หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๓๕, ๒๕๖๔-๑๐-๑๕).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔
หน้า ๕๓
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๓๕)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๑๔ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

เพื่อเป็นการปรับปรุงและผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับภาพรวมของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ด้วยที่ผ่านมาการปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตพื้นที่การระบาดของโรคได้ ดังเช่นในหลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในบางเขตพื้นที่เท่านั้น และผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรงได้ลดจำนวนลง ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของการดำเนินการตามแผนการฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างมีส่วนร่วมในการประสาน จัดหาและนำเข้าวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายสาธารณสุขได้จัดสรรและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งห้วงเวลาที่ผ่านมาได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาเพื่อให้สามารถกลับมาสู่สภาพการเรียนการสอนตามปกติได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคนี้ได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ดี การติดตามและกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อควบคุมให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมของทั้งบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ก็เพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างบรรยากาศ การเข้าใจสถานการณ์ และการรู้จักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้ได้ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ใกล้กับภาวะปกติและกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การป้องกันและควบคุมโรคแก่ประชาชนอย่างสมดุลและยั่งยืนสอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์และแนวทางไว้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้