หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๑๖, ๒๕๖๔-๐๑-๐๓).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ง

๓ มกราคม ๒๕๖๔
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๖)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๘ จนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร่โรคออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการของโรคเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทางทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องจนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดและบังคับใช้บรรดามาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์

(๒) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือ ให้การอุปการะแก่บุคคล

(๓) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาต จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด