพออกโจมตีกองทัพเมืองเชียงใหม่ ๆ ก็แตกพ่ายไป ทิ้งเครื่องสาตราวุธเครื่องอุบประโภคบริโภคเสียสิ้น ทหารแลอาณาประชาราษฎรในเมืองออกเก็บเอาของที่กองทัพทิ้งเสียนั้นได้เปนอันมาก ๚ะ

 ขณะนั้น เมืองเมาะตะหมะมีชัยแก่ข้าศึกเพราะพระยาช้างเผือก ครั้งนั้น จึงทรงพระนามชื่อว่า พระยาอู่พระเจ้าช้างเผือก ครั้งอยู่มา พระเจ้าช้างเผือกทรงพระราชศรัทธาจะใคร่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป จึงให้แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสารแลเครื่องราชบรรณาการบรรทุกสำเภาออกไปขอพระบรมสาริกะธาตุณเมืองลังกาทวีป พระเจ้าลังกาครั้นแจ้งแล้วก็ทรงพระโสมนัสยินดีมีศรัทธาด้วยพระเจ้าช้างเผือก ก็สั่งให้จัดแจงเชิญเสด็จพระบรมสาริกะธาตุให้แก่ราชทูตมาเปนอันมาก พระเจ้าช้างเผือกจึงให้สร้างพระสถูปกะลอมปอน แปลเปนภาษาไทยว่า พระเจดีย์ใหญ่ร้อยอ้อม จึงเชิญพระสาริกะธาตุบรรจุไว้ แล้วให้หล่อรูปฉลองพระองค์ แลรูปพระอรรคมะเหษี รูปพระมหาเทวีอันเปนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ แลรูปนางนักสนมแลเสนาบดีแล้วไปด้วยทองคำ ตั้งไว้บูชาพระสถูปซึ่งบรรจุพระบรมสาริกะธาตุ จึงถวายพระนามพระสถูปนั้นเรียกว่า พระเจดีย์กะลอมปอน ก็ปรากฎอยู่ณะเมืองเมาะตะหมะมาจนเท่าบัดนี้ แลพระเจ้าช้างเผือกได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะหมะได้หกปี ๚ะ

 ขณะนั้น ศักราชได้ ๗๑๖ ปี นายช้างเอาช้างเผือกลงน้ำ ให้เกิดอัศจรรย์เปนพะยุพัดหนัก อากาศมืดมน ช้างนั้นก็อันตระธานหายไป ครั้นพระเจ้าช้างเผือกแจ้งดังนั้น ก็ทรงพระวิตก มีพระทัยเศร้าหมองยิ่งนัก ๚ะ

 ขณะนั้น ยังมีหมอช้างคนหนึ่งมากราบทูลว่า ในป่าละภูนั้นมีช้างใหญ่ตัวหนึ่ง รอยเท้าได้ศอกขนาด ควรที่จะเปนช้างพระที่นั่งได้ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกแจ้งเนื้อความซึ่งหมอช้างมากราบทูลดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีนัก จึงพระราชทานรางวัลให้แก่หมอช้างผู้นั้นเปนอันมาก แล้วพระเจ้าช้างเผือกจึงสั่งให้เกณฑ์เอาพระตะเบิด พี่เขยซึ่งกินเมืองตะเกิง แลอำมาตย์ปานจอ ซึ่งกินเมืองวาน สมิงนารายน์ ซึ่งกินเมืองสะโตง มะสาม น้องสมิงชีพราย ซึ่งกินเมืองตักคลา เจ้าพระลักษณ์ กินเมืองเสพ ทั้งห้าเมือง มาพร้อมกันเปนคนหกหมื่นเศษ พระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จไปป่าละภูกับทั้งพระราชบุตร์ พระราชธิดา พระราชวงศานุวงศ์ แลพระอรรคมะเหษีนางพระสนมกรมในทั้งปวง เสด็จอยู่ณป่าละภูประมาณสี่เดือน มะละคอน น้องชายสมิงเลิกพร้านั้น ก็ไปตามเสด็จด้วย ๚ะ

