สนทนากับผู้ร้ายปล้น/คำนำ
คุณหญิงกลิ่นอภิชิตชาญยุทธกับบุตรผู้เปนเจ้าภาพการศพพระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) ทม, ตจว, ตช, ฯ ให้มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า มีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกเนื่องในทักษิณานุปทานซึ่งบำเพ็ญเมื่อพระราชทานเพลิงศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ ขอให้กรรมการหอพระสมุดฯ ช่วยเลือกเรื่องหนังสือและจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์
เมื่อข้าพเจ้าเลือกเรื่องหนังสือ ระลึกถึงความที่ได้คุ้นเคยชอบพอกับพระยาอภิชิตฯ มาช้านานตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเปนเด็กพอจำความได้ พระยาอภิชิตฯ ยังเปนมหาดเล็กวิเศษอยู่ในรัชกาลที่ ๔ ได้เคยอุ้มชูมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเติบใหญ่ขึ้น เมื่อมีตำแหน่งราชการในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ชอบพอกันสนิธสนมมาจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อพระยาอภิชิตฯ แก่ชรา ไม่ได้รับราชการประจำแล้ว ข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องใดซึ่งจะต้องกล่าวถึงเรื่องราวครั้งรัชกาลที่ ๔ และตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้เอง เชิญพระยาอภิชิตฯ มาไต่ถามการนั้น ๆ ก็อุส่าห์มายังหอพระสมุดฯ โดยเต็มใจ ไม่เคยขัด แม้จนเมื่อมีอาการป่วยทุพลภาพไม่สามารถจะมาได้เองแล้ว จดหมายไปถาม ก็ยังเอาเปนธุระขวนขวายชี้แจงให้เปนประโยชน์แก่หอพระสมุดฯ จนตลอดอายุของพระยาอภิชิตฯ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เปนผู้หนึ่งซึ่งได้มีคุณแก่ตัวข้าพเจ้า และหอพระสมุดฯ ถึงเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ทรงพระเมตตาโปรดพระยาอภิชิตฯ เพราะเหตุที่ได้ทรงคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงพระเมตตามาจนตลอดอายุของพระยาอภิชิตฯ ก็มีหลายพระองค์ด้วยกัน เรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงารศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ ข้าพเจ้าคิดจะหาให้ถูกอัธยาศัยของผู้มรณภาพ นึกได้ถึงหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้เองแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เรียกว่า "เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น" หนังสือเรื่องนี้ยังใช้เปนตำราในโรงเรือนการปกครองอยู่บัดนี้ เคยพิมพ์แล้วหลายครั้งก็จริง แต่พิมพ์รวมกับตำราเรื่องอื่น เห็นจะเคยอ่านแต่ผู้ที่เปนนักเรียนในโรงเรียนการปกครองเปนพื้น จึงคิดว่า ถ้าแยกเอาออกมาเปนเรื่องหนึ่งต่างหาก พิมพ์แจกในงารนี้ ก็เห็นจะถูกอัธยาศัยพระยาอภิชิตชาญยุทธ เพราะพระยาอภิชิตฯ เคยเปนข้าหลวงชำระความโจรผู้ร้ายเมื่อรัชกาลที่ ๕ หลายคราว นับว่า เปนผู้ชำนาญการชำระโจรผู้ร้ายคนหนึ่ง และหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นนั้น ถึงใคร ๆ อ่านก็เห็นจะมีประโยชน์ในทางความรู้อยู่บ้างมิมากก็น้อย เชื่อว่า คงจะพอใจแก่ผู้ที่จะได้รับไปอ่านโดยมาก ข้าพเจ้าจึงให้พิมพ์ "เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น" เปนหนังสือแจกในงารศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ
พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ) เปนบุตรพระยามหานิเวศนานุรักษ์ (เผือก เศวตนันทน์) เกิดที่บ้านบิดา ตำบลคลองมอญ จังหวัดธนบุรี ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ คุณหญิงบุนนาค เศวตนันทน์ เปนมารดา เมื่อยังเยาว์ ได้เล่าเรียนอักขรสมัยที่วัดพระยาธรรมในสำนักพระนิกรมมุนี (เบญจวรรณ) ซึ่งเปนบุตรเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ต้นสกุลรัตนกุล เมื่อบิดาทำการมงคลตัดจุกในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานทองคำหนัก ๔ บาทกับเงินตรา ๕ ตำลึงเปนของขวัญ นับว่า เปนเกียรติยศเริ่มแรกซึ่งพระยาอภิชิตชาญยุทธได้รับพระราชทาน เหตุด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระยามหานิเวศฯ ผู้บิดา ได้เปนตำแหน่งเจ้ากรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคุ้นเคยและทรงพระเมตตามาแต่ยังทรงผนวช ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ จึงโปรดฯ ให้เข้ารับราชการ ได้เปนตำแหน่งพระยาอัพภันตริกามาตย์อยู่ในกรมสนมพลเรือน จึงทรงพระกรุณาฯ ตลอดไปถึงบุตร เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธโกนจุกและบวชเปนสามเณรอยู่ที่วัดพระยาธรรมตามประเพณีการศึกษาในสมัยนั้นแล้ว บิดานำถวายตัว ได้เปนมหาดเล็กวิเศษอยู่ในเวรศักดิ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๔
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ พระยาอภิชิตชาญยุทธอายุได้ ๑๘ ปี ปรากฎว่า เปนมหาดเล็กคนหนึ่งซึ่งคล่องแคล่วฉลาดเฉลียว (เปนอนุชาตวุฒิสืบมาแต่บิดา) ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนตำแหน่งมหาดเล็กรายงาร แล้วได้เลื่อนเปนมหาดเล็กกำกับศาลกระทรวงวัง ศาลกระทรวงเมือง และศาลต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ชำระความในสมัยนั้น ตำแหน่งมหาดเล็กกำกับศาลมีหน้าที่สำหรับเร่งรัดถ้อยความและทำรายงารการศาลนั้น ๆ ขึ้นกราบบังคมทูลฯ พระยาอภิชิตชาญยุทธรับราชการในตำแหน่งนั้นมีบำเหน็จความชอบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเปนครั้งแรก เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้บวชอยู่ในวัดเครือวัลย์ พระเขมาภิมุขธรรม (สี) เปนพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (เหมือน) กับพระเทพกวี (นิ่ม) เปนพระกรรมวาจา บวชอยู่พรรษาหนึ่งแล้วลาสิกขากลับมารับราชการตามเดิม
ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิ์เปนที่จ่าชำนาญทั่วด้าวในกรมพระตำรวจ ในสมัยนั้น หน้าที่ตำรวจมีหลายอย่างนอกจากรักษาพระองค์ เช่น แห่นำตามเสด็จ ยังมีหน้าที่ซึ่งต้องทำเปนราชการต่าง ๆ เช่น ตรวจราชการ และชำระความรับสั่ง ตลอดจนถึงทำการโยธา ว่าโดยย่อ ในบรดาการซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้สำเร็จรวดเร็วทันพระราชหฤทัย มักทรงใช้ตำรวจให้ทำการนั้น ๆ ตั้งแต่พระยาอภิชิตชาญยุทธได้เปนตำแหน่งจ่าชำนาญทั่วด้าว แม้ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์ต่อมา ก็อยู่แต่ในกรมพระตำรวจ รับราชการเปนตำรวจมาตลอดเวลา ๔๓ ปี ได้เคยรับราชการต่าง ๆ บรรดามีในหน้าที่ตำรวจแทบทุกอย่าง ตัวได้จดรายการไว้ในหัวข้อเรื่องประวัติว่า เมื่อเปนจ่าชำนาญทั่วด้าว ได้เปนพนักงารตรวจทุ่นลอยพระประทีปอย่าง ๑ ได้เปนพนักงารตรวจจับคนเล่นการพนันที่ต้องห้ามอย่าง ๑ ได้เปนพนักงารเร่งความอำเภอที่ค้างชำระอย่าง ๑ และได้เปนนายด้านทำการปฏิสังขรณ์วิหารพระโลกนาถที่วัดพระเชตุพนอย่าง ๑
ถึง พ.ศ. ๒๔๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนจมื่นทิพเสนา แล้วโปรดให้เปนข้าหลวงออกไประงับอั้งยี่และชำระผู้ร้ายที่จังหวัดพระตะบองและเสียมราษฐ ครั้ง ๑ เมื่อกลับเข้ามา ได้เปนตุลาการชำระความผู้ร้ายลักฆ่ากระบือไม่มีตั๋วรูปพรรณ ครั้ง ๑ ได้ชำระความค้างในกระทรวงนครบาล ครั้ง ๑ ได้ชำระความโจรผู้ร้ายจังหวัดธนบุรีแทนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) เมื่อยังเปนที่พระสุริยภักดี ซึ่งขึ้นไปทัพฮ่อ ครั้ง ๑ และได้ชำระความอาญาอุกฉกรรจ์ซึ่งเปนความรับสั่งหลายเรื่อง
