หน้า:การปกครองลาวและเขมรของฝรั่งเศส - มท - ๒๔๘๓.pdf/57

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๓

หนึ่งเป็นชาวพื้นเมือง เรียกว่า เจ้าฝ่ายเขตต์ เรสิดังต์เดอฟรังส์นั้นย่อมสังกัดขึ้นตรงต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์เช่นเดียวกับในแคว้นลาว ส่วนเจ้าฝ่ายเขตต์นั้นขึ้นกับคณะรัฐมนตรี แต่แท้จริง อำนาจบริหารกิจการในจังหวัดนั้น ๆ ย่อมตกอยู่กับเรสิดังต์เดอฟรังส์เป็นเด็ดขาด ฉะนั้น ถ้าจะถือว่า ตำแหน่งเจ้าฝ่ายเขตต์เป็นเสมือนปลัดจังหวัด ก็พอจะได้ การที่ฝรั่งเศสจัดตำแหน่งผู้ปกครองในแคว้นเขมรดังนี้ ก็คงจะเนื่องด้วยให้เห็นเป็นเกียรติยศสมกับที่แคว้นเขมรมีกษัตริย์และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารรัฐการแห่งรัฐของตน ซึ่งโดยแท้จริงก็เป็นเพียงแต่ในนามดังกล่าวแล้วนั้น ทั้งนี้ อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า การที่ฝรั่งเศสจัดเช่นนี้ ก็คือว่า ฝรั่งเศสจะดำเนินการปกครองบังคับบัญชาราษฎรประการใด ก็ไม่ต้องไปบังคับถึงตัวราษฎร เพียงแต่บังคับสั่งเสียแสดงความประสงค์แก่ข้ารัฐการชาวพื้นเมืองแล้ว ข้ารัฐการพื้นเมืองเป็นผู้บังคับใช้อำนาจแก่ราษฎรพลเมืองอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เป็นทางให้บาปตกอยู่แก่ฝ่ายพื้นเมือง ส่วนฝรั่งเศสย่อมเอาตัวรอดพ้นจากบาปไปได้

ตำแหน่งผู้ปกครองท้องที่ในแคว้นเขมรเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้.—

เขมร ไทย
Résident de France ข้าหลวงประจำจังหวัด
(ชาวฝรั่งเศส)
เจ้าฝ่ายเขตต์
(ชาวพื้นเมือง)