 ฝ่ายพระตะบะ ผู้รักษาเมืองเมาะตะหมะนั้น ภายหลังคิดกันทำการขบถต่อพระเจ้าช้างเผือก ส่วนตัวพระตะบะนั้นแข็งเมืองเมาะตะหมะ อายพะบูญ ผู้น้อง แข็งเมืองนครเพน อุเลวนั้นแข็งเมืองเมาะลำเลิง สมิงเลิกพร้านั้นแข็งเมืองมองมะละ พระตะบะนั้น เหตุว่ามีลูกหลานมาก จึงคิดร้ายต่อพระเจ้าช้างเผือก ๆ เสด็จล้อมช้างอยู่ณป่าละภูนั้น ทอดพระเนตร์เห็นดาวกฤติกา ซึ่งโลกย์สมมุติเรียกว่า ดาวลูกไก่ นั้น เข้าในดวงพระจันทร์ จึงตรัสถามราชาปะโรหิตว่า เหตุนี้จะเปนประการใด สมิงขะเจียงสะมิต โหร จึงกราบทูลทำนายว่า เปนประเพณีสืบมา พระจันทร์เปนใหญ่กว่าดาวทั้งปวง ถ้าดาวดวงใดใกล้พระจันทร์แล้ว รัศมีพระจันทร์ก็กลบสีดาวลบหายไป อันพระจันทร์ดุจพระมหากษัตราธิราชเจ้า ดาวนั้นดุจดังเสนาบดีทั้งปวงซึ่งเปนบริวารพระมหากษัตริย์ ครั้นเข้าใกล้พระมหากษัตริย์แล้ว อานุภาพก็หายไป บัดนี้ ดาวกฤติกาเข้าใกล้ดวงพระจันทร์ตลอดไป รัศมีก็สว่างอยู่ หามลทินมิได้ พระจันทร์ก็ส่องสว่างอยู่ด้วยกันดังนี้ ต้องในคัมภีร์โหรว่า เสนาบดีจะคิดขบถประทุษฐร้ายต่อพระองค์ ซึ่งจะเข้าอยู่ในป่านี้ ข้าศึกจะมีกำลังมากขน ไพร่พลในกองทัพก็เจ็บป่วยเปนอันมาก ขอเชิญเสด็จพระองค์ยกกองทัพกลับคืนพระนคร พระเจ้าช้างเผือกเห็นชอบด้วย ๚ะ

 ครั้นเวลารุ่งเช้า พระเจ้าช้างเผือกก็สั่งให้ยกกองทัพกลับมา ครั้นถึงบ้านปลายไผ่ ริมเมืองเมาะตะหมะ พระตะบะรู้ จึงให้ปิดประตูเมืองไว้ พระเจ้าช้างเผือกแจ้งเหตุแล้ว จึงสั่งทหารสมิงนารายน์ว่า เราจะยกเข้าตืเมืองเมาะตะหมะ พระเจ้าช้างเผือกกับเสนาบดีจัดไพร่พลพร้อมแล้ว ก็ยกเข้าถึงประตูเมือง ชาวเมืองเมาะตะหมะเห็นพระเจ้าช้างเผือกก็ตกใจกลัวนัก จะใคร่เปิดประตูเมืองให้ แลพี่น้องเม้ยคะชาอิด ซึ่งเปนนางท้าวข้างใน ชวนกันเปิดประตูจะรับพระเจ้าช้างเผือก ๚ะ

 ขณะนั้น มะอายพะบูญ ผู้น้องพระตะบะซึ่งร่วมคิดด้วยพี่ชาย ขี่ช้างพลายกับทหารพันหนึ่งมาถึงประตูนั้น ให้จับพวกเม้ยคะชาอิดตัดศีร์ษะเสีย แล้วเอาไปตระเวรตีฆ้องร้องว่า ถ้าผู้ใดกระทำดังนี้อีก มิได้รักษาหน้าที่เชิงเทิน จะให้ลงพระราชทัณฑ์ตัดศีร์ษะเสีย ชาวเมืองทั้งปวงเห็นดังนั้นก็กลัวอาญา ก็รักษาหน้าที่เชิงเทินไว้เปนสามารถ ๚ะ

 ฝ่ายกองทัพพระเจ้าช้างเมืองจะหักหาญรบเข้าไปในเมืองนั้นมิได้ เสนาบดีข้างพระเจ้าช้างเผือกก็ร้องเรียกบุตร์ภรรยาเข้าไป ฝ่ายพระตะบะรู้ ก็จับเอาบุตร์ภรรยาเสนาบดีซึ่งอยู่ด้วยพระเจ้าช้างเผือกมัดแขวนขึ้นไว้ให้เห็น ฝ่ายนายทัพนายกองข้างพระเจ้าช้างเผือเห็นบุตร์ภรรยาต้องผูกมัดเจ็บช้ำลำบากอยู่ ต่างคนต่างสงสาร นิ่งอยู่มิได้ ก็หนีพระเจ้าช้างเผือกเข้าไปหาบุตร์ภรรยาของตนบ้าง ๚ะ

