ด่วนที่สุด | |
ที่ กห ๐๒๐๗/๑๕๘๙ | สำนักนโยบายและแผนกลาโหม
ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ |
๑๑ เมษายน ๒๕๖๓
เรื่อง | ผลการประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) | |
เรียน | เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ | |
อ้างถึง | หนังสือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ด่วนที่สุด ที่ กห ๐๒๐๗/๑๕๐๖ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๓ |
สำนักนโยบายและแผนกลาโหม ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมขอรายงานผลการประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องหลักเมือง ๒ ในศาลาว่าการกลาโหม โดยมี พลเอก รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม/เลขานุการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
๑.วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อ COVID - 19 ของกระทรวงสาธารณสุข
๒.ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม (สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กรมพระธรรมนูญ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ประกอบการเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด รวมจำนวน ๓๐ คน
๓.ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวความคิดในการนำข้อมูลทางเทคนิค เช่น ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) จากกล้องวงจรปิดมาสนับสนุนการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การสอบสวนโรค โดยจะสามารถสนับสนุนการติดตามพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้ติดเชื้อ การพิสูจน์ทราบและติดตามกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยระบบ AI จากข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้การใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีความเป็นไปได้มากกว่า
๔.ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแนวความคิดในการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่สนับสนุนการควบคุมโรค โดยที่ผ่านมาได้หารือในขั้นต้นกับกระทรวงสาธารณสุขและผู้ประกอบการที่ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (TELCO) แล้ว สรุปได้ว่า การติดตามกลุ่มเสี่ยงจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ติดเชื้อจะรวบรวมข้อมูลสถานที่ย้อนหลังของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเป้าหมายจากการใช้อินเทอร์เน็ตและการโทรเข้า - ออก ซึ่งจะทำให้ทราบหมายเลขโทรศัพท์ในบริเวณเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหมายเลขที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจะมีปริมาณมาก จะดำเนินการโดยส่งแบบฟอร์มคัดกรอง