หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๔๑, ๒๕๖๕-๐๑-๐๘).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๕ ง

๘ มกราคม ๒๕๖๕
หน้า ๔๖
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๔๑)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏกรณีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทําให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลําดับ แม้ว่าจะได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศเป็นจํานวนมากแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ยังมีจํานวนไม่มากพอและอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขที่ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงจําเป็นต้องกําหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการปรับพื้นที่สถานการณ์ และปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคเพิ่มเติมจากข้อกําหนดและคําสั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่ สถานการณ์และการกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ โดยให้ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่ควบคุม ยกเว้นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้