สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๒๒
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม[2] แลท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส[3] มีความปรารถนาจะผูกพันทางไมตรี แลจะให้ความไว้วางใจซึ่งมีอยู่ต่อกันในระหว่างประเทศทั้งสองมั่นคงขึ้น และเพื่อจะระงับความยากบางอย่างซึ่งได้เกิดขึ้นจากการที่ตีความหมายของหนังสือสัญญาใหญ่น้อยที่ได้ทำไว้ ณ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จึงได้ตกลงทำหนังสือสัญญาน้อยขึ้นใหม่ฉบับหนึ่ง เพื่อประโยชน์นี้ จึงได้แต่งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย คือ
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น พระยาสุริยานุวัตร[4] อัครราชทูตพิเศษ แลผู้มีอำนาจเต็มของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ณ สำนักท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่หนึ่ง แลเครื่องอิสริยาภรณ์เลยองดอนเนอร์[5] ชั้นที่สอง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ฝ่ายท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศสนั้น มองซิเออร์เทโอพิล เดลคาสเซ[6] เดปูเต[7] เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ผู้ซึ่งเมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจให้ตรวจดูซึ่งกันแลกัน เห็นเป็นอันถูกต้องแบบอย่างดีแล้ว ได้ปรึกษาตกลงกันทำสัญญาเป็นข้อดังต่อไปนี้
เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองสดุงโรลูออสข้างฝั่งซ้ายทะเลสาบ[8] เป็นเส้นเขตแดนตรงทิศตะวันออก ไปจนบรรจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เขตแดนเป็นเส้นตรง[9] ทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบรรทัด) ต่อนั้นไป เขตแดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ[10] ในระหว่างดินแดนน้ำตก[11] น้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูน[12] อีกฝ่ายหนึ่ง จนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไปแม่โขง เป็นเขตแดนของกรุงสยามตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒
ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง แลเมืองพิชัย[13] กับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเฮียง[14] ที่แยกจากแม่โขง เนื่องไปตามกลางลำน้ำแม่เฮียง จนถึงที่แยกปากน้ำตาง เลยขึ้นไปตามลำน้ำตางจนบรรจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขง แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่ภูเขาแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขงแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบรรจบถึงปลายน้ำควบแล้ว เขตต่อแดนเนื่องไปตามลำน้ำควบจนบรรจบกับแม่น้ำโขง
จะได้กำหนดเขตแดนในระหว่างกรุงสยาม กับดินแดนที่เป็นแผ่นดินอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ได้ทำสัญญากันนี้ต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันไปทำการกำหนดเขตแดนนี้ การกำหนดเขตแดนนี้จะทำลงตามเขตแดนที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑ แลข้อ ๒ ทั้งจะกำหนดลงในดินแดนที่อยู่ในระหว่างทะเลสาบกับทะเล
เพื่อจะกระทำให้การของข้าหลวงผสมสะดวกขึ้น แลเพื่อหลีกเลี่ยงเสียจากความยากทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ในการกำหนดเขตแดนในดินแดนซึ่งอยู่ในทะเลสาบแลทะเลนั้น เมื่อก่อนที่จะตั้งข้าหลวงผสม รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเสียก่อนว่า จะกำหนดที่สำคัญแห่งใดเป็นที่หมายกำหนดเขตแดนในดินแดนนี้ แห่งใดในเขตแดนที่จะจดทะเล เป็นต้น
จะได้ตั้งข้าหลวงผสมแลข้าหลวงที่จะตั้งต้นทำการใน ๔ เดือนภายหลังวันรับอนุญาตใช้หนังสือสัญญาฉบับนี้
รัฐบาลสยามยอมเสียสละอำนาจซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินเมืองหลวงพระบางที่อยู่ข้างฝั่งแม่น้ำโขง
