การที่กรุงสยามจำต้องให้สภาพนอกอาณาเขตต์หรือสิทธิในการตั้งศาลกงสุลแก่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายนั้น กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป ผลร้ายหรือทางเสียมีมากยิ่งกว่าทางได้ ซึ่งจะได้กล่าวในภายหลัง แต่ทางฝ่ายที่เห็นว่าควรให้คงมีสภาพนอกอาณาเขตต์อยู่นั้นพอประมวลเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
(๑)กรุงสยามยังไม่มีบทกฎหมายครบถ้วนบริบูรณ์
(๒)กรุงสยามยังไม่มีความเจริญทัดเทียมประเทศทั้งหลายในตะวันตก
(๓)ความชำนิชำนาญของข้าราชการแผนกกฎหมายยังไม่เพียงพอ
ตามข้อหาเหล่านี้ เห็นได้ว่ายังคลาดเคลื่อนจากความจริงอยู่มาก คือ ตามข้อหนึ่ง จริงอยู่แม้กรุงสยามในขณะนั้นยังมิได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนก็ดี แต่เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นเหตุพอถึงกับจะไม่ให้กรุงสยามมีอำนาจชำระคดีทั้งหลายได้ เรามีหลักดำเนินแนวเดียวกับหลักกฎหมายในอารยะประเทศทั้งสิ้น และถ้าไม่มีหลักกฎหมายที่จะเทียบเคียงได้แล้ว ศาลก็เคยนำหลักกฎหมายในต่างประเทศมาใช้โดยเทียบเคียงเหมือนกัน และระเบียบเช่นนี้ได้ปฏิบัติมานานแล้ว ดังจะเห็นได้มีอาทิจากคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๙/๑๒๙ (ฎีกาบางเรื่อง เล่ม ๕ น่า ๓๔๖) ซึ่งมีความว่า เมื่อในข้อใดกฎหมายไทยยังไม่มีโดยตรง ศาลจำต้องอาศัยวิชชากฎหมายต่างประเทศและความยุตติธรรมขึ้นเป็นเครื่องชักนำในการวินิจฉัยความข้อนั้น ยิ่งในปัจจุบันสมัยนี้แล้ว ก็จะเห็นความข้อนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยนัยคำพิพากษาฎีกา ๔๖๗/๒๔๖๘ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ มาตรา ๔ ก็ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้นำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ปรับแก่คดี ในเมื่อไม่มีตัวบทกฎหมายโดยตรง หรือจารีตประเพณี หรือบทกฎหมายที่ใกล้เคียง
ที่กล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่า ข้อหาในข้อที่ ๑ จึงเป็นอันตกไป