หน้า:คดีอาญา - ถวิล ระวังภัย - ๒๔๗๗.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒

มีข้อความทำนองดังต่อไปนี้ "ประเทศทำสัญญาใหญ่นี้แต่ละฝ่ายไม่จำเป็นจะต้องส่งตัวพลเมืองจองตนให้แก่กัน" (ดู สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับสหปาลีรัฐอเมริกา ข้อ ๘) หรือ "รัฐบาลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เมื่อเห็นว่า ไม่ควรยอมส่งคนในบังคับของรัฐบาลฝ่ายนั้นให้แก่รัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องส่งให้แก่กัน" (ดู สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ ข้อ ๓) ทั้งนี้ เป็นวิธีการอันหนึ่งที่บางประเทศใช้ดำเนินเป็นสายกลางระหว่างลัทธิอันเคร่งครัดที่ห้ามส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนโดยเด็ดขาด กับลัทธิที่ต้องส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนเสมอไป โดยกล่าวไว้ในสัญญาให้ความอิสสระแก่ประเทศผู้รับคำขอที่อาจจะส่งคนสัญชาติตนก็ได้หรือไม่ส่งก็ได้ แล้วแต่จะวินิจฉัยเห็นสมควร สำหรับประเทศสยามถือหลักนโยบายที่จะไม่ส่งคนสัญชาติสยามข้ามแดนตลอดเรื่อยมาจน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ตกลงกับรัฐพะม่าเป็นการชั่วคราว ต่างถ้อยทีถ้อยปฏิบัติส่งคนสัญชาติของทั้งสองฝ่ายข้ามแดนให้แก่กันได้ เว้นแต่ในกรณีพิเศษที่รัฐบาลไม่ปรารถนาจะส่ง จึงจะไม่ส่งให้ เพราะเหตุว่า การคมนาคมยากลำบากมาก เสียเวลา และสิ้นเปลืองเวลาสำหรับเจ้าทุกข์หรือพะยานในการที่จะต้องมาเบิกความในประเทศที่จำเลยอยู่ แต่รัฐบาลสยามสงวนไว้ซึ่งสิทธิจะเลิกปฏิบัติเช่นนี้เมื่อไรก็ได้ (คดีนายบุญส่งกับพวก จังหวัดตาก พ.ศ. ๒๔๖๘, คดีนะปาละโม จังหวัดตาก พ.ศ. ๒๔๖๙, คดีนายดีโพกับพวก จังหวัดแม่ฮ่องสอน