เรือค้าขายแลแพไม้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย มีอำนาจที่จะขึ้นล่องได้โดยสะดวก ปราศจากการขัดขวาง ในตอนแม่น้ำโขงซึ่งไหลตลอดที่ดินแดนของเมืองหลวงพระบาง
เมื่อได้ตกลงกันตามข้อความซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการกำหนดเขตแดนในระหว่างทะเลสาบแลทะแลแล้ว แลเมื่อรัฐบาลสยามได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานฝรั่งเศสทราบโดยทางราชการว่า ดินแดนซึ่งเป็นผลแห่งการที่จะได้ตกลงกัน กับที่ดินแดนซึ่งอยู่ข้างทิศตะวันออกของเขตแดนตามที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๑ ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ ว่า เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะรับเอาได้เมื่อใดแล้ว กองทหารฝรั่งเศสซึ่งได้เข้าตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งตามหนังสือสัญญาวันที่ ๒ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จะออกจากเมืองจันทบุรีในทันใด
ข้อสัญญาข้อ ๔ ในหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรกศก ๑๑๒ นั้น เป็นอันยกเลิก เปลี่ยนเป็นข้อสัญญาตามความต่อไปนี้
"พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงรับสัญญาว่า พลทหารซึ่งจะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งไป หรือจะให้ตั้งประจำอยู่ในเขตแคว้นลุ่มน้ำตกแม่โขงข้างฝ่ายกรุงสยามนั้น จะเป็นพลทหารชาติไทยอยู่ในใต้บังคับนายทหารชาติไทยเสมอ มีความยกเว้นอย่างเดียวจากสัญญาข้อนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตำรวจภูธรไทย ซึ่งนายทหารชาติเดนมาร์กบังคับอยู่ในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลสยามปรารถนาจะเปลี่ยนนายทหารเหล่านี้ให้เป็นนายทหารของชาติอื่น รัฐบาลสยามจะปรึกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสก่อน
ในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยแขวงเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองศรีโสภณ[15] นั้น รัฐบาลสยามสัญญาจะให้มีแต่กองพลตระเวนซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อย คนที่จะให้เป็นพลกองตระเวนนี้ จะเกณฑ์เอาแต่ล้วนที่เป็นชาวเมือง ณ ที่นั้น"
ถ้าในกาลภายหน้า รัฐบาลสยามปรารถนาจะทำท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ที่ในดินแดนลุ่มน้ำตกแม่โขงข้างฝ่ายของกรุงสยาม (มีทางรถไฟที่จะให้เป็นทางติดต่อจากกรุงเทพฯ ไปถึงที่แห่งใดในแว่นแคว้นลุ่มน้ำนี้โดยเฉพาะ) แม้ว่าจะทำการเหล่านี้ไปมิได้แต่โดยลำพังเจ้าพนักงานไทยโดยทุนของไทย รัฐบาลสยามจะปรึกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนการที่จะสำหรับให้การต่าง ๆ ที่กล่าวนี้ เป็นผลประโยชน์ขึ้นก็เหมือนกัน
ในการที่จะใช้ท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ในแว่นแคว้นน้ำตกแม่โขงข้างฝ่ายของกรุงสยามก็ดี ทั้งภายในพระราชอาณาเขตนอกไปจากแว่นแคว้นนี้ก็ดี เป็นความเข้าใจกันว่า จะไม่ตั้งพิกัดเก็บเงินให้ต่างกัน ให้เป็นการผิดไปจากหลักฐาน ซึ่งจะต้องทำให้เสมอกันในการค้าขาย ดังได้สัญญาไว้ในหนังสือสัญญาทั้งหลายที่กรุงสยามได้ลงชื่อ
ในที่จะทำการให้สำเร็จไปตามความข้อ ๖ ของหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ นั้น รัฐบาลสยามจะอนุญาตที่ดินเป็นขนาดกว้างยาวตามซึ่งจะได้กำหนดให้แก่รัฐบาลริปับลิก ณ ที่ต่าง ๆ ข้างฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คือ
ที่เชียงคาน[16] หนองคาย เมืองสนัยบุรี ที่ปากน้ำคาน (ฝั่งขวา หรือฝั่งซ้าย) บ้านมุกดาหาร เมืองเขมราฐ[17] กับที่ปากน้ำมูน (ฝั่งขวา หรือฝั่งซ้าย)
รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันจัดแจงเอาออกเสียงซึ่งสิ่งที่กีดกันไม่ให้เรือเดินได้สะดวกในลำน้ำมูนตอนที่อยู่ในระหว่างพิมูลกับแม่น้ำโขง ถ้าเห็นว่าการนั้นจะทำให้สำเร็จไปไม่ได้ หรือว่าจะเปลืองเงินเกินไป รัฐบาลทั้งสองจะช่วยกันจัดแจงทำทางบกให้ไปมาถึงกันได้ในระหว่างเมืองพิมูลแลแม่น้ำโขง