 ฝ่ายพระตะบะก็ให้ปล่อยลูกเมียนายทัพนายกองซึ่งมัดไว้นั้นออกเสีย แล้วให้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้หนีเข้ามานั้นเปนอันมาก ผู้ซึ่งไม่เข้ามาหานั้น พระตะบะให้ทำโทษบุตร์ภรรยามากขึ้น ครั้นเวลากลางคืน ทหารในกองทัพพระเจ้าช้างเผือกก็หนีเข้าไปในเมืองเปนอันมาก แต่สมิงราชสังครำคนหนึ่งนั้นคิดกตัญญูต่อพระเจ้าอู่พระเจ้าช้างเผือกว่า พระองค์เลี้ยงดูได้ดีมา จะหนีเข้าไปหาพระตะบะเหมือนคนทั้งปวงหาควรไม่ ถึงพระตะบะจะทำโทษแก่บุตร์ภรรยาสักเท่าใด ก็เปนเวรานุเวรเขาทำมาแต่ก่อนเอง จะเอาเวรเขามาใส่เวรเราไดหรือ จำจะอาสาไปกว่าจะสิ้นชีวิต จึงสมิงละมอญ เปนเสนาบดีผู้น้อยคนหนึ่ง เข้าไปกราบทูลแก่พระเจ้าช้างเผือกว่า คนหนีเข้าไปในเมืองเปนอันมาก กองทัพเราเบาบางไป ที่ยังมาข้างหลังก็มามิทัน เห็นไพร่พลอิดโรยเหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าเจ็บปวดเปนอันมาก บรรดานายทัพนายกองที่เปนคนต่างพระเนตร์พระกรรณ์ของพระองค์ซึ่งไปอยู่เมืองพะโคนั้นให้หามาก็ยังมามิทัน พระองค์จะเสด็จอยู่นี่นานไป กำลังศึกเราจะน้อยไป ข้าพระพุทธเจ้าจะขอเชิญเสด็จพระองค์ไปตั้งทัพณเมืองวานก่อน เมื่อใดพระตะเบิด พี่เขยพระองค์ซึ่งกินเมืองตะเกิงนั้น มาถึงพร้อมกัน กำลังศึกเรามากแล้วเมื่อใด จึงเชิญเสด็จยกโยธาทหารมาตีเมืองเมาะตะหมะเมื่อนั้น อันพระตะบะนี้เปรียบประดุจสุนัขจิ้งจอกอันน้อย จะมาสู้พระองค์ซึ่งเปนพระยาราชสีห์ได้ฉันใด ๚ะ

 ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกได้ฟังสมิงสะมอญกราบทูลดังนั้น เห็นชอบด้วย จึงสั่งให้กวาดต้อนครอบครัวซึ่งอยู่นอกเมืองนั้นให้ล่วงไปอยู่เมืองวาน แล้วพระองค์ก็ยกกองทัพไปตั้งมั่นอยู่เมืองวาน แลเมืองเมาะตะหมะกับเมืองวานทางไกลกันสองวัน ฝ่ายพระตะเบิด พี่เขย แลนายทัพนายกองน้อยใหญ่ซึ่งอยู่ณะเมืองตะเกิงนั้น ก็ยกมาถึงเมืองวานพร้อมกัน พระเจ้าช้างเผือกจึงสั่งให้ก่อกำแพงตั้งเมืองวาน ๚ะ

 ขณะนั้น ศักราช ๗๑๗ ปี พระเจ้าช้างเผือกตั้งอยู่ณเมืองวาน ให้หาเสนาบดีมาพร้อมกัน พอเปนฤดูฝน ไพร่พลไม่ได้ทำนา ครั้นรุ่งขึ้นปีใหม่ พระเจ้าช้างเผือกจึงแต่งให้พระตะเบิด พี่เขยพระเจ้าช้างเผือก เปนแม่ทัพ สมิงราชสังครำ ทัพหนึ่ง สมิงนคร ซึ่งกินเมืองพะโค ทัพหนึ่ง พร้อมด้วยช้างม้ารี้พลเครื่องสาตราวุธ ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์ สัตยา แล้วจึงให้ยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะหมะ ล้อมเมืองเมาะตะหมะไว้ ๚ะ