มีเรื่องที่พระยาอภิชิตชาญยุทธจดไว้ในหัวข้อเรื่องประวัติเปนเรื่องขบขันอยู่เรื่อง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้ได้เห็นเอง และรับเปนพยานในการที่กล่าว ว่า ครั้งหนึ่ง เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบางปอิน มีฝรั่งเล่นกลคนหนึ่งเข้ามาขอเล่นกลถวายทอดพระเนตร จึงโปรดฯ ให้ขึ้นไปเล่นที่พระที่นั่งวโรภาสพิมาน (องค์เก่า) ชั้นต่ำ เมื่อเล่นกลอย่างอื่นแล้ว ถึงที่สุดฝรั่งคนนั้นท้าว่า ให้ใครเอาเชือกมัดตัวตรึงไว้กับเก้าอี้ จะแก้ออกให้ได้โดยเร็วพลัน มีรับสั่งถามทางตำรวจว่า ใครจะรับอาสามัดบ้าง พระยาอภิชิตชาญยุทธ ยังเปนจมื่นทิพเสนา อาสาขึ้นไปมัด จะมัดอย่างไรไม่ทราบ เห็นเมื่อขณะกำลังมัดอยู่ ฝรั่งตั้งท่าจะไม่ยอมให้มัดครั้ง ๑ แล้วกลับยอม ครั้นมัดเสร็จแล้ว ฝรั่งให้เอาม่านบัง พยายามแก้อยู่ช้านาน เสียงดังกึกกักกึงกัง ดูเหมือนจะถึงดิ้นรนทำอย่างไร ๆ ก็แก้ไม่หลุดได้ ลงปลายเรียกให้เอามีดเข้าไปตัดเชือก เปนอันยอมแพ้ ในเวลาเมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งจมื่นทิพเสนา ได้รับแต่งโคลงเรื่องรามเกียรติ์ที่จารึกวัดพระศรีรัตนศาสดารามตอน ๑ และได้เปนข้าหลวงขึ้นไปกะการทำพลับพลาเสด็จประพาสจังหวัดอ่างทองและลพบุรีครั้ง ๑ ในตอนนี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕
ถึง พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพระอินทราภิบาล แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงขึ้นไปสืบราชการเรื่องทัพฮ่อที่เมืองหลวงพระบางแลจัดการปลูกยุ้งฉางเตรียมเสบียงไว้รับกองทัพ แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงอยู่ประจำเมืองหลวงพระบางในเวลาเมื่อพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้านครหลวงพระบาง ลงมาเฝ้าฯ ยังกรุงเทพฯ ครั้นกลับมาจากราชการคราวนี้ ได้รับราชการเปนนายกองตรวจจับผู้ร้ายในลำน้ำเจ้าพระยากอง ๑ และได้เปนตุลาการชำระอั้งยี่ที่กรมยุทธนาธิการจับกอง ๑ นอกจากนั้น ได้เปนข้าหลวงผูกปี้จีนจังหวัดสมุทปราการ จังหวัดพระประแดง จังหวัดปราจิณบุรี และจังหวัดนครนายก เห็นจะเปนเพราะความคุ้นเคยท้องที่ ๆ ได้ออกไปรับราชการครั้งผูกปี้จีน ต่อมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้ชำระเสนาที่ปิดบังเงินค่านาจังหวัดปราจิณบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา และโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงออกไปรักษาราชการจังหวัดนครนายกอยู่ครั้งหนึ่งถึง ๒ ปี แล้วจึงกลับเข้ามารับราชการในกรมพระตำรวจตามเดิม ได้เปนนายด้านทำงารพระเมรุที่วัดราชบพิธครั้ง ๑ ที่วัดเทพศิรินทราวาสครั้ง ๑ ที่ท้องสนามหลวง ๓ ครั้ง ในเวลาพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระอินทราภิบาล ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๔
ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระอินทรเดช แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงขึ้นไปชำระโจรผู้ร้ายในแขวงจังหวัดอ่างทอง จังหวัดพรหมบุรี จังหวัดอินทรบุรี จังหวัดไชยนาท พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ในระหว่างนั้น ได้เปนนายด้านทำเขาไกลาสงารพระราชพิธีโสกันต์ที่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ในเวลาพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระอินทรเดชนั้น ได้รับพระราชทานเครื่องยศโต๊ะกาทองคำ และเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๓ กับเหรียญจักรมาลา
ถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระยาพิเรนทรเทพและเปนองคมนตรี แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงกลับขึ้นไปชำระโจรผู้ร้ายในหัวเมืองตามเดิม จนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้ว จึงกลับมารับราชการดังเก่า ได้เปนกรรมการชำระความเรื่องฉ้อเงินค่าธรรมเนียมที่กระทรวงกลาโหม ครั้ง ๑ ได้เปนกรรมการศาลรับสั่งพิเศษกองที่ ๓ ชำระความค้างเก่าที่ศาลสถิตยุติธรรม ครั้ง ๑ ได้ชำระความอั้งยี่ที่กระทรวงนครบาล ครั้ง ๑ ได้เปนกรรมการตรวจพินัยกรรมเจ้าพระยารัตนบดินทร ครั้ง ๑ และได้เปนกรรมการไต่สวนเรื่องไฟไหม้ที่โรงกระษาปณ์ในพระบรมมหาราชวัง ครั้ง ๑ และได้เปนนายด้านทำพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วย เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแน่งพระยาพิเรนทรเทพ ได้รับพระราชทานเหรียญราชินีและเหรียญปราบฮ่อ และเมื่อพระยามหานิเวศฯ ผู้บิดา ถึงอนิจกรรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าสืบตระกูลบิดาด้วย
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระยามนตรี ในตอนนี้ ได้เปนนายด้านทำพระเมรุท้องสนามหลวง และทำโรงงารพระราชพิธีทวีธาภิเษก แล้วเปนนายด้านทำพระเมรุที่สวนมิสกวัน ได้เปนตำแหน่งมรรคนายก วัดชิโนรสาราม และวัดรวก จังหวัดพระประแดง และเปนกรรมการกิฬาในงารพระราชพิธีรัชมงคลที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระยามหามนตรี ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ และเข็มพระชนมายุสมมงคล นอกจากนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกในงารพระราชพิธีทุกคราวมา
ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิ์เปนพระยาอภิชิตชาญยุทธ ตำแหน่งจางวางพระตำรวจ มียศเปนพระตำรวจตรี และเปนองคมนตรีด้วย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๒ และตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญราชรุจิทอง เปนบำเหน็จในตอนนี้
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระยาอภิชิตชาญยุทธอายุได้ ๖๗ ปี เกิดอาการทุพลภาพ เห็นว่า ไม่สามารถจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามตำแหน่งได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการประจำ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญให้เลี้ยงชีพต่อมาจนตลอดอายุ
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ พระยาอภิชิตชาญยุทธป่วยเปนโรคชรา อาการซุดลงโดยลำดับจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ คำนวณอายุได้ ๗๓ ปี
พระยาอภิชิตชาญยุทธมีบุตรได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในเวลานี้ ๔ คน คือ
ขุนตำรวจเอก พระอภัยบริบาล (ประเสริฐ เศวตนันทน์) รับราชการเปนปลัดจังหวัดกำแพงเพ็ชร์ คน ๑
รองอำมาตย์โท ขุนพิพัฒน์นันทภูมิ (เชษฐ์ เศวตนันทน์) รับราชการเปนนายอำเภอจังหวัดลำปาง คน ๑
นายเรือเอก ขุนแสงสรสิทธิ์ (เล็ก เศวตนันทน์) รับราชการในกรมสรรพาวุธทหารเรือ คน ๑
จ่า นายจ่ายวด (เฉลิม เศวตนันทน์) รับราชการในกรมมหาดเล็กรับใช้ แพนกกองตั้งเครื่อง คน ๑
สิ้นเรื่องประวัติพระยาอภิชิตชาญยุทธเพียงเท่านี้
กรรมการหอพระสมุดฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุประทานซึ่งคุณหญิงกลิ่นแลบุตรได้จัดการบำเพ็ญกุศลปลงศพสนองคุณพระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) ด้วยความกตัญญูกตเวทิตาคุณ ทั้งได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย หวังว่า ผู้ที่ได้รับสมุดนี้ไปจะพอใจอนุโมทนาทั่วกัน