รัฐบาลทั้งสองจะตกลงกันด้วยว่า ในระหว่างเมืองจำปาศักดิ์กับเขตแดนเมืองหลวงพระบางดังที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๒ ของหนังสือสัญญาฉบับนี้ จะให้มีทางรถไฟขึ้นใช้แทนการเดินเรือที่ไม่สะดวกในแม่น้ำโขง ถ้ายอมรับกันว่าเป็นที่ต้องการ
ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป เป็นการตกลงกันแล้วว่า รัฐบาลทั้งสองจะช่วยให้มีทางรถไฟตั้งแต่เมืองพนมเปญไปถึงเมืองพระตะบองขึ้นให้ได้โดยสะดวก การก่อสร้างแลการที่จะกระทำให้มีผลประโยชน์ขึ้นนั้น รัฐบาลทั้งสองจะทำเองโดยลำพัง ส่วนการในที่ดินแดนของรัฐบาลใด รัฐบาลนั้นรับทำ หรือรัฐบาลทั้งสองจะยินยอมพร้อมกันให้บริษัทไทยปนกับฝรั่งเศสบริษัทใดทำก็ได้
รัฐบาลทั้งสองได้เห็นด้วยกันแล้วว่า เป็นการจำเป็นที่จะทำการเพื่อจะให้ทางน้ำในคลองเมืองพระตะบองในระหว่างทะเลสาบกับเมืองนั้นดียิ่งขึ้น เพื่อฉะนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมตัวที่จะให้เอเยนต์ที่เป็นช่างซึ่งรัฐบาลสยามอาจจะต้องการใช้ทั้งสำหรับที่จะทำการและรักษาการที่กล่าวที่ด้วย
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมรับรายชื่อของคนในบังคับฝรั่งเศสเช่นกับที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ ยกเว้นเสียแต่คนจำพวกที่จะได้ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายได้เข้าจดทะเบียนอยู่ในรายชื่อนั้นโดยเหตุอันมิชอบธรรม เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะได้ส่งสำเนารายชื่อเหล่านี้ให้แก่เจ้าพนักงานไทย
บุตรหลานของคนอยู่ในบังคับซึ่งเข้าอยู่ในใต้อำนาจศาลฝรั่งเศสเช่นนี้ จะไม่มีอำนาจที่จะอ้างเข้าอยู่ในทะเบียนได้ ถ้าหากว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ตกเป็นคนอยู่ในจำพวกซึ่งได้กำหนดไว้ในข้อสัญญาต่อความข้อนี้ไปในหนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้
คนกำเนิดในประเทศเอเซีย เกิดในดินแดนซึ่งอยู่ในใต้อำนาจปกครองโดยตรงของกรุงฝรั่งเศส หรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของกรุงฝรั่งเศสนั้น จะมีอำนาจที่จะรับความป้องกันของฝรั่งเศสได้ ยกเว้นเสียแต่ผู้ซึ่งได้เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงสยามเมื่อก่อนเวลาที่ดินแดนที่กำเนินของคนเหล่านั้นได้เข้าอยู่ในอำนาจปกครองหรือความป้องกันของฝรั่งเศส
ความป้องกันฝรั่งเศสจะมีไปถึงเพียงบุตรของคนเหล่านั้น แต่จะไม่มีเผื่อแผ่ต่อไปถึงหลานของคนเหล่านั้น
ในการเกี่ยวข้องด้วยอำนาจศาล ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไป คนฝรั่งเศสแลคนในบังคับฝรั่งเศสในกรุงสยามจะต้องเข้าอยู่ในใต้บังคับโดยไม่มีที่ยกเว้นเลยนั้น รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันทำข้อสัญญาดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ขึ้นใช้แทนข้อสัญญาที่มีอยู่แต่ก่อน
๑. ในความอาญา คนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสจะอยู่ในใต้บังคับตระลาการศาลฝรั่งเศสเท่านั้น
๒. ในความแพ่ง คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเป็นโจทก์ฟ้องคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศส จะต้องฟ้องต่อศาลกงสุลฝรั่งเศส
คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเป็นจำเลย ศาลไทยสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศ ซึ่งตั้งไว้ ณ กรุงเทพฯ จะพิจารณาตัดสิน
ยกเว้นเสียแต่ที่ในมณฑลเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน ความอาญาและความแพ่งทั้งปวงซึ่งคนในบังคับฝรั่งเศสมีคดี ศาลต่างประเทศไทยจะพิจารณาตัดสิน แต่เป็นความเข้าใจกันว่า ในคดีความทั้งปวงนี้ กงสุลฝรั่งเศสมีอำนาจที่จะไปอยู่ในศาลเมื่อเวลาชำระได้ หรือจะให้มีผู้แทนผู้หนึ่งซึ่งได้รับอำนาจตามสมควรแล้วไปอยู่ที่ศาลในเวลาชำระก็ได้ แลเมื่อเห็นว่าเป็นการสมควรแก่ผลประโยชน์ของความยุติธรรม จะทำความแนะนำทักท้วงขึ้นได้ทุกอย่าง