 ฝ่ายพระตะบะแต่งกองทัพออกมาตีพระตะเบิดก่อน แลสมิงมังละคอน น้องสมิงเลิกพร้า ภักดีต่อพระเจ้าช้างเผือก เปนใจรบพุ่งตัดศีร์ษะกองทัพพระตะบะได้เนือง ๆ แจ้งไปถึงพระเจ้าช้างเผือก ๆ ก็ดีพระทัยนัก แต่ล้อมเมืองเมาะตะหมะไว้ได้สิบห้าวัน ผู้คนซึ่งอยู่ในเมืองเมาะตะหมะก็กลัวพระเจ้าช้างเผือกนัก พระตะเบิดจึงใช้ให้คนเข้าไปบอกแก่มะสำโรว่า เรายกมาล้อมเมืองอยู่นี้ก็ช้านานแล้ว ยังไม่เห็นสิ่งของที่จะเปนของคาวของหวานมาสู่ให้เรากินดังแต่ก่อนบ้างเลย แม่มะสำโรจึงว่า ข้าพเจ้าเปนผู้หญิงดอก จะได้คิดขบถต่อพระเจ้าช้างเผือกนั้นหามิได้ ครั้นจะแต่งเข้าของออกไปให้กินอย่างแต่ก่อน กลัวพระตะบะจะฆ่าเสีย จึงนิ่งจนใจอยู่ แลซึ่งพระตะบะทำการขบถทั้งนี้ ก็เปนกรรมของพระตะบะตกแต่งใส่ตัวเอง ข้าพเจ้าขอถวายบังคมมาถึงฝ่าพระบาทพระเจ้าช้างเผือกด้วยเถิด นอกกว่าพระตะเบิด พี่เขยพระเจ้าช้างเผือกแล้ว ผู้ใดจะเปนที่พึ่งข้าพเจ้านั้นหามิได้ ทุกวันนี้เห็นแต่พระตะเบิดเปนที่พึ่งผู้เดียว จึงแม่มะสำโรเอาเรื่องราวทั้งนี้ไปบอกแก่พระตะบะ ๆ ก็ดีใจ พระตะบะจึงว่าแก่แม่มะสำโรว่า จะให้สิ่งของออกไปแก่พระตะเบิดก็ตามเถิด แม่มะสำโรได้โอกาศดังนั้น ก็ตกแต่งเข้าของออกไปให้พระตะเบิดกินเนือง ๆ พระตะเบิดกินของหาสงสัยไม่ ครั้นหลายวันมา พระตะบะจึงให้เอายาพิษลอบไปใส่ในของกินซึ่งแม่มะสำโรเอาไปให้พระตะเบิดนั้น ครั้นพระตะเบิดกินเข้าไป ก็ถึงแก่ความตาย พระตะบะรู้ว่าแม่ทัพหลวงตายแล้ว จึงแต่งกองทัพออกไปโจมตี กองทัพทั้งนั้นก็แตกพ่ายไป ทิ้งอาศพพระตะเบิดไว้ พระตะบะก็เอาอาสภพระตะเบิดเผาเสีย ๚ะ

 ขณะเมื่อพระตะเบิดตายแล้ว พระเจ้าช้างเผือกหาความสบายในพระทัยมิได้ จึงพระเจ้าช้างเผือกยกมหาเทวี พระเจ้าพี่นาง ให้เปนภรรยาไชยสุระ แล้วแต่งให้ไชยสุระเปนแม่ทัพ ยกทหารกลับไปตีเมืองเมาะตะหมะอีกครั้งหนึ่ง แลไชยสุระนั้นขี่ช้างพลายเข้าหักกำแพงเมือง ชาวหน้าที่เชิงเทินก็ทิ้งขว้างหม้อดินแลสุพรรณ์ถันออกไป ข้างไชยสุระก็ถอยออกมา แล้วทหารบนหน้าที่ยิงเกาทัณฑ์ไปถูกไชยสุระตาย พระตะบะจึงให้ยกกองทัพออกตามตี ทัพไชยสุระก็แตกพ่ายไป จับได้ทหารไชยสุระสามคนชื่อว่า เจตะราช หนึ่ง สามลามุตอง หนึ่ง พะละเชช หนึ่ง พระตะบะให้เอาทหารสามคนไปปล่อยเสียณเมืองฝรั่ง กองทัพไชยสุระก็แตกกลับไปเมืองวาน อยู่มา ฝ่ายสมิงเลิกพร้ายกขึ้นไปตีเมืองหลากแหลก เจ้านครษา ซึ่งกินเมืองหลากแหลกนั้น ต้านทานมิได้ ก็แตกหนีไป ตัวเจ้านครก็ถึงแก่ความตาย สมิงเลิกพร้าก็ได้ชะลยเปนอนมาก ๚ะ

(ยังมีต่อ)

แจ้งความ
โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หน้าวัดเกาะ
แผนกจำหน่าย

หนังสือประโลมโลก, ธรรมมะ, สวดมนตร์, ชาฎก, นิทาน, นิราศ, ลำร้อง, พงศาวดารจีนต่าง ๆ, พงศาวดารรามัญ, เพลง, สุภาสิต, แหล่เทศน์ต่าง ๆ กับมีหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แลหล่อตัวอักษรพิมพ์จำหน่ายด้วย คิดราคาพอสมควร

แผนกรับจ้าง

รับพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เช่น ใบปลิว, ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม, และก๊าศ ฯลฯ กับรับทำเล่มสมุดและเดินทอง คิดราคาพอสมควร