หน้า:การปกครองลาวและเขมรของฝรั่งเศส - มท - ๒๔๘๓.pdf/65

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๑

รับจ้างก็ต้องเสียเงินแทนคนละ ๓ เหรียญ และถ้าผู้ใดมียานพาหนะประเภทต่าง ๆ ก็จำต้องส่งให้รัฐการใช้ปีละ ๕ วันด้วย ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์จ้าง ผู้เป็นเจ้าของจะต้องเสียเงินแทนตามประเภทของยานพาหนะ เช่น รถยนตร์ ต้องเสียถึงคันละ ๔๐ เหรียญต่อปี ดังนี้เป็นต้น

ทรัพย์ในดินสินในน้ำ

ทรัพย์ในดิน ได้แก่ พลอยบ่อไพลิน และสินในน้ำ ได้แก่ ปลานานาชะนิดในทะเลสาป การจับปลาในทะเลสาปกระทำกันปีละ ๙ เดือน ห้ามจับในฤดูปลาวางไข่ คือ ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ปลาในทะเลสาปนับว่า อุดม เป็นสินค้าที่แพร่หลายอย่างออกหน้าออกตา รอบทะเลสาปมีการทำนาได้ผลดีมาก มีรถไฟทำการขนส่งข้าวปลาจากจังหวัดพระตะบองถึงมงคลบุรี มีกำไรปีละไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านบาท มีเมืองต่าง ๆ ซึ่งเจริญแล้วตั้งอยู่รอบทะเลสาป เมืองเหล่านี้ คือ เสียมราฐ, ศรีโสภณ, พระตะบอง, โพธิสัตว์, กำปงชนัง และพนมเป็ญ ถึงแม้ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาปพากันร่ำรวยเพราะการจับปลาและทำนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องถูกรีดจากรัฐบาลในการภาษีอากร เช่น ค่าผูกขาดตัดตอนในการจับสัตว์น้ำ, ภาษีเรือ, อากรค่านา เหล่านี้เป็นต้น

ปูชนียสถาน

ปูชนียสถานที่สำคัญของเขมรมี ๒ แห่ง คือ นครวัดและนครธม นครวัด นครธม ฝ่ายฝรั่งเศสจัดการบูรณะให้เป็นที่เที่ยวที่ดู โดยเก็บค่าผ่านประตูเข้านครวัดคนละ ๑ เหรียญ และค่านำเที่ยววันละ ๕ เหรียญ ถ้าคนยากจนแล้ว ไม่มีโอกาสได้เข้าชม