ในคดีความซึ่งคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสเป็นจำเลยนั้น ถ้าในระหว่างความพิจารณา กงสุลฝรั่งเศสเห็นเป็นเวลาสมควรที่จะขอถอนคดีความนั้นออกเสีย โดยทางที่จะทำหนังสือขอไป เมื่อใดก็ได้
คดีความนี้ก็ต้องส่งต่อไปยังศาลกงสุลฝรั่งเศส ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นไป จะพิจารณาคดีนั้นได้ตามลำพัง แลเจ้าพนักงานไทยจะสงเคราะห์ช่วยธุระแก่ศาลนั้นด้วย
การฟ้องอุทธรณ์ต่อคำตัดสินทั้งปวงของศาลสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศก็ดี ของศาลต่างประเทศสำหรับมณฑลที่ ๔ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี จะต้องไปฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ ณ กรุงเทพฯ
ในกาลภายหน้า เรื่องการที่ชาวประเทศเอเซียซึ่งมิได้เกิดในดินแดนที่ตรงอยู่ในอำนาจหรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของกรุงฝรั่งเศส หรือผู้ซึ่งมิได้เปลี่ยนชาติโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะเข้าเป็นคนอยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศสได้นั้น รัฐบาลของริปับลิกจะได้รับอำนาจเท่ากันกับอำนาจซึ่งกรุงสยามจะยอมให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดในกาลภายหน้า
ข้อความทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในหนังสือสัญญาใหญ่ สัญญาน้อย แลสัญญาทั้งปวงแต่ก่อนมา ในระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ที่หนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้มิได้เปลี่ยนแปลงเสียนั้น ยังคงใช้ได้อยู่โดยเต็ม
ถ้าเกิดความขัดข้องไม่เห็นต้องกันในความหมายของหนังสือสัญญาซึ่งได้เขียนขึ้นในภาษาฝรั่งเศสแลภาษาไทยนี้ ภาษาฝรั่งเศสจะเป็นหลักข้างเดียว
หนังสือสัญญาน้อยนี้ ต้องมีอนุญาตในกำหนด ๔ เดือนตั้งแต่วันที่ได้ลงชื่อหรือให้เร็วกว่านั้น ถ้าจะกระทำได้
ในการที่จะให้เป็นพยานสำคัญนั้น ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้ในหนังสือสัญญานี้ และได้ประทับตราลงไว้ด้วยกัน
ได้ทำที่กรุงปารีส (เป็นสองฉบับเหมือนกัน) ณ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒[18]
- (ประทับตราแลเซ็น) พระยาสุริยา
- (ประทับตราแลเซ็น) เดลคาสเซ
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ[แก้ไข]
- ↑ ชื่ออย่างเป็นทางการ คือ "อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒" ("Convention entre la France et le Siam Modifiant les Stipulations du Traité du 3 Octobre 1893, Concernant des Territoires et des Autres Arrangements, Signé à Paris le 13 Février 1904")
- ↑ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
- ↑ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส คือ เอมีล ฟร็องซัว ลูแบ (Émile François Loubet)
- ↑ พระยาสุริยานุวัตร คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
- ↑ เลยองดอนเนอร์ คือ เลฌียงดอเนอร์ (Légion D'honneur)
- ↑ เทโอพิล เดลคาสเซ คือ เธโอฟีล เดลกัสเซ (Théophile Delcassé)
- ↑ "เดปูเต" (député) หมายความว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ↑ ทะเลสาบ คือ ทะเลสาบเขมร หรือโตนเลสาบ
- ↑ "เส้นตรง" ปัจจุบันเรียก เส้นเมริเดียน (Meridian)
- ↑ "ภูเขาปันน้ำ" ปัจจุบันเรียก สันปันน้ำ (watershed)
- ↑ "ดินแดนน้ำตก" (basin) ปัจจุบันเรียก ลุ่มน้ำ
- ↑ "น้ำมูน" คือ น้ำมูล
- ↑ เมืองพิชัย ปัจจุบันคือ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
- ↑ น้ำเฮียง คือ น้ำเหือง
- ↑ เมืองศรีโสภณ ปัจจุบันคือ จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา
- ↑ เชียงคาน ปัจจุบันคือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
- ↑ เมืองเขมราฐ ปัจจุบันคือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
- ↑ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะมีลักษณะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"
