หน้า:กฎบัตรสหประชาชาติ.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
มาตรา ๖๐

ความรับผิดชอบสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การตามที่กําหนดไว้ในหมวดนี้จักมอบให้แก่สมัชชา และภายใต้อํานาจของสมัชชาแก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจักมีอํานาจเพื่อการนี้ตามที่กําหนดไว้ในหมวดที่ ๑๐

หมวดที่ ๑๐
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
องค์ประกอบ
มาตรา ๖๑

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติ ๕๔ ประเทศซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยสมัชชา

๒. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในวรรค ๓ แต่ละปีสมาชิกแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม ๑๘ ประเทศจักได้รับเลือกตั้งเป็นกําหนดเวลา ๓ ปี สมาชิกที่พ้นตําแหน่งไปแล้วมีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งอีกทันที

๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการเพิ่มจํานวนสมาชิก ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจาก ๒๗ ประเทศ เป็น ๕๔ ประเทศ รวมทั้งสมาชิกที่ได้รับเลือกเพื่อแทนที่สมาชิก ๙ ประเทศ ซึ่งเวลาดํารงตําแหน่งจะสิ้นสุดลงในปลายปีนั้นจักได้เลือกสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น ๒๗ ประเทศ สมาชิกที่ได้รับเลือกเพิ่มขึ้น ๒๗ ประเทศนี้ เวลาดํารงตําแหน่งของ ๙ ประเทศที่ได้รับเลือก จะสิ้นสุดลงในปลายปีแรก และอีก ๙ ประเทศจะสิ้นสุดลงในปลายปีที่ ๒ ตามข้อตกลงที่สมัชชาได้ทําไว้

๔. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักมีผู้แทนได้ ๑ คน

หน้าที่และอํานาจ
มาตรา ๖๒

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจทําหรือริเริ่มการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจทําคําแนะนําเกี่ยวกับเรื่องเช่นว่านั้นเสนอต่อสมัชชา ต่อสมาชิกของสหประชาชาติและต่อทบวงการชํานัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง

๒. คณะมนตรีอาจทําคําแนะนําเพื่อความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเคารพ และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสําหรับทุกคน

๓. คณะมนตรีอาจจัดเตรียมร่างอนุสัญญา เพื่อเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอํานาจของคณะมนตรี

๔. คณะมนตรีอาจเรียกประชุมระหว่างประเทศในเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอํานาจของคณะมนตรีตาม ข้อบังคับที่สหประชาชาติกําหนดไว้

มาตรา ๖๓

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจเข้าทําความตกลงกับทบวงการตัวแทนใดๆ ที่อ้างถึงในมาตรา ๕๗ โดยวางข้อกําหนดสําหรับที่ทบวงการตัวแทนที่เกี่ยวข้องจักได้เข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ความตกลงเช่นว่านั้นจักต้องได้รับความเห็นชอบของสมัชชา

๒. คณะมนตรีอาจประสานกิจกรรมของทบวงการชํานัญพิเศษโดยการปรึกษาหารือและการทําคําแนะนําต่อทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้น และโดยการทําคําแนะนําต่อสมัชชา และต่อสมาชิกของสหประชาชาติ